ThaiPublica > คนในข่าว > “ฉัตรชัย ศิริไล” 1 ปี กับบทบาทธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ชี้หน้างานกว้างมาก “ไม่มีทางทำสำเร็จ ขอแค่ดีขึ้นเรื่อยๆ”

“ฉัตรชัย ศิริไล” 1 ปี กับบทบาทธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ชี้หน้างานกว้างมาก “ไม่มีทางทำสำเร็จ ขอแค่ดีขึ้นเรื่อยๆ”

28 มีนาคม 2024


นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ไทยพับลิก้าพูดคุยกับ “ฉัตรชัย ศิริไล” ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวาระครบรอบการทำงาน 1 ปี นับตั้งแต่รับตำแหน่งวันที่ 26 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ก่อน “ฉัตรชัย” มารับตำแหน่งที่ ธ.ก.ส. ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่แม้มองผิวเผินจะเป็น “สถาบันการเงินเฉพาะกิจ” (specialized financial institutions หรือ SFIs) เหมือนกัน แต่เมื่อเข้ามา ธ.ก.ส. กลับพบว่า บทบาทงานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“ภารกิจมันใหญ่โตมาก คุณไม่มีทางทำมันสำเร็จ และผมมองว่าไม่จำเป็นต้องสำเร็จ ขอแค่ดีขึ้นเรื่อยๆ”

‘ฉัตรชัย’บอกว่า “ลูกค้า ธ.ก.ส. มีกว่า 6.2 ล้านราย อย่าไปติดกับว่าเมื่อไหร่จะสำเร็จ ทำไมไม่มีโน่น ทำไมไม่มีนี่ ขอแค่วันนี้ดีกว่าเมื่อวานและดีขึ้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะบางรายเขายังไม่มีกิน เขามีหนี้ครัวเรือนเยอะมาก เราเป็นด่านสุดท้ายก่อนเป็นหนี้นอกระบบ ดังนั้นเป้าหมายคือ ‘เกษตรกร’ ต้องมี ‘รายได้’ และ ‘คุณภาพชีวิต’ ที่ดีขึ้น เป็นตัวชี้วัดที่สามารถจับต้องได้มากที่สุด”

ช่วงปี 2566 สถานการณ์ของ ธ.ก.ส. เต็มไปด้วยอุปสรรคต่างๆ ทั้งผลกระทบตกค้างจากโควิด-19 ทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ระบุว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพ NPL 125,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,138 ล้านบาท ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ มิหนำซ้ำยังมีประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ภาคเกษตรกรรมไทยถูกจับตาอย่างหนัก

“ภายใต้ความเป็นแบงก์เกษตร มันคือความผันผวน ผลกระทบที่เกิดจากโควิดและราคาพืชผล เอ็นพีแอลประมาณ 12-14% พยายามกดลงมาที่ 7% แต่ก็ยังไม่ได้นิ่ง ปีที่ผ่านมาก็ต้องจัดการให้เอ็นพีแอลควบคุมได้ วางแผนได้ ก็ลงมาอยู่ที่ 5.87% คิดว่า ณ สิ้น 31 มีนาคมจะให้เหลือ 5.5% ต้องดูแลไม่ให้ดีดไปอีก เราอยากให้อยู่ที่ 4%”

‘ฉัตรชัย’กล่าวต่อว่า “ที่หนี้เอ็นพีแอลลดลงมาเร็วเพราะแต่ละพื้นที่เราเริ่มบริหารข้อมูล เราชี้เป้า อันไหนต้องจัดการก่อนหลัง ชี้เป้าแล้วลงรายละเอียด เพราะหน้างานเรากว้างมาก ถ้าบริหารความสำคัญไม่ดี เอ็นพีแอลมาแน่”

