ThaiPublica > เกาะกระแส > The Future of Wellness & Healthcare : จุดแข็ง จากอาหาร-การแพทย์ สู่ฮับการท่องเที่ยวด้านสุขภาพ (ตอนจบ)

The Future of Wellness & Healthcare : จุดแข็ง จากอาหาร-การแพทย์ สู่ฮับการท่องเที่ยวด้านสุขภาพ (ตอนจบ)

11 พฤศจิกายน 2022


ในวาระครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 สำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน ได้จัดเสวนา Thaipublica Forum 2022#2 หรือ เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘The Future of Wellness & Healthcare…สุขภาพที่ดี ชีวิตที่ดี’ นำเสนอความก้าวหน้านำองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้รู้ มาถ่ายทอดให้เกิดการพัฒนา วางแผน ปรับตัว และนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้บริการสุขภาพและการแพทย์ รองรับการมีสุขภาพที่ดี ชีวิตที่ดี ของประชาชนคนไทย และโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างอุตสาหกรรมบริการสุขภาพที่ดีครบวงจรให้พร้อม ทั้ง Wellness Tourism และ Global Medical & Wellness Hub โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของไทย ได้แก่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), แพทย์หญิงสร้อยเพชร ประเทืองเศรษฐ์ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ รศ.ดร. ปรียา ลีฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษางานวิจัย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

ต่อจากตอนที่ 1 :

  • The Future of Wellness & Healthcare :โอกาส ความเสี่ยงของไทยในบริการ “สุขภาพและการแพทย์”
  • ชูจุดแข็ง Wellness Hub ด้วย ‘พันธุกรรมบำบัด’

    ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่ Medical Tourism และ Medical Hub แต่ในมุมของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า แนวทางดังกล่าวไม่ก้าวหน้ามากพอเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการแพทย์ของโลก โดยยกตัวอย่างใกล้ตัวเรื่อง วัคซีนโควิด-19 ว่า

    “ผมเชื่อว่าหลายคนได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เลยกลับไปศึกษาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ว่าเขาใช้ Adenovirus โดยเอาไวรัสไข้หวัดมาทำให้มันไม่เป็นอันตรายแล้ว หรือที่เรียกว่า ‘Viral Vector’ โดยส่งไวรัสให้เข้าไปเจาะในเซลล์ของเรา จากนั้นก็ผลิตโปรตีนที่เรียกว่า ‘Spike Protein’ ที่หน้าตาเหมือนกับผู้ร้าย ระบบภูมิคุ้มกันเราก็รู้จักผู้ร้ายตัวนี้และไปฆ่าไวรัสโควิด-19 นี่คือวิธีการทำ Genetic Code คือให้ร่างกายเราต่อสู้กับภัยอันตรายของโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรม” 

    ขณะเดียวกัน ดร.ศุภวุฒิ ยังกล่าวถึงวิธีการของวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ว่า เมื่อร่างกายรับวัคซีนเข้าไปแล้วจะผลิตโปรตีนตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ เพราะแทนที่จะเอายาที่ผลิตจากบริษัทด้วยวิธีการ ‘กิน’ แต่ mRNA กลับสั่งให้ร่างกายเป็นโรงงานผลิตยาเอง

    แนวคิดเหล่านี้คือ ‘Gene Therapy’ หรือ ‘พันธุกรรมบำบัด’ สำหรับการรักษาพยาบาลในอนาคต โดยสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น อย่าง โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง หรือโรคทางพันธุกรรม

    ดร.ศุภวุฒิ เสริมว่า ปัจจุบันยังไม่รู้ว่าเมื่อไรประเทศไทยจะไปถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ และคิดว่ายังยากสำหรับประเทศไทย แต่หากประเทศไทยหาโอกาสได้จะถือเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการแพทย์ของไทย

    “ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่ผมหยิบยกขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา อาจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกเลยก็ได้ เพราะว่าเทคโนโลยี Adenovirus ที่พวกฉีดกับทั่วโลกประมาณ 20,000 ล้านโดส เรายังไม่เป็นอะไรเลย ปกติทุกคนจะกลัวว่าอย่ามายุ่งกับยีนของเรา แต่ครั้งนี้ผมฉีดเข้าไป 4 เข็มแล้ว ยังไม่เป็นอะไรเลย ก็ถือว่าโอเค”

    ดร.ศุภวุฒิ เปรียบเทียบให้เห็นภาพกับ ‘ประกันสุขภาพ’ ว่า เหตุผลที่คนต้องซื้อประกันสุขภาพ เพราะ ‘ความเสี่ยง’ ที่คนไม่รู้เรื่องการรักษา ดังนั้นถ้าประเมินความเสี่ยงของคนทั้งประเทศ และทุกคนซื้อประกันฯ ก็จะคุ้มครองความเสี่ยงของทั้งระบบได้

    “แต่ถ้าคุณสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ (Genome) โดยรู้ตั้งแต่วันแรกว่าคุณจะเป็นโรคอะไร เรื่องของความไม่รู้ ความไม่แน่นอน กับความเสี่ยงตามที่ผมกล่าว มันก็จะหายไปหมด หากทุกคนสามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงเป็นโรคอะไร โดยดูจากรหัสพันธุกรรม บางคนโชคดีไม่มียีนแบบนี้ โมเดลของระบบสาธารณสุขก็จะเปลี่ยนไปเลย เศรษฐกิจก็เหมือนกัน”

    อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องมุ่งไปสู่ Wellness Hub หรือ Medical Center ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพอย่าง ‘พันธุกรรมบำบัด’ ด้วย

    “ถามว่าในเรื่อง Gene Therapy อาจจะมีบางส่วนที่เราจะพัฒนาไปด้วยได้หรือไม่ ผมคิดว่ามีบ้างเหมือนกัน เช่น การถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทย ซึ่งเริ่มทำแล้ว ถ้ามีการเก็บรหัสพันธุกรรมของคนไทยได้เยอะ นำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยก็เป็นสิ่งที่ดี และถ้ายีนของคนไทยไปคล้ายคลึงกับยีนของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นตัวช่วยทำให้เทคโนโลยีด้าน Gene Therapy มาถึงเมืองไทยเร็วขึ้นได้หรือไม่ ผมหวังว่าจะเป็นไปอย่างนั้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ”

    ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

    ใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพเกษตรกรรม สู่ครัวโลก

    ดร.ศุภวุฒิ ยังนำภาคการเกษตรมาเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพ โดยยกตัวอย่างที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติให้ขุดโพแทสเซียมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาใช้ ซึ่งโดยปกติโพแทสเซียมใช้สำหรับทำปุ๋ยเคมี แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนปุ๋ยอย่างมาก นอกจากนี้การขุดโพแทสเซียมนับว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะเกลือโพแทสเซียมจะกระจายไปทั่วบริเวณเหมือง ส่งผลกระทบกับคุณภาพของดินและสิ่งแวดล้อม สุดท้ายดินบริเวณนั้นจะกลายเป็นดินเค็ม 

    ดร.ศุภวุฒิ อธิบายว่า ปัญหาถัดมาคือ ถ้าบอกว่าจะแก้ปัญหาภาคเกษตร โดยการใส่ปุ๋ยเคมีเข้าไปเรื่อยๆ ประเทศไทยก็จะไม่มีโอกาสเป็น “ออร์แกนิค” (Organic) เพราะติดกับการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้นถ้าอยากเปลี่ยนไปสู่ออร์แกนิคจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านประมาณ 3-4 ปี แต่ระหว่างนั้นผลผลิตหรือ (yield) ก็จะลดลงด้วย 

    “วิธีที่จะทำให้ yield ไม่ตกลง คือ หนึ่ง คุณจะต้องรู้สถานะของดิน โดยการสแกนดิน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่มีใช้ค่าใช้จ่าย ถามว่ารัฐบาลจะต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Food Kitchen Of The world หรือ Organic หรือไม่ ถ้าอยากไปในทิศทางนี้ คุณต้องเริ่มต้นจากการตรวจคุณภาพของดิน” 

    ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเวลาตรวจคุณภาพของดินจะต้องตรวจที่แล็บที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์ หรือหากใช้เทคโนโลยีใหม่ที่นำ AI เข้ามาคำนวณจะสามารถสแกนได้เสร็จภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง วิธีการนี้คือความเป็นไปได้ที่เกษตรกรไทยจะสามารถตรวจดินได้ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และทำให้รู้ว่าดินต้องการเติมปุ๋ยมากน้อยแค่ไหน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย 

    ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อเพาะปลูกเสร็จแล้ว เกษตรกรต้องพยายามตรวจสภาพของพืช แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีโดรน แต่ก็มีต้นทุนและกฎระเบียบกับองค์การบริการหารบินแห่งชาติ (FAA) ถัดมาคือเทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ต้องใช้ AI ในการอ่านข้อมูล เพื่อให้รู้ว่าพืชที่ปลูกมีหน้าตาอย่างไร หรือที่เรียกว่า Normalized Difference Vegetation Index (NDVI)

    ดร.ศุภวุฒิ ยังยกประเด็นน้ำในกระบวนการเพาะปลูกว่า ประเทศไทยควรคิดถึงเทคโนโลยีใหม่่ชื่อ “LASER LAND LEVELLING” ซึ่งจะปรับระดับหน้าดินโดยใช้เลเซอร์ วัดความเรียบของดิน เกลี่ยหนาดินให้เรียบ ใช้น้ำใน้อยที่สุดและข้าวทุกต้นยังได้รับน้ำ และให้ผลตอบแทนผลผลิตที่สูงขึ้น เพื่อสอดรับกับความต้องการไปสู่ Kitchen Of The World โดยเฉพาะด้านออร์แกนิค  

    “ถ้าเราจะสร้างภาพพจน์ของประเทศไทย ว่าเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีทางภาคการเกษตรได้ดีมากเหมือนกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมันจะช่วยดึงทั้งระบบเลย ตั้งแต่ดิน อาหาร  Wellness และอาหารเสริม ทั้งหมดจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศไทยใหม่ จากเดิมผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้า ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ กลายมาเป็นประเทศที่ทำด้านบริการด้านสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบ”

    ดร.ศุภวุฒิ ทิ้งท้ายว่า “สำหรับผมทุกอย่างที่เราพูดคุยกันมันต้องเริ่มมาจากดิน โดยมอนิเตอร์ดินกับพืชที่เพาะปลูก และที่สำคัญต้องใช้เทคโนโลยีในทุกระดับ”

    “ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมวิเคราะห์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ในยุคหลังที่มีการปฏิวัติด้านอุตสาหกรรม เรารู้ประเทศมหาอำนาจในปัจจุบันเป็นมหาอำนาจได้ เพราะเขาใช้เทคโนโลยีปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความมั่งคั่ง ความเจริญทางเศรษฐกิจ และเกิดอานุภาพทางการเมืองและการทหาร  มันมาจากเทคโนโลยีตัวเดียวเลย แต่ก็มีปัจจัยอื่นมาเสริมด้วย อย่างเช่น แรงงาน การลงทุน ทรัพยากร แต่ถ้าไม่มีเทคโนโลยี ก็จะสู้ประเทศที่นำเทคโนโลยีมาใช้ไม่ได้ อย่าง ประเทศอังกฤษเคยเป็นเจ้าโลกเมื่อ 200 ปีที่แล้วก็เพราะเทคโนโลยี ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าโลกได้ในตอนนี้ ก็เพราะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนเช่นกัน”

    ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ)

