“ตู้ยาโลก” ความฝันของประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐบาลนายเศรษฐาที่พยายามสร้างศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (medical and wellness hub) ตลอดจนรัฐบาลสมัยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งผลักดัน BCG model (bio, circular, green) ผ่านการนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าด้วยวิทยาศาสตร์และประยุกต์ใช้ในเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อให้เหลือของเสียน้อยที่สุด
แต่รัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การแพทย์สมัยใหม่ ยา ความงาม บริการด้านสุขภาพ จนทำให้มองข้ามมิติหนึ่ง นั่นคือ “สมุนไพร” แม้แต่แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ยังระบุข้อจำกัด ปัญหา และอุปสรรคถึง 8 ข้อ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูป งานวิจัยที่ต่อยอดเชิงพาณิชย์ยังมีน้อย การขาดความต่อเนื่องของนโยบาย ตลอดจนความล่าช้าในกระบวนการกฎหมายและการกำกับดูแล ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ประกอบการด้านสมุนไพร
บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNPS ธุรกิจขนาดกลางในตลาด ผู้ผลิตวัตถุดิบสารตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมเวชสำอาง (nutraceuticals), อาหารเพื่อสุขภาพ (functional food), เครื่องดื่ม (beverage), เครื่องสำอาง (cosmetics) และส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพผิวพรรณ (skin care) อีกทั้งส่งมอบให้แก่โรงงานรับจ้างผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมถึงเจ้าของแบรนด์ระดับโลก
รศ. ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ประธานบริหาร บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNPS ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และเลือกที่จะใช้คำว่า “natural hub” แทนคำอื่นๆ เพราะประเทศไทยควรเป็นฮับจากผลิตผลของธรรมชาติ หรือ “สมุนไพร” ซึ่งสมุนไพรหรือพืชแต่ละชนิดจะถูกสกัดออกมาเป็น “สารสกัด” และสารสกัดจะเป็นสารตั้งต้น (based) ของการแพทย์ การรักษา และการฟื้นฟู แม้แต่ยาแผนปัจจุบันบางชนิดยังต้องพึ่งพาสารสกัดเหล่านี้
SNPS มีส่วนช่วยกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการผลักดันสมุนไพรไทยอย่างไร และถ้าประเทศไทยจะเป็นฮับด้านนี้ ต้องชูจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อนอย่างไร ก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทายอะไรบ้าง ตลาดสมุนไพรไทยอยู่ตรงไหนของโลก ตลอดจนตอบคำถามสำคัญที่ว่า เมื่อกระแสโลกกำลังให้ความสนใจในสมุนไพรไทย แต่ทำไมผู้มีอำนาจของไทยยังไม่ปลดล็อก
ปลูกสมุนไพร ร่วมกับเกษตรกรกว่า 2 พันราย
รศ. ดร.พรรณวิภา เล่าความเป็นมาของบริษัทว่า ในปี พ.ศ. 2542 บริษัทได้ถูกก่อตั้งขึ้นในฐานะโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรไทย โดยผลิตสารสกัดจากสมุนไพร เพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพร และใช้ในเครื่องสำอาง โดยต่อยอดจากองค์ความรู้และงานวิจัยด้านเภสัชวิทยาและเภสัชเวชใหม่
“เราจะไม่เรียกว่าสมุนไพร แต่เราเป็น active phyto-innovention หรือ API”
รศ. ดร.พรรณวิภา อธิบายว่า บริษัทใช้พันธกิจองค์กรโดยเรียกเข้าใจง่ายๆ ว่า “4C 4ป” เนื่องจากทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยต้นน้ำคือการปลูกพืชสมุนไพร ส่วนกลางน้ำคือการสกัดเอาสารออกมา และปลายน้ำคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
- Cultivation – ปลูก ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ
- Creation – ปั้น นวัตกรรม ร่วมมือกับเครือข่ายนักวิจัย
- Conversion – เปลี่ยน พัฒนาและต่อยอด
- Contribution – ปัน แบ่งปันองค์ความรู้วิชาการให้เกษตรกร
เริ่มที่ต้นน้ำ ด้วยความที่บริษัทดำเนินธุรกิจมากว่า 25 ปี ทำให้มีเครือข่ายเกษตรกรกว่า 20 จังหวัด หรือกว่า 200 ครัวเรือน และเกษตรกรมากกว่า 2,000 ราย โดยเน้นไปที่การพัฒนาภูมิปัญญาการเพาะปลูกเพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพสูง เพิ่มรายได้ให้ชุมชน
“ถ้าจะปลูก ต้องไม่มั่ว ตรวจดิน ตรวจพันธุ์ สารสำคัญ เราทำ contract farming ให้เกษตรกรเข้าใจกระบวนการปลูก เช่น ให้สายพันธุ์ เราตรวจให้ ทำอย่างไรก็ตามให้ไม่มีสารตกค้าง หรือกึ่งๆ ออร์แกนิก คุยกับเกษตรกร สอนวิธีการเช็คดิน และตรวจสอบว่าพืชสมุนไพรนี้โอเคนะ และเอาพันธุ์มาตรวจดูว่าถูกต้อง”
