ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯไม่รู้จัก ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ โยนเพื่อไทยแก้ปมคดีเก่า – มติ ครม.ยกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ 8 สนามบิน

นายกฯไม่รู้จัก ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ โยนเพื่อไทยแก้ปมคดีเก่า – มติ ครม.ยกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ 8 สนามบิน

2 กรกฎาคม 2024


เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 (ครม.สัญจร) ณ หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯไม่รู้จัก ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ โยนเพื่อไทยแก้ปมคดีเก่า
  • ทุ่ม 249 ล้าน พัฒนา จว.อีสานตอนล่าง 16 โครงการ
  • มอบเกษตร – พาณิชย์ แก้โคเนื้อราคาตก
  • เล็งขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร
  • มติ ครม.ยกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ 8 สนามบิน
  • สั่ง สงป.จัดงบฯใช้หนี้ทั้งต้น – ดอกให้ครบ
  • อนุมัติวงเงินกู้ 8,510 ล้าน ยกระดับบริการ รพ. 5 แห่ง
  • ตั้ง ‘วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ’ ประธาน กลต.
  • เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 (ครม.สัญจร) ณ หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ยก ‘ร้อยเอ็ด’ เป็นจังหวัดสีขาว แก้ปัญหายาเสพติด

    นายเศรษฐา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาล ซึ่งตนได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสั่งการไปแล้วหลายหน

    “ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและรัฐมนตรีหลายท่านได้เดินทางไปภาคเหนือ และภาคอีสานหลายๆ จังหวัด ซึ่งจะใช้จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาให้เป็นจังหวัดสีขาวภายในสิ้นเดือนกันยายน” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา รายงานว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ บูรณาการและระดมความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจ ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) หน่วยงานรัฐต่างๆ ภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการ ดังนี้

      (1) ทำการเอกซเรย์ทุกพื้นที่อย่างละเอียด
      (2) แยกผู้เสพออกมา เพื่อให้ได้รับการบำบัด ขยายผลการจับกุมผู้ขายเพื่อดำเนินคดีอย่างงเฉียบขาด
      (3) ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ร่วมกันจัดหาสถานบำบัดให้เพียงพอ เนื่องจากมีการกวาดล้างครั้งใหญ่
      (4) ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน เข้ามาช่วยการส่งคืนชุมชน โดนจัดหาอาชีพและงานให้ทำ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิต
      “เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อได้รับการบำบัดแล้วออกไปสู่อาชีพที่ควรจะทำ ต้องไม่กลับมาอีก ตัวเลขประมาณ 90% ประสบความสำเร็จ อีก 10% ก็ยังกลับไปเสพอีก เราต้องพยายามทำ 10% ให้เป็น 0 ให้ได้ ฉะนั้นทั้งสองกระทรวงนี้ก็จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างอาชีพให้พี่น้องประชาชน” นายเศรษฐา กล่าว
      (5) ให้กระทรวงการศึกษา และกระทรวงอุดมศึกษาฯ เร่งหามาตรการที่เหมาะสมในการสอดส่องดูแล และอย่าให้ลูกหลานเสพยา โดยขอให้โรงเรียนร่วมกันปลูกฝังค่านิยมคุณค่าใหม่ เด็กและเยาวชนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
      “สืบเนื่องมาจาก 2 3 วันที่ผ่านมา ผมได้ไปเยี่ยมชมหลายๆ โรงเรียน มีการพูดคุยกับเด็ก เด็กก็มีความกังวล อยากให้ทั้งสองกระทรวงกลับมาคิดพิจารณาในการสอดแทรกโทษยาเสพติดเข้าไป ให้เด็กรับรู้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดหน้าเสาธงว่าเราจะห่างไกลยาเสพติด มีการให้ข้อมูลอย่างทั่วถึงเชิงลึก” นายเศรษฐา กล่าว
      (6) ให้สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ท้าทาย และมาตรการที่เหมาะสม โดยให้จังหวัด และให้ผู้ว่าฯ กับผู้้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

    ทุ่ม 249 ล้าน พัฒนา จว.อีสานตอนล่าง 16 โครงการ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ 16 โครงการ กรอบวงเงิน 249 ล้านบาท โดยให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดขอรับจัดสรรงบกลางปี 2567

    นอกจากนี้ นายเศรษฐา เสริมว่า ครม. ยังเห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นการเสนอของภาคเอกชน จำนวน 8 โครงการ กรอบวงเงิน 247.15 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรจากงบกลางในปีนี้

    ตั้ง คกก.ลุยจัดงานพืชสวนโลกปี’72

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ครม. รับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอในการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา ปี 2572 ที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นชอบหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาและดำเนินการให้เสร็จทันเวลา

    ไม่รู้จัก ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ โยนเพื่อไทยแจ้งปมคดีเก่า

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้ชนะการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี แต่มีคดีค้างที่ ป.ป.ช.เคยยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็ติดปัญหาข้อกฎหมาย ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายครับ ผมไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว ไม่ได้โทรหาครับ”

    “เป็นหน้าที่พรรคเพื่อไทยครับ พอดีผมไม่ได้รู้จักท่านเลย แต่ก็พร้อมครับ ใครก็ตามที่ได้รับเลือกเป็น นายกฯ อบจ. ก็พัฒนาร่วมกัน” นายเศรษฐา กล่าว

    พร้อมให้ ‘ก้าวไกล’ ตรวจสอบ

    ถามต่อเรื่อง พรรคก้าวไกล ที่บอกว่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “เป็นหน้าที่ของเขา ก็พร้อมครับ รัฐบาลพร้อมให้การตรวจสอบอยู่แล้ว”

    เล็งขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร

    เมื่อถามถึงกรณีชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยหามาตรการต่อลมหายใจ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ร้านอาหารทยอยปิดตัว นายเศรษฐา ตอบว่า “เราคงต้องไปดูในแง่ของภาพรวมมากกว่า ผมเชื่อว่ามี 2 ส่วน เชื่อว่ารายจ่ายก็สูงขึ้น แต่เราเองก็พยายามผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากยิ่งขึ้นด้วย”

    ผู้สื่อข่าวพูดว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารขอให้นายกฯ เสนอแก้กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารช่วง 14.00-17.00 น. ทำให้นายเศรษฐา ตอบว่า “ให้แก้กฎหมายเรื่องการขายแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร…ก็เดี๋ยวรับไปพิจารณาครับ”

    สั่ง 6 ข้อ บูรณาการทุกหน่วย แก้ปัญหายาเสพติด

    นายชัย รายงานว่า นายกฯ เน้นย้ำเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน และสำคัญของรัฐบาล ซึ่งท่านได้ประชุมติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสั่งการไปหลายครั้ง เพราะการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยเฉพาะในวัยรุ่นและวัยทำงาน เป็นปัญหาที่ทำลายกำลังสำคัญของชาติ โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ บูรณาการ ระดมความร่วมมือกับตำรวจ สำนักงาน ป.ป.ส. หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการ ดังนี้

      1. ทำการ X-ray ทุกพื้นที่ ด้วยการระดมกำลังตรวจปัสสาวะกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่อายุ 16 ปี ขึ้นไป ในทุกหมู่บ้าน
      2. แยกผู้เสพออกมารับการบำบัด และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม โดย สำนักงาน ป.ป.ส. และ ก.กลาโหม ขยายผลในการจับกุมผู้ขาย เพื่อดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ถือเป็นการตัด Supply side ออกจากระบบ
      3. ให้ กระทรวงสาธารณสุข แยกแยะผู้เสพตามระดับความรุนแรงมาบำบัด รักษา และส่งคืนชุมชน เมื่อมีความพร้อม โดยให้ กระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย และ กลาโหม ร่วมกันจัดหาสถานที่บำบัดให้เพียงพอ และให้แน่ใจว่าจะไม่กลับไปเสพยาอีก
      4. การส่งตัวคืนชุมชน ต้องฝึกอาชีพ หางานให้ทำและมีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิต ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และ กระทรวงแรงงาน ต้องเข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นผู้เสพอีก ซึ่งจะช่วยตัด Demand side
      5. การป้องกันผู้เสพใหม่ ให้ กระทรวงศึกษาฯ และ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เร่งหามาตรการที่เหมาะสมในการสอดส่องดูแลอย่าให้ลูกหลานเสพยา และขอให้ทางโรงเรียนร่วมกันในการปลูกฝังค่านิยมคุณค่าใหม่ “เด็กและเยาวชนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด”
      6. ให้ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเสนาธิการ ในการกำหนดเป้าหมายและ KPIs ที่ท้าทาย กำหนดมาตรการที่เหมาะสมให้กับจังหวัด พร้อมสนับสนุนการประสานงาน และทรัพยากรที่จำเป็นต่อไปและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดต้องทำงานคู่กันอย่างใกล้ชิด

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับให้ ครม.ทุกท่านช่วยกันสนับสนุนการกวาดล้างยาเสพติดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งการป้องกัน ปราบปราม และบำบัด เพราะไม่ว่าเราจะพัฒนาเรื่องต่างๆ ดีแค่ไหน แต่ถ้าคนของเรา ลูกหลานเราติดยา ประเทศก็คงเดินหน้าได้ยาก

    มอบเกษตร – พาณิชย์ แก้โคเนื้อราคาตก

    นายชัย กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องการแก้ปัญหาราคาเนื้อโคตกต่ำว่า จากการลงพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านปศุสัตว์สูงมาก โดยเฉพาะการผลิตเนื้อโค ในหลายระดับราคา แต่ยังขาดการสนับสนุนด้านการตลาด

    “นายกฯ เห็นการเลี้ยงโคเนื้อพรีเมียมที่สุรินทร์ ขายได้ 330 บาทต่อกิโลกรัม หนึ่งตัวขายได้แสนกว่าบาท หักต้นทุนและกำไร 40,000 – 50,000 บาท ขณะที่โคเนื้อทั่วไปตลาดล่าง ราคา 60 – 70 บาทต่อกิโลกรัม ขายแล้วขาดทุน แต่โคเนื้อพรีเมียมขายแล้วมีกำไร” นายชัย กล่าว

    นายชัย รายงานว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาช่วยดูเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ มาตรฐานการผลิต รวมถึงโรงเชือด และให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ เร่งแก้ปัญหาเรื่องราคาและเจรจาเปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพให้มากขึ้น เช่น ซาอุดีอาระเบีย และ จีน เป็นต้น

    เร่ง สทนช. – กรมชลฯ แก้น้ำท่วม-แล้ง

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มีความห่วงใยหลายพื้นที่ในภาคอีสาน หรือล่าสุดที่จังหวัดภูเก็ต ที่ยังประสบกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งในการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่แล้ว (25 มิ.ย. 2567) ได้อนุมัติงบกลางกว่า 7,600 ล้านบาท เพื่อเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยนายกฯ ได้สั่งการ ดังนี้

      • ให้ สนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทาน เร่งพิจารณาการดำเนินโครงการตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพปัญหา ความเร่งด่วนและสถานการณ์ในพื้นที่ประกอบกันด้วย

      • ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการร่วม กับ กรมชลประทาน ในการจัดเตรียมแผนการรับมือและแนวทางการบรรเทาผลกระทบ ที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด

    มอบ ‘ดีอี – ก.พ.ร.’ ยกระดับทุกหน่วยใช้เทคโนโลยีบริการ ปชช.

    นายชัย กล่างต่อว่า นายกฯ สั่งการให้เร่งรัดและผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับบริการ ประชาชน และยกระดับการบริหารงานราชการที่ทันสมัย โดยสั่งการให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สนง. ก.พ.ร. กำหนดแนวทางการพัฒนา และผลักดัน การปฏิบัติพร้อมตัวชี้วัด เพื่อให้หน่วยราชการที่ต้องบริการประชาชน มุ่งพัฒนาการบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว เช่น การบริการ ของหน่วยบริการสาธารณสุข การขอจดทะเบียน ขอใบอนุญาตต่างๆ ให้สะดวก และรวดเร็วขึ้น รวมทั้งผลักดันการอบรม และเพิ่มทักษะทางดิจิทัลให้กับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับให้เรียนรู้และใช้งานดิจิทัลอย่างคล่องแคล่วต่อไป

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ห้องประชุมสระบัว ด้านหลังอาคารหอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    รับทราบความคืบงบฯพัฒนากลุ่มจังหวัด

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานการดำเนินการตามผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัด ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ โดย สงป.รายงานว่า

    1. เดิมครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการตามผลการประชุมบูรณาการรวมฯ (1) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี เลย หนองคาย และบึงกาฬ) (2) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และสตูล) และ (3) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดพะเยา เชียงราย น่าน และแพร่) ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดระนอง และจังหวัดพะเยาตามลำดับ จำนวน 56 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 1,152.78 ล้านบาท

    2.ต่อมา สงป. ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการโครงการตามผลการประชุมบูรณาการร่วมฯ สรุปได้ ดังนี้

    • ครม.มีมติ (4 ธ.ค. 2566) รับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมฯ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และมีความเห็นเพิ่มเติมว่าในส่วนของโครงการของกลุ่มจังหวัดดังกล่าวให้ สงป. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากลั่นกรองโครงการของแต่ละจังหวัด โดยในครั้งนี้ สงป. แจ้งว่ามีโครงการของกลุ่มจังหวัดที่ผ่านการพิจารณาแล้ว จำนวน 25 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 299.80 ล้านบาท

      ความก้าวหน้าการดำเนินการ วงเงินรวม (ล้านบาท) 299.80 ล้านบาท จัดสรรแล้ว จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 43.21 ล้านบาท คงเหลือที่ต้องจัดสรร จำนวน 20โครงการ วงเงิน 251.59 ล้านบาท ภาคเอกชน จำนวน 172โครงการอยู่ระหว่างพิจารณาความพร้อมและความคุ้มค่าของการลงทุน รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน

    • ครม.มีมติ (23 ม.ค.2567) รับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมฯ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมทั้งเห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด และโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน จำนวน 18 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 552.10 ล้านบาท

      ความก้าวหน้าการดำเนินการ วงเงินรวม (ล้านบาท) 350 ล้านบาท คงเหลือที่ต้องจัดสรร จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 350 ล้านบาท ภาคเอกชน จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 202.10 ล้านบาท อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอทำความตกลงกับ สงป.

    • ครม.มีมติ (19 มี.ค.2567) รับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมฯ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 รวมทั้งเห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด และโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน จำวน 13 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 300.88 ล้านบาท

      ความก้าวหน้าการดำเนินการวงเงินรวม (ล้านบาท) 155 ล้านบาท คงเหลือที่ต้องจัดสรร จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 155 ล้านบาท ภาคเอกชน จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 145.88 ล้านบาท อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอทำความตกลงกับ สงป.

    ยกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ 8 สนามบิน

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

      1. แนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ

      2. ผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าที่ กค. ได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตาม และประเมินผลของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าอย่างใกล้ชิดต่อไป

    ตามที่ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย (มาตรการฯ) และมอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียดผลประโยชน์และผลกระทบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านตามที่ กค. เสนอ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมอบหมาย กค. พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้ว สรุปได้ดังนี้

    หลักการ – ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ โดยทั่วไปสามารถซื้อสินค้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (1) ของที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซื้อเพื่อใช้เองเป็นการส่วนตัว หรือ ใช้ในวิชาชีพ ราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท (2) บุหรี่ปริมาณไม่เกิน 200 มวน หรือซิก้าร์ หรือ ยาเส้น ปริมาณไม่เกินอย่างละ 250 กรัม หรือ หลายชนิดรวมกันปริมาณไม่เกิน 250 กรัม แต่บุหรี่ต้องมีปริมาณไม่เกิน 200 มวน และ (3) สุราปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร ทั้งนี้ การได้สิทธิซื้อสินค้าต่างๆ ภายในร้าน Duty Free ขาเข้าย่อมทำให้โอกาสในการจับจ่ายในการบริโภคและการซื้อสินค้าภายในประเทศมีน้อยลง

    ดังนั้น กค. จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้า Duty Free ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้าน Duty Free สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภค และการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้าน Duty Free ขาเข้าดังกล่าวมากระจายหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น

    ข้อมูลและสถิติ – ร้าน Duty Free ขาเข้า ที่ตั้งอยู่ ณ ท่าอากาศยานภายในบริเวณพื้นที่ห้องผู้โดยสารขาเข้าเพื่อแสดง และขายให้แก่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free ขาเข้าจำนวน 3 ราย ดำเนินกิจการในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ (1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (2) ท่าอากาศยานดอนเมือง (3) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (4) ท่าอากาศยานภูเก็ต (5) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (6) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (7) ท่าอากาศยานสมุย และ (8)ท่าอากาศยานกระบี่ โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้ารวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 3,021.75 ล้านบาท

    แนวทางการดำเนินการ

    กค. ได้พิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว พบว่าประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร (ประกาศกรมศุลกากรฯ) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับสิทธิการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรตามข้อ 21 และ 22 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับการพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขในการอนุญาต โดยมิได้บัญญัติเกี่ยวกับการสั่งระงับสิทธิในกรณีอื่น ๆ ไว้

    “แต่จากข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 3 ราย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร โดยยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้าตามนโยบายของรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว”

    กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีผู้ประกอบการมีความยินดีในการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการที่ กค. มีแนวคิดจะแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้าน Duty Free ขาเข้ามาหมุนเวียนใช้จ่ายในประเทศได้โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อยกเลิกการอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย สำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า

    กค. ได้ศึกษาผลประโยชน์ และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้

      (1) ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ : นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่ายและการบริโภคสินค้า และบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท

      (2) ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย: ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทาง เพื่อทดแทน หรือ ใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน

      (3) ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ : ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free จะมีการสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไปเสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาสและส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป

      (4) ผลต่อรายได้ของภาครัฐ : เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม

      (5) ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม : กรณีที่มีการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.012 ต่อปี

  • ครม.ยกเลิก ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ 8 สนามบิน
  • สั่ง สงป.จัดงบฯใช้หนี้ทั้งต้น – ดอกให้ครบ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ดังนี้

    1. อนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ดังนี้

      1.1 การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย

        (1) แผนก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 275,870.08 ล้านบาท (จากเดิม 755,710.63 ล้านบาท เป็น 1,030,580.71 ล้านบาท)
        (2) แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มสุทธิ 33,420.32 ล้านบาท (จากเดิม 2,008,893.74 ล้านบาท เป็น 2,042,314.06 ล้านบาท) และ
        (3) แผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มสุทธิ 54,555.17 ล้านบาท (จากเดิม 399,613.70 ล้านบาท เป็น 454,168.87 ล้านบาท)

      โดยมีรายละเอียด เช่น (1) การปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน) จำนวน 269,000 ล้านบาท (2) การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571 จำนวน 50,000 ล้านบาท (3) การปรับเพิ่มวงเงินแผนการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 29,200 ล้านบาท และ (4) การปรับเพิ่มวงเงินแผนการชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 25,339.17 ล้านบาท เป็นต้น

      1.2 การบรรจุโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 จำนวน 32 โครงการ/รายการ เช่น (1) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา-(ทับปุด) อำเภอเมืองพังงา-ทับปุด จังหวัดพังงา จำนวน 8.19 ล้านบาท (2) โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 จำนวน 795 ล้านบาท และ (3) ตั๋วเงินคงคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 40,000 ล้านบาท เป็นต้น

      1.3 ให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 แห่ง คือ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ [Debt Service Coverage Ratio (DSCR)] ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุง ครั้งที่ 2 โดยให้ ธพส. และ รฟท. รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปรับปรุง ครั้งที่ 2 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฯ ดังกล่าวด้วย

      1.4 มอบหมายสำนักงบประมาณ (สงป.) ให้รับข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณในส่วนของต้นเงิน และดอกเบี้ยของหนี้รัฐบาล และหนี้รัฐวิสาหกิจให้เพียงพอและสอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น โดยควรจัดสรรงบประมาณ เพื่อชำระต้นเงินกู้เฉพาะในส่วนหนี้รัฐบาลให้อยู่ระหว่างร้อยละ 2.5 ถึงร้อยละ 4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

    2. อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปกู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งอนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

    รับทราบแผนป้องกันทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในบัญชีนวัตกรรม

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    กค. รายงานว่า ได้พิจารณาข้อเสนอแนะตามมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 11 ประเด็น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น รวม 9 หน่วยงาน ได้แก่ (1) กต. (2) อว. (สวทช.) (3) พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) (4) มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) (5) สธ. (6) อก. [สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)] (7) สงป. (8) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ (9) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ซึ่ง กค. ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานดังกล่าวเพื่อขอทราบความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็นปัญหาและได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกัน และได้มีการรับรองรายงานการประชุมเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้ สามารถสรุปผลการพิจารณได้ ดังนี้

    ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
    (1) ประเด็นที่หน่วยงานต้องดำเนินการต่อ จำนวน 5 ประเด็น

      (1.1) การดำเนินนโยบายที่อาจมีอุปสรรค หากในอนาคตประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) (ปัจจุบันไทยยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกแต่เป็นผู้สังเกตการณ์) ควรให้ กค. พณ. และ กต. นำแนวทางที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 การขอใช้มาตรการในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional measures) เช่น การให้แต้มต่อซึ่งประกาศไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทย และแนวทางที่ 2 การระบุข้อยกเว้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มมธุรกิจเป้าหมายมาใช้ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

      สรุปผลการพิจารณา

      ให้ กต. พณ. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) และ กค. (กรมบัญชีกลาง) นำทั้ง 2 แนวทาง ไปใช้ประกอบการพิจารณาเจรจาต่อไป

      (1.2) ปัญหานวัตกรรมไทยไม่มีความชัดเจน ควรกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยให้มีความแตกต่างกันตามระดับนวัตกรรมไทย ซึ่งอาจจำแนกระดับนวัตกรรมไทยออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และระดับที่ 2 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยและในการจำแนกระดับนวัตกรรมไทย ควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจนและครอบคลุมถึงความเหมาะสมในประเด็นต่าง ๆ

      สรุปผลการพิจารณา

      ให้ สวทช. นำข้อเสนอแนะไปดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สวทช. อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องนี้และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ให้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร การจำแนกกลุ่มสินค้าบัญชีนวัตกรรมในรูปแบบที่ทำให้สิทธิประโยชน์เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ความเป็นไปได้ในการกำหนด Local Content ร้อยละ 50 รวมทั้งให้มีแนวทางการตรวจสอบด้วย

      (1.3) ผลิตภัณฑ์และการบริการนวัตกรรมไทย ยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากภาครัฐ ควรทบทวนหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น โดยกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การร่วมกับ สมอ. กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม

      สรุปผลการพิจารณา

    • ให้ สวทช. รับข้อเสนอแนะไปดำเนินการโดยให้ประสานกับ สมอ. เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับสินค้าบัญชีนวัตกรรมไทยที่เป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย
    • ให้ สมอ. ร่วมกับบ สวทช. กำหนด มอก. ให้กับสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยมากขึ้น
    • สวทช. อยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรมครอบคลุมถึงสินค้าที่อยู่ในบัญชีเดิมและสินค้ารายการใหม่ที่กำลังจะขึ้นทะเบียนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
    • (1.4) ภาครัฐขาดการติดตาม และประเมินผลการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยที่มีประสิทธิภาพ ควรกำหนดแนวทางในการติดตามและประเมินผลในเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจน เช่น แนวทางการติดตาม และประเมินผลการใช้งบประมาณภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยเชื่อมโยงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมนวัตกรรม (สงป.) และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement System : e-GP) (กรมบัญชีกลาง) เข้าด้วยกัน

      สรุปผลการพิจารณา

      ทุกหน่วยงานเห็นด้วย โดยมอบให้ สวทช. ประเมินผลสัมฤทธิ์ของสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทย ทั้งในด้านการใช้งานและคุณภาพ

      (1.5) การแข่งขันไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรมและความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแนวทางการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมโดยตรงจากผู้ประกอบการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมนั้น ๆ ได้มีการกำหนดราคาไว้แล้ว รวมทั้งการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อป้องกันไม่ให้นโยบายดังกล่าวเป็นช่องว่างแห่งกฎหมายที่นำไปสู่ความเสี่ยงของการเป็นตลาดผู้ขาย การผูกขาด และการทุจริตเชิงนโยบาย

      สรุปผลการพิจารณา

    • ให้ สวทช. ปรับลดระยะเวลาการส่งเสริมสนับสนุนให้เหมาะสมและกำหนดกรอบวงเงินรายได้
    • ให้ สงป. ปรับปรุงราคาให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

    (2) ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา จำนวน 5 ประเด็น

      (2.1) คุณสมบัติของผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ ควรกำหนดแนวทางการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จำหน่ายและผู้แทนจำหน่ายให้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย

      สรุปผลการพิจารณา

    • ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีการตรวจสอบ การมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่แล้ว ประกอบกับสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องกำชับให้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด
    • (2.2) ผู้ประกอบการไม่แสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์ และบริการนวัตกรรมไทย ควรกำหนดแนวทางให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยเพิ่มเติม เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์ และบริการนวัตกรรมไทย โดยมี สงป. เป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความลับข้อมูล

      สรุปผลการพิจารณา

    • ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ สงป. ดำเนินการอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการรายใดที่ไม่ยื่นแบบโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยและเอกสารที่ประกอบที่จำเป็น สงป. จะไม่ตรวจสอบราคา จัดทำและประกาศบัญชีนวัตกรรมไทยจนกว่าจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน
    • (2.3) ระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยมีกำหนดชื่อและรหัสผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่ตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบ e-GP ควรกำหนดแนวทางการปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยของ สงป. ให้มีชื่อและรหัสตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง และในระยะยาวอาจพิจารณาจัดทำหมวดรายการผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยให้เป็นรหัสมาตรฐานสากล (UNSPSC)

      สรุปผลการพิจารณา

        ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจาก
        (1) การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยของ สงป. และกรมบัญชีกลางมีความสอดคล้องกันอยู่แล้ว
        (2) ปัจจุบันระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลางรองรับการค้นหารหัสบัญชีนวัตกรรมไทยของ สงป. อยู่แล้ว
        (3) การค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ของ สงป. ไม่ได้กำหนดให้ค้นด้วยรหัส UNSPSC แต่สามารถค้นได้ด้วยชื่อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยที่ สงป. กำหนด ส่วนการค้นหาในระบบ e-GP สามารถค้นได้ทั้งรหัส UNSPSC และชื่อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย

      (2.4) ภาครัฐขาดการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงาน ควรกำหนดแนวทางการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย เพื่อให้ถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน

      สรุปผลการพิจารณา

    • ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากข้อหารือมีจำนวนน้อยและไม่ซับซ้อน รวมทั้งแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐไม่ขัดแย้งกับความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช. จึงยังไม่จำเป็นต้องซักซ้อมความเข้าใจในตอนนี้ประกอบกับหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้
    • (2.5) ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อยาในบัญชีนวัตกรรมไทย ควรให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ขับเคลื่อนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เช่น การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม และกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายยา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

      สรุปผลการพิจารณา

    • ไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว โดยมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประกาศ สธ. เรื่อง เกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของ สธ. พ.ศ. 2564
    • (3) ประเด็นที่ควรเน้นให้ดำเนินการ จำนวน 1 ประเด็น

      การปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ควรให้ สงป. มท. และ กค. (กรมบัญชีกลาง) กำหนดแนวทางในการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

      สรุปผลการพิจารณา

    • ควรเน้นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบโดยให้ความสำคัญเรื่องวงเงิน การตรวจสอบหน่วยงานที่ดำเนินการผิดบ่อยครั้ง รวมทั้งควรมีวิธีการรายงานให้ภาคประชาชนทราบด้วย

    อนุมัติวงเงินกู้ 8,510 ล้าน ยกระดับบริการ รพ. 5 แห่ง

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ดำเนินงานโครงการรายจ่ายลงทุน เพื่อใช้จ่ายเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (โครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข) ทั้ง 5 โรงพยาบาล กรอบวงเงิน 8,510.08 ล้านบาท ดังนี้

      (1) โรงพยาบาลนนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่
      (2) โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์
      (3) โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
      (4) โรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี
      (5) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

    โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนหนี้สาธารณะ โดยอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณให้เป็นไปตามที่ กค. ทำความตกลงกับแหล่งเงินกู้

    ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าวที่ สธ. เสนอ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยตามหลักสากล และขยายเตียงการให้บริการและรองรับผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ

    ในส่วนภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้น สำนักงบประมาณเห็นควรให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนหนี้สาธารณะ โดยอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังทำความตกลงกับแหล่งเงินกู้ ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ สธ. ดำเนินการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

    รับทราบผลงานรักษาความปลอดภัยทาง ‘ไซเบอร์’ ปี’66

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566 ดังนี้

      1) สถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ได้ดำเนินการสถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ได้ดำเนินการและตรวจพบมากที่สุดได้แก่ 1. การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเผยแพร่หน้าเว็บไซต์ การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์จริงเพื่อหลอกเอาข้อมูล การฝังมัลแวร์อันตรายบนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานที่อาจหลอกให้ผู้เข้าดาวน์โหลดไปติดตั้งได้ จำนวน 1,056 เหตุการณ์ 2. เว็บไซต์ปลอมจำนวน เว็บไซต์ปลอมจำนวน 310 เหตุการณ์ 3. หลอกลวงการเงิน จำนวน 101 เหตุการณ์ 4. ข้อมูลรั่วไหลจำนวน 103 เหตุการณ์ 5. จุดอ่อนช่องโหว่จำนวน 84 เหตุการณ์ 6. การละเมิดข้อมูล จำนวน 50 เหตุการณ์ 7. การโจมตี จำนวน 33 เหตุการณ์ 8.มัลแวร์เรียกค่าไถ่ จำนวน 30 เหตุการณ์ และ 9. อื่นๆ จำนวน 31 เหตุการณ์ รวมทั้งหมด จำนวน 1,808 เหตุการณ์

      2) ประเภทหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยแบ่งตามภารกิจหรือบริการของหน่วยงานสรุปได้ดังนี้ 1.หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ จำนวน 202 เหตุการณ์2.หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลจำนวน 50 เหตุการณ์ 3.หน่วยงานของรัฐจำนวน 1,309 เหตุการณ์4.หน่วยงานเอกชน จำนวน 247 เหตุการณ์