สร้าง Wealth สีเขียว เพิ่มเงินในกระเป๋าเกษตรกร

ภายใต้การบริหารลูกหนี้เกษตรกรกว่า 6.2 ล้านคน ฉัตรชัยอธิบายว่า วิธีการหลักคือการให้องค์ความรู้ ซึ่งไม่ใช่แค่แปรรูป แต่ต้อง “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ทำการตลาด และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“ต้องทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้หลายทาง และผลิตของด้วยต้นทุนที่ต่ำ ใช้เทคโนโลยีช่วยในการผลิต ไม่ใช่ผลิตแบบเดิมๆ ที่สำคัญคนของแบงก์ต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์กับการตลาด เพื่อเอาของเขาไปขาย เพราะของที่ดีคือของที่ขายได้”

วลี “ดีขึ้นเรื่อยๆ” จึงเป็นตัวชี้วัดของ “ฉัตรชัย” กล่าวคือ เมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เท่ากับว่า ธ.ก.ส. มาถูกทาง

ธนาคารได้เข้าไปสำรวจความต้องการตลาด เสริมศักยภาพอาชีพหลัก ให้ความรู้เรื่องการลดต้นทุน เพิ่มมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เทิร์นรอบเร็ว ไล่ไปถึงการจัดกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายที่มีองค์ความรู้และผู้ประกอบการที่เป็นหัวขบวนเรื่องการจัดทำตลาด

‘ฉัตรชัย’กล่าวต่อว่า ธนาคารพยายามผลักดันให้เกษตรกรนำผลผลิตมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยปัจจุบันมีสินค้าที่เรียกว่า “A-product” จำนวน 293 SKU (stock keeping unit) ตัวอย่างเช่น จานเบญจรงค์ ใบบัวบกแปรรูป ผลิตภัณฑ์กาแฟ ฯลฯ 

สินค้า A-Product บ้านหม่อมแซ่บ ใบบัวบกแปรรูป
สินค้า A-product ลองเลย กาแฟดริปกระชายดำ

แต่อุปสรรค 3 อย่าง ของเกษตรกรไทยก็เกิดขึ้นเมื่อบริหารจริง ทั้งด้านคุณภาพ (quality) ปริมาณ (volume) และสต็อกของ (stock) หรือหากสินค้ามีคุณภาพ ก็มีปัญหาปริมาณไม่ถึงเป้า อีกทั้งบางกรณียังไม่สามารถควบคุมได้ทั้งสามปัจจัย

“ผมขอกล้วยหอมร้อยตัน คุณภาพแบบนี้ เอาเข้าจริงทำได้ไม่ถึงร้อย คุณภาพไม่ต้องพูดถึง หรือบอกว่าต้องการหมื่นออเดอร์ เขาทำไม่ได้ ให้สต็อกของก็ไม่มีเงิน… ของร้อยชิ้น คุณภาพก็ไม่ได้ทั้งหมด มันยังไม่นิ่งเลย”

แม้การนำเข้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โมเดิร์นเทรด หรือซูเปอร์มาร์เกต จะช่วยให้เกษตรกรขายสินค้าได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ฉัตรชัยบอกว่า ประเด็นนี้ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนทางรายได้ เพราะสุดท้ายเม็ดเงินจะไปตกอยู่ที่กลางน้ำซึ่งเป็นคนกลาง มากกว่าต้นน้ำซึ่งเป็นเกษตรกร

“ผมมองว่าแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกสเตป ความยากไม่ใช่เอาของขึ้นแพลตฟอร์ม แต่ ‘ของ’ ไม่มี ทั้งประเทศสั่งมา 500 ชิ้น…เจ๊ง เกษตรกรสต็อกของไม่ได้ ปริมาณก็ไม่ได้ เหมือนเราทำที่บ้านสี่ห้าคน เต็มที่สิบคน ถ้าเราไปร่วมกับร้านค้า พวกนี้มีค่า GP เราขายราคา 25 บาท เงินถึงเกษตรกรกี่บาท ถึง 10 บาทไหม เงินถึงคนทำกี่บาท สุดท้าย wealth (ความมั่งคั่ง) ไปอยู่ตรงกลาง คนแห่ไปซื้อ คนกลางรวย”

“ผมว่าผู้บริโภคกำลังหลงทาง เพราะ weatlh ไปอยู่กับคนกลาง ไม่ใช่เกษตรกร แห่กันซื้อเข้าไป คนรวยไม่ใช่เกษตรกร”

สิ่งที่ ธ.ก.ส. มีแผนจะทำคือสร้างซูเปอร์มาร์เกตเล็กๆ ที่ธนาคารบริหารเอง เพื่อให้เกษตรกรได้นำสินค้ามาตั้งโชว์หน้าร้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“ถ้าเราทำเอง (ขาย 25 บาท) เงิน 20 บาทถึงเกษตรกร ไม่ใช่ได้แค่ 3 บาทแบบผ่านคนกลาง เงินมันไม่ลงมา…ผมต้องการสร้าง wealth สีเขียว ไม่ใช่ wealth สีดำ”

เมื่อถามว่า หากจัดกลุ่มลูกหนี้ 6.2 ล้านคน มาทำข้อมูลเป็นบิ๊กดาต้าเพื่อให้ชี้เป้าตรงกลุ่มเป้าหมายและช่วยเหลือได้ตรงจุดมากขึ้น จะช่วยให้ ธ.ก.ส. บริหารจัดการได้ดีขึ้นอย่างไร ‘ฉัตรชัย’ตอบว่า…

“อย่าไปฝันไกลเกิน เอาแค่ผลิตของออกมาให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินส่งตามรอบปกติพอ อย่าไปไกลขนาดนั้น ไม่มีประโยชน์ มีบิ๊กดาต้าแล้วไง ของขายไม่ได้เหมือนเดิม แล้วทำยังไง เราต้องการเงินตอนนี้ ไม่ต้องการเงินอีก 2-3 ปีข้างหน้า”

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

จุดแข็ง ธ.ก.ส. ลูกค้ารักแบงก์ – Beyond Banking

‘ฉัตรชัย’มองว่า จุดแข็งของ ธ.ก.ส. คือการเป็น “Beyond Banking” เพราะภารกิจ ธ.ก.ส. กว้างมาก เป็นโจทย์ที่ยากมาก จนกระทั่งคุณไม่มีทางที่จะทำสำเร็จ แค่ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เอาแค่ว่าดีขึ้นเรื่อยๆ มันไม่จำเป็นต้องสำเร็จ เพราะภารกิจคุณใหญ่โตมาก ขอให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ

“คนที่มอง ธ.ก.ส. อาจจะเข้าใจไม่ถูกต้อง ว่าทำไม ธ.ก.ส. ไม่แข็งแรง ธ.ก.ส. มีหน้าที่ช่วยเกษตรกร มีแบงก์ไหนบ้างต้องช่วยเกษตรกร ต้นทุนมหาศาล ดังนั้น ด้วยความเป็นแบงก์ แต่มันไม่ใช่แบงก์ มันคือธนาคารพัฒนาชนบทให้ยั่งยืน คำว่าธนาคาร… ‘ธนาคาร’ ต้องทำกำไร แต่ ธ.ก.ส. ต้องมีคนเป็นหมื่นคน มี 1,000 สาขา เพื่อลงไปดูแลลูกค้า การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน หลักคือการให้เงินทุนเกษตรกร นี่คือการพัฒนา ภายใต้การให้ (เงินทุน) ไปแล้ว ไม่ใช่ให้กู้แล้วจบ ให้กู้แล้วต้องช่วยเขาผลิต ช่วยขาย ลงไปช่วยเขายกระดับ บทบาทของเราคือธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน”

“ธ.ก.ส. คือธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน แบงก์ต้องยั่งยืนและชนบทต้องยั่งยืน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ถูกๆ”

‘ฉัตรชัย’เสริมเรื่องจุดแข็งว่า “ลูกค้ารักคน ธ.ก.ส. และลูกค้าเชื่อคนของเรา บอกซ้าย ซ้าย บอกขวา ขวา”

“กระทั่งพักหนี้มันต้องเซ็นค้ำประกัน คนของเราบอกว่า เขาต้องบอกกล่าวทุกคน ปรากฏว่าคนค้ำตาย พวกเขาไปจุดธูปกันหน้ากระกระดูก มันเรื่องจริง เขาเชื่อคนของเรา ต้องทำแบบนี้”

