ThaiPublica > เกาะกระแส > จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ผลักดัน ‘สังคมโปร่งใส’ ด้วยวัฒนธรรมเปิดเผยข้อมูล ลดคอร์รัปชัน

จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ผลักดัน ‘สังคมโปร่งใส’ ด้วยวัฒนธรรมเปิดเผยข้อมูล ลดคอร์รัปชัน

28 สิงหาคม 2023


การระดมความคิดเรื่อง “ก้าวสู่สังคมรักธรรมชาติและโปร่งใส” เป็นหัวข้อเสวนาภายใต้ “โครงการจุดประกายการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเพิกเฉยสู่สังคมชาญฉลาด” เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวข้าม “กับดัก” ความเพิกเฉย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และการเสริมการเรียนรู้ในมิติของการทำความเข้าใจกับเงื่อนไขที่ตนและประเทศของตนมีอยู่ โดยการเสวนาในครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนต่อจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมคนไทย 4.0 โดยมี ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ราชบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ ราชบัณฑิตยสภา และอาจารย์คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะหัวหน้าโครงการและเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา อธิบายถึงเหตุผลของการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องนี้กล่าวว่า เมื่อพูดถึงหัวข้อสังคมโปร่งใสและความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ทำให้นึกถึงสารคดีเรื่องหนึ่งของประเทศอิสราเอล โดยเนื้อหาคือเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไปเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม และได้เห็นตัวฆาตกร แต่ด้วยความกลัวเลยไม่กล้าบอกใคร ต่อมามีนักเทศน์คนหนึ่งให้บทเรียนและสอนเด็กว่า ‘การที่เราไม่มีความกล้าทำในสิ่งที่ถูก คือสิ่งที่ผิด’ ดังนั้นความไม่กล้าที่จะบอกว่าใครเป็นคนฆ่า ท่ากับว่าเราเป็นคนฆ่าเขา

ศ. ดร.ผลิน กล่าวถึงหัวข้อการเสวนาว่า ทั้งประเด็นความโปร่งใสและความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เป็นเสมือนหนึ่งบันไดขั้นแรกของการพัฒนาประเทศ และการแลกเปลี่ยนมุมมองในครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาประเทศต่อไป

วัฒนธรรมไทย ‘ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น’

ศ.วิชา มหาคุณ กล่าวว่า ความโปร่งใสที่แท้จริงมาจาก “หลักธรรมาภิบาล” กล่าวคือ “เรื่องที่จะต้องทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้” ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลกสมัยใหม่ ไม่มีการปกปิดหรือมีเรื่องลับลมคมใน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ความเคลือบแคลงสงสัย

“เรามักจะพูดว่าเราสุจริต ซื่อสัตย์ เราไม่รับของใคร ไม่ลักเล็กขโมยน้อย ไม่ทำอะไรในทางที่ไม่ดีงาม แต่อะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะฉะนั้น ระบบธรรมาภิบาล หรือ Good Governance บอกว่าคุณจะต้องพิสูจน์ด้วยการที่ไม่มีอะไรลับลมคมในในตัวของคุณ”

อย่างไรก็ตาม คำว่าความโปร่งใส มาพร้อมกับคำว่า ‘สุจริต’ แต่มนุษย์เราจะอ้างแต่ความสุจริตไม่ได้ เพราะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองสุจริตด้วย เช่น ระบบการตรวจสอบทรัพย์สิน วัฒนธรรมการเปิดเผย ไม่มีวัฒนธรรมในทางปกปิด

ศ.วิชา กล่าวโดยยกตัวอย่างระบบขององค์กรว่า องค์กรที่สามารถจะตรวจสอบได้ถือเป็นองค์กรที่ทุจริตน้อย อย่างประเทศที่มีการตรวจสอบด้วย CPI (Corruption Perception Index) โดยใช้กระบวนการตรวจสอบ ถ้าทุจริตน้อยก็แสดงว่ามีความโปร่งใสมาก ถ้าทุจริตมากแสดงว่ามีความโปร่งใสน้อย

ศ.วิชา กล่าวต่อว่า ความโปร่งใสในประเทศไทย อาศัยกลไกพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร แต่บ้านเราไม่ได้ใช้ระบบโปร่งใส เพราะประเทศไม่มีระบบที่ชัดเจนในเรื่องข้อมูลสาธารณะ (Public Information) และประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ (The Right to Access to Information) ขณะเดียวกันข้อมูลสาธารณะจะทำให้การทุจริตลดน้อยลง และทำให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลของรัฐเท่ากับที่รัฐรู้ หรือเท่ากับที่คณะรัฐบาลรู้ เช่น งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่ได้รับสัมปทาน ตลอดจนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

“น่าเสียดายว่ากฎหมายที่ประเทศไทยเป็นคือ ‘ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น’ แทนที่จะให้คนได้รู้ กลับต้องไปขอโดยอ้างว่าเป็นความลับของทางราชการ แสดงว่าคุณไม่อยากจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขัดหรือแย้งในตัวของตัวเอง และถ้าหน่วยงานนั้นไม่เปิดเผยและไม่ยอมเปิดก็ต้องไปที่ศาลปกครอง แสดงให้เห็นความยุ่งยากของประเทศไทย”

ความโปร่งใสต้านคอร์รัปชัน

ศ.วิชา กล่าวถึงความเชื่อมโยงของความโปร่งใสและธรรมชาติว่า ปัจจุบันมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ สาเหตุหนึ่งมาจากความไม่โปร่งใสของหน่วยงานของรัฐและของรัฐบาล

ศ.วิชา ยกตัวอย่างระบบธรรมาภิบาลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เรียกว่า Basel Institute on Governance โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญมากคือ Anti-green corruption เนื่องจาก green corruption เป็นการคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นการต่อสู้กับ green corruption เป็นการต่อสู้ที่ยาก และราคาที่ต้อยจ่ายสูง เช่นการไปสร้างเขื่อน ทำให้ต้องอพยพและทำลายป่าไม้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลเพื่อความโปร่งใส เพราะรัฐบาลมองว่าข้อมูลสาธารณะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยบุคคลที่เปิดเผยข้อมูลจะได้รับความคุ้มครอง เรียกว่า ผู้เป่านกหวีดแจ้งเหตุ (Whistle Blower)“สังคมของฝรั่งเป็นสังคมที่อยากจะเรียนรู้ เข้าถึง และทัดเทียมเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล แต่แนวความคิดนี้ไม่อยู่ในหัวของคนไทย ถ้าคุณเอาเรื่องเลวร้ายขององค์กรไปเปิดเผยแสดงว่าคุณเป็นคนชั่วมาก ทำลายองค์กร…ความเป็นส่วนตัวของประเทศเรารุนแรงมาก ถึงขั้นฟ้องร้องกัน”

เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย ศ.วิชา เสริมว่า…

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมปกปิดเป็นหลัก ถ้าเราไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) และ ความคิดในใจ (Mindset) ในเรื่องของข้อมูลที่เราควรจะต้องยึดหลัก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” เราก็ยังอยู่ในกระบวนการที่ยังมะงุมมะงาหราอยู่เช่นนี้

“ในความคิดของข้าราชการไทยและผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ ยิ่งไม่อยากให้ใครรู้เรื่อง ทุกคนพยายามกันตัวเอง หากมีอะไรบกพร่องหรือมีคนรู้ว่าเราทำอะไรผิดหรือพลาด เราจะได้แก้ตัวได้ทัน หนีได้ หาทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะเราเป็นสังคมจับผิด และสังคมที่เอาความชั่ว ไม่ได้เอาความดีเป็นหลัก ยิ่งอยากรู้มากเท่าไรยิ่งบอกว่าเราผิดปกติ คนดีคือคนที่ไม่ยุ่งกับคนอื่น”

อำนาจอธิปไตย ให้สิทธิประชาชน

ศ.วิชา มองว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จากนั้นขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้นำว่าจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดของประชาชน

“บ้านเราไม่เข้าใจในเรื่องของข้อมูลกลาง เข้าใจข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง เพราะคิดว่าสามารถเปิดเผยได้เฉพาะคนที่เกี่ยวข้อง แต่สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลไม่ใช่สิทธิดูเฉยๆ แต่เป็นสิทธิที่จะใช้ข้อมูลนั้นเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ”

“กระบวนการเข้าถึงข้อมูลเป็นสิทธิซึ่งประชาชนต้องได้รับ ไม่ใช่หมายถึงสิทธิที่รัฐต้องให้ และเป็นสิทธิของที่ประชาชนต้องใช้ในเรื่องของการตรวจสอบ ประชาชนถือกำเนิดมาด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มันมาจากอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เมื่อเข้าถึงได้แล้วต้องพัฒนาไปสู่การทำให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพและทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด”

สังคมจับผิด รัฐอ้างความมั่นคง

รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กล่าวว่า ผู้นำประเทศไทยไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กลไกความโปร่งใสมีประสิทธิภาพ ทำให้หลายกรณีไปจบที่กรใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และกฎหมายแข่งขันทงการค้า ยิ่งกว่านั้นกลไกเกล่านี้อยู่ภายใต้คำว่า ‘ความมั่นคง’ และเมื่อตัดสินเรื่องหนึ่งเป็นบรรทัดฐานแล้วก็ไม่มีการประกาศอย่าง

รศ. ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า การจะเข้ามาตรวจสอบโครงการ-การตัดสินใจของรัฐจำเป็นต้องมีข้อมูล แต่กว่าจะได้ข้อมูลบางครั้งใช้เวลาถึง 1-2 ปี โดยเฉพาะในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้คนบางกลุ่มไม่กลัวกฎหมาย

“ตอนระบบ e-Auction ออกมาใหม่ ก็ตื่นเต้นว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ สุดท้ายแก้ไม่ได้ เพราะกระบวนการฮั้วประมูลเกิดขึ้นก่อน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจไม่มี สุดท้ายประชาชนก็ไม่เชื่อในองค์กรอิสระหรือระบบอะไรเลย แม้เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานจะทำถูกต้อง แต่เนื่องจากความไม่เชื่อใจของประชาชนก็จะคอยจับผิด”

รศ. ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า ยุคหนึ่งบอกว่าหน่วยงานราชการต้องมีฐานข้อมูลเป็นของตัวเอง เลยทำฐานข้อมูลกันถ้ารวมกันทั้งประเทศ แต่ปรากฏว่าฐานข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้เปิดเผยสู่ประชาชน มีการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่การจัดจ้างทำฐานข้อมูล หลายหน่วยงานทำแล้วก็ใช้งานไม่ได้

รศ. ดร.นวลน้อย เล่าอีกว่า “เคยมีลูกศิษย์ท่านหนึ่งมาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจในงบประมาณของกรรมาธิการในสภา เขาก็ขอรายงานการประชุมเพื่อดูเวลาดีเบตว่าโครงการแต่ละอย่างมีการถกเถียงกันว่าอย่างไร ปรากฏว่าไม่ให้ ต้องไปผ่านกระบวนการการอุทธรณ์ และให้ด้วยวิธีการเข้าไปนั่งในห้องประชุมรัฐสภาแล้วจดออกมา เรื่องนี้ได้เกิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่วันนี้การพัฒนาไม่ได้ไปถึงไหนเลย”

“สมัยก่อนเคยไปทำเรื่องการคอร์รัปชันในหน่วยงานหนึ่ง เขาเชิญเราไปประชุมก็นึกว่าเขาสนใจงานของเรา แต่พอเริ่มเท่านั้นแหละ เขาต่อว่าดิฉันเสียไม่มีดีเลยว่า หน่วยงานเขาตั้งมาเป็น 100 ปี ฉันมาทำลายเขา แต่ก็ตอบโต้ไปว่าคนที่ทำลายหน่วยงานไม่ใช่ดิฉัน แต่เป็นพวกคุณที่ทำลายกันเอง ปัญหาที่เกิดไม่ได้บอกสักคำว่าดิฉันพูดผิด”

หากยึดตามหลักการเปิดเผยข้อมูล รศ. ดร.นวลน้อย มองว่า สังคมไทยมีปัญหาระหว่างข้อมูลสาธารณะกับข้อมูลส่วนบุคล โดยเฉพาะนักการเมืองที่แยกข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ และลืมไปว่าความเป็น ‘สาธารณะ’ มาจากภาษีและทรัพยากรของประเทศ ไม่ใช่ของส่วนตัว

สิ่งแวดล้อม-ที่ดิน คือข้อมูลสาธารณะ

ปัญหาถัดมาคือ ความไม่เข้าใจว่าข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือข้อมูลสาธารณะ โดย รศ. ดร.นวลน้อย ยกปัญหาที่ดินที่สร้างความเดือดร้อน เห็นได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อถึงเวลาจัดเก็บกลับมีเกษตรกรเต็มไปหมด ซึ่งเป็นวิธีการเลี่ยงที่นำไปสู่ปัญหาที่ดินที่หมักหมม

“ที่ดินเป็นทรัพยากรสาธารณะหรือไม่ หลายประเทศที่เจริญแล้วเขาให้คุณครอบครองที่ดินเป็นระยะเวลา ที่ดินไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคล มันเป็นทรัพยากรสาธารณะของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ตอนนี้เราดูโฉนดได้หรือไม่ ใครเป็นคนครอบครอง ชื่อเปิดเผยได้หรือไม่ในฐานะที่คุณได้รับสิทธิในการครอบครองทรัพยากรสาธารณะ หลายคนบอกว่าไม่ได้ เพราะมันเป็นข้อมูลส่วนบุคคล”

“ที่ดินเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือไม่ในเมื่อคนจำนวนมากไม่มีที่ดิน ยิ่งเกิดในยุคหลังๆ ที่ไม่ได้มีพ่อแม่รวยโอกาสที่จะหาที่ดินก็ยากเย็น หากเราเปิดเผยข้อมูลได้ก็จะเห็นว่าที่ดินเป็นการสะสมความมั่งคั่งในแบบดั้งเดิม”

เมื่อไม่ได้มีฐานข้อมูลเดียวและไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงก่อให้เกิดกาารทุจริตคอร์รัปชัน เพราะไม่มีใครเข้ามาตรวจสอบ แต่หากข้อมูลโปร่งใส คนที่จะกระทำความผิดจะกลัว

เมื่อถามว่ามีความหวังไหม รศ. ดร.นวลน้อย ตอบว่า “มีหวัง” และพูดต่อว่า คนรุ่นใหม่ยิ่งฉลาดขึ้นเรื่อยๆ เขาเติบโตในยุคเทคโนโลยีที่เข้าถึงความรู้ได้ง่าย และถ้ามี open data ก็จะยิ่งทำให้เขาก้าวไปสู่จุดที่สูงกว่านี้มากขึ้น เพราะทำให้คนรุ่นใหม่มีข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์ เรียนรู้ และเห็นอะไรใหม่ๆ เพียงแต่ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจยอมรับ

“คุณคิดว่าเขาเป็นคนนอก แต่คุณปิดไม่ได้หรอก ยังไงเดี๋ยวคุณก็แก่ตายหมด หากคุณให้เขาเข้าถึงอุปกรณ์ ข้อมูล หรือระบบ เราจะเห็นประเทศไทยเป็นประเทศไทยใหม่ในอีกแบบหนึ่ง”

ACT AI ก้าวแรกสู่สังคมโปร่งใส

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กล่าวว่า ทุกหน่วยงานรัฐต้องมีคำว่าโปร่งใสอยู่ในพันธกิจ แต่ไม่ยอมเปิดเผย ทำให้ทุกวันนี้เวลาไปขอข้อมูลเป็นเหมือนขอทาน

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวถึง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่ต้องการสร้างความโปร่งใสและเปิดเผยมากที่สุด แต่หลายข้อมูลกลับไม่โปร่งใสเสียเอง เช่น ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเปิดเผยแค่ 180 วัน ทั้งที่เจตนารมณ์นี้คือการให้นำมาเปรียบเทียบระหว่างตอนเข้ารับตำแหน่งและหลังออกจากตำแหน่งว่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ หรือกระทั่งการดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บ เนื่องจาก ป.ป.ช. กังวลว่าจะมีคนดาวน์โหลดมาเก็บ เลยเขียนเว็บไซต์ใหม่ให้ห้ามดาวน์โหลดมาเก็บ ประชาชนไม่สามารถดาวน์โหลดได้

“กระบวนการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีความยั่งยืนคือ การเปิดเผยข้อมูล คุณอยากให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการคอร์รัปชัน เมื่อประชาชนลุกขึ้นมา คำถามต่อไปก็คือ ลุกขึ้นมาแล้วยังไงต่อ เอาข้อมูลที่ไหนไปร้องเรียน พอขอ ก็ไม่ให้ เช่น ถนนที่หน้าบ้านพังต้องการทราบว่าเพราะอะไร ก็ต้องรออีก 3 ปีถึงจะรู้เรื่อง หรือบางทีก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำ”

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวในฐานะผู้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม ACT AI ฐานข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันว่า ACT AI ได้ใช้ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดย้อนหลัง 5 ปี เป็นข้อมูลสาธารณะซึ่งปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (E-GP) และทำให้ประชาชนค้นหาข้อมูลได้ง่ายโดยใช้แค่คีย์เวิร์ดของประเด็นที่ต้องการค้นหา และไม่จำเป็นต้องใช้เลขรหัสโครงการ 13 หลัก ทั้งนี้ ACT AI มีผู้ใช้งานประมาณ 60,000 คน ยอดเข้าชมเว็บไซต์ในแต่ละเดือนประมาณ 10,000 ราย นับว่าผู้ใช้งานยังน้อยเทียบกับปริมาณการคอร์รัปชัน แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างความโปร่งใส

“เมื่อเข้าไปก็จะมีข้อมูลเรียงให้ดูว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบ ใช้งบประมาณเท่าไร ใครเข้าร่วมในการประมูลครั้งนั้นบ้าง และใครเสนอราคาเท่าไร อย่างเสาไฟฟ้ากินรีมีการใช้งบประมาณต้นละเท่าไร หรือการประมูลในหลายโครงการหลักสิบล้าน มีผู้เข้าประมูล 5 คน แต่ 4 รายเสนอราคาเดียวกันเป๊ะ ผู้ชนะเสนอราคาต่ำกว่า 4 รายนี้ 1,000 บาท ผมไม่ได้ปรักปรำว่าเขามีการคอร์รัปชัน แต่ข้อมูลเหล่านี้ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ก็ไปตรวจโครงการที่มันมี red flag”

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวต่อว่า ความยากในการพัฒนา ACT AI ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี เพราะใช้เวลาโค้ดดิ้งเพียง 3 – 4 เดือน และใช้เวลาอีก 8 – 9 เดือนในการเจรจากับหน่วยงานราชการ

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ย้ำว่าคอร์รัปชันไม่ใช่แค่ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น แต่มันมีการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม ความสัมพันธ์ทางการเมือง หรือบางบริษัทมีกรรมการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีบทบาทในโครงการต่างๆ

คนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวต่อว่า ประเด็นทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่เด็ก จากงาานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของ อาจารย์กุลลินี มุทธากลิน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาและเปรียบเทียบนิทานที่สอนให้มีความซื่อสัตย์สุจริตทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วพบว่า นิทานที่พูดเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในประเทศไทยมีน้อยมาก และตามนิทานของไทย เมื่อทำอะไรผิดจะต้องถูกลงโทษเพราะผิดกติกาหรือค่านิยมที่วางไว้ แล้วตอนจบหลายเรื่องมักจบด้วยการที่เด็กถูกครูตี เด็กทำไม่ดี ถูกพ่อแม่ดุ กลายเป็นว่าเด็กต้องรู้ เพราะมีผู้ใหญ่มาสอนเท่านั้น

ขณะที่นิทานคุณธรรมของต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เพื่อนขโมยเงิน พอเด็กมาคุยกันจึงรู้เรื่องว่า เพื่อนขโมยเงินเพราะเพื่อนยากจน และนำเงินไปซื้ออาหารให้พ่อแม่ เด็กเลยรวมตัวกันขายน้ำมะนาว กล่าวคือเด็กสามารถค้นพบได้เองว่าปัญหาคืออะไร รู้สึกว่าตัวเองมีพลังอำนาจที่จะแก้ไขสถานการณ์ด้วยตัวเองได้

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวต่อว่า เมื่อ 2 ปีก่อนได้รับเชิญเป็นกรรมการงาน ACTkathon จัดโดยองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันเพื่อชวนคนไทยทั่วประเทศมาแข่งกันว่าจะได้ data มาแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างไร และเห็นว่ามี 5 ไอเดียที่ชนะและมีไอเดียที่ไปไม่ได้

หนึ่งในนั้นคือ การใช้แผนที่ตรวจสอบที่ดินและการละเมิดการใช้ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือแผนที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานขีดเส้นไม่ตรงกัน จึงไม่รู้ว่าหากต้องการตรวจสอบการทุจริตจะต้องใช้แผนที่ของใคร

“ผมเปิดวิชาใหม่ชื่อ ‘เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันและสรรค์สร้างธรรมาภิบาล’ ผมก็ได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้นิสิตฟัง ซึ่งเขาก็อยากลองทำนิทานแบบใหม่โดยใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการออกแบบ และเขาก็ไปขอทุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) และได้รับทุนมาทำนิทาน แล้วนำไปแจกให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งก็ถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเราสามารถมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ได้”

ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ เสริมเรื่องคนรุ่นใหม่ว่า บางคนอาจมองว่าเด็กรุ่นใหม่ก้าวร้าว แต่มันคือกระบวนการเรียนรู้และตั้งคำถามมากขึ้น แต่บางครั้งอาจจะมี solution ที่สุดโต่งเกินไป แต่ผู้ใหญ่ไม่ควรไปสั่งให้หยุดถาม

“การที่เราปิดกั้นเขา ก็จะกลายเป็นการสร้างความแตกแยก การที่เขาตั้งคำถามเรามีหน้าที่ช่วยตอบคำถามเขา หรืออธิบายให้ดีที่สุด เปิดโอกาสให้เขาได้ถามมากขึ้น นี่เป็นโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความโปร่งใสในสังคมหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาประเทศ” ผศ. ดร.ต่อภัสสร์กล่าว

ดูเพิ่มเติม