ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
แม้อิทธิพลของจีนในลาวยังคงมีอยู่มากในหลายมิติ แต่ใช่ว่าคนในลาวทุกคนจะชื่นชมชาวจีนไปเสียทั้งหมด คนลาวจำนวนไม่น้อยยังมีทัศนคติเชิงลบต่อจีน บางคนต่อต้านคนจีน หลายคนต่อต้านองค์กรธุรกิจจีน เพราะมองว่าจีนกำลังจะเข้ามาครอบงำ กลืนกินประเทศลาว
หลายปีมานี้ บริษัทจีนในลาวหลายแห่งพยายามรณรงค์สร้างภาพลักษณ์องค์กร หวังคลายทัศนคติและความรู้สึกด้านลบเหล่านั้นให้ลดลง
“กุศโลบาย”หนึ่งที่บริษัทจีนในลาวหลายแห่งนิยมนำมาใช้ คือการยกเรื่อง “ความรัก” และ “ครอบครัว” ขึ้นเป็นประเด็นสร้างภาพลักษณ์ หวังซื้อใจพนักงานให้เกิดความภักดีต่อองค์กร
……

เพจ”ข่าวเสดทะกิด-การค้า” รายงานว่า เมื่อเช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2567 บริษัทซิโน-อะกรีโพแทช ได้จัดพิธีเปิดใช้หอพักคู่สมรสขึ้นภายในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะเอเซีย-โพแทช สากล ที่บ้านดงใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน มี จู เซี่ยงหลี รองผู้อำนวยการ บริษัทซิโน-อะกรีโพแทช เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน และคู่สมรสซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทเข้าร่วม
หลิว เฟยหลง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทซิโน-อะกรีโพแทช กล่าวรายงานว่า หอพักคู่สมรสเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตที่สำคัญของโครงการเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะเอเซีย-โพแทช สากล ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงาน เพราะถือเป็นบุคลากรแนวหน้าของธุรกิจ และเป็นไปตามแนวคิด”เคารพแนวหน้า, เชื่อมโยงแนวหน้า, รับใช้แนวหน้า” ที่บริษัทยึดมั่นมาตลอด
“หอพักคู่สมรสที่สร้างขึ้น แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย ความปรารถนาดีของบริษัทที่มีต่อพนักงาน และหวังว่าพนักงานจะได้รับรู้ถึงความอบอุ่น สามารถดำรงชีวิตและทำงานกับบริษัทโดยไม่มีความวิตกกังวล และคิดจะลงหลักปักฐานอยู่กับบริษัทในระยะยาว”
ตามแผน บริษัทซิโน-อะกรีโพแทชจะสร้างหอพักคู่สมรสทั้งหมด 16 อาคาร รองรับพนักงานได้ 60 ครอบครัว แต่เพิ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนก่อน 2 อาคาร แต่ละอาคารสูง 5 ชั้น ห้องพักแต่ละห้องกว้างตั้งแต่ 50-67 ตารางเมตร มีการออกแบบภายในตามความต้องการใช้ชีวิตแบบครอบครัว ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ครบถ้วน
พนักงานที่ได้เข้าไปอาศัยในหอพักคู่สมรสใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้ มีทั้งครอบครัวพนักงานชาวจีน ครอบครัวพนักงานชาวลาว และครอบครัวผสม ที่เป็นคู่แต่งงานของพนักงานชาวจีนกับชาวลาว
บริษัทซิโน-อะกรีโพแทช เป็นบริษัทเอกชนจีนในเครือบริษัท Asia-Potash International Investment (Guangzhou) ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 เพื่อทำเหมืองผลิตแร่โพแทชและโรงงานปุ๋ยเคมีบนพื้นที่สัมปทาน 48.52 ตารางกิโลเมตร ในแขวงคำม่วน ซึ่งมีทรัพยากรแร่โพแทชประมาณ 152 ล้านตัน ถือว่าเป็นบริษัทที่ครอบครองแหล่งแร่โพแทชที่ใหญ่ที่สุดในลาว
วันที่ 24 มีนาคม 2566 กระทรวงแผนการและการลงทุน ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ(MOU) ให้บริษัทซิโน-อะกรีโพแทช ก่อสร้างเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะเอเซีย-โพแทช สากล ขึ้นบนพื้นที่ 2,000 เฮคตา หรือ 12,500 ไร่ ในแขวงคำม่วน เพื่อเป็นศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับแร่โพแทช เช่น โรงงานผลิตเกลือโพแทสเซียม โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ไว้ในที่เดียวกัน
ตามการรายงานของ”ข่าวเสดทะกิด-การค้า” หลังเริ่มเปิดดำเนินงาน ภายในเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะเอเซีย-โพแทช สากล ได้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน ประกอบด้วย เรือนพักแบบวิลล่าสำหรับผู้บริหารระดับกลาง-ระดับสูง ซึ่งตามแผนจะสร้างทั้งหมด 40 หลัง หอพักรวมสำหรับพนักงานทั้งชาวจีนและชาวลาว 16 อาคาร รวมถึงหอพักสำหรับคู่สมรสที่เพิ่งเปิดใช้
เมื่อหอพักคู่สมรส 2 อาคารแรกถูกเปิดใช้งานแล้ว บริษัทซิโน-อะกรีโพแทชจะเดินหน้าสร้างหอพักคู่สมรสเพิ่มให้ครบ 16 อาคาร ตามแผน เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้น…
หอพักคู่สมรสเป็นกุศโลบายที่บริษัทซิโน-อะกรีโพแทช นำมาใช้เพื่อซื้อใจพนักงาน และสร้างภาพลักษณ์องค์กร โดยชูประเด็นเรื่องความรัก-ครอบครัวเป็นจุดเด่น…แต่ซิโน-อะกรีโพแทช ไม่ใช่บริษัทจีนในลาวแห่งแรกที่นำแนวคิดนี้มาใช้

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เพจทางการของบริษัทรถไฟลาว-จีนได้เผยแพร่บทความที่สร้างสีสัน ใช้ประโยคพาดหัวว่า “ทางรถไฟลาว-จีน เชื่อมโยงสายใจคนสองคน” มีเนื้อหาเป็นเรื่องราวความรักของพนักงานของบริษัทรถไฟลาว-จีน 2 คน หลังบทความนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้าไปอ่านและแสดงความรู้สึกชื่นชมเป็นจำนวนมาก
“ทางรถไฟลาว-จีน นอกจากจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสายใยมิตรภาพลาว-จีนแล้ว ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสายใจให้คนสองคนให้กลายมาเป็นคู่รักกัน” บทเริ่มต้นในย่อหน้าแรกของบทความ “ทางรถไฟลาว-จีน เชื่อมโยงสายใจคนสองคน” จากนั้นจึงเข้าสู่รายละเอียดเป็นเรื่องราวของท้าว “นอลิม” และนาง “คำพุด” ซึ่งทั้ง 2 คน เป็นพนักงานดีเด่นของของบริษัททางรถไฟลาว-จีน
นอลิมและคำพุดเพิ่งจัดพิธี “แต่งดอง” เข้าสู่ประตูวิวาห์กัน เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนบทความ “ทางรถไฟลาว-จีน เชื่อมโยงสายใจคนสองคน” ถูกเผยแพร่ออกไปเพียง 4 วัน
ทั้งนอลิมและคำพุดเป็นพนักงานฝึกอบรมรุ่นแรกของบริษัท และก่อนมาทำงานกับบริษัททางรถไฟลาว-จีน ทั้งคู่เคยทำงานมาแล้วหลายแห่ง
นอลิมมีพื้นฐานภาษาจีนมาก่อน เพราะเคยไปเรียนด้านการค้าระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเล่อซาน มณฑลเสฉวน ระหว่างปี 2557-2560 หลังเรียนจบกลับมาทำงานเป็นพนักงานแปลอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในลาว 3 ปี จนบริษัททางรถไฟลาว-จีน ประกาศรับสมัครพนักงานรุ่นแรก จึงมาสมัคร และได้พบกับคำพุด
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เริ่มจากความเป็นเพื่อน และค่อยๆพัฒนา เพิ่มความใกล้ชิด จนกลายเป็นความรัก
เมื่อรถไฟลาว-จีนเริ่มวิ่งให้บริการ นอลิมถูกบรรจุเป็นพนักงานควบคุมการเดินรถประจำสถานีโพนโฮง ก่อนจะถูกย้ายไปอยู่สถานีบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ส่วนคำพุดเป็นพนักงานประจำสถานีเมืองไซ แขวงอุดมไซ
แม้ทำงานอยู่คนละแขวง แต่ระยะทางที่ห่างกัน ไม่เป็นอุปสรรค
“ถ้ามีเวลา พวกเราก็จะขี่รถไฟไปมาหากัน จากบ่อเต็นมาเมืองไซ ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ถ้าเป็นเมื่อก่อน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินทางถึงไวขนาดนี้ เมื่อก่อนอยู่เขตภาคเหนือ ทางก็ไม่ดี เดินทางจากบ่อเต็น เมืองไซ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง ต้องขอขอบใจทางรถไฟลาว-จีน ที่ทำให้พวกเราได้พบกัน และทำให้พวกเรามีอนาคตที่สดใสร่วมกัน” เป็นบทสัมภาษณ์นอลิมและคำพุด เนื้อหาส่งท้ายในบทความ”ทางรถไฟลาว-จีน เชื่อมโยงสายใจคนสองคน”
……
แม้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนมหาศาล มีการจ้างงานบุคลากรชาวลาวจำนวนมาก แต่ทั้งบริษัททางรถไฟลาว-จีน และบริษัทซิโน-อะกรีโพแทช ก็ยังมีมุมที่ถูกหลายคนมองในแง่ลบ
บริษัททางรถไฟลาว-จีน ถูกมองว่าเป็นโครงการใหญ่ที่ทำให้ประเทศลาวต้องตกเป็นหนี้เงินกู้จำนวนมาก โดยมีจีนเป็นเจ้าหนี้ ส่วนบริษัทซิโน-อะกรีโพแทช ถูกมองว่าเป็นโครงการที่จีนมาสูบเอาความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติของลาวออกไปจากประเทศ
การพยายามหาประเด็นมาซื้อใจพนักงาน สร้างภาพลักษณ์องค์กร จึงเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 บริษัทจำเป็นต้องทำ
แต่ก่อนหน้านั้น ยังมีบริษัทจีนในลาวอีก 1 แห่ง ซึ่งมีแนวคิดเดียวกัน และเป็นบริษัทที่ได้นำกุศโลบายนี้ออกมาใช้เป็นรายแรก เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายของกุศโลบายในครั้งนั้นไม่ใช่คนลาว แต่เป็นแรงงานและพนักงานที่เป็นคนสัญชาติเมียนมา

วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เพจทางการภาษาพม่า ของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ได้เผยแพร่ภาพชุดหนึ่ง เป็นภาพของหนุ่มสาวคู่หนึ่งสวมเสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นชาวพม่า ใช้วลีพาดหัวเป็นภาษาพม่าว่า “เนื้อคู่ในสามเหลี่ยมทองคำ” มีเนื้อหาเป็นบทร้อยแก้วสั้นๆในภาษาพม่า เขียนว่า
“มีบางคนกล่าวว่า ในสามเหลี่ยมทองคำไม่มีรักแท้
แต่ขอให้ดูหนุ่มสาวคู่นี้หน่อย
แววตาของทั้งคู่บ่งบอกถึงความรักแท้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้
พิธีวิวาห์ของหนุ่มสาวคู่นี้ จัดขึ้นท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี และสีสันอันสวยงามของมวลดอกไม้ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ”
เนื้อความในตอนท้ายบรรยายข้อดีและจุดเด่นของการอยู่อาศัยแบบเป็นครอบครัวในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำอีกหลายประการ
เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นการลงทุนสร้างเมืองใหม่ขนาดใหญ่ของกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ กลุ่มทุนคาสิโนจากจีน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ 3 ประเทศ ลาว ไทย และรัฐฉาน ของเมียนมา
ด้วยความที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก และชาวเมียนมาถือเป็นแรงงานกลุ่มหลักของทุกโครงการที่อยู่ในนี้
ประมาณว่าภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มีแรงงานสัญชาติเมียนมาอยู่หลายหมื่นคน แต่ละคนเดินทางมาจากหลายพื้นที่ ทั้งชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน ชาวอาระกันจากรัฐยะไข่ ชาวคะฉิ่นจากรัฐคะฉิ่น รวมถึงชาวพม่าจากภาคสะกาย มะกวย พะโค อิรวดี ที่หลีกหนีความไม่สงบจากปัญหาการเมืองในประเทศ ข้ามแม่น้ำโขงมาหางานทำในนี้ จนบริษัทดอกงิ้วคำต้องจัดสรรพื้นที่สร้างเป็นชุมชนชาวเมียนมาขึ้นมาโดยเฉพาะ ภายในมีทั้งที่พัก ตลาด ร้านค้า เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนเมียนมา
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักอยู่ในลาว เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก บริษัทดอกงิ้วคำจึงได้ออกมาตรการคุ้มเข้ม ล๊อคดาวน์พื้นที่ มีกฏระเบียบและบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด…
กลางดึกของวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ชุมชนออนไลน์ในเมียนมาได้มีการเผยแพร่ภาพนิ่งและคลิป การลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฏของสถานกักตัวเพื่อรอดูอาการของผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ
ในภาพและคลิปเป็นชายในชุด PPE คนหนึ่ง กำลังใช้ไม้เรียวหวดลงไปอย่างแรงที่ก้นของคนงานซึ่งถูกระบุว่าเป็นชาวรัฐยะไข่ 5 คน มีทั้งผู้ที่ยืนกอดอกให้ตี และถูกสั่งให้นอนคว่ำก่อนถูกตี ชายในชุด PPE พูดเป็นภาษาพม่า ระบุถึงโทษของการไม่ยอมปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสถานกักตัว

มีการให้ข้อมูลว่าทั้ง 5 คน แอบเล่นไพ่กันระหว่างการกักตัว ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของสถานกักตัว จึงต้องถูกลงโทษ
หลังภาพและคลิปถูกเผยแพร่ออกมา ได้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวเมียนมาเป็นอย่างมาก มีผู้พยายามสอดแทรกข้อมูลเข้าไปในช่องความคิดเห็นถึงสภาพการจ้างและลักษณะงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนายจ้างที่เป็นผู้รับเหมาในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ กระทำต่อคนงานที่เป็นชาวเมียนมา
1 เดือนถัดมา ช่วงบ่ายวันที่ 6 สิงหาคม 2564 แรงงานชาวเมียนมาในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำมากกว่า 1,000 คน ได้นัดกันเดินขบวนประท้วงไปรอบพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ เพราะไม่พอใจมาตรการเข้มงวดในช่วงล๊อคดาวน์
คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงบ่อแก้ว คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแขวงบ่อแก้ว ได้มาเจรจากับแกนนำการประท้วง ใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 2 ชั่วโมง การประท้วงจึงยุติ เหล่าแรงงานได้แยกย้ายกลับไปยังที่พักของแต่ละคน โดยไม่มีเหตุรุนแรงใดๆเกิดขึ้น
วันที่ 8 สิงหาคม 2564 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรบริหารแขวงบ่อแก้วกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน รองเจ้าแขวงบ่อแก้วชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยบอกว่า ที่ผ่านมาแขวงบ่อแก้วให้ความสำคัญต่อแรงงานชาวเมียนมาในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และปฏิบัติต่อแรงงานเหล่านี้ไม่แตกต่างจากประชาชนลาว แต่หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานเหล่านี้จึงว่างงาน ขาดรายได้ และประสบปัญหาในการดำรงชีวิต
แรงงานจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องขอเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนในฝั่งเมียนมา แต่เนื่องจากลาวได้กำหนดมาตรการที่เข้มงวดให้แรงงานชาวเมียนมาที่ต้องการกลับบ้าน ต้องผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 และถูกกักตัวก่อนเป็นเวลา 14 วัน จึงสามารถข้ามแม่น้ำโขงกลับไปได้ แรงงานหลายคนไม่เข้าใจ จึงทำให้สถานการณ์ยุ่งยากและบานปลาย จนกลายเป็นการประท้วง

ปี 2365 เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำต้องการดึงแรงงานชาวเมียนมากลับมา ภาพชุด “เนื้อคู่ในสามเหลี่ยมทองคำ” จึงได้ถูกเผยแพร่
……
ทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจของคนจีนยังคงมีการลงทุนอยู่ในลาวอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะมีเพิ่มขึ้น เพราะการคมนาคม-ขนส่ง ทำได้โดยสะดวก
หนุ่มสาวลาวจำนวนมากยังคงมุ่งหน้าเลือกเรียนภาษาจีน หวังให้ได้โอกาสเข้าทำงานกับบริษัทจีน ในขณะที่คนลาวอีกหลายคน ก็ยังคงไม่พอใจและมองคนจีนและบริษัทจากจีนในเชิงลบ
หลังจากนี้ไป เนื้อหาที่เป็นสีสันเกี่ยวกับ “ความรัก” และความเป็น “ครอบครัว” ของผู้ที่ทำงานในบริษัทของคนจีนในลาว น่าจะถูกสรรหาออกมาเผยแพร่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน…