ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯรับทำงานหนัก-ผลงานไม่ ‘จึ้ง’ ปรับการสื่อสารใหม่ – มติ ครม.จัด ‘เออร์ลี่รีไทร์’ ทหารยศพันเอกขึ้นไปรับ 10 เท่า

นายกฯรับทำงานหนัก-ผลงานไม่ ‘จึ้ง’ ปรับการสื่อสารใหม่ – มติ ครม.จัด ‘เออร์ลี่รีไทร์’ ทหารยศพันเอกขึ้นไปรับ 10 เท่า

9 กรกฎาคม 2024


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯรับทำงานหนัก-ผลงานไม่ ‘จึ้ง’ ปรับการสื่อสารใหม่
  • น้อมรับคำติชมคนในพรรคเพื่อไทย
  • ย้ำค่าแรง 600 บาท ภายใน 4 ปีได้แน่
  • ไม่ก้าวก่ายแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพ
  • ชี้ปม ‘ทับลาน’ เป็นมติรัฐบาลชุดก่อน – ต้องยึดหลัก กม.
  • มติ ครม.ลดขนาดกองทัพ – จัด ‘เออร์ลี่รีไทร์’ ยศพันเอกขึ้นไปรับ 7-10 เท่า
  • ขึ้นเงินเดือนครูเป็น 18,150 บาท ใน 2 ปี
  • ชงร่าง พ.ร.บ.งบฯกลางปี’67 เข้าสภา 17 ก.ค.นี้
  • จัดงบฯ 1,939 ล้าน จ่าย กฟน.-กฟผ.แบกค่าไฟแทน ปชช. 17 ล้านราย
  • ต่ออายุ ‘สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข’ นั่งผู้ว่า กทพ.อีกวาระ
  • เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐามอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    สั่ง ‘สมศักดิ์’ เพิ่มบุคลากรการแพทย์

    นายเศรษฐา รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เรื่องการปรับปรุงโรงพยาบาลศูนย์นครปฐม เพื่อสร้างอาคารที่จอดรถวงเงิน 118 ล้านบาท

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “อีกเรื่องที่สำคัญคือการขาดแคลนบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น พยาบาล เทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด รวมถึงบุคลากรที่มีคุณค่าแต่ขาดแคลน ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ทั่วโลก เราผลิตมาเท่าไรเขาก็ไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เราขาดแคลนบุคลากรสาขาที่ช่วยแพทย์”

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการไปยังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้หาวิธีการว่าจะเพิ่มบุคลากรการแพทย์ได้อย่างไร ปัญหาอยู่ที่ไหน

    ทยอยขึ้นเงินเดือนครู 18,000 บาท ใน 2 ปี

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบความเห็นของสำนักงบฯ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เรื่องปรับอัตราเงินหนุนสมทบเงินเดือนครู จาก 15,000 บาท เป็น 18,000 บาท โดยทยอยปรับภายในระยะเวลา 2 ปี และอุดหนุนเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 200 คน

    ชดเชย กฟน.-กฟภ.แบกค่าไฟแทน ปชช. 1.9 พันล้าน

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้จ่ายงบกลางปี 67 วงเงิน 1,939 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายจากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้ประชาชน สำหรับค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567

    พร้อมแจก ‘ไร่ละพัน’ หากชาวนาประสบปัญหาวิกฤต

    นายเศรษฐา รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ รัฐมนตรีได้มีมีการพูดคุยถึงรายละเอียดโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่าโครงการชดเชยเยียวยาไร่ละ 1,000 บาท กับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นคนละโครงการกัน

    นายเศรษฐา อธิบายว่า โครงการชดเชยเยียวยา 1,000 บาทต่อไร่เป็นโครงการแรกที่มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ที่เติมให้ 1,000 บาทต่อไร่ และไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือในช่วงวิกฤติปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ราคาข้าวอยู่ที่ 7,000- 8,000 บาทต่อตัน แต่ปัจจุบันราคาข้าวดีขึ้น ทำให้เกิด ‘โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง’ เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร และเพิ่มจำนวนผลผลิตต่อไร่ของข้าว ซึ่งเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนมากกว่า และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดคุยกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง

    “ไม่ใช่แค่ราคาข้าวต่อตันอย่างเดียวที่มีความสำคัญ ซึ่งเรามั่นใจว่าปีนี้ราคาข้าวก็จะดี และที่เราใช้เกษตรแม่นยำ ใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามการวิเคราะห์จากดิน โดยใช้หมอดินที่เรามีอยู่หลายหมื่นคนทั่วประเทศ ทำให้เราทราบถึงความต้องการของปุ๋ยที่ถูกต้อง มีการสำรวจหน้าดินก่อน เรารู้ว่าดินขาดแคลนอะไร และเราให้ปุ๋ยที่แม่นยำ สมมติข้าวทำไร่ละ 500 กิโลกรัม อาจขึ้นไปถึง 700 กิโลกรัมได้ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว เป็นเรื่อง output ต่อไร่ด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามถึงโครงการปุ๋ยคนละครึ่งว่า อาจมีการทุจริตเกิดขึ้นระหว่างทาง โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องนี้ก็มีการพูดคุยกันชัดเจนว่า เรื่องการทุจริตโดยมิชอบต้องไม่ใช่ตกในมือผู้ค้าปุ๋ยแค่ 2 – 3 ราย ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็พยายามหาผู้ค้าปุ๋ยมา 40 – 50 ราย เน้นย้ำเรื่องความทุจริตด้วย”

    เมื่อถามถึงการที่รัฐบาลออกโครงการดังกล่าว แล้วไปยกเลิกโครงการเยียวยา 1,000 บาท ในกรณีเกิดวิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมว่าเป็นสองเรื่องที่ต้องแยกกัน อันนี้เป็นเรื่องการเพิ่มผลผลิต เป็นการที่เราให้ความแม่นยำกับการปลูกข้าว แต่ถ้ามีวิกฤติก็พิจารณาใหม่ตามความเหมาะสม”

    รับทำงานหนัก-ผลงานไม่ ‘จึ้ง’ ปรับการสื่อสารใหม่

    ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลทำหลายอย่าง แต่เหมือนผลงานที่เป็นรูปธรรม ยังไม่ออกสู่สายตาประชาชน ทำให้นายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องการสื่อสารก็ชัดเจนว่าเป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่ท่านผู้สื่อข่าวบอกว่า เราเองก็ทำเยอะเหมือนกัน หลายๆ โครงการไม่ว่าจะเป็นทุกกระทรวงที่ทำงานกันอย่างหนัก”

    “ทั้งส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ การเพิ่มราคาสินค้า การพักหนี้เกษตรกร ดูแลพืชหลักพืชรอง การเพิ่มศักยภาพของเยาวชนในการศึกษา เพิ่มค่าแรง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติด ก็มีหลายมิติที่เราพยายามทำอยู่ ก็กำลังดูเรื่องการสื่อสาร เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

    ถามต่อว่า จะทำให้ประชาชนรู้สึก ‘จึ้ง’ กับผลงานได้อย่างไร หลังถามจบ นายเศรษฐา หัวเราะเบาๆ และกล่าวว่า “ทำให้จึ้งได้อย่างไร ผมว่ามันก็ต้องค่อยๆ ไป ก็มีหลายโครงการที่ทยอยออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ การทำ FTA ที่เพิ่มขึ้น ผมว่ามันก็ทยอยออกมา”

    น้อมรับคำติชมคนในพรรคเพื่อไทย

    ถามต่อว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานจากคนในพรรคเพื่อไทย จะมีการทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมคิดว่าในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นคนของพรรคเดียวกัน คนของพรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งพรรคค้าน ความอัดอั้นตันใจ อาจไม่เข้าใจ หรือการสื่อสารที่ไม่ดีพอ ผมเชื่อว่ารัฐบาลก็ต้องรับฟัง ถึงแม้จะมีคำติจากพรรคร่วมเดียวกัน เราก็ต้อรับฟัง ถ้าอะไรเป็นคำติที่เหมาะสมและสมควรที่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เราก็จะทำ แต่ถ้าเป็นอะไรที่เราทำอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่มีการสื่อสารที่ดี เราก็ควรไปชี้แจงในเวทีที่เหมาะสม”

    เมื่อถามว่า วันนี้นายกฯ จะเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย จะถือโอกาสชี้แจงด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ถ้ามีคำถาม ตนก็พร้อมชี้แจง เพราะวันนี้จะเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย โดยลาราชการไว้แล้วตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป”

    โต้นักข่าวรัฐบาลชุดนี้มีทั้งเปิด-ปิดงานใหม่ตลอด

    ผู้สื่อข่าวถามว่า บุคลิกของนายกรัฐมนตรีที่เป็นซีอีโอเก่าเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ เพราะเมื่อก่อนเป็นซีอีโอ ก็จะปิดไซต์งานได้ตลอด แต่พอเป็นนายกฯ ไม่ค่อยปิดไซต์งานได้ ทำให้ นายเศรษฐา ตอบว่า “ปัจจุบันก็มีการปิดงานไปเยอะมากพอสมควร สมัยก่อนที่เป็นซีอีโอ ก็มีการเปิดไซต์งาน มีการโอน มีการปิดงานแล้ว เปิดงานใหม่ตลอด”

    ย้ำค่าแรง 600 บาท ภายใน 4 ปีได้แน่

    เมื่อถามเรื่องค่าครองชีพในปัจจุบันไม่สัมพันธ์กับรายได้ นายเศรษฐา ตอบว่า เรื่องนี้มี 2 โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ตัวอย่างเช่น โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลพยายามเพิ่มรายได้ภาคการเกษตร ทำให้ผลิตผลต่อไร่สูงขึ้น ราคาดีขึ้น มีการเปิดตลาดใหม่ๆ มีการเซ็น FTA เพื่อยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น

    นายเศรษฐา กล่าวถึงเรื่องรายจ่ายว่า รัฐบาลมีการซับซิไดซ์ค่าไฟ ค่าน้ำมัน เรื่องการพักหนี้เกษตรกร ทำลายหนี้นอกระบบ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามทำอยู่

    ถามต่อเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้จะขึ้นเป็น 600 บาทภายใน 4 ปี นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็พยายามอยู่ เมื่อกี้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) ซึ่งรัฐมนตรีแรงงานบอกว่า 400 บาท ก็ทำได้ แต่คงยังไม่ไปถึง 600 บาททันที แต่จะทำภายใน 4 ปีที่เราพูดไว้”

    ไม่ก้าวก่ายแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการพบผู้นำเหล่าทัพของนายกรัฐมนตรี ว่าได้มีการพูดคุยถึงการแต่งตั้งโยกย้ายหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้เลย มีการพูดคุยแต่เรื่องยาเสพติดเมื่อวานนี้ เรื่องการโยกย้ายเป็นเรื่องผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ท่านจัดการอยู่แล้ว ท่านทราบบุคลากรที่เหมาะสม ใครควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายตำแหน่ง ผมไม่เคยก้าวก่ายเรื่องพวกนี้”

    ถามต่อว่า นายกฯ จะต้องเป็นผู้นำโผทหารเข้าทูลเกล้าฯ จะช่วยดูด้วยหรือไม่ หรือมอบหมายให้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูเพียงคนเดียว โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมเชื่อว่าเขามีคณะกรรมการอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าทุกท่านคงมีการพูดคุยกัน ผมเชื่อว่าทุกคนก็ให้ความเป็นธรรมกับลูกน้องตัวเองหมด”

    ถามต่อว่า รุ่นนักเรียนเตรียมทหารว่าจำเป็นต้องเป็นรุ่นเดียวกันหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่มี ผมไม่เคยมองเรื่องพวกนี้เลย เอาบุคคลที่เหมาะสม จะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือรุ่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าสายความมั่นคงเขาก็มีความตั้งใจจริงที่จะเอาคนที่ถูกงานมาอยู่ในตำแหน่งที่เขาวางไว้”

    ชี้ปม ‘ทับลาน’ เป็นมติรัฐบาลชุดก่อน – ต้องยึดหลัก กม.

    ผู้สื่อข่าวยังถามถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อน อำเภอทับลาน จังหวัดนครราชสีมา ว่าจะบริหารจัดการให้สมดุลอย่างไรระหว่างพื้นที่อนุรักษ์กับพื้นที่ทำกิน นายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องนี้ รมว. เกษตร (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ก็ชี้แจงไปแล้ว”

    “กรณีที่เป็นมติในรัฐบาลที่แล้ว มีท่านอดีตรองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานกำกับดูแล เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนก่อนจะมีการเพิกถอน ซึ่งมีอีกหลายกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายและนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป”

    ถามต่อว่า คนตั้งคำถามว่าอาจมีนายทุนเข้าไปครอบครองพื้นที่ทับซ้อน นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็เป็นไปตามกฎหมาย จะทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ผมเข้าใจว่าพื้นที่ทับลานมีพี่น้องประชาชนไปอยู่กันอยู่แล้ว”

    เมื่อถามต่อถึงความจำเป็นที่ต้องยกเลิกมติ ครม. ปี 2566 นายเศรษฐา ตอบว่า “ยังไม่มี ก็ยังศึกษาอยู่”

    ส่วนเรื่อง One Map นายเศรษฐา ย้ำว่า One Map เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

    โชว์ผลงาน ‘ท่องเที่ยว’ 6 เดือน ปั้มเงินเข้า ปท. 2 แสนล้าน

    สืบเนื่องจากที่ผู้สื่อข่าวถามนายกฯ ถึงผลงานอันเป็นรูปธรรมของรัฐบาล นายชัย รายงานว่า รัฐบาลทำหลายเรื่อง โดยมีผลงานที่เป็นรูปธรรมหลายเรื่อง

    นายชัย กล่าวถึงเรื่องแรกคือการท่องเที่ยวว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 17.5 ล้านคน ส่วน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยว 13 ล้านคน เท่ากับว่า 6 เดือนนี้เพิ่มมา 4.5 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 48,000 บาท

    “แปลว่าด้วยนโยบายวีซ่าฟรีจีน อินเดีย รัสเซีย บวกกับการไปขันน็อตเรื่องการให้บริกาารการสร้างความประทับใจความสะดวกสบายในการเดินทาง การเพิ่มเที่ยวบินต่างๆ ทำให้สามารถอาศัยเครื่องจักรทางเศรษฐกิจปั๊มเงินเข้าประเทศได้มากกว่า 200,000 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นอะไรที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าคนไทยน่าจะภูมิใจผ่านในเวลาแค่ 10 เดือน” นายชัย กล่าว

    เผย ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ปชช. พอใจมากสุด

    นายชัย กล่าวถึงผลงงานที่สองคือ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ว่า รัฐบาลนี้เปลี่ยนจากการเอาผู้ให้บริการเป็นศูนย์กลาง (30 บาทรักษาทุกโรค) เป็นผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง โดยประชาชนไปเลือกใช้บริการในที่ที่ตัวเองสะดวกและรัฐตามไปจ่าย

    “เสียงสะท้อนของการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติว่าพึงพอใจนโยบายอะไรของรัฐบาลมากที่สุด คะแนนออกมา 68% ประชาชนพอใจ ‘นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่’ มากที่สุด” นายชัย กล่าว

    ปลื้มดันราคายางขึ้นสูงสุด 90 บาท/กก.

    นายชัย กล่าวถึงเรื่องผลผลิตการเกษตร โดยยกตัวอย่างเรื่องยางพาราว่า หลายปีที่ผ่านมา ราคายางพาราที่ดีที่สุดอยู่ที่ 55 บาทต่อกิโลกรัม แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 45 บาทต่อกิโลกรัม บางช่วงลงไป 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลนี้เข้ามา เคยขึ้นไปสูงสุด 90 บาทต่อกิโลกรัม และปัจจุบันอยู่ที่ 66 – 67 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ราคายางพาราที่เกษตรกรชาวสวนยางขายได้ ได้ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 บาทต่อกิโลกรัม

    “ยางก็ราคาดี อ้อยปีนี้ก็ราคาดี กระทั่งล่าสุดผลปาล์มสดที่มีปัญหาเรื่องราคาตก รัฐบาลก็ใช้เวลาสั้นๆ ในการวิเคราะห์โดยไม่ต้องใช้เงิน ใส่ใจและใส่ความตั้งใจ ใส่ฝีมือเข้าไป ราคาปาล์มสดที่ตกลงมาก็ขยับขึ้นไป ในพื้นที่ภาคใต้อาจจะทะลุ 5 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้นพืชผลทางการเกษตรราคาหลายๆ ตัว ราคาดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา” นายชัย กล่าว

    ปลดหนี้นอกระบบ 150,000 คน สูงสุดเป็นประวัติกาล

    นายชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งในอดีตไม่เคยมียุคไหนที่ทำได้ ถึงแม้จะยังไม่เข้าเป้าอย่างที่รัฐบาลต้องการ แต่ก็แก้ได้แล้วกว่า 150,000 ราย

    “เคลียร์หนี้ ลดหนี้ ลดปัญหาไปได้เยอะสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า หนี้ในระบบหลายๆ กอง โดยเฉพาะหนี้ กยศ. รัฐบาลสามารถแก้ได้หลายล้านราย และปลดเปลื้องพันธนาการของคนค้ำประกันที่ต้องติดหล่มเป็นล้านราย

    “ผมคิดว่าถ้ามีใจเป็นธรรม ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงก็จะเห็นว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นจริงหรือไม่จริง” นายชัย กล่าว

    มติ ครม.มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จว.ชายแดนใต้อีก 3 เดือน

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและรับทราบ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้

    1.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่

        -จ.นราธิวาส ยกเว้น อ.ยี่งอ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุคิริน
        -จ.ปัตตานี ยกเว้น อ.ยะหริ่ง อ. ปานาเระ อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.ทุ่งยางแดง อ.กะพ้อ และ อ.แม่ลาน
        -จ.ยะลา ยกเว้น อ.เบตง อ.รามัน อ.กาบัง และ อ.กรงปินัง
        ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 77 พร้อมทั้งร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ ได้แก่
        (1) ร่างประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.นราธิวาส ยกเว้น อ.ยี่งอ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.ปัตตานี ยกเว้น อ.ยะหริ่ง อ. ปานาเระ อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.ทุ่งยางแดง อ.กะพ้อ และ อ.แม่ลาน และจ.ยะลา ยกเว้น อ.เบตง อ.รามัน อ.กาบัง และ อ.กรงปินัง
        (2) ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่ ครม. กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลบังคับใช้

    และมีมติรับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่ นรม. กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลบังคับใช้

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สมช. รายงานว่า กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สรุปผลการปฏิบัติงาน เพื่อประกอบการพิจารณาขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 77 โดย

      -สถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ห้วงวันที่ 20 เมษายน 2567-13 มิถุนายน 2567 ปรากฎการก่อเหตุรุนแรงจำนวน 10 เหตุการณ์ ฝ่ายมั่นคงในพื้นที่ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าการก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับห้วงระยะเวลาก่อนหน้า

      -มาตรการลดผลกระทบต่อการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติการ และการสร้างความโปร่งใสในการจับกุมตัวและควบคุมตัว

      -การประเมินผล พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฯ คิดเป็นร้อยละ 66.20

    โดยในคราวประชุม คกก. บริการสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่3/2567 วันที่ 25 มิถุนายน 2567 เห็นว่า การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ จชต. เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน จึงมีมติเสนอให้ ครม. พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่ จชต. ยกเว้น อ.ยี่งอ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ. นราธิวาส อ.ยะหริ่ง อ. ปานาเระ อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.ทุ่งยางแดง อ.กะพ้อ และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง อ.รามัน อ.กาบัง และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 77

    ชงร่าง พ.ร.บ.งบฯกลางปี’67 เข้าสภา 17 ก.ค.นี้

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว พร้อมเอกสารประกอบงบประมาณ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ และมีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. จำนวน 32 ท่าน

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สงป. เสนอว่า ครม. ได้มีมติ (2 กรกฎาคม 2567) รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. และให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. และให้ สงป. ดำเนินการจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อนำเสนอ ครม. ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อดำเนินการตามนัย ครม. ดังกล่าว สงป. ได้ดำเนินการ ดังนี้

      – เผยแพร่รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ผ่านทางเว็บไซต์ของ สงป. เรียบร้อยแล้ว

      – สงป. จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. และเอกสารประกอบงบประมาณ รวม 3 เล่ม เรียบร้อยแล้ว

      – ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนด ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากภาษีและรายได้อื่นโดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการจำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาเพื่อดำเนินการ

    โดยที่ประชุม ครม. ยังได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. จำนวน 32 ท่าน

    ทั้งนี้ สงป. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด จึงเห็นสมควรเสนอการกำหนดจำนวนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. จำนวน 32 ท่าน โดยที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบ และให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (กำหนดช่วงเวลาตาม มติ ครม. 21 พฤษภาคม 2567)

    จัดงบฯ 1,939 ล้าน จ่าย กฟน.-กฟผ.แบกค่าไฟแทน ปชช. 17 ล้านราย

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใช้จ่ายงบประมาณในวงเงิน 1,939.75 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายจ่ายเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าไฟฟ้าเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยกรอบวงเงินของ กฟน. จำนวน 356.30 ล้านบาท และเป็นกรอบวงเงินของ กฟภ. จำนวน 1,583.45 ล้านบาท โดยให้ กฟน. และ กฟภ. เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) รายงานว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาพลังงานของประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าแก่ประชาชน มท. โดย กฟน. และ กฟภ. ได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 (ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 21 สตางค์ต่อหน่วย ก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสามารถประมาณการงบประมาณที่ใช้ดำเนินการได้ ดังนี้

    ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567

      -กฟน. ผู้ใช้ไฟฟ้า 2.38 ล้านราย วงเงิน 356.30 ล้านบาท
      -กฟภ. ผู้ใช้ไฟฟ้า 15.35 ล้านราย วงเงิน 1,583.45 ล้านบาท
      รวม ผู้ใช้ไฟฟ้า 17.73 ล้านราย วงเงิน 1,939.75 ล้านบาท

    สงป. แจ้งว่า นรม. ได้ให้ความเห็นชอบ มท. โดย กฟน. และ กฟภ. ใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายจ่ายเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,939.75 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติและแผนการใช้จ่ายงบฯ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป

    มท. แจ้งว่า การช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าไฟฟ้า/ค่าครองชีพแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขับเคลื่อนได้ในระยะต่อไป

    มท. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อ ครม. ตามนัยมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว

    มอบ กต.ชง UN ถอนข้อสงวนที่ 22 ในอนุสัญญาสิทธิเด็กฯ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ต่อองค์การสหประชาชาติต่อไป ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่าง ๆ 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม มีหลักการสำคัญ คือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติและหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 197 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567)

    ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 โดยขณะนั้นได้ตั้งข้อสงวนไว้ จำนวน 3 ข้อ ได้แก่

      (1) ข้อ 7 ว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด สถานะบุคคลและสัญชาติ
      (2) ข้อ 22 ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ
      (3) ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา

    ต่อมาภายหลังการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาและสถานะบุคคล ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวน ข้อ 29 เนื่องด้วยการศึกษาของประเทศไทยมีความหลากหลายและมีการจัดการศึกษาให้แก่ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และข้อ 7 เนื่องด้วยประเทศไทยได้มีนโยบายและการดำเนินงานเพื่อประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐานแก่เด็กทุกคนในประเทศไทย ทั้งในด้านกฎหมาย ด้านการศึกษาและด้านสุขภาพอนามัย โดยยังคงเหลือข้อสงวนอีก 1 ข้อ คือ ข้อ 22 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศสุดท้ายของรัฐภาคีที่ยังคงตั้งข้อสงวนข้อนี้ไว้

    จากการที่ประเทศไทยได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 3-4 ต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ1 เมื่อปี 2555 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 และรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รอบที่ 1 เมื่อปี 2554 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยพิจารณาถอนข้อสงวนภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยประเทศไทยรับข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อที่ประชุม และในการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก UPR รอบที่ 2 เมื่อปี 2559 ประเทศฝรั่งเศสเสนอแนะให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ

    สาเหตุของการตั้งข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ในช่วงที่ประเทศไทยพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ปี 2531-2535 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป พยายามชักนำรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ให้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย .ค.ศ. 1951 ทำให้เกิดความเข้าใจว่าหากไม่มีข้อสงวน ข้อ 22 จะทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการจัดหาที่พักพิงและการดูแลผู้ลี้ภัยในการตั้งถิ่นฐานถาวรที่ไม่เป็นไปตามการดำเนินการตามกรอบกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรมได้ จึงเป็นเหตุผลให้ประเทศไทยยังคงตั้งข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ไว้

    พม. ได้จัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ความพร้อมของประเทศไทยต่อการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

      1. คำนิยามและขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายภายใต้อนุสัญญาฯ ไม่ได้มีการจำกัดความไว้ชัดเจน ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้รัฐภาคีสามารถนิยามคำว่า “เด็กลี้ภัย” และสามารถกำหนดขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมตามกฎหมายและมาตรการที่ใช้อยู่ภายในประเทศได้ โดยเมื่อปี 2564 ประเทศไทย (กรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) ได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “เด็กลี้ภัย”3 “ตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ คือ “เด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ” และมีคำจำกัดความ คือ “บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยอายุไม่ถึง 18 ปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่เด็กนั้นที่เข้ามาหรือพำนักอยู่ในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนา โดยมีเหตุอันจะเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร”

      2. สถานการณ์เกี่ยวกับเด็กที่ได้รับสิทธิตามข้อ 22 ในประเทศไทย ประเทศไทยให้การช่วยเหลือบุคคลที่หลบหนีจากการประหัตประหารบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรมมากว่า 70 ปี ซึ่งมีจำนวนกว่าล้านคนเคยพักพิงอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวก่อนเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือไปสู่ประเทศที่สาม โดยมีการจำแนกเด็กเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

        (1) กลุ่มเด็กผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา จากเหตุการณ์ความรุนแรงในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและชาติพันธุ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในเมียนมาตั้งแต่ปี 2531 ชาวเมียนมาได้หนีภัยการสู้รบเข้ามาแสวงหาที่พักพิงในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประชากรเด็กจำนวนประมาณ 32,000 คน คิดเป็นร้อยละ 41 ของประชากรผู้หนีภัยการสู้รบทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยได้มีการให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 9 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งมีการให้บริการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การฝึกอาชีพ การบริการสุขภาพ รวมถึงพัฒนากลไกคัดกรองผู้หนีภัยการสู้รบ

        (2) กลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงในเขตเมือง ประชากรกลุ่มนี้มีความหลากหลายและเพิ่มมากขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใหญ่ในประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ตาก โดยมีทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้าประเทศไทยมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและพำนักต่อในประเทศภายหลังเอกสารตรวจลงตราหมดอายุ และกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศไทยผิดกฎหมายโดยผ่านเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ประมาณการว่า มีประชากรเด็กจำนวน 1,800 คน คิดเป็นร้อยละ 35 ของประชากรผู้ลี้ภัยในเขตเมืองทั้งหมด ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมาผู้ลี้ภัยในเขตเมืองจำนวนหนึ่งได้รับการคัดกรองเป็นบุคคลในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและองค์การพัฒนาเอกชนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

    นอกจากนี้ ในด้านการศึกษา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองสิทธิในการจัดการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ให้เด็กทุกคนในประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงด้วย

    ความพร้อมของประเทศไทยในการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศไทยได้ตีความข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ให้เป็นไปภายใต้กรอบการดำเนินการรองรับการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งด้านกลไก มาตรการ กฎหมาย พันธกรณี กติกา และตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยรองรับ (เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อบทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเด็กลี้ภัยอยู่ด้วย) ส่งผลให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของประเทศไทยเป็นมาตรการที่เหมาะสมตามอนุสัญญาฯ ข้อ 22 เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งให้ความคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างครอบคลุมและไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการถอนข้อสงวน ข้อ 22 บางประการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลระบุตัวตนเด็ก การกำหนดบริการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจนในประเด็นการเข้าถึงบริการ ระบบคัดกรอง แนวทางการส่งต่อบริการ รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง แต่ประเทศไทยได้ดำเนินการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนบริการสำหรับเด็กที่ได้การรับรองสิทธิตามข้อ 22 โดยจะได้มีการตอบสนองต่อข้อห่วงใยในประเด็นต่าง ๆ เพื่อยกระดับการดูแลเด็กทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้พัฒนาระบบการดูแลเด็กในอนาคต

    แผนปฏิบัติการการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ4 ได้จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ ตัวชี้วัดหลัก และกรอบระยะเวลาอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิเด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ เพื่อยกระดับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สรุปได้ ดังนี้

    ทั้งนี้ จากผลการศึกษาข้างต้นพบว่า การถอนข้อสงวน ข้อ 22 ไม่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 แต่ประการใดและไม่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยวิธีหรือการดำเนินการอื่นใด ซึ่งขัดต่อกรอบกฎหมายที่มีในประเทศ โดยการดำเนินมาตรการการช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัยจะเป็นไปตามหลักการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และไม่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องผูกมัดการดำเนินงานตามแนวทางหรือกฎหมายในการให้ความช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัยใด ๆ ที่นอกเหนือจากกรอบกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศ เห็นได้จากที่ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเกือบทั้งหมดได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในขณะที่จำนวนรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยนั้นไม่ได้มีการรับรองจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติเพื่อเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในทุกประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียหรือประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

    ประโยชน์จากการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ

      1) เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างปราศจากการเลือกปฏิบัติยึดประโยชน์ของเด็กเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครองและดูแลช่วยเหลือเท่าที่จะเป็นไปได้
      2) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศด้านเด็กในประเทศไทย สามารถดำเนินงานในด้านของเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐานได้อย่างครอบคลุม
      3) เป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยและเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับคำมั่นที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ในเวทีระหว่างประเทศและเป็นการพัฒนาภาพลักษณ์ที่ดีและมุมมองด้านบวกของประเทศไทย รวมถึงลดการแทรกแซงหรือการตั้งคำถามโดยไม่จำเป็นในประเด็นสิทธิมนุษยชน

    คณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ และมอบหมายให้ พม. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

    ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาเพื่อสนับสนุนเรื่องการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ มาจากงบประมาณแผ่นดิน หมวดงบดำเนินงาน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ตามที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณ (สงป.)

    ลดขนาดกองทัพ – จัด ‘เออร์ลี่รีไทร์’ ยศพันเอกขึ้นไปรับ 7-10 เท่า

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม (กห.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 โดยผู้ที่ลาออกได้รับสิทธิประโยชน์ตามโครงการฯ กำหนด รวมทั้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุนดำเนินการการโครงการดังกล่าว ตามที่ กห. เสนอ

    ทั้งนี้ กห. จะเริ่มดำเนินการโครงการฯ เดือนกรกฎาคม 2567 และจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อให้ทันเกษียณอายุราชการภายในเดือนตุลาคม 2567

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กห. มีแผนปรับลดกำลังพลนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายทหารปฏิบัติการ ให้เหลือร้อยละ 50 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2571 และต่อมามีแผนปฏิรูปการบริหารจัดการกำลังพลของ กห. กำหนดเป้าหมายการปรับลดกำลังพลลงร้อยละ 5 ของยอดกำลังพล ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2570 กห. จึงได้จัดทำแนวทางการดำเนินโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กห. โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านกำลังพลของ กห. ได้ตรงจุด มีระยะเวลา 3 ปี และ กห. ได้ประมาณการผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวม 3 ปี ประมาณ 732 นาย (ปีละ 244 นาย) และสามารถประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 4,479.84 ล้านบาท รายละเอียดสรุปได้ดังนี้

    หลักการจูงใจข้าราชการทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วยให้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการโดยสมัครใจ เพื่อลดความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง

    วัตถุประสงค์

      1) เพื่อปรับขนาดอัตรากำลังพลของ กห. ให้มีความเหมาะสม
      2) เพื่อลดความคับคั่งของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ซึ่งเป็นกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง
      3) เพื่อประหยัดงบประมาณด้านบุคลากรของรัฐระยะยาว

    เป้าหมายข้าราชการทหารชั้นยศพันเอก นาวาเอกและนาวาอากาศเอกขึ้นไป ซึ่งดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และเป็นผู้มีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ นับถึงวันก่อนออกจากราชการตามโครงการฯ และมีเวลาราชการเหลือ 2 ปีขึ้นไป นับตั้งแต่วันที่ออกจากราชการตามโครงการฯ

    การดำเนินโครงการ/เงื่อนไข

      1. จัดสรรจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ แยกตามชั้นยศและตำแหน่งให้กับหน่วยขึ้นตรง กห. กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ
      2. แต่งตั้ง คกก. พิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และคัดเลือกกำลังพลเข้าร่วมโครงการตามเอนไขที่กำหนด
      3. กรณีมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก ให้พิจารณาจากปัจจัยตามลำดับดังนี้ ตำแหน่ง อายุ
      4.ไม่ให้นำอัตราตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ที่ว่างจากการเข้าร่วมโครงการฯ มาใช้สำหรับการบรรจุทดแทนกำลังพลในตำแหน่งอัตราแรกบรรจุทุกกรณี
      5. ผู้ที่จะปรับทดแทนจะต้องเป็นผู้เหลืออายุราชการไม่เกิน 1 ปี หรือจะเกษียณอายุราชการในปีงบฯ นั้นเท่านั้น เพื่อ กห. จะดำเนินการปิดอัตราดังกล่าวต่อไป
      6. ตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ไม่ให้มีการบรรจุทดแทนทุกกรณี
      7.ห้ามบรรจุกลับเข้ารับราชการประจำ และห้ามทำสัญญาจ้างกลับเข้าเป็นพนักงานราชการ

    สิทธิประโยชน์ อาทิ สิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อน 7-10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินหรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆ ตามสูตรการคำนวณ ดังนี้

    เงินก้อน=[5+อายุราชการที่เหลือ (ปี)] x เงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) แต่สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)

    แหล่งเงินงบประมาณ – ใช้งบประมาณด้านบุคลากรของ กห. ดำเนินการภายในกรอบวงเงินงบประมาณที่ กห. จัดสรรในวงเงิน 600 ล้านบาท โดยไม่ของบกลางเพิ่มเติม แบ่งการดำเนินโครงการฯ ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 ในวงเงิน จำนวน 200 ล้านบาท/ปี

    การรายงานผลการปฏิบัติ – หน่วยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ รายงานผลการดำเนินโครงการฯ รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภายใน 30 วัน หลังจากวันที่มีคำสั่งให้ข้าราชการทหารออกจากราชการของแต่ละปี เพื่อรวบรวมและสรุปผลนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

    ผ่าน กม.คุมเข้มสารปรุงแต่งบุหรี่

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียมพ.ศ. … ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โดยที่กฎกระทรวง (พ.ศ. 2540) ไม่ได้กำหนดว่าสารที่ใช้ในการปรุงแต่งชนิดใดเป็นสารต้องห้าม และไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมปริมาณของสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบมีการเติมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งหลายชนิด รวมถึงไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก

    สธ. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง และได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว รวมทั้งได้ดำเนินการวิเคราะห์การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ด้วย

    ร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญดังนี้

      1.กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ที่จะขายในราชอาณาจักรต้องแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้
      2.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องไม่มีสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง สารที่ทำให้เกิดสีอันอาจจูงใจ หรือ ดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารที่ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือลดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสารที่ทำให้เข้าใจว่าเพิ่มพลังงานและความมีชีวิตชีวา
      3.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องมีปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่เกินปริมาณที่กำหนด ได้แก่ (1) ทาร์ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน (2) นิโคติน ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อมวน และ (3) คาร์บอนมอนอกไซต์ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน
      4.กำหนดให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ดำเนินการด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
      5. กำหนดให้ใบรับรอง มีอายุ 3 ปี กรณีต้นฉบับใบรับรองชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอรับใบแทนใบรับรอง ภายใน 15 วัน และให้ใบแทนใบรับรองมีอายุเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามต้นฉบับใบรับรอง
      6. กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลส่วนประกอบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในกรณีที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน
      7. กำหนดค่าธรรมเนียมใบรับรองอัตราฉบับละ 100,000 บาท และใบแทนใบรับรองอัตราฉบับละ 2,000 บาท
      8. กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภายในระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้ ให้ยกเว้นการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง และการควบคุมปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบปรับตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย

    ทั้งนี้ กค. มีความเห็นว่า

      -สธ. ควรศึกษาปริมาณการใช้ส่วนประกอบที่เหมาะสม ไม่ให้เป็นกลิ่น หรือ รสที่เด่นกว่าธรรมชาติของยาสูบ
      -การที่ร่างกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เมนทอล ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืชตระกูลมินต์ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้พืชตระกูลมินต์ได้เป็นถ้อยคำที่ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกันเอง ดังนั้นขอให้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับสารอื่นใดที่ทำให้เกิดรสชาติและหรือกลิ่นของเมนทอล และชะเอมด้วย และถ้อยคำที่ว่า “…หรือสารอื่นใดที่ทำให้เกิดรสชาติหรือกลิ่นอันอาจจูงใจหรือดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบหรืออาจทำให้การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบง่ายขึ้น…” อาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย
      -การกำหนดกรอบระยะเวลาควรมีการหารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบ และชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบ เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในการบังคับใช้ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจกต้องมีระยะเวลาในการปรับตัวหลังการบังคับใช้

    และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เห็นว่า ครม. สามารถพิจารณาอนุมัติหลักการรร่างกฎกระทรวงนี้ได้ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวร่างข้อ 5 ที่กำหนดว่าส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องไม่มีสารที่ใช้ในการปรุงแต่งตามที่กำหนดไว้ โดยยกเว้นเมนทอล และชะเอม นั้น อาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎกระทรวงนี้ และวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาฯ จึงสมควรที่ สธ. จะได้มีการศึกษาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นจากแพทย์และผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

    รับทราบแนวทางแก้สินค้าเกษตรตกต่ำ 11 ญัตติ 9 รายการ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม 11 ญัตติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอผลการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวม 11 ญัตติมาเพื่อดำเนินการ ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้

      1. สินค้าข้าว มีมาตราการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร)

      2. สินค้ามันสำปะหลัง มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังปี 2566/67 เช่น โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง โดยสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการ ลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคาร เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการรับซื้อมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรใช้เป็นเงินทุนในการรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันเส้นจากเกษตรกร และ/หรือสถาบันเกษตรที่มีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก

      3. สินค้าอ้อย มีกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลมาตรการและการแก้ไขปัญหาสินค้าอ้อยทั้งระบบ

      4. สินค้ายางพารา ได้จัดทำมาตรการระยะสั้น เช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพให้เกษตรกรชาวสาวยางรายย่อย สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะปานกลาง เช่น ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตจากยางพาราขั้นต้นเป็นการแปรรูปขั้นกลาง จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายให้เพิ่มมากขึ้น และระยะยาว เช่น วิจัยและส่งเสริมการลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา

      5. สินค้าปาล์มน้ำมัน ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน โดยกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจุดรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน (ลานเท) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผลปาล์มน้ำมันร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยใช้ ตะแกรง รางเทสำหรับลำเลียง ทะลายปาล์มน้ำมันที่เป็นตะแกรง อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดสำหรับแยกผลปาล์มน้ำมันร่วง” อันเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และจัดทำโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อให้ราคาซื้อขายจะไม่ผันผวน ทำให้เกษตรกรได้รับรายได้ที่เป็นธรรม

      6. สินค้าผลไม้ ได้มีแนวทางการบริหารจัดการ แบ่งเป็นระยะสั้น เช่น จัดตั้งศูนย์รวบรวม/กระจาย ระดับพื้นที่เพื่อเร่งกระจายผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ระยะปานกลาง เช่นจัดทำแผนบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตกระจุกตัว ส่งเสริมและสนับสนุนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ระยะยาว เช่น ส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตตลาดผลไม้เมืองร้อนที่คุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

      7. สินค้าปศุสัตว์ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์ เช่น ใช้กลไกกำกับดูแลของคณะกรรมการรายชนิดสัตว์ เช่น สินค้าสุกร ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายสุกรและผลิตภัณฑ์ สินค้าโคกระบือ ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ- กระบือ ประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งโคกระบือหรือซากโคซากกระบือ และผลักดันการเปิดตลาดส่งออกโคและกระบือมีชีวิต รวมทั้งซากโคและซากกระบือ ไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

      8. สินค้ากุ้ง ได้มีมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมการใช้ระบบ Solar Cell เพื่อลดต้นทุนการผลิต กรมประมงได้ดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 (แบบผง) และปม.2 (แบบน้ำ) เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง และได้ดำเนินการควบคุมการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

      9. สินค้าปลากระพงขาว ได้ดำเนินมาตรการ เช่น ยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้า หากพบสารตกค้างจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ และสั่งทำลายหรือดำเนินการอื่นใดตามเห็นสมควร และส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ในการเลี้ยง เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ ควบคุมการเกิดกลิ่นโคลน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการใช้ยาและสารเคมี และลดต้นทุนการเปลี่ยนถ่ายน้ำ

    ผ่านร่าง กม.ดูแล ‘สุขอนามัย – สวัสดิภาพ’ คนประจำเรือ

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กษ. เสนอว่า กฎกระทรวงระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ พ.ศ. 2559 กำหนดต้องจัดให้มีคนประจำเรืออย่างน้อย 1 คน ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากสถาบัน หรือ หน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ โดยกฎกระทรวงนี้ คนประจำเรือส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานสามารถเปลี่ยนเรือประมงหรือ สลับลำเรือประมงภายในเจ้าของเรือประมงเดียวกันได้ กรณีนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแรงงานประมงที่ทำงานบนเรือประมงลำใดลำหนึ่งแล้วจะทำให้เรือประมงลำนั้น ไม่มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเจ้าของเรือจะไม่สามารถนำเรือประมงลำที่มีผู้ผ่านการอบรมออกไปทำการประมงได้ในรอบนั้น ทั้งนี้ การอบรมจะต้องเป็นการอบรมจากสถาบัน หรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ได้มีอยู่มากในประเทศ และจะต้องมีจำนวนผู้เข้าอบรมเพียงพอ ดังนั้น การเพิ่มผู้ควบคุมเรือให้เป็นผู้ที่สามารถเข้าอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้จะเป็นผลดีในการย้ายเรือประมง เนื่องจากผู้ควบคุมเรือจะอยู่ประจำที่เรือประมงไม่มีการสับเลปี่ยนหมุนเวียนบ่อย จึงทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบการสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้โดยไม่ต้องเสียสิทธิหรือต้องรอเวลาสำหรับการอบรมคนประจำเรือ

    กษ. มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถใช้ผู้ควบคุมเรือที่ทำงานอยู่บนเรือประมง ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐแทนการใช้คนประจำเรือได้

    กรมประมงได้จัดการประชุมร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาหารือร่างกฎหมายประมงลำดับรอง ครั้งที่ 5/2566 ในวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 ทางสมาคมฯ ได้เสนอการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว โดยเปลี่ยนถ้อยคำจาก “คนประจำเรือ” เป็น “คนบนเรือ” ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่สมาคมฯ เสนอ

    โดยสาระสำคัญของร่างกำกระทรวง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ พ.ศ. 2559 เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถใช้ผู้ควบคุมเรือที่ทำงานอยู่บนเรือประมงซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐแทนการใช้คนประจำเรือได้

    เห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการปี 2567-2570

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) และมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไป ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายหลังจากที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2556-2561) สิ้นสุดลง สำนักงาน ก.พ.ร. ไม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563 เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) และได้มีการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2565) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในแต่ละช่วงเวลา โดยมีแผนแม่บทซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการในแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ โดยมีแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเห็นว่า แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าวมีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการในภาพรวมสำหรับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐแล้ว จึงไม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563

    ต่อมาสำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) โดยเห็นว่า ควรมีการรวบรวมกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไว้ในที่เดียวกัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2564-2565) เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเห็นเป้าหมายในภาพรวมของการพัฒนาระบบราชการ และกำหนดจุดมุ่งเน้นในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นการเตรียมการรองรับการพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เป็นการถ่ายทอดมาจากแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สำนักงาน ก.พ.ร. จึงไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยได้เสนอ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และ ก.พ.ร. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งเวียนเพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อไป

    เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2564-2565) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2567-2570)1 โดยมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ แผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) (ในประเด็นยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ตลอดจนเตรียมพร้อมรองรับภัยคุกคามและวิกฤตการณ์ระดับชาติ) โดยมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาระบบราชการของประเทศที่มีขีดสมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาครัฐสูง ประเด็นปัญหาและความท้าทาย รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดภาพรวมและค่าเป้าหมาย สรุปได้ ดังนี้

    ยุทธศาสตร์ (เพื่อขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายตามข้อ 3.1) จำนวน 3 ยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แนวทางการขับเคลื่อนตัวอย่างโครงการสำคัญ (Flagship Project)5 และหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้

    ประโยชน์ของร่างยุทธศาสตร์ฯ

      1. เป็นการวางทิศทางและเป้าหมายการขับเคลื่อนระบบราชการในภาพรวมที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
      2. เป็นแนวทางสนับสนุนให้หน่วยงานพัฒนาระบบการทำงานให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชน รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
      3′ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการภาครัฐเพื่อตอบโจทย์ประชาชนและประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย ทั่วถึง สะดวก ประหยัด และครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม

    สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ และขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. นำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาปรับรายละเอียดของร่างยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ ตามความเห็นของ สศช. และปรับปรุงให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลแล้ว โดย ก.พ.ร. ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับปรับปรุงดังกล่าวเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไป

    ขึ้นเงินเดือนครูเป็น 18,150 บาท ใน 2 ปี

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายการเงินอุดหนุนรายบุคคล ในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครู สำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณหรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร แล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในโอกาสแรกก่อน โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไป เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป สำหรับการอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก กรณีโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนไม่เกิน 200 คน เป็นเวลา 4 ปี (เดือนพฤษภาคม 2567 ถึงเดือนกันยายน 2570) เห็นสมควรให้กระทรวงศึกษาธิการรายงานผลการศึกษาจากการที่เคยได้รับความช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ว่ามีการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบก่อนเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวอีกครั้ง นอกจากนี้การกำหนดขนาดโรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้การจัดกลุ่มขนาดโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

    นายคารม กล่าวว่า การปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายการเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยปรับฐานเงินเดือนครูในการคำนวณเงินอุดหนุน จากอัตรา 15,050 บาท เป็นอัตรา 18,150 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี เริ่มดำเนินการเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ตามแนวทางการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาพื้นฐาน รายการเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (26 มิถุนายน 2550) ที่อนุมัติหลักการให้การอุดหนุนเป็นเงินรายหัวนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเงินสมทบเป็นเงินเดือนครู โดยมีการปรับเพิ่มเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูได้ในกรณีปรับเพิ่มในอัตราเดียวกันกับการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ

    ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี เคยมีมติเห็นชอบปรับเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินอุดหนุนสมทบเป็นเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนเพิ่มรวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง ในช่วงปี 2547-2560 (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560) และเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (28 พฤศจิกายน 2566) ที่เห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้นทุกคุณวุฒิ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท ภายใน 2 ปี ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นควรปรับเพิ่มเงินสมทบเป็นเงินเดือนครู เพื่อให้ครูในโรงเรียนเอกชนได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าวุฒิที่ทางราชการกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น รวมทั้งขออนุมัติการอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนนักเรียนไม่เกิน 200 คน) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 ถึงเดือนกันยายน 2570 และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กที่มีความเหมาะสมต่อไป รวมทั้งขอความเห็นชอบในหลักการให้ใช้งบประมาณสำหรับดำเนินการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลที่ปรับเพิ่ม สรุปได้ ดังนี้

    ประกาศผังเมืองรวม จ.กาญจนบุรี

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และ 2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม โดยกำหนดให้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ในที่ดินบริเวณหมายเลข 4.1 สามารถดำเนินการหรือประกอบกิจการโรงงานบางประเภท ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ ที่ไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 2 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตผลเกษตรกรรม) โรงงานลำดับที่ 4 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งมิใช่สัตว์น้ำ) โรงงานลำดับที่ 8 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผัก พืช หรือผลไม้) โรงงานลำดับที่ 9 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืช หรือหัวพืช) โรงงานลำดับที่ 11 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ น้ำตาล ซึ่งทำจากอ้อย บีช หญ้าหวาน หรือพืชอื่นที่ให้ความหวาน) โดยให้มีระยะห่างตามแนวขนานริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของคลองประปาฝั่งตะวันตกและคลองทวนไม่น้อยกว่า 200 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหรือโครงการของรัฐบาล ตาม (ร่าง) กรอบแผนพัฒนาภาคกลาง (พ.ศ. 2566 – 2570) พัฒนากาญจนบุรี – ราชบุรี – เพชรบุรีตอนบน ให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ และนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี) กำหนดกรอบการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง สนับสนุนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรกรรมโดยทิศทางการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2566 – 2570 สอดรับกับนโยบายการพัฒนาดังกล่าว ที่เน้นการพัฒนาเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมสีเขียว ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

    “มท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติว่า “เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 29 แล้ว ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดยื่นคำร้องตามมาตรา 30 หรือมีแต่คณะกรรมการผังเมืองสั่งยกคำร้องดังกล่าวหรือเมื่อกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ดำเนินการเพื่อออกประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า ในการนี้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำประกาศกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน” แล้ว ทั้งนี้ ในกระบวนการวาง และจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะได้จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว” นายคารม กล่าว

    ต่ออายุ ‘สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข’ นั่งผู้ว่า กทพ.อีกวาระ

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งสมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายวิทิต มันตาภรณ์ เป็นสมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก สืบต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการละครและดนตรี (โขน ละคร และดนตรี) (นักวิชาการละครและดนตรีทรงคุณวุฒิ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร (นักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดมีจำนวนกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาด แทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก จำนวน 1 คน และแต่งตั้งเพิ่มเติม จำนวน 1 คน รวม 2 คน ดังนี้

      1. นางสาวณัฐนิชา จงรักษ์ แทน รองศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ อุตตมากร
      2. นายธนันท์วรุตม์ ลิ้มทรงพรต

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้ง ราย นางสาวณัฐนิชา จงรักษ์ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

    6. คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ แต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องและเงินยังชีพรายเดือนแก่บุตรเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย และการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศ ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

    องค์ประกอบที่เสนอแต่งตั้งใหม่

    ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพอากาศ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และผู้แทนกรมบัญชีกลาง โดยมีผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

    หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)

      1. พิจารณาการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ รวมทั้ง วินิจฉัยและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์
      2. กำหนดแนวทาง เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติในการขอรับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
      3. รวบรวมปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดเป็นระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับการให้ความช่วยเหลือในระยะยาวต่อไป
      4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
      5. ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

    7. แต่งตั้งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อไปอีกวาระหนึ่ง

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้ง นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข เป็นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเงินเดือน 500,000 บาท รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษประจำปี และสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับ ตามมติคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 และครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ซึ่งกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไปแต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เพิ่มเติม