ประสาท มีแต้ม

คำว่า “โลกเดือด (global boiling)” คือคำที่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (นายอังตอนียู กูแตรึช) ใช้เป็นครั้งแรกเมื่อกลางปี 2566 เพื่อแทนคำว่า “โลกร้อน (global warming)” โดยมีความต้องการเตือนชาวโลกว่าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม มันเลยคำว่าร้อนจนกลายเป็นเดือดแล้ว มาตรการต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ได้เรียกร้องให้ชาวโลกร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกตาม “ข้อตกลงปารีส” ตั้งแต่ปี 2558 นั้น โดยภาพรวมทั้งโลกนอกจากจะไม่ได้ลดลงแล้ว ยังกลับปล่อยมากกว่าเดิมเสียอีก
ชื่อบทความข้างต้นนี้ ผมนำมาจากผลงานวิจัยที่เพิ่งค้นพบ โดยใช้ข้อมูลจากทั่วโลก 5 ทวีป (ยกเว้นแอนตาร์กติกา) มาวิเคราะห์ และที่น่าสนใจมากคือเป็นข้อมูลล่าสุดนับถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 แล้วย้อนหลังไป 12 เดือน เรียกว่าสดๆ ร้อนๆ เพียงไม่ถึง 15 วันก่อนวันที่ผมเริ่มเขียนบทความนี้
ผลงานนี้มาจากการวิจัยของ 3 องค์กรซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นี่เอง เพื่อต้อนรับวัน “วันปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาความร้อน (Heat Action Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 2 มิถุนายนของทุกปี ผมมีภาพปกของรายงาน (ขนาด 14 หน้า) พร้อมผลสรุปที่สำคัญดังกล่าว (ดูภาพประกอบ)
ผลการวิจัยซึ่งใช้ข้อมูลในช่วง 15 พ.ค. 2566-15 พ.ค.2567 พบว่า
ผมขอขยายความอย่างสั้นๆ ของสาระที่ได้ค้นพบในประเด็นแรก คือความหมายของคลื่นความร้อน (heat wave) หรือสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง คลื่นความร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่ท่านเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเรียกว่าโลกเดือด
การเกิดของคลื่นความร้อนซึ่งเป็นสภาพที่เกิดจากความกดอากาศสูงก่อตัวเป็น “ฝาชี” ขนาดใหญ่ บางครั้งขนาดใหญ่เท่าทวีป ทำหน้าที่เป็นฝาชีขังและกดให้มวลของอากาศร้อนอยู่ใกล้ผิวดินมากขึ้น อากาศที่อยู่ใกล้ตัวเราจึงร้อนขึ้นอีกตามหลักของวิชาฟิสิกส์ (อุณหภูมิอากาศสูงขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้สึกไปเองเท่านั้น ที่เรียกว่าดัชนีความร้อน หรือ heat index ซึ่งคิดร่วมกับปัจจัยความชื้นของอากาศมาประกอบด้วย)
ผลกระทบจากคลื่นความร้อนในทวีปยุโรปเมื่อปี 2546 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 หมื่นคน สถิติบอกเราว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากคลื่นความร้อนมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาภายพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลาย
ในประเทศไทยเราเอง นับรวมถึงสิ้นเดือนเมษายนปีนี้ พบผู้ชีวิตจากอากาศร้อนจัดแล้ว 30 คน ในขณะที่ของปี 2566 ทั้งปีมีจำนวน 37 คน นี่ยังไม่ได้นับถึงภัยแล้งและความเสียหายทางการเกษตร
ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หลายสำนัก หลายคณะสรุปไว้ตรงกันว่า “ถ้าไม่มีสถานการณ์โลกร้อน การเกิดขึ้นของคลื่นความร้อนจะลดลง” แต่ผลงานวิจัยที่ผมกล่าวถึง (ที่ผมเคยติดตามศึกษา) เป็นการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์หรือคอมพิวเตอร์ ผลวิจัยจึงขึ้นอยู่กับสมมุติฐานของผู้วิจัยและมีความคลาดเคลื่อนในขอบเขตที่ยอมรับกันได้ระดับหนึ่งในทางวิชาการ
แต่งานวิจัยที่ผมอ้างถึง (ในภาพข้างต้น) เป็นการศึกษาโดยใช้ข้อมูลที่ได้เกิดขึ้นแล้วจริง โดยถือว่า หากอุณหภูมิของอากาศของแต่ละประเทศในแต่ละวันในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศที่ได้ถูกจัดว่าร้อนแล้ว (มากกว่า 90% ของข้อมูล) ของในช่วงปี 2534-2563 โดยผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญ (peer-reviewed) จึงจะนับว่าเป็นวันที่ร้อนจัด
คณะผู้วิจัยสรุปว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ส่งผลให้ทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีจำนวนวันที่อากาศร้อนสุดขั้วเพิ่มขึ้นอีก 26 วันเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีสถานการณ์โลกร้อน”
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วประเทศซูรินาม (ประเทศซึ่งมีประชากรประมาณ 5.5 แสนคน ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ประชิดกับประเทศบราซิล มีจีดีพีต่อหัวประชากรน้อยกว่าของประเทศไทย) จะเกิดคลื่นความร้อน 24 วัน (ในช่วง 12 เดือนดังกล่าว) แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวนวันที่เกิดคลื่นความร้อนได้เพิ่มเป็น 182 วัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่าตัว น่าตกใจใช่ไหมครับ
ผลงานวิจัยนี้ยังได้แนบไฟล์ที่ทำให้เราสามารถสืบค้นได้ว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาแต่ละประเทศมีจำนวนวันที่ร้อนจัดเพิ่มขึ้นกี่วัน ผมจึงได้สรุปของบางประเทศมาให้ดูในตารางพร้อมกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรในปี 2565 มาเทียบให้ดูด้วย (หมายเหตุ มีบางข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนไปจากเนื้อหาไปจากที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดจากความเข้าใจผิดของผมเอง ต้องขออภัย แต่ไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก)
จากตารางพบว่า สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากไม่มีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดคลื่นความร้อนเพียง 20 วัน (ในรอบ 12 เดือน) แต่ในความเป็นจริงได้เกิดขึ้น 39 วัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว
ในทำนองเดียวกันประเทศไทยเราเอง ควรจะเกิดคลื่นความร้อนเพียง 24 วัน แต่ความจริงได้เกิดขึ้นนานถึง 83 วัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 59 วัน มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงกว่า 2 เท่าตัว
จากตารางดังกล่าว เราจะเห็นว่า โดยส่วนใหญ่ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรสูง แต่มีจำนวนวันที่เกิดคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นน้อย ทั้งนี้ เป็นเพราะสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของระบบภูมิอากาศของโลก ไม่ใช่เรื่องที่เราจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เป็นเรื่องเราจะต้องมุ่งมั่นร่วมมือกันลดและขจัดปัญหาร่วมกัน ตามข้อตกลงปารีส
นอกจากนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ นอกจากจะทำให้ต้นทุนในการผลิตพลังงานลดลงแล้ว มลพิษทางอากาศก็จะลดลงด้วย คุณภาพชีวิตของทุกคนก็จะดีขึ้น ผู้ที่จะสูญเสียมีเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นคือ พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเท่านั้นที่ขาดรายได้ไป
อนึ่ง ผมเข้าใจว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเพื่อรับกับวัน “Heat Action Day” ซึ่งตรงกับวันที่ 2 มิถุนายน ของทุกปี ผมจึงขอนำผลงานศิลปะของเยาวชนมาให้ดูกันด้วยครับ
ช่วยกัน ช่วยกัน ทุกคน ทุกเพศและทุกวัย ขอบคุณครับ