ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > Climate Education: “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู Human Transformation ปรับกระบวนทัศน์มองโลก แก้ต้นเหตุระบบคิดไร้สมดุล

Climate Education: “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู Human Transformation ปรับกระบวนทัศน์มองโลก แก้ต้นเหตุระบบคิดไร้สมดุล

8 มิถุนายน 2024


หมายเหตุ: เนื้อหาเป็นบทสรุปจากการประชุมสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567 หัวข้อ “Climate Education กับอนาคตของมนุษยชาติ” โดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกรรมการ แพลตฟอร์ม Youth in Charge

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” วิพากษ์ ‘Climate Education’ ไม่ใช่สอนแค่เป้าหมาย Net Zero หรือให้เด็กคิดกิจกรรมลดโลกร้อน แต่ต้องแก้ต้นเหตุวิธีมองโลก Greed to Growth, Growth to Greed ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หัวใจคือ Human Transformation มอง ‘เยาวชนและคนรุ่นใหม่’ คือผู้ปรับปลี่ยนระบบขับเคลื่อนสู่โลก Good to Growth, Growth to Good

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกรรมการ แพลตฟอร์ม Youth in Charge

ดร.สุวิทย์ ฉายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติและอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสปีชีส์ (the mass extinction) สิ่งเหล่านี้คือ ‘อาการ’ จาก Climate change หรือที่เรียกว่า ‘ปลายน้ำ’ ทั้งหมดเป็นผลจากฝีมือมนุษย์

“ในslogan ของกลุ่ม Global Climate Movement บอกว่าสิ่งที่เราเรียกร้องไม่ใช่ climate change แต่เป็นเรื่อง system change เพราะ climate change เป็นอาการที่เกิดขึ้น ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนความคิดว่าต้นน้ำของ climate change เป็นอย่างไร และถ้าบอกว่า system change คือต้นน้ำ หมายความว่า ระบบโลกปัจจุบันเป็นแบบใดจึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ดังนั้นเราต้องทบทวนกระบวนทัศน์และโลกทัศน์ที่มีอยู่ทั้งหมด”

ดร.สุวิทย์ ยกเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ และชี้ให้เห็นว่า คลัสเตอร์ A คือประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุดมี 3 เรื่อง คือ ข้อ 13 Climate Action ข้อ 14 การอนุรักษ์ทะเล ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร และข้อ 15 การเสื่อมโทรมของผินดินและการฟื้นสภาพ โดยทั้งสามเรื่องเชื่อมโยงกับเป้าหมายอื่นๆ และถ้าไม่ทำทั้งสามข้อข้างต้นก็จะแก้ปัญหาอื่นไม่ได้ ดังนั้นมนุษย์ต้องมองปัญหาให้เห็นเป็นองค์รวม

“หัวใจสำคัญของ Climate Education จะต้องมีการเรียนรู้ 3 วงประกอบกัน คือ integrative learning, system-base learning, action-base learning แยกไม่ได้ ต้องมองเป็นภาพใหญ่ ใช้ทั้งสามศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ผนึกกำลังกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิญญาณที่ไปเชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติและจักรวาล”

ดร.สุวิทย์ อธิบายว่า หลักสูตรClimate Education พยายามสอนเยาวชน-คนรุ่นใหม่ให้เป็น Future Changer แต่หลักสูตรมักเป็นอุดมคติ คำถามคือทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง (make it real) โดยเฉพาะการทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

กล่าวคือ Climate Education ต้องไม่ใช่แค่การศึกษา แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เป็น ‘Collective Leader’ เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน และถักทอเป็น Collective Future

“หัวใจสำคัญของ Climate Education จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ เราพูดเรื่อง tranformation จนเฟ้อไปหมด คนพูดถึง digital transformation และ AI transformation ผมบอกไม่ใช่เลย ผิดประเด็นไปหมด…สิ่งที่มนุษย์ต้องการอย่างเร่งด่วนคือ Human Transformation”

Climate Education ต้องมี 4 องค์ประกอบจึงจะทำให้เกิด Human Transformation เพื่อเปลี่ยนจากมุมมอง-วิธีคิด (vision) เป็นการลงมือปฏิบัติ (action) โดย 4 องค์ประกอบ คือ

  • ความเข้าใจในบริบทโลก (Understanding the World)
  • ความเข้าใจในตนเอง (Understanding Oneself)
  • การเปลี่ยนตัวเองจากข้างใน (Changing Oneself)
  • การเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น (Changing the World)

“เราเข้าใจโลกเราหรือไม่ และเข้าใจตัวเราหรือไม่ ถึงจะรู้สึกว่าเราอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเราอย่างไร เพื่อให้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลก มองทั้ง outside in และ inside out เป็นการระเบิดจากภายใน ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจโลกและตัวเรา เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร”

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางความคิดเป็นลำดับขั้น เริ่มจากมุมมอง (Perspective) ไปกระบวนทัศน์ (Paradigm) สู่หลักคิด (Principle) สุดท้ายคือการลงมือปฏิบัติ (Practice) ผ่านการพัฒนาปัญญา (Wisdom) และสร้างองค์ความรู้ (Knowledge) ผ่านการประมวลข้อมูล (Information) และการเก็บดาต้า (Data) รวมทั้งการปรับเปลี่ยนมายเซ็ทเติมทักษะต่างๆ ทั้ง hard skill และ soft skill ประกอบกับใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ (Tool-set) จึงจะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้

“Climate Education ไม่ใช่เรียนทางเทคนิคหรือ how to อย่างเดียว แต่เป็นวิชาที่ต้องปรับต้นน้ำเป็นสำคัญถึงเรื่องการปรับกระบวนทัศน์และทบทวนกรอบความคิดของเรา”

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนแปลง mental model ของคน ผ่านการศึกษาและการเรียนรู้…เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ knowledge for living และ wisdom for life ในเวลาเดียวกัน”

“เราจะเปลี่ยนกรอบความคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างไร ขณะที่กรอบความคิดเดิมเป็น Greed to Growth, Growth to Greed ความโลภทำให้เกิดการเติบโต การเติบโตทำให้เกิดความโลภ ก่อให้เกิดระบบที่ไม่สมดุลเป็นโครงสร้างที่ไม่ยั่งยืน”

“climate change มันคือปลายเหตุ แต่สิ่งสำคัญคือระบบที่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์จะควบคุมโลกได้ คิดว่าสร้าง man-made environment ได้นำไปสู่ the great acceration ทุกอย่างเร่งการเติบโตแบบเป็น exponential ไปหมด”

จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงปัจจุบัน ดร.สุวิทย์ ย้ำว่า ต้นเหตุของ climate change คือความไร้สมดุลของมนุษย์กับธรรมชาติ ความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์-มนุษย์ รวมถึงมนุษย์-เทคโนโลยี

ความท้าทาย ณ เวลานี้จึงมีอยู่ 7 ความท้าทายหลัก ซึ่งมนุษย์ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เพื่อปรับหลักคิดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

  1. Global Boiling เป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดของโลกหรือไม่
  2. มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่ และถ้าใช่ จะช่วยขบคิดหาคำตอบให้กับปัญหาดังกล่าวอย่างไร
  3. สิ่งที่กำลังขับเคลื่อน เช่น SDGs ฯลฯ มาถูกทิศถูกทางหรือไม่
  4. มนุษย์ต้องการกรอบความคิดและแนวทางใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนตัวเองและโลกหรือไม่
  5. สิ่งที่ทำตอนนี้เป็นแค่การพูดถึงปัญหา หรือลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
  6. มนุษย์กำลังแก้ปัญหาไปในทางเดียวกันหรือไม่
  7. ปัญหาดังกล่าวใครคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดและใครจะรับผิดชอบพวกเขาเหล่านั้น

จากปัญหาทั้งหมด ดร.สุวิทย์ สรุปว่า เราถูกสอนให้เชื่อว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง อะไรที่เราเอาชนะและควบคุมได้จึงจะอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นการมองที่ผิด ยิ่งกว่านั้นกรอบความคิดนี้ทำให้เกิดความเชื่อว่าความโลภเป็นสิ่งที่ไม่เลว เพราะทำให้เศรษฐกิจเกิดพลวัตรได้ ทั้งๆที่เป็นวงจรอุบาทว์ ไม่ยั่งยืน และถ้าอยากให้เด็กเปลี่ยนความคิด ต้องตั้งคำถามว่า กรอบความคิดที่ผู้ใหญ่เชื่อกันอาจไม่ถูกต้อง ทำอย่างไรให้เกิดการทบทวนว่าธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง และต้องอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

“เราอย่านึกว่าตัวเองเก่งและควบคุมธรรมชาติได้ ต้องมองว่า Mother Earth คือผู้ที่มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุด เราจึงต้องอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ดังนั้น Climate Education เริ่มจากการเปลี่ยนโลกทัศน์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงมายเซ็ทที่มองว่าไม่ ego-centric แต่เป็น eco-centric และเป็น growth mindset ที่เปลี่ยนแปลงโลกและตัวเราได้”

“ถ้ามายเซ็ทไม่เปลี่ยน อย่าหวังจะเปลี่ยนอย่างอื่น เราต้องใช้ growth mindset คู่กับ eco-centric คือการเปลี่ยนแปลงที่ต้นน้ำ แต่จะเปลี่ยนแปลงมายเซ็ทของคนได้ ต้องทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมหรือ ecosystem ที่เหมาะสม ภายใต้ 3 เงื่อนไขคือ สังคมที่ clean&clear, free&fair และ care&share เพราะ 3 เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ทุกคนอยู่บน Playing Field เดียวกัน”

“เยาวชนต้องมีบทบาทตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของตัวเขา ครอบครัว บทบาทในโรงเรียน สังคม ชุมชน ท้องถิ่น จนถึงเวทีโลก เหมือนกับเกรต้า (เกรต้า ธันเบิร์ก) ผมอยากให้เยาวชนไทยลุกขึ้นมาต่อสู้แบบเดียวกับเกรต้า ผมไม่เชื่อว่าเราทำไม่ได้”

ดร.สุวิทย์ ทิ้งท้ายว่า ในสถานการณ์โลกเดือดนี้ มนุษย์ต้องไม่มองการแก้ปัญหาเพียงเพราะ UN บอกให้ทำ แต่ต้องมองว่าไม่ทำไม่ได้ แม้แต่เรื่องไม่ดีก็ยังมีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่ เช่น โควิด-19 ที่ผ่านมา มนุษย์ก็ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา และการอยู่รอดร่วมกัน ภาวะโลกเดือดนี้อาจเป็นตัวพลิกเกมท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้าย เพราะทำให้มนุษย์เห็นโอกาสสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“ทำอย่างไรให้ Climate Education สาดแสงให้เด็กรู้ว่ามี good in bad และเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อน จาก Greed to Growth, Growth to Greed เป็น Good to Growth, Growth to Good ยิ่งทำดีจะยิ่งเติบโต นี่คือรูปธรรมของ Human Transformation เพื่อนำพาพวกเราไปสู่โลกที่ดีกว่าเดิม “