ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหาร 10 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหาร 10 ปี

7 สิงหาคม 2024


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ – ตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหาร “ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง – มีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ – เป็นกรรมการบริหารพรรคฯ” เป็นเวลา 10 ปี

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (เรื่องพิจารณาที่ 10/2567)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องและถูกเพิกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาหารือร่วมกันแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ และอำนาจในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธธรรมนูญของกฎหมาย และร่างกฎหมาย พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 210 วรรคสาม ให้นำความตามมาตรา 188 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์มาใช้บังคับแก่ศาลรัฐธรรมญด้วยโดยอนุโลม ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (13) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมือง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งยุบพรรคการเมืองได้

การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่หนึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมี “หลักฐานอันควรเชื่อได้” ว่าพรรคการเมืองได้กระทำการที่เข้าลักษณะตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) และกรณีที่สอง “เมื่อปรากฏ” ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.ศ. 2566 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ของผู้เริ่มกระบวนการ และลักษณะของข้อเท็จจริงไว้แตกต่างกัน ดังนั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองมีการกระทำที่เข้าลักษณะที่กฎหมายบัญญัติ คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

คดีนี้กับคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เป็นคดีรัฐธธรรมนูญเช่นเดียวกัน และมูลคดีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไต่สวนพยานหลักฐานในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพ เพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันมีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทำของผู้ถูกร้อง จึงเข้าลักษณะการกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย

เมื่อพรรคการเมือง เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยการยุบพรรคการเมืองต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ความรุนแรงของพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง กฎหมายดังกล่าวใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมือง ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หากมีพฤติการณ์ร้ายแรงกฎหมาย จำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการทำลายหลักการพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้นักวิชาการ นักการเมือง หรือ นักการทูตของต่างประเทศ ไม่ว่าในระดับใด ต่างก็มีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนแตกต่างกันไป ตามบริบทของแต่ละประเทศการแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูต และการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และวรรคสองแล้ว ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง สอดคล้องกับระยะเวลาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรคผู้ถูกร้อง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงต้องสั่งให้ผู้ซึ่งเคยตำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรธรรมญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง

ผลการลงมติ มีดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง มีเหตุสมควรยุบพรรผู้ถูกรักร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐรวมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง และมีมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์)

ประเด็นที่สอง คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ เพียงใด

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

ประเด็นที่สาม ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องที่ถูกยุบ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบ ตามพระระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่าห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 94 วรรคสอง

อนึ่ง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคก้าวไกล และสั่งตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกล ทั้งชุดที่ 1 และ 2 ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 จนถึง 31 มกราคม 2567 เป็นเวลา 10 ปี โดยพรรคก้าวไกลได้โพสต์รายชื่อกรรมการบริหารของพรรคฯที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาดังกล่าวบนเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกล มีทั้งหมด 11 คน ดังนี้
.

    (1) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    (2) ชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    (3) ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
    (4) ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
    (5) ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
    (6) สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้
    (7) อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง
    (8) อภิชาต ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    (9) เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    (10) สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    (11) อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ

ส่วนบรรยากาศภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคก้าวไกล (กก.) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี พร้อมทั้งห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่นั้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.สบัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกจากห้องวินิจฉัย โดยที่ใบหน้ายังมีรอยยิ้ม สลับใบหน้านิ่งเฉย โบกมือทีกทายสื่อมวลที่มาปักหลักรอทำข่าวจำนวนมาก โดยระหว่างนั้นได้มีแฟนคลับที่มารอส่วนหนึ่งตะโกน “รักก้าวไกลค่ะ”

นายพิธา กล่าวสั้นๆ ว่า จะไปให้สัมภาษณ์ที่พรรคฯ โดยยืนยันว่า “จะยังคงทำงานต่อไป แม้จะไม่ได้อยู่สภา หรือทำเนียบรัฐบาล ก็ยังสามารถทำงาน เพื่อประเทศในฐานะพลเมืองได้”

จากนั้น นายพิธา ได้เดินทางมาแถลงร่วมกับคณะกรรมบริหารพรรคก้าวไกล

ขณะที่บรรยากาศ ตลอดทั้งวันระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญมีกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่ม ศปปส. พร้อมด้วยกลุ่มมวลชน เดินทางมาติดตามสถานการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย

นายอานนท์ ให้สัมภาษณ์ว่า มาติดตามฟังคำวินิจฉัย และสังเกตุการณ์ว่า ทูต 18 ประเทศที่นายพิธาเคยไปพบ จะมาติดตามฟังในวันนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีคำวินิจฉัยออกมา และทางสถานทูตต่างๆ มีแสดงความคิดเห็นในทางลบ เราก็จะไปประท้วงตามสถานที่นั้นๆ ยืนยันไม่ได้มาป่วน อยากมานั่งฟังและสังเกตุการณ์เท่านั้น

ขณะที่ยังกลุ่มมีแฟนคลับพรรคก้าวไกลบางส่วนที่ยังไม่เดินทางไปพรรคก้าวไกลได้ชูป้ายที่ เขียนว่า “เป็นกำลังใจพรรคก้าวไกล # คัดค้านยุบพรรคก้าวไกล”

น.ส.ลักษ์สิการ ตั้งโชติธนาวิชญ์ กล่าวว่า จุดประสงค์ที่เรามาในวันนี้ เพื่อแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพที่เราเลือกตั้งมา พรรคก้าวไกลผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ตามกฎหมายประชาธิปไตยประชาชนเลือกมาตั้ง 14 ล้านเสียง ถ้าประเทศไทยไม่มีหลักธรรมาภิบาล เราไม่รู้จะไปคุยกับลูกหลาน หรือ ญาติของเราได้อย่างไร ทำให้ตนต้องเดินทางมาวันนี้ เราไม่เข้าใจว่า อะไรที่ทำให้เป็นการล้มล้างการปกครอง เรายังไม่แตกฉานกับคำพูดนี้

ขณะเดียวกันได้มีแฟนคลับพรรคก้าวไกลจำนวน 4 คน นำช่อดอกไม้เดินทางมาให้กำลังใจนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล