
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
นายกฯจี้พลังงานชง ‘Direct PPA’ เข้า กพช. 28 มิ.ย.นี้ สั่งบูรณาการ ‘One Map’ แก้ปมที่ดินทับซ้อน 100 ล้านไร่ ในปี’68 วอนทุกหน่วยเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน ตั้งเป้า 75% เผย ‘ปตท.-บางจาก’ รับปากซื้อ B100 ลิตรละ 30 บาท ปรับผังเมือง -โซนนิ่ง รับนักลงทุน ครม.ไฟเขียวกองสลากฯออกหวย 3 ตัว สมทบเงินรางวัล ลุ้น ‘แจ็กพอต’ จัดงบฯ 1,150 ล้าน ชดเชย ‘ออมสิน-บสย.’ ปล่อยกู้ ‘IGNITE THAILAND’ อนุมัติ 7,125 ล้าน ชดเชย PGS-11 ค้ำหนี้ SMEs 50,000 ล้าน ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 17-45 บาท เริ่ม 3 ก.ค.นี้ แก้กฎหมาย วว. นำงานวิจัยใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
จี้ ‘พลังงาน’ ชง ‘Direct PPA’ เข้า กพช. 28 มิ.ย.นี้
นายเศรษฐา กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้าน Data Center จึงมีบริษัทชั้นนำของโลกสนใจลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่หลายบริษัทยังรอความชัดเจนในเรื่องของมาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า Direct PPA (Purchase Power Agreement)
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนสั่งการให้กระทรวงพลังงาน หาแนวทางร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2567
สั่ง ‘เกษตร – พาณิชย์’ สกัดนำเข้าปาล์มเถื่อน
นายเศรษฐา รายงานว่า กระทรวงพลังงานได้รายงานในที่ประชุม ครม. ประเด็นราคาน้ำมันปาล์มที่มีราคาสูงและมีการลักลอบนำเข้ามาผ่านภาคใต้ จึงมีการประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
วอนทุกหน่วยเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ขอให้ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ช่วยกันเร่งเบิกงบลงทุน ตามพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนที่ผ่านมา
“มีเวลาแค่สี่เดือนเท่านั้นเองที่ต้องเร่ง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนในวงกว้าง โดยต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎระเบียบเพื่อความรอบคอบ กระทรวงไหนติดขัดตรงไหนก็ให้บอกมา จะได้ช่วยกัน” นายเศรษฐา กล่าว
สั่ง ททท.บูรณาการแผนท่องเที่ยวเมืองรอง เพิ่มรายได้ ปชช.
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนสั่งการให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ และหน่วยงานอื่น เร่งทำแผนบูรณาการการท่องเที่ยวของเมืองรองและเมืองน่าเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มรายได้ และการสร้างรายได้ให้ประชาชน
ผลักดัน ‘น่าน’ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการผลักดันจังหวัดน่านให้เป็นเมืองมรดกโลก ขณะที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองคู่แฝดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว และให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดในการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะการขยายสนามบิน
“ถ้าเราได้รับการยกเป็นมรดกโลก จะมีชาวต่างชาติเดินทางมาที่หลวงพระบางและน่านด้วย ถ้าจะมาทั้งสองเมืองก็เป็นการเดินทางข้ามประเทศ ฉะนั้นการยกระดับสนามบินให้เป็นสนามบินอินเตอร์ก็มีส่วน” นายเศรษฐา กล่าว
สั่งบูรณาการ ‘One Map’ แก้ปมที่ดินทับซ้อนในปี’68
นายเศรษฐา กล่าวถึงการทำ One Map ด้านที่ดินว่า ได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งนำข้อมูลและบูรณาการการทำ One Map ต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เนื่องจากปัจจุบันแนวที่เขตประเทศไทยมีความไม่ชัดเจน ทำให้การเอาไปใช้ในงานราชการไม่เกิดมาตรฐาน และความชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในระดับปลัดกระทรวง
ปรับผังเมือง -โซนนิ่ง รับนักลงทุน
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งบูรณาการการปรับผังเมืองและโซนนิ่งอย่างเร่งด่วน ให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย เพื่อกระตุ้นการขยายเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเพื่อดำเนินการปรับแผนผังเมืองและโซนนิ่งเพื่อรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
“ผังเมืองหลายจังหวัดล้าสมัยอยู่ การที่รัฐบาลมีนโยบายยกระดับการก่อสร้างพื้นฐาน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน” นายเศรษฐา กล่าว
สั่งติดตามโรรงานทำสารเคมีรั่ว
นายเศรษฐา กล่าวถึงประเด็นการรั่วไหลของสารเคมีจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง และพระนครศรีอยุธยาว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามเรื่องสารเคมีรั่วไหลในหลายจังหวัดที่ยังไม่ได้รับการจัดการ และไม่มีมาตรฐานในการควบคุมที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม รวมทั้งการทำลายกากสารเคมี และกระบวนการเคลื่อนย้ายตามมาตรฐาน EIA เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่
ปัดหารือ ‘หุ้นตก’ ชี้ต้นเหตุจากปมการเมือง-ตัวเลข ศก.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้มีการพูดคุยถึงสาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยตกอย่างหนักเมื่อ 10 มิถุนายน 2567 ว่าเป็นเพราะการเมืองหรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุย แต่ก็คงมีหลายประเด็นด้วยกัน ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจและประเด็นการเมืองด้วย”
โยน รมช. คลัง แจงสินเชื่อ ‘IGNITE THAILAND’
ที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND วงเงิน 1,150 ล้านบาท โดยผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าว นายเศรษฐา ตอบว่า “เป็นสินเชื่อที่ให้กับเอสเอ็มอี เชิงลึกมาก เดี๋ยวให้รมช.คลังเป็นคนเสนอและอธิบายรายละเอียดอีกที วันนี้มีการพูดคุยกันเยอะและมีการขยายกลุ่มเป้าหมายให้ด้วย มีการสนับสนุนให้เข้าถึงสินเชื่อในระยะเวลาอันเร็วขึ้น เพราะเข้าใจว่าระยะเวลาที่จะขยายให้ใช้ถึงปีหน้า”
เผย ‘ปตท.-บางจาก’ รับปากซื้อ B100 ลิตรละ 30 บาท
ด้านนายชัย รายงานว่า ช่วงเวลา 10.00 น. ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ มีการประชุมวงเล็กที่ต่อเนื่องมาจากการประชุม ครม. เศรษฐกิจเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับราคาปาล์มตกต่ำ เนื่องจากการประชุมเมื่อวานไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
“นายกฯ นัดว่าก่อนประชุม ครม. วันนี้ ขอให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังมาประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวต่อว่า การประชุมเมื่อเช้าได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ราคา B100 ที่ผู้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นผู้ค้ามาตรา 7 โดยสำนักนโยบายและแผนพลังงานได้ประกาศนำร่อง โดยผู้ผลิตรายใหญ่ หรือ ผู้ค้า ตามมาตรา 7 จะต้องซื้อ B100 จากโรงกลั่น B100 ในราคา 30 บาทต่อลิตร
นายชัย ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีการซื้อ B100 ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปในซัพพลายเชน 5 ราย โดยมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
-
• รายที่ 1 เกษตรกร ผู้ปลูก-ผลิตปาล์มสด
• รายที่ 2 พ่อค้าคนกลาง รับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกร
• รายที่ 3 โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ CPO (Crude Palm Oil) รับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง
• รายที่ 4 โรงกลั่น B100 รับซื้อโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ
• รายที่ 5 โรงกลั่นไบโอดีเซล
“5 รายนี้ รัฐบาลต้องการให้ซัพพลายเชนทุกคนสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยมีผลประกอบการที่อยู่ได้กันทุกคน โดยกลยุทธ์คือกำหนดราคาซื้อ B100 ที่ปลายทาง ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานคำนวณแล้วว่า ถ้าผู้ค้ารายใหญ่ตามมาตรา 7 หมายถึงผู้ผลิตด้วย รับซื้อที่ราคาลิตรละ 30 บาท มันจะสามารถทำให้ราคาที่เกษตรกรขายที่ต้นน้ำจะได้ราคาที่ดีพอสมควร ดีพออยู่ได้ หากรับซื้อที่ราคา 30 บาท หมายความว่าเกษตรกรจะขายได้ 4.7 – 4.9 บาทต่อกิโลกรัม แต่ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ผู้ค้ารายใหญ่ไม่ได้ซื้อที่ราคา 30 บาท แต่ไปซื้อที่ 27 บาท” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวต่อว่า จากการประชุม ครม. เศรษฐกิจเมื่อวานนี้ ปลัดกระทรวง ได้ไปเจรจากับผู้ค้ารายใหญ่ เช่น ปตท. บางจาก ฯลฯ และผู้ค้ารายใหญ่ยอมรับปากแล้วว่าจะซื้อที่ราคาประกาศ 30 บาทต่อลิตร
แนะทำแซนบล็อก ‘Direct PPA’
นายชัย เสริมข้อสั่งการเรื่องความต้องการใช้และซื้อพลังงานสะอาด (Direct PPA) จากการลงทุนของบริษัทด้าน Data Center ว่า Direct PPA เป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำสัญญา ถ้าไม่ชัดเจนก็จะไม่เข้ามาลงทุน
“นายกฯ สั่งการว่าภายในต้นสัปดาห์หน้าต้องไปมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน เร่งหารือกับ BOI ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม และนำเข้าเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้ทันภายในต้นสัปดาห์หน้า” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวต่อว่า ถ้าไม่สามารถทำแบบทั่วไปได้ นายกฯ เสนอให้ทำเป็น sandbox คือทดลองเป็นรายๆ ไป เพราะที่ประเทศมาเลเซียก็ใช้กลยุทธ์นี้ เนื่องจากยังไม่สามารถออกระเบียบให้มีการทำทั่วประเทศ แต่ให้ทดลองทำเป็นโปรเจค
ตั้งเป้าเบิกจ่ายงบลงทุน 75%
นายชัย กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากการประชุม ครม. เศรษฐกิจ เมื่อวานนี้ ทำให้กระทรวงการคลัง หารือกับ สศช. เรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยประมาณการว่างบลงทุนจะเบิกจ่ายได้ทันภายในปีงบประมาณนี้ประมาณ 64%
“แต่ที่ประชุมบอกว่าไม่ได้ ต้องขยับขึ้นมาขั้นต่ำ 70% แต่เป้าหมาย 70% ยังไม่พอใจเรา จะพอใจต่อเมื่อต้องเบิกจ่ายให้ได้ 75% นายกฯ กำชับว่าต้องเร่งทุกหน่วยงานและทำตัวเลขการเบิกจ่ายให้มีเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐไหลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจให้ได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายกลยุทธ์ ในส่วนนี้ถ้าเบิกจ่ายงบลงทุนภายใน 4 เดือนข้างหน้า จาก 64% เป็น 70% เพิ่มอีก 6% จะมีผลทำให้จีดีพีเพิ่มอีก 0.24%” นายชัย กล่าว
ยกลำพูน เป็นเมืองน่าเที่ยว
นายชัย กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า “ต่อไปนี้เมืองรองไม่ใช้แล้ว เปลี่ยนเป็น ‘เมืองน่าเที่ยว’’ ซึ่งมี 55 จังหวัด”
นายชัย กล่าวต่อว่า “นายกฯ ได้ไปดูพื้นที่ต่างจังหวัดและเห็นศักยภาพที่ถูกซ่อนเร้น เช่น จังหวัดลำพูน นายกฯ ไปดูแล้วพื้นฐานระยะหลังตัวเลขจีดีพีลดลง ประชากรลดลง คนอยู่อาศัยเป็นผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวไม่ค่อยอยู่ แต่พอไปพื้นที่แล้วเห็นศักยภาพ คนรุ่นใหม่ในจังหวัดเขามีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างบ้านแปลงงเมือง พลิกโฉมให้จังหวัดลำพูนเป็น Cultural Heritage หรือ Creative City ด้วยการจะทำให้จังหวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นเมืองแห่งพิพิธภัณฑ์กระจายทั่วเมือง”
“เท่าที่ไปเห็นขนาดยังไม่ใส่งบเข้าไป เขาทำพิพิธภัณฑ์ที่ลำพูน ทำได้ world-class นายกฯ เห็นเลยว่านี่เป็นเพชรที่เจียระไนได้แน่นอน” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนบูรณาการที่จะโปรโมทการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว โดยให้กำหนด KPI สำหรับเจ้าหน้าที่ที่สังกัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าต้องมี KPI ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และภายใน 2 สัปดาห์ต้องนำ KPI มาเสนอต่อที่ประชุม ครม.
ทั่วประเทศมีปัญหาที่ดินทับซ้อนกว่า 100 ล้านไร่
นายชัย ขยายความเรื่อง One Map การทำแผนที่ดินในประเทศไทยว่า ปัจจุบันไม่ได้มีแผนที่เดียว และแต่ละหน่วยงานก็ยึดแผนที่ไม่เหมือนกัน พื้นที่บางแปลงเรียกว่าอยู่ในแผนที่ 4-5 หน่วยงาน แปลว่าถูกกฎหมายของบางหน่วยงาน ผิดกฎหมายของบางหน่วยงาน โดยมีที่ดินทับซ้อนของแผนที่มีอยู่มากกว่า 100 ล้านไร่ทั่วประเทศ
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แปลงแผนที่ของทุกหน่วยงานให้เป็น One Map ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ
มติ ครม. มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
จัดงบฯ 1,150 ล้าน ชดเชย ‘ออมสิน-บสย.’ ปล่อยกู้ ‘IGNITE THAILAND’
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND และอนุมัติงบประมาณวงเงิน 1,150 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ กค. เสนอโครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์ – เพื่อสนับสนุนเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนปรับปรุง/ขยายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 3 กลุ่ม ได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) และศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)
กลุ่มเป้าหมาย –
-
(1) ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศซึ่งมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน
(2) เป็นผู้ประกอบธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ (2.1) ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) (2.2) ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) (2.3) ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) (2.4) เป็น Supply Chain ของธุรกิจ ตามข้อ (2.1) – (2.3)
(3) ประกอบกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และปัจจุบันยังประกอบกิจการ
(4) มีความสามารถในการชำระหนี้ตามที่ธนาคารออมสินกำหนด
ทั้งนี้ เป็นการให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไมใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Refinance)
วงเงินสินเชื่อโครงการ – 5,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ดังนี้
-
(1) กลุ่มศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) วงเงิน 1,500 ล้านบาท
(2) กลุ่มศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) วงเงิน 1,500 ล้านบาท
(3) กลุ่มศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) วงเงิน 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินสามารถจัดสรรวงเงินในแต่ละกลุ่มได้ตามความเหมาะสม
วงเงินสินเชื่อต่อราย – ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท
ระยะเวลากู้ยืม – ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
ระยะเวลาการดำเนินงาน – ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด แล้วแต่ระยะเวลาใดจะถึงก่อน โดยให้ธนาคารออมสินเบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2569
การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.
-
(1) วงเงินค้ำประกันรวม 5,000 ล้านบาท
(2) วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit: SGL) ของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท
(3) อายุการค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
(4) ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568
(5) ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุการค้ำประกัน โดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ SMEs ในปีที่ 1 – 2 อัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี และปีที่ 3 – 4 อัตราร้อยละ 1 ต่อปี
(6) บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดการค้ำประกันสินเชื่อไม่เกินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่ได้รับจากผู้ประกอบการ SMEs รวมกับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล รวมทั้งโครงการไม่เกินร้อยละ 30
กรอบวงเงินงบประมาณ – รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,150 ล้านบาท ประกอบด้วย
-
(1) ธนาคารออมสินขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาล เพื่อชดเชยต้นทุนเงินในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 250 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป
(2) บสย. ขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาล รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 900 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) ชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยเป็นเงินไม่เกิน 625 ล้านบาท (5,000 ล้านบาท * ร้อยละ 12.5) และ 2) ชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เป็นเงินไม่เกิน 275 ล้านบาท (5,000 ล้านบาท * ร้อยละ 1 * 2 ปี + 5,000 ล้านบาท * ร้อยละ 1.75 * 2 ปี)
ประโยชน์
-
(1) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามวิสัยทัศน์ IGNTE THAILAND ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ สำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นเป็นกลไกในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม
(2) มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,660 ราย (วงเงินสินเชื่อเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย)
(3) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท (1 เท่า)
อนุมัติ 7,125 ล้าน ชดเชย PGS-11 ค้ำหนี้ SMEs 50,000 ล้าน
นายชัย กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (โครงการ PGS) ระยะที่ 11 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,125 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กำหนดโครงการย่อยภายใต้โครงการ PGS ระยะที่ 11 ที่เน้นให้ความสำคัญและความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน และผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ เห็นควรให้ บสย. ร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ในมิติต่าง ๆ จากโครงการ PGS ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยนำมาปรับปรุงและเร่งพัฒนา Credit Scoring Model และ Risk-based Pricing Model อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ให้มีการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าอย่างแม่นยำถูกต้อง ช่วยให้การกำหนดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการค้ำประกันมีความสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย และพัฒนาไปสู่การพิจารณาอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อเป็นรายลูกค้า (Individual Guarantee) ต่อไป นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการ PGS ระยะที่ 11 เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เห็นควรให้ บสย. พิจารณางดเก็บหรือเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการจ่ายค่าประกันชดเชย ค่าจัดการค้ำประกัน ค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล IGNITE THAILAND ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรับมือให้ทันกับสถานการณ์หรือวิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กค. จึงขอเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์
-
(1) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME โดยให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย
(2) เป็นกลไกในการสนับสนุนศักยภาพด้านเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่งของภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน
(3) เป็นกลไกในการช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจทางด้านสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม
วงเงินค้ำประกันโครงการ – 50,000 ล้านบาท โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม
รูปแบบการค้ำประกัน – Portfolio Guarantee Scheme / Package Guarantee Scheme
ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ – นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568
อายุการค้ำประกันสินเชื่อ – ไม่เกิน 10 ปี
วงเงินค้ำประกันต่อราย – ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท
ค่าธรรมเนียมการค้ำประสินเชื่อ – รวมทั้งโครงการเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.758 ต่อปี และสามารถจัดสรรอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละโครงการย่อยได้ตามความเหมาะสม
กรอบวงเงินค่าประกันชดเชยตลอดโครงการฯ – รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
-
(1) บสย. ขอรับเงินงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลสำหรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และการชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,125 ล้านบาท (ร้อยละ 14.25 x 50,000 ล้านบาท)
(2) รายได้จากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ SMEs เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามรายรับที่เกิดขึ้นจริง เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 7,875 ล้านบาท (ร้อยละ 15.75 x 50,000 ล้านบาท)
ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ
-
(1) มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,900 ราย (เฉลี่ย 0.65 ล้านบาทต่อราย)
(2) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท (1.2 เท่า)
กำหนดปริมาณยาเสพติดมีไว้ในเพื่อ ‘เสพ – ขาย’
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติหลักกการร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 เพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (แอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน) ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพใหม่ เพื่อให้การกำหนดปริมาณยาเสพติดดังกล่าว สอดคล้องกับสถาณการณ์ยาเสพติดปัจจุบัน ทั้งนี้ กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 มีผลให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมและมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการกำหนดปริมาณแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน และมีข้อร้องเรียนให้พิจารณาทบทวนปรับปรุงหรือยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าวรวมถึงปัญหาการตีความและการบังคับใช้
นายคารม กล่าวว่า เพื่อเป็นหลักให้กับผู้ปฏิบัติงานและเป็นแนวทางในการดำเนินการด้านยาเสพติดที่รัดกุม ชัดเจน และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงตามข้อ 2. ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” ที่ให้โอกาส ผู้เสพได้พิจารณาให้เข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งต่อมา สธ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 โดยที่ประชุมคณะทำงานดังกล่าวได้ประเมินผลกระทบจากกฎกระทรวงดังกล่าวพบว่าเกิดผลกระทบในด้านสังคม กฎหมาย และการแพทย์ จึงได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวโดยแก้ไขเฉพาะปริมาณแอมเฟตามีน (ยาบ้า) และเมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) โดยกำหนดให้ปริมาณแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม และเมทแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม สธ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพฯ ดังนี้ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อย ตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ได้แก่ 1) แอมเฟตามิน มีปริมาณไม่เกินหนึ่งหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยมิลลิกรัม 2) เมทแอมเฟตามิน มีปริมาณไม่เกินหนึ่งหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิดหนึ่งร้อยมิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผล ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกินยี่สิบมิลลิกรัม
“ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามี ไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 เพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยได้กำหนดให้แอมเฟตามีน (ยาบ้า) มีปริมาณไม่เกิน 1 เม็ด หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม (เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด หรือมีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม) และกำหนดให้เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) มีปริมาณไม่เกิน 1 เม็ด หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม (เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ศาลหรือผู้เกี่ยวข้อง มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปเจตนารมณ์ ของกฎหมายที่ต้องการให้โอกาสแก่ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรงและได้รับการพิจารณาให้เข้ารับการบำบัดรักษา โดยให้พิจารณาควบคู่กับพฤติกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด หรือระดับความรุนแรงของการเสพยาเสพติดของบุคคลนั้นร่วมด้วย รวมทั้งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดและการใช้ยาเสพติดอันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการจำแนกระหว่างผู้ค้ากับผู้เสพซึ่งการกำหนดปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้หรือ 1 เม็ด จะทำให้ผู้ค้ารายย่อยลดลง ถือเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของยาเสพติดและลดการถือครองยาเสพติดเพื่อค้า” นายคารม กล่าว
ผ่านร่างผังเมืองรวมชุมชนทัพทัน จ.อุทัยธานี
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องถิ่นตำบลหนองหญ้าปล้อง ตำบลเขาขี้ฝอย ตำบลทัพทัน ตำบลทุ่งนาไทย และตำบลหนองกลางดง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง มท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศฯ กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในท้องที่ตำบลหนองหญ้าปล้องตำบลเขาขี้ฝอย ตำบลทัพทัน ตำบลทุ่งนาไทย และตำบลหนองกลางดง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
-
1) ส่งเสริมเพื่อให้เป็นชุมชนศูนย์กลางเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม 2) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน 4) ส่งเสิรมและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการบริการในระดับอำเภอ 5) ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
2) กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้ 1) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) 2) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) 3) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) 4) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) 5) ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) 6) ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) 7. ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีฟ้า) 8. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) 9.ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)
“ร่างประกาศฯ ดังกล่าว ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนาและดำรงรักษาพื้นที่เพื่อให้เป็นชุมชนศูนย์กลางเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม ด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน รวมทั้งเพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการบริการในระดับอำเภอ” นายคารม กล่าว
เห็นชอบร่างผังเมืองรวมเมือง อ.หลังสวน จ.ชุมพร
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองหลังสวนจังหวัดชุมพร พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลวังตะกอ ตำบลนาขา ตำบลแหลมทราย ตำบลขันเงิน ตำบลหลังสวน ตำบลท่ามะพลา และตำบลพ้อแดง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา การดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง มท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศฯ กำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ตำบลวังตะกอ ตำบลนาขา ตำบลแหลมทราย ตำบลขันเงิน ตำบลหลังสวน ตำบลท่ามะพลา และตำบลพ้อแดง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนา การดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
-
1. มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 1) ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 2) ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรท้องถิ่น 3) ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจของชุมชน 4) ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองให้เป็นศูนย์กลางการบริหารและการปกครองของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 5) ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
2.กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้ 1) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) 2) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) 3) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) 4) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ (สีม่วงอ่อน) 5) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) 6) ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) 7) ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) 8) ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) และ 9) ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)
“ร่างประกาศฯ ดังกล่าว มีนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรท้องถิ่น อุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจของชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองให้เป็นศูนย์กลางการบริหารและการปกครอง ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่” นายคารม กล่าว
แก้กฎหมาย วว. นำงานวิจัยใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สามารถดำเนินการธุรกิจและนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น พร้อมรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ในเรื่องดังต่อไปนี้
-
1. เพิ่มวัตถุประสงค์ของ วว. ให้สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์การพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ วว. ให้รองรับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามข้อ 1. โดยให้ วว. สามารถรับค่าบำรุง ค่าใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดที่ได้จากการดำเนินกิจการภายในอำนาจหน้าที่การให้บริการทดสอบ ตรวจสอบ ตรวจวัด วิเคราะห์ สอบเทียบ ตรวจประเมิน ประเมินความเสี่ยงและรับรองระบบคุณภาพและผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานแห่งชาติและมาตรฐานอื่น พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์และบริการอื่นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การกู้ยืมเงิน ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน หรือให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน ทั้งนี้ หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวนเงินเกินคราวละ 20 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นจัดตั้งนิติบุคคล หรือลงทุน หรือร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ วว. หรือเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น และการดำเนินกิจการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ วว.
3. ปรับปรุงรายได้ของ วว. ให้ครอบคลุมรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นทั้งที่มาจากการให้กู้ยืมเงิน การลงทุน การร่วมลงทุน จากทรัพย์สิน และจากการดำเนินกิจการภายในอำนาจหน้าที่ รวมทั้งดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน การลงทุน และจากทรัพย์สินของ วว.
กำหนด ‘การไหว้ ’เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ
นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (2 ตุลาคม 2544 1 กุมภาพันธ์ 2548 5 กุมภาพันธ์ 2562 และ 1 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทยและภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทย 3 สิ่ง ได้แก่ ช้างไทย ดอกราชพฤกษ์ (คูน) และศาลาไทย และให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ รวมทั้งให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
นายคารม กล่าวว่า การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย เนื่องจากการไหว้ของไทย ถือเป็นการแสดงออกทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน แม้ว่าการไหว้จะเป็นสิ่งที่ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับเข้ามาจากสาธารณรัฐอินเดียผ่านทางคติความเชื่อในศาสนาพราหณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ แต่ได้มีการนำมาปรับและพัฒนาจนมีความหลากหลาย ความลุ่มลึก และมีความหมายในการแสดงออก จึงทำให้การไหว้ของไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ การเสนอให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย จึงเป็นการสร้างเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้เกิดการสืบทอดการแสดงความเคารพแบบไทยให้คงอยู่ตลอดไป ประกอบกับคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เห็นชอบด้วยแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ เเละสำนักงานราชบัณฑิตยสภาพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการแล้ว
“การกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย เป็นการแสดงออกทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย แสดงถึงความดีงามและความรู้สึกของผู้ปฏิบัติ มีความหมายและความลุ่มลึกในการแสดงออกที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย การกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย มุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและธำรงรักษาสิ่งดีงามที่คนไทยปฏิบัติกันมานานจนได้รับการยอมรับในระดับสากลให้อยู่ตลอดไป” นายคารม กล่าว
ตั้ง กมธ. 72 คน พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’68
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มิได้กำหนดจำนวนไว้ แนวปฏิบัติที่ผ่านมาการกำหนดจำนวนคณะกรรมาธิการฯ จึงเป็นไปตามมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการประชุม วาระที่ 1 โดยในปีงบประมาณที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคณะกรรมาธิการฯ (ปี 2545-2549, ปี 2552-2557 และปี 2563) จำนวนกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่าง 63-34 ท่าน และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2567 จำนวน 72 ท่าน
การตั้งคณะกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 91 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า “การเลือกตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญให้ตั้งจากบุคคลที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จำนวนนอกจากนั้นให้ที่ประชุมเลือกจากรายชื่อที่สมาชิกเสนอ โดยให้มีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภา”
สงป. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมาเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการฯ และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 91 วรรคสอง จึงขอเสนอแนวทางเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 72 ท่าน เท่ากับจำนวนที่มติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2567 โดยกำหนดสัดส่วนของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
- กรรมาธิการฯ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อ จำนวน 18 ท่าน ซึ่งเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หรือจำนวนไม่เกิน 18 ท่าน
- กรรมาธิการฯ ในสัดส่วนพรรคการเมือง จำนวน 54 ท่าน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สำนักการประชุม) ได้ประสานและแจ้งแนวทางการกำหนดสัดส่วนกรรมาธิการฯ แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล จำนวน 34 ท่าน และสมาชิกผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน จำนวน 20 ท่าน ซึ่งจะมีการคัดเลือกตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป
- กรรมาธิการฯ ในสัดส่วนที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อจำนวนไม่เกิน 18 ท่าน เห็นสมควรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดตามความเหมาะสมต่อไป
ไฟเขียวกองสลากฯออกหวย 3 ตัว สมทบเงินรางวัลลุ้น ‘แจ็กพอต’
นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก พ.ศ. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดสรรเงินจากการจำหน่ายสลากตัวเลขสามหลัก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อรูปแบบของสลากฯ ได้หลากหลายมากขึ้นตามราคาที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเป็นการช่วยให้การเสี่ยงโชคนอกระบบและผิดกฎหมายให้น้อยลงได้
รูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก – เป็นสลากประเภทสมทบเงินรางวัล ซึ่งประกอบด้วยหมายเลขให้เลือก 3 หลัก แต่ละหลักมี 10 หมายเลข ตั้งแต่ 0 ถึง 9 (000-999 และไม่กำหนดหมายเลขไว้ในระบบล่วงหน้า) โดยผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขแต่ละหลักให้ครบ 3 หลัก และสามารถเลอกเลขแต่ละหลักซ้ำกันได้ (เป็นรูปแบบใหม่ที่สำนักงานสลากฯ ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน)
การจัดสรรเงินรางวัล – สำนักงานสลากฯ จัดสรรให้ร้อยละ 60 จากการจำหน่ายสลากฯ ตัวเลขสามหลักในแต่ละงวด (ไม่สามารถระบุเงินรางวัลได้ชัดเจน เนื่องจากเงินรางวัลจะแปรผันตามจำนวนผู้ที่ซื้อสลากฯ)
การสมทบเงินรางวัล
ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 17-45 บาท เริ่ม 3 ก.ค.นี้
นางสาวเกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำหนดให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ ระยะเวลา 24 เดือน นับตั้งแต่เริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2547) โดยอัตราค่าโดยสารปัจจุบันจะครบกำหนด 24 เดือน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ประกอบกับมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการและความสะดวกในกิจการรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการและค่าธรรมเนียมดังกล่าว และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
รฟม. จึงได้ยกร่างข้อบังคับฯ ดังกล่าว เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) โดยใช้ตัวเลขของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลในการคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญาจะมีอัตราเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567
ในคราวประชุมคณะกรรมการ รฟม. ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งอนุมัติหลักการให้ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบจากรถไฟฟ้าสายอื่นมายังรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2569 เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้าและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 (ครบกำหนดการบังคับใช้ตามสัญญาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567) คค. จึงได้ยกร่างข้อบังคับฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลอัตราใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท เพื่อให้การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2567
ชงร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’68 ให้สภาฯพิจารณา
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 พฤษภาคม 2567) รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และ ให้ สงป. ดำเนินการจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มิถุนายน 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
โดย สงป. ได้ดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป สงป. จึงได้เผยแพร่รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ผ่านทางเว็บไซต์ของ สงป. เรียบร้อยแล้ว และ สงป. ได้จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดังกล่าว และเอกสารประกอบงบประมาณ รวม 39 เล่มเรียบร้อยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,752,700 ล้านบาท โดยจำแนกตามประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
-
1. รายจ่ายงบกลาง 805,745.0 ล้านบาท
2. รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,254,576.8 ล้านบาท
3. รายจ่ายบูรณาการ 206,858.5 ล้านบาท
4. รายจ่ายบุคลากร 800,969.6 ล้านบาท
5. รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 274,296.4 ล้านบาท
6. รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 410,253.7 ล้านบาท
-
1) ด้านความมั่นคง 405,412.8 ล้านบาท
2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 398,185.9 ล้านบาท
3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 583,023.4 ล้านบาท
4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 923,851.4 ล้านบาท
5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 137,291.9 ล้านบาท
6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 645.880.9 ล้านบาท
โดยมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การชำระหนี้ภาครัฐ และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
ขึ้นทะเบียน ‘ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก – บางปู’ เป็นมรดกอาเซียน
นางรัดเกล้า กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP)
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กห. รายงานว่า ในการประชุม คกก. อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 1/2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำเสนอ (ร่าง) เอกสารการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเสนอต่อศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) เพื่อดำเนินการตามกระบวนการของอาเซียน โดยขั้นตอนในการนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน สผ. จะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ ACB (เลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน) เพื่อส่งเอกสารนำเสนอให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินพื้นที่ และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณาก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป
พื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ ตั้งอยู่ภายในบริเวณกองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก จังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่ประมาณ 411 ไร่ จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทัพบกกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 72 พรรษา แห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ป่าดั้งเดิมและเพิ่มพื้นที่ป่า (ชายเลน) พื้นที่อ่าวไทยตอนใน ตลอดจนใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียนและผู้สนใจทั่วไป ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน
การเสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้มีความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติหนึ่งเดียวที่อยู่ท่ามกลางเมืองที่กำลังเติบโตทางอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังคงความสมบูรณ์ทางนิเวศ (Ecological Completeness) มีความหลากหลายทางชีวภาพ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ตลอดจนสามารถให้ประโยชน์เชิงสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง เครือข่ายนกน้ำอพยพและแนวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คลื่นลมและอิทธิพลจากน้ำทะเลควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจำนวน 7 แห่ง ดังนี้ 1) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา 3) กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา 4) กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี 5) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง 6) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง 7) อุทยานแห่งชาติเขาสก โดย 8) อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน 9) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และ 10) อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน
กทปส.จัดงบฯ 435 ล้าน หนุนถ่ายทอดสดกีฬา ‘โอลิมปิก-พาราลิมปิก’
นางรัดเกล้า กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กองทุน กทปส.) ในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ในวงเงินงบประมาณ จำนวน 435,000,000 บาท ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน2567 มีมติเห็นชอบในหลักการให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจัดหาลิขสิทธิ์เพื่อการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันกีฬา 2 รายการดังกล่าว จำนวน 435,000,000 บาท รวมภาษีที่เกี่ยวข้องจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และให้ กกท. เสนอเรื่องการดำเนินการดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายการดำเนินการต่อไป และเมื่อ กกท. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาลิขสิทธิ์เพื่อการถ่ายทอดสดฯ เรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตามประกาศแนบท้ายของสำนักงาน กสทช. อย่างเคร่งครัด เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนรวมถึงผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมและร่วมส่งกำลังใจให้นักกีฬาทีมชาติไทยผ่านการถ่ายทอดสดครั้งนี้
ดังนั้น กกท. ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณฯ จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ มติคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 เห็นชอบในหลักการดำเนินการจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาทั้ง 2 รายการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามให้กำลังใจนักกีฬาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เนื่องด้วยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติที่สำคัญหลายรายการ อาทิเช่น การแข่งขันวอลเลย์บอล รายการ Volleyball Nations League 2024 Finals และการแข่งขันกีฬาเอเซียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ซึ่งส่งผลให้มีงบประมาณไม่เพียงพอในการสนับสนุนการจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา 2 รายการดังกล่าวได้ และขอให้ กกท. ดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และหากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว หรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วน กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว ของกองทุน กทปส. ในสำนักงาน กสทช. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงมีความจำเป็นต้องเสนอเรื่องเพื่อให้คณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการเผยแพร่ผลการแข่งขันของนักกีฬาแต่ละประเทศในรูปแบบการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับชม เชียร์ และเป็นกำลังใจให้นักกีฬา ถือเป็นการส่งเสริม สนับสนุนกีฬาชาติที่สำคัญอีกทางหนึ่ง และจะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักกีฬาตัวแทนของแต่ละประเทศได้ การถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้ง 2 รายการผ่านสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนและเยาวชน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสรับชมเชียร์และให้กำลังใจนักกีฬาทีมชาติไทยผ่านการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาดังกล่าวกันได้อย่างทั่วถึง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ขอรับสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ในสำนักงาน กสทช. ในวงเงินงบประมาณ จำนวน 435,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าลิขสิทธิ์และค่าดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว ทั้งนี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณฝรั่งเศส จะจัดขึ้น ณ วันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม และวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567 โดยหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบในข้อมูลแล้ว กกท. ต้องดำเนินการดังนี้
-
1) เสนอเรื่องพร้อมมติคณะรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการให้คณะกรรมการบริหาร กสทช. และคณะกรรมการบริหาร กองทุน กทปส. รับทราบและดำเนินการพิจารณาเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จำนวน 435,000,000 บาท
2) กกท. ดำเนินการประสานรายละเอียดกับผู้ถือลิขสิทธิ์ และผู้บริหารจัดการลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาทั้ง 2 รายการดังกล่าว อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพื่อดำเนินการร่างสัญญา รวมถึงเสนอรายละเอียดการร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็น ก่อนลงนามสัญญาและในกระบวนทั้งหมดในข้างต้นจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567
รับทราบผลการดำเนินงานป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างฯ
นางรัดเกล้า กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินงานกระทรวงการคลัง (กค.) ตามที่รับมอบหมายให้สรุปผลการพิจารณา-ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม ซึ่ง ครม. ได้มอบหมายให้ กค. ดำเนินการหลัง มีมติรับทราบข้อเสนอแนะตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นั้น
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กค. เห็นว่า ข้อเสนอแนะตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ จำนวน 11 ประเด็น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และได้รายงานความคืบหน้า ดังนี้
-
1. วันที่ 26 เมษายน 2567 ได้ดำเนินการขอทราบความคิดเห็นตามมาตรการฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน
2. หลังจากได้รับทราบความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้การดำเนินการตามข้อเสนอแนะเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการประชุมระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมในวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567
3. ปัจจุบันอยู่ระหว่างแจ้งเวียนรับรองรายงานการประชุมภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กค. จะเร่งดำเนินการเสนอความเห็นในภาพรวมต่อ ครม. ต่อไป
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2567 เพิ่มเติม