รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

การลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เป็นเหตุการณ์ครั้งแรกในรอบ 40 ปี ทำให้สหรัฐอเมริกา ตกเหวลึกของความรุนแรงทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า สหรัฐฯจะตกลงไปลึกมากขนาดไหน และอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ความรุนแรงทางการเมืองในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองอเมริกา มีแนวโน้มแปรปรวนอย่างมาก และไปเติมเชื้อไฟให้การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้ รุนแรงขึ้นไปอีก
ในปัจจุบัน การเมืองอเมริกา “ติดกับดัก” กับสภาพการณ์ ที่มีทั้งความชัดเจนตายตัวหรือความเสถียร กับมีสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ หรือการไร้ความเสถียร พร้อมกันไปในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ตายตัวก็คือการแบ่งขั้วเป็นฝักเป็นฝ่ายทางการเมือง ที่สนับสนุนแนวคิดใดหนึ่งอย่างไม่สั้นคลอน ส่วนสิ่งที่คาดหมายไม่ได้คือ การแบ่งขั้วเกิดขึ้นอย่างลุ่มลึกมาก จนอาจทำลายความเชื่อพื้นฐานของการอยู่ร่วมทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตย
เหตุการณ์ที่สร้างความขัดแย้งมากขึ้น
การลอบสังหารทรัมป์จะเป็นเหตุให้สังคมอเมริกาขัดแย้งกันมากขึ้น แตกต่างจากที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน ถูกลอบยิงในปี 1981 ที่คนอเมริกันทุกฝ่ายรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว การลอบยิงทรัมป์เกิดขึ้น 2 วัน ก่อนที่พรรครีพับลิกันจะมีการประชุมใหญ่เลือกทรัมป์เป็นตัวแทนพรรค ในการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้การประชุมพรรครีพับลิกัน อยู่ในบรรยากาศที่จะให้การสนับสนุนทรัมป์อย่างเต็มที่
ส่วนพรรคดีโมแครทก็กล่าวหาทรัมป์มาตลอดว่า ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงทางการเมือง ขณะที่รีพับลิกันก็ประนาม โจ ไบเดน ว่าใช้ภาษาโจมตีทรัมป์ว่า เป็นพวกสนับสนุนเผด็จการ ที่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย ทรัมป์เองหลังจากบาดเจ็บจากการถูกลอบยิง ใบหน้ามีเลือด ก็ยกกำปั้นต่อฝูงชน และตะโกนว่า “สู้ สู้ สู้”

การลอบสังหารทรัมป์เกิดขึ้นในขณะที่ สหรัฐฯเกิดการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง ในด้านอุดมการณ์ วัฒนธรรม และแนวทางของแต่ละฝ่าย จนเกิดการแตกแยก เหมือนเป็นสองประเทศ และ “สองความเป็นจริง” มากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์
คนอเมริกันไม่ได้มองตัวเองเป็นคนมีจิตวิญญาณ ที่จะทำอะไรร่วมกัน แต่กลายเป็นป้องปราการ ที่อยู่ตรงกันข้ามกัน ความแตกแยกมีมากจนในการสำรวจความเห็นในเดือนพฤษภาคม คนอเมริกัน 47% มองว่า สงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 มีแนวโน้มมากจะเกิดขึ้นในช่วงที่ยังมีอายุอยู่
ทันทีที่เกิดเหตุลอบสังหาร พวกรีพับลิกันก็ออกมาโต้แย้งว่า หากทรัมป์ต้องรับผิดที่ใช้คำพูดปลุกระดม ไบเดนก็ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน ในการปราศัยต่อผู้บริจาคเงินสนับสนุน ไบเดนกล่าวว่า ต้องการเลิกพูดถึงการโต้วาที่กับทรัมป์ ที่ผลปรากฎออกมาไม่ดีเลย แต่จะเอาทรัมป์มาอยู่ “ตรงกลางจุดที่เป็นเป้ายิง” (bull’s eye) แล้วก็ทำการโจมตี โจมตี โจมตี วุฒิสมาชิก J D Vance ที่มีโอกาสที่ทรัมป์จะเลือกเป็นผู้สมัคร ‘รองประธานาธิบดี’บอกว่า คำพูดดังกล่าวของไบเดน นำไปสู่การพยายามลอบสังหารทรัมป์โดยตรง

สิ่งตามมาจากการแบ่งขั้วที่รุนแรง
บทความของ vox.com ได้เคยสำรวจความเห็นของนักรัฐศาสตร์ชั้นนำในเรื่อง หากระบอบประชาธิปไตยในอเมริกาล้มพังลง อะไรคือสิ่งที่จะเกิดตามมา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ความรุนแรงทางการเมืองจะเกิดมากขึ้น ยิ่งคนจำนวนมากจะทั้งเกลียดชังและหวาดกลัวฝ่ายตรงกันข้ามตัวเองมากขึ้น ก็ทำให้คนเหล่านั้นหันไปอาศัยวิธีการนอกกฎหมาย เพื่อจัดการ หรือยับยั้งฝ่ายตรงกันข้าม หากฝ่ายหนึ่งถูกทำร้าย ก็จะใช้วิธีการตอบโต้แบบเดียวกัน กลายเป็น “วงจรความรุนแรงซ้ำซาก” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอิตาลีช่วง 1969-1984 ที่ฝ่ายขวาจัดและซ้ายจัด ใช้วิธีการก่อการร้ายโจมตีกันและกัน กรณีอเมริกา จุดประทุความรุนแรงคงจะมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ที่ผ่านมา คนอเมริกันจำนวนมากมองว่า อเมริกามีวัฒนธรรมความคิดเหนือกว่าประเทศอื่นใดในโลก (exceptionalism) แต่ปัจจุบันเห็นชัดเจนว่า บรรดาประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ไม่มีประเทศไหนเสี่ยงที่ระบอบประชาธิปไตยจะพังทะลายลง เหมือนกับอเมริกา กรณีฝูงชนบุกเข้ายึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2021 สะท้อนปฏิบัติการสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน ที่ปฏิเสธความชอบธรรมของการเลือกตั้งสหรัฐฯ
การปฏิเสธความเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง เกิดจากการแบ่งขั้วการเมืองในระดับที่รุนแรง ที่แบ่งแยกสังคมอเมริกันออกเป็น 2 ฝ่าย ที่ไม่เชื่อถือกันและกัน นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “การแบ่งขั้วที่อันตรายร้ายแรง” การศึกษาของนักรัฐศาสตร์พบว่า นับจากปี 1950 ประเทศประชาธิปไตยในระดับเดียวกัน ไม่มีประเทศไหนมีปัญหาแบ่งขั้วแบบเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ Jennifer McCoy จากมหาวิทยาลัย Georgia State บอกว่า “ประชาธิปไตย ที่มาถึงจุดการแบ่งขั้วในระดับนี้ เป็นเรื่องยากมาก ที่จะลดการแบ่งขั้วลง”
สังคมแบ่งขั้วจะเดินต่อไปทางไหน
บทความของ vox.com กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือคำถามที่ว่า ประเทศที่เกิดแบ่งขั้วอย่างลุ่มลึก จะเดินต่อไปในทิศทางไหน ผู้เชี่ยวชาญแทบทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ในระยะสั้น สหรัฐฯจะอยู่ในช่วงการต่อสู้ที่ขัดแย้งกันสูงขึ้น เช่น การแข่งขันในการเลือกตั้งดุเดือดมากขึ้น โดยฝ่ายที่แพ้ไม่ยอมรับความชอบธรรมของฝ่ายที่ชนะ เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ การดำเนินงานของรัฐสภาเกิดชงักงัน และอาจเกิดความรุนแรง ระหว่างผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย

เงื่อนไขของสงครามกลางเมือง
Barbara Walter ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามกลางเมือง (civil war) ผู้เขียนหนังสือชื่อ How Civil Wars Start กล่าวว่า จากการศึกษาการเกิดสงครามกลางเมือง เช่น สงครามกลางเมืองอเมริกาในอดีต มาจนถึงการก่อการร้ายที่ความเข้มข้นไม่สูงมากเช่น ไอร์แลนด์เหนือ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์แบบไอร์แลนด์เหนือในสหรัฐฯ
Barbara Walter อธิบายว่า มีสถานการณ์ไม่กี่อย่าง ที่จะทำให้ประเทศหนึ่งล้มพังลงจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง คือ (1) ประเทศนั้นไม่มีประชาธิปไตยเต็มที่ หรือเผด็จการเต็มที่ หรือเป็นกึ่งประชาธิปไตย กึ่งเผด็จการ (2) พรรคการเมืองชั้นนำเกิดการแตกแยกในแนวทาง (3) กลุ่มคนชั้นนำสูญเสียฐานะการมีอภิสิทธิ์ และ (4) เมื่อประชาชนขาดความเชื่อมั่น ในความสามารถของระบอบการเมือง ที่จะทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง
กระสุนปืนที่ลอบยิงทรัมป์ ทำให้เกิดคำถามว่า อเมริกาจะเข้าสู่วงจรความรุนแรงหรือไม่ Garen Wintemute ผู้อำนวยการ Violence Prevention Program ของ University of California ให้สัมภาษณ์ New York Times ว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องไม่ลืมก็คือว่า คนอเมริกันแทบทั้งหมด ยังปฏิเสธความรุนแรงทางการเมือง เป็นหน้าที่ของคนส่วนใหญ่ที่จะแสดงทัศนะนี้ออกมาต่อสาธารณชน “บรรยากาศที่ไม่ยอมรับความรุนแรง จะช่วยลดโอกาสการเกิดความรุนแรง”
เอกสารประกอบ
An Assassination Attempt That Seems Likely to Tear Ameica Further Apart, July 14, 202, nytimes.com
How does this end? Where the crisis in American democracy might be headed, Jan 3, 2022, vox.com
How Civil Wars Start, Barbara F Walter, 2022, Crown.