
ตามที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษกรรมการ และผู้บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ต่อ DSI และได้ส่งเรื่องต่อไปยัง ปปง. จากกรณีทุจริต ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีมติถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567
วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผยแพร่ Statement เรื่อง “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถอด บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ออกจาก SET ESG Ratings”
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการ และผู้บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกระทำการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเองและ/หรือผู้อื่น และได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ได้มีมติถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เนื่องจากบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ SET ESG Ratings ที่กำหนดไว้ว่า “ต้องไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีกรรมการหรือผู้บริหารถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ การสร้างผลกระทบด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม” โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567
ข้อมูลเกี่ยวกับ SET ESG Ratings
การคัดเลือก SET ESG Ratings คัดเลือกจาก บจ. ที่สมัครเข้าร่วมการประเมินและมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนผ่าน 50% ในแต่ละมิติ (มิติเศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม) และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น เป็นบริษัทที่มีผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ไม่เป็นบริษัทหรือมีกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดเรื่อง ESG จากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย CB, CC, CF, CS เป็นต้น ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการทบทวนและปรับปรุงแบบประเมินเป็นประจำทุกปี ให้มีความสอดคล้องกับบริบทและเทรนด์ด้าน ESG ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังให้ความสำคัญกับการติดตามประเด็นด้าน ESG จากข่าวอย่างใกล้ชิด โดยนอกจากขอคำชี้แจงจาก บจ. แล้ว ยังมีกระบวนการรวบรวมข้อมูลข่าวจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความรุนแรงของผลกระทบ กระบวนการและความสามารถของ บจ. ในการจัดการประเด็น ESG อย่างเหมาะสม รวมถึงแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก และหาก บจ. ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ จะถูกถอดออกจากรายชื่อ SET ESG Ratings
ผู้สนใจสามารถศึกษาวิธีการประเมิน SET ESG Ratings ได้ที่ www.setsustainability.com/set-esg-ratings-methodology
และดูผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ได้ที่ www.setsustainability.com/set-esg-ratings2566
ก.ล.ต. ยืนยันการลงทุนของกองทุนรวม Thai ESG ยังเป็นไปตามเกณฑ์
ในวันเดียวกัน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่ ข่าว ก.ล.ต ฉบับที่ 144/2567 เรื่อง “ก.ล.ต. ยืนยันการลงทุนของกองทุนรวม Thai ESG ยังเป็นไปตามเกณฑ์ ”
ก.ล.ต. ยันการลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (กองทุนรวม Thai ESG) ทุกกองทุนยังเป็นไปตามเกณฑ์การกระจายการลงทุน มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ที่ผู้บริหารบริษัทถูกกล่าวโทษ เพียงร้อยละ 0.35 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม Thai ESG ทั้งหมด พร้อมย้ำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ปฏิบัติตามหลักแห่งความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรอบคอบ (fiduciary duty) ในการคัดเลือกบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อการลงทุนของกองทุนรวม Thai ESG และกองทุนประเภทอื่น ๆ ด้วย
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดเกณฑ์ให้กองทุนรวม Thai ESG ต้องมีการลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการได้รับ SET ESG ratings ที่ดี (eligible assets)*
ในสัดส่วนโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย และในกรณีที่ บลจ. เห็นว่าบริษัทใดที่มีธรรมาภิบาลไม่เหมาะสม แม้บริษัทนั้นได้รับ SET ESG ratings ตามเกณฑ์ที่กำหนด บลจ. มีหน้าที่ใช้ fiduciary duty ในการพิจารณาไม่นับรวมการลงทุนในบริษัทดังกล่าว เป็น eligible assets ที่ต้องลงทุนโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV โดยการลงทุนส่วนที่เหลือยังคงต้องเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดด้วย
ทั้งนี้ กรณีที่บริษัทที่ลงทุนขาดคุณสมบัติด้านความยั่งยืนตามที่เกณฑ์กองทุน Thai ESG กำหนด กองทุนยังสามารถลงทุนได้ โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละ 20 ของ NAV โดยถือเป็น non-eligible assets
จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า กองทุนรวม Thai ESG มีมูลค่า NAV ทั้งหมด 6,844 ล้านบาท มีการลงทุนในหุ้นบริษัท EA รวม 24 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.35 ของ NAV ทั้งหมด ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า กองทุนรวม Thai ESG ทุกกองทุนสามารถลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แม้จะไม่นับการลงทุนในหุ้นบริษัท EA เป็น eligible assets
สำหรับกองทุนรวมอื่น ๆ มีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท EA คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของ NAV รวมทั้งอุตสาหกรรม โดย บลจ. มีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาลงทุนตามความเหมาะสมด้วย
นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ได้มีมติถอดบริษัท EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ SET ESG Ratings ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นั้น จะไม่มีผลต่อการลงทุนของกองทุน Thai ESG ให้เป็นไปตามหลักกณฑ์ที่กำหนด และจากการติดตามของ ก.ล.ต. พบว่า กองทุนรวม Thai ESG และกองทุนรวมอื่น ๆ มีสัดส่วนการลงทุนในบริษัท EA เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม โดย บลจ. มีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาลงทุนตามความเหมาะสมด้วย”
หมายเหตุ :
* หลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวม Thai ESG ในส่วน eligible assets กำหนดให้ลงทุนในทรัพย์สินที่ผู้ออกเป็นภาครัฐไทยหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนี้ โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV)
(1) หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ที่มีลักษณะดังนี้
(1.1) ได้รับการคัดเลือกจาก SET ว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) และหรือ
(1.2) มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบ และหรือ
(2) ตราสารหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน* และหรือ
(3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืนที่มีมาตรฐานในทำนองเดียวกันกับตราสารหนี้ดังกล่าว และตามที่ ก.ล.ต. จะประกาศกำหนดต่อไป