นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ 4 สถาบัน จัดเสวนา วิพากษ์ ศาลรัฐธรรมนูญขยายขอบเขตอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ขัดหลักพื้นฐานประชาธิปไตย ไม่พิทักษ์สิทธิประชาชน วินิจฉัยเสียงข้างมากไม่ยึดกรอบกฎหมาย เสนอแก้ไขลดขอบเขตอำนาจเหลือเพียงการวินิจฉัยข้อขัดแย้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และที่มาตุลาการศาลต้องยึดโยงประชาชน
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 และได้มีคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ทำให้ 134 นักวิชาการ-นักกฎหมายจากทั่วประเทศร่วมกัน ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในทั้งสองกรณีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม
วันที่ 25 สิงหาคม 2567 อาจารย์และนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เมื่อศาล (รัฐธรรมนูญ) ปกครองบ้านเมือง “ณ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศาลรัฐธรรมนูญ สร้างภาวะตุลาการอธิปไตย
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า อยากเรียกตัวเองเป็นผู้ประภัยจากศาลรัฐธรรมเพราะเป็นสึนามิที่เปลี่ยนแปลงอะไรไปจำนวนมาก และ ไม่ใช่ครั้งแรกที่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดผลกระทบมันเกิดขึ้นมากว่าทศวรรษ จึงไม่ใช่ปรากฎการณ์เฉพาะหน้าที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่การเมืองไทยจะเห็นว่าตุลาการเข้ามามีบททางการเมืองที่เรียกว่า ภาวะตุลาการอธิปไตยมานานแล้ว
รศ.สมชาย กล่าวถึงบทบาทศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่า การเมืองไทยเผชิญรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ ปี 2549 และปี 2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญคิดว่าทำรุนแรงไม่น้อยกว่าการรัฐประหาร เพราะยุบ 4 พรรคขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยม พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ซึ่งในจังหวะที่ถูกยุบ คือ ช่วงที่ยืนอยู่ตรงข้ามชนชั้นนำ หมายถึงเสียงประชาชนถูกกำหราบ อีกทั้งยังปลด 4 นายกฯ เป็นการสะท้อนว่าศาลรัฐธรรมนูญอยู่ใน “ภาวะตุลาการธิปไตย” โดยการยกอำนาจตุลาการขึ้นมาอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร และอันนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญ
“เป็นปรากฏการณ์ที่มีอำนาจฝ่ายตุลาการล้มล้างอำนาจเสียงข้างมากที่มาจากประชาชน ซึ่งสภาวะแบบนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย คำถามคือ ทำไมอำนาจตุลาการกลายเป็นกลไกสำคัญของการเมืองแบบนี้ เมื่อไรที่ชนชั้นนำไม่สามารถ ครอบครองพื้นที่รัฐสภา หรือเอาชนะในสนามเลือกตั้งได้ สิ่งที่ชนชนนำใช้ คือ ใช้อำนาจตุลาการมาเป็นเครื่องมือในการจัดการพวกที่มาจากการเลือกตั้ง” รศ.สมชาย กล่าว
สำหรับสังคมไทยทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการออกแบบการเลือกตั้งใหม่ทุกครั้ง โดยพยายามออกแบบสนับสนุนให้พวกของตัวเองชนะการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ว่าจะออกแบบการเลือกตั้งแบบไหน พรรคที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามชนชั้นนำก็ชนะเลือกตั้ง เมื่อชนชั้นนำไม่สามารถเอาชนะในสนามเลือกตั้งได้ จึงต้องใช้กลไกอื่นในการจัดการระบบการเมืองที่สามารถเข้าไปยึดกุมพื้นที่รัฐสภาได้
ดังนั้นเมื่อ การออกแบบการเลือกตั้ง ไม่สามารถจัดการการเมืองที่เปลี่ยนไปได้ จึงได้เห็นองค์กร อย่าง กกต. องค์กร ป.ป.ช. ที่เข้ามากำกับทิศทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งพอเป็นแบบนี้จึงทำให้เจตจำนงประชาน ถูกล้มไปด้วย ประชาชนได้ส่งผ่านความต้องการของตัวเองไปจากการเลือกตั้ง และถูกล้มจากคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากเสียงข้างน้อย ทำให้ได้เห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ตุลาการอธิปไตย ชัดเจนมากขึ้น
“ผมเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหา แต่ไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่หมายรวมถึงองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ หรือกึ่งตุลาการ หรือสถาบันฯที่เขามามีส่วนส่งผลกระทบต่อชีวิต เจตจำนงของผู้คนและการเมืองไทย” รศ.สมชาย กล่าว
รศ.สมชาย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน มี 2 ประเด็นหลักคือ 1. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนขยายของตุลาการ และระบบราชการมากขึ้น 2. คือการหลุดลอยจากประชาชน เป็นอิสระจากประชาชน แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรออกมาแล้วประชาชนเห็นว่าไม่ชอบ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ไม่มีอำนาจตรวจสอบถอดถอนได้เลย
ดังนั้นจึงเสนอให้แก้ไขขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ลดอำนาจการตัดสิน ทางการเมือง จริยธรรม คืนให้ประชาชนตัดสิน เหลือเฉพาะการพิจารณาประเด็นกฎหมาย หรือ ทางรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนเท่านั้น เพิ่มอำนาจในการตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญ และ สร้างความรับผิด คือถ้าวินิจฉัยบิดเบือนจากหลักการของกฎหมายต้องมีความผิด โดยต้องไม่ทำให้การบิดเบือนกลายเป็นการตีความทางกฎหมาย เพราะที่ผ่านมามีการข้ามเส้นในการตัดสินมาแล้วหลายเรื่อง จึงต้องทำให้ชัดเจน
“ผมคิดว่าภาวะที่เราเห็นคือ ตุลาการธิปไตยภายใต้เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์ทำให้การแก้ไขปรับปรุงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” รศ.สมชาย กล่าว
“ศาลรัฐธรรมนูญ”กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากให้คะแนนศาลรัฐธรรมนูญตามหลักการปกครองโดยกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถือว่า ศาลรัฐธรรมนูญสอบตก เพราะไม่ได้ปกป้องสิทธิประชาชน แต่ไปจำกัดสิทธิประชาชนมากกว่า
ผศ.ดร.ปริญญา ได้ย้อนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสะท้อนว่าไม่ได้ยึดหลัก การพิจารณาที่สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ใช้หลักเสียงข้างมากในการตัดสินคดี เรียกว่าการตัดสินไม่เป็นไปตามกติกา แต่มีผลประสงค์ทางการเมืองที่อยากจะได้ และลงมติเอาโหวต ซึ่งจะเห็นชัดเจนในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ผ่านมาเช่น คดีทักษิณ ชินวัตร คดีซุกหุ้น ซึ่งไม่ควรรอดแต่ นายทักษิณรอดเพราะเสียงข้างมาก หรือครั้งที่สอง คือสั่งให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน เป็นโมฆะ และ คดี นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี จากการทำรายการทำกับข้าวและได้ค่าตอบแทน รวมไปถึงกรยุบพรรคพลังประชาชน และ คดียิ่งลักษณ์ ชินวัตรพ้นจากตำแหน่ง
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า….
รัฐธรรมนูญปี 2560 ถือเป็นฉบับที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักปกครองโดยกฎหมายที่ทุกคนเสมอเท่าเทียมกันได้และมีปัญหาเรื่องของหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
โดยศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แก้ไข เอาศาลรัฐธรรมนูญออกจากหมวดศาลในหมวด 10 แยกศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาอยู่หมวด 11 ทำให้การบังคับใช้มาตรา 188 วรรค 2 ว่าด้วยเรื่องผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณากฎหมายให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงไม่ถูกนำมาใช้ แม้ว่าจะมีบัญญัติในมาตรา 210 ให้ศาลรัฐธรรมนูญอนุโลมนำเอามาตรา 188 มาใช้เท่าที่ใช้ได้เท่านั้น นั่นแสดงว่าอนุญาตให้เอาพื้นที่ของอคติมาใช้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ศาลอีกต่อไป
“เราสอนแบบนี้กับนักศึกษาหน้าที่ของเราต้องทำให้เกิดความเที่ยงธรรมและทำให้ความเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์ แต่ขณะนี้คนไม่เชื่อถือในเรื่องความเที่ยงธรรม เพราะข้างหนึ่งโดนตลอด อีกข้างหนึ่งรอดตลอด และล่าสุดการตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล และให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งเป็นนายกฯ คำถามคือ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเป็นไปตามหลักกฎหมายหรือไม่” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว
นอกจากนี้ การแก้ไขขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นจากเดิมมีอำนาจในการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2560 เติมคำว่า การกระทำใดไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ
“เดิมอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คุมการกระทำ เช่นเดียวรัฐธรรมนูญ 2540-2550 แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไปเติมคำว่า การกระทำใดๆก็ขัดไม่ได้ ขนาดก่อนหน้านี้ไม่เขียนก็มีอำนาจสั่งให้เลือกตั้งโมฆะ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้น แต่ขณะนี้สามารถวินิจฉัยการกระทำด้วย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนือ อำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสามารถตีความได้ทุกอย่าง” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า อาจารย์ทางกฎหมายมีความลำบากใจมาก ในการสอนกฎหมายเพราะว่ารัฐธรรมนูญมีหลักเป็นอำนาจสูงสุด แต่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่คือหลักความสูงสุดของศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีการวินิจฉัยคือลงมติเสียงข้างมากไม่ได้ใช้ข้อกฎหมาย คำถามคือ ใครจะถ่วงดุล ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญเพราะมีอำนาจในการตีความได้ทุกอย่าง ซึ่งอำนาจแบบนี้หมายความว่าทุกพรรคมีสิทธิถูกยุบพรรคได้หมด จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหาทางแก้ไขกัน
“ผมไม่สบายใจอย่างมากในประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพการล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งให้เลิกการการกระทำและยุบพรรคการเมือง ทำให้ผลวินิจฉัยกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองถือเป็นการเสียสิทธิ ซึ่งตามกฎหมายอาญาแล้วการตัดสินว่าผิด ต้องมีการกระทำว่าเป็นความผิด แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแค่ดูเจตนาว่าจะเซาะกร่อนหรือนำไปสู่การล้มล้าง ก็ถือว่าผิดแล้ว” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว
ผศ.ดร.ปริญญาเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 โดย ให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ใต้บังคับมาตรา 188 คือ การพิจารณาต้องเป็นไปตามกฎหมาย และมีอิสระ การพิจารณาพิพากษาให้รวดเร็ว เป็นธรรมและปราศจากอคติ ทั้งนี้มีความยากเพราะต้องทำประชามติ นอกจากนั้นคือการแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้การพูดคุยจนเป็นข้อยุติ ไม่ใช่ใช้การโหวต หากมีข้อกฎหมายที่ขัดแย้งต้องใช้หลักปรึกษาหารือ
นอกจากนี้ต้องแก้ไขวิธีพิจารณาของศาลให้สิทธิจำเลยได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ยึดศาลมีหลักฐานเพียงพอแล้ว ไม่รับฟังข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้อง หรือฟังความข้างเดียว โดยสามารถทำได้ ไม่ต้องมีเกณฑ์สว.เห็นชอบหรือทำประชามติ แต่เมื่อผ่านแล้วต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รวมถึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
ส่วนในการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนในเดือนพฤศจิกายนนี้ อยากขอให้ใช้การสรรหาเคร่งครัดการสรรหาคนที่ปราศจากอคติ และขอให้สว.ชุดใหม่มีกระบวนหารือกับกรรมการสรรหา ให้คัดสรรบุคคลเป็นที่เชื่อถือของประชาชน โดยใช้การตรวจสอบบุคคลอย่างเข้มข้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย และขอให้เป็นการใช้เป็นกระบวนการสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีไม่ยุบพรรคเพราะเห็นต่าง
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยกตัวอย่างการยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ ที่แม้จะมีกำหนดไว้ในเรื่องกรณีการยุบพรรค แต่ต้องมีเหตุผลที่ร้ายแรงมาก เช่นที่ เยอรมนี ที่เคยพิจารณาการยุบพรรค 2 พรรคได้แก่ พรรคนาซีใหม่ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีแนวนโยบายไม่คุ้มครองคุณค่าประชาธิปไตย หรือ มีทัศนคติที่จะทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย โดยพรรคนาซีใหม่ต้องการสร้างชุมชนที่มีคนเชื้อชาติเยอรมันเท่านั้นหรือมีอุดมการณ์ของฮิตเลอร์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ไม่ได้สั่งยุบพรรคนาซีใหม่ เพราะได้พิจารณาแล้วว่าแนวทางการปฏิบัติมีความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นและพรรคนาซีใหม่ยังห่างไกลที่จะทำให้แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง
“ถ้านำเอาหลักการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีที่ได้วางหลักการยุบพรรคว่า จะไม่ยุบพรรคเพราะเห็นแตกต่างหรือไม่ยอมรับคุณค่าประชาธิปไตย หรือจะไม่ยุบพรรคเพราะคิดว่าอุดมการณ์อื่นดีกว่า แต่การยุบพรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนว่ามีการแสดงออกที่ร้ายแรงทำลายล้างระบบที่มีอยู่ เช่นเดียวกับ พรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เป็นเผด็จการเลย แต่ไม่ถูกยุบพรรคเช่นกัน แต่ถูกตัดเงินอุดหนุนจากภาครัฐ” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว
รศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า ในต่างประเทศจึงมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนว่า ต้องมีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ความเกลียดชัง หรือขู่เข็ญให้เกิดการนองเลือด ปฏิบัติการก่อการร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และรักษาไว้ซึ่งอำนาจ เช่นที่เคยกิดขึ้นที่ เกาหลีใต้ ซึ่งสั่งยุบพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายรวมประเทศเกาหลีเหรือ กับเกาหลีใต้ โดยให้ถือแนวทางของเกาหลีเหนือสูงกว่า เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมสู่คอมมิวนิสต์
นอกจากนี้แกนนำพรรคยังมีการวางแผนการรวมประเทศ โดยแบ่งหน้าที่ของ สส.ที่ได้รับการเลือกตั้งให้เกาหลีเหนือบุกจะมีการทำลายระบบสาธารณูปโภค ซึ่งสุดท้ายพรรคถูกยุบและแกนนำพรรคติดคุกเพราะการประกาศแผนการในเว็บไซด์ไปตรงกับการประกาศของผู้นำเกาหลีเหนือ
รศ.ดร.ณรงค์เดช เห็นว่า ประเทศไทย ยังต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องลดอำนาจในการพิจารณา และมีระบบกลไกตรวจสอบกฎหมาย ไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ที่มาของตุลาการ อำนาจหน้าที่ยังมีปัญหา จึงควรพิจารณาปรับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งการยุบพรรค และการวินิจฉัยคุณสมบัติ-จริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
5 ปรากฎการณ์ศาลรัฐธรรมนูญขัดหลักพื้นฐาน
ด้าน รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไทย มีลักษณะพยายามใช้อำนาจที่ขัดกับหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับที่เข้าใจในรูปแบบทั่วไปใน 5 ประเด็นคือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนจากผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย กลายมาเป็นผู้พิทักษ์คุณค่าดั้งเดิม หรือคุณค่าตามความเข้าใจของศาล เช่น คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ พรรคก้าวไกล โดยศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ทำหน้าที่พิทักษ์คุณค่าสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย แต่พิทักษ์ดั้งเดิม หรือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่ในการรักษาคุณค่าเหล่านั้นให้ไปด้วยกันได้หรืออยู่ร่วมกันได้ โดยการทำให้สถาบันยพระมหากษัตริย์ มีความมั่นคงทางการเมือง และการทำให้ประชาชนยังมีพื้นที่ที่จะแสดงคุณค่าในแนวทางที่เชื่อได้ด้วย ซึ่งการพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นว่า ศาลไม่เคยชั่งน้ำหนักในเรื่องคุณค่าเลย และศาลกำลังจะทำให้คุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง เป็นคุณค่าสูงสุดของการเมืองที่แตะต้องไม่ได้เลย เท่ากับว่า ศาลไม่รับรองสิทธิเสรีภาพหากเป็นการใช้เสรีภาพแตะต้องคุณค่าดั้งเดิม แม้แต่เพียงเล็กน้อย ศาลก็จะตอบโต้อย่างรุนแรง
2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่คนกลางวินิจฉัยข้อพิพาท แต่กลายเป็นคู่ขัดแย้งของสังคมการเมือง และการแสดงออกความไม่เป็นกลางในการพิพากษาได้แสดงออกมาจากคำตัดสิน จากทัศคติผู้พิพากษา และการกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
3.ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ล้มเหลวในการสร้างพลังของเหตุผลในคำพิพากษา โดยต้องใช้ข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาและให้คนทั้งโลกคล้อยตาม จะเห็นได้ว่าข้อพิพาททางการเมือง หรือข้อพิพาทใดที่มีวัตถุแห่งคดีที่เกี่ยวข้องสถาบัน จะพบว่าคำพิพากษานั้นจะมีความอ่อนด้อยในการให้พลังเหตุผลมากขึ้น
4.ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทรงอำนาจในการตีความของรัฐธรรมนูญ ศาลจะอ้างเสมอว่าคำวินิจฉัยเด็ดขาดผูกพันทุกองค์กร โดยล่าสุดคดียุบพรรคก้าวไกล ศาลถึงขั้นประกาศว่า ทุกประเทศมีกฎหมายและคำวินิจฉัยของตัวเอง ดังนั้นแล้วการตีความประเทศใดเป็นของประเทศนั้น แต่การยุบพรรคได้นำกติกานี้มาจากต่างประเทศ และการยุบพรรคเป็นการใช้อำนาจเผด็จการ สุดโต่ง ขจัดความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ได้ แต่ต้องใช้อย่างจำกัด
“เวลานี้ี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทิ่มแทงระบอบประชาธิปไตย หรือพิทักษ์ประชาธิปไตยกันแน่ จึงขอตั้งคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้เครื่องมือประชาธิปไตยไม่เป็นไปตามหลักที่วางไว้ในสากลได้หรือไม่ ” รศ.ดร.ต่อพงศ์กล่าว
5.ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดี ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคก้าวไกล กระบวนการพิจารณาของศาลมีปัญหา เพราะระบุว่ามีข้อเท็จจริงเห็นประจักษ์ มุ่งหมายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยศาลเห็นข้อเท็จจริงได้เอง และศาลมองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง จึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลถือเป็นการใช้ความคิดแทนคนอื่น ทั้งที่ศาลรัฐธรมนูญควรยึดถือการให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้กระบวนการต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาพังหมดแล้ว
“ศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ไปไกลกว่าการร่วมแชร์อำนาจปกครอง แต่ศาลพยายามอธิบายหลักการปกครองของไทยที่ศาลอยากเห็นคืออะไร ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการของคุณค่าพื้นฐานประชาธิปไตย และคำวินิจฉัยกรณีของพรรคไทยรักษาชาติ คดีธรรมศาสตร์ และ พรรคก้าวไกล จะทำให้เปลี่ยนผ่านหรือการพูดด้วยสันติวิธี เรื่องของคุณค่าสูงสุดทางประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ทั้งในสภา และการเคลื่อนไหวนอกสภาทำไม่ได้ เพราะถูกนำไปขยายต่อ ว่าเป็นพฤติกรรมล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ส่งผลต่อระบบกฎหมายอย่างรุนแรง” รศ.ดร.ต่อพงศ์กล่าว
รศ.ดร.ต่อพงศ์ เสนอว่า หากต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นฉันทามติร่วมกันว่าควรจะมีศาลรัฐธรรมนูญคต่อไปหรือไม่ และต้องกำหนดขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องชอบธรรม ต้องยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จจริง โดยอาจจะต้องมีเสียข้างมาก 2 ใน 3 จากสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องการสำรวจความคิดเห็นและการสนับสนุนจากประชาชน เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี
ศาลรัฐธรรมนูญตีความบิดเบี้ยว แทรกแซง อำนาจนิติบัญญัติ
ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาการตีความกฎหมาย โดยกรณีคดียุบพรรคก้าวไกล ที่เห็นว่าอาจจะเป็นปัญหาคือ 1.กรณี วัตถุแห่งคดี ม.49 องค์ประกอบคือ ก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเสนอร่างกฎหมายตามมาตรา 133 หมวด 7 ใช้อำนาจนิติบัญญัติการเสนอร่างกฎหมาย จึงไม่สามารถเป็นวัตถุแห่งคดีได้เลย แต่ศาลรัฐธรรมนูญขยายความอำนาจตัวเองเข้าไปแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ โดยที่ร่างกฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณา
“การขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการตีความบิดเบี้ยว แทรกแซง อำนาจนิติบัญญัติ โดยที่กฎหมายดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภผู้แทนราษฎร แต่ศาลเข้าไปอ่านรายละเอียดของกฎหมายและตัดสินเนื้อหาโดยทีกฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณาเลย” ผศ.สุทธิชัย กล่าว
ส่วนกรณีคดีสั่งให้นายเศรษฐา พ้นตำแหน่งนายกฯ เพราะการตั้งรัฐมนตรีในประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ถือเป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหารที่ร้ายแรง ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งทราบว่ามีคนยื่นยุบพรรคเพื่อไทยโดยนำผลของคดีนายเศรษฐาไปประกอบ
“ทั้ง 2 เรื่องนั้น ทำให้เส้นแบ่งความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมายเบลอไปหมด ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นผู้กำกับกติกา แต่สิ่งที่เห็นคือศาลเป็นกลไกทางการเมืองและคำวินิจฉัยไม่ใช่ใช้กฎหมาย แต่เป็นการตัดสินในทางการเมืองที่เป็นปัญหา”
ไม่จำเป็นต้องมีศาลรธน. อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ทั้ง 143 คน ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ต้องการยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดี ทำให้สังคมเชื่อว่าการตีความหรืออธิบายเหตุผลคำวินิจฉัยยุบพรรค เป็นมาตรฐานตีความกฎหมายแบบไทยๆ ซึ่งยืนยันว่านิติศาสตร์แบบไทยๆ ไม่มีการสอนในกฎหมายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความผิดปกติมีปัญหาในการตีความ เพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้หลักการเหมือนเป็นอาวุธมีอานุภาพทำลายล้างสูงทุกพรรคทำให้ระเบิดทำลายล้างและเสียดุลทำให้เกิดความเสียหายทุกครั้งที่ใช้ แต่ศาลในประเทศอื่นไม่ได้ใช้
“มีเรื่องที่ผมกังวลใจ คือ คดี เศรษฐา เพราะถ้อยคำที่กำกวมและตีความแบบกว้างๆตามที่เห็นสมควร อันตรายต่อเสรีภาพของประชาชน คือ การกำหนดความหมายเรื่อง ซื่อสัตย์ และมีจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ ต้องมีหลักเกณฑ์ ที่มีความชัดเจน” รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของกระบวนการพิจารณาที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้เข้าใจว่ามีความแตกต่างจากกระบวนการพิจารณาทั่วไป เพราะไม่ได้เปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้อย่างถึงที่สุด โดยบอกว่า หากศาลเห็นว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอในการวินิจฉัย ไม่ได้ต้องพิจารณารับฟังพยานหลักฐานใหม่
“ระบบกฎหมายของโลกไม่มีอำนาจที่จะบอกว่า จะหยุดรับฟังหลักฐานเพราะหลักฐานแค่นี้พอใจแล้ว สิ่งนั้นไม่เรียกว่ากระบวนการตามกฎหมาย และจะอ้างและหยุดรับพยานหลักฐานใหม่ไม่ได้ เพราะทุกคนต้องการความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและต้องได้พิสูจน์ ตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ตัดสิทธิตัดโอกาสคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง”
รศ.ดร.มุนินทร์ บอกว่า การใช้หลักการของกฎหมาย ของศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นศาลได้ ก็ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ถ้าองค์กรชี้ขาดด้วยกระบวนการพิจรณาประชุมหารือเชื่ออย่างไรโหวตกันแบบนั้น ไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรมนูญ หรือ กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องเรียนวิชานิติศาสตร์ ทั้งนี้หลักการนิติศาสตร์เป็นระบบเดียวกันทั้งโลก เป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
“ผมคิดว่าในเวลานี้เราไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผมเห็นว่า ส่วนตัวแล้วศาลรัฐธรรมนูญ เป็นภัยร้ายแรงที่สุด ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อประชาธิปไตย ขณะที่ประชาธิปไตยไม่แข็งแรง เราไม่ควรมีศาลรัฐธรรมนูญ เพราะระบบศาลรัฐธรรมนูญ ผสมปนเปไปหมดในการพิจารณาและกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เกิดความสับสนมาก กระบวนการพิจารณาไม่ชัดเจน จึงได้ข้อสรุปว่า ไทยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าต้องมีศาลรัฐธรรมนูญต้องความชัดเจนเรื่องเขตอำนาจที่จำกัดที่สุด ผมเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมปกติ ถ้ามีศาลรัฐธรรมนูญควรจะมีแค่ตรวจสอบอำนาจทางการกฎหมายเท่านั้น” รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าว