
หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านไป 10 ปี มีเหตุการณ์พลิกผันทางการเมืองหลายครั้ง เกิดการเลือกตั้ง 2 รอบ เปลี่ยนจากนายกฯ ทหารสู่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีนายกรัฐมนตรีหลายขั้วหลายพรรคพลิกสลับข้างกันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนักธุรกิจ ทหาร และนักการเมืองอาชีพ แต่ละรายล้วนแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และการถูกยึดทรัพย์สิน
เมื่อเทียบรายการบัญชีทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน น่าสนใจว่าผู้นำแต่ละยุคมีฐานะเป็นอย่างไร ใครร่ำรวยที่สุด
ทักษิณ ชินวัตร อันดับ 1 ตลอดกาล
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ถูกคำพิพากษาในปี 2553 สรุปว่ามีทรัพย์สินในนามของตัวเองและถือผ่านนอมินีรวมกันถึง 76,621 ล้านบาท แต่เนื่องจากทรัพย์สิน 46,373 ล้านบาทได้เพิ่มขึ้นในระหว่างที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2544-2549 ซึ่งเชื่อว่าได้มาจากการออกนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
สำหรับรายการทรัพย์สินของทักษิณ ชินวัตร ที่ตกเป็นของแผ่นดิน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 มีนาคม 2553 ส่วนใหญ่เป็นบัญชีเงินฝากและหน่วยลงทุนในธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง เป็นชื่อของคุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พินทองทา ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ รวม 36 บัญชี รวมเงินทั้งสิ้น 46,373 ล้านบาท
หลังจากทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดทรัพย์สิน ถูกรัฐประหารในปี 2549 จากนั้นในปี 2550 หลังพ้นจากตำแหน่ง 1 ปี เขาแจ้งบัญชีทรัพย์สินระบุว่ามีทรัพย์สินและเงินฝาก ที่ดิน บ้าน หุ้น ฯลฯ รวมกันทั้งสิ้น 614 ล้านบาท ส่วนของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลในขณะนั้น) คู่สมรส มีทรัพย์สินรวมกัน 8,484 ล้านบาท
หลังจากนั้น 1 ปี ในปี 2552 นายทักษิณ ชินวัตร บอกกับสื่อในอังกฤษว่า เขามีทรัพย์สินอยู่นอกประเทศไทยราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมถึงเงินที่นำไปลงทุนในเหมืองทอง เหมืองเพชร และการลงทุนอื่นๆ ในหลายประเทศ
ฐานะของทักษิณ ชินวัตร ในปี 2566 เขายังมีทรัพย์สินจากการรายงานของนิตยสารฟอบส์อยู่อันดับ 1,434 ของโลก มูลค่าทรัพย์สิน 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีรายการทรัพย์สินทักษิณในต่างประเทศที่ปรากฏในสื่อ เช่น บ้านในลอนดอน ประเทศอังกฤษ มูลค่า 264 ล้านบาท, วิลลาหรูหราในย่านเอมิเรตส์ฮิลส์ของนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), มีเครื่องบินส่วนตัว Bombardier Global Express XRS มูลค่า 45.5 ล้านเหรียญสหรัฐ, รถยนต์หรู 2 คัน ได้แก่ Lexus รุ่น LS 600h L และ Jaguar สีดำ รวมทั้งการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีสุขภาพของประเทศอังกฤษ 2 แห่ง คือ DNANudge และ Owlstone Medical

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แจ้งบัญชีทรัพย์สินกรณีรับตำแหน่งเมื่อ 5 กันยายน 2566 ว่า มีทรัพย์สินร่วมกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ภริยา รวม 1,020,468,727 บาท และมีหนี้สิน 10,182,549 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 1,010,286,148 บาท
นายเศรษฐาแจ้ง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ว่า มีทรัพย์สิน 659,391,610 บาท ประกอบด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 มีการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการยื่นครั้งแรก ขณะเป็น สส. บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 มีทรัพย์สิน 547 ล้านบาท
และการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครบ 1 ปี พบว่า มีทรัพย์สินทั้งหมด 579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 ล้านบาท
รายการทรัพย์สินของนางสาวยิ่งลักษณ์ประกอบด้วย บัญชีเงินฝากส่วนตัว 16 บัญชี มีเงิน 24 ล้านบาท ปัจจุบันถูกกรมบังคับคดีอายัดไว้ตามคำสั่งทางปกครอง เรียกค่าชดเชยค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว มีรายการเงินลงทุน ทั้งการถือหุ้น ซื้อกองทุนการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ 9 รายการ รวมมูลค่ากว่า 115 ล้านบาท ถือครองที่ดินรวม 14 แปลง ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ มูลค่ากว่า 117 ล้านบาท
มีรายการทรัพย์สินที่เป็นโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 36 รายการ มูลค่า 162 ล้านบาท ครอบครองรถยนต์ 9 คัน ทั้งยี่ห้อเบนซ์, BMW, แลนด์โรเวอร์, Porsche, โฟล์กสวาเกน มูลค่รวม 22 ล้านบาท และยังถือสิทธิและสัมปทานอีก 6 รายการมูลค่า 5.7 แสนบาท ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็เช่น อัญมณี เครื่องเพชร เครื่องประดับ 57 รายการ มูลค่ากว่า 41 ล้านบาท นาฬิกาข้อมือ 9 เรือน มูลค่า 1.8 ล้านบาท และกระเป๋าถือ 7 ใบ มูลค่า 2.1 ล้านบาท
รายได้หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวม 9.5 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลในบริษัทที่นางสาวยิ่งลักษณ์ถือหุ้นอยู่ เช่น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมกับกองทุนต่างๆ รวม 4 ล้านบาท เงินจากดอกเบี้ย 2.3 ล้านบาท เงินจากค่าเช่ากว่า 8 แสนบาท และจากแหล่งอื่นๆ โดยเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพในฐานะอดีต สส. 3 แสนกว่าบาท

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2 สมัย
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ ต่อเนื่อง 2 สมัย ด้วยการได้มาซึ่งอำนาจ 2 แบบ ทั้งรัฐประหารและการเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผ่านดำรงตำแหน่งผ่านรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ครั้งแรกรับตำแหน่ง 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และครั้งที่สอง 9 มิถุนายน 2562 รับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
ทรัพย์สิน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานะวันที่ 4 กันยายน 2557 มีรายละเอียดดังนี้
พล.อ. ประยุทธ์ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 128,664,535 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 654,745 บาท
เป็นทรัพย์สินของ พล.อ. ประยุทธ์ 102,317,152 บาท แบ่งเป็น เงินฝาก 6 บัญชี 58,967,022 บาท, เงินลงทุน 9 แห่ง 23,072,380 บาท, ที่ดิน 2 แปลง 2,284,750 บาท, โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 4 คัน 11.8 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่น 4 รายการ 4,193,000 บาท
ส่วนนางนราพร จันทร์โอชา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 26,347,382 บาท (เงินฝาก 6 บัญชี 7,977,382 บาท, ที่ดิน 3 แปลง (1 แปลงร่วมกรรมสิทธิ์กับผู้อื่น) 5,350,000 บาท, โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 1 คัน 3.5 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 1 รายการ 7,520,000 บาท)
พล.อ. ประยุทธ์ แจ้งต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (สมัยแรก 2557) ว่า พ.อ. ประพัฒน์ จันทร์โอชา (บิดา) อายุ 89 ปี มอบเงินจำนวน 540 ล้านบาทในการขายที่ดิน (จากยอดการขาย 600 ล้านบาท) ให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นบุตรชาย มีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการดูแลเงินจำนวนนี้ ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องของผู้รับ
โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้แบ่งเงินก้อนนี้ (600 ล้าน) ให้กับบุตรสาว 2 ราย และมอบให้ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงพี่น้องรายอื่นๆ คือ นายประคัลภ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ต. ประกายเพชร จันทร์โอชา
สำหรับบริษัทรับซื้อที่ดินของบิดา พล.อ. ประยุทธ์ วงเงิน 600 ล้านบาท คือบริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
หากรวมรายการทรัพย์สินของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่แจ้งไว้กับ ป.ป.ช. จำนวน 102.3 ล้านบาท เข้ากับรายการมรดก 600 ล้าน ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สมบัติมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท

อดีตนายกรัฐมนตรี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งวันที่ 17 ธันวาคม 2551 โดยนายอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภา วันที่ 10 พฤษภาคม 2554
บัญชีทรัพย์สินของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 แจ้งมีทรัพย์สิน 37 ล้านบาท ผศ. ดร.พิมพ์เพ็ญ ภริยา 15.3 ล้านบาท บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 469,582 บาท รวมมีทรัพย์สินร่วมกัน 52.8 ล้านบาท หนี้สินของนายอภิสิทธ์ 1,087,674 บาท
เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 10 สิงหาคม 2554 แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 37,068,145.40 บาท ประกอบด้วย
ในส่วนของ ผศ. ดร.พิมพ์เพ็ญ มีทรัพย์สิน 16,780,237.10 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 7,742,237.10 บาท เงินลงทุน พันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย 5,000,000 บาท ทรัพย์สินอื่น นาฬิกา เครื่องประดับ 25 รายการ 4,038,000 บาท ไม่มีหนี้สิน บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สิน เงินฝาก 507,503.04 บาท รวมมีทรัพย์สินร่วมกันทั้งสิ้น 54,355,885.54 บาท