ASEAN Roundup ประจำวันที่ 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2567
5 ประเทศอาเซียนแข่งส่งทุเรียนไปจีน
จีนเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยนำเข้าทุเรียน 1.4 ล้านตันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 69% จากปีก่อนหน้า ในปี 2565 จีนใช้เงิน 4.4 พันล้านดอลลาร์ในการนำเข้าทุเรียน ในปี 2564 การนำเข้าทุเรียนสดของจีนเพิ่มขึ้น 82.4% มูลค่ารวม 4.205 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าปี 2560 ถึง 4 เท่า
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจีนจะยังคงเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศที่ส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแกร่ง 3 ราย ได้แก่ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปจีนมาเป็นเวลานานแล้ว ขณะที่อินโดนีเซียได้เข้ามาเล่นในตลาดไม่นาน และล่าสุดฟิลิปปินส์เริ่มส่งออกทุเรียนสดออกสู่ตลาดในเดือนมกราคม 2566 หลังจากลงนามในข้อตกลง มาเลเซียเองก็จะเริ่มส่งออกทุเรียนไปจีนผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการในไตรมาสสามปี 2567
ตลาดทุเรียนในจีนจึงเป็นเป้าหมายของ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน
แต่จีนมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าทุเรียน โดยการส่งออกทุเรียนนั้น ผู้ปลูกและโรงบรรจุจะต้องแสดงหลักฐานที่เป็นเอกสารว่าเป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยพืชและคุณภาพที่กำหนด รวมถึงบันทึกการควบคุมศัตรูพืชและการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้ส่งออกรายใหม่ที่จะเข้าถึงตลาดจีน

เมื่อเร็วๆ นี้นายลูฮุต บินซาร์ ปันจาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของอินโดนีเซียเพื่อความร่วมมือกับจีน ได้เยือนจีนเพื่อกระชับการค้าทวิภาคีให้ลึกยิ่งขึ้น
นายลูฮุต ได้โพสตฺ์บนบัญชีโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของเขาเมื่อวันอังคาร(2 ก.ค.) เน้นย้ำถึงศักยภาพในการส่งออกทุเรียนไปยังจีน ซึ่งอาจมีมูลค่าถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ท่ามกลางความต้องการผลไม้แปลกใหม่ในตลาดจีนที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดทำข้อตกลงร่วมกับสถาบันจีโนมิกส์แห่งปักกิ่ง (Beijing Genomics Institute:BGI) เพื่อทำการศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่าทุเรียนคุณภาพสูงสำหรับการส่งออก ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนในการบรรลุเป้าหมาย
นายลูฮุตยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเตรียมพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 100 เฮกตาร์ในจังหวัดสุมาตราเหนือและปาปัวตะวันตก และกำลังวางแผนที่จะขยายเพิ่มในจังหวัดอื่นๆ รวมถึงในสุลาเวสีตอนกลางด้วย โดยเชื่อว่าพื้นที่เหล่านั้นสามารถปลูกต้นทุเรียนที่สามารถผลิตทุเรียนที่ตลาดจีนต้องการได้
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย เมื่อปีที่แล้วอินโดนีเซียผลิตทุเรียนได้ถึง 1.85 ล้านตัน และมากกว่า 50% ของผลผลิตทั้งหมดมาจากเกาะชวา มีการรายงานว่าจังหวัดชวาตะวันออกเป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีผลผลิตมากกว่า 480,000 ตันในปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน กระทรวงการค้าของประเทศรายงานว่าในปี 2565 อินโดนีเซียส่งออกทุเรียนไปจีนรวมมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ และในปี 2566 มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 6.7 พันล้านดอลลาร์
จากความต้องการทุเรียนของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ นายดิดิ สุเมดิ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาการส่งออกแห่งชาติของกระทรวงกล่าวเมื่อต้นเดือนเมษายน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้เกษตรกรในประเทศปลูกต้นทุเรียน เนื่องจากทุเรียนได้กลายเป็นผลไม้ที่มีคุณค่า
เมื่อ 5 ปีก่อน ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดเรียกร้องให้ผู้ปลูกต้นปาล์มน้ำมันทั่วประเทศกระจายธุรกิจและปลูกต้นทุเรียน เนื่องจากเชื่อว่าทุเรียนมีโอกาสในตลาดต่างประเทศดีกว่าน้ำมันปาล์มดิบ
อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ประธานาธิบดีได้ให้ให้คำแนะนำท่ามกลางความต้องการที่ต่ำและราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่ลดลง โดยกล่าวว่าจีนมีความต้องการทุเรียนสูง แต่อุปทานส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากอินโดนีเซีย

“ลองนึกภาพถ้า 10% ของพลเมือง (จีน) กินทุเรียน ไม่ว่าเราจะเก็บทุเรียนที่นี่ได้มากแค่ไหน มันก็จะไม่เพียงพอสำหรับการค้ากับพวกเขา”
นายโมฮัมหมัด ซาบูยังกล่าวอีกว่า ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ให้ความสนใจในทุเรียนมากเท่ากับจีน
“ประเทศอาหรับยังไม่เริ่มรับประทานทุเรียน และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาทนกลิ่นไม่ได้ด้วยซ้ำ ในยุโรปมีคนจำนวนน้อยที่กินทุเรียน แต่โดยทั่วไปแล้วพวกเขาไม่สนใจจริงๆ คนจีนจำนวนมากกินทุเรียนเป็น จีนมีพลเมืองจำนวนมากที่สามารถใช้จ่ายได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อทุเรียนถูกส่งไปยังประเทศอื่นๆ ความสนใจจึงมีไม่มากเท่ากับในประเทศจีน”
นายโมฮัมหมัด ซาบูกล่าวว่า การส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนคาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาสที่สามของปี โดยสวนและโรงบรรจุทุเรียนจะต้องจดทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตริตามมาตรฐานของการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ของมาเลเซียหรือ myGAP และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(General Administration of Customs China:GACC)
“กระทรวงคาดว่าการอนุมัติการลงทะเบียนกับ GACC จะใช้เวลาสองถึงสามเดือน”
เมื่อเดือนที่แล้ว มาเลเซียและจีนได้แลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 14 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออกทุเรียนสดจากมาเลเซียไปยังจีน การอนุมัติการนำเข้าทุเรียนมีขึ้นภายหลังการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน ระหว่างวันที่ 18-20 มิถุนายน
ข้อตกลงทวิภาคีจะช่วยให้มาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งออกผลไม้สดไปยังตลาดจีน ร่วมกับไทยและเวียดนาม
ก่อนหน้านี้ นายโมฮัมหมัด ซาบูกล่าวว่าการส่งออกทุเรียนของมาเลเซียระหว่างปี 2561 ถึง 2545 เพิ่มขึ้น 256.3% หรือ 822.2 ล้านริงกิต
การส่งออกทุเรียนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านริงกิตภายในปี 2573
ดาโต๊ะ อาเธอร์ โจเซฟ คูรับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารกล่าวในงานแถลงข่าวหลังเข้าร่วมพบปะกับเกษตรกรและชาวประมงท้องถิ่น เมื่อวันพฤหัสบดี (27 มิถุนายน)ว่า การส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีนเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกความเข้าใจ (MOU) 14 ฉบับที่ลงนามกับจีนเมื่อวันพุธ (19 มิถุนายน)
“ก่อนหน้านี้ เราส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยังประเทศจีน แต่ภายใต้บันทึกความเข้าใจครั้งประวัติศาสตร์นี้ มาเลเซียจะส่งออกทุเรียนสด เนื่องจากมีความต้องการทุเรียนจากจีน”
แต่มาเลเซียจะส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
“ทุเรียนสดของเราจะผ่านการทดสอบเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในประเทศจีน เช่นเดียวกับในประเทศมาเลเซียก็ทำการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับรายการอาหารนำเข้าเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อทุเรียนของเรามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด เราจะเริ่มส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีนภายในเดือนกันยายนหรือตุลาคม” ดาโต๊ะ อาเธอร์กล่าว และว่า ผู้ผลิตทุเรียนในท้องถิ่นต้องดูแลให้แน่ใจว่าทุเรียนของพวกเขาปลอดภัย
ดาโต๊ะ อาเธอร์ยังกล่าวด้วยว่า แม้มาเลเซียจะส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ก็ยังมีทุเรียนในตลาดมากพอสำหรับการบริโภคในประเทศ
“โดยปกติแล้ว ความต้องการทุเรียนจากต่างประเทศจะสูงกว่าความต้องการในประเทศมาก เมื่อปีที่แล้ว มาเลเซียส่งออกผลไม้มูลค่า 2 พันล้านริงกิต โดย 56% เป็นทุเรียน”
แม้มาเลเซียได้รับการอนุมัติให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน โดยผู้ส่งออกทุเรียนในกัวลาลัมเปอร์กำลังเตรียมการเพื่อจัดส่งทุเรียนสด แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกังวลว่าการค้าอาจเผชิญกับความท้าทายด้านโลจิสติกส์
ความต้องการทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายราคาพิเศษสำหรับพันธุ์มูซังคิงอันโด่งดังของมาเลเซีย
ตามรายงานของ The Straits Times ชาวสวนมักจะรอให้ทุเรียนสุกเต็มที่ก่อนเก็บ ซึ่งจะทำให้ทุเรียนมีอายุการเก็บรักษาเพียง 3 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การขนส่งผลไม้ทางอากาศจะใช้เวลาอย่างน้อย 36 ชั่วโมง จากการเปิดเผยของแอนนา เตียว ผู้อำนวยการผู้ส่งออก Hernan Corp.
แซม ตัน กรรมการบริหารของ MAPC ซัพพลายเออร์ทุเรียน และประธานสมาคมผู้ส่งออกทุเรียนมาเลเซีย กล่าวว่า เนื่องจากทุเรียนมีกลิ่นฉุน ทำให้สามารถขนส่งได้โดยเที่ยวบินขนส่งสินค้าเท่านั้น ซึ่งไม่มีให้บริการทุกวัน
“ข้อจำกัดนี้จำเป็นต้องอาศัยการประสานงานที่สำคัญกับหน่วยงานขนส่ง ศุลกากร และเกษตรกรรม เพื่อป้องกันความล่าช้าที่อาจทำให้ทุเรียนเสีย เราต้องการคณะทำงานจากหลายกระทรวงเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงแรกที่อาจเกิดขึ้น และปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและพิธีการศุลกากร”
การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ทุเรียนสดรายใหญ่ที่สุดสองรายของจีน ก็อาจทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากเช่นกัน ผู้ส่งออกทุเรียนในกัวลาลัมเปอร์กล่าว
ก่อนที่มาเลเซียจะได้รับอนุญาตให้จัดส่งทุเรียนสดไปจีนภายใต้พิธีสารสุขอนามัยพืชที่ลงนามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาเลเซียทำได้เพียงส่งออกทุเรียนกวนและเนื้อทุเรียนในปี 2554 และส่งออกทุเรียนแช่แข็งตามมาในปี 2561
จนถึงขณะนี้ เกษตรกรและผู้ส่งออกทุเรียนขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 30 รายในประเทศได้ลงนามกับกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารของมาเลเซีย เพื่อส่งออกทุเรียนสด โดยคาดว่าจะมีการจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น กระทรวงได้ประกาศขั้นตอนเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนแล้ว และคาดว่าจะส่งรายชื่อผู้ส่งออกไปยังสำนักงานศุลกากรของจีนในเร็วๆ นี้
“เมืองที่จะได้รับประโยชน์หลักจากทุเรียนสดเหล่านี้จะเป็นเมืองชั้นนำในจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น” แซมกล่าว พร้อมอธิบายว่า เมืองเหล่านี้มีความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ที่ดีกว่าในการรับทุเรียนสด และผู้บริโภคยังมีอำนาจในการซื้อผลไม้ราคาสูงอีกด้วย
เมื่อปีที่แล้ว มาเลเซียส่งออกทุเรียนมูลค่า 1.19 พันล้านริงกิต (252.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไปยังจีน ทำให้จีนเป็นตลาดหลัก อย่างไรก็ตาม มีเพียงสัดส่วนไม่ถึง 2% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดในตลาดจีน เอริก ชานประธานสมาคมผู้ผลิตทุเรียนกล่าวว่า “การอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดอาจเพิ่มปริมาณการส่งออกของมาเลเซียเป็นสองเท่าหรือสามเท่า ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในตลาดจีน”

การส่งออกทุเรียนของเวียดนามกำลังขยายตัวเนื่องจากมีราคาที่แข่งขันได้ ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4,662 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับราคานำเข้าเฉลี่ยของจีนที่ 5,395 ดอลลาร์
ทุเรียนสดจากเวียดนามถูกส่งไปยังจีนด้วยราคาที่สมเหตุสมผล การขนส่งที่รวดเร็ว และตัดขายได้ตลอดทั้งปี
การส่งออกทุเรียนของเวียดนามคาดว่าจะสร้างรายได้ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หลังจากเพิ่มขึ้น 5 เท่าเป็นมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 สื่อท้องถิ่นรายงานโดยอ้างกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของประเทศ
ในช่วงต้นปีดัง นายดัง ฟุ๊ก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนามคาดว่าการส่งออกทุเรียนอาจสูงถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตทุเรียนจะสูงขึ้น ประกอบกับพื้นที่ปลูกมากขึ้น และการบรรจุได้รับรหัสสำหรับการส่งออกไปยังจีน
นาย ฟุง ดึ๊ก เทียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวว่า หากมีการลงนามข้อตกลงการส่งออกทุเรียนแช่แข็งกับจีนในปี 2567 การส่งออกทุเรียนของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นมาก
ปัจจุบันทุเรียนเวียดนามส่งออกไปยังตลาด 8 แห่ง โดยสัดส่วนที่ไปจีนคิดเป็น 97% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
เมื่อปีที่แล้ว รายได้จากการส่งออกทุเรียนของเวียดนามมีมูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเกือบ 40% ของการส่งออกผักและผลไม้ทั้งหมดของประเทศ
ในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2567 เวียดนามส่งออกทุเรียนเป็นมูลค่า 919 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 74% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามข้อมูลของศุลกากร ส่งผลให้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีการส่งออกสูงสุด 3.5 เท่าของแก้วมังกร ที่ส่งออกในอันดับที่ 2
การส่งออกทุเรียนในเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวมีมูลค่า 450 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ามูลค่าของเดือนก่อนกว่า 2 เท่า และสูงกว่าปีที่แล้วถึง 34% กรมศุลกากรรายงาน
นายดัง ฟุ๊ก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม ประเมินว่า ในเดือนมิถุนายนการส่งออกทุเรียนมีมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ โดยจีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในปีนี้
เวียดนามมีทุเรียนให้เก็บขายตลอดทั้งปี ช่วยหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงกับทุเรียนจากประเทศไทย ที่ทุเรียนจะมีขายตามฤดูกาล นอกจากนี้เวียดนามมีที่ตั้งใกล้กับประเทศจีนมากกว่า จึงมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าและเวลาจัดส่งที่รวดเร็วกว่า
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทุเรียนเวียดนามถูกสั่งห้ามบางส่วน เนื่องจากมีสารปนเปื้อน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของทุเรียนเวียดนาม นายดัง ฟุ๊ก เหงียน เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการควบคุมคุณภาพทั้งในสวนผลไม้และโรงงานบรรจุเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการขนส่งทุเรียนที่ปนเปื้อน
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 เวียดนามส่งออกผักและผลไม้มูลค่ากว่า 2.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่งไปยังจีนประมาณ 1.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.94% ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สมาคมผักและผลไม้เวียดนามคาดการณ์ว่าการส่งออกจะเติบโต 15-20% เป็นประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 การส่งออกทุเรียนของฟิลิปปินส์ไปยังจีนมีมูลค่า 1.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการรายงานของ สื่อของรัฐ Philippine News Agency
ในเดือนเมษายน 2566 ฟิลิปปินส์ได้จัดส่งทุเรียนสดชุดแรกไปยังจีน สามเดือนหลังจากที่ฟิลิปปินส์และจีนได้ลงนามข้อตกลงทางการค้าที่คาดว่าจะสร้างรายได้มูลค่าการส่งออกให้กับฟิลิปปินส์ประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์กล่าวว่าทุเรียน 28 ตันจากเกษตรกรในภูมิภาคดาเวาตอนใต้ถูกส่งไปยังจีนแล้ว นอกจากนี้ จะมีการส่งอีก 28 ตันไปยังจีน ส่วนอีก 7.5 ตันจะจัดส่งในภายหลัง
ฟิลิปปินส์ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าพร้อมที่จะส่งทุเรียนเบื้องต้น 7,500 ตันไปยังจีนในเดือนมีนาคม หลังจากที่ฟิลิปปินส์และจีนลงนามในพิธีสารข้อกำหนดสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออกทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์ไปยังจีนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 และหลังจากการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งได้รับข้อตกลงส่งออกผลไม้มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้จีน ที่รวมถึงการส่งทุเรียนฟิลิปปินส์มูลค่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯด้วย
ในเดือนมีนาคมกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ตั้งเป้าส่งออกทุเรียนสด อย่างน้อย 54,000 ตันไปยังประเทศจีนในปี 2566
ในเดือนกันยายน 2566 ฟรอยลัน เอมิล ปามินตวน(Froilan Emil Pamintuan) กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ประจำศูนย์การค้าและการลงทุนของฟิลิปปินส์ในกวางกล่าวว่า ศักยภาพของผู้ส่งออกผลไม้ของฟิลิปปินส์ในจีนยังคงสูงท่ามกลางความต้องการมหาศาลจากตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ข้อจำกัดด้านอุปทานทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสได้เต็มที่ โดยตั้งแต่ส่งทุเรียนฟิลิปปินส์สดครั้งแรกไปยังจีนเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ผู้ซื้อชาวจีนที่มีศักยภาพได้เริ่มมองการซื้อจากฟิลิปปินส์
เซเฟริโน โรดอลโฟ ปลัดกระทรวงการค้ากล่าวว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องจัดการกับผลผลิตที่ต่ำของผู้ปลูกผลไม้ในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการจากตลาดต่างประเทศ “มันเป็นปัญหาด้านอุปทานจริงๆ แต่ก็มีศักยภาพอย่างมากสำหรับทุเรียน เราต้องทำงานจริงๆ เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดที่ดีของตลาดทุเรียนในจีน”
ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งนำเข้ากล้วยอันดับต้นๆ ของจีน ในขณะที่ไทยและเวียดนามเป็นผู้นำตลาดทุเรียนของจีน
“เป้าหมายของเราคือการสามารถครองตลาดทุเรียนได้แบบเดียวกัน ซึ่งเรากำลังพอใจกับตลาดกล้วยอยู่” โรดอลโฟกล่าว
นอกเหนือจากจีนแล้ว ฟิลิปปินส์ยังได้ส่งออกทุเรียนสดไปยังฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ในขณะเดียวกันก็ส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยังเกาหลี มาเลเซีย และที่อื่นๆ
ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 การผลิตทุเรียนของประเทศมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.9% ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติฟิลิปปินส์
ในปี 2564 ผลผลิตทุเรียนอยู่ที่ 73,867.42 ตัน ลดลง 6.3%จาก 78,815.99 ตัน ภูมิภาคดาเวาผลิตทุเรียนได้ 77.5% ของผลผลิตทั้งหมด คิดเป็น 63.7% ของต้นทุเรียนที่มีลูกทั้งหมด และ 49.1% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด

วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลจาก Global Trade Atlas (GTA) ว่า ประเทศไทย ส่งออกทุเรียนสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 121,398 ตัน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็นมูลค่า 717 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขสูงกว่าอันดับ 2 เวียดนามซึ่งมีตัวเลขการส่งออกที่ 79,186 ตัน มูลค่า 369 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ในส่วนของข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า มกราคม-เมษายน 2567 ไทยส่งออกทุเรียนสดแล้วกว่า 225,204 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการที่ยังมีต่อเนื่อง และผลผลิตที่มากขึ้น มั่นใจว่า ไทยน่าจะยืน 1 ส่งออกทุเรียนสดไปจีนอย่างแน่นอน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า และด้วยความต้องการที่ยังมีต่อเนื่องนี้ กอปรกับ การเดินหน้าทำงานเชิงรุกของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเร่งหาและเจาะตลาดใหม่ๆ ในเมืองรองของจีน อำนวยความสะดวกให้การค้า กระชับความร่วมมือกับนานาประเทศ รวมถึงการแก้ไขข้อติดขัดต่าง ๆ ทำให้การส่งออกเติบโตเป็นที่น่าพอใจจนกลับมาเป็นอันดับ 1 ในจีน ส่งผลให้ราคาส่งออกต่อหน่วยของไทยเฉลี่ย 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม หรือ 216 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566
ซึ่งนอกจากสถิติการส่งออกทุเรียนสดที่ดีแล้ว ด้วยสิทธิประโยชน์จากการที่สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ยกเว้นภาษีการนำเข้ามะม่วงให้กับไทยเป็นการชั่วคราว และการขาดแคลนผลไม้ในประเทศ ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกมะม่วงของไทยไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นกว่า 230% ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังได้เดินหน้าผลักดันเพื่อให้เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้าเป็นการถาวรให้กับไทย จากปกติ 24-30% ให้เหลือ 0 โดยการเจรจาผ่าน FTA ไทย-เกาหลีใต้ ที่คาดว่าสองฝ่ายจะเริ่มการเจรจารอบแรกภายในกลางปี 2567 นี้ และตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 หรือต้นปี 2569 โดยหากสำเร็จ สินค้าไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกำกับการทำงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยดำเนินการเชิงรุก มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน พิจารณาสถานการณ์ แก้ไขข้อบกพร้อง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งตั้งเป้าส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก และจากตัวเลขที่อ้างถึงเห็นได้ว่าไทยยังมีตัวเลขการส่งออกที่สูงกว่าอันดับสองพอสมควร” นายชัย กล่าว
เวียดนามทำรายได้ 3 พันล้านดอลลาร์จากการส่งออกข้าวครึ่งปีแรก

เวียดนามส่งออกข้าว 4.68 ล้านตันในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้เกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ โดยเพิ่มขึ้น 10.4% ในแง่ปริมาณและ 32% ในแง่มูลค่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากการรายงานของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท
เวียดนามเก็บเกี่ยวข้าวได้ 3.48 ล้านเฮกตาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.7 ตันต่อเฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 0.7 ตันต่อเฮกตาร์ ส่งผลให้ผลผลิตรวมอยู่ที่ 23.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ขณะเดียวกัน เวียดนามใช้เงินประมาณ 670 ล้านดอลลาร์ในการนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นๆ โดยหลักมาจากกัมพูชาและอินเดีย
แม้จะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลก แต่เวียดนามยังคงนำเข้าข้าวบางประเภทเพื่อผลิตอาหารสัตว์
การค้าเวียดนาม-จีนแตะระดับ 100 พันล้านดอลลาร์

จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด เป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุด และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสองในโลกของเวียดนาม
ข้อมูลลาสุดจากสำนักงานสถิติทั่วไปแสดงให้เห็นว่า การส่งออกของเวียดนามไปยังจีนมีมูลค่าถึง 27.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เวียดนามนำเข้าสินค้ามูลค่า 67 พันล้านดอลลาร์จากจีนในช่วงเดียวกัน เพิ่มขึ้น 34.7%
เวียดนามขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่า 39.2 พันล้านดอลลาร์ในช่วงนั้น เพิ่มขึ้น 67.9%
สำนักงานการค้าเวียดนามในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวในเชิงบวก รัฐบาลจีนกำลังออกนโยบายการจัดการการนำเข้าและส่งออกซึ่งจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกสู่ตลาดนี้ หากผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานคุณภาพ
สำนักงานการค้าชี้ให้เห็นว่า เวียดนามมีโอกาสมากมายในการเพิ่มการส่งออกไปยังจีน ธุรกิจจีนแสดงความสนใจในการซื้อการผลิตและการแปรรูปและสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้จากเวียดนาม เช่น ทุเรียน แตงโม และกล้วย
ปัจจุบัน มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายสิบรายการไปยังประเทศจีนอย่างเป็นทางการ โดยการเจรจาการส่งออกมะพร้าวสดและทุเรียนแช่แข็งอย่างเป็นทางการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
FDI ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้น 13.1% ในช่วง 6 เดือนแรก

นักลงทุนต่างชาติส่งเงินเกือบ 9.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าในโครงการใหม่ 1,538 โครงการ เพิ่มขึ้น 46.9% ในแง่เงินทุน และ 18.9% ของจำนวนโครงการ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกัน มีโครงการ 592 โครงการที่มีการปรับเปลี่ยนเงินทุน ในแง่โครงการลดลง 6.3% โดยมีมูลค่ารวม 3.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบเป็นรายปี
การใส่เงินทุนเพิ่มและการซื้อหุ้น กลับลดลง 57.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีการเบิกจ่าย FDI มีจำนวนประมาณ 10.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงหกเดือน เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
นักลงทุนต่างชาติอัดฉีดเงินทุนในภาคเศรษฐกิจ 18 จาก 21 ภาคในประเทศ โดยอุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิตดึงดูดการลงทุนสูงสุด 10.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 70.4% ของทั้งหมด รองลงมาคือภาคอสังหาริมทรัพย์ (มากกว่า 2.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) การขายส่ง และอุตสาหกรรมการค้าปลีก (614 ล้านเหรียญสหรัฐ) และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับมืออาชีพ (มากกว่า 452 ล้านเหรียญสหรัฐ)
สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวียดนาม จึงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในบรรดา 84 ประเทศและดินแดนที่มีการลงทุนในประเทศ คิดเป็นประมาณ 36.7% ของ FDI ทั้งหมดในช่วงเวลาที่ทบทวน และคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 86% เมื่อเทียบเป็นรายปี ญี่ปุ่นตามมาเป็นอันดับสองด้วยมูลค่ามากกว่า 1.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยฮ่องกง (จีน) สาธารณรัฐเกาหลี และจีน
นักลงทุนต่างชาติกระจายเงินทุนไปยัง 48 เมืองและจังหวัดทั่วประเทศ โดยบั๊กนิญเป็นผู้นำในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้วยมูลค่า 2.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่สองและสาม ได้แก่ บ่าเรียง – หวุงเตา และ กว๋าง นิญ โดยมี FDI ที่ละประมาณ 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อินโดนีเซียเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ EV แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โรงงานแห่งนี้เป็นผลจากการลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์โดยกลุ่มกิจการค้าร่วมที่ประกอบด้วย Hyundai Motor Group, LG Energy Solution และ Indonesia Battery Corporation ตอกย้ำถึงการทำงานร่วมกันในการเป็นหัวหอกในโครงการสำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลง โรงงานแบตเตอรี่จะรวมเข้ากับโรงงานผลิตรถยนต์ของ Hyundai ซึ่งจะผลิตรถยนต์ Kona Electric จำนวน 50,000 คันต่อปี
กลุ่มกิจการค้าร่วมมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเป็น 20 GWh ด้วยเงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับอินโดนีเซีย การพัฒนาโรงงาน EV นี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของประเทศในการเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV สามอันดับแรก ของโลกภายในปี 2570 นอกจากนี้ อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิต 140 GWh ต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 4-9% ของความต้องการทั่วโลก
เป้าหมายในการบรรลุกำลังการผลิต 140 GWh ต่อปี บ่งชี้ถึงกลยุทธ์การคิดล่วงหน้าของประเทศ และความมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้า
อินโดนีเซียมีปริมาณสำรองนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยปริมาณประมาณ 21 ล้านตัน คิดเป็น 22% ของปริมาณสำรองทั่วโลก แม้ว่า 70% ของการใช้นิกเกิลทั้งหมดจะมุ่งไปที่กลุ่มเหล็กกล้าไร้สนิม แต่ก็มีความต้องการในการผลิตแบตเตอรี่ EV เพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลของ S&P Global Market Intelligence อินโดนีเซียผลิตนิกเกิลได้ 40% ของโลกในปี 2566
อินโดนีเซียสั่งห้ามการส่งออกแร่นิกเกิลในปี 2557 และได้ออกข้อกำหนดสำหรับผู้ผลิตในการทำให้นิกเกิลดิบบริสุทธิ์ในอินโดนีเซียก่อนส่งออก
ผู้ผลิต EV ระดับโลก ซึ่งรวมถึง BYD และ Wuling ของจีน ได้ลงทุนในอินโดนีเซีย และได้ส่ง EV เข้าสู่ตลาดแล้ว นอกจากนี้อินโดนีเซีย ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงกลั่นลิเธียมและโรงงานผลิตวัสดุแอโนด เพื่อเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้นิกเกิล ในอดีตโรงถลุงนิกเกิลของอินโดนีเซียสามารถผลิตนิกเกิลคลาส 2 (เฟอร์โรนิกเกิล/เหล็กดิบ ซึ่งได้จากแร่เกรดคุณภาพต่ำ) ในขณะที่การผลิตแคโทดของแบตเตอรี่ต้องใช้นิกเกิลคลาส 1 (นิกเกิลเกรดสูงสุดที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า) ที่มีนิกเกิลอย่างน้อย 99.8% อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังขาดแหล่งลิเธียมจำนวนมาก ออสเตรเลียเป็นผู้ส่งลิเธียมประมาณครึ่งหนึ่งให้กับโลกและสามารถส่งออกแร่นี้ไปยังอินโดนีเซียได้ ปัจจุบันการส่งออกลิเธียมของออสเตรเลียส่วนใหญ่มุ่งสู่ประเทศจีน