    อาหารไทยคือ soft power

    ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) กล่าวว่า นิยามของ wellness คือการใช้ชีวิต-ดำเนินชีวิตแล้วมีสุขภาพดี ซึ่งประเทศไทยทำให้เกิดขึ้นได้เพราะเป็น land of smile กล่าวคือ ไทยเป็นประเทศที่ต่างชาติมาแล้วรู้สึกมีความสุขเพราะคนไทยเฟรนด์ลี่ คนไทยมีน้ำใจอยากช่วยเหลือ จุดนี้เป็นจุดแข็งด้านแรกของประเทศไทย

    อีกจุดแข็งคือ Kitchen of the World โดยวิสัยทัศน์ของซีพีเอฟคือต้องการให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เพราะนอกจากความอร่อยแล้ว ประเทศไทยยังสามารถทำอาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการและทุกคนเข้าถึงได้ 

    “ทำไมเราถึงพร้อม เป็นเพราะประเทศไทยเราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกผัก ผลไม้ หรือพืชอาหารแทบทุกชนิดที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เราสามารถปลูกเองได้ และทำให้ดียิ่งขึ้นได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามา”

    ดร.ลลนา กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็น Robotics หรือ AI ว่าต้องเริ่มจากพัฒนาคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเกษตรและนักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร เพื่อต่อยอดผลผลิตให้มีคุณภาพ และนำพืช ผัก ผลไม้และสมุนไพรไทยมาใส่กับอาหาร

    ดร.ลลนา มองว่า “ถ้าเรานำสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ไทยมาใส่ในการปรุงอาหาร เราจะสร้างความแตกต่าง ประเทศอื่นเขาทำไม่ได้เพราะไม่มีวัตถุดิบเหล่านี้ เราถึงต้องส่งออกอาหาร เช่น ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ อาหารไทยจะดังไปทั่วโลก เพราะเรามีสมุนไพรที่ให้กลิ่น และฟังก์ชันที่เฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ที่ประเทศอื่นไม่มี”  

    “คนต่างชาติมองว่า ประเทศไทยเป็น heaven โดยเฉพาะคนที่เขาอยากจะมาพักผ่อน เขาก็เลือกประเทศไทยเพราะเรามีครบทุกอย่าง คนที่จะปลดเกษียณก็เลือกประเทศไทยเป็นเพราะเขารู้สึกว่าเขาใช้ชีวิตในบั้นปลายชีวิตที่ประเทศไทยแล้วมีความสุข ทุกอย่างเข้าถึงได้ มันสะดวกสบาย ทั้งทางด้านอาหาร ด้านการท่องเที่ยว และการแพทย์” 

    ดร.ลลนา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอาหารไทยเป็น soft power ที่ทุกคนนิยมไปทั่วโลก ขณะเดียวกันเราก็สามารถพัฒนาเรื่องสุขภาพและบริการทางการแพทย์ควบคู่ไปด้วย โดยใช้เทรนด์อาหารสุขภาพเป็นแรงขับเคลื่อน

    “Meat Zero” ต้นแบบ plant-based โดยซีพีเอฟ

    เมื่อถามว่าซีพีเอฟ ต้องการเห็นนโยบายสนับสนุนหรือบทบาทของภาครัฐอย่างไร ดร.ลลนา ตอบว่า “ผู้ผลิต  โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดใหญ่ทำได้เอง แต่การทำให้คนหันมาทานอาหารสุขภาพต้องอาศัยภาครัฐช่วยให้ความรู้ (educate) ยกตัวอย่างอาหารโปรตีนจากพืช (plant-based) ซึ่งซีพีเอฟผลิตภายใต้แบรนด์ Meat Zero ที่มีความอร่อยมาก texture หน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์ และมีโภชนาการดี”

    “เราสามารถทำได้ในทุกด้าน แต่ว่าผู้บริโภคต้องรับรู้ว่า ทำไมควรทาน plant-based มันดีต่อสุขภาพอย่างไร  ทุกภาคส่วนควรมาช่วยกันบอกว่า อาหารแบบไหนที่ดีต่อสุขภาพเรา”

