วันที่ 6 มิถุนายน 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการกทม. คือ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ และ นายจักกพันธ์ ผิวงาม และผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กรรมการบริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ในฐานะผู้ดูแล ACT Ai และผู้ร่วมก่อตั้งแฮนด์ โซเชียล เอนเตอร์ไพร์ส ร่วมแถลงข่าวกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายของศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ และศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ฯ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านเพจโซเชียลมีเดียว่ามีราคาสูงกว่าราคาตลาดมาก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เริ่มการแถลงข่าวโดยว่า วันนี้จะอธิบายปัญหาเรื่องความโปร่งใสของระบบของกทม. พร้อมกับได้แนะนำผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ซึ่งเป็นผู้ดูแล ACT Ai ที่ได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่เป็นผู้ว่า และเป็นเรื่องสำคัญที่พยายามเน้นย้ำความโปร่งใส “ความโปร่งใสเป็นนโยบายของเราอยู่แล้ว”
นายชัชชาติอธิบายถึงโครงสร้างของกทม.ว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน คิอ ฝ่ายบริหารซึ่งมีรองผู้ว่าราชการ ผู้ว่าราชการ และมีทีป่รึกษา มีเลขานุการและมีรองเลขา ซึ่งมีทั้งหมด 19 คน ฝ่ายประจำ ซึ่งเป็นข้าราชการ ลูกจ้างอีก 80,000 คน และมีฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายสภาอีก 50 คน ทั้งสามส่วนนี้ทำงานร่วมกัน โดยฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ฝ่ายประจำ ขณะที่ฝ่ายบริหารดูแลฝ่ายประจำ
นายชัชชาติกล่าวว่า กระบวนการที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน มีความโปร่งใส กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีอยู่ 4 ขั้นตอน รวมเป็น 4 บวก 1 โดยเริ่มจาก งบประมาณ โครงการต่างๆต้องเข้าข้อบัญญัติงบประมาณ ในรูปแบบคือ มีนโยบายลงมา ซึ่งฝ่ายประจำจะจัดทำข้อมูลโครงการ เป็นการเริ่มจากตรงนี้ที่ต้องดูให้รอบคอบ กระบวนการที่สอง คือ เข้าสภา เพื่อเป็นข้อบัญญัติ ฝ่ายสภาก็จะช่วยตรวจสอบ “ซึ่งทีมเราเองไม่มีสมาชิกสภาเลย เพราะเป็นอิสระ เราไม่มีพรรค” ฉะนั้นสมาชิกสภาทั้ง 50 คน จะช่วยกันตรวจสอบ ว่ามีประโยชน์หรือไม่ ต้องตัดส่วนไหนออกหรือต้องเพิ่มเติมส่วนไหน
เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาก็จะเป็นข้อบัญญัติงบประมาณ กระบวนการที่สามก็จะเข้าเริ่มเข้าตามพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 ซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจว่างบประมาณในจำนวนเท่าไร ใครดูแล ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายประจำที่ดูแล ฝ่ายบริหารกำกับตามงบประมาณตามกรอบ ที่เริ่มจากกระบวนการที่สาม ตั้งกรรมการกำหนดTOR ราคากลาง เป็นฝ่ายประจำ
กระบวนการที่สี่ คือ การตรวจรับงานและมีอีกชุดตามพ.ร.บ.เช่นกันที่จะต้องตรวจรับงาน และกระบวนการสุดท้ายบวกหนึ่ง ก็คือ กระบวนการทางภาคเอกชน ซึ่งมีพลังมาก “ซึ่งเราก็เน้นย้ำการเปิดเผยข้อมูล เช่น ACT Ai ก็เอาข้อมูลต่างๆมา”
