ThaiPublica > เกาะกระแส > Power of Partnership: “วิถีชุมชนพัฒน์” เติมเต็มวิถี ‘โตโยต้า-รู้เห็นเป็นใจ’ – ‘ปัญหาที่ไม่คิดว่าเป็นปัญหา’ จุดบอดเอสเอ็มอีไทย

Power of Partnership: “วิถีชุมชนพัฒน์” เติมเต็มวิถี ‘โตโยต้า-รู้เห็นเป็นใจ’ – ‘ปัญหาที่ไม่คิดว่าเป็นปัญหา’ จุดบอดเอสเอ็มอีไทย

19 กันยายน 2024


วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 14 ในหัวข้อ “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” โดยมีการแสดงปาฐกถาพิเศษจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand”, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It”, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” พร้อมกับเสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” จากต้นแบบความสำเร็จการร่วมมือระหว่างองค์กรกับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนพลังท้องถิ่น ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยนายบวร วรรณศรีผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด, นายชาญ อุทธิยะ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง, นายชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, นายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล โบโอเทค จำกัด, นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup, นางสาวสุวภี อุ่มไกร รองประธานกล่มวิสาหกิจชมชนสวนบัวโฮมสเตย์, นายประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), นางสาวสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเต่าไหเหนือ, นายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี และ รศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ

………….

เสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” ในตอนนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร Toyota และคนตัวเล็ก โดย นายชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และนายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล โบโอเทค จำกัด

นายชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

10 ปี “วิถีชุมชนพัฒน์” โตโยต้า แก้ปัญหา 32 ธุรกิจ ผู้ประกอบการ 2,089 ราย

จากปรัชญาของซากิชิ โตโยตะ ผู้ก่อตั้งโตโยต้า ว่า “ส่งเสริมพัฒนาการและสวัสดิการของประเทศ ร่วมกับการเจริญเติบโตของชุมชนและประเทศที่โตโยต้าเข้าไปดำเนินธุรกิจ” นับเป็นแนวคิดของโตโยต้าที่ทำให้การดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศต้องดำเนินกิจกรรมทางสังคมและช่วยเหลือชุมชน ทั้งด้าน people, planet และ prosperity ที่โตโยต้าเรียกกันสั้นๆ ว่า TSI — Toyota Social Innovation หรือวิถีชุมชนพัฒน์

นายชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมทางสังคมในประเทศว่า โตโยต้าดำเนินการเป็นเวลา 10 ปี โดยเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในช่วงปี 2554 หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคือง อีกทั้งสัดส่วนของจีดีพีต่อรายได้ของผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยประมาณ 40% และสถิติของมหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่าภายใน 2-3 ปีของการดำเนินธุรกิจ มีเพียง 5% ของผู้ประกอบการที่อยู่รอด

“โตโยต้าเลือกด้านนี้มาแก้ปัญหาสังคม เราใช้วิธี Genchi Genbutsu คือการไปดูหน้างาน รู้ปัญหาอย่างแท้จริงว่าผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการผลิตและการขาย”

ต่อมา โตโยต้าจึงวิเคราะห์จุดแข็งภายในองค์กร พบว่า

  1. กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับระดับสากลว่าระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เรียกว่า Toyota Production System
  2. ระบบการผลิตแบบทันเวลา หรือ just in time ลดจำนวนการสต็อกในกระบวนการผลิต ผลิตตามความต้องการ และระบบควบคุมคุณภาพ ไม่ให้ของเสียหลุดไปภายนอก

นอกจากนี้ โตโยต้ายังใช้ประโยชน์จากดีลเลอร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะดีลเลอร์เข้าใจพื้นที่ จึงใช้ผู้แทนจำหน่ายเคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและร่วมโครงการ ผ่านคอนเซปต์ “รู้เห็นเป็นใจ”

  • รู้ – เรียนรู้กระบวนการของผู้ประกอบการ
  • เห็น – ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน
  • เป็น – ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างยั่งยืน
  • ใจ – ใส่ใจและเข้าใจการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

“เราใช้เป็นกลไกช่วยเหลือชุมชน สอนชุมชนผ่านกลไกพนักงาน ซึ่งเป็นพนักงานเกษียณที่เข้าใจในกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี และเวลาคัดเลือก เราเลือกจากหัวใจของการเป็นผู้ให้ สำคัญที่สุด เพราะโครงการนี้ทำฟรี เป็นความร่วมมือ พนักงานต้องมีความอดทน รอคอยทำให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงทางความคิดตามเรา และมีทักษะโน้มน้าว”

โดยนายชยานนท์เรียกพนักงานวัยเกษียณที่เข้ามาช่วยเหลือสังคมว่า “ป๋าๆ”

“ป๋าๆ ที่เข้ามาไปทำงานจะต้องเรียนรู้กระบวนการของผู้ประกอบการ ส่งทีมงานไปทำงานด้วย เพื่อให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจ หลังจากนั้นต้องทำให้ทุกคนในองค์กร พนักงาน เจ้าของธุรกิจ เห็นปัญหาร่วมกัน โดยใช้คอนเซปต์ visualisation board หรือสื่อสารแบบ two way ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับพนักงาน ทำให้ปัญหาถูกแก้ไข”

“เราเข้าไปสอนวิธีแก้ไขปัญหาในช่วงแรก วิธีการคิดหาปัญหาต่างๆ หลังจากนั้นต้องอยู่ได้เองอย่างยั่งยืน และพนักงานจะเข้าใจงานอย่างแท้จริงว่ามาตรฐานการทำงานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร วัฒนธรรมองค์กรการใส่ใจให้เจ้าของธุรกิจว่าเขาจำเป็นต้องใส่ใจว่าปัญหาอยู่ไหน ทำให้ผลิตสินค้าและบริการที่ลูกค้าถูกใจ”

นายชยานนท์ยกตัวอย่างธุรกิจที่โตโยต้าเข้าไปช่วยเหลือคือ Hart OTOP จังหวัดกาญจนบุรี โดยเป็นธุรกิจผลิตเสื้อโปโล และหลังจากเข้าไปแล้วพบว่า ตัวชี้วัด (KPI) ที่กำหนดดีขึ้นทั้งหมด ทำให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น 20% และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ผลิต 20,000 ชิ้นต่อเดือน เป็น 40,000 ชิ้นต่อเดือน พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไม่ต้องทำ OT ทุกวัน และเมื่อธุรกิจดีขึ้น เจ้าของก็จ่ายค่าจ้างได้มากขึ้น

ผลของการช่วย Hart OTOP ยังทำให้เกิดการจ้างงานทักษะสูงมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา Hart OTOP จ้างพนักงานระดับปริญญาตรีถึง 20-25 คน และพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ ทำให้มีผู้ประกอบการธุรกิจอื่นเข้ามาเยี่ยมชม 4,850 ราย

นายชยานนท์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโตโยต้าดำเนินการไป 32 ธุรกิจ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 2,089 ราย กระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการกว่า 100,000 ราย กำไรสะสมเพิ่มขึ้น 805 ล้านบาท และในอนาคตจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงนำองค์ความรู้เข้าไปเสริม ตัวอย่างเช่น ความรู้ด้านคาร์บอน ฯลฯ

นายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด

“ปัญหาที่ไม่คิดว่าเป็นปัญหา” จุดบอดเอสเอ็มอีไทย

หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการคือ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด โดยนายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงภาพรวมขององค์กรว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตหัวเชื้อเห็ดมากกว่า 20 สายพันธุ์ ภายใต้แบรนด์สินค้า “เห็ดเชื้อสมพร” ยอดผลิตมากกว่า 1,500,000 ขวดต่อปี มีตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 20 ตัวแทนทั่วประเทศ และส่งให้เกษตรกรที่เพาะเห็ดทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

ก่อนที่โตโยต้าจะเข้ามา บริษัทประสบปัญหาหลายมิติ โดยนายอภิศักดิ์เล่าปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหมุนเงินไม่ทัน ยอดขายดีแต่ขาดทุน ไม่เห็นเงินสดในมือ พนักงานอยู่ได้ไม่นาน ส่งมอบสินค้าไม่ทัน ตลอดจนคุณภาพสินค้าลดลงบ้าง

“แต่ปัญหาที่จริงคือ ปัญหาที่ไม่คิดว่าเป็นปัญหา ไม่รู้เลยว่าทั้งหมดคือปัญหาของเอสเอ็มอี จนกระทั่งโตโยต้าสาขาเข้ามาหา บอกมีโครงการธุรกิจชุมชนพัฒน์จะช่วยเหลือเอสเอ็มอี เอาองค์ความรู้เรื่องการผลิตเข้ามา โตโยต้าบอกผมไม่ได้มาแก้ให้คุณอย่างเดียว เราต้องช่วยกัน สิ่งที่พยายามหยิบให้คือความรู้กับความยั่งยืน”

บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการในปี 2562 และศึกษาปัญหาต่างๆ จนพบว่า ปัญหาเกิดจากกระบวนการและประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงเนื่องจากปัญหาแรงงาน และการสูญเสียโอกาสจากการจัดเก็บวัตถุดิบ

“บางครั้งคนไทยถูกปลูกฝังว่า ยิ่งซื้อเยอะ ยิ่งถูก ฉะนั้นผมซื้อเยอะไว้ก่อน ถือว่าเก็บวัตถุดิบไว้ก่อนในราคาถูก แต่เราไม่ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการวัตถุดิบ 100% ของวัตถุดิบในมือกลับสูญเสียจากการจัดการไม่ถูกต้อง สุดท้ายเรามองข้ามเราคิดว่าเราซื้อถูก แต่เงินเราจม”

“ทางโตโยต้ามานั่งดูว่าอะไรที่จะช่วยเราแก้ไขได้ อย่างแรก การผลิต อาคารมีก็จริง แต่ยังใช้คนงานแบบบ้านๆ ผมอาจจะมีความรู้เรื่องการเกษตรค้าขายบ้าง แต่ไม่ได้มีความรู้ทุกอย่าง โตโยต้าเข้ามาเสริมในจุดอ่อนของเรา ก็จะเห็นปัญหาที่เรามองว่าไม่น่าจะใช่ปัญหา เช่น เรามีพนักงานนั่งกันสะเปะสะปะ ผมเชื่อว่าพอเรามีลูกน้องกับพื้นที่กว้างๆ ไม่เป็นไรนั่งตามอัธยาศัย แต่เป็นการทำงานที่ไม่เป็นระบบ โตโยต้ามองว่ากระบวนการเริ่มต้นเตรียมวัตถุดิบใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป การใช้บุคลากรต่อชิ้นงานที่ออกมาจึงเกิดคำว่า ‘ไม่คุ้มค่า’ ผมมองไม่เห็นปัญหานี้

“เมื่อเรามีพนักงาน เรามองว่าหน้าที่ ‘หยิบ ยก ย้าย’ เป็นหน้าที่ที่พนักงานหรือลูกจ้างควรจะต้องทำ แต่เราลืมไปว่าการหยิบยกย้ายเป็นการเสียเวลามากๆ ที่เราต้องเสียชิ้นงานนั้นออกไป เพราะเขามัวแต่มองเวลานั้นไปหยิบ ยก ย้าย โตโยต้าเลยวางระบบจัดการใหม่ ติดตั้งรางสไลด์ให้ แทนที่ต้องเสียเวลายกไปยกมา”

“เขาพูดให้เราเห็นภาพ เราไม่เห็นภาพ เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องการจัดการการผลิต โตโยต้าเลยคำนวณเป็นตัวเลขและวางให้ดู แทนที่คนจะเดินไปเดินมา ของก็ไหลไปเป็น TPS Line สิ่งที่เราเห็นคือค่าชี้วัด ก่อนหน้านี้แผนกนี้ใช้ 6 คน รวม OT ได้ชิ้นงาน 5,000 ชิ้น แต่หลังจากมีการ Kaizen สามารถทำได้ 7,000 ชิ้น โดยใช้พนักงาน 4 คน”

“งานไหนเป็นคอขวด เขาก็เข้ามาจัดการและช่วยดูให้ ช่วยวางระบบรางสไลด์จากแผนกไปอีกแผนก จากคำว่า ‘หยิบ ยก ย้าย’ เป็นเรื่องปกติและเป็นหน้าที่ แต่เราลืมคำนวณไปว่าที่เขาเสียเวลา เราเสียเวลา ซึ่งชิ้นงานที่หายไปด้วย หลังจากที่โตโยต้ามาช่วย Kaizen ให้เรา เพิ่มชิ้นงานได้ และแผนกนี้เราให้ค่าแรงจากการเหมาชิ้นงาน เมื่อเขาได้ชิ้นงานที่เยอะขึ้น แปลว่ารายได้ก็มากขึ้น”

นายอภิศักดิ์ทิ้งท้ายว่า ชิ้นงานที่สูงขึ้น ไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะพนักงานก็เหนื่อยน้อยลง และอยู่กับองค์กรนานขึ้น