      3) ผลการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานในการช่วย แก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยเป็นการปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุก เชิงรับ และบริหารจัดการคุณภาพ สรุปได้ดังนี้ 1. การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 71 รายงาน 2. การเผยแพร่ข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์และข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จำนวน 557 รายงาน 3. การทดสอบความปลอดภัยของระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์เพื่อหาจุดอ่อนช่องโหว่ จำนวน 115 หน่วยงาน 4. การแจ้งเตือนเหตุการณ์และให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาจำนวน 1,808 หน่วยงาน 5. การตอบสนองและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 45 เหตุการณ์ 6. การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กระทบต่อหน่วยงานและประชาชน โดยการขอปิดกั้นการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ที่ปลอมแปลงเป็นหน่วยงานสำคัญจำนวน 426 เว็บไซต์ 7. การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 38 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 5,874 คนและ 8.การทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จำนวน 5 หน่วยงาน

    นายคารม กล่าวต่อว่า แนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปี พ.ศ. 2567 มีแนวโน้มว่าการโจมตีแบบ Hacked Website ยังคงเป็นภัยคุกคามที่มีโอกาสพบเป็นจำนวนมาก กลุ่มที่เป็นภัยคุกคามจะทำการฝั่งเนื้อหาเว็บไซต์การพนันออนไลน์เปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ เพื่อทำเว็บไซต์ฟิชชิ่ง และ ฝังมัลแวร์สำหรับกรณีการโจมตีแบบ Fake Website ซึ่งผู้ไม่หวังดีจะทำการปลอมหน้าเว็บไซต์ให้มีความคล้ายกับเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เป็น Android Remote Acces Trojan ซึ่งหากมีผู้หลงเชื่อทำการดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน และติดตั้งโปรแกรมที่เป็นอันตรายดังกล่าวลงในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ Android ก็จะถูกขโมยข้อมูลที่มีความ Sensitive ออกไปได้ และรูปแบบการโจมตีประเภท Ransomware มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการโจมตี เป็นรูปแบบบริการในลักษณะ Ransomware โดยนักพัฒนาจะปรับแต่ง Ransomware ตามความต้องการของผู้โจมตีที่จะนำไป เพื่อบล็อกผู้ใช้งานไม่ให้เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของตนเพื่อแลกกับค่าไถ่ และจะมีการสร้างคำขู่เพื่อแลกค่าไถ่เกี่ยวกับการชำระเงินทางการเงินเพื่อแลกกับการถอดรหัส ส่วนใหญ่กลุ่มที่เป็นเป้าหมายจะเน้นที่องค์กรภาครัฐมากกว่าบุคคล

    ดังนั้น ผู้ดูแลระบบควรทำการรหัสส่วนใหญ่กลุ่มที่เป็นเป้าหมายจะเน้นที่องค์กรภาครัฐมากกว่าบุคคลดังนั้นผู้ดูแลระบบควรทำการสำรองข้อมูลเป็นประจำ และเพื่อป้องกันข้อมูลที่ Backup ถูกเข้ารหัสไปด้วย ผู้ใช้งานควรสำรองข้อมูลลงอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลภายนอกเครือข่าย อัพเดทซอฟต์แวร์ในเครื่องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการอัพเดทระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์จะช่วยป้องกันการโจมตีที่ต้องอาศัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ได้และควรติดตามข่าวสารช่องโหว่หรือภัยคุกคามต่างๆ รวมถึงศึกษาวิธีการป้องกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีและเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ใช้งานเอง

    ตั้ง ‘วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ’ ประธาน กลต.

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากประธานกรรมการ ฯ เดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ดังนี้

      1. รองศาสตราจารย์ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ประธานกรรมการ
      2. นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา
      3. รองศาสตราจารย์กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย กรรมการผู้เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษา
      4. นายกีร์รัตน์ สงวนไทร กรรมการผู้เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษา
      5. นายจิตรนรา นวรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. ศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      7. รองศาสตราจารย์ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      8. รองศาสตราจารย์รวิน วงศ์อุไร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      9. รองศาสตราจารย์วรา วราวิทย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      10. ศาสตราจารย์สุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
      2. นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
      4. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
      5. นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
      2. นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
      3. นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหาร ระดับสูง) (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ว่าง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    6. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)
      2. จ่าเอก ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)]

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงวัฒนธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอการแต่งตั้ง นายวิเชียร สุขสร้อย เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เพิ่มเติม