วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 14 ในหัวข้อ “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” โดยมีการแสดงปาฐกถาพิเศษจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand”, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It”, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” พร้อมกับเสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” จากต้นแบบความสำเร็จการร่วมมือระหว่างองค์กรกับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนพลังท้องถิ่น ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยนายบวร วรรณศรีผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด, นายชาญ อุทธิยะ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง, นายชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, นายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล โบโอเทค จำกัด, นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup, นางสาวสุวภี อุ่มไกร รองประธานกล่มวิสาหกิจชมชนสวนบัวโฮมสเตย์, นายประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), นางสาวสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเต่าไหเหนือ, นายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี และ รศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ
………
เสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยนายประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธ.ก.ส. และนางสาวสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเตาไหเหนือ
โครงการ “459” แนวคิดพึ่งตนเอง ปรับวิธีคิด มีกิน-ลดรายจ่าย
นายประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธ.ก.ส.กล่าวว่าจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับกว่า 90% และคนไทยจำนวนมากมีหนี้ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรมีหนี้ในระบบ อีกทั้งมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 539,291 บาท และในช่วงกลางปี 2567 ตัวเลขหนี้สูงขึ้นต่อเนื่องที่มากกว่า 670,000 บาทต่อคน
“กระบวนการพัฒนาต้องเริ่มที่ปัญหา ถ้าไม่เริ่มที่ปัญหา ก็เหมือนยิ่งแก้ยิ่งจน เพราะกระบวนการแก้ไม่ตรงจุด… โครงการฟื้นฟู-ช่วยเหลือเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสูตรสำเร็จทั้งนั้น รัฐก็ช่วยให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำไป คนส่วนใหญ่ 80-90% ไม่มีเงินทุน ก็ไปกู้ ผลผลิตออกมาไม่พอใช้หนี้ใหม่ หนี้เก่าก็ทวีคูณ”
“ผมถึงบอก ‘แก้ให้ตาย ก็ไม่ได้’ มีทางเดียวคือหยุดกิน แต่เป็นภาวะจำยอม ไม่มี ก็ต้องหา แต่วิธีการหา ขึ้นกับวิธีคิด ส่วนใหญ่คิดแต่กู้อย่างเดียว เป็นผลพวงมาเรื่อยๆ ทุกวันนี้มีเจ้าหนี้หลายคน แต่มีรายได้ทางเดียว บางปีผลผลิตดี แต่มีหนี้เพิ่ม”
นี่คือมุมมองต่อภาวะหนี้ครัวเรือนของนายประเสริฐ ในฐานะผู้ทำงานร่วมกับชุมชน เกษตรกรและคนรากหญ้า
แม้หน่วยงานรัฐจะมีโครงการ-นโยบายสร้างรายได้และอาชีพ โดยเฉพาะการให้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่สิ่งที่นายประเสริฐพบคือ ต่อให้ขายได้กำไร 200 บาทต่อวัน แต่คนส่วนใหญ่กลับบ้านไปกินข้าวรวม 400 บาท ซึ่งโครงการไม่ได้ดูสภาพความเป็นจริงของคนกลุ่มนี้
“ผมทำงานด้านนี้มากว่า 20 ปี เห็นชัดเลยว่ายิ่งแก้ยิ่งจน”
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาหนี้ตั้งแต่ต้นทางต้องใช้ “ทฤษฎีไข่เจียว” โดยนายประเสริฐอธิบายว่า สมมติค่าอาหารราคา 20 บาทต่อมื้อ บ้านมีสมาชิกสามคนเท่ากับค่าอาหาร 180 บาทต่อวัน และถ้าไม่มีรายได้ 180 บาทเท่ากับครัวเรือนนั้นเป็นหนี้รายวัน
นายประเสริฐอธิบายว่า รัฐต้องปรับวิธีคิดใหม่ ไม่ใช่บอกว่า “คุณทำอย่างไร” เพราะถ้ารอรัฐมาช่วย ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่ต้องบอกว่า “ทำทำไม” และลดรายจ่ายระหว่างรอผลผลิตการเกษตรออก
กระบวนการพัฒนามี 3 ระดับ คือ
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า หลักการดังกล่าว ครัวเรือนชุมชนต้องทำไปพร้อมกัน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่ง ธ.ก.ส. เรียกว่า “การสร้างความเข้มแข็งระดับครัวเรือน 459” โดยเปรียบบ้านเป็น 5 มิติ คือ โรงเรียน โรงอาหาร โรงพยาบาล ตลาดและธนาคาร
“เราต้องทำครัวเรือนเข้มแข็ง สอนวิชาชีวิต ครัวเรือนพึ่งตนเองได้ ไม่มีเงิน ก็มีกิน ถ้าไม่ทำ ยิ่งพัฒนายาก ไม่อย่างนั้นคนจะรอแจกเงินอย่างเดียว และต้องพัฒนาบนความเป็นเจ้าของ”
“พอเรียนรู้ในบ้านก็ต้องจัดการกับชีวิตเป็น ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก และเกิดการบูรณาการต่อ บ้านจะเสมือนโรงเรียนให้คนมาเรียนรู้ เหมือนโรงอาหาร เป็นตู้เย็นธรรมชาติ เหมือนโรงพยาบาล สมุนไพรใกล้ตัว เหมือนตลาด เรียนรู้จบทำให้หมาเห่าที่บ้าน แสดงว่ามีคนมาหาเรา”
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ครัวเรือนพึ่งตนเองได้ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่าย มีกินตลอดปี และต่อให้อยู่บ้าน ทำนา 120 วัน แต่ทำจริง 20 วัน และถ้ามาทำวิธีการ 459 ในบ้าน มีการช่วยเหลือกัน ลดการอพยพเข้ามาในตัวเมือง มีการรวมกลุ่มเพื่อการตลาด ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ก็ลดการใช้สารเคมี ลดภาวะโลกร้อนในบ้าน และด้านวัฒนธรรมประเพณีก็เกิดความสามัคคี ชุมชนน่าอยู่
“ถ้าชุมชนที่เราเริ่มต้น ตั้งแต่ครัวเรือนอยู่ใน 4 ด้าน จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น พอดีขึ้น ชุมชนเกิดขึ้นมา ชุมชนท่องเที่ยวก็จะตามมา ชุมชนอุดมสุขตามมาทันที สำคัญที่สุดคือมีเงินใช้หนี้และมีกินตลอดปี”
“ถ้าฝนแล้งน้ำท่วม ไม่ต้องอพยพเข้าเมือง พาครอบครัวทำ 459 กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นดี มีปัญญา พาชีวิตรอด”
แหล่งอาหาร 0 บาท ของชุมชน 459 บ้านเต่าไหเหนือ
ด้านนางสาวสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง เกษตรกรตัวอย่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ อดีตนักเขียนที่ผันตัวกลับบ้านมาทำการเกษตร วิสาหกิจชุมชน 459 บ้านเต่าไหเหนือ เล่าถึงชีวิตก่อนมาทำ 459 ว่า ก่อนหน้านี้ตนตัดสินใจกลับบ้านหลังจากที่เงินหมด เพราะเพื่อนชวนทำธุรกิจไม่สำเร็จ จึงขอพื้นที่ปลูกข้าวโพด 1 ไร่ของแม่มาทำเกษตร และได้เจอกับโครงการ 459
“ถ้าไม่มีเงินจะไปต่ออย่างไร อาจารย์บอกสิ่งแรกคือสร้างแหล่งอาหารข้างบ้านให้คุณมีกินก่อน อบรมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เราไม่เคยทำการเกษตรเลย แต่โครงการได้อบรมปลูกผักให้ ทำแบบเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี เห็ด ไก่ ปลา มีกินรอบบ้าน”
พร้อมกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ทำโครงการ 459 มาแล้วกว่า 9 ปี เห็นได้ชัดว่ารายจ่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ทุกเช้าต้องไปตลาดเพื่อซื้ออาหารมาทำกับข้าว แต่พอมีแหล่งอาหารในบ้านก็ไม่ต้องซื้อ สามารถเดินไปจับจ่ายในพื้นที่บ้านได้
“ทุกวันที่เราต้องไปจ่ายตลาด เราจะเอาเงินเหล่านั้นมาหยอดกระปุก คือซื้อให้ตัวเองขายให้ตัวเอง รายจ่ายจะกลับมาเป็นรายได้ หลังจากนั้นทำมาเรื่อยๆ จนอาจารย์เห็นว่าเราเริ่มชำนาญ ก็จัดตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชุมชน ทำเป็นฐานเรียนรู้ในบริเวณบ้านทั้งหมด”
นางสาวสิริกาญจน์เล่าวต่อว่า เมื่อชุมชนทำการเกษตรและมีผลผลิตมากขึ้น จึงรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจ และรวบรวมผลผลิตทั้งหมดออกสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด พร้อมกับมีโรงแพ็กของวิสาหกิจ โดยมี ธ.ก.ส. เข้ามาสนับสนุน และในอนาคตวิสาหกิจชุมชนมีแผนจะขยายเครือข่าย โดยจัดทำศูนย์เครือข่ายแต่ละอำเภอ เพื่อขยายให้ผลผลิตลงสู่ชุมชนได้เร็วขึ้น
“โครงการ 459 คือทางรอดของเกษตรกรและชุมชน อยากให้เป็นโครงการฟื้นฟูกับชาวบ้านที่อดอยาก การันตีได้ว่าคือความยั่งยืนจริงๆ เพราะเรามีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำครบ”