1721955
“แม่มดเป็นเพียงจินตนาการหรือ? เป็นตัวละครในตำนานรึ?…ไม่ใช่เลย ในความเป็นจริงมีผู้หญิงมากมายที่ถูกกักขัง ถูกข่มเหง และถูกฆ่าตาย แบบเดียวกับนังมารร้าย ปีศาจสิงสู่ แม่มดชั่ว เราต้องต่อสู้เพื่อให้แน่ใจว่า…เราจะไม่ถูกเผาซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างในประวัติศาสตร์การล่าแม่มด”
-ซิลเวีย เฟเดอริซี นักเคลื่อนไหว นักสตรีนิยม นักเขียน และอาจารย์ด้านปรัชญาการเมืองและการศึกษาระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮอฟสตรา ในนิวยอร์ก
เฟเดอริซีกล่าวในวาระเปิดตัวหนังสือ Caliban and the Witch: Women, the Body, and the Original Accumulation อันเป็นหนังสือที่ว่าด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ทวีเพิ่มขึ้นทั่วโลก และมักจะมาในรูปแบบการ “ล่าแม่มด” ในโลกยุคใหม่
บทความนี้สืบเนื่องมาจากซีรีส์ล่าสุดค่ายมาร์เวล ที่เซอร์ไพร์สคนดูด้วยการเปิดจักรวาลดาร์กคอมมิดี้แฟนตาซี Agatha All Along (2024) มินิซีรีส์ 9 ตอนจบที่เพิ่งมา 2 อีพีแรกรวดเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา อันเป็นการสานต่อจากซีรีส์ WandaVision (2021) โดยนอกจากจะได้ แคทริน ฮาห์น (จากหนัง Glass Onion: A Knives Out Mystery-2022, Private Life-2018, A Bad Moms Christmas-2017) กลับมารับบท อกาธา ฮาร์คเนสส์ แล้วยังได้โชว์รันเนอร์หญิงเก่งคนเดิม ฌาก เชฟเฟอร์ (หนึ่งในทีมบทหนังมาร์เวล Black Widow-2021) ที่ควบทั้งตำแหน่งอำนวยการสร้าง เขียนบท และยังกำกับในอีพี 1, 2 และ 7 อีกด้วย
มินิซีรีส์ Agatha All Along เปิดฉากขึ้นเมื่อแม่มดตัวร้ายปากแจ๋วจอมแย่งซีน อกาธา ฮาร์คเนสส์ สูญเสียพลังอำนาจและความทรงจำเนื่องจากคำสาปของ สการ์เล็ต วิทช์ ในซีรีส์ WandaVision ทำให้อกาธากลายเป็นแอกเนสผู้แสนดีใช้ชีวิตอยู่ในวังวนซิตคอมที่ถูกผนึกโดยจอมเวทย์วันด้า ตามเรื่องราวในฉากจบซีรีส์ WandaVision ก่อนจะกลับมาสู่เส้นเรื่องของอกาธา ด้วยความช่วยเหลือจากตัวแปรสำคัญที่ถูกเรียกว่า “วัยรุ่น (Teen)” (โจ ล็อก จากซีรีส์ Heartstopper) ตัวละครปริศนาที่เรายังไม่รู้ชื่อจริง เขาเป็นเกย์หัวโปกสุดดาร์กผู้ช่วยเหลืออกาธาในการรวบรวมโคเวน (พวกพ้องแม่มด) เพื่อฝ่าฟันไปยังเส้นทางแม่มดในตำนาน (Witches’ Road) ที่ถูกอธิบายในเรื่องว่า “ที่สุดปลายเส้นทางจะมีสิ่งที่ทุกคนขาดหายรออยู่”
ซีรีส์ทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวพันกับแม่มดในยุคโบราณเอาไว้มากมาย ที่ฉายชัดให้เห็นภาพว่าเพราะเหตุใด “แม่มด” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ “ผู้หญิง” ในยุคเรา
โมนา โชลเลต์ นักเขียนชาวสวิสส และบรรณาธิการหญิงคนเก่งแห่งหนังสือพิมพ์เจาะลึกวัฒนธรรม-การเมืองรายเดือนภาษาฝรั่งเศสชื่อดัง Le Monde diplomatique ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเธอ In Defense of Witches: The Legacy of the Witch Hunts and Why Women Are Still on Trial ว่า
‘ชีวิตผู้หญิงตะวันตกในยุคปัจจุบันจะดีกว่านี้มากหากไม่มีกระแสล่าแม่มดในยุโรป ตลอดหลายร้อยปีจนถึงยุคต้นสมัยใหม่เป็นเรื่องเดาไม่ได้เลยว่าใครจะโดนคดีล่าแม่มดบ้าง ซึ่งเป็นคดีโง่ ๆ ไร้เหตุผล ที่มีบทลงโทษสยดสยอง เป็นการข่มเหงที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายพันคนต้องเสียชีวิต และช่วยหยั่งรากลึกการกดขี่ผู้หญิงที่มีมาจนทุกวันนี้’
เธออธิบายเพิ่มด้วยว่า ‘ความคลั่งใคล้หมกมุ่นในแม่มดเป็นการข่มเหงที่มาจากชนชั้นสูง พระ กษัตริย์ ขุนนาง โดยมอบอำนาจให้ผู้เฆี่ยนตีทรมาน อัยการ ผู้พิพากษา เพชฌฆาต อันทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากต้องเลิกอาชีพหมอสมุนไพรและหมอตำแย ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการแพทย์เชิงวิทยาศาสตร์ อีกทั้งมหาวิทยาลัยสมัยนั้นยังห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าเรียนด้วย’
สาวซิง มารดา ยัยแก่
ในซีรีส์ แอกเนส พบเบาะแสแรกเป็นล็อคเก็ตที่ภายในบรรจุปอยผมเอาไว้ ด้านหน้ามีรูป สามเทพี/ไตรเทวี (Triple Goddess) เป็นเทพีในลักษณะตรีเอกานุภาพสามร่างรวมเป็นหนึ่งเดียวที่ถูกอธิบายด้วยคำว่า “Maiden(หญิงพรหมจรรย์), Mother(มารดา), Crone (หญิงชราชั่วร้าย)” อันเป็นต้นแบบเทพโบราณ ของกลุ่มผู้เชื่อในลัทธินอกศาสนา ความเชื่อภูติผีในยุคใหม่ที่เรียกันว่า “นีโอเพแกน (Neopaganism, Modern paganism)”
ภาพจำแรก ๆ ของแม่มด คือ หญิงชราผู้ชั่วร้าย (Crone) จมูกงุ้ม คางยื่น ฟันเหยเก ผิวหนังเหี่ยวย่น ภาพนี้หยั่งรากลึกในยุคคริสต์ศาสนาประกอบสตอรี่ว่าพวกแม่มดเป็นผู้หญิงที่คบหาสมาคมกับซาตาน แต่ความจริงแล้วแม่มดแก่และน่าเกลียดมีมาก่อนยุคสมัยของพระเยซู วรรณกรรมโรมันพรรณนาถึงแม่มดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสมเพช ผมหงอก ชอบขุดดินภายใต้แสงจันทร์ ฉีกสัตว์เป็น ๆ ด้วยฟัน และใช้อวัยวะของเด็กชายที่อดอาหารจนตายเพื่อร่ายมนตร์ แม่มดในยุคนั้นมีงานอดิเรกหลักสองอย่างคือ ปรุงยาเสน่ห์และสาปแช่ง กวีในยุคโรมันโบราณ โอวิด (43-18 ปีก่อนคริสตกาล) กล่าวโทษแม่มดว่า “ใช้ตุ๊กตามนต์ดำทำให้จู๋ของพวกผู้ชายทั้งหมู่บ้านไม่แข็งตัว”
แต่แม่มดไม่ได้มีแค่ยัยแก่หนังเหี่ยวน่าสมเพช แม่มดสวยสะคราญทรงอำนาจก็มีเช่นกัน คลีโอพัตรา (51-30 ปีก่อนคริสตกาล) เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดเพราะนอกจากจะมีอำนาจคุมกองกำลังแข็งแกร่งแล้ว ยังมีเสน่ห์ยั่วยวนสะกดใจชาย ส่วนแอนน์ โบลีน (1501/1507-1536) ก็มีข่าวลือว่าเธอมีร่องรอยทางร่างกายที่บ่งบอกถึงการทำข้อตกลงกับซาตาน เช่น หัวนมที่สาม ไฝ และนิ้วที่หกของมือขวา
การกล่าวหาเช่นนี้เป็นวิธีที่ชาญฉลาด และมีประสิทธิภาพมากในการใส่ร้ายผู้หญิงที่เป็นศัตรูทางการเมือง มีผู้หญิงนับไม่ถ้วนถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชี้ชัดได้ว่าใครใช่หรือไม่ใช่แม่มด
และบางทีไตรเทวีอาจเป็นตัวแทนของค่านิยมพวกผู้ชายที่ชอบมองผู้หญิงว่าเป็นได้แค่ “เมีย แม่ แก่แล้วก็ตายไป” ที่คงต้องย้อนไปในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างศาสนจักรสูงส่งของพวกผู้ชาย กับแม่มดชั้นต่ำของพวกผู้หญิง อันเป็นศึกช่วงชิงอำนาจกันมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน…ซึ่งส่วนใหญ่จะจบลงที่ผู้หญิงโดนลงโทษ หรือไม่ก็ถูกฆ่า!
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเมื่อยุโรปรับเอาความเชื่อแบบคริสตศาสนาที่สอนให้นับถือพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น แปลว่าพวกเขาเคยนับถือพระเจ้าหลายองค์มาก่อน แล้วอะไรก็ตามที่ไม่ตรงตามจารีตแบบแผนของพระเจ้าองค์ใหม่ในนามศาสนจักร ชาวคริสต์ยุคนั้นเหมารวมศาสนาดั้งเดิมที่มีมาก่อนพวกเขา เรียกรวบเหมือนกันหมดว่า “เพแกน(นอกศาสนา)” อันเป็นพวก “นอกรีต แหกคอก นอกพระคัมภีร์ (unorthodox)” ผลักไสให้คนกลุ่มนี้ทั้งหมดไปอยู่ตรงข้ามกับพระเจ้า ภายใต้นามที่ถูกเหมารวมเหมือนกันหมดว่า “ซาตาน”
[หนึ่งในความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกเรียกว่าเพแกนด้วยก็คือศาสนากรีก-โรมันโบราณ ที่ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ปารีสได้ขุดแนวคิดดั้งเดิมเหล่านี้กลับมาใช้ในกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่เราเคยเล่าไปแล้วในบทความ ทวยเทพโอลิมปิก]‘”แม่มด” ในอดีตถูกกล่าวขานว่ามีพลังลึกลับเนื่องมาจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นพันธมิตรกับซาตาน’ -โมนา โชลเลต์
แต่สิ่งที่ย้อนแย้งคือ แม้พวกเขาจะต่อต้านพวกเพแกน แต่กลับนำเอาบทลงโทษแบบเพแกนกลับมาใช้ในยุคคริสตจักร ในบทความจากเว็บ theconversation โดย แม็กซิม เจลลี่-เปร์เบลลินี ได้ระบุว่า ‘ตั้งแต่สมัยโบราณ ยุคกลาง (ราวค.ศ.500-1500) ยังคงไว้ซึ่งความทรงจำเกี่ยวกับกฎหมายอันเข้มงวดของจักรวรรดิโรมันต่อนักมายากลและเวทมนตร์คาถา โดยผู้ที่เสกเวทมนตร์อันตรายจะต้องได้รับโทษประหารชีวิต แนวคิดเหล่านี้สืบทอดมาช้านานจากยุคโรมันทำให้คริสตจักรในยุคกลางจึงได้จัดหนักแคมเปญต่อต้านลัทธิเพแกนทุกประเภท รวมทั้งพิธีกรรมเวทมนตร์ การทำนาย การบูชารูปเคารพ ความเชื่อโชคลาง และอื่น ๆ ที่คริสตจักรถือว่า “นอกรีต”
การปราบปรามเวทมนตร์: ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
การพิจารณาคดีแม่มดครั้งแรกปรากฏในแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 13 โดยเฉพาะในอิตาลีตอนเหนือ การพิจารณาคดีทำนองนี้เกิดบ่อยครั้งมากขึ้นเนื่องจากการรับรู้ที่เปลี่ยนไป ทำให้การใช้เวทมนตร์ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 1280 เป็นต้นมา ในเวลาเดียวกันคริสตจักรได้ริเริ่มโครงการขนาดใหญ่เพื่อต่อสู้กับความนอกรีตทั้งปวงภายใต้บริบทของวิกฤติทางการเมือง และเพื่อเป็นการยืนยันอำนาจของพระสันตปาปาผู้เป็นเพศชายเท่านั้นและเสมอมา (all along) คริสตจักรได้จัดตั้งสถาบันเฉพาะสำหรับโครงการนี้ นั่นก็คือ “ศาลศาสนา (The Inquisition)”
ในกรอบแนวคิดใหม่นี้เชื่อว่าไสยศาสตร์เกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงกับปีศาจ และเป็นการอัญเชิญปีศาจ ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องรับการลงโทษที่สงวนไว้สำหรับพวกนอกรีตเท่านั้น นั่นคือการเผาประจานบนเสา (burning at the stake) ช่วงเวลาสำคัญในคำจำกัดความใหม่นี้คือการประกาศใช้พระธรรมบัญญัติ “Super illius specula” โดยสมเด็จพระสันตปาปาจอห์นที่ 22 (1316-1334) นับตั้งแต่ปี 1326 การเล่นไสยศาสตร์จึงถือเป็นภัยคุกคามต่อสังคมชาวคริสต์อย่างเป็นรูปธรรม
ทว่าคริสตจักรไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง พวกเขาผนึกกำลังกับอำนาจทางโลกอันได้แก่ กษัตริย์ ขุนนาง หัวเมืองต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมปราบปราม “แม่มด” ด้วยเช่นกัน
การพิจารณาคดีในศาลนี้เกิดบ่อยครั้งขึ้นมากในยุโรป ตลอดจนถึงปลายศตวรรษที่ 15 แล้วแม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับจินตนาการส่วนรวมในยุคกลาง แต่การ “ล่าแม่มด” เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงในยุคต้นสมัยใหม่ (หลังการล่มสลายของไบเซนไทน์ในปี 1453 เป็นต้นมา) คาดกันว่าในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 13 ถึง 18 มีจำนวนการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการใช้เวทมนตร์ราว 120,000 คดี ส่งผลให้มีการประหารชีวิตที่น่าจะมากกว่า 60,000 ราย
ทำไมต้องเผาแม่มดด้วยไฟ
ชาวคาธอลิกเชื่อว่าหนึ่งใน พระคุณการุณย์ (Indulgence) ของพระเจ้าคือ ไฟชำระ (Purgatory) แม้ว่าคำนี้จะไม่เคยปรากฎในไบเบิลเลยก็ตาม แต่การเผาด้วยไฟส่วนหนึ่งอันที่จริงแล้วมีรากฐานมาจากการบูชายัญถวายเทพเจ้าของพวกเพแกนในยุคก่อนคริสตกาล ซึ่งบ่อยครั้งที่ไบเบิลจะกล่าวถึงบึงไฟนรก อันเป็นศัพท์ที่ถูกแปลให้เข้าใจง่ายขึ้นจากต้นเค้าเดิม คือ หุบเขาฮินโนม (เกเฮนนา) ที่ในยุคเพแกนก่อนคริสตกาลเชื่อกันว่าเป็นแดนนรก ทำให้บริเวณนั้นยังถูกใช้เป็นพื้นที่เผาบูชายัญอีกด้วย อีกทั้งการย่างสดบนเสา (burning at the stake) ยังเป็นธรรมเนียมการประหารชีวิตในยุคบาบิโลน และอิสราเอลโบราณที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงยุคกลาง
‘คนที่กราบไหว้รูปปั้นของมัน ทั้งสัตว์ร้ายกับผู้พยากรณ์เท็จก็ถูกโยนทั้งเป็นลงไปในบึงไฟที่ลุกไหม้ด้วยกำมะถัน’ วิวรณ์ 19:20
พิธีกรรมของพวกเพแกนถูกจับมาผสมอนุมานกับสิ่งที่ไบเบิลกล่าวถึงยุคสุดท้าย (Last Days) ที่เชื่อกันว่าหลังจากที่พระเจ้าเคยล้างโลกด้วยน้ำไปแล้วในสมัยโนอาห์ คราวนี้พระเจ้าจะล้างโลกด้วยไฟ และมีคนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะรอด ก็คือกลุ่มผู้เชื่อในพระเจ้า ส่วนพวกไม่ศรัทธา ละทิ้งความเชื่อ หรือเป็นศัตรูต่อพระเจ้าทั้งหมดจะถูกเผาทำลายด้วยไฟ
