ThaiPublica > Data Visualization > Infographic > กางข้อมูลผลเลือกสว. ถามดังๆเป็นตัวแทนประเทศจริงหรือ!!

กางข้อมูลผลเลือกสว. ถามดังๆเป็นตัวแทนประเทศจริงหรือ!!

2 กรกฎาคม 2024


‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’กางข้อมูล สว. ชี้ “ระบบออกแบบเลือกผิดตั้งแต่ต้น” ไม่สามารถเป็นตัวแทนประเทศได้จริง  ระบุกลุ่มสตรี และผู้สูงอายุไม่ใช่กลุ่มอาชีพ  แต่มีผู้สมัครเกือบหมื่นคน ขณะที่กลุ่ม 5 อาชีพสำคัญ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมรวมผู้สมัครแค่หลักพัน  ส่วนผลการเลือก สว.ยิ่งตอกย้ำระบบที่ไม่ยึดโยงประชาชน จ.อ่างทอง ประชากร 2.7 แสนคนมี สว.6 คน ขณะที่อุดรธานี ประชากร 1.56 ล้านคนไม่มี สว.เลย

เมื่อเวลา 03.30 น. ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 หลังกระบวนการนับคะแนนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ของทุกสายทุกกลุ่มอาชีพเสร็จสิ้นลง นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับประเทศ ได้ลงนามประกาศผลการนับคะแนนเลือกผู้สมัคร สว.ในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน แบบไขว้ครบทั้ง 20 กลุ่ม

โดยได้ สว.จำนวน 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ และจากผู้สมัครจำนวนกว่า 48,117 คน  ซึ่งว่าที่ สว. ชุดนี้จะเข้ารับหน้าที่แทน 250 สว.ชุดเฉพาะกาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งดำรงตำแหน่งครบวาระไปเมื่อ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

การเลือกสว.ที่ถูกออกแบบภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบที่มีความซับซ้อน และพิสดารมาอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งเมื่อผลการเลือกสว.ชุดใหม่ออกมายิ่งสะท้อนการออกแบบวิธีเลือกสว.ที่มีความซับซ้อน

มาตรา 11 ในหมวด 1 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 กำหนดว่าผู้สมัคร สว.สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้รวมทั้งหมด 20 กลุ่ม

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) บอกกับ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ว่า หลังผลการเลือก สว.ออกมาได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสว.มาวิเคราะห์ พบว่า ทั้งหมดไม่ได้สะท้อนอาชีพของคนไทยที่แท้จริง เช่น กลุ่มอาชีพที่ 14 ระบุว่า  กลุ่มสตรี ซึ่งในอาชีพของคนไทยไม่มีอาชีพสตรี และกลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุก็ไม่ใช่อาชีพเช่นกัน แต่มีจำนวนผู้สมัครทั้ง 2 กลุ่มรวม 9,800 คน

หากดูผู้สมัคร 6 กลุ่มใหญ่แรก รวมผู้สมัครกลุ่มนี้มี 20,554 คน จาก 48,117 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สมัครทั้งหมด (ดูกราฟิกประกอบ)

ขณะที่ 5 กลุ่มที่มีคนสมัครน้อยที่สุดรวมกันมี 4,871 คน คิดเป็น 10.1% ของผู้สมัครทั้งหมด เทียบเท่ากับผู้สมัครกลุ่มสตรีกลุ่มเดียว 4,589 คนหรือประมาณ 10 % ของผู้สมัครทั้งหมด พร้อมตั้งคำถามว่าสัดส่วนอย่างนี้จะเป็น represent ประเทศนี้ได้ยังไง หรือ represent ปัญหาของประเทศได้อย่างไร (ดูกราฟิกประกอบ)

ยิ่งผลการเลือกสว.ออกมายิ่งสะท้อนว่ากฎการเลือกสว.ไม่ถูกต้อง โดยจากข้อมูลจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีประชากร 1.58 ล้านคน ได้ สว.จำนวน 14 คน  แต่จังหวัดอุดรธานีมีประชากรจำนวนรองลงมา 1.56 ล้านคน ได้ สว. 0 คน

ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน กำหนดให้มี สว.200 คน สว. 1 คนต่อประชากร 330,000 คน การเลือก สว.ควรจะยึดโยงจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด ซึ่งหากดูข้อมูลพบว่า จังหวัดบุรีรัมย์มี 1.58 ล้านคนได้สว.14 คน แต่อุดรธานีที่มีประชากร 1.56 ล้านคนไม่มี สว.เลย

จังหวัดที่ได้ที่หนึ่งมีจำนวนสว.มากที่สุดต่อประชากร คือจังหวัดอ่างทอง ซี่งมีประชากร 270,000 แสนคน แต่ได้ สว.6 คน เท่ากับว่ามี 1 สว.ต่อประชากร 45,000 คน รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรสงครามมีประชากร 200,000 มี สว. 4 คน

นอกจากนี้เรายังมี 14 จังหวัด รวมแล้วมีประชากรประมาณ 13.59 ล้านคน  แต่ไม่มี สว.แม้แต่คนเดียว

นี่คือผลการเลือกสว.ที่ต้องถามดังๆว่าเป็นตัวแทนประเทศจริงหรือ!!

อ่านเพิ่มเติม

  • ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ กางข้อมูลสว. ถามดังๆเป็นตัวแทนประเทศจริงหรือ!!
  • ป้ายคำ :