ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > มีนาคม 2024 ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน

มีนาคม 2024 ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน

10 เมษายน 2024


ที่มาภาพ: https://climate.copernicus.eu/surface-air-temperature-march-2024

เดือนมีนาคม ปี 2024 เป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันของโลก ตามชุดข้อมูล ERA5 นับตั้งแต่ปี 1940 จากรายงาน Climate Bulletin ของ Copernicus Climate Change Service หรือ C3S หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป ขณะที่มหาสมุทรทั่วโลกเผชิญกับอุณหภูมิพื้นผิวที่สูงเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน

เดือนมีนาคม 2024 ทั่วโลกอากาศร้อนขึ้นกว่าเดือนมีนาคมก่อนๆ โดยอุณหภูมิอากาศบนพื้นผิว จากชุดข้อมูล ERA5 เฉลี่ยอยู่ที่ 14.14 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนมีนาคมปี 1991-2020 ถึง 0.73 องศาเซลเซียส และสูงกว่าระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม 2016 ถึง 0.10 องศาเซลเซียส และนับเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน ที่อากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในแต่ละเดือนของปี เดือนนี้อุณหภูมิสูงขึ้น 1.68 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือนมีนาคมในช่วงปี 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมที่มักใช้อ้างอิง อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2023 – มีนาคม 2024) สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 ถึง 0.70 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงปี 1850-1900 ถึง 1.58 องศาเซลเซียส

ความผิดปกติของอุณหภูมิในเดือนมีนาคมน้อยกว่า 0.81 องศาเซลเซียส ที่บันทึกไว้ในเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย และในช่วงวันแรกของเดือนเมษายน ความผิดปกติของอุณหภูมิก็ลดลง

  • กุมภาพันธ์ 2567 ติดอันดับร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิพื้นผิวทะเลทั่วโลกสูงทำสถิติใหม่
  • เริ่มต้นปี 2567 Copernicus บันทึกสถิติ มกราคมร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก
  • อุณหภูมิเฉลี่ยของยุโรปในเดือนมีนาคม 2024 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนมีนาคม 1991-202 ถึง 2.12 องศาเซลเซียส ทำให้เดือนนี้เป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของทวีป โดยเย็นกว่าเดือนมีนาคม 2014 เพียง 0.02 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากที่สุดใน ภาคกลางและภาคตะวันออก

    อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2023 – มีนาคม 2024) สูงสุดเป็นประวัติการณ์โดย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 ถึง 0.70 องศาเซลเซียส

    ในเอกสารข่าว ซามานธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการ C3S เน้นย้ำถึงความสำคัญของอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเหล่านี้ ทั้งในบรรยากาศและพื้นผิวมหาสมุทร

    “เดือนมีนาคม 2024 ยังคงมีการทำลายสถิติสภาพภูมิอากาศทั้งอุณหภูมิอากาศและอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง โดยทำลายสถิติเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.58 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นก็ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว”

    ความผิดปกติของอุณหภูมิอากาศพื้นผิวโลกรายเดือน (°C) เทียบกับปี ค.ศ. 1850–1900 ตั้งแต่เดือนมกราคม 1940 ถึงเดือนมีนาคม 2024 ตามเป็นอนุกรมเวลาในแต่ละปี ปี 2024 แสดงด้วยเส้นสีเหลืองหนา, ปี 2023 แสดงด้วยเส้นสีแดงหนา และปีอื่นๆ ทั้งหมดที่มีเส้นบางแรเงาตามทศวรรษ ตั้งแต่สีน้ำเงิน (ทศวรรษ 1940) ไปจนถึงสีแดงอิฐ (ทศวรรษ 2020) ที่มาภาพ: https://climate.copernicus.eu/march-2024-10th-consecutive-record-warm-month-globally

    เอลนีโญยังคงอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในแถบเส้นศูนย์สูตรแปซิฟิกตะวันออก แต่อุณหภูมิอากาศทางทะเลโดยทั่วไปยังคงอยู่ในระดับสูงผิดปกติ

    อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลโดยเฉลี่ยทั่วโลกก็อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ 21.07 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับ 21.06 องศาเซลเซียส ในเดือนกุมภาพันธ์เล็กน้อย ขณะนี้อุณหภูมิของมหาสมุทรอยู่ในระดับที่ร้อนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนมานานกว่า 12 เดือน

    ในยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่เดือน มีนาคม 2024 มีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ย จากตัวชี้วัดทางอุทกวิทยาหลัก 3 ด้านที่ C3S ติดตาม คือ หยาดน้าฟ้า(Precipitation).ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศบนพื้นผิว และความชื้นในดินบนพื้นผิว (ยกเว้นบางที่ เช่น สเปนตะวันออก)

    คาบสมุทรไอบีเรีย ทางตอนเหนือของอิตาลี และทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ประสบกับพายุที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก สแกนดิเนเวียตะวันออกและบางส่วนของรัสเซียทางตะวันตกเฉียงเหนือก็มีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ของยุโรปยังคงแห้งมากกว่าค่าเฉลี่ย

    ที่มาภาพ: https://climate.copernicus.eu/surface-air-temperature-march-2024

    ในส่วนอื่นๆ ออสเตรเลียเผชิญกับเดือนที่มีฝนตกชุกเป็นพิเศษ และตกมากกว่าค่าเฉลี่ยในบางส่วนของอเมริกาเหนือ ในเอเชียกลาง ญี่ปุ่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรอาหรับ มาดากัสการ์ และบางส่วนของอเมริกาใต้

    พื้นที่น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกแตะระดับต่ำสุดต่อปีด้วยค่าเฉลี่ยรายเดือนที่ 14.9 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าพื้นที่น้ำแข็งในทะเลในเดือนมีนาคม 2024 ยังคงต่ำกว่าค่าที่บันทึกได้ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 แต่ก็สูงกว่าค่าต่ำสุดของเดือนมีนาคมที่บันทึกไว้ในปี 2018 และเป็นพื้นที่น้ำแข็งในทะเลที่สูงที่สุดในเดือนมีนาคมนับตั้งแต่ปี 2013

    น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกกลับมาขยายอีกครั้งตามฤดูกาล หลังจากถึงระดับต่ำสุดประจำปีในเดือนกุมภาพันธ์ พื้นที่น้ำแข็งในทะเลโดยเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2024 อยู่ที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร หรือต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1991-2020 ของเดือนมีนาคม ถึง 0.9 ล้านตารางกิโลเมตร (หรือ 20%) นับเป็นระดับต่ำสุดครั้งที่ 6 ของเดือนมีนาคมภายในชุดข้อมูลดาวเทียมในรอบ 46 ปี และมีบางกรณีที่ต่างออกไป พื้นที่น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกได้เผชิญกับความผิดปกติเชิงลบอย่างต่อเนื่องในเดือนมีนาคมนับตั้งแต่ปี 2017