ThaiPublica > คอลัมน์ > Maharaja (2024) เสน่ห์หนัง Kollywood

Maharaja (2024) เสน่ห์หนัง Kollywood

15 กันยายน 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ที่มาภาพ: https://m.imdb.com/title/tt26548265/mediaviewer/rm687304705/?ref_=tt_ov_i

สองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสอ่านบทรีวิวหนังเรื่อง Maharaja (2024) ซึ่งสตรีมทาง Netflix …หนังเรื่องนี้ได้รับคำชมมากมายจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์

อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียจัดเป็น Soft Power ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง โดยมีหนังจาก Bollywood เป็นตัวชูโรง

Bollywood film มีฐานที่มั่นในมุมไบ (Mumbai) ผลิตภาพยนตร์ภาษาฮินดี (Hindi) ที่โด่งดังไปทั่วโลก

ต่อมามีหนังอินเดียภาษาเตลูกู (Telugu) เรียกตัวเองว่า Tollywood film ซึ่งเป็นแหล่งผลิตภาพยนตร์ภาษาเตลูกูมีฐานที่ตั้งอยู่ที่เมืองไฮเดอราบาด (Hyderabad)

นอกจาก Bollywood และ Tollywood แล้ว… ภาพยนตร์อินเดียทางใต้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ และเรียกกลุ่มหนังแถบนี้ว่า Kollywood มีฐานที่มั่นในเมืองเชนไน (Chennai) รัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu)

หนังจาก Kollywood เน้นนำเสนอวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวอินเดียตอนใต้ได้อย่างลึกซึ้ง

Maharaja (2024) เป็นหนึ่งในผลงานที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของ Kollywood อย่างชัดเจน… เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวทมิฬนาฑูและปัญหาอาชญากรรม การทุจริตในอินเดีย โดยนำเสนอเรื่องราวผ่านพล็อตเรื่องที่ซับซ้อน เข้มข้น หักมุม

Maharaja กำกับโดย นิติฬาณ สวามินาถาน (Nithilan Swaminathan)

ระหว่างนั่งดูหนังเรื่องนี้…ผู้เขียนนึกถึงหนังฝรั่งอย่าง Taken (2008) นำแสดงโดย เลียม นีลสัน (Liam Neeson) ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อตามหาลูกสาวที่ถูกลักพาตัวไป

แต่ Maharaja เป็นความรักของพ่อที่พยายามทวงคืนความยุติธรรมให้ลูกสาวผ่านสัญลักษณ์การตามหา “ถังขยะ”

Maharaja ได้นักแสดงซูเปอร์สตาร์จาก Kollywood อย่าง วิชัย เสธุปติ (Vijay Sethupathi) มารับบทนำเป็น “มหาราชา” ช่างตัดผมผู้เงียบขรึม

บทบาทของเขาในเรื่องนี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความเจ็บปวด ความโกรธแค้นที่เกิดจากอาชญกรรมที่กระทำกับครอบครัวของเขาและความอยุติธรรมที่เขาได้รับ

หนังยังได้นักแสดงดังจาก Kollywood อย่าง อนุรัก กัศยัป (Anurag Kashyap) และ มามตา โมฮันทาส (Mamta Mohandas) ที่มาเติมความเข้มข้นให้

หนังเรื่องนี้เผยให้เห็นปัญหาสังคมของอินเดียอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นการปล้น ฆ่า ข่มขืน ติดสินบน

ปัญหาอาชญากรรมในอินเดียนับเป็นปัญหาที่รัฐบาลนายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ต้องเผชิญมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขืน การคอร์รัปชัน และการก่ออาชญากรรมในเมืองใหญ่

แม้รัฐบาลโมดีจะดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเปิดตัวโครงการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้หญิง แต่การลดอัตราอาชญากรรมยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ

ความพยายามของรัฐบาลยังรวมถึงปฏิรูปกฎหมายและการลงทุนในเทคโนโลยีการเฝ้าระวังเพื่อติดตามและป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มโครงการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้หญิง เช่น จัดตั้ง “Nirbhaya Fund” กองทุนที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 หลังจากเหตุการณ์ข่มขืนในนิวเดลี

เหตุการณ์ข่มขืนในนิวเดลีเมื่อปี 2012 นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและสร้างความไม่พอใจอย่างมากในสังคมอินเดีย

หญิงสาวอายุ 23 ปี ถูกข่มขืนและทำร้ายร่างกายอย่างโหดร้ายบนรถโดยสารในกรุงนิวเดลี ต่อมาเธอเสียชีวิตจากบาดแผลที่ได้รับหลังจากนั้นไม่กี่วัน

เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ และนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและการป้องกันความปลอดภัยของผู้หญิงในประเทศ

กองทุนนี้สนับสนุนโครงการที่เน้นความปลอดภัยของผู้หญิง เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่สาธารณะและบริการสายด่วนช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือ Himmat ซึ่งเป็นแอปของตำรวจนิวเดลี เพื่อให้ผู้หญิงสามารถส่งสัญญาณเตือนในกรณีฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว

ท้ายที่สุดมีการปรับปรุงกฎหมายการเพิ่มโทษสำหรับอาชญากรรมต่อผู้หญิง รวมถึงการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีและการสร้างศาลพิเศษสำหรับคดีข่มขืน

แม้รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการปรับปรุงความปลอดภัยของผู้หญิง แต่ปัญหานี้ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม

Maharaja ยังแสดงถึงภาพสะท้อนสิ่งที่ชาวอินเดียต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอาชญากรรมที่รุนแรงกับผู้หญิงและความไม่ยุติธรรมในสังคมจนพระเอกต้องเลือกทวงความยุติธรรมเอาเองด้วยความแค้น