“ทั้ง 4 กระบวนการต้องทำกันอย่างสอดคล้องและเพิ่มพลัง อย่างกรณีของการจัดซื้อเครื่องกีฬาหรือกระบวนการต่างๆที่จะต้องปรับปรุง ผมคิดว่า ยกตัวอย่างเช่น วิธีงบประมาณ ก็คงต้องช่วยกับทางสภา ในการตรวจสอบให้เข้มข้นว่ามีที่มาอย่างไร ราคากลางมาจากไหน การตรวจสอบทั้งในกระบวนการหนึ่งกับสอง ต้องเข้มข้น ส่วนข้อบัญญัติเอง เนื่องจากว่ามีโครงการจำนวนมาก ก็ต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว และยกตัวอย่างถึงการทำข้อบัญญัติงบประมาณว่า บางโครงการที่นำเข้าสภาไปก็ถูกตัด ก็ต้องมีโครงการทำเพิ่มเข้าไป โครงการทำเพิ่มอาจจะมีเวลาจำกัด ซึ่งการกรองขั้นแรกคงต้องเข้มข้นมากขึ้น ว่า โครงการที่เข้ามีความเหมาะสม กากรรองที่สองสภาก็ต้องร่วมมือกันดูให้ละเอียดมากขึ้น การกรองที่สาม ฝ่ายประจำก็ต้องเข้าใจหลักการ ว่าต้องมีความโปร่งใส สามารถชี้แจงได้ ปฏิบัติตามพ.ร.บ. ข้อบัญญัติต่างๆและการกรองที่สี่การตรวจรับงานต้องเข้มข้นขึ้น ดังนั้นการปรับปรุงต้องเป็นทั้ง 4 กระบวนการ

“กรณีเครื่องออกกำลังกาย ต้องขอบคุณทางACT ถ้าไม่มี ACT Ai บางทีเราไม่ได้เห็นข้อมูลว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก และเชื่อว่าไม่เฉพาะกทม. มีหลายหน่วยงานที่ ACT Ai มีข้อผิดสังเกตขึ้นมา” นายชัชชาติกล่าวและว่า กระบวนการ 4+1 ต้องเดินหน้าต่อไป และกทม.เองทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายสภา ต้องร่วมมือกันในการดำเนินการและต้องยอมรับว่าปัญหานี้ไม่ได้หมดไป ดังนั้นต้องเดินหน้าและพยายามปรับปรุง
นายชัชชาติกล่าวว่า “กรณีการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ได้ให้คณะกรรมการ ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันการทุจริตอยู่แล้ว คปท.โดยมีรองปลัดเป็นผู้ดูแล พอเรารู้เรื่องก็ได้สั่งให้ดูแล ดำเนินการตรวจสอบเลยและอยู่ในกระบวนการตรวจสอบว่ามีจุดตรงไหนที่เป็นประเด็นและผิดอย่างไร สตง.(สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน)ก็ได้เข้ามาตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการตรวจตามปกติ”เราเอาจริงเอาจังและจะไม่ยอมรับต่อการทำผิด และผมเชื่อว่า ข้อมูลที่ออกมาประชาชนก็รับไม่ได้เหมือนกัน เพราะหากราคาเกินไปและอธิบายไม่ได้ ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อไป”
พร้อมกล่าวย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้อยู่ในศูนย์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันที่ตั้งมามีด้วยกัน 6 คณะ และมีคณะหนึ่งที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ และกำลังดำเนินการอยู่ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน
Open Bangkokประชาชนเช็คความโปร่งใส
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม.กล่าวว่า “ประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในกระบวนการ 4+1 รายละเอียดของโครงการมีเยอะมาก การมีตาไม่กี่ตา ทำให้การตรวจสอบบางทีอาจะไม่ละเอียดถี่ถ้วนเท่ากับการเพิ่มให้ประชาชนมาตรวจสอบ ซึ่งเรามีนโยบาย Open Bangkok เราได้ทำงานกับภาคประชาสังคมมากมาย มีมิติ Open Contracting”
นายศานนท์กล่าวว่า สิ่งที่พยายามทำมาตลอด คือ การทำให้ทุกสัญญาที่มีตั้งแต่กระบวนการแรก และกระบวนการที่สองเมื่อเข้าสภาแล้ว มีการเปิดเผยข้อบัญญัติงบประมาณ ซึ่งเป็นส่วนแรกที่ประชาชนเข้ามาดูได้ในเว็บไซต์ของกทม.ว่ามีโครงการอะไรบ้าง ในสำนักไหน และในปี 2568 อยู่ในช่วงของการจัดทำพระราชบัญญัติ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จก็จะมีการเปิดเผยให้ตรวจสอบได้เช่นกัน
หลังจากผ่านขั้นตอนร่างพระราชบัญญัติมาเข้า ขั้นตอนที่ สาม และสี่ ได้ใช้จังหวะนี้นำทุกโครงการเข้าไปในระบบที่เรียกว่า EGP ระบบที่กรมบัญชีกลางให้กรอกทุกโครงการเมื่อจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง “สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นและกำลังทำร่วมกับทีมงานแฮนด์ โซเชียล เอนเตอร์ไพร์ส ใน Open Contracting คือ การให้ทุกโครงการสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และไม่เพียงการตรวจสอบเท่านั้น แต่สามารถใช้ AI เข้ามาตรวจจับและใส่เครื่องหมายในกรณีที่ราคาเสนอใกล้กับราคากลางมากเกินไป หรือ การประมูลที่มีผู้เข้าเสนอน้อยกว่าปกติ รวมไปถึงการที่มีเสนอราคาต่ำเกินไป”
“สิ่งเป็นหัวใจ คือ ต้องมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนและต้องมีการทำให้คนที่มีเจตนาไม่ดี มีความยากขึ้น”นายศานนท์กล่าว

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กล่าวว่า วันนี้มาในฐานะประชาชนที่ทำงานตรวจสอบภาครัฐรวมถึงกทม.ด้วย ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบภาครัฐได้ด้วยการมีข้อมูล การที่มีประชาชนมีข้อมูลก็จะทำให้รู้ว่า โครงการไหนมีราคาแพงไป โครงการไหนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต เพื่อให้น่วยงานตรวจสอบ เช่น ปปช.หรือ กทม.เองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
โครงการ ACT Ai ระบบตรวจสอบความโปร่งใส และแหล่งข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นโครงการความร่วมมือขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์และโทรศัพท์มือถือ โดยแฮนด์ โซเชียล เอนเตอร์ไพร์ส
“เราทำงานบนพื้นฐานของหลักการว่า ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ครบและเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แพลตฟอร์มนี่จึงนับว่าเป็น search engine ตัวหนึ่ง โดยสามารถค้นหาด้วยการพิมพ์ชื่อโครงการ ที่ต้องการรู้ แพลต์ฟอร์มนี้จะมีตั้งแต่ ระบบการค้นหาข้อมูล การแสดงรายละเอียดข้อมูลโครงการทั้งหมด ระบบ AI แจ้งเตือนความเสี่ยง และข้อมูลนิติบุคคลที่เคยรับงานภาครัฐด้วย มีการดึงข้อมูลจากกรมบัญชีกลางมาเชื่อมกับข้อมูลนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงว่า ผู้ที่เสนอราคาในแต่ละโครงการเป็นใคร ผู้ถือหุ้น กรรมการเป็นใคร อีกทั้งมี ข้อมูล TOR เอกสารราคากลาง ผู้เข้าประมูล ราคาที่เสนอทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด” ผศ.ดร.ต่อภัสร์กล่าว
ผศ.ดร.ต่อภัสร์กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีมี 36 ล้านโครงการ วงเงินงบประมาณเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี และข้อมูลทั้งหมดนำมาจากกรมบัญชีกลาง
