เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
คำถามที่มักจะได้ยินอยู่เสมอในช่วงนี้ก็คือ “น้ำท่วมครั้งนี้จะหายนะเท่าอุทกภัยใหญ่ปี 2554 หรือไม่” คำตอบของนักวิชาการหรือผู้รู้ทั้งหลายก็คือ “ไม่น่าจะหนักเท่า” ซึ่งก็คงจะใช่ เพราะเหตุว่า 1) น้ำท่วมปี 2554 มีพายุเข้าไทยถึง 5-6 ลูก แต่น้ำท่วมปี 2567 มีพายุเข้าไทย 1-2 ลูก 2) ปี 2554 มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนสะสมมากที่สุดในรอบ 61 ปี แต่ปี 2567 ปริมาณน้ำฝนสะสมยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3) ปี 2554 พื้นที่รองรับน้ำในเขื่อนต่างๆ คือ 4,647 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปี 2567 พื้นที่รองรับน้ำในเขื่อนต่างๆ ได้ถึง 12,071 ล้านลูกบาศก์เมตร (อ้างอิงจาก กรุงเทพมหานคร และ The Standard)
แต่สิ่งที่ควรใส่ใจยิ่งกว่าคือ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัยครั้งใด เราต้องสูญเสียชีวิตของเด็กๆ ทุกครั้ง (เช่น ปี 2554 ผู้คนต้องตายเพราะเหตุน้ำท่วมราว 813 คน โดยเป็นเด็กวัยไม่เกิน 15 ปี ถึง 88 คน) และที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่งก็คือ จากการรวบรวมข้อมูลของการลงพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศโดยศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ความตายของเด็กๆ มักจะเกิดจาก 4 สาเหตุนี้
1. พลัดตกน้ำจากที่พัก เช่น บ้านหรือศูนย์พักพิง
เนื่องจากน้ำที่ท่วมได้เอ่อเข้าไปในที่พักอาศัย พ่อแม่ลูกจึงจำต้องนอนบนแคร่ที่ยกสูงเหนือน้ำ แต่แล้วก็พบว่ามีเด็กๆ หลายรายต้องหล่นจากที่นอนชั่วคราวนั้นตกลงไปเสียชีวิตในน้ำ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็นอนใกล้ๆ แต่มักอยู่ในสภาพอ่อนเพลียด้วยฤทธิ์ยาลดไข้บ้าง เพราะหมดเรี่ยวแรงจากการซ่อมแซมบ้านบ้าง บวกกับความไม่รู้ว่าลูกทารกวัยเพียง 2 เดือนก็เริ่มเคลื่อนตัวได้แล้ว
แม้แต่ในกรณีใช้สถานที่ราชการหรือศูนย์เด็กเล็กเป็นศูนย์พักพิง แต่ขาดเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กๆ ทั้งพ่อแม่เองก็พลั้งเผลอจนคลาดสายตาจากลูกๆ เด็กหลายคนเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บหรือถึงกับเสียชีวิต เช่น ตกลงไปในแหล่งน้ำขณะวิ่งเล่นกับเพื่อนเด็กๆ ด้วยกันในศูนย์พักพิง หรือเด็กเล็กที่ออกมายืนปัสสาวะที่หน้าศูนย์พักพิงแล้วพลัดลื่นตกน้ำ
แล้วก็ยังมีกรณีที่สิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไปแล้วหลังน้ำท่วม เช่น พ่อที่พาลูกมาพายเรือเพื่องมหอยหาปลาหลังน้ำท่วมแล้วพลาดพาเรือไปชนตอจนจมน้ำเสียชีวิตทั้งพ่อทั้งลูก เนื่องจากทางน้ำและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทำให้ไม่ชินทางเหมือนเคย
2. นั่ง เดิน ขี่จักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์ผ่านถนนที่ยังไม่ท่วมแต่มีน้ำไหลเชี่ยว
มักพบในระหว่างน้ำเริ่มท่วมบนพื้นถนนใกล้ตัวเมือง ซึ่งมีน้ำไหลผ่านสูงราว 20-50 ซ.ม. แต่หลายพื้นที่กลับใช้บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งตั้งแผงขายของกันริมถนน บางที่ถึงกับประดับไฟแถมยกเครื่องเสียงมาตั้งเพื่อให้ได้ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน ทั้งๆ ที่สองข้างทางนั้นมีน้ำท่วมลึก (เช่น กรณีเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ถนนหน้าตลาดไผ่ท่าโพธิ์ จ.พิจิตร ที่มีการจัดงานประจำปี มีขายของและเปิดเพลงรื่นเริง ในขณะที่มีน้ำไหลนองและเชี่ยวกรากมากขึ้นทุกขณะ ในที่สุดได้เป็นเหตุให้มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเพราะกระแสน้ำพลัดถึง 3 คนในวันเดียวกัน)
