ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > Sustainability Expo 2023 (ตอน 1) ‘ความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้’ เมืองที่ดีต้องมีส่วนร่วมทุกฝ่าย

Sustainability Expo 2023 (ตอน 1) ‘ความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้’ เมืองที่ดีต้องมีส่วนร่วมทุกฝ่าย

19 ตุลาคม 2023


(จากซ้ายไปขวา) นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (คนที่ 2), นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (คนที่ 3), นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (คนที่ 4) และนางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและผู้ทำธุรกิจสิ่งแวดล้อม (คนที่ 5)

5 ตุลาคม 2566 ในงาน Sustainability Expo 2023 (SX 2023)One Bangkok จัดเสวนาหัวข้อ “The Future of Sustainability and Smart City Living for Better Community” ความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของชุมชน โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด นายเรอโน เมเเยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) และเชอร์รี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ เซเลบริตี้ผู้รักสิ่งแวดล้อม เข้าร่วม

เมืองน่าอยู่ คือเมืองที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การสร้างเมืองที่น่าอยู่อาศัยและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น อาคารที่พักอาศัย ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องเป็นเมืองที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า การจะสร้างเมืองที่น่าอยู่ให้เกิดขึ้นจริง ต้องอาศัยภาคเอกชนในการร่วมผลักดันนโยบายของภาครัฐให้เป็นจริง รวมทั้งสร้างตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้คนในสังคมได้เห็นและจับต้องได้

เมื่อถามถึงความยั่งยืน นายวราวุธ อธิบายว่า การสร้างเมืองที่น่าอยู่อาศัย ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น ก้อนอิฐ หรือก้อนปูน แต่รวมถึงสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้ เช่น ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ ที่ไม่ควรอาศัยแค่แท็ปเล็ตหรือสมาร์ตโฟน

อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ มองว่า ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าภาครัฐไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน

“นโยบายภาครัฐเป็นแค่ตัวหนังสือบนกระดาษ ถ้าภาคเอกชนไม่ให้ความร่วมมือ เหมือนตบมืออย่างไรก็ไม่ดัง ความร่วมมือของภาคเอกชนจะทำให้นโยบายเข้าถึงประชาชนทุกระดับ”

นายวราวุธ ทิ้งท้ายว่า ภาครัฐเอกชนรู้สึกว่าไปไวกว่าภาครัฐ ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องทำคือ เร่งนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ สะท้อนผ่านงบประมาณรายจ่ายแต่ละปี และต้องร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

พัฒนาอสังหาฯ แบบ Inclusive Space

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 30 ปี กลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ให้ความสำคัญกับการให้บริการในรูปแบบที่เรียกว่า “Real Estate as a Service” หรือการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งให้บริการเพื่อเข้าถึงผู้ใช้งาน ถือเป็นหัวใจของความสำเร็จของธุรกิจที่ยั่งยืน

นายปณต กล่าวต่อว่า บริษัทจะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยศึกษา ทำความเข้าใจสังคม วิถีชีวิตและความคาดหวังของชุมชนโดยรอบก่อนก่อสร้าง เพื่อให้ชุมชนโดยรอบเข้ามามีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์

“โครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) จึงออกแบบให้มีพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของโครงการ รวมถึงการออกแบบให้มีสวนสาธารณะแนวยาว (Linear Park) ขนาดกว้างจากทางเท้าถึงหน้าโครงการถึง 35 ถึง 45 เมตร เป็นเสมือนสวนสาธารณะคู่ขนานที่จะเกิดขึ้นบนถนนพระราม 4 ใจกลางกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติให้คนทุกระดับสามารถเข้ามาร่วมใช้ได้ อาทิ พื้นที่สวนพักผ่อน พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ มีการจัดแสดงผลงานศิลปะในที่ต่างๆ ช่วยสร้างความผ่อนคลายและแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ” นายปณต กล่าว

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้

นายปณต กล่าวต่อว่า บริษัทยังวางระบบบริหารจัดการภายในโครงการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ที่จะเป็นองค์กรที่ปลอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050

ที่สำคัญ นายปณต กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คือ การเข้าถึงผู้ใช้ และคุยกับผู้ออกแบบให้พัฒนาตามความต้องการ หรือที่เรียกว่า “Inclusive Space” เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนทุกระดับสามารถเข้ามาร่วมใช้ได้ ดังตัวอย่างของศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ที่ร่วมพัฒนากับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

ความยั่งยืน รับมือ ‘โลกเดือด’

ด้านนายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัดการกับปัญหา “Global Warming” หรือที่ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “Global Burning”  เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคน ทุกองค์กรต้องร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และทาง UNDP ก็ได้มีการดำเนินงานร่วมกับทั้งทางภาค รัฐ และ ภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

นายเรอโนกล่าวต่อว่า ปัญหาความยั่งยืนต้องแก้อย่างสอดคล้องและครบถ้วนทุกมิติ และหลายประเทศมีความย้อนแย้ง เพราะกำลังให้การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลมากกว่างบลงทุนเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

เรอโน เมเเยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“ผู้คนได้ยินเรื่อง Climate Change มามากมาย แต่พวกเขายังไม่ได้ฟังเสียงเรียกร้องที่มาจากธรรมชาตินี้อย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคน ไม่เฉพาะแต่ทางภาครัฐ จะต้องช่วยกันลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นมันอาจจะถึงจุดจบของมนุษยชาติ”

นายเรนัล ยังกล่าวถึงปัญหา “โลกเดือด” ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิบัติภายใต้กรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ที่สหประชาชาติได้ประกาศและประเทศต่างๆ ได้ลงนามไว้แล้วอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาเรายังเห็นความไม่สอดคล้องกันของมาตรการและนโยบายด้านต่างๆ ที่หลายประเทศได้นำมาใช้

โดยยกตัวอย่างเรื่องการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหลายประเทศกลับกำลังมีการให้เงินอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลมากกว่า หรือในขณะที่ให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า แต่พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ส่วนใหญ่ยังมาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น ดังนั้นเรื่องนี้ถือเป็นความย้อนแย้งในระดับพื้นฐานที่รัฐบาลในหลายประเทศ รวมถึงประเทศในสหภาพยุโรปกำลังลงมือปฏิบัติ

เปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ หรือเชอรี่ นักแสดงสาวที่ผันตัวมาเป็นนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ใช้ขวดน้ำส่วนตัว เพื่อลดขยะจากขวดพลาสติก เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่หากทุกคนเริ่มลงมือทำ ก็จะเกิดเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ หรือเชอรี่ นักแสดงสาวที่ผันตัวมาเป็นนักสิ่งแวดล้อม

โดยยกตัวอย่าง 5 ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัว และให้แนวทางที่คนทั่วไปจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ดังนี้

  • พลังงาน – แก้ปัญหาด้วยการประหยัดพลังงาน เปิด-ปิดไฟ และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้
  • น้ำ – ช่วยกันประหยัดน้ำ เพราะในอนาคตจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ
  • มลพิษทางอากาศ – การเดินทางด้วยรถยนต์ ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นควรสนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะหรือวางแผนการเดินทางเพื่อให้ลดการใช้รถยนต์น้อยลง
  • ของเสีย หรือ waste – เลือกซื้อ-ใช้ของโดยคำนึงถึง waste ตั้งแต่การซื้อ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เสื้อผ้า ขวดพลาสติก เพราะแพคเกจจิ้งเป็นส่วนสำคัญของปัญหาภูมิอากาศโลก นอกจากนี้คนทั่วไปยังสามารถแยกขยะได้อีกทางด้วย
  • พื้นที่สีเขียว – โดยธุรกิจสามารถสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกป่า หรือดูแลผืนป่ารอบนาข้าวได้

นางสาวเข็มอัปสร ย้ำว่า ปัจจุบันปัญหาโลกเดือดได้มาถึงจุดที่เราทุกคนไม่มีเวลาที่จะเสียอีกต่อไปแล้ว อยากให้ภาครัฐมีการออกกฎหมายหรือมาตรการจูงใจต่างๆ อย่างจริงจัง มากกว่าแค่การขอความร่วมมือ และในส่วนของภาคเอกชนก็อยากให้ช่วยขยายบทบาทต่างๆ ออกนอกกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ

“สิ่งที่อยากเห็นจากภาคเอกชนเป็นผู้นำการขับเคลื่อน และเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างพื้นที่ชุมชนเมืองสีเขียว แผ่กำลังไปพื้นที่ห่างไกล ขณะที่ความคาดหวังจากภาครัฐ…เข้าใจว่ามีความซับซ้อนหลายหน่วยงาน แต่เราไม่มีเวลาแล้ว เราต้องจริงจังกับมัน ไม่ใช่แค่ความร่วมมือ ถ้าเรามี commitment ที่จริงจัง กฎหมาย และแรงจูงใจ น่าจะเป็นการสนับสนุนสิ่งแวดล้อมได้” นางสาวเข็มอัปสร ทิ้งท้าย