ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำไมญี่ปุ่นกำลังพ่ายแพ้การแข่งขันด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ EV

ทำไมญี่ปุ่นกำลังพ่ายแพ้การแข่งขันด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ EV

13 สิงหาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Plug-in_electric_vehicles_in_Japan#/media/File:Lawson-car.jpg

หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2023 ได้รายงานข่าวเรื่องยอดขายรถยนต์ญี่ปุ่นในจีน กำลังประสบปัญหายากลำบากมาก ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังหาทางรื้อแผนการขายรถยนต์ญี่ปุ่นในจีน หลังจากถูกผู้ผลิตรถยนต์ของจีนแย่งตลาดมากขึ้น

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า เวลา 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นตัวชี้ขาดว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นจะยังสามารถทำธุรกิจต่อไปในจีนได้หรือไม่

โดยที่จีนนั้นถือเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาเดียวกับบริษัทรถยนต์ตะวันตกคือกำลังสูญเสียตลาด ให้กับบริษัทรถยนต์ของจีน ที่กำลังเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ EV ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ทำให้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นต้องกำหนด “ระยะเวลา” (timeline)ชัดเจนในอนาคต ที่จะเปิดตัวนำรถยนค์ EV ออกมาสู่ตลาดในจีน

ยอดขายรถญี่ปุ่นในจีนลดลง

The Wall Street Journal รายงานว่า เดือนที่แล้ว Nissan Motor รายงานว่าในปีงบดุลที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม บริษัทคาดว่า จะขายรถยนต์ในจีนได้ทั้งหมด 800,000 คัน น้อยกว่าที่กำหนดไว้ 300,000 คัน ทาง Nissan กำหนดที่จะนำรถยนต์ EV และแบบ Hybrid ออกขายในจีนเร็วกว่ากำหนด ความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์ EV นี้จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของ Nissan

ส่วน บอกว่า การแข่งขันจากรถยนต์ EV ของจีน ทำให้ยากลำบากที่ Honda จะสามารถขายรถยนต์ปีนี้ในจีนได้ 1.4 ล้านคัน ตามที่วางแผนไว้

ส่วน Mazda Motor กล่าวว่า ในครึ่งปีนี้สามารถขายรถยนต์ได้ครึ่งหนึ่งของระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในปี 2025 ทาง Mazda จะเปิดตัวและนำรถยนต์ EV ออกขายในจีน ส่วน Toyota Motor ยอดขายลดลง 3% เนื่องจากรถยนต์ hybrid ยังได้รับความนิยมทั้งบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นและตะวันตก ประสบความสำเร็จในจีนมานานหลายสิบปี

หลังจากที่ตลาดรถยนต์จีนใหญ่กว่าสหรัฐฯ และกลายเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่สุดของโลก ปัจจุบันตลาดโดยรวมของจีนโตมาถึงจุดสูงสุดแล้ว

ส่วนที่มีการเติบโตคือตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและรถที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ใช้น้ำมันกับไฟฟ้า (plug-in hybrid) ที่ BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีน กำลังครองตลาดอยู่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปี 2023 จะเป็นปีแรกที่รถยนต์ยี่ห้อของจีนมียอดขายมากกว่ารถยนต์ยี่ห้อต่างประเทศ

ครึ่งปีแรกของ 2023 รถยนต์ของจีนครองสัดส่วนตลาด 54% จาก 48% ของครึ่งแรกในปี 2022 จีนเองกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2025 ต้องการให้ 25% ของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ เป็นรถยนต์แบบ EV และแบบ plug-in hybrid แต่จีนสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้แล้วตั้งแต่ปี 2022

Nissan เคยเป็นบริษัทแรก ที่นำรถยนต์ EV ออกสู่ตลาด ที่มาภาพ : https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Japan-EV-sales-just-2-of-domestic-market-trailing-China-and-Europe

ทำไมญี่ปุ่นตามหลังด้านรถยนต์ EV

บทความของนิยตสาร The Economist ชื่อHow Japan is losing the global electric-vehicle raceกล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นเคยสร้างตวามสมบูรณ์แบบให้กับการผลิตรถยนต์ เป็นชาติที่บุกเลิกด้านการผลิตแบบลดการสูญเปล่าทางทางทรัพยากร หรือ just-in-time และเป็นผู้นำการพัฒนารถยนต์แบบ hybrid แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงการพัฒนาก้าวต่อไปคือการมุ่งสู่รถยนต์ EV ญี่ปุ่นกลับวิตกกังวลในเรื่องนี้

ที่ผ่านมา ทั้งญี่ปุ่นและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ตามหลังการแข่งขันไปสู่รถยนต์ EV ที่กำลังเป็นผลิตภัณฑ์เติบโตเร็วที่สุด ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในปี 2022 รถยนต์ไฟฟ้า EV และรถยนต์ plug-in hybrid ครองตลาด 13% ของรถยนต์ที่ขายได้ทั่วโลก เพิ่มจากส่วนแบ่งตลาด 2.6% ในปี 2019 ในจีนสัดส่วนตลาดรถยนต์ EV มีถึง 20% แต่ในญี่ปุ่นมีแค่ 2% เท่านั้น