“ไม่ได้มองว่ารากต้องโต-ผลต้องใหญ่ เราไม่ต้องการ แต่เราเอาผลมาวิเคราะห์ ตรวจสอบได้ สมุนไพรนี้ พันธุ์แบบนี้ เช็คได้เลยว่าปลูกพันธุ์นี้ ช่วงเวลาไหน ลอตไหน ผลผลิตเป็นอย่างไร…ถ้าคุณทำแบบนี้เราซื้อตลอดเวลา ทุกวันนี้เราสร้างเครือข่ายมา 25 ปีมันก็แน่นแฟ้น”
รศ. ดร.พรรณวิภา กล่าวต่อว่า บริษัทพัฒนาระบบการเพาะปลูกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปลอดเคมีอันตราย และสามารถช่วยสร้างคาร์บอนเครดิต รวมถึงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสมาร่วมสร้างสรรนวัตกรรมในการพัฒนาสมุนไพรอีกด้วย
“พืชบางตัว ที่อื่นปลูกไม่ได้ทั่วโลก มันคือภูมิปัญญาไทย ‘กระชายดำ’ มีแค่ประเทศไทยกับลาวบางส่วน สมัยก่อนพระธุดงค์ต้องมีกระชายดำแห้งใส่กระเป๋าไว้ เกิดพิษอะไรก็เอามาใช้ได้”
“องค์ความรู้และงานวิจัย” หัวใจพัฒนาสารสกัดคุณภาพ
ถัดมาเป็นกลางน้ำคือ “สารสกัด” รศ. ดร.พรรณวิภา อธิบายว่า “บริษัทลงทุนกับ technical test เยอะมาก และสูตรที่ดีมาก สรรพคุณดี สารสกัดทุกชนิดเราเปรียบเทียบคุณสมบัติกับต่างประเทศได้หมด แถมราคาถูกกว่า… แต่นักการตลาดบอกเราคิดผิด คุณไม่ควรเอาคุณภาพดี คุณต้องเอาคุณภาพเหมือนเขาและราคาลดลง ทำให้เรามานั่งคิดว่า ถ้าคิดอย่างนี้จะเป็นนักวิชาการที่ดีได้อย่างไร เราก็สู้ เพื่อคุณภาพ”
“คนที่ทำกลางน้ำ ต้องวางแผนว่าจะทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง จะทำ 0 ไป 10 ไม่ได้ ต้องสร้างอุปสงค์ ไปทำสารสกัดแล้วขายใคร ขายของไม่ได้ บางอย่างเป็นยา หมอยังไม่ใช้ เราต้องทำให้เป็นความต้องการของประเทศ ผู้บริโภค หมอ สร้างความน่าเชื่อถือให้สมุนไพร”
จุดแข็งของ SNPS คือการสร้างเครือข่ายทีมนักวิจัยไทยและต่างประเทศ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมสมุนไพรไทย โดยปัจจุบันพัฒนางานวิจัยกว่า 500 ผลงานรวมถึงจดทรัพย์สินทางปัญญามากมาย
“พูดถึงสารสกัด ไม่มีใครไม่รู้จักบริษัทเรา หน้าที่ของเราคือพิสูจน์ว่าที่มีคุณสมบัตินี้เพราะมีสารอะไร ซึ่งเราพิสูจน์ได้”
นอกจากการปลูกและองค์ความรู้ซึ่งนำไปสู่สารสกัดที่มีคุณภาพ ยังมีเรื่องโรงงานที่ต้องได้มาตรฐาน โดย รศ. ดร.พรรณวิภา ให้ข้อมูล โรงงานของบริษัทได้มาตรฐาน green factory แบบครบวงจร แห่งแรกในประเทศไทย (LEED gold) และมีการหมุนเวียนน้ำหรือของเหลือจากการสกัดสมุนไพรกลับมาใช้ (circular economy)
รศ. ดร.พรรณวิภา เสริมว่า บริษัทวิเคราะห์สารสกัดด้วยเครื่องมือ high performance liquid chromatography (HPLC) ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบทางเคมีที่เป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพรแต่ละชนิด หรือสารประกอบหลักของสมุนไพรนั้นๆ ทำให้ปัจจุบันมีทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรกว่า 400 ทะเบียน และมี API (active phyto-innovention) มากกว่า 300 รายการ
“เราพยายามขายสารสกัดในกลุ่มบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เราก็เล่าให้ฟังเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็เข้าใจสิ่งที่เราทำ และพอมีโอกาสได้เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สมุนไพร เราเทียบสารได้ สารสำคัญข้างในเหมือนกัน”
ติดหล่มกำกับ “ยา” และ “อาหารเสริม”
รศ. ดร.พรรณวิภา กล่าวต่อว่า สมุนไพรคือซอฟต์พาวเวอร์ของเศรษฐกิจไทย และเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ ขณะที่คนไทยเองยังไม่ค่อยนิยมมากนัก เพราะค่านิยมผลิตภัณฑ์นำเข้าที่เน้นการใช้สารเคมี ประกอบกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยที่มีกระบวนการหลายขั้นตอน และใช้ระยะเวลานาน
“สมุนไพรหลายตัวของเราขึ้นทะเบียนที่เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 1 เดือน แต่เรานำเข้ามาขายไม่ได้ เราผลิตส่งให้เขาเป็นสารสกัด แทนที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย”
รศ. ดร.พรรณวิภา เล่าอีกว่า “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่คนรู้จักอย่างมาก เดิมทีไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้เช่นกัน แต่ภายหลังสามารถขึ้นทะเบียนได้เพราะเกิดวิกฤติโควิด-19
รศ. ดร.พรรณวิภา กล่าวต่อว่า บริษัทมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง (B2C – business to customer) และขายสารสกัดให้บริษัทอื่นไปต่อยอดและส่งออก หลายครั้งบริษัทตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็น “อาหารเสริม” แต่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดของ “ยา” ทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขณะที่การขึ้นทะเบียนก็มีกฏเกณฑ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของ SNPS มี 5 ประเภท คือ (1) สารสกัดสำหรับเวชสำอาง (2) สารสกัดสำหรับอาหารเสริมและเครื่องดื่ม (3) น้ำมันสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร (4) วัตถุดิบสำหรับเวชสำอาง และ (5) สารสกัดสำหรับยา
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา มี 8 ประเภท ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานย่อย ดังนี้
- อาหาร – สำนักอาหาร
- ยา – สำนักยา
- วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน – กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย
- เครื่องสำอาง – กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย
- วัตถุเสพติดที่ใช้ทางการแพทย์ – กองควบคุมวัตถุเสพติด
- เครื่องมือแพทย์ – กองควบคุมเครื่องมือแพทย์
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพร – กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร
- ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม – กองส่งเสริมการประกอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ
รศ. ดร.พรรณวิภา ยังยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร “กวาวเครือขาว” ซึ่งช่วยเพิ่มไฟโตเอสโตรเจน และหลายประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ นำมาสกัดและใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการใช้
ฮับสมุนไพร ต้องแบรนด์ Made in Thailand
รศ. ดร.พรรณวิภา กล่าวต่อว่า ต่างประเทศใช้ natural product เป็นปกติ รวมถึงใช้ในทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมันที่ใช้มากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน รักษา และดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน กระทั่งประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศฝั่งตะวันตก ต่างกับประเทศไทยที่คนนิยมน้อย
นอกจากนี้ รศ. ดร.พรรณวิภา กล่าวต่อว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ถ้าจะส่งออกไปต่างประเทศ ต้องพัฒนาอยู่ในรูปแบบสารสกัดมาตรฐาน(standardize extract) แต่เมื่อส่งออกสารสกัดแล้ว ต่างประเทศต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดไทย แล้วประเทศไทยก็นำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาขายในประเทศ
“อย่างวิตามินซีธรรมชาติจากส้ม ฝรั่ง ต่างประเทศขาย 20,000-50,000 บาทต่อกิโลกรัม ประเทศไทยอาจเหลือ 5,000 บาท แล้วทำไมต้องไปซื้อของแพง ถ้าเราซื้อเพราะคิดว่าดีหรือไม่มีข้อมูล แต่ถ้าเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกันแล้วคุณสมบัติไม่ต่างกัน ยังจะซื้อไหม เพราะเราสามารถเอาข้อมูลวิทยาศาสตร์มาอธิบายให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ เขาจะยินดีที่ซื้อของที่ราคาถูกกว่านำเข้าไหม นี่คือข้อเท็จจริง”
“สารสกัดหลายตัวผลิตในประเทศไทย สมัยก่อนมีการส่งสมุนไพรแห้งไปสกัดข้างนอก ตอนหลังมีกฎหมายทำให้ไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ บ้านเราทำสารสกัดขาย 3,000-4,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่ญี่ปุ่นขาย 30,000 บาท บางชนิดเป็น 100,000 บาท โดยที่เขาอาจจะมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนมากกว่า ทำให้เขาได้ราคามากกว่าเรา ดังนั้นคนไทยเราจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อจะได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของไทย”
เมื่อถามว่า ต่างประเทศทำอย่างไรให้ natural product ได้รับการยอมรับ รศ. ดร.พรรณวิภา ตอบว่า “เขาส่งเสริมและทำการตลาดเข้มแข็ง โดยเฉพาะ post-marketing แต่บ้านเราคุม pre-marketing”
รศ. ดร.พรรณวิภา ย้ำว่า คุณภาพผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของไทยสู้กับประเทศอื่นได้ และถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ไทยถือว่ามีคุณภาพดีกว่าเกาหลี และด้านการตลาดก็ดีกว่าญี่ปุ่น แต่คนไทยเชื่อว่าสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศดีกว่าสินค้าที่ made in Thailand บริษัทจึงต้องวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างความภูมิใจให้คนไทยและคนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพร
ดังนั้น การจะทำให้ไทยเป็นฮับสมุนไพร หรือที่ รศ. ดร.พรรณวิภา เรียกว่า “natural hub” จะต้องเริ่มโดยการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการช่วยพัฒนาธุรกิจสมุนไพรไทยให้คล่องตัว เติบโต ได้มาตรฐาน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกได้”