    ดร.ลลนา กล่าวต่อว่า แบรนด์ Meat Zero เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2564 วางจำหน่ายในประเทศไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง และมีแผนจะส่งออกไปทั่วโลก และภายในระยะเวลามากกว่า 1 ปี แบรนด์ Meat Zero นับว่าประสบความสำเร็จเพราะตอบโจทย์ดานรสชาติ อีกทั้งบริษัทมีผู้เชี่ยวชาญในการปรุงอาหาร และนำเทคโนโลยีมาใช้การสร้างเส้นใยเป็น texture ให้เหมือนเนื้อสัตว์จริง ที่สำคัญคือมีโภชนาการตามที่ผู้บริโภคต้องการ

    “เราได้รับรางวัลระดับโลกอย่าง International Taste Institute ของประเทศเบลเยี่ยม โดยเราส่ง Plant-based Chicken Nugget (นักเก็ตไก่จากพืช) ไปที่ International Taste Institute ที่เบลเยี่ยม มีมิชลินสตาร์เชฟมากกว่า 200 คนที่ชิมสินค้าของเรา และเราเป็น plant-based แบรนด์เดียวที่ได้รับ  3 ดาว  ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะไม่มีแบรนด์อื่นได้รางวัลนี้” 

    “ถึงแม้เราได้รับรางวัลมากมาย แต่เรายังไม่พอใจในสินค้าของเรา เราจะทำให้มันดียิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งตอนนี้เราใช้โปรตีนจากพืช  ต่อไปเราก็พัฒนาโปรตีนจากแหล่งอื่นด้วย”

    ดร.ลลนา กล่าวต่อว่า เมื่อผู้บริโภครับประทาน plant-based แล้วยังมีส่วนช่วยโลกให้ยั่งยืน (sustainability) เพราะการเลี้ยงสัตว์มีการปล่อยก๊าซมีเทน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ แต่อาหารโปรตีนจากพืชแทบไม่มีในส่วนนี้ 

    ดร.ลลนา มองว่า ความต้องการด้านอาหารเพื่อสุขภาพจะเติบโตอย่างน้อย ‘double digit’ คล้ายกับ Plant-based ที่สามารถเติบโตได้ 15% ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีความตระหนักด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยจากโควิด-19 ที่คนต้องการสร้างภูมิคุ้มกันและดูแลตัวเอง ทำให้เป็นปัจจัยเร่งให้เทรนด์อาหารสุขภาพจะเติบโตในอนาคต

    อย่างไรก็ตาม ดร.ลลนา เสริมว่า ภาครัฐควรจะวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับวัตถุดิบและสมุนไพรต่างๆ เพื่อทำให้วัตถุดิบเหล่านี้เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ อย่างเวลาคนนึกถึงผลไม้ก็จะนึกถึงเบอรี่ แต่ไม่ได้นึกถึงสมุนไพรไทย ทั้งที่สมุนไพรไทยมีคุณค่าทางโภชนาการและวิตามินในปริมาณสูง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็น Top of Mind สำหรับคนไทยและต่างชาติ 

    “wellness ทำคนเดียวไม่ได้  เราต้องทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในอุตสาหกรรมอาหารหรือยา หรือผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ ต้องจับมือกัน และเอกชนกับภาครัฐก็ต้องมองไปในทิศทางเดียวกัน  ภาครัฐสนับสนุนนโยบายต่างๆ ส่วนเอกชนเองก็จะต้องซัพพอร์ทโรดแมปของรัฐบาล เพราะฉะนั้นในการสร้าง wellness hub ของประเทศชาติและของโลก มันเป็นอะไรที่ต้อง ‘ทีมเวิร์ก’ แล้วเดินไปด้วยกัน”

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร ประเทืองเศรษฐ์ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู BDMS Wellness Clinic

    ขยายการแพทย์ไทย ให้ครอบคลุม ‘การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน’

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร  ประเทืองเศรษฐ์ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู BDMS Wellness Clinic กล่าวว่า  “Traditional medicine ของไทยพร้อมเพราะว่าเรามีสมุนไพรที่สามารถเอามาทำยาได้โดยปลอดภัย เพราะฉะนั้นอย่างแรกที่ช่วยสนับสนุนในการเติบโตได้และเป็นจุดแข็งคือ Traditional medicine…นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีจุดแข็งการเป็นครัวของโลก และ Traditional medicine  หรือยาแผนโบราณ ซึ่งเป็นหนึ่งใน  wellness economy ที่ยังสามารถเติบโตได้  ถ้าได้รับการสนับสนุน ทั้งรัฐและเอกชน”

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังมีความพร้อมในเรื่องอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เพราะหลายพื้นที่มีศักยภาพ เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ ฯลฯ และมีชื่อเสียงเรื่องการตรวจสุขภาพในสายต่างชาวสิงคโปร์ ฮ่องกง เนื่องจากการแพทย์ไทยมีคุณภาพสูงและบริการดี

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร กล่าวถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวว่า นักท่องเที่ยวบางกลุ่มไม่ได้มาเพราะป่วย แต่เขาต้องการดูแลสุขภาพ ประเทศไทยต้องจัดกิจกรรมในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็น สปา การดูแลสุขภาพผิว การให้วิตามิน หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ ทั้งหมดนี้คือเวชศาสตร์ป้องกัน (medical prevention)

    ดังนั้น สถานที่ท่องเที่ยวอาจปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นพื้นที่ดูแลสุขภาพ หรือโรงแรมอาจจะมีคอร์สการดูแลสุขภาพตั้งแต่ 3 วัน 5 วัน และ 7 วัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เวลานานขึ้น สร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น 

    โอกาสเหล่านี้ทำให้ BDMS เห็นโอกาสในการขยายบริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมถึงการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน และกำลังขยายธุรกิจ wellness tourism ไปที่ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ และคาดว่าจะขยายไปที่เชียงรายในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มาพักผ่อน

    “BDMS เริ่มขยายเป็น preventive check up โดยเราสามารถตรวจลงไปลึกได้ถึงพันธุกรรม เพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ทั้งมะเร็ง โรคติดต่อ ซึ่งปัจจุบันการตรวจดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราจึงเห็นว่า preventive check up ยังเติบโตไปได้ โดยการตรวจครอบคลุมลงไปถึงตั้งแต่ก่อนเกิดโรคได้”

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร กล่าวถึงเป้าหมายของคลินิก BDMS ว่า ตั้งแต่ปี 2566-2568 บริการสุขภาพและการแพทย์จะเติบโตแบบก้าวกระโดด และเราต้องใช้โอกาสนี้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Best preventive ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากนั้นจึงเป็น Best preventive ส่วนเรื่องบริการก็ต้องเป็น Beyond Excellent Service ซึ่งเป็นมากกว่า Excellent Service 

    แพทย์หญิงสร้อยเพชร กล่าวต่อว่า คลินิก BDMS วางแผนที่จะดูแลเรื่องการบริการที่ดีขึ้น โดยล่าสุดเริ่มมีพันธมิตร เช่น กลุ่มไมเนอร์ และโรงพยาบาลในเครือ เพื่อให้บริการสุขภาพกับคนที่มาเที่ยวแบบครบวงจร โดยในปี 2565 บริษัทได้เช่าพื้นที่ย่านสวนลุม เพื่อวางแผนให้เป็น wellness hub โดยมองภาพใหญ่ของประเทศที่ต้องการให้ภาพลักษณ์จของประเทศไทย wellness hub ในสายตาของโลก

    “เรายากให้มองประเทศไทยเป็นภาพจำของ wellness และ Medical hub ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง  Wellness Real Estate, อาหารไทยอร่อย สถานที่ท่องเที่ยว เราได้ทำให้ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ เป็น Wellness View treat  ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่แข็งแรงมากที่จะทำให้ wellness economy ของไทยเติบโตได้”

    นอกจากนี้ยังมองถึงการดูแลสุขภาพของคนในกลุ่มผู้สูงอายุ (Silver Age) ที่มีกำลังจ่ายในการดูแลสุขภาพตัวเอง โดยปี 2566 จะวางแผนพัฒนา Wellness Real Estate และทำธุรกิจที่เกี่ยวกับ Traditional medicine  สำหรับคนกลุ่มนี้ 

    นอกจากนี้ แพทย์หญิงสร้อยเพชร มองว่า การผลักดันประเทศไทยให้เป็นฮับด้านสุขภาพจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกับภาครัฐด้วย เพราะ wellness เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทั้งการเงิน อาหาร การแพทย์ เพียงแต่ประเทศไทยต้องต่อยอดจุดแข็งไปสู่การเติบโตในอนาคต

    รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษางานวิจัย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน)

    อาหารเสริมไทย รักษามะเร็ง-HIV

    ด้าน รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษางานวิจัย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยหวังจะเป็นศูนย์กลางด้านอาหารเสริม (Food Supplement) จะต้องเริ่มจากทำข้อมูลวิทยาศาสตร์ และข้อมูลเชิงประจักษ์ออกมาให้ชัดเจน และพิสูจน์ให้เห็นว่าใช้งานได้จริง

    แต่ในมุมของ รศ.ดร.ปรียา มองว่า บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ดีต่อสุขภาพและการรักษาโรคต่างๆ ได้ โดยพัฒนาจากผลิตภัณฑ์พืช ผัก ผลไม้ไทยที่กินได้ 5 ชนิด คือ มังคุด บัวบก งาดำ ฝรั่ง และถั่วเหลือง จากนั้นใช้นวัตกรรมในการสกัดและผสมวัตถุดิบเข้าไปในสัดส่วนที่เหมาะสม และใช้ความรู้ด้านภูมิคุ้มกันบำบัดเข้ามาประกอบ

     รศ.ดร.ปรียา กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมี 2 ตัวหลัก คือ

    หนึ่ง การปรับระบบภูมิคุ้มกัน โดย รศ.ดร.ปรียา ยกเรื่อง ‘เทโลเมียร์’ ซึ่งเป็นหมวกหุ้มปลายโครโมโซมว่า ถ้าเราเพิ่มความยาวของเทโลเมียร์ได้ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะดีขึ้น ดังนั้นอาหารเสริมของบริษัทจะช่วยปรับสมดุลในส่วนนี้

    “เราเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉะนั้นผู้บริโภคสามารถซื้อรับประทานได้เอง…เราเคยเจอคนไข้ติดเชื้อ HIV และพัฒนาจนเป็นเอดส์ เราใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลคนกลุ่มนี้เกิน 5,000 คน จนตอนนี้เราใช้คำว่า ‘หายได้’ เชื้อที่มีแทบจะตรวจไม่พบ ค่อนข้างมีความหวังกับคนติดเชื้อ HIV แม้แต่ต่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ ที่จะทำให้เกิด funcional cure อย่างปลอดภัย เราสามารถจัดการเชื้อและเพิ่มภูมิคุ้มกันในกลุ่มเม็ดเลือดขาวให้มากที่สุดเพื่อสู้กับเชื้อพวกนี้ ปรากฏว่าเราทำได้สำเร็จ…คนไข้กลุ่มนี้อาจจะไม่เปิดเผยตัว แต่ทุกคนประสบความสำเร็จ”

    สอง การใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพิ่ม Killer T Cell หรือที่เรียกว่าเซลล์ทีพิฆาต โดยเซลล์นี้จะจัดการกับเซลล์เนื้อร้ายได้ค่อนข้างดี ขณะเดียวกันทำให้ผู้ป่วยที่รับการรักษาแผนปัจจุบันแบบเคมีบำบัดได้รับประทาน ปรากฏว่าร่างกายกลับฟื้นฟูได้เร็ว 

    “จากประสบการณ์ ไม่ว่า HIV หรือคนไข้ที่เป็นมะเร็ง ปรากฏว่าเขาสามารถหายจากโรคเดิมได้ ร่องรอยของการเป็นโรคเดิมแทบจะไม่เหลือเลย ขณะเดียวกันเขาฟื้นฟูสุขภาพร่างกายได้ค่อนข้างเร็ว โดยที่เราไปกระตุ้นเทโลเมียร์ ซึ่งเทโลเมียร์คือหมวกของโครโมโซมที่มีอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย แต่จะลดน้อยลงตั้งแต่วินาทีที่เราเกิด ถ้าเราสามารถกระตุ้นให้เทโลเมียร์ยาวขึ้นได้ สุขภาพร่างกายจะแข็งแรงขึ้น ร่องรอยของโรคเดิมแทบไม่มี”

    “โรคร้ายสองตัวคือ HIV และมะเร็ง ที่หลายคนหมดความหวัง แต่เราคิดว่าช่วยได้ และเราอยากเผยแพร่ออกไปสู่ต่างประเทศด้วย ซึ่งตอนนี้มีผลิตภัณฑ์บางตัวเช่นเรื่องการชะลอวัย ย้อนวัย ส่งไปขายที่จีน ทั้งที่จีนเป็นต้นตำรับของยาอายุวัฒนะ”

    รศ.ดร.ปรียา ย้ำว่า ประเทศไทยสามารแก้ปัญหาโรคที่จุดตั้งต้นของโรคได้แล้ว โดยปัจจุบันบริษัทส่งโมเดลรูปแบบการรักษาให้สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อยืนยันในรูปแบบงานวิจัย

    “เรามั่นใจในนวัตกรรมว่า เราสามารถจัดการโรคร้ายที่หมดหวังได้ ตอนนี้ผู้ป่วยมะเร็งไม่ต้องหมดหวังมาก เพราะบางครั้งการรักษาแผนปัจจุบันอาจทำให้ร่างกายทรุดไปเร็วจนตั้งรับไม่ได้ แต่ถ้าได้ตัวกระตุ้นให้เทโลเมียร์สร้างตัวได้เร็ว เซลล์จะแบ่งตัวได้อีก ทุกอวัยวะจะทำงานได้ดีขึ้นทั้งที่เราอายุเยอะขึ้น”

    รศ.ดร.ปรียา กล่าวต่อว่า การมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการกินที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้ากินของไม่มีประโยชน์ นอนน้อย เครียด กินน้ำตาลมาก พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย เทโลเมียร์ก็จะสั้นลงและเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคอ้วน ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย โรค NCD โรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ประสาท หัวใจและหลอดเลือด

    เมื่อถามถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านนี้ รศ.ดร.ปรียา ตอบว่า ประเทศไทยมี 2 อย่างที่พร้อม คือ สมุนไพรไทย และบุคลากรที่เก่งด้านการแพทย์ ดังนั้นในมุมของบริษัทจะพยายามผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านนี้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

    ท้ายที่สุด รศ.ดร.ปรียา ให้คำแนะนำเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการวางขายจำนวนมากว่า “บางครั้งเราอย่าไปตื่นเต้น ทุกตัวบอกมีสารเต็มไปหมด โดยธรรมชาติอาจมีจริง แต่พอผ่านเข้าสู่ร่างกายมันฟังก์ชั่นได้ไหม นี่คือสิ่งที่เราพยายามพิสูจน์กัน บ้านเรามีอะไรเยอะแยะ ถ้าเราร่วมกันทำวิจัยเยอะๆ ก็จะชัดเจนขึ้นว่าต่อให้สารนี้มีเยอะ แต่พอเข้าร่างกายแล้วฟังก์ชั่นไม่ได้ ไปตบตีกับตัวอื่นหรือเปล่า กลายเป็นไม่ช่วยอะไร”

    รับชม ThaiPublica Forum 2022#2 The Future of Wellness & Healthcare