บริษัทที่เป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ EV คือบริษัทที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่อย่างเช่น Tesla และ BYD รวมทั้งยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์เดิมเช่น Volkswagen แต่ปรากฏว่า ไม่มีบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่เป็นแนวหน้าในการผลิตรถยนต์ EV ไม่มีรถยนต์ EV ของญี่ปุ่น ที่ติดอันดับยอดขายรถยนต์ EV มากสุด 20 อันดับของโลก แม้ว่าเมื่อสิบปีมาแล้ว ทั้ง Nissan และ Mitsubishi เคยเป็นบริษัทแรก ที่นำรถยนต์ EV ออกสู่ตลาด ในปี 2022 Toyota มียอดขายรถยนต์ EV แค่ 24,000 คัน จากยอดขายรถยนต์ทั้งหมด 10.5 ล้านคัน ขณะที่ Tesla ขายรถยนต์ EV ได้ 1.3 ล้านคัน

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การชะงักงันของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของญี่ปุ่นอาจจะกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม สภาพคล้ายกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ญี่ปุ่นครองตลาดในระยะแรกต่อมาก็พลาดโอกาส เมื่อเกิดแนวโน้มใหม่ในตลาดต่างประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นคู่แข่งธรรมดา ปัจจุบันญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์มีสัดส่วนเท่ากับ 20% ของการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่น และสร้างงาน 8% ของการจ้างงานทั้งหมด การตกต่ำของอุตสาหกรรมรถยนต์ จะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม

ญี่ปุ่นกับสภาพ Innovator’s Dilemma

แต่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นก็เร่งเครื่องในการไล่ตามคู่แข่ง Sato Koji ได้รับเลือกเป็น CEO คนใหม่ของ Toyota ด้านหนึ่ง เพื่อให้ผลักดันเรื่องรถยนต์ EV ในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกแก่สื่อมวลชน Toyota ประกาศแผนงานที่จะเปิดตัวรถยนต์ EV ทั้งหมด 10 รุ่น และตั้งเป้าขายรถยนต์ EV ในปี 2026 ให้ได้ 1.5 ล้านคัน Honda ก็ประกาศจะเปิดตัวรถยนต์ EV 19 รุ่นในปี 2030 Nissan ก็จะเปิดตัวรถยนต์ EV 19 รุ่น ในปี 2030

บทความของ The Economist วิเคราะห์ว่า การที่ญี่ปุ่นเริ่มต้นช้าเรื่องรถยนต์ EV สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างคลาสสิกของ “สถานการณ์ยากลำบากในทางเลือกของนักนวัตกรรม” หรือ innovator’s dilemma คือผู้นำอุตสาหกรรมลังเล ที่จะหันยอมรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาบ่อยทำลายอุตสาหกรรมเดิม ที่ตัวเองเป็นผู้นำอยู่

ตัวอย่างในกรณีบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นคือ การเป็นผู้นำด้านรถยนต์ hybrid ที่รวมเครื่องยนต์แบบสันดาปกับมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ระบบการชาร์จมาจากการทำงานของระบบเบรก ไม่ใช่การชาร์จจากสถานีภายนอก พวกนักวิศวกรญี่ปุ่นเองก็คิดว่า รถยนต์ EV มีกลไกการทำงานที่ง่ายๆ ขณะที่ระบบ hybrid มีความซับซ้อนมากกว่า นอกจากนี้ ก็กังวลในเรื่องผลกระทบรถยนต์ EV ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทาน เพราะรถยนต์ EV ใช้สิ้นส่วนน้อย

ขณะที่รัฐบาลจีน สหรัฐฯ และในยุโรป มีนโยบายและมาตรการสนับสนุนรถยนต์ EV ให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รัฐบาลญี่ปุ่นกลับดำเนินน้อยกว่าในเรื่องการอุดหนุนรถยนต์ EV

รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้รถยนต์ที่ขายในปี 2035 ทั้งหมดเป็นรถยนต์ EV แต่ก็รวมถึงรถยนต์ hybrid สถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ของญี่ปุ่น มีเพียง 1 ใน 4 ของเกาหลีใต้เท่านั้น

การตั้งข้อสงสัยต่อเทคโนโลยีรถยนต์ EV ทำให้ญี่ปุ่นมีท่าทีระมัดระวัง ผู้ผลิตรถยนต์และเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นยังตั้งคำถามอยู่ว่า “ผู้บริโภคต้องการรถยนต์ EV จริงหรือ” รถยนต์ EV ให้คุณประโยชน์จริงหรือกับผู้บริโภค และรถยนต์ EV เป็นหนทางดีที่สุดหรือในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นขยับตัวช้าไปที่จะไล่ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในตลาดที่พัฒนาแล้วคนพวกนี้เหมือนพวกโชกุนในสมัยโตกุกาวา ที่ญี่ปุ่นปิดประเทศและปฏิเสธที่จะมองเห็นว่า อะไรเกิดขึ้นในโลก ครั้งหนึ่ง รถยนต์ญี่ปุ่นได้ชื่อว่ากินน้ำมันน้อยอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสนับสนุนการรักษาสภาพแวดล้อม แต่สิ่งนี้ก็เสี่ยงที่รถยนต์ญี่ปุ่นจะเป็นกลายเป็นตัวอย่างของการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

บทความของ The Economist บอกว่า การสร้างรถยนต์ EV ที่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์แต่ที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องของฮาร์ดแวร์ แม้บริษัทถยนต์ญี่ปุ่นจะเร่งรีบมากขึ้น ในเรื่องรถยนต์ EV แต่ก็ได้เสียลูกค้าไปแล้ว การที่ลูกค้าหันไปซื้อรถยยนต์ EV หมายถึงการเลิกเป็นลูกค้า Toyota หรือ Honda

เอกสารประกอบ
Japan Carmakers See China Fight a Dire, The Wall Street Journal, 10 August 2023.
How Japan is losing the global electric-vehicle race, April 16, 2023, economist.com