3. สัญจรทางน้ำด้วยเรือในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย
พบว่า มีการนำวัสดุไม่ปลอดภัยมาทำเป็นเรือ เช่น เรือโฟม หรือการนำถังพลาสติกหรือถังเหล็กขนาดใหญ่มาใช้เป็นเรือ ทั้งใช้เองในครอบครัวหรือนำมาเก็บเงินเป็นค่าโดยสาร กระทั่งเกิดเหตุเรือล่มจนเป็นข่าวน่าเศร้ามาแล้วในปี 2554 หรือแม้แต่การไม่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของเรือให้ดี จนเกิดรอยร้าวระหว่างการแล่นเรืออยู่กลางน้ำ
4. การเสียชีวิตจากการปกป้องชุมชน
จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การชื่นชมยกย่องอย่างยิ่ง ในความเสียสละของเด็กและเยาวชนที่ร่วมแรงใจปกป้องท้องถิ่นของตน ให้รอดพ้นจากหายนะภัยน้ำท่วม แต่เนื่องจากการขาดทั้งประสบการณ์และทักษะของชุมชน จึงเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน
เช่น กรณีน้ำระลอกแล้วระลอกเล่าที่ซัดกระหน่ำเข้าวัดปากน้ำ นนทบุรี (ปี 2554) จนพนังกั้นน้ำชั่วคราวพังทลาย ที่นอกจากน้ำจะท่วมทั้งวัดทั้งถนน น้ำมหาภัยยังพัดบรรดาอิฐปูนไม้ที่ถล่มทลายนั้นไปท่วมทับร่างของเยาวชนจิตอาสาวัย 12 ปีจนต้องจมน้ำเสียชีวิต
แนวทางการป้องกันและแก้ไข
1. ช่วงเวลาทั้งก่อน ระหว่าง และหลังน้ำท่วม
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ยิ่งขึ้นกับความรู้พื้นฐานที่ว่า เด็กวัยน้อยกว่า 3 ขวบ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างไม่คลาดสายตา และต้องทันคว้าถึง ส่วนเด็กวัย 3-5 ขวบ ต้องดูแลอย่างไม่คลาดสายตา และต้องเข้าถึงอย่างรวดเร็ว
2. เด็กวัย 7 ปีขึ้นไป จะต้องมีความรู้เรื่องของความปลอดภัยทางน้ำ
การเอาตัวรอดได้จากการจมน้ำ ต้องว่ายน้ำให้ได้อย่างน้อย 15 เมตร และจะต้องลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที
3. ควรตระเตรียมศูนย์พักพิงไว้ก่อนเกิดวิกฤติน้ำท่วม
ทั้งยังต้องสำรวจตรวจตราและต้องแก้ไขทันทีที่พบว่า มีจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น ราวระเบียงที่มีช่องห่างเกินกว่า 9 ซ.ม. ซึ่งเสี่ยงต่อการพลัดตกของเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป (เด็กวัยต่ำกว่า 6 เดือนช่องว่างดังกล่าวจะต้องน้อยกว่า 6 ซ.ม.) หรือจะต้องไม่ให้มีหลุม มีบ่อ ซึ่งเสี่ยงต่อการที่เด็กๆ จะพลัดตกและจมน้ำ ที่สำคัญคือ ยิ่งมีเด็กๆ อาศัยศูนย์พักพิงยิ่งจะต้องมีเจ้าหน้าดูแลให้ครบพร้อมกับจำนวนเด็กๆ
4. ในช่วงน้ำท่วมนั้น เสื้อชูชีพมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่แพ้การขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนนที่ต้องใส่หมวกกันน็อก
โดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะต้องสวมใส่ทุกครั้งที่ลงเรือ หรือในวันที่มีมวลน้ำล้อมรอบบ้านหรือรอบทางเดิน ปัญหาคือ ต้องเลือกขนาดให้พอดีตัว และใส่สายรัดให้ครบเส้น
5. บรรดาผู้นำชุมชนผู้นำท้องถิ่น
จะต้องแจ้งข่าว ประกาศเตือนภัยอย่างสม่ำเสมอ พร้อมมีแผนช่วยเหลือประชาชนอย่างชัดเจน และลงมือปฎิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่มีทีท่าส่งเสริมให้บริเวณอันตรายหรือแหล่งน้ำเชี่ยวกรากให้กลายเป็นจุดพบปะท่องเที่ยว แถมสนับสนุนให้บรรดาห้างร้านเปิดท้ายขายของ ตั้งแผงขายของกิน ตั้งเครื่องเสียงกันอย่างเอิกเกริก ฯลฯ
6. ภาครัฐจะต้องทุ่มเทกับ “โครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้”
ให้จริงจัง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ชัดเจนกว่านี้ โดยจะต้องมีการบูรณาการกันในระดับกระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัล และแม้แต่สำนักนายกฯ อย่าเพียงปล่อยให้เป็นงานในระดับแค่กรมฯ หรือปล่อยให้องค์กรท้องถิ่น ชุมชน ว่ากันไปเองตามมีตามเกิดเหมือนเช่นทุกวันนี้