‘เมื่อทูตสวรรค์องค์แรกเป่าแตรขึ้น ลูกเห็บและไฟ ที่ปนด้วยเลือดก็ตกลงมาบนแผ่นดินโลก แผ่นดินโลกก็ถูกเผาไปหนึ่งส่วนสาม…แล้วหนึ่งส่วนสามของทะเลกลายเป็นเลือด’ วิวรณ์ 8:7-8
ระหว่างปี1550-1650 ผู้ต้องหาร้อยละ 85 เป็นผู้หญิง
เมื่อพระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ระบุว่าสร้างหญิงมาจากกระดูกซี่โครงของชาย และบาปแรกนั้นเกิดจากหญิงที่ถูกงูยั่วยวนให้ละเมิดคำสั่งของพระเจ้า อันหมายถึงเมื่อเอวากัดกินผลไม้แห่งปัญญา แล้วยื่นให้สามี ดวงตาของพวกเขาทั้งคู่ก็สว่างขึ้น…แล้วมนุษย์ก็กลายเป็นคนบาปนับแต่นั้นเป็นต้นมา
สรุปได้ว่าที่มวลมนุษยชาติต้องตกอยู่ในบาปชั่วนั้น…เป็นผลมาจาก “ผู้หญิง”!?
ในยุคต้นสมัยใหม่ระหว่างปี 1550 -1650 ที่แม้ว่าจะมีทั้งหญิงและชายได้รับผลกระทบจากการถูกทำให้เป็นอาชญากรด้วยข้อหาสุดงี่เง่าคือการใช้เวทมนตร์เหมือน ๆ กันแล้ว แต่กลับพบว่าในบรรดาผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด มีผู้หญิงมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์!
เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุในบทความของ ดร.ชาร์ลอตต์-โรส มิลลาร์ ว่า ‘ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในประเทศใด แต่โดยรวมแล้ว ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ของผู้ถูกกล่าวหาและถูกประหารชีวิต ในอังกฤษเราประมาณว่าผู้หญิงคิดเป็นราว 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกกล่าวหา, ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพูดภาษาเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ ตัวเลขนี้คือ 76 เปอร์เซ็นต์, ในฮังการี 90 เปอร์เซ็นต์, ในสวิตเซอร์แลนด์มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ และในบางส่วนของฝรั่งเศสอีก 76 เปอร์เซ็นต์ มีข้อยกเว้นสำหรับแนวโน้มนี้คือในไอซ์แลนด์มีผู้หญิงเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกกล่าวหา และตัวเลขต่ำ ๆ ยังพบได้ในรัสเซีย 32 เปอร์เซ็นต์ กับเอสโตเนีย 40 เปอร์เซ็นต์ แต่โยภาพรวมส่วนใหญ่ในแถบยุโรปตะวันตก “ผู้หญิง” จะถูกกล่าวหาว่าเป็น “แม่มด” มากกว่าผู้ชายมาก’
‘ผู้หญิงที่ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มดในเชิงอำนาจแล้ว มักจะเป็นผู้หญิงยากจน สูงอายุ เป็นหม้าย เป็นโสด หรือไร้ที่พึ่งพิง’ -ดร. ชาร์ลอตต์-โรส มิลลาร์
‘ไม่เพียงแต่ผู้หญิงเปราะบางเท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เวทมนตร์ ทว่ายังมีผู้หญิงทรงอำนาจทางการเมืองด้วย อาทิ โจน ออฟอาร์ค ผู้นำฝรั่งเศสให้ได้รับชัยชนะเหนืออังกฤษ และมีชื่อเสียงในเรื่องความบริสุทธิ์ ความเฉลียวฉลาด และความศรัทธา ครั้นเมื่อผู้นำอังกฤษไม่สามารถเอาชนะเธอได้ พวกเขาก็ดูถูกเธอ โดยอ้างว่าที่เธอทำสำเร็จเพราะเธอเป็น “แม่มด” ด้วยอคติที่เชื่อว่า “ผู้หญิง” ไม่สามารถทำสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง
เมื่อเธอถูกจับ พวกเขาจึงพิจารณาคดีเธอในข้อหาใช้เวทมนตร์ โดยอ้างถึงความกล้าหาญอันแข็งแกร่งเกินหญิงที่เธอแสดงให้เห็นในการต่อสู้ และความสามารถในการปะทะคารมกับผู้ไต่สวน กลายเป็นหลักฐานชี้ให้เห็น “ความผิดธรรมชาติ” ของเธอ
แต่การกล่าวโทษแม่มดไม่ได้เกิดจากผู้ชายเท่านั้น ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วทั้งยุโรป ที่ผู้หญิงมักถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดโดยผู้หญิงด้วยกันเอง แม่มดมักถูกเชื่อว่าทำงานอยู่ในกลุ่มผู้หญิง พวกเธอถูกกล่าวหาว่าฆ่าเด็ก ขัดขวางการเจริญพันธุ์ ทำให้เบียร์เน่า ขนมปังไม่ขึ้นฟู ทำให้วัวแห้งรีดนมไม่ได้ การกระทำเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการโจมตีกิจกรรมของ “ผู้หญิง” ทั้งสิ้น’
มาร์ติเน ออสโตเรโร และแคเธอรีน เคน สองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโลซาน เห็นพ้องตรงกันว่า “แนวคิดนี้ได้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังผู้หญิงมาตั้งแต่เริ่ม แล้วขยายเป็นวงกว้างขึ้นไปสู่อคติต่อผู้หญิงอย่างเข้มข้น พวกเขาถือว่าผู้หญิงอ่อนแอกว่าจึงมักตกอยู่ใต้อำนาจปีศาจได้ง่ายกว่าผู้ชาย”
ในศตวรรษที่ 11 บิชอปเบอร์ชาร์ดแห่งเมืองวอร์มส์ (ราว 950/965-1025) กล่าวถึงความเชื่อที่เป็นบาปบางประการว่า:
“สตรีชั่วร้ายบางคนหันไปหาซาตานและถูกล่อหลอกด้วยภาพลวงตาของปีศาจ พวกเธอบูชาเทพีไดอาน่าของพวกเพแกน ยามราตรีพวกเธอจะขี่สัตว์กลางคืน (ค้างคาว นกเค้า กาเรเว่น) ท่องไปในความสงัดเงียบแห่งรัตติกาลมืดมิด”
เจนนิเฟอร์ ฟาร์เรล อาจารย์ประจำวิชาประวัติศาสตร์ยุคกลาง มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ สหราชอาณาจักร ระบุว่า ‘ความเชื่อดังกล่าวนำไปสู่ทัศนคติเกี่ยวกับเวทมนตร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 แม้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับผู้หญิงที่บินบนท้องฟ้ายามราตรีจะยังคงมีอยู่ แต่การรับรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เปลี่ยนไปจากความคลางแคลงใจ กลายเป็นความหวาดกลัว การบินกลางคืนด้วยเวทมนตร์ได้กลายมาเกี่ยวข้องกับการรวมตัวกันอย่างลับ ๆ ไปสู่พิธีกรรมแม่มดที่เรียกว่า “สะบาโตสีดำ (Black Sabbath / Witches’ Sabbath / Esbat)” อันเกี่ยวข้องกับการกระทำชั่วต่ำทราม เช่น การฆ่าทารก การร่วมงานเลี้ยงสำส่อนทางเพศ และการบูชาซาตาน’
ไม่เพียงแต่ผู้หญิง แต่ยังตีขลุมรวมไปถึงชายรักชายด้วย
การกล่าวหานี้มิได้พุ่งเป้าไปที่สตรีเพศเท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงชายรักชายอันเป็นสิ่ง “ผิดธรรมชาติ” และ “นอกรีต” ตัวอย่างหนึ่งคือจดหมายของพระสันตปาปาเกรกอรีที่ 9 (1145-1241) ในศตวรรษที่ 13 บรรยายถึงการรวมตัวของพวกนอกรีต ว่า
“ในงานเลี้ยงสำส่อนทางเพศ หากมีผู้หญิงไม่เพียงพอ ผู้ชายจะร่วม “กิจกรรมเสื่อมทราม” กับผู้ชายด้วยกัน เป็นการกระทำเยี่ยงหญิงอ่อนแอขัดต่อกฎธรรมชาติที่หญิงย่อมคู่กับชาย”
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 -18 ยุโรปได้ออกกฎหมายผ่านการดำเนินคดีในศาล เพื่อต่อต้านอาชญากรรมทางเพศ อันหมายถึงความผิดต่อธรรมชาติที่พระเจ้าทรงสร้าง นั่นคือ การร่วมเพศทางทวารหนัก และการร่วมเพศกับสัตว์ โดยมักกำหนดโทษด้วยการเผาทั้งเป็น มีหลักฐานเท่าที่ระบุได้ว่าครั้งแรกเกิดขึ้นในสภาคริสตจักรนาบลัส (Council of Nablus) ในอาณาจักรครูเสดแห่งเยรูซาเล็ม (ปัจจุบันอยู่ในเวสต์แบงก์ ปาเลสไตน์) เมื่อปี 1120
นักเดินทาง วิลเลียม ลิธโกว์ บันทึกไว้ขณะไปเยือนประเทศมอลตา เมื่อปี 1616 ว่า ‘ข้าพเจ้าเห็นทหารสเปนและเด็กชาวมอลเทเซนถูกเผาเป็นเถ้าถ่านเพราะแสดงพฤติกรรมทางเพศในที่สาธารณะ แล้วก่อนพลบค่ำก็มีพวกบาร์ดาสโซ (bardasso, bardach, bardascio, bordachio พวกรักเพศเดียวกันหรือชายอ้อนแอ้น) กับโสเภณีเด็กชายมากกว่าร้อยคนหนีไปซิซิลีเพราะกลัวถูกย่างไฟ แต่มีเพียงไม่กี่คน หรืออาจไม่มีเลยที่รอดพ้นจากการถูกเผาทั้งเป็น’
ส่วนคดีท้าย ๆ เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อชายสองคนถูกศาลตัดสินให้เผาทั้งเป็นเพราะมีสัมพันธ์สวาทต่อกันโดยสมัครใจในปี 1750 กับอีกคดีหนึ่งในปี 1771 เมื่อบาทหลวงรูปหนึ่งถูกเผาทั้งเป็นด้วยข้อกล่าวหานี้ในเจนีวา ส่วนคดีสุดท้ายจริง ๆ เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อชายคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาข่มขืนเด็กชายจนเสียชีวิตในปี 1784
ซิลเวีย เฟเดริชี ระบุในหนังสือ Caliban and the Witch: Women, the Body, and Primitive Accumulation (2004) ว่า ‘ฉันเป็นนักประวัติศาสตร์ยุคกลางที่สอนเรื่องเพศและการศึกษาเกี่ยวกับทรานส์ในโรงเรียนศิลปะ ซึ่งฉันมักจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกลุ่ม LGBTQI+ ซึ่งฉันมักจะต้องลบล้างตำนานที่ว่าคำว่า “ตุ๊ด (faggots)” มาจากกลุ่มโฮโมเซ็กช่วลที่ถูกใช้เป็นฟืนเมื่อแม่มดถูกเผาตรึงบนเสา’
ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษของ Oxford คำว่า “faggot” เดิมทีหมายความว่า “คนนอกรีต” ในภาษาอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 16 ต่อมามีการใช้คำนี้เพื่อดุด่าเด็กเกเรหรือซุกซนในศตวรรษที่ 19 ส่วนในสหรัฐคำนี้ถูกบันทึกครั้งแรกว่าเป็นคำดูถูกที่ใช้เรียกกลุ่มเพศหลากหลายในปี 1913 แล้วที่มันมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นฟืน เนื่องจากในปี 2009 นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ฮาร์เปอร์ ดักลาส ได้ระบุไว้ในนิรุกติศาสตร์ออนไลน์ว่า “ต้นกำเนิดของคำนี้ยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะมาจากคำว่า “มัดไม้” อันเป็นภาษาฝรั่งเศสโบราณ อิตาลี และละตินว่า “fascis”
ในยุคนั้นพวกแม่มดและสาวกทั้งปวงจึงถูกมองว่าเป็นกบฏต่อบรรทัดฐานทางสังคม ผิดต่อจารีต และต่อต้านกลุ่มสถาบันอำนาจอย่าง ศาสนจักร จักรวรรดิ กองทัพ เทศบาลเมือง ฯลฯ อีกทั้งเป็นกบฏต่ออัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกกำหนดโดยพระเจ้าด้วย
จากการปราบปรามกลายไปสู่ตำนาน
ริฟก้า กัลเชน ระบุในนิตยสาร New Yorker ฉบับ15 มกราคม 2024 ว่า ‘กษัตริย์เจมส์ผู้เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ในการแปลคัมภีร์ไบเบิลทรงเชื่อว่า “การจับถ่วงน้ำเป็นการตรวจสอบได้ดีที่สุดว่าใครเป็นแม่มด” ในที่นี้แปลว่าหากเธอรอดจากการจมน้ำมาได้ก็จะถูกเผาในฐานะแม่มด ส่วนการจะพบว่าเธอคนนั้นไม่ใช่แม่มดก็ต่อเมื่อเธอถูกจับถ่วงน้ำแล้วตาย กลายเป็นว่าไม่ว่าจะทางไหนผลสุดท้ายก็ต้องตายอยู่ดี แถมแนวคิดโง่เง่าและโหดเหี้ยมนี้มาจากบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์” ผู้มีชื่อเสียงในทางทำนุบำรุง “ศาสนา”’
ในปี 1532 เมื่อ Constitutio Criminalis Carolina กลายเป็นกฎหมายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายนี้ได้ระบุว่าการใช้เวทมนตร์คาถาเป็นอาชญากรรมร้ายแรงซึ่งต้องรับโทษด้วยการถูกประหารด้วยไฟ ซึ่งเฉพาะในเยอรมนีเพียงประเทศเดียวก็มีผู้ถูกประหารชีวิตไปแล้วมากกว่า 25,000 คน กฎหมาย Carolina มักถูกเรียกว่าเป็นพื้นฐานของการล่าแม่มด และแม้ว่าในคดีนั้นจะมีผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวก็สามารถจับแม่มดตนนั้นไปขึ้นศาลศาสนาได้เลย กลายเป็นว่าหากเราเกลียดชังใครสักคน เราก็สามารถฆ่าคนนั้นให้ตายได้ง่าย ๆ ด้วยการใส่ร้ายว่านางเป็นแม่มด
ในยุโรป อันนา โกลดิ เป็นหญิงคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดหัวในข้อหาใช้เวทมนตร์วางยาพิษเด็กในปี 1734 ที่เมืองกลาริส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้เธอจะตายไปนานแล้วแต่ยังคงถูกสาปแช่งในฐานะแม่มดเสมอมา (all along) กว่าที่เทศบาลเมืองจะยอมรับว่าเป็นการพิพากษาผิดพลาดก็ผ่านไปนานถึงปี 2008 เมื่อรัฐประกาศว่า “โกลดิ ไร้มลทินมัวหมอง ปราศจากความผิดบาป” อันนับเป็นครั้งแรกในยุโรปที่ “แม่มด” ได้รักการเยียวยา…เอิ่ม หลังจากเธอตายไปแล้ว 274 ปี!
โกลดิ เป็นหญิงรับใช้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้มนตร์สะกดลูกสาววัย 8 ขวบของครอบครัวนายจ้าง ทำให้สาวน้อยชักกระตุกอย่างรุนแรงแต่ไม่ถึงตาย (ซึ่งอาจอาการแพ้อาหาร หรือโรคลมชัก) คดีนี้ถูกส่งไปให้ จาค็อบ ชูดิ ผู้เป็นแพทย์, ผู้พิพากษา และเคยมีสัมพันธ์สวาทกับโกลดิ ทำให้เขากลัวจะเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงนำไปสู่การตัดสินโทษเท็จ ให้ตัดหัวโกลดิในปี 1782
เทศบาลเมืองกลารุสประกาศในปี 2008 ว่า “สภาคริสจักรโปเตสแตนต์ผู้ดำเนินการพิจารณคดีในขณะนั้น แท้จริงแล้วไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการตัดสินเลย และพวกเขามีอคติต่อหญิงผู้นี้ เธอถูกประหารทั้งที่กฎหมายในขณะนั้นจะไม่มีโทษประหารสำหรับการวางยาพิษที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตก็ตาม…นี่เป็นการยอมรับว่าคำตัดสินดังกล่าวมาจากการพิจารณาคดีที่ผิดกฎหมาย และอันนา โกลดิเป็นเหยื่อของการถูกฆาตกรรมโดยศาล แถลงการนี้เป็นการประกาศการพ้นผิดที่มากไปกว่าการยืนยันความบริสุทธิ์ของเธอ เป็นการยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐเป็นความอยุติธรรมร้ายแรงและเป็นการตัดสินที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง”
การพัฒนาหลายอย่างในช่วงเวลานั้นถือเป็นจุดสิ้นสุดของการพิจารณาคดี และเริ่มมีการยกเลิกโทษการใช้เวทมนตร์ เช่น พระราชกฤษฎีกาของรัฐสภาปารีสในปี1682 และพระราชบัญญัติการใช้เวทมนตร์ในบริเทนใหญ่ปี1736 ฯลฯ
เมื่อปรากฏการณ์นี้ถูกยกเลิกโทษไปแล้ว ก็ได้กลายมาเป็นหัวข้อการศึกษาวิจัย ผลงานเขียน Satanism and Witchcraft (1862) ของ ฌูลส์ มิเชเลต์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (1798-1874) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการฟื้นฟูตัวละครที่เรียกว่า “แม่มด” ด้วยการเน้นย้ำถึงมิติเชิงสัญลักษณ์และตำนานในวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาติ แม่มดจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่คริสตจักรและรัฐชาติสร้างขึ้นเพื่อพิสูจน์อำนาจเพียงเท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นตัวแทนของประชาชนผู้ด้อยอำนาจด้วย ซึ่งแม่มดได้ถูกยกย่องในด้านอัจฉริยะเฉพาะตัวและความเป็นกบฏต่อการกดขี่ในยุคกลาง
มิเชเลต์ เสนอแนวคิดว่า “เวทมนตร์ในยุคกลางเป็นการกบฏโดยชอบธรรมของชนชั้นล่างต่อระบบศักดินาและคริสตจักรโรมันคาธอลิก” หนังสือของเขาโดดเด่นในฐานะประวัติศาสตร์ของเวทมนตร์เล่มแรก ๆ ที่ “แม่มด” ได้รับความเห็นอกเห็นใจ
‘วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือเพื่อให้เห็นรูปแบบการใช้ชีวิตของแม่มดที่เรียบง่าย เข้าใจในธรรมชาติ และน่าประทับใจ ทว่าบรรพบุรุษผู้รอบรู้ของข้าพเจ้าได้ทำให้แม่มดมืดมนและเสื่อมทรามลงด้วยวิทยาศาสตร์อันซับซ้อน แม่มดไม่ได้ถือกำเนิดจากปีศาจ แต่เริ่มต้นจากการใกล้ชิดธรรมชาติ พวกเธอมีชีวิต เป็นความอบอุ่น หายใจได้ และกระทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง’
ในเวลาเดียวกัน แนวทางใหม่ในการใช้เวทมนตร์ก็เกิดขึ้น โดยเน้นที่องค์ประกอบพื้นบ้าน นักเขียนบางคน เช่น นักเล่านิทานพี่น้องตระกูลกริมม์ พยายามแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเวทมนตร์กับความเชื่อพื้นบ้านโบราณ ผลงานของพวกเขามีส่วนทำให้แม่มดแพร่หลายไปในกระแสหลัก อาทิ สโนว์ไวท์ เจ้าหญิงนิทรา ราพันเซล ฮันเซลกับเกรเทล ฯลฯ
แม่มดกับลัทธิเพแกนยุคใหม่
ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษที่ 20 มอนแทกิว ซัมเมอร์ส (1990-1948) นักเขียน นักบวช นักเล่นไสยศาสตร์ และครูชาวอังกฤษ เสนอแนวคิดว่าแม่มดเป็นสมาชิกขององค์กรลับที่เป็นปฏิปักษ์กับคริสตจักรและรัฐชาติ ด้วยการย้อนไปหาลัทธิเพแกนโบราณก่อนคริสตกาล เขาเป็นผู้แปลหลักของ Malleus Maleficarum (สารานุกรมปีศาจวิทยาในศตวรรษที่ 15) อันเป็นบทความของไฮน์ริช คราเมอร์ ชาวโดมินิกันที่แต่งขึ้นในช่วง 1486-1487 และชี้ให้เห็นว่ามันมีเนื้อหาที่สร้างแนวคิดเรื่องความเกลียดชังผู้หญิง
The Malleus Maleficarum บรรยายว่า “ผู้หญิงเสพติดความเชื่อโชคลางเป็นส่วนใหญ่” และกล่าวโทษว่าพวกเธอมีความโลภ มีธรรมชาติที่เชื่อคนง่าย จิตใจและร่างกายที่อ่อนแอ ลิ้นที่ลื่นไหล ขี้อิจฉาริษยา และมีนิสัยชั่วร้ายโดยกำเนิด ว่า “พวกเธอเป็นสาเหตุของแนวโน้มที่จะยอมจำนนต่ออิทธิพลของปีศาจ” มีข้อความมากมายถูกบรรยายอย่างน่าเชื่อถือว่า “ผู้หญิงจำต้องเผชิญกับกลอุบายของปีศาจ อันเป็นธรรมชาติที่ชั่วร้ายโดยกำเนิดของพวกเธอเอง (เพราะเอวาผู้นำบาปมาสู่โลกเป็นหญิง)”
ในปี 1921 นักอียิปต์วิทยา นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ และนักนิทานพื้นบ้าน ชาวบริติชอินเดีย (กัลกัตตาในปัจจุบัน) มาร์กาเร็ต อลิซ เมอร์เรย์ เสนอการตีความใหม่ ในหนังสือ The Witch-Cult in Western Europe (1921) ว่าลัทธิบูชาความอุดมสมบูรณ์ในสมัยโบราณที่บูชาเทพีไดอาน่าเป็นพิธีกรรมที่ถูกขยายขอบเขตโดยแม่มด อันถูกพบได้ทั่วทั้งยุโรป ในหนังสือ God of Witches (1931) เธอโต้แย้งว่า ‘การบูชาเทพเจ้าที่มีเขา พฤติกรรมที่ถูกตีความว่าถูกปีศาจเข้าสิงในยุคกลาง อันนำไปสู่การข่มเหงรังแกแม่มดในช่วง 1450 มีสาเหตุมาจากพวกเธอตั้งกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใต้ดินเพื่อต่อต้านอำนาจศาสนจักรและรัฐชาติ’
