ThaiPublica > คอลัมน์ > วัฒนธรรมการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียของวัยรุ่น

วัฒนธรรมการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียของวัยรุ่น

29 กรกฎาคม 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ในปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็ถ่ายรูปเองได้ผ่านสมาร์ทโฟน จนกลายเป็นวัฒนธรรมของวัยรุ่น แล้วการถ่ายรูปที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับ Self-esteem หรือความภาคภูมิใจในตัวเองอย่างไร รวมไปถึงการถ่ายรูปมีคุณค่ายังไงกับวัยุร่น และโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับวัฒนธรรมการถ่ายรูปของวัยรุ่นอย่างไร สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนคุณค่าและสะท้อนอะไรต่อคนในยุคนี้

“ก็แค่อยากแชร์ให้คนรอบตัวเห็น ไม่ได้คิดอะไรเยอะ” หลังจากนั่งคิดอยู่นาน ผู้ให้สัมภาษณ์ก็ตอบคําถาม ที่ว่า “ทําไมเราจึงลงรูปในโซเชียล” ในตำราวิชาการบอกกับเราว่า มนุษย์เราสามารถสื่อสารกันจนสร้างโครงข่ายความสัมพันธ์ขนาดใหญ่อย่างที่สัตว์อื่นทําไม่ได้ เราจึงรวมกลุ่มเป็นสังคม เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยความสนิทสัมพันธ์เป็นการส่วนตัว

จริงอยู่ที่ความสามารถในการติดต่อสื่อสารนั้นทําให้การสั่งข้าวที่ร้านหน้าปากซอย เติมเงินเข้าบัตรรถไฟฟ้า หรือบอกจุดหมายวินมอร์เตอร์ไซค์ให้ไปส่งเราในที่ที่เราอยากจะไปได้โดยที่เราไม่จําเป็นต้องเป็นลูกเป็นหลาน หรือ รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เพราะในความเป็นจริง เราอยากแสดงตัวตนของเราให้คนไม่กี่คนได้รับรู้ ตัวตนในแบบที่เราเข้าใจนั้นทุกวันนี้เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ว่า ตัวตนของมนุษย์จึงซับซ้อนขึ้นตามบทบาทที่เปลี่ยนไปจากเดิม เรากลายเป็นสมาชิกของกลุ่มวัฒนธรรม หรือสถาบันต่าง ๆ เป็นคนของประเทศชาติ เป็นพลเมืองของโลก เป็นผู้บริโภคทางเศรษฐกิจ เป็นอะไรต่ออะไรอีกมากมาย

ในขณะเดียวกันเราก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นแฟน หรือเป็นคนคุย ความทับซ้อนของบทบาทที่หลากหลายเหล่านี้ ทําให้ในหลายครั้ง ตัวตนของเรากลายเป็นสิ่งที่ยากเกินจะเข้าใจ การแสดงความเป็นตัวเองออกมาจึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทําให้ความซับซ้อนนั้นเบาบางลงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความเป็นตัวเองบนโลกออนไลน์

“สมมติเราเป็นลูกคนฐานะปานกลางที่อยากเรียนศิลปะ แต่ครอบครัวกดดันให้เรียนหมอ บทบาทที่ขัดแย้งกันพวกนี้หาทางออกในโลกจริง ๆ ได้ลําบาก ไม่ใช่ทุกคนจะนั่งฟังเราบ่นตลอดเวลา โลกออนไลน์ มันตอบโจทย์ฟังก์ชั่นนี้ มันหลวมกว่า มันเชื่อมต่อตลอดเวลา เราเป็นสิ่งที่เราอยากเป็นได้เต็มที่ แบบไม่ต้องแคร์ที่บ้าน”

แต่ถึงจะทําและเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นได้กับทุก ๆ ที่ แพลตฟอร์มที่หลากหลาย กําหนดพฤติกรรมที่แตกต่างของผู้ใช้งาน บางแพลตฟอร์มเหมาะสําหรับการบ่นระบาย หรือแสดงความคิดเห็น แต่บางแพลตฟอร์มเหมาะกับการลงรูปหรือติดตามชีวิต “เราว่า การลงรูปมันแสดงความเป็นตัวเองได้ชัดที่สุด เห็นปุ๊บเรารู้เลย ไม่ต้องใช้ตัวอักษรซักตัว” ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ถ้าเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน การเห็นรูปของกลุ่มเพื่อน หรือ Influencer ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจริง ๆ มากกว่า ด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่ก้าวหน้า การกินอยู่ แฟชั่น หรืออะไรที่กําลังเป็นที่นิยมก็ถูกถ่ายเก็บไว้เผยแพร่ได้ง่าย ทําให้การไปนั่งตามร้านกาแฟหรือไปตามอีเว้นท์อินฟลูเอนเซอร์เป็นกระแสง่ายขึ้น รูปภาพในโลกออนไลน์พวกนี้ทําให้ดูมีตัวเลือกในการใช้ชีวิตขึ้นมาก

ในขณะเดียวกันรูปภาพเหล่านี้ก็อาจเป็นเพียงแค่ด้านหนึ่งของชีวิตที่ผ่านการคัดกรองมาอย่างดีแล้ว กลไกอัลกอริทึมจึงนําภาพของคนอื่น ๆ ที่คิดแบบเดียวกันมาแสดงให้เราเห็น ซึ่งบางครั้งก็นํามาสู่ปัญหาบางอย่าง “หลายครั้งเราเล่นโซเชียลฯ แล้วเครียด ทุกคนดูชีวิตดี ไปกิน ไปเที่ยวเต็มที่ ในขณะที่เราไม่รู้จะเอาไง จากที่คิดว่า เปิดดูอะไรไปเรื่อยจะได้หายเครียด สรุปหนักกว่าเดิม” ภาพความสําเร็จหรือชีวิตที่ดีของคนในวัยใกล้กัน หลายครั้งก็รู้สึกเหมือนกําลังถูกชีวิตสู้กลับ ความแตกต่างของสภาพชีวิตจึงดูเหมือนจะถูกตอกย้ำอยู่ตลอดเวลา โดยบางครั้งความแตกต่างที่ว่า ก็ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้

“สุดท้ายเราคิดได้ว่า ทุกคนก็มีปัญหาเหมือนเราแหละ เขาถ่ายรูปไว้ทีละเยอะ ๆ แล้วค่อย ๆ ลงให้เหมือนว่า เที่ยวทั้งปี แต่จริง ๆ ส่วนใหญ่นั่งอยู่ห้อง ชีวิตจริงเราไปเที่ยวไม่ได้ไง เลยลงรูปที่เคยไปเที่ยวประชดมันเลย พอคิดได้ก็ เอ้อ ชีวิตเราไม่ได้แย่อยู่คนเดียวนี่หว่า” ผู้ให้สัมภาษณ์ปิดท้ายในประเด็นว่า การลงรูปในโซเชียลมีเดียเป็นการดํารงอยู่รูปแบบหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเชื่อมต่อกับกลุ่มชุมชนบนโลกออนไลน์ ซึ่งความรู้สึกนี้เองเป็นสิ่งสําคัญที่ขับเคลื่อนชีวิตให้เดินไปข้างหน้าได้ ในคลื่นสังคมที่บังคับให้เราหาที่ทางของตัวเอง แต่กลับผันผวน เอาแน่เอานอนไม่ได้ สังคมที่การไขว่คว้าโอกาส บ้างก็ไปได้สวย บ้างก็ผิดหวัง และโดดเดี่ยว

“เราว่าไม่มีใครอยากเป็นแค่ความเห็นที่ลอยไปมาตามลมหรอก ทุกคนคงอยากเป็นตัวของตัวเอง มีชื่อ มีความสัมพันธ์ มีคนที่รัก มีเรื่องราว แต่โลกจริง ๆ บางครั้งเรามีขนาดนั้นไม่ได้ไง เงื่อนไขบางอย่างของแต่ละคนมันบังคับอยู่ แต่บนโลกออนไลน์มันเปิดกว้างกว่า เอาจริงเราก็เคว้งคว้าง แต่ความรู้สึกว่ายังมีเพื่อนที่ keep in touch กันอยู่ตลอดนี่สําคัญในโลกที่วุ่นวายขนาดนี้จริง ๆ”