‘ฉัตรชัย’ยกตัวอย่างวิธีการทำการเกษตรแบบอื่นๆ เช่น ทำข้าวนาเปียกสลับแห้ง หรือการปลูกพืชบนแคร่ ว่าทั้งหมดคือการทำภายใต้สิ่งที่ธนาคารบอกและแทรกองค์ความรู้ไปด้วย แล้วเกษตรกรจะมองเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น และขายของได้ รวมถึงเทคโนโลยีไม่ต้องถึงขั้นล้ำสมัย ขอแค่พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตก็เพียงพอ

“แค่ผักที่เคยปลูกบนดินมาปลูกบนแคร่ มันก็ดีขึ้น คุณลดผลกระทบจากน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝน โรคแมลง มันอยู่ในโรงเรือนปิด แทนที่จะเสียหาย 70 เปลี่ยนมาเสียหาย 30 มันก็ดีขึ้น ถ้าเขายังอยู่บนพื้น 100 เปอร์เซ็นต์ คือไม่ปรับตัว ไม่ใช่เขาผิด แต่เขาไม่รู้”

นโยบายทั้งหมดต้องจับต้องได้เป็นลำดับแรก เพราะธนาคารอยู่กับภารกิจที่ทำให้คนกินอิ่ม และไม่ให้เกษตรกรไหลไปหาหนี้นอกระบบ

‘ฉัตรชัย’กล่าวต่อว่า สิ่งที่ธนาคารอยากเห็นคือ คนรุ่นใหม่ที่นำความรู้และความสามารถและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาพื้นที่เกษตรของรุ่นก่อนๆ โดยเทียบให้เห็นภาพว่า “ถ้าให้เกษตรกรปลูกมะเขือเทศ เขาก็ปลูกที่ส่งร้านส้มตำ แต่เด็กจบนอกทำมะเขือเทศสีทองกินกับชีส”

สิ่งแวดล้อม: ไม่บอกหลักการ แค่ทำตามเรา

อีกประเด็นสำคัญคือสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ ธ.ก.ส. ทำสามารถแบ่งกว้างๆ ได้ 2 รูปแบบ คือ ภายในองค์กร และภายนอกองค์กร โดยเฉพาะมิติการช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัว

เริ่มที่ภายในองค์กร ฉัตรชัยได้ประกาศนโยบายอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย 5 ข้อ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน”และ BCG model (bio, circular และ green) ดังนี้

  1. การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า บุคคลภายนอก ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. นำของกลับมาใช้ใหม่ การควบคุมและบริหารจัดการขยะและของเสีย ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
  3. กำหนดแนวทางเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยพิจารณาจัดซื้อ จัดจ้าง เช่าจากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเลือกใช้พลังงานสะอาดเป็นทางเลือกแรก
  4. รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนัก
  5. จัดเก็บข้อมูลและติดตามประเมินผลการใช้พลังงานและทรัพยากรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีจำนวนสาขา 1,238 สาขาทั่วประเทศ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon emission) กว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

‘ฉัตรชัย’กล่าวถึงภาพใหญ่ว่า ธ.ก.ส. คือธนาคารที่ดำเนินกิจการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำ BCG model เข้ามาผนวก และให้ความสำคัญกับบทบาท sustainable finance, social innovaton และ financial inclusion

แต่ความท้าทายยิ่งกว่านั้นคือ มิติภายนอกองค์กร ซึ่งต้องทำให้เกษตรกร-ลูกหนี้ มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

เมื่อโลกเปลี่ยน เกษตรกรต้องเข้าใจเรื่องโลกสีเขียวอย่างไร ฉัตรชัยตอบว่า “เขาไม่ต้องรู้ แค่ทำตามที่เราบอก ถ้าจะสอนเกษตรกรให้รู้เรื่อง ESG ไม่มีทาง ตราบใดที่ยังถอดรองเท้าที่หน้าสาขาแล้วเดินขึ้นไปถอนเงิน… ทำตามที่เราบอก ค่บอกว่าทำนาแบบนี้ เพื่อช่วยลดมีเทน แต่ไม่ต้องบอกว่ามันคือการทำ ESG คุณทำตามนี้ จะไปสอนให้เกษตรกรรู้ ESG เพื่ออะไร”

“ความยั่งยืน ESG หรืออะไรก็ตาม เกษตรกรไม่ต้องเข้าใจ เขาทำตามที่เราบอก เพราะเราจะเขียนโรดแมปและอาศัยความที่ลูกค้าเชื่อเรา เรารักลูกค้า ถ้ามานั่งสอน ESG เขาไม่รู้หรอก”

นอกจากต้นทุนความรักและความเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้เจ้าหน้าที่ ธนาคารใช้วิธีการต่อยอดโครงการ “ธนาคารต้นไม้” 6,000 กว่าชุมชนทั่วประเทศ และชวนให้เกษตรกรปลูกต้นไม้มากขึ้น เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต โดยธนาคารจะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมด

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ซื้อคาร์บอนเครดิต ครั้งแรก ที่ชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่-บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 400 ตันคาร์บอน ราคา 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน คิดเป็นมูลค่าซื้อขายให้เกษตรกรรวม 1.2 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ 842,100 บาท

  • ธ.ก.ส. นำร่องซื้อ “คาร์บอนเครดิต” ชุมชนธนาคารต้นไม้ จ.ขอนแก่น 400 ตัน 1.2 ล้านบาท
  • “เรามีธนาคารต้นไม้อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เป็นการนำไม้มีค่าเป็นหลักประกัน แต่คาร์บอนเครดิตคือ ‘ต่อยอด’ อีกขั้นหนึ่ง มันคือพื้นฐานที่มี แต่จะหยิบไปมุมไหน ถ้าไม่มีคาร์บอนเครดิต ก็ผลิตไม้มูลค่าสูงเป็นหลักประกัน ขึ้นกับคุณจะพลิกมันมุมไหน มันคือการหยิบขึ้นมาเล่า”

    “แต่เวลาลงพื้นที่ ยืนพูดกับชาวบ้าน ผมไม่ได้พูดอย่างนี้…เอ้า ปลูก…เขาถามว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร เราบอกไม่ต้องไปสนหรอก สนแค่มันขายได้”

    เรื่องตลกจากเจ้าหน้าที่คือ ในงานส่งเสริมคาร์บอนเครดิตแห่งหนึ่ง ชาวบ้านยกมือถามว่ามาส่งเสริมการปลูกต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต แล้วคิดหรือยังว่าจะเอารถอะไรมาขน เพราะปลูกกันเยอะ…

    ‘ฉัตรชัย’พูดติดตลกว่า “ทุกวันนี้เขาไม่มีจะกินอยู่แล้ว อยู่ๆ มีคนเสื้อเขียวมาบอกว่าให้ปลูกต้นไม้หน่อย แล้วไง แต่เขาเชื่อคนของเรา เขาก็ปลูก เป็นหลักประกันอีกกี่ปี ทุกวันนี้ก็หาของป่า แต่พอมีคาร์บอนเครดิตก็ได้เงิน เป็นสิ่งที่เกษตรกรทำอากาศให้เป็นเงิน”

    ในส่วนของ ธ.ก.ส. ก็ซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชน และนำไปชดเชยที่ธนาคารปล่อยก๊าซกว่า 70,000 ตันต่อปี

    “ผมมาอยู่ ธ.ก.ส. เจอลูกค้าแบบนี้ ภารกิจแบบนี้ คิดแค่ว่า ‘ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ’ ไม่ใช่เมื่อไรจะสำเร็จ ภารกิจมันใหญ่ กว้างมาก เปราะบางมาก มีปัจจัยเยอะมาก คุมอะไรไม่ได้เลย ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มันมหาศาล เหมือนเราเตรียมงานใหญ่โต พอวันจริงฝนตก”

    “อย่าไปติดกับดักว่า เมื่อไรจะสำเร็จ ไม่ต้องดู เอาแค่วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ดีขึ้นไปอีก และดีขึ้นเรื่อยๆ” ‘ฉัตรชัย’กล่าว