ในกรณีที่โครงการไหนมีความสุ่มเสี่ยง ระบบจะขึ้นเครื่องหมาย อัศเจรีย์สีเหลือง แต่ไม่ไดหมายความว่า มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่เป็นความสุ่มเสียง นอกจากนี้ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียน ข้อมูลไปในหลายช่องทางทั้งกทม. เพื่อให้ตรวจสอบต่อได้
การขึ้นเครื่องหมายอัศเจรีย์สีเหลืองอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยง 4-5 ข้อได้แก่ หนึ่งคู่เทียบมีความเสี่ยง เช่น มีกรรมการเหมือนกันในต่างบริษัท สองพฤติกรรมการเสนอราคา เช่น เสนอราคาใกล้เคียงกันมาก หรือเสนอราคาเกาะกลุ่มกัน เสนอราคาเท่ากันหรือเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางมากเกินปกติเพื่อฟันราคา หรือจัดซื้อจัดจ้างท้ายปีงบประมาณ หรือมีผู้เสนอราคาน้อยกว่า 3 ราย
“อย่างเช่นกรณี ลูวิ่ง(ที่มีการเปิดข้อมูล) มีการเสนอราคา 2 ราย ซึ่งก็เป็นความสุ่มเสี่ยงหนึ่งที่สามารถตรวจจับได้ตั้งแต่เบื้องต้น ก็สามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที” ผศ.ดร.ต่อภัสร์กล่าว
ผศ.ดร.ต่อภัสร์กล่าวต่อว่า ในระบบสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลได้ จึงสามารถบอกได้ว่า บริษัทที่ประมูลได้เป็นใคร เลขทะเบียนการค้าคืออะไร กรรมการบริษัทมีใครบ้าง ก็จะเห็นความสุ่มเสียงมากขึ้น เพราะการโกงไม่ใช่แค่การเสนอราคาเท่านั้น แต่มีความลึกและซับซ้อนมากว่านั้น นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลว่าบรษัทเคยรับงานที่ไหนมาก่อน หรือไม่เคยรับมาก่อนแต่มารับครั้งแรกในวงเงินสูง ก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยง
สิ่งที่จะพัฒนาต่อไป คือ จะสามารถเชื่อมข้อมูลนี้กับข้อมูลทรัพย์สินนักการเมืองได้หรือไม่ เพื่อประมินว่ามีการใช้อิทธิพลทางการเมืองเพื่อชนะการประมูลต่างๆได้บ้างหรือไม่ หน่วยงานตรวจสอบสามารถทำงานได้ต่อไป “ที่สำคัญที่สุดให้ประชาชนมีสิทธิสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยประชาชนเอง เพราะการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันที่ดีที่สุด คือประชาชน”

เดินหน้าเอาผิดขยายผลตรวจสอบทุกโครงการ
สำหรับรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างกรณีที่เป็นข่าว นายชัชชาติกล่าวว่า จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพราะเป็นอำนาจในระดับของกองในวงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท “แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องความไม่โปร่งใสยังเป็นเรื่องใหญ่ในทุกองค์กรที่ต้องเอาจริงเอาจัง เมื่อเราเห็นว่ามีเหตุการณ์นี้ก็เข้าไปดูและขยายผลต่อด้วย ฝ่ายบริการ ฝ่ายประจำและฝ่ายสภาต้องร่วมมือกันปรับปรุงให้ดีขึ้น จุดที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นตั้งแต่กระบวนการแรก การเสนอโครงการต้องรอบคอบ การตรวจสอบจากฝ่ายสภาต้องเข้มข้น พ.ร.บจัดซื้อจัดจ้างอาจจะต้องมีจุดปรับปรุงเพิ่มเติม แต่ต้องเสนอไปทางรัฐบาลด้วย”
นายศานนท์ให้ข้อมูลเบื้องต้นถึงกรณีการจัดซื้อลู่วิ่งที่เป็นปัญหาว่า เท่าที่ดูจากข้อมูลที่มีจะเห็นว่ามีกระบวนการสอบเทียบราคา กระบวนการในการจัด TOR และประมูล สิ่งที่น่าสนใจที่ดูผ่าน ACTAi และวิเคราะห์ ถ้ากดไปที่บริษัทที่ชนะจะเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่รายนี้ได้มีมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มก่อนที่ทีมบริหารปัจจุบันจะเข้ามา
“เจ้านี้มีการทำงานกับกรุงเทพมหานครมาก่อนแล้ว มีราคาลู่วิ่งที่เสนอมาในปี 2565 ตั้งแต่เดือนมีนาคม เราเข้ามาเดือนมิถุนายน ก็เป็นราคาที่สูงพอสมควรเหมือนกัน คือประมาณ 6 แสนกว่าบาท ในปี 2566 ก็มีการจัดซื้อ และปี 2567 ก็อย่างที่เป็นข่าว ผมคิดว่าตรงนี้น่าจะมีสิ่งที่ตรวจสอบย้อนหลังไปได้” นายศานนท์กล่าว
สำหรับโครงการที่ขึ้นเครื่องหมายอัศเจรีย์สีเหลือง นายศานนท์กล่าวว่า ในเว็บไซต์จะขึ้นว่าของกทม.มีจำนวนเท่าไร ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ ส่วนEGP ของกทม.จะมีการปรับหน้าเว็บไซต์ให้การปรับตั้งแต่ก่อนประมูล ให้สามารถเห็นถึงโครงการให้ชัดเจนมากขึ้น
นายชัชชาติกล่าวว่า ยืนยันว่าผิดก็คือผิด ไม่ใช่ว่าเคยทำมาแล้ว แล้วจะบอกว่าเคยทำได้ กระบวนการในการตรวจราคากลางก็ต้องเข้มข้น ต้องตอบสังคมได้ ซึ่งกระบวนการต่างๆกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าใครมีอำนาจในการทำ และยืนยันว่า “ฝ่ายบริหารไม่เคยให้นโยบายใดที่กำหนดหรือเอาของเจ้านี้ หรือปั่นราคา เราให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ที่กรรมการพิจารณาตามกฎหมายที่กำหนด เรายืนยันตลอดว่าต้องใช้ทุกอย่างตามระเบียบและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทางประชาชนและราชการ และคนที่ทำผิดเราไม่เอาไว้อยู่แล้วและดำเนินการคู่ขนานกัน สตง.ก็ตรวจไป เราก็มีคณะกรรมการเฉพาะสำหรับสำนักวัฒนธรรมและกีฬาต่างหาก ก็ดำเนินการตรวจสอบคู่ขนานไป”
นายศานนท์อธิบายว่า การเข้ามาของสตง.เป็นการเข้ามาโดยปราศจายความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร เป็นบุคคคลที่สาม โดยไม่ได้ทราบข่าวมาก่อน
นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า “ยอมรับว่าไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องรับผิดชอบและปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น ก็ต้องถามว่าโครงการพวกนี้เล็ดลอดเข้าไปได้อย่างไร เพราะต้องผ่านกระบวนการทั้งกระบวนการหนึ่ง กระบวนการสอง ต้องปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น เข้าใจว่ามีการเอาราคาที่เคยซื้อมาแล้วมาเป็นฐาน เราคงไม่ได้มองเฉพาะกรณีนี้ เรามองจะปรับปรุงทั้งระบบ ทั้งประเทศ เพราะเชื่อว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่นี้ พยายามขยายผลในเชิงโครงสร้างมากกว่าแก้เฉพาะกรณีนี้”
สำหรับกรณีนี้ในแง่ราคา นายชัชชาติกล่าวว่า เข้าใจว่า กระบวนการตามพ.ร.บ.คงมีคนดูอยู่ ว่าทำตามพ.ร.บ.หรือไม่ เช่น มีการเรียกราคาหรือไม่ มีการเปิดรับฟังความเห็นหรือไม่ ก็ต้องไปดูว่าเอาราคามาจากไหนและใช้อะไรเป็นตัวตั้ง
“ทางผมเองไม่กลัวเลยเพราะไม่เคยสั่งอะไรผิด เราไม่เคยบอกให้ทำอะไรไม่ดี เรายินดีให้ตรวจสอบ ผิดก็ต้องผิด เพราะเราไม่เคยสั่งให้ทำผิด เราไม่กลัวที่จะสอบทุกคน เพราะฝ่ายบริหารเรายืนยันว่า เราไม่เคยไปสั่งให้ทำไม่ดี เราเน้นความโปร่งใส แต่กระบวนการทั้งหมด ผมผู้ว่า ต้องรับผิดชอบ” นายชัชชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวว่า การจัดซื้อลู่วิ่งไม่ได้เกี่ยวกับผู้ว่า กทม.คนก่อนหน้า เป็นการจัดซื้อด้วยงบประมาณภายใต้การบริหารของชุดปัจจุบัน แต่การจัดซื้อเครื่องกีฬามีมานานแล้ว ตัวโครงการ รูปแบบการซื้อมีมาก่อน ราคาที่อ้างอิงอาจจะเอามาตั้งแต่สมัยก่อนไม่แน่ใจ แต่การซื้ออยู่ในงบประมาณที่ชุดปัจจุบันอนุมัติ แต่หลักการอ้างอิงว่าเอาราคามาจากไหนต้องไปถามกรรมการว่าอ้างอิงอย่างไร ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และต้องขยายออกให้ตรวจสอบโครงการอื่นทุกโครงการให้รอบคอบ
นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกทม.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการตรวจสอบของสตง.ว่า “สตง.ได้สุ่มตรวจ โดยมีข้อร้องไปที่สตง. แล้วได้เข้ามา ซึ่งก็ได้ให้ข้อมูลทั้งหมด ในรายละเอียดให้กับสตง. ในส่วนที่มีการเปิดข้อมูลผ่านสื่อก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และจะรายงานผลการตรวจสอบของสตง.ให้สื่อทราบอีกครั้ง”
ทั้งหมด 9 โครงการนั้นอยู่ในระดับสำนักงานทั้งหมด มี 7 โครงการอยู่ในกองการกีฬา อีก 2 โครงการเป็นของส่วนงานอื่น รายละเอียดตามที่มีสื่อรายงาน
ราคากลางกำหนดตามการสืบราคา

จากนั้นนายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัด กทม.ในฐานะสั่งราชการสำนักวัฒนธรรมการกีฬาและท่องเที่ยว ได้เป็นผู้ตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า ในเบื้องต้นมีการตรวจสอบกระบวนการว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ การจัดซื้อครั้งนี้เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีการประกวดราคาแบบ e-bidding เป็นการซื้อโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนการกำหนดราคากลาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้ตั้งราคาขึ้นเอง ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงการคลังปี 2560 กับพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560ได้บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการต้องไปสืบราคาจากท้องตลาดไม่น้อยกว่า 3 ราย ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพนั้นๆ เช่น ถ้าจะซื้อเครื่องออกกำลังกาย บริษัทที่จะสืบราคาก็จะต้องเป็นบริษัทที่ขายเครื่องออกกำลังกาย
การสืบราคาจะเป็นการทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทและให้ทำหนังสือแจ้งกลับมาเป็นเอกสาร และต้องสืบราคาจากบริษัทที่มีความมั่นคงและเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ทิ้งงานไม่ทิ้งบริการหลังการขาย และเชื่อมั่นได้ว่าของต้องมีคุณภาพ ส่วนคณะกรรมการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อแต่ละรายการตามข้อบัญญัติจะไม่ตรงกัน เมื่อเสร็จสิ้นคณะกรรมการก็จะสลายตัว
เมื่อสืบราคาได้จากสามบริษัทคณะกรรมการก็นำมาประมวลและจากการตรวจสอบเอกสารก็ใช้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง จากราคากลางก็ไปสู่การขอความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจก็สั่งให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง จากนั้นก็จะนำไปดำเนินการตามวิธีประกวดราคาโดยวิธีการ e-bidding ซึ่งทุกกระทรวง ทบวง กรมจะต้องทำโดยกรมบัญชีกลาง และเปิดเผยประกาศว่า สำนักวัฒนธรรมการกีฬาและท่องเที่ยวจะมีการประกวดราคาโดยวิธีการ e-bidding ตัวอย่างเช่น ศูนย์วารีภิรมย์กี่รายการ ด้วยวงเงินเท่าไร ในสื่อโซเชียล ในทุกสื่อจะต้องประกาศขึ้น ผู้ประกอบการหรือผู้ประสงค์ที่จะเข้ามาทำการประมูลก็ต้องเข้าสู่ระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง
พอเข้าสู่ระบบ e-bidding แล้วหน่วยงานทุกหน่วยงานไม่มีสิทธิที่จะไปรู้แล้วว่า ใครจะประมูล ไม่ประมูล แต่จะรู้เมื่อครบกำหนด เพราะ e-biddingจะกำหนดจำนวนวันและจะปิดการยื่นเสนอ ซึ่งจะได้ผลเมื่อมีการประมวลออกมาแล้วว่ามีกี่ราย ราคาเท่าไรที่เข้ารับการประมูล เมื่อได้ผู้ชนะการประมูล คณะกรรมการพิจารณาการประมูลก็จะประกาศตัวผู้รับจ้าง ส่วนราคาที่จะได้ถ้าไม่เกินราคากลางก็ต้องดำเนินการสั่งซื้อสั่งจ้าง
“กทม.ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อ 3-4 แสนอย่างที่เป็นข่าวในสื่อโซเชียล ซื้อถูกกว่านี้ได้ถ้าเขายอมรับในความเสี่ยงและเงื่อนไข ที่กทม.ให้ใช้บริการ เครื่องออกกำลังกายของสำนักวัฒนธรรมการกีฬาและท่องเที่ยวใช้ 8 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ใช้ต่อเนื่อง หากชำรุดหรือใช้การไม่ได้บริษัทจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที หากเปลี่ยนแล้วยังใช้ไม่ได้ บริษัทต้องยกเครื่องนี้ออกและเอาเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ บริษัทต้องยอมรับความเสี่ยงตรงนี้ด้วย เพราะกทม.เปิดให้บริการประชาชนทุกวัน” นายสมบูรณ์กล่าว
นายสมบูรณ์กล่าวว่า โดยทั่วไปจะมีการเปิดเผย TOR ต่อสาธารณชน สามารถเข้าไปดูได้ว่าคณะกรรมการกำหนด TOR อย่างไร เพราะตามระเบียบได้เปิดให้ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปเข้าไปแสดงความเห็นในแต่ละโครงการ จากการตรวจสอบ 7 โครงการที่ปรากฎในสื่อโซเชียล ที่สำนักวัฒนธรรมการกีฬาและท่องเที่ยว ได้ประกาศร่าง TOR มีเพียง 1 โครงการที่มีผู้ประกอบการให้ความเห็นและให้ความเห็นครั้งเดียว คณะกรรมการได้นำไปปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้และไม่ผิดกับระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างปี 2560 แต่หากขัดกับระเบียบนี้ก็ไม่สามารถทำได้ และก็จะแจ้งผู้ที่ให้ความเห็น เมื่อไม่มีความเห็น ก็จะมีการขึ้นร่างเพื่อหาตัวผู้รับจ้างเพื่อสู่กระบวนการประกวดราคา
โดยปกติจะเปิดให้รับฟังความเห็นเป็นเวลา 3 วัน สำหรับการส่งมอบเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุ เช่น 60 วันหรือ 90 วัน ส่วนการซ่อมบำรุงคณะกรรมการจะได้แจ้งให้ผู้รับจ้างได้รับทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเงื่อนไขมีอะไรบ้าง โดยในโครงการนี้ของก็ได้ส่งมอบให้กับศูนย์แล้วจากที่ได้เซ็นสัญญากัน 3-4 เดือนที่แล้วและจะสิ้นสุดอีก 7-10 เดือน
ในรายการที่ตรวจสอบใน 7 รายการ มี 2 รายการที่เป็นการซ่อม เป็นวงเงินที่อยู่ในระดับผู้อำนวยการกอง เหนือขึ้นไปอีกระดับคือผู้อำนวยการสำนักงาน ซึ่งจะมีวงเงินที่ผู้ว่าราชการ กทม.มอบอำนาจให้ ซึ่งผู้อำนวยการกองมีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท
นายสมบูรณ์กล่าวว่า หน่วยงานได้ชี้แจงไปหนึ่งโครงการที่ศูนย์วชิรเบญจทัศ ส่วนศูนย์วารีภิรมย์ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วและรอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งสำนักวัฒนธรรมการกีฬาและท่องเที่ยวจะได้ชี้แจงต่อสตง.ในเร็วๆนี้