ThaiPublica > คนในข่าว > นเรนทรา โมฆี จากชาตินิยมฮินดูสู่ว่าที่นายกฯ แดนภารตะอินเดีย

นเรนทรา โมฆี จากชาตินิยมฮินดูสู่ว่าที่นายกฯ แดนภารตะอินเดีย

14 เมษายน 2014


รายงานโดย …อิสรนันท์

ท่ามกลางอากาศอันแสนร้อนระอุในเดือนเมษา การเมืองของไทยก็ส่อเค้าว่ากำลังเข้าโค้งสุดท้าย หลายคนวาดหวังว่ามะม่วงที่สุกงอมเต็มทีใกล้จะปลิดจากขั้้วหล่นจากต้นแล้ว กรุยทางให้มีการกวาดล้างประเทศครั้งใหญ่ให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางมิชอบ และการเล่นพรรคเล่นพวก เฉกเดียวกับอีกหลายประเทศในทวีปผิวเหลืองเอเชียที่กำลังมีการเลือกตั้งหลายระดับในช่วงไล่เลี่ยกันโดยมิได้นัดหมาย อาทิที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย อัฟกานิสถาน และอิรัก โดยมีสัญญาณบ่งบอกว่าประชาชนในประเทศนั้นๆ ซึ่งต่างเบื่อหน่ายกับชั้วอำนาจเก่า จึงคิดจะเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนผู้นำหน้าใหม่ เพราะไม่อยากจะทนอยู่กับเสือ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “3 ชั่วใหญ่” ประกอบด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวกและใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบอีกต่อไป แม้ว่าอาจจะต้องปะกับจระเข้ตัวร้ายที่อ้าปากรองาบอยู่ก็ตาม

นเรนทรา โมฆี ที่มาภาพ :http://www.hindustantimes.com/Images/Popup/2013/3/Modi1.jpg
นเรนทรา โมฆี ที่มาภาพ :http://www.hindustantimes.com/Images/Popup/2013/3/Modi1.jpg

หนึ่งในประเทศที่ได้รับการจับตามองว่าอาจเดินหน้าสู่สภาพ “หนีเสือปะจระเข้” ก็คือแดนภารตะอินเดีย แม้ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งทยอยมีขึ้นในแต่ละรัฐไม่พร้อมกัน กว่าจะรู้ผลก็ในราวกลางเดือน พ.ค. แต่ขณะนี้ไม่เพียงแต่จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าใครมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างนายราหุล คานธี ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลเนห์รู-คานธี ในฐานะหัวหน้าพรรคคองเกรส แกนนำของพรรครัฐบาลผสม กับนายนเรนทรา โมฆี หรือโมดี ผู้นำพรรคภาราติยะ ชนตะ (บีเจพี) พรรคฝ่ายค้านหากยังเป็นสนามชี้ขาดผลการประลองกำลังระหว่างนักการเมืองตัวแทนกลุ่มอำมาตย์เก่าที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองมานาน กับนักการเมืองที่เป็นไพร่ตัวจริง ต้องต่อสู้กับชีวิตมาตั้งแต่เด็กกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ นอกเหนือจากการตัดสินชะตาของกลุ่มชาตินิยมฮินดูที่ต่อต้านมุสลิมเต็มตัว ว่าจะมีโอกาสหวนกลับมาบริหารประเทศอีกครั้งหรือไม่

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน รวมไปถึงจากผลการสำรวจความเห็น ล้วนแต่ชี้ตรงกันว่าอินเดียกำลังจะมีการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อมีแนวโน้มว่าพรรคบีเจพีอาจจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภาแทนพรรคคองเกรสที่กุมอำนาจมานาน 10 ปี แต่นับวันคะแนนนิยมมีแต่เป็นสาละวันเตี้ยลง อันเนื่องจากเต็มไปด้วยข่าวฉาวเกี่ยวกับ “3 ชั่วใหญ่” ทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางมิชอบ และการขาดความโปร่งใสในการบริหารประเทศ ถ้าเป็นจริงตามคำคาดการณ์นี้ โอกาสที่นายนเรนทรา โมฆี วัย 63 ปี จะสวมหัวโขนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็มีมากกว่าราหุล คานธี ที่ไม่อาจจะสลัดหลุดจากภาพลักษณ์ของกลุ่มการเมืองเก่าได้ แม้จะพยายามสร้างฐานเสียงในหมู่คนรุ่นใหม่ก็ตาม

ผลการสำรวจนี้ได้รับการตอกย้ำว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีจมูกข่าวไวยิ่งกว่าจมูกมด รีบยื่นนิ้วก้อยขอคืนดีกับนายนเรนทรา โมฆี ที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำในฐานะนักการเมืองที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน แต่ผลประโยชน์ของประเทศไม่มีเปลี่ยน อเมริกาจึงรีบให้นางแนนซี พาวเวลล์ เอกอัครราชทูตประจำกรุงนิวเดลี เดินทางไปพบนายนเรนทราถึงที่บ้านพักในรัฐคุชราตเมื่อกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อหยิบยื่นไมตรีจิตให้ด้วยการชิงเสนอจะยกเลิกคำสั่งห้ามนายนเรนทราเข้าประเทศที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้ข้ออ้างว่ากฎหมายอเมริกันห้ามชาวต่างชาติที่มีประวัติ “ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาอย่างรุนแรง” เข้าประเทศ จากกรณีที่นายนเรนทราเคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้นำมือเปื้อนเลือดที่อาจรู้เห็นหรืออาจชักใยอยู่เบื้องหลังการสังหารชาวมุสลิมกว่าพันคนระหว่างเกิดศึกศาสนาขึ้นที่รัฐคุชราตเมื่อ 12 ปีที่แล้ว รวมทั้งยังเคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาตินิยมฮินดูที่เปิดศึกชิงวัดเก่าในเมืองอโยธยาเมื่อปี 2533 นำไปสู่ศึกศาสนาครั้งใหญ่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน

จากประวัติที่บ่งบอกว่าเป็นพวกสุดปลายขั้วที่ไม่ยอมอยู่ร่วมโลกกับมุสลิมนี้เอง ทำให้นายนเรนทราตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มต่างๆ มากมายหลายกลุ่ม ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ นักการเมืองคนหนึ่งถึงกับขู่จะแล่เนื้อนายนเรนทราเป็นชิ้นๆ เพื่อแก้แค้นแทนชาวมุสลิมที่เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วระหว่างเกิดจลาจลขึ้นที่รัฐอุตรประเทศ

นายนเรนทรา โมฆี หรือโมดี เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2493 เป็นลูกคนที่ 3 จาก 6 คนของพ่อค้าชา วรรณะศูทร หรือพ่อค้าแห่งเมืองวัฒนาครในบอมเบย์เก่า ทางตะวันตกของรัฐคุชราต ตั้งแต่เด็กต้องช่วยพ่อขายน้ำชาบนรถไฟและสถานีรถไฟ พอย่างเข้าวัยรุ่นก็ร่วมทุนกับพี่ชายตั้งร้านขายชาขึ้นที่สถานีรถโดยสาร ระหว่างนั้นก็ทำงานไปเรียนไปด้วย กระทั่งสำเร็จการศึกษาที่เมืองวัฒนาคร โดยครูเผยว่ามีผลการเรียนปานกลางแต่เป็นนักโต้วาทีชั้นเลิศ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากชอบเล่นละครตั้งแต่เด็ก จนคุ้นเคยกับการยืนพูดต่อหน้าฝูงชน ความที่เป็นแฟนพันธ์ุแท้ของราเยศ คานนา นักแสดงชื่อดัง นายนเรนทราจึงเลียนแบบการแต่งกายแบบอินเดียโบราณที่นุ่งโจงกระเบนยาวครึ่งน่องเสมอมา

ถึงจะยากจนต้องทำมาหากินตั้งแต่เด็ก แต่นายนเรนทราก็สนใจการเมืองตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ถึงขนาดสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มราชตริยะ สวายัมเสวก สังข์ (อาร์เอสเอส) ซึ่งเป็นพวกชาตินิยมฮินดูภายในพรรคบีเจพี ที่มุ่งมั่นจะปกป้องวัฒนธรรมฮินดู จนกระทั่งถูกรัฐบาลสั่งแบนถึง 2 ครั้ง เพราะมองว่าเป็นที่ชุมนุมของชาวฮินดูที่มีทัศนะต่อต้านมุสลิม 140 ล้านคน ระหว่างที่ที่อินเดียทำสงครามครั้งแรกกับปากีสถาน ถึงแม้อายุจะน้อย แต่นายนเรนทราก็สมัครเป็นทหารเดินทางไปตามสถานีรถไฟต่างๆ นอกจากนี้ ระหว่างเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยคุชราต ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน จนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกพรรคบีเจพี หลังเรียนจบก็เริ่มอาชีพเป็นพนักงานขายอาหารที่บริษัทการขนส่งแห่งคุชราต ก่อนจะเบนเข็มชีวิตมาเป็นผู้ช่วยการรณรงค์หาเสียงการเมืองเต็มตัวของอาร์เอสเอสเมื่อปี 2513 และเริ่มเติบโตมีตำแหน่งสูงขึ้นในพรรคนี้เรื่อยมา กระทั่งสำเร็จปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคุชราต

จากความมุ่งมั่นอุทิศตัวให้กับงานของพรรค ท้ายสุดก็ได้รับเลือกเป็นเลขาฯ ของบีเจพีสาขารัฐคุชราตและเป็นกุนซือวางแผนหาเสียงจนบีเจพีชนะเลือกตั้งในรัฐนี้เมื่อปี 2538 และ 2541 ทำให้ชื่อเสียงยิ่งขจรไกล ส่งผลให้นายนเรนทราได้รับเลือกเป็นเลขาฯ ใหญ่ของพรรคบีเจพี ได้ย้ายไปประจำที่กรุงนิวเดลีรับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ ของพรรคในรัฐหรยานาและหิมาจัลประเทศ

ช่วงที่พรรคบีเจพีเกิดวิกฤติในรัฐคุชราต เนื่องจากมุขมนตรีของรัฐนี้ซึ่งเป็นคนของพรรคบีเจพีตกเป็นข่าวฉาวในเรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบ การทุจริตคอร์รัปชัน การบริหารที่ขาดความโปร่งใสและไร้ประสิทธิภาพ กระทั่งสอบตกการเลือกตั้งซ่อม คณะกรรมการกลางพรรคจึงได้หารือจะส่งนายนเรนทราลงสมัครชิงตำแหน่งมุขมนตรี แต่มีคนคัดค้านโดยอ้างว่าไร้ประสบการณ์จึงอยากให้เป็นแค่รองมุขมนตรีก่อน แต่นายนเรนทรายื่นคำขาดว่าต้องเป็นมุขมนตรีเท่านั้นจึงจะลงสมัคร สุดท้ายบีเจพีก็ยอมส่งสมัครและได้รับเลือกเป็นมุขมนตรีคนที่ 14 ของรัฐคุชราตเมื่อปี 2544 จากนโยบายที่เน้นเรื่องความโปร่งใสขณะแปรรูปรัฐวิสาหิจและจัดตั้งวิสาหกิจขนาดเล็ก ทำให้มีปัญหาขัดแย้งกับผู้นำอาร์เอสเอสหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปและการก้าวสู่กระแสโลกาภิวัตน์

หลังจากเป็นมุขมนตรีได้ไม่นานก็เกิดจลาจลเลือดครั้งใหญ่ขึ้นในรัฐคุชราต เมื่อผู้แสวงบุญชาวฮินดูถูกสังหารหมู่ 58 คนบนรถไฟขบวนหนึ่ง ตามด้วยการล้างแค้นด้วยการสังหารชาวมุสลิมราว 1,000-2,000 คน กระทั่งนายนเรนทราต้องประกาศเคอร์ฟิวส์และส่งทหารเข้าคุมสถานการณ์ หลังสถานการณ์กลับคืนสู่ความสงบ มีการกล่าวหาผู้บริหารรัฐนี้ว่าอยู่เบื้องหลังจลาจลศาสนาครั้งนั้น แต่ผลการสอบสวนทำให้เจ้าตัวพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าว แม้ว่าอดีตมนตรีของรัฐคุชราตหลายคนถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้มีการสังหารหมู่ชาวมุสลิม คดีนี้ได้ลุกลามกลายเป็นคดีใหญ่ระดับประเทศ พรรคฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้นายนเรนทราลาออก ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมลาออกแต่โดยดีภายใต้เงื่อนไขว่าขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผิดถูกด้วยการลงสมัครชิงมุขมนตรีเป็นสมัยที่ 2 โดยประกาศนโยบายชัดเจนว่าต่อต้านมุสลิมเต็มตัว ปรากฏว่าได้ชัยชนะท้วมท้น

ระหว่างที่เป็นมุขมนตรีสมัยที่ 2 นายนเรนทราได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารใหม่ โดยหันไปเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแทน ส่งผลให้มีทุนนอกหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในรัฐคุชราตอย่างไม่ขาดสาย ขณะที่ความสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงของบีเจพีในนิวเดลีมีแต่เสื่อมทรุดลง หนำซ้ำสื่อก็เริ่มโจมตีว่าทำตัวเป็นฮิตเลอร์ แต่ก็ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งสมัยที่ 3 ซึ่งนายนเรนทรายังคงชนะอย่างท่วมท้น และในสมัยนี้ก็ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่หันไปเน้นการพัฒนาเกษตรกรรม ปรากฏว่าประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรพุ่งขึ้น พลอยกระชากเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงปีละ 10.97 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างนั้นนายนเรนทราได้พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาด้วยการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพและสันติสุขภายในรัฐนี้ ซึ่งแม้จะไม่มีผลคืบหน้าแต่อย่างใด แต่ก็ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งเป็นมุขมนตรีสมัยที่ 4 เมื่อปี 2555

เรียกได้ว่าคลอดช่วงที่เป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตถึง 4 สมัยนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2544 กระทั่งสร้างสถิติครองตำแหน่งยาวนานมากกว่าใคร คือ 2,063 วัน นายนเรนทราได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ ดอกไม้ได้ในฐานะที่เร่งพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐนี้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องสวนทางกับเศรษฐกิจของประเทศที่มีแต่ตกต่ำลง แต่ดอกไม้นี้ก็ไม่เทียบเท่ากับก้อนอิฐ จากเหตุปะทะทางศาสนาเมื่อปี 2545 กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มได้ประณามนายนเรนทราว่าเพิกเฉยต่อเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น แต่เจ้าตัวยืนกรานว่าไม่ได้ทำผิดและไม่ยอมขอโทษ

แม้ว่าสื่อมักจะตั้งฉายาว่าเป็นนักสร้างปัญหาและสร้างความแตกแยกระหว่างฮินดูกับมุสลิม เป็นพวกสุดปลายขั้วที่ดีแต่สร้างความขัดแย้งภายใน แต่ชีวิตส่วนตัวเป็นนักมังสวิรัติและถือบวชในเพศฆราวาส เป็นลูกกตัญญูที่คอยดูแลพ่อที่แก่แล้ว ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ชอบเล่นโยคะ เป็นนักคิดและชอบเขียนบทกวีในภาษาคุชราตี เหนืออื่นใดก็คือเป็นคนบ้างานและเป็นนักพูดมากอารมณ์ขันที่สามารถดึงดูดผู้ฟังจำนวนมาก

ที่มาภาพ : http://img.dnaindia.com/sites/default/files/2014/03/05/218650-narendramodiheadgear.jpg
ที่มาภาพ : http://img.dnaindia.com/sites/default/files/2014/03/05/218650-narendramodiheadgear.jpg

ในส่วนของชีวิตครอบครัว แม้จะเคยเป็นกบฏในบ้านกรณีขัดขืนไม่ยอมแต่งงานตามประเพณีคลุมถุงชน แล้วสร้างภาพว่าอยู่อย่างสันโดษ ดำรงตนเป็นโสดเรื่อยมา ถึงขนาดเคยให้สัมภาษณ์ผู้เขียนอัตชีวประวัติของตัวเองว่ามีความสุขกับชีวิตโสด เพราะเมื่อไม่มีครอบครัวไม่มีลูกแล้วจะทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ใคร อย่างไรก็ดี นายนเรนทราจะเพิ่งยอมรับเป็นครั้งแรกเมื่อเร็วๆ นี้ว่าแต่งงานมีครอบครัวแล้ว โดยในเอกสารประกอบการลงสมัครเป็น ส.ส. เขตหนึ่งในรัฐคุชราต ได้ระบุในช่องชื่อของคู่สมรสว่า จาโชดาเบน เท่ากับยืนยันอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่าแต่งงานแล้ว

แม้จะพูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่ก็ชอบแดกดันชนชั้นปกครองที่ชอบใช้แต่ภาษาอังกฤษ และแม้จะชอบนุ่งโจงกระเบนแบบแขก แต่ถ้าต้องเข้าร่วมการประชุมธุรกิจก็พร้อมจะสวมสูททันสมัย

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า หากก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายนเรนทรา โมฆี อาจจะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจในประเทศให้กระเตื้องขึ้น รวมทั้งเร่งปราบการทุจริตคอร์รัปชัน แต่เพราะความเป็นคนสุดโต่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศที่อาจแข็งกร้าวมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหากระทบกระทั่งกับจีนและปากีสถาน ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาประเทศจับตาอยู่

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่านายนเรนทราอาจจะตกม้าตายก็ได้ ม้าที่ว่านี้ก็คือการรายล้อมด้วยคนสนิทที่มีชื่อฉาวในหลายๆ ด้านด้วยกัน โดยเฉพาะคนสนิทชื่อนายอมิต ชาห์ วัย 50 ปี ที่คบหากันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2523 สมัยที่เป็นอาสาสมัครไฟแรงของกลุ่มชาตินิยมฮินดู จนขณะนี้มีหน้าที่คล้ายกับเป็นผู้จัดการการเมือง และคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลนายนเรนทรา เพราะความสนิทชิดเชื้อชนิดที่ว่าใครอยากจะขอพบนายนเรนทราจะต้องผ่านด่านนายชาห์ ซึ่งเป็นพวกชาตินิยมฮินดูยิ่งกว่านายนเรนทราเสียอีก จากการที่ชอบใช้ภาษาที่สร้างความเกลียดชังและความแตกแยกทางศาสนา อาทิ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุปะทะระหว่างฮินดู-มุสลิมที่รัฐอุตรประเทศเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คนว่า “รัฐบาลคอยคุ้มครองและจ่ายค่าชดเชยให้กับคนที่ฆ่าชาวฮินดู” จนถูกฟ้องและถูกขู่ฆ่า

นอกจากนี้ นายชาห์ซึ่งเคยเป็นมนตรีฝ่ายมหาดไทยของรัฐคุชราตก็ถูกตำรวจในนิวเดลีตั้งข้อหาฆาตกรรม กรรโชกทรัพย์ และทำลายหลักฐานต่างๆ รวมทั้งสมคบคิดก่ออาชญากรรมสังหารนักกรรโชกทรัพย์ผัวเมียคู่หนึ่งเมื่อ 7 ปีมาแล้ว แต่ตำรวจในรัฐคุชราตกลับทำสำนวนว่าเหยื่อเป็นผู้ก่อการร้ายที่วางแผนจะลอบสังหารนายนเรนทรา โมฆี ขณะที่นายชาห์ยืนกรานปฏิเสธ แม้จะยอมลาออกตามแรงกดดันก็ตาม

นายนเรนทรา โมฆี เองก็ออกโรงปกป้องนายชาห์ว่าตกเป็นเหยื่อการสมคบคิด และนี่อาจจะเป็นจุดอ่อนสำคัญอีกจุดหนึ่งของนายนเรนทรา โมฆี ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแดนภารตะอินเดีย