ThaiPublica > คอลัมน์ > My lifelong Challenge: Singapore’s Bilingual Journey นโยบายสองภาษากับการสร้างชาติสมัยใหม่ของสิงคโปร์

My lifelong Challenge: Singapore’s Bilingual Journey นโยบายสองภาษากับการสร้างชาติสมัยใหม่ของสิงคโปร์

7 มิถุนายน 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2024 ที่ผ่านมา นายลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) ผู้นำหนุ่มคนใหม่ของสิงคโปร์ ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว ภายหลังจากที่นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) ประกาศลงจากตำแหน่งผู้นำทางการเมือง

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา (2004-2024) ของนายลี เซียน ลุง เขาได้นำพาสิงคโปร์ก้าวหน้า พัฒนาเติบโต สานฝันผู้เป็นบิดา “นาย ลี กวน ยิว” (Lee Kuan Yew) รัฐบุรุษของชาวสิงคโปร์

บทบาทผู้นำของลอว์เรนซ์ หว่อง นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เขาถูกวางตัวให้เป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่ม 4G หรือ The 4th Generation นายหว่องต้องเตรียมพร้อมรับความรับผิดชอบครั้งสำคัญ แบกความคาดหวังทั้งจากสมาชิกพรรค People Action Party หรือ PAP รวมถึงอดีตผู้นำสองท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ นายโก จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) และนายลี เซียน ลุง

ผลงานของลอว์เรนซ์ หว่อง ที่โดดเด่น คือ การเป็นหนึ่งในทีมผู้นำที่ช่วยรัฐบาลสิงคโปร์แก้ปัญหโควิด-19 ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

วันที่ลอว์เรนซ์ หว่อง สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขากล่าวปาฐกถาไว้ถึงสามภาษา คือ มาเลย์ จีนแมนดาริน และอังกฤษ

น่าสนใจว่า นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์นับตั้งแต่ลี กวน ยิว จนกระทั่งลอว์เรนซ์ หว่อง นั้น ทุกคนล้วนมีความสามารถในการใช้ภาษาที่สองและสามได้เป็นอย่างดี

…ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง My lifelong Challenge: Singapore’s Bilingual Journey หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนายลี กวน ยิว ซึ่งว่าด้วยการพัฒนาประเทศโดยใช้นโยบายสองภาษา (bilangualism policy)

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของ ลี กวน ยิว ที่พยายามผลักดันให้ระบบการศึกษาสิงคโปร์เน้นไปที่การใช้ภาษาทั้งอังกฤษและแมนดารินอย่างคล่องแคล่ว เพื่อให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการแข่งขันกับแรงงานจากทั่วโลกได้

หากจะว่าไปแล้ว “ภาษา” นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวหน้าพัฒนาอย่างรวดเร็ว การที่คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่รู้และเข้าใจ ตลอดจนสื่อสารได้ทั้งอังกฤษและแมนดาริน ทำให้พวกเขาจัดวางตำแหน่งประเทศตัวเองเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกได้ง่ายขึ้น

อย่างที่เราทราบกันดีว่า สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 การตัดขาดจากมาเลเซียทำให้สิงคโปร์ต้องพึ่งพาตนเองในทุกด้าน

My lifelong Challenge: Singapore’s Bilingual Journey เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยใหม่ราวๆ ยุค 50 ถึง 90 ที่ทำให้เราเห็นความพากเพียรของลี กวน ยิว กับการก่อร่างสร้างประเทศนี้ในทุกวิถีทาง

เขาจ้างครูชาวจีนมาติวภาษาแมนดารินให้ลูกๆ ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ลี เซียน ลุง มีความเข้าใจและสื่อสารภาษาจีนได้ นอกจากนี้ ในหนังสือยังเล่าอีกว่า ลี เซียน ลุง ยังเข้าใจและสื่อสารภาษารัสเซียได้อีกด้วย

แรกเริ่มการผลักดันนโยบายสองภาษานี้ รัฐบาลของเขาถูกต่อต้านจากกลุ่มชาวจีน หรือชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มองว่า หากพูดภาษาอังกฤษก็จะลืมภาษาแมนดาริน ถูกกลืนกินวัฒนธรรมดั้งเดิม

ในทางกลับกัน กลุ่มปัญญาชนหัวสมัยใหม่ที่ต้องการเห็นสิงคโปร์ก้าวหน้า การไม่เรียนรู้ หรือใช้ภาษาอังกฤษย่อมทำให้เสียโอกาสพัฒนาประเทศ

สิงคโปร์ขึ้นชื่อเรื่องการมีรากฐานทางการศึกษาที่ดีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้ว ขณะที่ภายหลังเมื่อแยกตัวออกจากมาเลเซีย รัฐบาล PAP ตั้งแต่ยุคนายลี นายโก๊ะ และนายลี (ผู้ลูก) ล้วนสนับสนุนให้เด็กนักเรียนมีทักษะความรู้การใช้ภาษาที่ตอบสนองต่อโลกยุคใหม่

นอกเหนือจากทักษะทางคณิตศาสตร์ที่ช่วยให้ประชากรมีตรรกะที่ดีแล้ว ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้ประชาชนไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ หากยังไม่พิสูจน์

สิ่งที่ ลี กวน ยิว และผู้นำรุ่นถัดมาเน้นคือทักษะทางการใช้ภาษา เพราะภาษาอังกฤษคือประตูสู่โลกการค้าการลงทุนภายนอก ขณะที่ภาษาแมนดารินคือภาษาที่รักษาวัฒนธรรมความเป็นคนจีนสิงคโปร์ให้รู้จักรากเหง้าตัวเอง

หนังสือเล่มนี้ของลี กวน ยิว ยิ่งตอกย้ำให้เห็นจุดเด่นของลี กวน ยิว ถึงความเป็นผู้นำในสามเรื่อง กล่าวคือ หนึ่ง เขามีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล มองแบบคาดการณ์ล่วงหน้าได้ขาด สอง เขามีวินัยในตนเอง ซึ่งในหนังสือเขียนไว้ว่า ลี กวน ยิว ยังคงเรียนรู้ภาษาแมนดาริน อยู่เสมอ และสาม เขาอุทิศตนเองเพื่อแผ่นดินเกิด

สิงคโปร์ยุคหลังตระกูลลี ก้าวเข้าสู่สิงคโปร์ยุคใหม่ที่มีความท้าทายหลายเรื่อง ตั้งแต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดใหม่ๆ ในอนาคต…สงครามความขัดแย้งจากสมรภูมิต่างๆ ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนหน้าจากผู้เล่นหน้าเดิมๆ สู่ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น

ไม่นับรวมปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกรวน โลกเดือด ปัญหาฝุ่นควันเป็นพิษ สังคมผู้สูงอายุในสิงคโปร์ ฯลฯ

ความท้าทายเหล่านี้ต้องการผู้นำที่เข้าใจโลกยุคใหม่ ที่ไม่ได้แค่พูดภาษาอังกฤษคล่องปร๋อเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังสิ้นสุดการระบาโควิด-19 เพื่อออกแบบการพัฒนาที่เหมาะกับสภาพบ้านเมืองตัวเอง

ผู้เขียนมีโอกาสฟังปาฐกถาเข้าสาบานตนรับตำแหน่งของลอว์เรนซ์ หว่อง ในตอนหนึ่งของเนื้อหา เขาพูดได้น่าคิดว่า

As we write the next chapters, we are not starting from scratch.

We stand on the shoulders of giants.

Mr Lee Kuan Yew and his team led us through independence and established the key pillars of governance.

Mr Goh Chok Tong and his team took us through the next lap, and nurtured a kinder and gentler society.

These are important foundations we will build on.

Tonight, I record our nation’s gratitude – and my own – to Mr Lee Hsien Loong.

ผู้สนใจบทปาฐกถาเต็มโปรดอ่าน https://www.pmo.gov.sg/Newsroom/PM-Lawrence-Wong-at-the-Swearing-In-Ceremony-May-2024