ThaiPublica > เกาะกระแส > รถเบนซ์ EV ไฟไหม้ที่เกาหลีใต้ ใช้แบตเตอรี่จีน แต่โลกจะผลิตแบตเตอรี่ EV โดยไม่พึ่งจีนได้หรือไม่?

รถเบนซ์ EV ไฟไหม้ที่เกาหลีใต้ ใช้แบตเตอรี่จีน แต่โลกจะผลิตแบตเตอรี่ EV โดยไม่พึ่งจีนได้หรือไม่?

27 สิงหาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : YouTube

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้ที่ชั้นใต้ดินที่จอดรถยนต์ของอพาร์ทเมนต์ในเมืองอินชอน เกาหลีใต้ โดยไฟไหม้เริ่มจากแบตเตอรี่รถยนต์ Mercedez Benz หลังจากนั้น ไฟได้ลุกลามไปยังรถยนต์อีก 140 คัน หน่วยงานดับเพลิงของเกาหลีใต้แถลงว่า ไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์จะลุกนานเป็นชั่วโมง เครื่องดับเพลิงไม่สามารถดับไฟได้ เพราะเป็นการระเบิดที่มาจากความร้อนจากอุณหภูมิ (thermal explosion) ของแบตเตอร์รี่ลิเธียม ที่ฝังอยู่ใต้รถยนต์

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มประชาสังคมเกาหลีใต้ เรียกร้องให้ทางการใช้มาตรการความปลอดภัย ที่จะลดความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้ของรถยนต์ EV ในพื้นที่ที่พักอาศัย เช่น รัฐสนับสนุนการเงินในการย้ายสถานีชาร์ตแบตเตอรี่จากในอาคาร ไปตั้งในที่กลางแจ้ง รถยนต์ EV จอดในอาคารต้องชาร์ตแบตเตอร์รี่ไม่เกิน 90% และให้ผู้ผลิตรถยนต์เปิดเผยข้อมูลแบตเตอรี่

เวลาต่อมา บริษัทรถยนต์ในเกาหลีใต้ได้เปิดเผยข้อมูลแบตเตอรี่ของรถยนต์ EV ทั้งหมด40 โมเดล ที่ขายในเกลาหลีใต้ โดย 14 โมเดลใช้แบตเตอรี่ผลิตจากจีน หรือ 35% บริษัท Hyundai Motor เปิดเผยว่า มีรุ่นหนึ่งใช้แบตเตอรี่ CATL ของจีน ส่วนที่เหลือใช้แบตเตอรี่ LG Energy และ SK รถยนต์ EV ของบริษัท Kia ใช้แบตเตอรี่ LG Energy และ SK แต่บางรุ่นใช้ของ CATL บริษัท Mercedez Benz ได้เปิดเผยว่า รถยนต์ EV ที่ไฟไหม้ใช้แบตเตอรี่ จาก Farasis Energy ของจีน และบางรุ่นใช้แบตเตอรี่ของ CATL

มีจีนเท่านั้นที่ชนะการผลิตแบตเตอรี่ EV

บทความของ The New York Times (NYT) เรื่อง “โลกสามารถผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV โดยไม่มีจีนได้หรือไม่” ว่า การแข่งขันสำคัญในยุคปัจจุบันคือ ประเทศที่สามารถผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV จะเก็บเกี่ยวความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและทางภูมิรัฐศาสตร์ ไปได้นานหลายสิบปี และที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นผู้ชนะมีจีนเพียงรายเดียวเท่านั้น

แม้ประเทศตะวันตกจะลงทุนในเรื่องนี้หลายพันล้านดอลลาร์ แต่จีนก็ล้ำหน้าชนิดที่ประเทศที่เหลือในโลก อาจใช้เวลาหลายสิบปีที่จะไล่ตาม เช่น การทำเหมืองแร่หายาก การฝึกวิศวกร และการสร้างโรงงานผลิตรภยนต์ขนาดใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา Benchmark กล่าวว่า เมื่อถึงปี 2030 จีนจะผลิตแบตเตอรี่ได้มากเป็น 2 เท่าของประเทศในโลกที่เหลือผลิตรวมกัน

บทความ NYT กล่าวว่า จีนสามารถควบคุมได้ทุกขั้นตอนของการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ตั้งแต่การทำเหมืองแร่เอาวัตถุดิบจากใต้ดิน มาจนถึงการผลิตรถยนต์ EV ความได้เปรียบของจีนจะดำเนินไปได้อีกเป็นเวลานาน เนื่องจากแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ใช้แร่หายากในปริมาณ 6 เท่าของที่ใช้ในรถยนต์ดั้งเดิม จีนจึงอยู่ในฐานะว่า จะให้ประเทศไหนได้แร่หายากเป็นอันดับแรก และในราคาเท่าไหร่

แม้ว่าจีนจะมีแหล่งแร่หายากของตัวเองจำนวนไม่มาก แต่จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการเข้าครอบครองแหล่งแร่ ที่จะเป็นแหล่งอุปทานมีราคาถูก และสนองความต้องการได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้เข้าไปเป็นเจ้าของบริษัทเหมืองแร่ใน 5 ทวีป

บทความ NYT ระบุว่า จีนเป็นเจ้าของเหมืองแร่โคบอลท์ในคองโกแทบทั้งหมด ประเทศในแอฟริกาที่เป็นแหล่งแร่หายาก ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ทั่วไป ทำให้จีนครอบครอง 41% ของการทำเหมืองแร่โคบอลท์ของโลก นอกจากนี้ 73% ของโรงงานสกัดแปรรูปแร่โคบอลท์ก็ตั้งอยู่ในจีน และจีนครอบครอง 28% ของการทำเหมืองแร่ลิเธียมในโลก

แหล่งผลิตแร่นิกเกิล แมงกานีส และแกรไฟต์ มีมากกว่าแร่หายากอื่นๆ แบตเตอรี่ใช้แร่พวกนี้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่จีนก็ยังพัฒนาเป็นผู้ผลิตแร่พวกนี้ ที่สามารถสนองความต้องการได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนมีฐานะได้เปรียบ การลงทุนในเหมืองแร่นิกเกิลในอินโดนีเซีย ทำให้ในปี 2027 จีนจะเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของแร่นี้ขึ้นมา

ที่มาภาพ : https://www.catl.com/en/news/6176.html
ที่มาภาพ : https://www.catl.com/en/news/6280.html

โลกต้องพึ่งพาการสกัดแร่หายากจากจีน

บทความ NYT กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศไหนจะเป็นคนทำเหมืองแร่ก็ตาม ในที่สุด แร่ที่ขุดขึ้นมาแทบทั้งหมด จะถูกส่งไปสกัดและแปรรูปในจีน เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่จะมาทำแบตเตอรี่ กระบวนการสกัดแร่เกิดการสูญเปล่ามาก เช่น การสกัดแร่โคบอลท์หนัก 387 กก. จึงจะได้ผงโคบอลท์หนัก 0.45 กก.

การสะกัดแร่หายากใช้พลังงานมากและก่อปัญหามลพิษ แร่สำหรับทำแบตเตอรี่ต้องการพลังงานมากกว่า 3-4 เท่าตัว ของพลังงานในการผลิตเหล็กกล้าหรือทองแดง การสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเรื่องต้นทุนที่ถูก ด้านที่ดินและราคาพลังงาน ทำให้บริษัทจีนสามารถทำการสกัดแร่หายากได้ในปริมาณที่มาก และในต้นทุนถูกกว่าประเทศอื่น ทำให้โรงงานสกัดแร่นอกประเทศจีนต้องปิดกิจการลงไป

ดังนั้น จีนกลายเป็นประเทศผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่สุดของโลก ส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนมีวิธีการผลิตชิ้นส่วนของแบตเตอรี่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ถูก

ชิ้นส่วนสำคัญสุดของแบตเตอรี่คือขั้วไฟฟ้าแคโทด (cathode) และเป็นชิ้นส่วนที่ยากที่สุดในการผลิต ที่ผ่านมา แบตเตอรี่ที่ครองตลาดจะมีขั้วแคโทดประกอบด้วย นิกเกิ้ล แมงกานีส และโคบอลท์ เรียกว่า NMC Cathode แบตเตอรี่แบบนี้สามารถบรรจุพลังงานที่มากแต่ใช้พื้นที่น้อย ทำให้รถยนต์ EV มีระยะทางวิ่งได้ไกลมากขึ้น

แต่จีนได้ลงทุนเพื่อพัฒนาแคโทดแบบใหม่ขึ้นมา เรียกว่า LFP Cathode คือแคโทดที่ประกอบด้วยลิเทียม เหล็ก และฟอสเฟต แคโทดนี้ใช้แร่ที่มีอยู่แพร่หลายทั่วไป ได้แก่เหล็กกับฟอสเฟต มาแทนที่แร่หายากเช่น นิกเกิล แมงกานีส และโคบอลท์ แคโทด LFP ทำให้ประเทศอื่นสามารถแก้ปัญหการขาดแคลนแร่หายาก ในการผลิตแบตเตอรี่ แต่จีนก็ยังเป็นประเทศเดียวที่ผลิตแบตเตอรี่ LFP ทั้งหมด

สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกหนัก ที่มาภาพ : https://www.catl.com/en/news/6107.html

ไม่มีทางสำเร็จหากไม่ร่วมกับจีน

จีนเป็นประเทศที่มีรถยนต์ EV มากที่สุด แทบทุกคันใช้แบตเตอรี่ของจีน ปี 2015 รัฐบาลจีนออกมาตรการปกป้องผู้ผลิตแบตเตอรี่ ทุกวันนี้ รัฐบาลโจ ไบเดน ก็ใช้นโยบายเดียวกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในสหรัฐฯ

แต่ในอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงมาก แต่ทว่าส่วนต่างกำไรมีน้อย บริษัทจีนได้พัฒนาล้ำหน้าไปแล้วอย่างมาก นักวิชาการเยอรมันบอกว่า จีนสามารถสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในต้นทุนครึ่งหนึ่งของประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ เพราะค่าแรงต่ำและมีผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆมากกว่า

สถาบัน Center for Strategic and International Studies (CSIS) ได้เปิดเผยผลการศึกษาว่า จีนใช้เงินกว่า 130 พันล้านดอลลาร์ ในการส่งเสริมการพัฒนารถยนต์ EV เช่น หน่วยงานรัฐหันมาซื้อรถยนต์ EV ผู้บริโภคสามารถนำมาลดหย่อนภาษี ค่าจดทะเบียนรถใหม่ถูกลง การจัดที่จอดรถพิเศษ และการมีเครือข่ายสถานีชาร์ตที่กว้างขวาง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้จีนเป็นผู้นำการผลิต และออกแบบรถยนต์ EV

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศใด จะพึ่งตัวเองในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะมีค่าแรงถูกขนาดไหนก็ตาม หรือว่ามีหุ้นส่วนระดับโลกของประเทศอื่น เพราะไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในรถยนต์ EV ได้เลย หากไม่มีความร่วมมือกับจีน ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

เอกสารประกอบ

South Korea EV fires spark calls for stricter safety rules, August 13, 2024, asia.nikkei.com
Half of EV import in Korea run on Chinese batteries as EV fires rise, August 09, 2024, The Korea Economic Daily.
Can the World Make an Electric Car Battery Without China? May 16, 2024, nytimes.com