ThaiPublica > คอลัมน์ > ของแทร่ไม่แพ้ AI

ของแทร่ไม่แพ้ AI

25 มิถุนายน 2024


1721955

กลายเป็นข่าวฮือฮาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเอาแวดวงการประกวดภาพถ่ายระดับโลกปั่นป่วน เมื่อภาพถ่ายที่ชื่อ “F L A M I N G O N E” ผลงานของนายไมลส์ แอสเทรย์ คว้ารางวัลเหรียญทองแดง แถมยังชนะใจชาวประชาจนคว้าพ่วงมาอีกหนึ่งรางวัล คือ People’s Vote Award บนเวทีประกวดที่เรียกว่า ‘AI Photo Contest’ อันหมายความว่าภาพถ่ายทุกรูปในการประกวดนี้จะต้องผ่านการ Generative ด้วย AI ทว่าสุดท้ายกรรมการตัดสิทธิ์ภาพนี้ออก หลังจากนายไมล์สเจ้าของภาพออกมาเฉลยว่าแท้จริงแล้วภาพนี้เขาถ่ายด้วยกล้อง Nikon D750 เลนส์ 50mm ƒ/1.8 และ Shutter Speed ที่ 1/1600 ที่ริมหาดอารูบา ในปี 2022 อันหมายความว่านี่คือภาพถ่ายของแทร่ที่มิได้ผ่านการเจนด้วย AI แต่อย่างใด ทำเอากรรมการหน้าหงายกลายเป็นข่าวแชร์ไปว่อนเนตอยู่ตอนนี้

“ผมชนะรางวัลรูปถ่ายจาก AI ด้วยภาพถ่ายจริงก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อเราไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีได้เร็วพอ ก็ถึงคราวแล้วที่ผมจะสร้างเซอร์ไพร์สให้ดู” -ไมลส์ แอสเทรย์

การประกวดภาพถ่ายนี้มีชื่อว่า 1839 Awards ซึ่งมิได้หมายความว่ามันเป็นเวทีประกวดอันเก่าแก่แต่อย่างใด อันที่จริงมันเพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมานี้เอง แต่การใช้ชื่อว่า 1839 ทางทีมงานอธิบายว่า “ปี 1839 เป็นปีที่สื่อด้านภาพถ่ายถูกเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก โดยทาง 1839 อะวอร์ด มีการแข่งขันหลากหลายรายการ อาทิ ภาพถ่ายนามธรรม, ภาพถ่ายธรรมชาติ, ภาพเปลือย, ภาพถ่ายทางอากาศ, ภาพถ่ายสถาปัตย์, ภาพบุคคล, ภาพถ่ายแนวคอนเซ็ปช่วล, ภาพข่าว, ภาพทางวัฒนธรรม, ภาพกีฬา, ภาพสัตว์, ภาพการท่องเที่ยว, แนวสตรีท, แฟชั่น ฯลฯ เพื่อเป็นเกียรติแด่ช่างภาพที่มีความโดดเด่นที่สุดในการใช้ภาพถ่ายเป็นงานศิลปะ เราเป็นแพลตฟอร์มการประกวดที่เน้นตัวศิลปินเป็นอันดับแรก เราพยายามรวมรวมผู้ชมทั่วโลกมาร่วมกันสำรวจภาพถ่ายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปินแต่ละคน”

โดยทางแพลตฟอร์มนี้ระบุด้วยว่าเป็นการดำเนินงานโดยกลุ่ม Creative Resource Collective (CRC) อันเพิ่งจะก่อตั้งในปี 2020 หรือเมื่อ 4 ปีที่่ผานมานี้เอง โดยอ้างว่าเป็นชุมชนช่างภาพที่มีประสบการณ์มาไม่น้อยกว่า 30 ปี

ผู้ชนะในสาขา AI (ซ้ายบน) เหรียญทอง, (ซ้ายล่าง) เหรียญเงิน (กลาง) เหรียญทองแดง (ขวาสุด) People’s Vote Award [เดิมทีตำแหน่งสองภาพสุดท้ายด้านขวา ทั้งสองรางวัลต้องเป็นภาพของ ไมลส์ แอสเทรย์]

แต่การประกวดนี้ไม่ใช่การประกวดฟรี ผู้เข้าร่วมต้องจ่ายเงินอย่างน้อย 28-50 ดอลลาร์ เพื่อเงินรางวัลสูงสุดคือ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างในเว็บไซต์ด้วยว่า ‘ผู้ชนะรางวัลของเราจะได้รับมากไปกว่าแค่เงินรางวัล’ อันตีความได้ว่าแม้ว่าเงินรางวัลของเราจะจิ๊บ ๆ แต่ผู้ชนะจะได้มากไปกว่านั้น แล้วลิสต์มาราว 8 หัวข้อ อันส่วนหนึ่งประกอบไปด้วยว่า คุณจะได้รับการสัมภาษณ์ และออกสื่อมากมาย โดยผู้ร่วมประกวดสามารถทราบได้เป็นนัยว่าสื่อเหล่านั้นเป็นใครบ้างจากโลโก้ที่ทางเว็บอ้างถึงคือ ไทมส์, ดิจิตอลโฟโตกราฟเฟอร์, เดอะการ์เดี้ยน, เดลิเมล์, อินไซเดอร์ ฯลฯ

การประกวดนี้มีมากถึง 24 หัวข้อ ทั้งในระดับมืออาชีพ และสมัครเล่น และรายชื่อกรรมการก็ไม่ใช่ขี้ ๆ นะเออ ประกอบไปด้วย บรรณาธิการอาวุโสจากสำนักพิมพ์สารานุกรมศิลปะชื่อดัง Phaidon, ผู้จัดการด้านภาพถ่ายนิตยสาร The New York Times, ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ Maddox แกลอรีดังในแอลเอ, ผู้จัดการฝ่ายขายปริ้นท์ภาพสต็อกจาก Getty Images, ที่ปรึกษาด้านภาพถ่ายจากเวทีประมูลผลงานศิลปินระดับโลก Christie’s, ภัณฑารักษ์จากแกลอรีด้านการศึกษาศิลปะระดับโลกในฝรั่งเศส Centre Pompidou และอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 10 ผู้ทรงคุณวุฒิ

ที่เราพยายามจะสาธยายมาทั้งหมดนี้เพื่อจะชี้ได้ว่าสุดท้ายแล้วการประกวดนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คือทั่วโลกได้รู้จักเวทีประกวดแห่งนี้ แต่ไม่ใช่จากภาพถ่ายของบรรดาศิลปินผู้ชนะรางวัล แต่กลายเป็นว่าผ่านผลงานเพียงภาพเดียวของผู้ถูกตัดสิทธิ์ออกจากการได้รับรางวัลนี้

เบื้องหลังภาพนี้และแฉเบื้องหลังการประกวด

“ธรรมชาติยังคงเหนือกว่าเครื่องจักร และคุณสามารถช่วยกันพิสูจน์ความจริงข้อนี้ได้” นี่คือจั่วหัวอันเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจและแสนท้าทายระบบ ในหน้าเว็บไซต์ของศิลปินผู้โด่งดังชั่วข้ามคืน จากผลงานที่ชนะรางวัลแล้วถูกถอดออก ไมลส์ แอสเทรย์

โดยไมลส์อธิบายต่อไปอย่างท้าทายอำนาจด้วยว่า “ภาพนี้คว้าสองรางวัลมาได้จากผู้ทรงคุณวุฒิ ในประเภทภาพถ่ายจาก AI แต่ภาพนี้ไม่ได้สร้างขึ้นจาก AI จริง ๆ หลังจากการเปิดเผยครั้งนี้ ผมพบว่าทีมผู้จัดงานมีปฏิกิริยาที่น่าประหลาดใจด้วยการตัดสิทธิ์รางวัลนี้ออก และนั่นก็โป๊ะเลย เพราะนั่นคือรีแอ็คที่ผมต้องการจากบรรดากูรูภาพถ่ายพวกนี้แหละ”

“ภาพนี้ถ่ายในอารูบา (หนึ่งในสี่ประเทศประกอบของเนเธอร์แลนด์ อันเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์นก) ผมเริ่มตื่นตอนตีห้า ไปยังชายหาดที่เต็มไปด้วยฝูงนกฟลามิงโกที่เดินเตร็ดเตร่อย่างเป็นอิสระ ผมอยากได้สักภาพที่จะไม่อาจมีใครมาทำลายได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ผมเพิ่งจะชนะรางวัลภาพเซลฟี่มนุษย์มาเมื่อไม่นานนี้ก็ตาม”

“ด้วยเนื้อหาที่สร้างโดย AI ซึ่งปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ดิจิทัลอย่างรวดเร็วในตอนนี้ ขณะเดียวกันมันก็จุดประกายให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของเนื้อหาที่มีต่ออนาคต ‘ระหว่างเนื้อหากับผู้สร้างผลงานที่อยู่เบื้องหลังภาพนั้น’ ตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ เช่น ศิลปิน นักข่าว หรือนักออกแบบกราฟิก [เช่น ในการปรับแต่งรีทัชภาพ-ผู้เขียน] ไปจนถึงพนักงานในอุตสาหกรรมทุกประเภท [เช่น การถูกอีดิต ตัดต่อ หรือคล็อปแก้ไขขนาดภาพ หรือตัดองค์ประกอบบางส่วนของภาพเดิมออกไป หรือเพิ่มเข้ามา-ผู้เขียน] ผมส่งภาพถ่ายจริงนี้เข้าสู่หมวดหมู่ AI ของรางวัล 1839 เพื่อพิสูจน์ว่าเนื้อหาที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ได้สูญเสียความเกี่ยวข้อง เมื่อมารดาแห่งธรรมชาติกับมนุษย์ผู้ตีความเธอ ธรรมชาตินั้นยังคงเอาชนะเครื่องจักรได้ และความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ของมนุษย์เป็นมากกว่าแค่การดิจิตฐานตัวเลขจำนวนหนึ่ง [ภาพดิจิตอลเกิดจากตัวเลขที่แปรค่าจากข้อมูลกลายมาเป็นภาพ-ผู้เขียน]”

ผลงานอื่นของ ไมลส์

“แน่นอนว่าผมมีความกังวลด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการทำให้คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลหลงทาง ซึ่งผมไม่ได้แคร์ แต่ผมหวังว่าผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล่านี้และผู้ชมจะพบว่าการกระทุ้งเขย่าวงการ AI ในคราวนี้ และผลกระทบทางจริยธรรมอันนั้นจะมีมากกว่าผลกระทบทางจริยธรรมของการที่ผมหลอกลวงผู้ชม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่น่าขันเพราะขณะเดียวกัน (การบิดเบือนหรือทำให้หลงทาง) ก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่ AI ทำกับมนุษย์เรา”

“หลังจากผมบอกข้อเท็จจริงกับผู้จัดงาน ผลงานของผมก็ถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลและถูกต้องตามที่ฉผมคาดไว้ และผมสนับสนุนการตัดสินใจนี้อย่างเต็มที่ สิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งหลังจากนั้นคือปฏิกิริยาของผู้จัดงาน ลิลลี ฟีเอร์แมน ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการของ 1839 Awards กล่าวในอีเมลของเธอถึงผมว่า ‘เธอชื่นชมเนื้อหาของภาพอันทรงพลังนี้ และเป็นเนื้อหาที่สำคัญและทันท่วงที’ โดยเธอกล่าวว่า “เราหวังว่าสิ่งนี้จะนำความตระหนักรู้ (และความหวัง) มาสู่ช่างภาพหลายคนที่กังวลเกี่ยวกับ AI” คำพูดและการดำเนินการของเธอทำให้วันของฉันมีค่ามากกว่าบทความข่าวใด ๆ ที่โหมกระแสตีพิมพ์นับตั้งแต่ข่าวนี้รั่วออกไป ผมตื่นเต้นมากที่ได้รู้ว่าเราอยู่ในความเท่าเทียมกันแล้ว เพราะคุณภาพของภาพนี้มีความโดดเด่นในทุกหมวดหมู่ ซึ่งสะท้อนสายตาอันเฉียบแหลมของคณะกรรมการด้วย ดังนั้นฉผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวดนี้ ขอบคุณทีมงาน 1839 Awards! ผมหวังว่าการชนะใจทั้งคณะกรรมการและสาธารณชนด้วยภาพนี้ ไม่ใช่แค่ชัยชนะสำหรับผม แต่สำหรับครีเอทีฟหลาย ๆ คนด้วย ผมจะไม่พูดไปไกลถึงขนาดบอกว่ามันเป็นชัยชนะสำหรับมารดาแห่งธรรมชาติเพราะผมคิดว่าเธอมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าในพาเล็ตสีใดใด ใครจะรู้ สักวัน บางที AI อาจจะช่วยเธอได้ ด้วยการคำนวณแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรืออะไรทำนองนั้นด้วยตัวเลขดิจิตอล 01010011 01000001 01010110 01000101 00100000 01000101 01000001 01010010 01010100 01001000 ก็เป็นได้นะ” ไมล์ทิ้งท้ายอย่างประชดประชัน

ไม่กี่วันต่อจากชัยชนะของไมลส์ เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้เห็นภาพเหล่านี้ตามฟีดที่ผู้คนแชร์กันมหาศาล หลายคนเชื่อว่าเป็นภาพถ่ายโลมาสีชมพูของจริง ซึ่งภาพแรกเป็นภาพที่มันกระโดดโลดแล่นบนผืนน้ำ ก่อนจะพบอีกภาพว่ามันถูกพบเกยตื้นตายอนาถ ซึ่งอันที่จริงทั้งสองภาพนี้ล้วนเป็นภาพที่ถูกเจนด้วย AI ส่วนภาพขวาสุดด้านบนนี้คือภาพโลมาสีชมพูของจริง ที่ออกจะมอมแมมหน่อย ไม่ชมพูวิ้งอย่างในภาพ AI

เมื่อแรก AI ป่วนวงการ

ภาพจาก AI เพิ่งจะเป็นที่แพร่หลายหลังจากปี 2020 เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่ก็นับว่าสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากแวดวงศิลปะแล้ว เทคโนโลยีการใช้ดีปเฟคตัดต่อใบหน้าหรือเรือนร่างผู้คน ก็สร้างปัญหาทั้งในทางออฟไลน์และออนไลน์ ตั้งแต่ภาพเปลือย ภาพหลุดคนดัง คนหน้าตาดี เฟคนิวส์ ไปจนถึงการใช้ในทางข่มขู่ บิดเบือน ซื้อขาย หรือนัดตามแอปหาคู่ที่ส่วนใหญ่จะพบกับความไม่ตรงปก จนบางทีกลายเป็นอาชกรรมใหญ่โต เช่น ผู้ถูกข่มขู่ฆ่าตัวตาย หรือในบ้านเราก็ถึงกับมีคู่นัดเดทที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกลงมือฆ่าอีกฝ่ายเมื่อพบว่าถูกเหยียดเรื่องความไม่ตรงปก

ส่วนในด้านกรณีแวดวงศิลปะเราคงต้องย้อนกลับไปในปี 2023 เมื่อภาพถ่ายที่ชื่อว่า Pseudomnesia: The Electrician ของศิลปินภาพถ่ายชาวเยอรมัน บอริส เอลดักเซน ชนะในประเภทโอเพ่น ของการประกวดภาพถ่ายที่จัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2007 อย่าง Sony World Photography Awards โดยท้ายที่สุดนายบอริสปฏิเสธที่จะรับรางวัลนี้

ด้วยคำแถลงของเขาบนเว็บไซต์ว่า “ผมยอมรับว่าทำตัวเหมือนลิงหน้าด้าน และขอบคุณบรรดากรรมการที่เลือกภาพของผม และทำให้ภาพนี้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์” พร้อมกับตั้งคำถามว่า “มีผู้ใดรู้หรือสังเกตเห็นหรือไม่ว่าภาพนี้ถูกสร้างขึ้นด้วย AI และภาพถ่ายเช่นนี้ไม่ควรจะถูกนำมาแข่งขันกับรางวัลแบบนี้ ภาพจาก AI ไม่ใช่การถ่ายภาพ ดังนั้นผมจะไม่รับรางวัลนี้”

บีบีซีเสริมว่า ‘การใช้ AI ในทุกแพลตฟอร์มตั้งแต่การเขียนเพลง เรียงความไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ หรือนักบำบัดทางแชทบ็อกซ์ และพัฒนาการด้านการแพทย์กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ถึงความเหมาะสมและผลประโยชน์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกรณีดีปเฟค’

โฆษกของ World Photography Organisation ซึ่งเป็นกลุ่มช่างภาพของบริษัทดัง Creo และเป็นผู้จัดการประกวดครั้งนั้นกล่าวว่า “ในระหว่างการหารือกับศิลปินก่อนที่จะให้เขาได้เป็นผู้ชนะ ตัวศิลปินได้ยืนยันว่าผลงานชิ้นนี้เป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกันกับภาพของเขาเองด้วยการใช้ AI ด้วยเหตุนี้สำหรับเราจึงรู้สึกว่าผลงานนี้ของเขาเป็นไปตามเกณฑ์ของภาพถ่ายในหมวดหมู่โอเพ่นนี้ และเราสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเขา แต่ในขณะที่บอริสตัดสินใจปฏิเสธรางวัลนี้ เราจึงระงับกิจกรรมนี้ระหว่างเรากับเขา เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของเขา เราจึงได้ลบเขาออกจากการแข่งขัน อย่างไรก็ตามเราตระหนักถึงความสำคัญของศาสตร์ AI และผลกระทบที่มีต่อการสร้างภาพในปัจจุบัน แต่เรายังคงยืนยันว่ารางวัลของเราดังกล่าว ยังคงเป็นเวทีเพื่อการสนับสนุนด้านความเป็นเลิศและทักษะของช่างภาพและศิลปินที่ทำงานในสื่อ”

ต่อมา เฟอรอซ ข่าน ช่างภาพ บล็อเกอร์ และนักเขียนประจำเว็บ เดอะโฟบลอกราฟฟี่ เขียนบทความต่อกรณีนี้ว่า…

“บอริส แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแม้แต่ช่างภาพผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านศิลปะก็ยังสามารถถูกหลอกด้วยภาพถ่าย AI ได้เลย”

ส่วนไมลส์ แอสเทรย์ ตัวต้นเรื่องของบทความนี้ทิ้งท้ายว่า “น่าตลกดีที่ช่างภาพหลายคนมีสไตล์เฉพาะตัวจนเป็นที่จดจำได้ แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นช่างภาพแบบนั้น จริง ๆ ผมว่าสิ่งที่เป็นตัวแทนของงานของผมก็คือมันตรงไปตรงมาและเป็นของแท้ ผมแค่เป็นคนช่างสังเกตมากกว่าคนอื่น ผมแค่ชอบถ่ายทอดธรรมชาติและโลกตามที่เป็นอยู่จริง ๆ สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือโลกใบนี้ ความทะเยอทะยานของผมไม่ใช่ใครอื่น นอกจากแค่จับภาพโลกใบนี้ให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้”