นักวิชาการ-นักเมือง ประเมินการทำงาน สว. 250 คนสอบตก ในงานสวนา “เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย” ให้คะแนนศูนย์การส่งเสริมประชาธิปไตย แต่คะแนนเต็มในการทำหน้าที่สืบทอดอำนาจ คสช. กร่อนเซาะประชาธิปไตย พร้อมเรียกร้อง กกต. แก้ไขปรับปรุงระเบียบแนะนำตัว และสร้างการมีส่วนร่วมเลือก สว. ชุดใหม่ ให้ผู้สมัครแนะนำตัวผ่านสื่อ ได้
วันที่ 11 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันปรีดี พนมยงค์ และปีนี้เป็นวันครบรอบ 124 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 – พ.ศ. 2567) รัฐบุรุษอาวุโส ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และผู้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475
ในโอกาสที่ สว. 250 คน หมดอายุตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในวันที่ 10 พ.ค. 2567 โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือก สว. ใหม่ ทำให้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “เก่าไปใหม่มา : สว.ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย” ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองศาสตราจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร, และศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw เป็นผู้ดำเนินรายการ

ประเมินการทำงาน 250 สว. ติด F สอบตก
เวทีเสวนา เริ่มด้วยการประเมินการทำงานของ สว. 250 คน ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า การทำงานในช่วง 5 ปี ของ สว. ชุดพิเศษที่มาจากการแต่งตั้งผสมการเลือกตั้งคัดเลือกกันเองนั้นทำให้มีคำถามว่า ทำไมถึงต้องมี สว. เพราะว่าผลงานที่ทำหากเทียบกับการเป็นลูกจ้างของประชาชนที่เสียภาษีให้ ต้องตั้งคำถามว่าเราจ้างเขามาทำอะไร โดยเชื่อว่าหลายคนคงคิดไม่ต่าง และเกิดคำถามเหมือนกันว่า เราเอาเขามาทำอะไร ซึ่งใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่ได้เนื้องานไม่มาก
นอกจากนี้ ยังมีผลงานในการเลือกนายกรัฐมนตรี 2 ท่านที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ คือไม่มีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย ก็เข้าใจว่ามาด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ สว. ชุดนี้นี้เป็นตรายางรับรองความชอบธรรม
ขณะที่วีรกรรมของ สว. ชุดนี้คือการทำหน้าที่ในการบล็อกไม่ให้หัวหน้าพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งและได้รับเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี สวนทางกับการโหวตให้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2 คน เพราะฉะนั้น ทำให้เรายิ่งสงสัยว่าเรามี สว. เพื่อที่จะกลั่นกรอง ที่มีคุณวุฒิเหนือกว่าสภาล่างหรือคนทั่วไป แต่เขาตัดสินเรื่องตรงข้ามกับความต้องการของประชาชน
“การเลือกตั้งเป็นความชอบธรรมที่ถูกต้องในทางกฎหมายของประชาธิปไตย ทั่วโลกยอมรับกันหมด โดยเฉพาะเสียงข้างมาก ไม่สามารถที่จะฝืนได้ ถ้าฝืนต้องมีเหตุผลมากกว่านั้น แต่ว่า สว. 250 คน ฝืนได้อย่างสบาย อ้างว่าเป็นเสียงข้างมาก และทำให้มันยุติไป เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการให้คะแนนการทำงานที่ผ่านมา ผมให้คะแนน F”
ย้อนที่มา “วุฒิสภา” ไม่ยึดโยงประชาชน
ส่วนความจำเป็นต้องมี มี สว. หรือไม่ ศ. ดร.ธเนศ บอกว่า ในแง่ประวัติศาสตร์น่าสนใจ ผมคิดว่าการเกิดขึ้นของสมาชิกสภาสูง ก่อนที่จะมาเป็นวุฒิสภา มันมีความเป็นมาที่ยาวนาน โดยเกิดพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน และเปลี่ยนมาเป็น 10 ธันวาคม ก็เสนอเหมือนกันว่าสภานิติบัญญัติมีสภาเดียวก็จริง แต่มี 2 แบบ คือ แบบประเภท 1 คือเลือกตั้ง และประเภท 2 คือแต่งตั้ง อันนี้คือรูปแบบแรกของสภาสูง
“ผมเข้าใจว่าการตั้งสภาแรก โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่เป็นของประชาชน แล้วเปลี่ยนมาสู่รัฐบาลที่เป็นของประชาชน มักจะมีปัญหากับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. เพราะว่าเราอยู่กับสังคมที่อำนาจ ความรู้ การฝึกฝน มันอยู่กับอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศในทั่วโลกนี้ไม่มีความรู้ เพราะเราไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่เมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง การมีตัวแทนปวงชนทั้งหมดอาจจะมีปัญหา ถึงต้องมี 2 สมาชิกที่เป็นแบบประเภทที่ 1 และ 2 เพื่อจะประกันหลักการว่าเลือกแล้วก็จะไม่เสียของ ถึงจะทำผิด ทำถูก ก็ยังมีพี่เลี้ยง”
ฉะนั้น ประเภทแต่งตั้งมาพร้อมกับความเชื่อที่ว่าเป็นคนที่มีความรู้ คุณสมบัติ ที่ดีกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการบ้าน การเมือง ก็จะมีพี่เลี้ยงคอยช่วยกันไป เพราฉะนั้น รัฐธรรมนูญปี 2475 ทั้งสองฉบับก็จะไม่ต่างอะไรกัน ในแง่นี้ ก็จะผ่านตรงนี้เข้าไป
ศ. ดร.ธเนศ บอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลต่อเนื่องระยะหลังนี้ คือ รัฐธรรมนูญปี 2489 หลังสงครามโลกยุติ จอมพล ป. หมดอำนาจลง และมีพรรคเสรีไทย ศ. ดร.ปรีดี ที่เป็นผู้สำเร็จราชการก็ขึ้นมาเป็นแกนนำของฝ่ายเสรีนิยมมากขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2475 เขียนในเวลากระชั้นชิด ไม่ได้ละเอียด ดังนั้น ศ. ดร.ปรีดี ได้ไปปรึกษานายควง อภัยวงศ์ แล้วตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และได้ปรึกษาฝ่ายสภาผู้แทนต่างๆ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา มีการนำเข้าสภา และมีการประกาศใช้ 8 พฤษภาคม 2489
“ตอนนั้นการเมืองเริ่มเปิดใหม่ อนาคตประชาธิปไตยเริ่มที่จะส่องสว่าง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นดาวรุ่งของฝ่ายประชาธิปไตยใหม่ในเอเชียอาคเนย์ โดยรัฐธรรมนูญ 2489 เสนอให้มีสภาคู่ มีทั้งสภาสูงที่รียกว่า พฤฒสภา และสภาผู้แทนราษฎร และมีการยกเลิกสภาแบบ 2 ประเภทออกไป จึงทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง แต่เราก็ทราบกันดีว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเศร้า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ใช้ไม่เกิน 1 ปี แล้วเกิดรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490”

ศ. ดร.ธเนศ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญของคณะปฏิวัติ ตอนนั้นเปลี่ยนมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่เปลี่ยนจากที่เรียกว่าพฤฒสภามาเป็นวุฒิสภา โดยทั้ง 2 สภาสามารถเลือกตั้งโดยตรงจากประชน แต่ว่ามีบทเฉพาะกาล คือ ให้ สส. เลือกผู้มีคุณวุฒิเข้ามาประมาณ 80 คน ดังนั้น แม้ว่าจะมีแนวคิดเรื่องของการเลือกตั้ง สว. ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกรัฐประหารก่อนจะมีการเลือกตั้ง
“ผมคิดว่าแนวความคิดเรื่องวุฒิสภาไม่ได้ก้าวไปเลย กลายเป็นสภาที่คนที่อยู่ในอำนาจ หรือฝ่ายรัฐบาลเป็นคนที่เลือกคนที่เข้ามาคุมอำนาจ โดยรวมๆ แล้วไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือรักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่มีอยู่เพื่อค้ำจุนรัฐบาล ซึ่งจะมีปัญหาตรงที่มา หรือกระบวนการเข้าสู่ในการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ”
ศ. ดร.ธเนศ ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงการทำหน้าที่ สว. ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนว่า อาจจะเริ่มมาตั้งแต่ในปี 2495 ซึ่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นแกนนำของกองทัพบก ตั้งพรรคพวกเข้ามากลุ่มวุฒิสภาทั้งหมด และนั่งมาตลอดเป็นต้นมา เพราะฉะนั้น ที่มาของวุฒิสภา เป็นกองกำลังมายึดในสภา ผ่านรัฐธรรมนูญเริ่มจากปี 2495 เป็นต้นมา และในปี 2500 ก็มีการสืบทอดต่อมา ธรรมเนียมปฏิบัติก็เริ่มชัดเจนขึ้นมา
“ดังนั้น การมีวุฒิสภา เป็นการให้ผลตอบแทนผู้สนับสนุนตัวเองต่างๆ ผมคิดว่า สว. รุ่นปัจจุบัน 80% ก็มาจากนายทหาร และเป็นผู้อาวุโส คือ ความมั่นคงของผู้นำกองทัพที่จะอยู่ ซึ่งการอยู่ในตำแหน่ง สว. ก็คือสมบัติผลัดกันชม ต่อมาจนถึงปัจจุบัน”
ศ. ดร.ธเนศ กล่าวว่า “ผมคิดว่ามีเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ ที่ค่อยๆ ส่งเสริมให้แนวโน้มของการไปสู่อำนาจนิยม ซึ่งทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนนี้ ทั้งเหตุการณ์ ปี 2557 หรือ ปี 2560-2562 มีจุดก่อตัวตั้งแต่ปี 2490 เนื่องจากทุกครั้งที่มีรัฐประหาร จะมีการเพิ่มปัจจัยด้านลบที่ทำร้ายความเป็นประชาธิปไตยการเมืองไทยทีละนิดๆ จนกระทั่ง ปี 2557 รับมรดกรัฐประหารเต็มๆ เลย”
ทุกอย่างที่ร่างรัฐธรรมนูญมาทั้งหมด ก็ร่างเพื่อรักษาอำนาจ เพราะฉะนั้น คติของรัฐธรรมนูญก็เลยถูกใช้เพื่อร่างอะไรก็ตามที่รักษาอำนาจของคนที่ยึดมาให้อยู่ต่อไป แล้วเราจะสอนได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม
ดังนั้น อำนาจประชาธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ถ้าอธิปไตยไม่ใช่ของปวงชน ทำอย่างไรก็ไม่สุจริต ยุติธรรม ไม่เที่ยงตรงต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

สว. ไทย ค้ำจุนอำนาจ และเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย
ขณะที่ศ. ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าประเมินการทำงานของ สว. ชุดที่ผ่านมา พบว่ามีการทำ 4 หน้าที่ คือ 1. เรื่องการพิจารณากฎหมาย โดย สว. ชุดนี้ได้พิจารณากฎหมายไปแล้ว 68 ฉบับ และเห็นด้วยกับกฎหมายที่นำเสนอโดย สส. 37 ฉบับ แต่ในการพิจารณากฎหมายที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งถูกส่งให้พิจารณา 26 ฉบับ มีเพียงฉบับเดียวที่ผ่าน คือฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ที่แก้เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับถูกปัดตกโดย สว. ชุดนี้
“สว. ชุดนี้ได้ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากใน 13 ฉบับที่มีความพยายามในการแก้เพื่อลดอำนาจ สว. และในการการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทุกฉบับก็ถูกปัดตกทั้งหมด คือปฏิเสธที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง นี่คือหน้าที่ประการที่หนึ่ง”
ส่วนหน้าที่ประการที่สอง คือ เรื่องการตรวจสอบ การตั้งกระทู้ถาม ซึ่งที่ผ่านมา สว. ชุดนี้มีการตั้งกระทู้ตามมาตรา 150 ไปทั้งหมด 588 กระทู้ แบ่งเป็นกระทู้ด้วยวาจาและด้วยลายลักษณ์อักษร
ในส่วนที่สาม คือการทำหน้าที่เห็นชอบองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ สว. ชุดใหม่ถูกจับตามอง ต้องขอย้ำว่า สว. ไม่ได้มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ แต่มีอำนาจให้ความเห็นชอบตามกระบวนการที่มาขององค์กรอิสระและศาล ตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแต่ สว. ก็มีการใช้อำนาจนี้อย่างน่าสงสัย
“สิ่งที่ สว. ได้ใช้อำนาจในการรับรององค์กรอิสระ โดยใน ปี 2567 ก็คือการปฏิเสธให้ความเห็นชอบ แต่งตั้งประธานศาลปกครองและตอนช่วงปีในปี 2556-2557 เป็นช่วงที่เข้มข้นในการตรวจสอบ ก็ปฏิเสธรับรอง ป.ป.ช. (คณะกรรทการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) หลายคนมาก จึงมีการตั้งคำถามว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อให้ไฟแดงกับกลุ่มองค์กรอิสระ ที่อาจจะมีแนวทางไม่สอดคล้องกับทิศทางของตัวเองเปล่า ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญ”
นอกจากนี้ ในส่วนหน้าที่สำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา 5 ปี ยังไม่เห็นมิติการปฏิรูปใดใดที่ออกดอกออกผลเลย และที่สำคัญ ในสิ่งหนึ่งที่ซ่อนเร้นเอาไว้แต่เห็นชัดมาก คืออำนาจในการการสืบทอดอำนาจการปกครองของ คสช. ที้ สว. ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้ ซึ่งเป็นอำนาจที่ซ่อนเร้น แต่กลับเห็นได้ชัด
“เพราะฉะนั้น ทั้งหมดทั้งปวง ถ้าจะพูดประโยคสุดท้าย ดิฉันขอบคุณ สว. ชุดนี้ ขอบคุณที่เป็นภาพสะท้อนว่า การรัฐประหารและการออกแบบ สว. โดยคณะรัฐประหารนั้นล้มเหลวอย่างไร และทำให้สังคมให้ความสำคัญกับการมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญที่สุด คือ เราควรจะมีฉันทามติ ว่ารัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ สว. มีที่มาเช่นนี้ ควรที่จะถูกแก้อย่างรวดเร็ว” ศ. ดร.สิริพรรณกล่าว
ส่วนในประเด็นที่มาของ สว. นั้น ศ. ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า ถ้าเราย้อนดูของไทยบ้าง พฤฒสภาของเรา ถ้าดูจุดมุ่งหมายของ อ.ปรีดี คุณูปการที่ได้ท่านอาจารย์ได้คิดเอาไว้คือเพื่อเป็นสภาพี่เลี้ยง เพราะมองว่าตอนนั้นสภาผู้แทนยังไม่พร้อม แต่ดูจากความตั้งใจของ อ.ปรีดี คือต้องการให้ยึดโยงกับประชาชน มาจากเลือกตั้งโดยอ้อม แต่ไม่ได้อ้อมไกลมาก ให้สภาผู้แทนราษฎรนั่นแหละเป็นคนเลือก
“แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ อ.ปรีดีมีการออกแบบให้มีคุณสมบัติค่อนข้างสูง อายุ 40 แถมต้องจบปริญญาตรี เป็นคุณสมบัติที่ต้องไต่เพดานพอสมควร น่าเสียดายที่ชุดนี้อยู่ได้แค่ปีกว่าๆ เท่านั้นก่อนยุติเพราะการรัฐประหาร พ.ย. 2480 ต่อมา พฤฒสภาได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของกลไกอำนาจรัฐเพราะมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายบริหาร”

ทั้งนี้ แทนที่ สว. ไทยจะทำหน้าที่เป็นองค์กรยับยั้ง ตรวจสอบ ค้ำยันรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย กลับกลายเป็นองค์กรค้ำจุนอำนาจ ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เรามีพฤฒสภาแบบนี้จนปี 2540 เป็นฉบับแรกให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2543 แต่ก็ยังมีข้อติฉินว่าเป็นสภาผัวเมีย ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเปลี่ยนให้แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง-สรรหาหนึ่ง
จากนั้นในปี 2556 มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความพยายามแก้ที่มาของ สว. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยด้วยเสียง 6:3 ว่าการเลือกตั้ง สว. ทั้งหมดโดยประชาชนไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรม จนต่อมาเกิดการรัฐประหาร 2557 ประหนึ่งเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหารดังกล่าวคือความยากเย็นของการที่จะมี สว. จากการเลือกตั้งของประชาชน
ศ. ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า พอรัฐประหาร 2557 จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2560 เราจึงมีที่มาของ สว. ที่เราเผชิญอยู่นี้ ซึ่งที่มาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นที่มาของ สว. แบบสับ คือ ‘สับสน’ เพราะว่า ซับซ้อนมากที่สุดในโลก ถ้าพูดถึงที่มา สว. เป็นกลุ่มอาชีพ ไม่ใช่ไทยอยากได้ที่เดียว ประเทศที่ใช้มานานและได้ผลด้วย แม้ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ คือ ฮ่องกง ซึ่งมี สส. 3 รูปแบบที่มาจากกลุ่มอาชีพที่หลากหลายมาก แต่เขามาจากการเลือกของกลุ่มอาชีพนั้น หมายความว่าถ้าเกิดใครในกลุ่มอาชีพนั้นไปลงทะเบียนเป็นผู้เลือกซึ่งไม่ใช่ผู้สมัครต้องเสีย 2,500 บาท แล้วไปเลือก ซึ่งเราสามารถทำแบบเดียวกับฮ่องกงได้ แล้วมีความชอบธรรม
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับ สว. ของไทย ที่จะมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 สิ่งที่อาจชี้ให้เห็น คือ 1. ความไม่เป็นธรรม ในเชิงสัดส่วนกลุ่มอาชีพกับประชากรในประเทศ ซึ่งของไทยจาก 200 คน กลุ่มที่ 1 กับ 4 ในที่สุดจะมาจากข้าราชการ และอาจจะวัยเกษียณด้วยถึง 40 คน ถ้ามาดูในกลุ่มประชาชนคนธรรมดา น่าจะมีไม่เกิน 50 คน จาก 200 คน ก็คือกลุ่ม 5-6 กลุ่มผู้ใช้แรงงาน พนักงานบริษัททั่วไป ชาติพันธุ์และผู้พิการ คือสัดส่วนกลุ่มชีพที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้สะท้อนอาชีพของประชากรที่แท้จริง นี่คือข้อกังวล
ส่วน 2. สิ่งที่เราควรตั้งคำถาม คือคนที่จัดการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีอำนาจทำได้ 3 แนวทาง คือ 1. ออกระเบียบตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างซื่อตรง 2. ทำเกินรัฐธรรมนูญกำหนด ซี่งตนคิดว่า กกต. กำลังทำสิ่งนี้ ด้วยการออกระเบียบที่สร้างความหวาดกลัว 3. กกต. สามารถทำเหนือ คือเรารู้ว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างระเบียบนั้น มาจากความกลัวเสียงของประชาชน จึงตัดความเชื่อมโยง
“ความจริง กกต. สามารถอะลุ่มอล่วยให้ประชาชนเข้ามามีร่วมได้โดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เช่น เปิดให้สังเกตการณ์ได้ หรือแนะนำตัวเองได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้”
ศ. ดร.สิริพรรณกล่าวว่า แม้ว่าระบบนี้จะตัดความเชื่อมโยงประชาชน แต่เราก็ยังมีความหวังหลัง สว. ชุดนี้หมดวาระ เพราะสิ่งที่เราเห็นและบรรยากาศตรงนี้ได้สร้างความตื่นตัว เชื่อว่าเราจะได้คนที่มีคุณภาพเข้าไปสมัคร แม้ระบบจะออกมากีดกัน แต่เชื่อว่าประชาชนจะร่วมใจกันได้ ส่วนที่มีหลายคนบอกว่า การซื้อขายมักจะเกิดขึ้นได้หลังเข้าไปแล้ว อันนี้ต้องระวัง มันเหมือนมีความพยายาม ประคองให้ สว. ชุดปัจจุบันอยู่แบบนิรันดร์ แต่ยังมองว่าถึงที่สุดแล้ว กกต. ไม่กล้ายื้อหรือล้มกระดาน ให้ สว. อยู่นิรันดร์ เพราะ พ.ร.ป. มาตรา 45 บอกว่า กกต. ต้องประกาศ สว. ครบ 200 คน และสำรองกลุ่มละ 5 คน ถ้าเขาประกาศแล้วใครถูกสอย ก็เลื่อนมา ถ้าสอยไปเรื่อยๆ จนเกินครึ่ง ก็ให้เลือกกันเองใหม่ คิดว่ามีช่องที่เขาจะต้องประกาศ ดังนั้นเชื่อว่า กกต. จะประกาศผล 2 ก.ค. หลังการเลือกแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม ศ. ดร.สิริพรรณ เห็นว่าระเบียบ กกต. คือ ทำนอกและทำเกินกว่ากฎหมาย จึงอยาก ให้ กกต. ทบทวน เปิดให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้ เช่น องค์กรไอลอว์ หรือองค์กรอย่าง We Watch หรือในระดับอำเภอจังหวัดเข้าร่วมสังเกตการณ์คัดเลือกได้

ตัดเกรดศูนย์ สว. “ขัดขวาง- กร่อนเซาะประชาธิปไตย”
รศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มี สว. ท่านหนึ่งออกมาบอกว่า เขาปิดทองหลังพระซึ่งเข้าใจตัวเองผิดไปอย่างมหันต์ และขอตัดคะแนน สว. ชุดที่ผ่านมา และให้เต็ม 10 ในแง่ของการพิทักษ์รักษาระเบียบอำนาจเดิมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
“ในแง่นี้ สว. เป็นลูกจ้างที่ซื่อสัตย์มาก คะแนนเต็ม 10 และถ้าเรามองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือพินัยกรรมของ คสช. ที่สร้างขึ้นมา เพื่อที่ต่อให้ตัวเองไม่อยู่แล้ว เขาวางพินัยกรรมตรงนี้ ไม่ให้สังคมเปลี่ยนไปมากกว่ากรอบที่เขาต้องการเอาไว้ คือ พยายามจำกัดเพดานและโอกาสของการเปลี่ยนแปลง สว. ชุดนี้คือผู้พิทักษ์รักษาพินัยกรรมอันนี้ ซึ่งเป็นการทำงานได้ดีมาก”
ส่วนคะแนนการส่งเสริมประชาธิปไตยและการทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล ต้องให้คะแนนเป็น 0 ในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย แต่อีกประเด็นในฐานะคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรามี สว. แต่งตั้งหลายชุดแล้ว แต่ถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้ว สว. ชุดนี้ที่แต่งตั้งโดย คสช. เป็น สว. ที่มีบทบาทในการขัดขวางและกร่อนเซาะประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่พูดแบบนี้เพราะว่า ในอดีต สว. ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารในช่วงจอมพล ถนอม กิตติขจร และพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขณะนั้น สว. เป็นแค่อะไหล่เสริม มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีอำนาจในการเข้าไปโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ถึงไม่มี สว. ยังไงก็ตามคณะรัฐประหารก็เลือกจอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว เพราะตอนนั้นสังคมเป็นเผด็จการแบบปิด และความตื่นตัวของประชาชนไม่สูงมาก พูดง่ายๆ สว. ไม่ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนดุลอำนาจ หรือไปขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนได้ เพราะตอนนั้นพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนปิด
หากมองในแง่เปรียบเทียบ สว. ชุดนี้มีบทบาทสำคัญกว่า สว. ทุกชุดในอดีต เพราะมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการรับรององค์กรอิสระ แต่ว่าเกิดขึ้นในยุคที่บ้านเมืองพัฒนาไปไกลมากแล้ว ประชาชนก็ตื่นตัวไปมากแล้ว แต่ว่า สว. กลับมาทำหน้าที่ตรงนี้ในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร
“ถ้าสมมติถ้าไม่มี สว. ชุดปิดทองหลังพระใน 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพัฒนาไปไกลกว่านี้แล้วในด้านประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญก็อาจจะได้รับการแก้ไขไปแล้ว ตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อาจจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หมายความว่าการสืบทอดอำนาจจะไม่เกิดขึ้น มันจะถูกยุติวงจรตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว สว. ชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญมากในบริบทของการขัดขวางประชาธิปไตย”
รศ. ดร.ประจักษ์ ได้ขอบคุณ สว. เช่นกัน เพราะคุณูประการที่สำคัญของ สว. ชุดนี้ทั้ง 250 คน ช่วยทำลายมายาคติที่คณะรัฐประหารอ้างมาตลอดว่าการมี สว. แต่งตั้งมันดี ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่สกปรก ถ้าแต่งตั้งจะได้ สว. ดี คุณวุฒิสูง สว. ที่มาตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจได้ จะเป็นสภาพี่เลี้ยง ซึ่ง สว. ชุดที่ผ่านมาทำลายมายาคติทั้งหมดนี้ลง เพราะทำตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ในแง่นี้มันเลยช่วยเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสที่ทำให้สังคมไทย เพราะ สว. 250 คนนี้ ทำให้เราตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องมี สว. อีก เราเป็นสภาเดี่ยวเลยดีไหม
“ผมคิดว่าข้อถกเถียงตอนนี้มันเป็นจริงมากขึ้น มันเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้เกิดการถกเถียงมากขึ้นว่า สว. มันจำเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะ สว. แต่งตั้ง ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่จะแก้ไขนี้ ผมไม่คิดว่าจะมีใครเสนอโมเดลว่าเราจะมี สว. แต่งตั้งอีกต่อไป เพราะฉะนั้น คิดว่า สว. ชุดนี้จะหมดอายุไป จะเป็น สว. แต่งตั้งชุดสุดท้ายของประวัติศาสตร์ไทย” รศ. ดร.ประจักษ์กล่าว
ส่วนรูปแบบการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เรากำลังจะเลือกในขณะนี้ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมทางการเมืองไว้หลายอย่าง โดยหากเราคงจำได้ว่ารัฐธรรมนูญออกแบบให้เลือก สส. ด้วยบัตรใบเดียว แต่มี สส. 2 ประเภท และการเลือก สว. แบบที่เรากำลังจะเลือกนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศไหนในโลกทำเลยในการออกแบบเช่นนี้
แต่ถามว่าเราฉลาดกว่าทุกประเทศในโลกที่เหลือหรือไม่ ที่เราสามารถออกแบบระบบที่ซับซ้อนขนาดนี้ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะเขาไม่ได้ออกแบบเหมือนเรา เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมและไม่ยึดโยงกับประชาชน และระบบ สว. แบบนี้ก็ไม่ยึดโยงกับประชาชน ฉะนั้นจึงไม่มีใครออกแบบเช่นนี้ มันพิสดาร และเป็นความสับสนโดยตั้งใจ

“ประจักษ์” ชี้ระบบเลือก สว. ครึ่งบกครึ่งน้ำ
รศ. ดร.ประจักษ์วิเคราะห์ว่าทำไมออกแบบระบบแบบนี้ มันไม่ใช่ทั้งระบบเลือกตั้งหรือระบบแต่งตั้งที่อยู่ตรงกลาง ขอเรียกว่า “ระบบครึ่งบกครึ่งน้ำ“ โดยถ้าเลือกตั้งก็เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิไปเลือก สว. ใครอยากเป็นก็มาสมัครเลย ประชาชนก็ไปเลือก
“ระบบเลือก สว. ที่เรากำลังมาใช้มันคือ selection ไม่ใช่ election คือ ประชาชนกว่า 50 ล้านคนไม่มีสิทธิเลือก แต่ให้เลือกกันเองระหว่างคนที่ไปลงสมัคร ยิ่งคนไปสมัครน้อยเท่าไหร่ สว. ก็จะเป็นตัวแทนของกลุ่มที่น้อยมากๆ ในการคัดสรรกันเอง”
สุดท้ายเราก็จะเห็นว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ว่า ใครจะเป็นตัวแทนของประชาชน ทีนี้ในการเลือกแบบนี้ทำไมเขาออกแบบอย่างนี้ ผมคิดว่าเขาไม่ให้เลือกตั้งทั้งหมด อันนี้เข้าได้ว่าก็หวาดกลัวที่จะได้ สว. ที่ประชาชนเลือกมา แล้วในแง่นี้ชนชั้นนำก็จะควบคุมไม่ได้
รศ. ดร.ประจักษ์กล่าวว่า การออกแบบให้เลือกไขว้ด้วย ก็ไม่ค่อยมีความสมเหตุสมผลแล้ว มีการให้กลุ่มอาชีพอื่นมาเลือกไขว้ที่มาจากการจับสลากอีก มันเหมือนเป็นระบบ ”สว.กล่องสุ่ม“ ท่านไม่รู้เลยว่าท่านต้องถูกเลือกจากใครบ้าง อาชีพไหนบ้าง สุดท้ายแล้วสว.นี้จะไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย จะเป็น 200 คนที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ได้เป็นตัวแทนแม้แต่อาชีพไหนเลย เพราะออกแบบมาให้สับสนไป
การเลือก 200 คนที่ไม่ยึดโยงกับใครเลยมันก็ง่าย ที่จะมาช้อนซื้อคืนทีหลัง มันก็ควบคุมง่าย มันจะได้ 200 คน ที่เข้ามายังไงก็ไม่รู้ ต้องรับผิดชอบต่อใคร ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครอย่างแท้จริง มันก็แจกกล้วยง่าย เข้ามาล็อบบี้ง่าย มันก็จะมีผู้มีอำนาจค่อยมา ล็อบบี้เอาเป็นรายบุคคลไป ซึ่งคนที่ไม่ได้ยึดโยงกับใคร แน่นนอน มันก็สามารถถูกซื้อตัวได้ง่ายอยู่แล้ว ผมว่าอันนี้คือความตั้งใจ ออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นเกมที่ชนขั้นนำออกแบบมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนจะทำได้ตอนนี้ในการแก้เกมการเลือกแบบนี้ คือ ไปสมัครให้มากที่สุดเพราะสุดท้ายถ้ามีคนไปสมัครแค่ 10,000-20,000 คน การเลือกสรรกันเอง และการจัดตั้งก็จะง่าย ถ้าประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมาก สมมุติมีคนไปสมัคร 5 แสนคน อย่างน้อยการบวนการที่จะที่จะเลือกกันเองเงียบๆก็จะทำได้ยากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งเดียวที่จะทำได้ คือ เข้าไปมีส่วนร่วมในเกมที่มันไม่แฟร์ให้มากที่สุด
รศ. ดร.ประจักษ์กล่าวด้วยว่า อยากฝากถึงคน 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ฝากถึง กกต. เพราะว่าจากการเลือกตั้งส.ส. ปี 2562 และ 2566 กกต.โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ซึ่งครั้งนี้กกต.เองก็สามารถที่จะฟื้นฟูเครดิตของตัวเองในการส่งเสริมประชาธิปไตยได้ แล้วตามจริงกกต.ก็เป็นได้สมัยเดียว เป็นอีกไม่ได้แล้ว แต่ทิ้งเอาไว้เป็นมรดกให้คนจดจำกกต.ชุดนี้ อยากฝากว่าไม่ว่าเริ่มต้นเป็นอย่างไร ก็สามารถกลับตัวมาเป็นองค์คุลีมาน ในการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยในท้ายที่สุดได้
กลุ่มที่ 2 คือ สื่อมวลชน มีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศให้เลือกสว.ครั้งนี้ไม่เงียบ ให้คึกคัก สื่อต้องไม่เกร็งกับระเบียบต่างๆ ของกกต. สื่อต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชน ต้องช่วยในการรายงานข่าว เจาะลึกเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ยังมีสิ่งหนึ่งที่ยังสามารถทำได้ในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย ด้วยการชักชวนพ่อแม่ คุณน้า คุณอา ญาติผู้ใหญ่ ให้เห็นความสำคัญของการเข้าไปมีส่วนร่วมในครั้งนี้
สุดท้ายฝากถึงว่าที่สว.ทั้งหลายว่า เดิมพันครั้งนี้มันสำคัญ เพราะว่ามันไม่ได้ขึ้นว่าใครจะได้เป็นสว. มันอยู่ที่เราจะเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส ที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทย มันกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง และ 1.เปลี่ยนสว.จากจากการเป็นผู้พิทักษ์ระเบียบอำนาจของคสช. กลับมาพิทักษ์รักษาส่งเสริมประชาธิปไตย 2. เปลี่ยนสว.จากการเป็นชนชั้นนำ ให้กลายเป็นตัวแทนของประชนชน 3. เปลี่ยนบทบาทสว.จากการแช่แข็งความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตย มาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า

เรียกร้อง กกต.แก้ระเบียบเปิดทางให้สื่อเชิญผู้สมัครออกทีวีได้
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ผมไม่ได้มอง สว.ชุดที่แล้วเป็นคนดีหรือไม่ดีอย่างไรเพราะว่ามันเป็นเรื่องของ ระบบมากกว่า โดยหากพิจารณาบทบาทของ สว.ในอดีต ที่มีเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า สว. ควรจะเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฏรหรือไม่ นั้นขณะนี้ไม่ใช่ประเด็นนั้น เพราะในช่วงปี 2521-259 บทบาทของสว. คือพิจารณากฎหมายสำคัญ ทำให้พรรคการเมืองรู้ว่าในการตั้งรัฐบาล สว. คือกำลังสำคัญที่สุด ใครคุมกำลัง สว.ได้ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่ามีบทบาทอย่างมีนัยยะสำคัญ
แต่ถ้าเทียบกับสว.250 คนชุดนี้การทำงาน 5 ปีมีบทบาทที่หนักหนากว่านั้นมาก เพราะเขาให้ สว. ตั้งแต่มีอำนาจตั้งแต่รับรององค์กรอิสระ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด หรือการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาล มีการพิจารณากฎหมายปฏิรูป ทำให้มีการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ
รวมไปถึงการกำกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ถ้ากำกับให้ดีตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะไม่เกิดการปฏิรูปเพราะแผนยุทธศาตร์ชาติมีไว้สำหรับดองประเทศ แต่สว.ชุดที่ผ่านมาไม่ได้ไปตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และลงโทษ เนื่องจากผู้ที่ใช้อำนาจเป็นพวกเดียวกัน ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สว.ชุดนี้ อาจจะเล่นงานถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ไปแล้วเนื่องจากไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งโดยรวมแล้ว สว. ชุดนี้มีอำนาจมากกว่า สว.ในอดีตที่ผ่านมา
“สว.ชุดนี้ ได้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องรัฐธรรมนูญ จะแก้รัฐธรรมนูญผ่านได้ต้องมี สว. ให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม วิธีไม่ให้ผ่าน ก็ง่ายๆนิดเดียว คือไม่ไปออกเสียง งดออกเสียง ซึ่งก็มีการทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น สว.ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ตามที่ผู้มีอำนาจออกแบบเพื่อให้มีองค์กร คณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้ง ให้มีอำนาจเหนือกว่าผู้มีมาจากการเลือกตั้ง”
นายจาตุรนต์ ยังบอกอีกว่า วุฒิสภามีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ถ้าจะฝากบางคนอาจจะรู้สึกขัดต่อจิตสำนึกอยู่บ้างในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา ก็ดีใจด้วยที่จะได้หยุดทำหน้าที่ตรงนี้ไป ส่วนท่านที่มีความสุขในการทำหน้าที่ตรงนี้ ก็ขอแสดงความเสียใจด้วย ที่ได้พ้นหน้าที่ไปแล้ว ในระหว่างนี้ช่วงที่มีการรักษาการ มันไม่มีกติกาเหมือนรัฐบาลรักษาการ อะไรที่ไม่จำเป็นจริงๆไม่ต้องทำดีกว่า
นายจาตุรนต์ ย้ำว่า สว.ชุดใหม่นี้ที่กำลังจะเลือกเข้ามา มีอำนาจต่างกับ สว.ชุดที่แล้วแค่เรื่องเดียว คือการเลือกนายกรัฐมนตรี นอกนั้นยังมีอำนาจเหมือนเดิมหมด อำนาจของ สว.ที่มีเยอะแยะไปหมด สิ่งที่ก่อนหน้านี้ผู้มีอำนาจทำคือการแต่งตั้ง สว. แต่คราวนี้เลือก สว.ชุดใหม่ เขาก็ออกแบบไม่ให้มีการเชื่อมโยงกับประชาชน เราจะทำอย่างไรให้การเลือก สว.ครั้งนี้มีความเสียหายน้อยที่สุด
“การออกแบบการเลือก สว.ครั้งนี้ อาจจะกลัวว่ามีใครเข้าไปจัดการ พรรคการเมืองเข้าไปควบคุม ก็เลยหาทางป้องกันไว้เยอะ แต่สุดท้ายเราไปดูสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่จะเกิดขึ้นในกติกาการเลือก สว.ครั้งนี้ คือการจัดการ จากฝ่ายการเมืองหรือนายทุนก็ตามใช้เงินน้อยกว่าบางพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มา 50 คน เพราะเขาสามารถหาผู้สมัครได้เป็น 100,000 คนได้แต่ สิ่งที่ กกต.ทำอยู่กำลังทำให้ประชาชนไม่มีส่วนป้องกัน เลย
นายจาตุรนต์ กล่าวว่าถ้าดูระเบียบ กกต. ที่ออกมาผมว่าออกเกินกว่ากฎหมาย และเกินกว่าในการจำกัดสิทธิของประชาชนทั้งตัวผู้สมัคร สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไปด้วยกันหมดเลย รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ถ้าคุณจะกำจัดสิทธิของสื่อคุณจะต้องมีเรื่องของความมั่นคงต่างๆ เขาก็พลิกแพลง อาจจะเรียกได้ว่าฉลาดแกมโกง ไม่ห้ามสื่อโดยตรงแต่ห้าม ผู้สมัครให้สัมภาษณ์สื่อทุกชนิด
“กฎหมายบอกว่าห้ามจูงใจให้คนมาเลือกหรือไม่เลือกด้วยเหตุต่างๆ เขาไม่ได้ห้ามการจูงใจด้วยการพูดการแสดงความเห็นสุจริตแต่ กกต.ไปออกกติกาห้าม ในการแนะนำตัว กรรมการประจำอำเภอต้องประกาศอาชีพและประวัติ ต่อประชาชนทั่วไปหมายความว่าทำมากกว่านั้นก็ได้แต่สิ่งที่ กกต.ทำคือ ทำให้รู้น้อยกว่านั้น และไม่ให้ประชาชนรู้อะไรเลย เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง และทำเกินกว่ากฎหมาย ขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ”
นอกจากนี้ สิ่งที่ขัดมากที่สุดคือรัฐธรรมนูญในมาตราที่ว่าด้วย ส.ส. และ สว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย คุณจะเป็นผู้แทนชนชาวไทยได้อย่างไร โดยที่เลือกกันไป ประชาชนทั้งประเทศไม่เกี่ยว ผมคิดว่าประเด็นในขณะนี้เราจะมาลดความเสียหายตรงนี้ได้อย่างไร
“ผมเรียกร้องให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง สื่อสัมภาษณ์ได้ ประชาชนแสดงความเห็นได้ กกต.ควรจะเคารพเข้าใจหลักการเรื่องเสรีภาพ และที่สำคัญมากในการหวังกับ สว.ชุดนี้ เราต้องอาศัยเขาในการแก้รัฐธรรมนูญ เราควรจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับการแก้รัฐธรรมนูญ”
สำหรับการส่งเสริมของรัฐบาลนั้นทำอะไรไม่ได้เลยส่วนตัวอยากให้รัฐบาลเปิดให้สื่อของรัฐทีวีของรัฐทุกช่องเชิญผู้สมัครมาสัมภาษณ์แนะนำตัวเผยแพร่ข้อมูลต่างๆให้ใช้สถานที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานราชการในการรณรงค์และแนะนำตัวได้ทั่วประเทศ พูดแบบนี้ไม่ได้เพ้อฝันถ้า กกต. แก้ระเบียบแล้วให้รัฐบาลทำแบบนี้ จะทำให้สว.ชุดใหม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน และเรายังหวังได้ว่าจะเกิดการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นด้วยการสนับสนุนของ สว. อย่างน้อย 67 คนขึ้นไป
นายจาตุรนต์ คาดหวังว่า จะพยายามผลักดันให้มี สว. อย่างน้อย 67 คนขึ้นไป ที่พร้อมจะสนับสนุนยกมือผ่านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญ

ผลงาน 250 สว. คือ แช่แข็งประชาธิปไตย
ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า “ผมขอลงลึกไปในอดีต มองบทบาท 250 สว. ที่ผ่านมา เรื่องของการประเมิน บทบาทของ สว. ผมคิดว่าสว.250 คน ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ตามวัตถุประสงค์ และตามเหตุผลของการมีอยู่ของ สว. ชุดบทเฉพาะกาล คือเป้าหมายในการแช่แข็งประชาธิปไตย เป้าหมายในการรักษาระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
“เราต้องยอมรับว่าเขาประสบความสำเร็จ แต่ถามว่าทำไมเราต้องบอกอย่างนั้นก็ต้องเชื่อมโยงกลับไปว่าต้นกำเนิดของ สว. 250 คน ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และที่มา เนื้อหาที่ไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการขยายอำนาจของหลายสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งประชาชน แต่สามารถเข้ามาขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้งได้ และสามารถถูกควบคุมกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารที่มีส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา”
“จะเห็นว่าในบรรดา 250 คน มี 194 คนที่ คสช.จิ้มมาเลย มี 6 คนที่เป็นผบ.เหล่าทัพและก็มีอีก 50 คน ที่เหมือนจะเลือกจากกลุ่มอาชีพ แต่ท้ายที่สุด 50 คน คสช.ก็จิ้มมาอยู่ดี จึงเรียกได้ว่าทั้ง สว. 250 คนมีที่มาจาก คสช.อย่างเบ็ดเสร็จ แต่กลับมีอำนาจสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่ง องค์กรอิสระหรือมีอำนาจในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า สว. 250 คน เป็นรูปธรรมที่สุดของปัญหารัฐธรรมนูญ2560”
เราก็ได้เห็นผลงานสำคัญของสว. 3 ผลงานที่ถือเป็นกลไกในการแช่แข็งประชาธิปไตยไทย กลไกที่ 1 คือ การเลือกนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่า สว.ชุดนี้ประสบความสำเร็จในการเข้ามาแทรกแซง การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อรักษารัฐบาลที่เป็นอยู่ซึ่งไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”
นายพริษฐ์กล่าวด้วยว่า ผลงานที่ชัดเจน 2 ครั้งในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยครั้งที่ 1 คือ หลังการเลือกตั้ง 2562 เราได้เห็น ฤทธิ์เดชของสว.250 คน แม้อาจจะไม่ได้โจ่งแจ้ง เพราะเขาจะให้เหตุผลว่าการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ มีเสียงกึ่งหนึ่งแล้ว แต่พอมาปี 2566 สว.250 คนชุดเดียวได้ปฏิบัติการโจ่งแจ้งในการโหวตนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคก้าวไกลรวม 8 พรรคการเมืองและมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแต่ว่าท้ายที่สุดแล้วนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ไม่ได้รับเลือกเป็นนายก โดยสว.ชุด โหวตเห็นชอบแค่ 13 คนจาก 250 คน
เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบบทบาทของ สว. ปี 2562 กับปี 2566 ก็ตอกย้ำว่า สว. หลายๆคนมีเจตนา จะแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลจริงๆ เพราะถ้าจำได้ว่า มี สว.บางคนบอกว่าปี 2562 เหตุผลที่โหวตให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่พอมาปี2566 กรณีนายพิธา ทำได้เหมือนกัน แต่ไม่โหวต แสดงว่าไม่ได้มีความคงเส้นคงวาในการทำงาน แต่มีเจตนาในการเข้ามาเพื่อแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนกลไกที่ 2 คืออำนาจในยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญเพราะสุดท้ายสิ่งที่เป็นพินัยกรรมของ คสช.มีการเสนอไป 26 ร่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านไปเพียงแค่ร่างเดียว แต่ที่น่าตกใจคือมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 19 ร่างที่ได้เสียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.แต่ไม่ได้เสียง ของ สว. และมองให้ชัดไปกว่านั้น มี 18 ร่างที่ได้เสียงเกิน 2ใน 3เสียงของ ส.ส. คือการได้ฉันทามติร่วมกันระหว่างฝ่ายค้ากับฝ่ายรัฐบาล แต่กลับไม่ได้เสียง 1 ใน 3ของ สว.
แต่ประเด็นที่ชัดที่สุดคือ การเสนอยกมาตรา 272 ที่ถูกเสนอหลายครั้ง ให้แก้ไข และมีครั้งนึงในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งได้เสียงจาก ส.ส.ถึง 440 คน หรือ 88 % แต่ว่าได้เสียงของสว.เพียงแค่ 24 คนเท่านั้น
“ผมมองลึกลงไปในเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ว่าทำไม สว.ถึงยอมแก้ ซึ่งถ้ามองแบบผิวเผินคือการแก้ไขที่ไม่ไปกระทบอำนาจ สว. แต่ผมมองมันเลวร้าย ผมมองว่าท้ายที่สุดแล้ว สว.จะแก้ไขไม่แก้ไขการเลือกตั้งนั้น มันก็มีข่าวหนาหูว่า สว. คำนึงถึงโอกาสหรือผลสำเร็จทางการเมืองของคนที่มีอิทธิพลต่อเขา”

นอกจากนี้ในเรื่องของอำนาจในการรับรอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระ เราจะเห็นว่า มีการใช้อำนาจปฏิเสธในการรับรองบุคลากรหลายคนในองค์กรเหล่านี้ และถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของทัศนคติทางการเมืองของเขาหรือไม่ โดยในปี 2565 เคยเสนอชื่ออาจารย์ท่านหนึ่งเข้ามาเป็น ป.ป.ช. แต่ว่าถูกปฏิเสธ
และมีข่าวว่าอาจารย์ท่านนี้มีทัศนคติไม่เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น หรือพูดตรงๆคือมีพฤติกรรมและแนวคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพราะฉะนั้นเราจึงมีคำถามว่า องค์กรอิสระที่เราต้องการให้ทำหน้าที่เป็นกลางนั้น เราได้คนทำงานเป็นกลางหรือเปล่า และแม้ว่าพอคัดเลือกไปแล้วบุคคลดังกล่าวทำหน้าทีโดยมีความเป็นกลางจริง แต่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นไปแล้วทำให้เราไม่สามารถมีระบบการเมืองที่แข็งแรงเพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระ
เพราะฉะนั้นนี่คือ 3 อำนาจที่ สว. ชุดนี้ใช้ให้ประสบความสำเร็จในการแช่แข็งประชาธิปไตย และฝากอะไรกับสว.ชุดนี้ มีข้อความสั้นๆว่า เวลาของท่านหมดแล้ว ขออย่าพยายามทวนเข็มนาฬิกา อย่าพยายามตีความว่าอำนาจของบทเฉพาะกาลยังคงมีอยู่ อย่าพยายามตีรวนให้การเลือก สว.ชุดใหม่ล่าช้า ถูกประกาศผลล่าช้า และจะทำให้ สว.ชุดนี้รักษาการต่อไปได้ และอะไรก็ตามที่ยังคงมีอำนาจเชิงกฎหมายอยู่ ต้องตระหนักไว้เสมอว่าอย่าตัดสินใจอะไรที่ผูกกับอนาคตของประเทศในช่วงรักษาการ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า การคัดเลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า อำนาจของ สว.ชุดใหม่ถึงแม้จะไม่ได้มากเหมือนชุดที่ผ่านมา แต่ยังไม่ถือเป็นมาตรฐานทางประชาธิปไตย และระเบียบของ กกต.ยังมีความไม่ชัดเจนหลายอย่าง จนทำให้อาจมีการใช้อำนาจรักษาการของ สว.ชุดเก่า พร้อมทั้งเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ควรจะเปิดกว้างกว่านี้ โดยการคัดเลือก สว.ชุดใหม่ มี 4 ประเด็นหลักคือ 1.โครงสร้าง อำนาจ ที่มาของ สว.ชุดใหม่ ซึ่งยังคงห่างไกลกับสิ่งที่ควรจะเป็นตามมาตรฐานของประชาธิปไตย
“ผมจะพูดเสมอว่าเกณฑ์หรือไม้บรรทัดที่เราสามารถใช้ได้ในการประเมินว่า สว.ในประเทศใดมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คือความสมดุล อำนาจและที่มา เราจะเห็นว่าประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตย มักจะยึดไม้บรรทัดนี้ เราจะเห็นว่า สว.ที่มีอำนาจในต่างประเทศอย่างสหรัฐ จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าในสหราชอาณาจักรที่มีการแต่งตั้ง ก็จะมีอำนาจที่น้อย อำนาจในเชิงกฎหมายที่มากที่สุดคือ การชะลอร่างกฎหมายใน 1 ปี”
แต่มันมีวัฒนธรรมประเพณีทางการเมืองที่ไปลดอำนาจมากกว่านั้นด้วย ก็คือ สว.อังกฤษอาจจะมีอำนาจในการชะลอร่างกฎหมาย แต่มันจะมีธรรมเนียม 2 ตัวที่น่าสนใจซึ่งอันหนึ่คือถ้ากฎหมายเป็นกฎหมายที่เชื่อมโยงกับนโยบายที่ถูกสื่อสารและรณรงค์ช่วงการเลือกตั้ง สว.จะไม่ใช้อำนาจในการชะลอร่างกฎหมาย และ ถ้ากฎหมายนั้นถูกเสนอโดย ส.ส.เกี่ยวข้องกับการเงิน สว.ก็จะไม่ชะลอเช่นกัน
ดังนั้น ถ้าเรามองว่า สว. 250 คน อำนาจสูงมากแต่มีความยึดโยงกับประชาชนต่ำขนาดนี้ พอมาปัจจุบันเลือก สว.ชุดใหม่แต่ก็ยังไม่ได้สมดุลอำนาจ ท้ายที่สุดแล้วอำนาจที่ สว.ชุดใหม่จะมีก็ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับบริบทของ สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน
กกต. ต้องกำหนดเวลารับรอง สว.ชุดใหม่ให้ชัดเจน
นายพริษฐ์กล่าวว่าส่วนประเด็นที่ 2 หากเรายึดกติกาเช่นนี้ ที่ยังห่างไกลจากมาตรฐานประชาธิปไตย เราสามารถตั้งเป้าหมายอะไรได้บ้างที่จะเกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยเป้าหมายที่ 1 คือทำยังไงให้ประชาชนอย่างพวกเราร่วมกันกดดันและก็เรียกร้องให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจจาก สว.ชุดเก่ามาชุดใหม่ ให้มันราบรื่นแล้วก็เร็วที่สุด พูดง่ายๆ คือทำยังไงให้มันไม่ยื้อเรื่องของปฏิทินในการเลือก สว.ออกไป เพราะยิ่งยื้อออกไปเท่าไร สว.ที่ถูกจิ้มโดย คสช.ทั้ง 250 คนก็จะทำหน้าที่ต่อไปนานเท่านั้น และจากบทสัมภาษณ์ของสว.บางท่านก็ไม่ได้มีความเคอะเขินในการใช้อำนาจรักษาการ
แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้กระบวนการคัดเลือกกันเอง ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งมากที่สุด ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ผมอยากให้มีผู้สมัครเยอะที่สุด เพราะจะเกิดการแข่งขันอย่างเข้มข้น แต่อีกมุมนึงถ้าใครกังวลว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่อาจจะจัดตั้งหรือว่าสนับสนุนทุนให้บางคนเป็นผู้สมัครเพื่อไปเลือกคนในโพยตัวเอง แต่ยิ่งเรามีสมัครเยอะเท่าไร ก็จะทำให้ตรงนั้นจางลงได้
นอกจากนี้ยังอยากให้เห็นบรรยากาศการเลือก สว. ถึงแม้ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งก็จริง แต่เป็นบรรยากาศที่ผู้สมัครสามารถรณรงค์ได้เต็มที่ เขามีประสบการณ์ในอดีตอย่างไร เขามีมุมมองต่ออนาคตประเทศนี้อย่างไร มีมุมมองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร มีมุมมองในการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้รับรององค์กรอิสระอย่างไร เราอยากจะเห็นข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยให้ประชาชนในวงกว้างมากที่สุด
“ผมอยากจะเห็นประชาชนที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้สมัคร อย่างน้อยมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า ชื่อนี้รูัจัก เคยทำงานด้วย เคยติดตามมาก่อน มีความเหมาะสมไม่เหมาะสมอย่างไร รวมไปถึงเมื่อมีการคัดเลือกแล้วทำยังไงให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าไปสังเกตุการณ์และตรวจสอบว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล”
ส่วนประเด็นที่ 3 คือ ประตูมันจะแคบ ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้น้อย แต่จากเป้าหมายที่ตนพูดนั้น ประตูมันจะแคบมากหรือน้อย ตัวละครที่จะสำคัญมากคือ กกต.ที่ผ่านมา กกต.ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะช่วยให้ 2 เป้าหมายที่ผมพูดถึงบรรลุได้คือการเปลี่ยนผ่านจาก สว.ชุดเก่าไปสู่ สวชุดใหม่ โดย กำหนดกรอบเวลาในการเลือกสว.ชัดเจน ว่า กกต.จะต้องรับรองผลภายในกี่วัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้
“กกต.อาจจะไม่กล้าประกาศหรือยืนยันว่าจะรับรอง สว. ชุดใหม่หลังการเลือกภายในวันที่เท่าไหร ทำให้ สว.ชุด 250 คน สามารถรักษาการไปได้เรื่อยๆ จึงอยากจะเรียกร้องให้ กกต.ยืนยันกรอบเวลา ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้บังคับ ให้ความชัดเจนกับประชาชนตรงนี้”
ส่วนอีกเรื่องคือการมีส่วนร่วมของประชาชน จะเห็นว่าระเบียบการแนะนำตัวของ กกต.ทำลายภาพฝันที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นยังไม่มีการยืนยันว่าประชาชนจะได้เข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครเมื่อไร เข้าถึงแล้ว ประชาชนจะแสดงความเห็นได้มากน้อยแค่ไหน จึงขอเรียกร้องให้ กกต.พิจารณาระเบียบนี้อีกครั้ง
ชวนประชาชนเรียกร้อง สว.ชุดใหม่แก้รัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 4 แม้กติกาจะไม่ได้มีการเป็นมาตรฐาน แต่ผมก็อยากจะเชิญชวนให้ประชาชนให้ความสำคัญ สิ่งที่ สว.ชุดใหม่จะมีความสำคัญมากใน 2-3 เดือนแรก หลังการแต่งตั้งคือการกำหนดทิศทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือโอกาสในการที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะมี 4 อย่างที่ สว.ชุดใหม่จะเข้ามามีบทบาท
อย่างที่ 1 คือ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งตอนนี้ในชั้นของส.ส.พร้อมแล้ว รอเพียงแค่มีการเปิดการพิจารณา และดูด่าน สว.ว่าจะพิจารณารวดเร็วแค่ไหน
ข้อที่ 2 คือ คำถามประชามติ สมมุติจะเดินหน้าต่อด้วยประชามติ 3 ครั้ง ทางรัฐบาลก็มีคำถามอยู่แล้ว ทางภาคประชาชนก็มีคำถามที่เสนอไปแล้วแต่ยังไม่ได้คำตอบ อีกกลไกนึงที่สามารถเสนอคำถามได้ก็คือสภา ซึ่งกลไกก็คือ ส.ส.อาจจะเสนอก่อนถ้าผ่านสภาผู้แทนก็จะไปถึง สว.
ข้อที่ 3 เมื่อมาถึงจุดที่จะมีร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขมาตรา 256 แล้วก็เพิ่มหมวดเรื่องของสสร. สว.ก็จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันกำหนดว่า สสร.นั้นจะมีอำนาจที่มาอย่างไร ข้อสุดท้าย สมมติว่าเปิดสมัยประชุมสภามาแล้วเห็นว่ามี สว.ชุดใหม่มาแล้ว หากมีการเปิดแก้ร่างกฎหมายที่สำคัญๆ ต่อการเมือง สว.ชุดใหม่จะมีความเห็นอย่างไร