แนวคิดของเธอกลายเป็นรากฐานสำคัญของกลุ่มการเคลื่อนไหวแบบนีโอเพแกน อาทิ วิคคา (Wicca) ผู้ที่นับถือวิคคาเรียกตัวเองว่าแม่มด วิคคาเริ่มต้นในสหราชอาณาจักรโดยเจอราลด์ การ์ดเนอร์ (1884-1964) ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนของเมอร์เรย์ วิคคาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพแกนร่วมสมัยที่กว้างขวางขึ้น (ปัจจุบันเชื่อกันว่าชาววิคคามีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน) ด้วยการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมอันเกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่มีมาก่อนคริสตกาล
การ์ดเนอร์เล่าว่า “เมื่อผมเริ่มทำการวิจัยครั้งแรก ผมมักจะเข้าร่วมกับผู้ที่นับถือศาสนาเพแกนเมื่อพวกเขาไปในป่า ชายทะเล หรือพื้นที่ธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อประกอบพิธีกรรม ผมสังเกตเห็นพวกเขาหยิบหิน เมล็ดสน เปลือกหอย หรือวัตถุจากธรรมชาติอื่น ๆ ขึ้นมาขณะเดินไปตามทาง
วัตถุเหล่านี้ถูกมองว่าเชื่อมโยงบุคคลเข้ากับโลกธรรมชาติและอาณาจักรแห่งวิญญาณ และมีความหมายทางจิตวิญญาณมากขึ้นโดยการวางบนแท่นบูชาในระหว่างพิธีกรรม ส่วนใหญ่แล้วพิธีกรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อการบำบัดรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย”
จะเห็นได้ว่ามุมมองเกี่ยวกับแม่มดเปลี่ยนไป จากการถูกมองเป็นผีร้าย กลายเป็นผู้รอบรู้และใกล้ชิดธรรมชาติ พวกเธอถูกปลดปล่อยจากคำสาปอาถรรพ์ จนในวัฒนธรรมป๊อปแม่มดก็กลายภาพลักษณ์เป็นเฉลียวฉลาดน่ารักนิสัยดี ปรากฎตัวในยามกลางวัน อย่างแม่มดน้อย Kiki’s Delivery Service (1989) ของสตูดิโอจิบลิ หรืออย่างแม่มดพี่เลี้ยงเด็กแบบฉบับผู้ดีอังกฤษ Mary Poppins ที่ในฉบับหนังปี 1964 เปิดฉากด้วยเพลงประท้วงเรียกร้องสิทธิสตรี “Sister Suffragette” ด้วยซ้ำไป
“พวกเราชัดเจนว่าเป็นเหล่าทหารกระโปรงบาน
และเป็นนักประท้วงที่กล้าหาญเพื่อสิทธิในการลงคะแนนเสียงของผู้หญิง
แม้ว่าเรายังชื่นชอบผู้ชายบางคนอยู่ก็ตาม
แต่เราก็ยอมรับว่าเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม…พวกเขาค่อนข้างโง่!
ทิ้งพันธนาการของวันวานไป!
ไหล่ชนไหล่ในการต่อสู้!
ลูกสาวของลูกสาวเราจะชื่นชมเรา
และพวกเธอจะร้องเพลงด้วยความซาบซึ้งใจ
“ทำได้ดีมาก ซิสเตอร์ซัฟฟราเกตต์!”
แม่มดกับเฟมินิสต์
ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ในกระแสแรกของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี นักเขียนชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี มาทิลดา จอสลิน เกจ มองว่า “แม่มดเป็นสัญลักษณ์ของการถูกกดขี่จากคริสตจักรที่มัวเมาในอำนาจชายเป็นใหญ่”
เธอยืนกรานว่า “การข่มเหงแม่มดไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับความชั่วร้ายหรือการต่อต้านปีศาจ แต่เป็นเพียงการเกลียดชังผู้หญิงในสังคมที่หยั่งรากลึก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกดขี่สติปัญญาของผู้หญิง แม่มดไม่ได้ชั่วร้าย เธอไม่ได้บินบนด้ามไม้กวาดในความมืดหรืออยู่ร่วมกับปีศาจ แต่พวกเธอเป็นผู้หญิงที่มีความรู้เหนือกว่า” เธอเสนอว่าลองเอาคำว่า “ผู้หญิง” เข้าไปแทนที่คำว่า “แม่มด” จะยิ่งทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าประวัติศาสตร์ของผู้หญิงและแม่มดดำเนินไปควบคู่กัน
“เมื่อเราพูดว่าแม่มด เราหมายถึงผู้หญิงเกือบทั้งหมด แน่นอนว่าผู้ชายก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดด้วยเช่นกัน แต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนส่วนน้อย นอกจากนี้ คำที่ใช้บรรยายผู้ชายที่มีพลังวิเศษก็มีความแตกต่างออกไป เช่น หมอผี นักเวทย์ พ่อหมอ ซึ่งฟังดูน่ายกย่องและไม่ได้มีตราบาปเดียวกันกับนังแม่มดร้าย”
“คำว่า “แม่มด (Witch)” ให้ความรู้สึกเหยียดหยามในแบบเดียวกันกับคำว่า “โสเภณี (Whore)” ทั้งสองคำนี้เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับมาช้านานในทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับ “ผู้หญิง (Women)” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พวกเธอละอายใจและแสดงพฤติกรรมตามที่สังคมกำหนด โสเภณีละเมิดบรรทัดฐานทางเพศของผู้หญิง ส่วนแม่มดละเมิดบรรทัดฐานทางอำนาจของผู้หญิง แม่มดมักถูกเรียกว่าไม่เป็นไปตามกฎธรรมชาติเพราะพวกเธอสามารถคุกคามผู้ชายได้ด้วยคาถาของแม่มด แม่มดสามารถเปลี่ยนคุณให้กลายเป็นหมูหรือเอาชนะคุณก็ได้ในการต่อสู้ แม่มดสามารถสาปแช่งคุณ ทำลายคุณ เมินเฉยคุณ ปฏิเสธคุณ และแก้ไขคุณได้”
“แม่มดละเมิดบรรทัดฐานของอำนาจหญิง การลงโทษพวกเธอทำให้คนอื่น ๆ จะไม่กล้าเดินตามรอยผู้หญิงไม่เชื่อฟังพวกนี้” -มาทิลดา จอสลิน เกจ
ในขบวนการปลดแอกสตรี ผลงานของ อลิซ เมอร์เรย์ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนการปลดปล่อยแม่มด ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มสตรีนิยมจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในนิวยอร์ก เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 1968 ด้วยการเสนอให้ฟื้นฟูคำว่า “แม่มด” ผ่านการสร้างความคิดเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับคำ ๆ นี้เสียใหม่ ทำให้ขบวนการได้ตีความคำนี้ใหม่ให้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มการประท้วงโดยผู้หญิง หนึ่งในนั้นมีกลุ่มที่มีตัวย่อแปลว่า “แม่มด” W.I.T.C.H. Women’s International Terrorist Conspiracy from Hell (สตรีผู้ก่อการร้ายสากลจากนรก)
ในเวลาเดียวกันที่อิตาลี กลุ่มนักเคลื่อนไหวสนับสนุนการทำแท้งเสรีอย่างถูกกฎหมายและเข้าร่วม “Union Donne Italiane” อันเป็นสมาคมสตรีนิยมของอิตาลีที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1944 ได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์ของ มิเชเลต์ สโลแกนของพวกเธอคือ “Tremate, tremate le streghe son tornate” (สั่นสะท้าน สั่นสะท้าน แม่มดกลับมาแล้ว)
เมเดลีน มิลเลอร์ จากหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่า “ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 โซเชียลมีเดียในสหรัฐเต็มไปด้วยภาพของฮิลลารี คลินตันที่สวมหมวกสีดำและขี่ไม้กวาด หรือไม่ก็หัวเราะคิกคักด้วยผิวสีเขียว ฝ่ายตรงข้ามเรียกเธอว่าแม่มดใจร้ายแห่งฝ่ายซ้าย อ้างว่ามีแหล่งข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าเธอมีกลิ่นกำมะถัน และอยากสาปแช่งเธอให้หลอมละลายไปด้วยไฟ”
มาเรีย เลวิส นักเขียนชาวออสเตรเลียระบุในหนังสือของเธอ The Witch Who Courted Death ว่า “การข่มเหงผู้หญิงและพยายามควบคุมพวกเธอภายใต้การบงการของผู้ชาย ไม่เคยหมดไป มันแค่เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่น”
มิลเลอร์ อ้างถึงแนวโน้มที่ผู้ชายมักมองว่าการเคลื่อนไหว #metoo เป็น “การล่าแม่มด” และถ้าเราคิดว่านี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ในสหรัฐฯ ลูอิสก็รีบเตือนเราเกี่ยวกับป้าย “Ditch the Witch (กำจัดนังแม่มดทิ้งซะ)” อันน่าอับอายที่อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี่ แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลียใช้หาเสียงสาดโคลน จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพรรคแรงงานในปี 2011
แม้ว่าปัจจุบันการถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดจะไม่เป็นอันตรายในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่แล้ว แต่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา ผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดยังคงถูกข่มเหง ถูกเพื่อนบ้านโจมตีหรือแม้กระทั่งถูกฆ่าตายเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นแม่มด ในซาอุดิอาระเบียมีผู้หญิงถูกศาลตัดสินข้อหาใช้เวทมนตร์ ที่กาน่าพวกแม่มดจะถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน
เว็บ thelogicalindian รายงานว่า ‘ระบบชายเป็นใหญ่ยังคงตราหน้าและฆ่าแม่มด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 ไลลา โอรัง เด็กหนุ่มจากหมู่บ้านในรัฐอัสสัม อินเดีย เล่าว่าหลังกลับจากทำงานในนาข้าว เขาก็พบศีรษะของแม่ถูกตัด โดยผู้คนในหมู่บ้านที่ลากตัวเธอไปทุบตี แก้ผ้า เนื่องจากเชื่อว่าแม่ของโอรังเป็นแม่มด เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน มีหญิงวัยกลางคน 4 คนถูกเพื่อนบ้านวัยรุ่นทึ้งผม แก้ผ้า แห่ประจาน แล้วฟาดด้วยท่อนเหล็ก ในหมู่บ้านคานเจีย รัฐฌารขัณฑ์ เพราะเชื่อกันว่าพวกเธอใช้มนต์ดำทำให้เด็กชายวัย 17 ปีป่วยเป็นมะเร็งจนตาย
นับตั้งแต่ปี 2000 เกิดคดีฆ่าแม่มดในอินเดียไปแล้ว 2,257 คดี
บทความจากสำนักข่าวบีบีซีรวบรวมข้อมูลจากองค์กรสื่อข่าว Pulitzer Center on Crisis Reporting รายงานว่าในไนจีเรีย เด็กหญิงจำนวนมากตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไปถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด และไม่มีบ้านไหนให้ที่พักพิง เด็กแม่มดเหล่านี้จะถูกส่งตัวชั่วคราวไปค่ายกักกันแม่มด ซ่อนตัวในห้องใต้ดินแคบ ๆ ที่ถูกล็อคไว้เกือบจะตลอดเวลา เพื่อหลีกหนีจากการถูกฆ่า ก่อนจะส่งพวกเธอไปยังพื้นที่ปลอดภัย
ในเมืองอากัมป์กา คริสเตียน่ารับหลานกำพร้าเป็นเด็กหญิงวัย 15 ปีเข้ามา ก่อนที่คริสเตียน่าจะพบว่าตนเองติดเชื้อ HIV และไม่เคยรับยาต้านไวรัสทำให้สุขภาพย่ำแย่ คริสเตียน่าเริ่มโทษว่าเด็กหญิงกำพร้านั้นเป็นต้นเหตุให้พ่อแม่ตาย และกำลังนำโรคร้ายมาสู่เธอ ชาวบ้านแห่กันมาทุบตีเด็กคนนี้ ใช้มีดพร้าร้อน ๆ นาบเฉือนร่างกายของเธอ บังคับให้สารภาพว่าเป็น “แม่มด”
บางทีพวกเธอก็ถูกความเชื่อในศาสนาคริสต์ลงโทษ เมื่อพบว่ามีโบสถ์หลายแห่งสร้างศรัทธาด้วยการขับผี ทั้งที่เด็กพวกนี้อาจเป็นแค่เด็กดื้อซนเท่านั้น ที่น่าตระหนกคือ แม่เป็นคนส่งลูกสาวให้ศิษยาภิบาลคนผลัดกันขับผีด้วยการตบหัว บีบติ่งหู กระทืบท้องเป็นเวลานาน ศิษยาภิบาลอวดว่า “พระเจ้าเบิกเนตรให้ผมมองเห็นวิญญาณชั่วในเด็กหญิงเหล่านี้ ทำให้ผมรู้ว่าใครเป็นแม่มดบ้าง”
ไนจีเรียมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์เรียกว่า Nollywood ที่ผลิตหนังมากกว่า 2,500 เรื่องต่อปี เน้นหนัง 5 แนว โรแมนติก ตลก อิงประวัติศาสตร์ แก๊งอาชญากรรม และประเภทที่เรียกว่า “ฮัลเลลูยา” ที่ส่งเสริมความเชื่อทางศาสนา นำเสนอภาพเด็ก ๆ ว่าเป็นแม่มด โอรอก อาติม โปรดิวเซอร์หนัง Nollywood เล่าว่า “สังคมเรายังมีเวทมนตร์อยู่ ผมสร้างหนังเพื่อให้ความรู้ และบอกโลกว่าเวทมนตร์มีอยู่จริง พวกแม่มดชั่วมีอยู่จริง”
ปัจจุบันคาดว่ามีเด็กถูกตีตราว่าเป็นแม่มดในเมืองอัควาอิบอม และครอสริเวอร์ส ในไนจีเรีย ราว 15,000 คน พวกเธอถูกฆ่าด้วยการตอกตะปูเข้าศีรษะ ถูกบังคับให้ดื่มปูนซีเมนต์ ถูกเผาไฟ ถูกสาดน้ำกรด ถูกวางยาพิษ และฝังทั้งเป็น
แม้ประเทศไทยจะไม่มีความเชื่อนี้แบบฝรั่ง แต่ถามว่ามี “การล่าแม่มด” หรือไม่ คำตอบคือ มี! เว็บประชาไทรายงานเรื่องหญิงสาวผู้ถูกละเมิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519 บทความนี้เล่าว่า ‘เมื่อเดือนกันยายน 2560 โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ได้เขียนรายงานเรื่อง “ปริศนาความตายกรณี 6 ตุลา” โดยระบุว่าเราไม่รู้ว่าหญิงสาวที่เสียชีวิตในสภาพเปลือยเปล่า มีไม้หน้าสามวางอยู่ข้าง ๆ เสมือนถูกล่วงละเมิดทางเพศคือใคร เพราะเมื่อดูเอกสารชันสูตรพลิกศพแล้ว ไม่มีเอกสารใดระบุว่ามีผู้หญิงถูกข่มขืนหรือถูกทำร้ายทางเพศ
แต่ ณ วันนี้เมื่อหนึ่งในทีมงานได้พิจารณาเอกสารชันสูตรฯ ของวัชรี อีกครั้ง ก็พบว่าเธอมีใบหน้าคล้ายกับหญิงสาวคนดังกล่าวอย่างมาก ทั้งในแง่โครงหน้า รูปกราม ดวงตาและปากที่ปิดไม่สนิท ณ ปัจจุบันเราจึงสรุปข้อมูลบางส่วนได้ดังนี้
1. วัชรีเสียชีวิตด้วยกระสุน 3 นัดที่เข้าด้านหลังตรงกับบริเวณช่องอก กระสุนไม่ได้ทะลุมาด้านหน้า ด้วยเหตุนี้ในรูปที่เธอถูกเปลือยจึงไม่เห็นคราบเลือดตรงด้านหน้าของเธอ
2. วัชรีจึงไม่ได้ถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศจนเสียชีวิต
3. การล่วงละเมิดทางเพศต่อเธอเกิดขึ้นจริง นั่นคือจับเธอเปลื้องผ้า แต่น่าจะเกิดหลังจากวัชรีเสียชีวิตแล้ว นี่คือความโหดเหี้ยมต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “ไม่ใช่ไทย” ด้วยการทำร้ายทารุณอย่างอุจาดกับร่างไร้ชีวิตของเธอ เหยียดหยามความเป็นเพศหญิงของเธอ ราวกับเธอไม่ใช่มนุษย์เหมือนกับเราและเป็นผู้หญิงที่ไร้ศักดิ์ศรี’ (อ่านบทความเต็ม บันทึก 6 ตุลา: หญิงสาวผู้ถูกละเมิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519)
เหยื่อที่ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ เธอชื่อ วัชรี เพชรสุ่น เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 20 ปี ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเธอมีภูมิลำเนาจากจังหวัดชัยภูมิ
6 ตุลา 2519 คือการกล่าวหากลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมชุมนุมกัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ทั้งที่พวกเขาออกมาตั้งคำถามต่อการกระทำอันน่าสงสัยหลายอย่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้น แต่กลับถูกทำร้ายและหลายคนถูกฆ่าตาย ลากร่างไปตามพื้น ถูกจับแขวนคอ เอารองเท้ายัดปากศพ เผานั่งยางสด ๆ กลางสนามหลวง และกลุ่มทหารติดอาวุธมากมายเข้าล้อมปราบด้วยอาวุธหนัก ส่วนหนึ่งเพราะสังคม “ล่าแม่มด” ถูกปลุกปั่นยั่วยุจากกลุ่มผู้มีอำนาจ
ไม่เคยมีคำขอโทษจากบุคคลเหล่านี้ ข้อมูลมากมายถูกบิดเบือน การเยียวยาไม่เคยเกิดขึ้น หลายฝ่ายร่วมกันฝังกลบข้อเท็จจริง และน่าสงสัยว่าฝ่ายขวาผู้ร่วมก่อการหลายคนขึ้นสู่อำนาจวาสนา
สมัคร สุนทรเวช เคยตอบคำถามสำนักข่าวอัลจาซีราว่า “พวกเขาเขียนประวัติศาสตร์สกปรกเกี่ยวกับตัวผม ผมนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล เหตุการณ์วันนั้นมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่คนเดียวที่สนามหลวง มีคนแขวนคอชายคนหนึ่งแล้วตีเขา แต่นักศึกษาอีกสามพันคนก็ยังอยู่ในธรรมศาสตร์”
และเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นด้วยคำตอบคล้ายกันว่า “สำหรับผม ไม่มีการตาย คนหนึ่งโชคดีแค่ถูกแทง ส่วนอีกคนถูกเผาที่ท้องสนามหลวง มีแค่คนเดียวที่ตายในวันนั้น”
แม้จะไม่มีการยืนยันชัดเจนถึงยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตัวเลขทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 45 คน มูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่ามีผู้เสียชีวิตเกิน 100 คน ขณะที่ตัวเลขจากมูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่า อาจมีผู้เสียชีวิตเกิน 500 คน(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึก 6 ตุลา)
แล้วแม้สังคมจะเปลี่ยนผ่านมาจนทุกวันนี้ เราคงยังไม่ลืมกรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมหญิงฝ่ายประชาธิปไตย ไปจนถึงนักกิจกรรมอีกไม่น้อยกว่า 42 คนที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิงและเยาวชน พวกเขาสามารถถูกดำเนินคดีขังคุก ด้วยข้อหาล่าแม่มดแบบจัดหนัก
‘ปัจจุบันนี้เรามีแม่มดยุคใหม่อยู่สองประเภทที่แตกต่างกัน: ประเภทที่ยังถูกข่มเหงเนื่องจากอาชญากรรมที่พวกเธอไม่ได้ก่อ กับประเภทที่ลุกขึ้นสู้เพื่อขัดขืนพวกผู้มีอำนาจเหนือกว่า’ -ดร. ชาร์ลอตต์-โรส มิลลาร์
ประวัติศาสตร์ของเวทมนตร์นั้นมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของผู้หญิงและเรื่องราวของผู้หญิง การศึกษาเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เราได้ทราบมากขึ้นว่าในอดีตผู้หญิงถูกมองอย่างไร เปิดเผยเสียงที่มักถูกกดทับปิดกั้นของพวกเธอ และเปิดเผยแบบแผนรูปแบบให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
ก๊วนโคเว่นของ อกาธา ฮาร์คเนสส์ ในมินิซีรีส์ Agatha All Along คือการรวมตัวของแม่มดชายขอบนอกรีต มีทั้งคนดำ เอเชียน เกย์ อกาธานังแม่มดจอมแสบปากแซ่บ เคยเอ่ยประโยคเด็ดเอาไว้มากมาย ในที่นี้เราขอยกสองประโยคสุดจิกกัดที่ทั้งขำและเป็นความจริงอันแสนเจ็บปวดจาก 2 ซีรีส์ที่เธอเคยปรากฏตัวว่า
“เหตุการณ์เดิมเดิม แค่เปลี่ยนศตวรรษ ผู้ชายจะคว้าคราด ถือคบไฟไล่ล่าผู้หญิงอย่างเราเสมอ”
“ตามประวัติศาสตร์แล้ว แม่มดแพ้คดีตลอดในการไต่สวน”