อุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือธุรกิจสุขภาพและความงามของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างเนื่อง จากเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ดูดี ดูสวย มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่อยากแก่แล้วแก่เลย
ที่น่าสนใจคือ ตลาดธุรกิจดังกล่าวมีขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ เมืองไทยยังมีแต้มต่อในธุรกิจนี้ จากการมีวัตถุดิบ องค์ความรู้ ไปจนถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและ service mind ที่ดี เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วโลก
คนในแวดวงธุรกิจสุขภาพและความงามหลายส่วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากทุกฝ่ายตั้งแต่เกษตรกร นักวิจัย ผู้ผลิต/ผู้ประการเอกชน ไปจนถึงภาครัฐ รวมถึงผู้บริโภค ช่วยกันยกระดับและผลักดันธุรกิจนี้อย่างจริงจัง อาจจะกลายเป็นเศรษฐกิจตัวใหม่ เป็นทางรอดของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ธุรกิจสุขภาพและความงาม ‘S-curve’ ใหม่ของไทยในอนาคต
นายรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์ และกรรมการ บริษัทโออาร์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนส จำกัด(ORHW)ให้มุมมองว่า ปัจจุบันธุรกิจความงามในประเทศไทยมีขนาดตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการมีโรงงานผลิตจำนวนมาก ที่ผลิตให้กับแบรนด์ที่อยู่ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ โดยมีขนาดตลาดอยู่ที่ประมาณ 180,000-200,000 ล้านบาทต่อปี หากไม่รวมจีน ไทยจะใหญ่เป็นอันดับสามของเอเชียตะวันออก
“ตลาดนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะคนไทยใช้เครื่องสำอางค่อนข้างเยอะ แล้วมีโรงงานผลิตเยอะ ที่สำคัญคือตลาดโตมาตลอด ไม่เคยโตน้อยเลย ส่วนใหญ่จะโต 6%, 7%, 8%, 9% บางปีโต 10% ต่อปีก็มี นอกจากช่วงโควิดที่ชะงักลงไป เพราะว่าคนไม่ออกจากบ้าน”
อย่างไรก็ดี แม้มีการผลิตเครื่องสำอางเยอะมากในเมืองไทย แต่เรากลับผลิตวัตถุดิบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่นำเข้าเกือบ 90% ดังนั้น ต้องอาศัยงานวิจัย แล้วคัดเลือกเอาวัตถุดิบของไทยที่เกษตรกรปลูก เพื่อมาดูว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อยอดได้อย่างไรบ้าง
“จริงๆ เราทำได้ครบวงจรได้ แต่ตอนนี้เงินส่วนใหญ่อยู่ที่ปลายน้ำ คือส่วนที่ทำเป็นของสำเร็จรูปแล้ว แต่ต้นทางที่เป็นตัววัตถุดิบจริงๆ เรายังทำได้ค่อนข้างน้อย เพราะต้องอาศัยงานวิจัยเยอะ ซึ่งจริงๆ งานวิจัยเราก็มีในมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งหน่วยงานของ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ก็มีงานวิจัยเยอะ”
นายรวิศกล่าวว่า “ตอนนี้เราเริ่มค่อยๆ เลือกเอาวัตถุดิบของไทยที่เกษตรกรไทยปลูก ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผัก สมุนไพรต่างๆ เอามาดูว่าเราจะสามารถนำพวกนี้มาใช้ ต่อยอดได้อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น แป้งจากข้าว ถ้าเราปลูกข้าวแล้วขายเลย ผมคิดว่าเราสู้ลำบาก เพราะว่าต้นทุนมันแพงขึ้น แล้วเพิ่มมูลค่าได้นิดเดียว ถ้าเราสามารถเพิ่มมูลค่าได้เยอะๆ เหมือนกับญี่ปุ่นหรือนิวซีแลนด์ที่เขาเก่งเรื่องนี้ คือไม่ขายของที่มาจากฟาร์ม แต่นำไปแปรรูปก่อนแล้วค่อยขาย ดังนั้น เครื่องสำอาง ถ้าเอาผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ มาแปรรูป มันจะได้ราคาสูงมาก อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็น S-curve ใหม่ของประเทศได้”
ปัจจุบันเราส่งออกวัตถุดิบจากเมืองไทยไปที่อื่น เขานำไปแปรรูป แล้วส่งกลับมาขายเรา ราคาแพงขึ้นเป็นสิบเท่าร้อยเท่า ก็หวังว่าในอนาคตเราจะทำเรื่องนี้ได้มากขึ้น เพราะองค์ความรู้เรามีเยอะ แต่จะต้องมีการประสานงานทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง หน่วยงานภาครัฐก็จะต้องมีส่วนช่วย
ยกระดับยาสมุนไพรไทยสู่ระดับโลก เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง
นายรวิศเชื่อว่า สมุนไพรไทยเป็น “โอกาส” ของประเทศไทย ยาแพทย์แผนไทยจะโตขึ้นไปได้อีกไกลในอนาคต หากมีการทดสอบและทำมาตรฐานให้ดีขึ้น เพราะว่าโลกยุคใหม่เริ่มหันมาสนใจที่จะนำยาสมุนไพรมาใช้ในเชิงของการรักษาควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบันมากขึ้น
ขณะเดียวกันมีการนำสมุนไพรมาทำเป็นอาหารเสริม ยกตัวอย่างเช่น บุก ที่มีสรรพคุณช่วยในเรื่องการควบคุมน้ำหนัก กินแล้วอิ่มท้อง ส่วนในฝั่งเครื่องสำอาง ก็มีการนำสมุนไพรหรือผลไม้ต่างๆ มาสกัดเป็นครีมบำรุงผิว เช่น สกัดวิตามินซีจากส้ม มาทำเป็นครีมไวต์เทนนิงได้
ประเด็นของประเทศไทยที่น่าสนใจก็คือ เรามีวัตถุดิบจำนวนมากจากการเพาะปลูกอะไรได้หลายอย่าง และมีความรู้เต็มไปหมด เพียงแต่โรงงานที่จะผลิตต้องมีมาตรฐานที่สูงมากจริงๆ แต่การลงทุนเรื่องนี้ในบ้านเรายังมีไม่เยอะมาก แม้จะมีคนพยายามทำอยู่เหมือนกันก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น ขิงสกัด มาจากเมืองไทย แต่พอสกัดออกมาเป็นสารสกัดเข้มข้น ก็ไปสกัดที่เมืองนอก ส่งกลับมาขายเมืองไทย ซึ่งมีแบบนี้เยอะมาก เหตุผลเพราะว่าต่างชาติเขาไม่ได้คิดแค่ว่าจะเอามันมาทำอะไร แต่เขาคิดครบวงจรว่าต้องมีมาตรฐานแบบไหน ต้องได้รับการรับรอง ต้องมีการทดสอบ
เพราะของพวกนี้เป็นของธรรมชาติ ปลูกปีนี้ ปลูกปีหน้า ใช้สูตรเดิมมาสกัด ของออกมาไม่เหมือนกัน บางปีผลผลิตดี บางปีก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น จะต้องหาวิธีการว่า จะทำอย่างไรให้ได้มาตรฐานแบบที่เราต้องการ ซึ่งต้องมีการลงทุนค่อนข้างเยอะ แต่เราสามารถทำได้
นายวริศย้ำว่าถ้าเพิ่มสินค้าต้นน้ำเยอะขึ้น ไม่ว่าจะในหมวดอะไรก็ตาม มันก็จะไปทำให้สิ่งที่เกษตรกรปลูกมีราคาเพิ่มขึ้นไปด้วย มูลค่าก็จะเพิ่มขึ้น แต่เราอาจจะต้องไปปรับปรุงเรื่องของคุณภาพการปลูก มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทาง อย่างฝรั่งเศสทำไวน์ ต้องไม่ใส่ยาฆ่าแมลง แปลงข้างๆ ก็ต้องไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเช่นกัน
“พวกนี้คือการเปลี่ยนทั้งระบบนิเวศน์ของธุรกิจ ตั้งแต่คนปลูก คนควบคุม คนวิจัย คนผลิต คนเอาของมาใช้ รวมไปจนกระทั่งปลายทางว่า ถ้าเรามีของดีแบบนี้ แล้วในเชิงของผู้ผลิต จะนำเสนอให้กับโลกได้รับรู้อย่างไรบ้าง”
“จริงๆ อันนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ในมุมของผมเหมือนกันว่า ถ้าหากเราจะผลิตอะไรสักอย่าง แล้วมีได้เฉพาะเมืองไทยที่เดียว ถ้าคุณจะซื้อของ ต้องมาซื้อที่ประเทศไทย หรือต้องซื้อของเมดอินไทยแลนด์เท่านั้น ก็จะช่วยผู้ประกอบการเยอะมาก และยังช่วยไปถึงเกษตรกร”
นายรวิศกล่าวว่า จริงๆ แล้วไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตำรับยาสมุนไพรเยอะมาก และมีองค์ความรู้ที่ส่งต่อมาจากรุ่นคนโบราณ โดยปัจจุบันคนที่ทำเรื่องนี้อยู่ ก็ทำกันได้ดี เพียงแต่ต้องการแรงผลักดันเพื่อให้คนทั้งในโลกได้เห็น ได้เข้าใจว่าธุรกิจยาสมุนไพรจากเมืองไทยดียังไง น่าเชื่อถือขนาดไหน
ยกตัวอย่างยาแพทย์แผนปัจจุบันจากประเทศฝั่งตะวันตก เวลาเขาจะทดสอบว่ายาจะขายได้ไหม พบว่ามีต้นทุนการทดสอบสูงมาก บริษัทเล็กๆ ไม่มีทางทำได้ ดังนั้น จะทำยังไงให้การทดสอบแบบนี้ในเมืองไทยอยู่ในราคาที่พอรับไหว ขณะเดียวกัน คนที่จะมาซื้อเขาต้องเชื่อถือด้วย
อะไรก็ตามที่ต้องกินเข้าไปแล้วมีฤทธิ์ในการรักษาด้วย คนต้องเชื่อใจ การสร้างความน่าเชื่อถือตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องใช้เวลาพอสมควร เรายังไม่ได้ทำตรงนี้มากนัก เพราะเอาเข้าจริง ยาแผนไทยยังไปได้อีกไกลมาก แต่มันต้องมีคนช่วยกันผลักดัน
ประเทศไทยมีของดีเยอะมาก แต่สิ่งที่ขาดคือเจ้าภาพและความต่อเนื่อง
ซีอีโอศรีจันทร์ยกตัวอย่างว่า ประเทศนิวซีแลนด์กับออสเตรเลียมีน้ำผึ้งที่เรียกว่า “มานูก้าฮันนี” มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ แต่วิธีการทำน้ำผึ้งของเขา ทำให้โลกรู้ว่า น้ำผึ้งชนิดนี้ต้องมาจากสองประเทศนี้เท่านั้น นอกจากนั้นเขายังมีการกำหนดค่ามาตรฐานว่าแบบไหนเป็นแบบธรรมดาหรือแบบเข้มข้น แล้วตกลงร่วมกันทั้งอุตสาหกรรม
สำหรับประเทศไทย สมมติเรามีเจ้าภาพสักคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานรัฐ แล้วอยากจะโปรโมทใบบัวบก เราบอกผู้ผลิตว่า ไม่ต้องทำเหมือนกัน ทำในแบบที่แต่ละคนถนัด แต่ให้โปรโมทเป็นธีมเดียวกันทั้งประเทศได้ไหม เพื่อให้คนทั้งโลกรับรู้ว่าประเทศไทยเก่งเรื่องการทำใบบัวบก หากผลักดันโมเดลอย่างนี้ได้ ส่วนตัวคิดว่าจะช่วยให้เราขายของได้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
มากไปกว่านั้น จะเป็นการยกระดับตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้ผลิต ไปจนถึงคนทำสินค้าปลายทางให้ดีขึ้นได้ทั้งหมด ประเทศไทยมีของดีพวกนี้เยอะมาก แต่สิ่งที่อาจจะขาดก็คือเจ้าภาพ เพราะว่าทำคนเดียวไม่ไหว ต้องไปกันทั้งองคาพยพ
หน่วยงานภาครัฐของเรามีหน่วยงานทำวิจัยเยอะมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่ถ้าอยากให้งานวิจัยต่างๆ ออกมาตรงโจทย์ ผมคิดว่าการประสานงานระหว่างคนทำวิจัย คือหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัย กับคนที่ใช้จริงๆ ก็คือบริษัทเอกชนอาจจะต้องทำงานใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้ของที่ออกมาจากงานวิจัยตอบโจทย์ตลาดจริงๆ
“ผมคิดว่า เรื่องพวกนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีจากการซื้อสูตรสำเร็จ แล้วมาวางรากฐานใหม่ว่า ของที่มีมูลค่าจริงๆ อาจจะต้องใช้เวลา ใช้เงินในการสร้าง แต่ในที่สุดแล้วจะยั่งยืนมากกว่า เราเห็นตัวอย่างมากมายที่ในโลกนี้ทำ เราก็อยากเห็นประเทศไทยทำเหมือนกัน”
“ผมคิดว่าเราสู้ในอุตสาหกรรมเก่า ขายแข่งด้วยราคาอย่างเดียว คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ทำให้เราวนอยู่ลูปเดิม แต่ถ้าเราสามารถเพิ่มมูลค่าสิ่งที่เราขายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม จะทำให้เราหลุดออกจากลูปนี้ได้ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทางคือเกษตรกร”
พร้อมยกตัวอย่างโมเดลประเทศเกาหลีเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ในตลาดเกาหลีมีแบรนด์เครื่องสำอางต่างชาติน้อยมาก เพราะคนเกาหลีซื้อแบรนด์ท้องถิ่นเยอะมาก เดินเข้าไปในร้านขายเครื่องสำอางจะพบว่า นอกจากแบรนด์แพงๆ จากฝรั่งเศส ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เกาหลีเกือบทั้งนั้น เพราะเขาไม่ได้ทำสินค้าดีอย่างเดียว แต่ยังสอดแทรกเรื่องพวกนี้ไปในซีรีส์เกาหลี ไปในภาพยนตร์ อยู่ในวัฒนธรรมของเขา นั่นก็คือสิ่งที่เขาคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์
เกาหลีมองภาพเห็นว่า ส่งเครื่องสำอางไปขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปทั้งหนัง ซีรีส์ เพลง โดยมีเครื่องสำอางเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แล้วต่อ ยอดไปสู่เรื่องเครื่องดื่ม อาหาร นั่นทำให้ธุรกิจของเขาไปกันได้ทั้งองคาพยพ
“ผมคิดว่าประเทศไทยเวลาจะทำแบบนี้ จะต้องมีสองประเด็นที่เจ้าภาพต้องทำให้ได้ หนึ่ง คือต้องแข็งแรง หมายความว่าเป็นเจ้าภาพจริงๆ เป็นคนรวบรวม เรียกคนมาทำ เรื่องนี้เราก็พอทำได้ แต่อันที่สอง คือความต่อเนื่อง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ”
“ของพวกนี้ไม่ได้ทำจบภายในรัฐบาลเทอมเดียวหรือสองเทอม พอมันไม่จบเร็ว ใช้เวลานาน ผมเลยคิดเอาเองว่า มันอาจจะถูกลดลำดับความสำคัญลงไป เมื่อเทียบกับของที่สามารถเห็นผลได้เลยภายใน 6 เดือน 1 ปี แต่ของพวกนี้ไม่เห็นผลใน 6 เดือน 1ปี เกาหลีเขาใช้เวลาเป็น 10 ปี 20ปี กว่าจะทำเรื่องพวกนี้ขึ้นมาได้”
“เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีแบบนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดขึ้น ภาคเอกชนเราสู้ตายอยู่แล้ว แล้วเราก็พร้อมสนับสนุนทุกอย่าง ถ้าภาครัฐร่วมมือด้วย เราก็สามารถจะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ แต่ที่ผ่านมา เรื่องของการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร มีคนพูดเยอะ แต่ยังทำไม่สุดสักที ต้องทำให้สุดถึงจะไปได้”
ธุรกิจ Wellness หนึ่งในทางรอดเศรษฐกิจไทยระยะยาว
นายรวิศยังกล่าวว่า อีกหนึ่งสิ่งที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้คือธุรกิจ “wellness” (การมีสุขภาพดี) เพราะในอนาคตคนจะอายุเยอะขึ้น แต่ไม่อยากแก่ เมื่อไม่อยากแก่ ก็จะต้องดูแลตัวเองให้ดีขึ้น อันที่สองก็คือ รายได้โดยภาพรวมของคนบนโลกนี้เพิ่มขึ้น แม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจก็ตาม แปลว่าเขาจะมีเงินมาใช้กับเรื่องพวกนี้มากขึ้น ตลาด wellness ก็จะต้องใหญ่ไปด้วยตัวของมันเอง
“คนอายุมากขึ้นแต่ไม่อยากแก่ บวกกับรายได้ของคนเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นตลาด wellness ใหญ่มากแน่นอน และจะใหญ่ไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งในอนาคต ซึ่งผมคิดว่าเราเก่งเรื่องนี้ มีแต้มต่อในเรื่องนี้ ทั้งสินค้าและบริการ ให้เราไปแข่งทำ AI ผมว่ายาก เราไม่ได้เป็นประเทศแบบนั้น แต่ถ้าแข่งเรื่องทำ wellness ผมว่าเราแข่งได้ แล้วเราอาจจะเป็นจุดหมายปลายทางของโลกได้เลยด้วยซ้ำ”
ประเทศไทย คนไทยเป็นคนที่ service mind ดีมาก เราเอาพวกนี้มาประกอบกัน ทั้งสินค้าและบริการ เอามารวมกันให้เป็นภาพใหญ่ แล้วขายแบบนี้ให้กับโลก ถ้าคุณอยากจะมาทำเรื่อง wellness เมืองไทยเป็นที่ที่ดี มันเป็นสิ่งที่เราทำได้ จำเป็นจะต้องทำ นี่เป็นหนึ่งในทางรอดของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เราเห็นชัดว่าโตแน่ๆ ก็ควรจะต้องทำ
ประกอบกับประเทศไทยมีชาวต่างชาติมาเที่ยวจำนวนมาก แต่ถ้าเขามาเที่ยวแบบ wellness จะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวเยอะมาก เป็นอีกราคาหนึ่งเลย บวกกับสินค้าที่เรามี จะทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันกับธุรกิจโลกในอนาคตจริงๆ แต่ต้องมองเห็นทั้งภาพ
“ถ้าเราเป็นประเทศเล็กๆ บริการไม่ดี โรงแรมก็ไม่มี อย่างนี้จะทำ wellness ก็ยาก แต่ของไทยเราพร้อมมากๆ ถ้ารัฐมองเห็นภาพทั้งหมด แล้วลงมือทำจริงๆ จังๆ เชื่อมแต่ละจุดเหมือนที่เกาหลีเขาเห็นว่าจะส่งออกเอนเตอร์เทนเมนต์ ที่ไม่ใช่แค่ร้องเพลงอย่างเดียว แต่มีของเต็มไปหมดเลยที่ล้อมเอนเตอร์เทนเมนต์อยู่ แล้วเขาน่าจะทำมา 30 ปี กว่าเราจะเห็นวันนี้”
“ผมคิดว่าเราก็เริ่มมาได้ประมาณหนึ่ง แต่เราต้องเอาให้สุด แล้วจะเป็นโอกาสใหม่ อีกหน่อยอนาคตประชากรโลกอายุมากขึ้น เขาอยากจะมาอยู่ที่เมืองไทย เพราะเมืองไทยอยู่แล้วสบาย อยู่แล้วสุขภาพดี มีกิจกรรมให้เขาทำ ก็จะช่วยเรื่องพวกนี้ได้มาก”
นอกจากนี้นายรวิศยังมองว่า ธุรกิจ wellness จะไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องประชากรที่แก่ขึ้น เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีซับซ้อนมากนัก เพราะฉะนั้น คนเจเนอเรชันที่อาจจะไม่ได้เติบโตมากับเทคโนโลยียังสามารถอยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจ wellness ได้สบายๆ แล้วสร้างมูลค่าได้มากด้วย คนแก่ก็ยังทำงานได้ มีรายได้อยู่ อาจจะทำได้ดีกว่าเด็กๆ ด้วยซ้ำ
“เพราะอย่างที่ผมบอก เราจะไปแข่ง AI ก็เป็นไม่ได้อยู่แล้ว ไม่มีทาง ไม่ใช่สายเรา ไม่ใช่สไตล์เรา ประเทศเราต้องประมาณนี้ อันนี้เป็นอันนึงที่ผมคิดว่าเราแข่งได้”
“แล้วอุตสาหกรรมที่เราส่งออกอยู่ตอนนี้ มันไม่สัมพันธ์กับโลกแล้ว แต่จะทำยังไงให้เราไปอันใหม่ให้ได้ แค่ต่อยอดอีกไม่เยอะ เพราะเรามีต้นทุนดีมากอยู่แล้ว ประเทศอื่นแถบซีกโลกตะวันตกเขามีอากาศหนาว ปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น ขณะที่ประเทศอีกจำนวนมากเซอร์วิสไม่ได้ บางประเทศเซอร์วิสได้แต่ก็แพงมาก แต่เรายังอยู่ในจุดที่ทำเรื่องพวกนี้ได้อยู่”
“ที่สำคัญคือ จุดที่ตั้งของเมืองไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์มาก ผมพยายามพูดเรื่องนี้ว่าต้องทำแล้ว มันไม่ได้ทำวันสองวันแล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มแล้ว ถ้าไม่ทำก็จะวนอยู่ที่เดิม เราก็จะต้องมาประกันราคาข้าวเหมือนเดิม แล้วตอนนี้เอาเข้าจริงเราก็ขายสู้ไม่ได้ ต้นทุนแพงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ก็ไม่ดี ดังนั้น ต้องเปลี่ยนให้ได้”
นายรวิศกล่าวว่า คำว่าซอฟต์พาวเวอร์นั้นมีหลายมุม ไม่จำเป็นจะต้องทำแค่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่มีหลายอุตสาหกรรมที่สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งโดยส่วนตัวก็พยายามจะเรียกร้องเรื่องนี้ว่าเรามาคุยกันหน่อยไหมว่า เราสามารถทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้ แล้วทำให้ต่อเนื่อง เพราะความต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญ จุดเริ่มต้นทำไม่ยาก แต่ทำยังไงให้สัมฤทธิ์ผลจริงๆ
“เจ้าภาพเป็นคนสำคัญมาก ต้องเป็นคนฟันธงว่าเอาอย่างนี้ แล้วก็เรียกคนมา เพราะไม่อย่างนั้นเราพูดไปก็จะเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ซึ่งเจ้าภาพยังไงก็ต้องเป็นรัฐ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นคนอื่น ผมทำคนเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องทำด้วยกันหลายๆ คน”
“ตัวอย่างอันหนึ่งที่ดีคือ หน่วยงานภาครัฐไทย มีการไปจัดไทยแฟร์ที่ญี่ปุ่น ก็จะเอาของพวกนี้ เอาแบรนด์ต่างๆ ของไทยไปแสดง แล้วให้คนมาทำความรู้จัก แต่ต้องทำต่อเนื่องยาวนานมากถึงจะกลายเป็นของที่คนเชื่อจริงๆ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา และอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า แค่หนึ่งอุตสาหกรรมไม่พอ ต้องไปกันเป็นองคาพยพ แล้วต้องมีคนที่มีวิสัยทัศน์จริงๆ ที่มองเห็นชัดเลยว่ามันต้องทำอย่างนี้ เพื่อเปลี่ยนตรงนี้ให้ได้จริงๆ” ซีอีโอศรีจันทร์กล่าว