ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางกว่า 2 ปีรัฐบาลประยุทธ์ “ใช้งบกลาง – จัดงบกลางปีเพิ่ม” รวมเกือบ 1.5 ล้านล้าน อัดเข้าระบบเศรษฐกิจ

กางกว่า 2 ปีรัฐบาลประยุทธ์ “ใช้งบกลาง – จัดงบกลางปีเพิ่ม” รวมเกือบ 1.5 ล้านล้าน อัดเข้าระบบเศรษฐกิจ

8 ธันวาคม 2016


นโยบายการคลัง คือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ การใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การรักษาเสถียรภาพและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

หากไปดูข้อมูลการจัดทำงบประมาณแผ่นดินย้อนหลังจะพบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดกรอบวงเงินการใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินนี้ ทุกรัฐบาลใช้วิธีกู้เงินมาชดเชยดุลงบประมาณเฉลี่ยปีละ 330,000 ล้านบาท

ถ้าดูโครงสร้างของงบประมาณไทยจะพบว่า รัฐบาลมีรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการข้าราชการ และงบชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยสูงถึง 80% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม เหลืองบลงทุนแค่ 20% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 4% ของจีดีพี ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจมีซบเซา บ่อยครั้งที่รัฐบาลต้องมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจากงบประมาณปกติที่ทำไว้แล้ว หรือที่เรียกว่า “งบกลางปี” ส่วนใหญ่จะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นมาตรการระยะสั้นในลักษณะประชานิยมหรือประชารัฐ

รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการรัฐประหาร แต่ก็บริหารจัดการประเทศไม่ต่างไปจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการจัดทำ“งบกลางปี 2560” วงเงิน 190,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอ โดยนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีนี้มีแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดทำงบกลางปีอยู่ 2 ส่วน คือ 1. กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าปีนี้จะเก็บภาษีและรายได้อื่นเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 27,078 ล้านบาท 2. ออกพันธบัตรเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมอีก 162,922 ล้านบาท การจัดทำงบกลางปี 2560 ครั้งนี้ สำนักงานดำเนินการภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 โดยเน้นในเรื่องวินัยการคลังเป็นสำคัญ ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ตามกฎหมายได้กำหนดเพดานในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไว้ที่ 611,549 ล้านบาท แต่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2560 กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 390,000 ล้านบาท เหลือวงเงินที่รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรมากู้เงินเพิ่มเติมได้อีก 221,549 ล้านบาท ดังนั้น ที่ประชุม ครม. จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการจัดการงบกลางปี 2560 ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอ

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการใช้จ่ายเงินจากงบกลางปี 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. จัดสรรวงเงินงบกลางปี 100,000 ล้านบาท ผ่านโครงการของกลุ่มจังหวัดตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ

2. จัดสรรวงเงินงบกลางปีกว่า 60,000 ล้านบาทให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาตินำไปจัดสรรต่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งละ 500,000 บาท

และ 3. ตั้งเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 27,078 ล้านบาท โดยการจัดทำงบฯ เพิ่มเติมในปีนี้จะทำให้รัฐบาลมีงบลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 548,391 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica- 20 ปีงบกลางปี

จากการสำรวจการจัดทำ “งบกลางปี” ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2540-2560) พบว่ารัฐบาลมีการจัดทำ “งบกลางปี” ทั้งหมด 6 ครั้ง คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 648,168 ล้านบาท โดยในสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ได้มีการจัดทำ “งบกลางปี” ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน เนื่องจากในปีงบประมาณ 2545-2546 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก ทำให้การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลน้อยกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ในช่วงนั้นคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2547 รัฐบาลน่าจะเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมาย 135,500 ล้านบาท รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นำรายได้ส่วนนี้มาจัดทำงบกลางปี 2547 เพิ่มเติม 135,500 ล้านบาท โดยนำงบฯ ส่วนที่เพิ่มไปใช้ในโครงการดังนี้

1. จ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 33,040 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายตามมาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 14,590 ล้านบาท

3. ค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ 16,570 ล้านบาท

4. ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ 59,000 ล้านบาท

5. เงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด 12,300 ล้านบาท

6. ตั้งเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง 39,000 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2548 รัฐบาลทักษิณจัดทำ “งบกลางปี 2548” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยนำไปใช้จ่ายในโครงการดังนี้

1. จัดสรรเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 17,000 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ 15,000 ล้านบาท

3. ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านหรือชุมชน (SML) 9,400 ล้านบาท

4. ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของประชาชน 4,000 ล้านบาท

5. เงินอุดหนุนให้ อปท. เพื่อดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 4,600 ล้านบาท

ปี 2552 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ จีดีพีหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงตัดสินใจเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2552 วงเงิน 116,700 ล้านบาท แหล่งเงินที่นำมาใช้สนับสนุนการจัดทำงบกลางปี 2552 มาจาก 2 แหล่ง คือ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 95,860.5 ล้านบาท และจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นเพิ่มจากประมาณการเดิม 19,139 ล้านบาท โดยงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำไปใช้จ่ายในโครงการดังนี้

1. โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ 18,970 ล้านบาท

2. โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร 2,000 ล้านบาท

3. โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม 500 ล้านบาท

4. โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี 19,001 ล้านบาท

5. เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น 4,090 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

งบกลางปี 60

ปี 2554 กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการ 120,000 ล้านบาท รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยงบประมาณที่เพิ่มส่วนใหญ่นำไปชดใช้เงินคงคลัง 84,143 ล้านบาท ตั้งเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ 9,900 ล้านบาท และจ่ายเงินอุดหนุน อปท. 5,957 ล้านบาท

ปี 2559 รัฐบาลมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์วงเงิน 56,290 ล้านบาท รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงนำรายได้ส่วนนี้มาจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 56,000 ล้านบาท โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นรัฐบาลนำไปใช้จ่ายในโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 15,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป 32,661 ล้านบาท และ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 8,339 ล้านบาท

ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งงบกลางปีวงเงิน 190,000 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รวม 2 ปี เป็นวงเงิน 246,000 ล้านบาท สำหรับการจัดทำงบกลางปีครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มีรายได้พิเศษจากการประมูลใบอนุญาต 3G เหมือนกับปีที่ผ่านมา ในปีนี้จึงต้องให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 160,000 ล้านบาท ขายให้กับประชาชน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าในปีนี้น่าจะเก็บภาษีสูงกว่าเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2560 ทั้งแจกเงินคนจน เพิ่มค่าลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว ช็อปช่วยชาติ รวมทั้งจัดงบกลางปีลงไปกระตุ้นการลงทุนในต่างจังหวัด จึงหวังว่าจะจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น หากแผนการจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รัฐบาลยังมีวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเหลืออีก 69,549 ล้านบาท ดังนั้นงบประมาณรายจ่ายปี 2560 ที่ตั้งไว้ 2.73 ล้านล้านบาท เป็น 2.92 ล้านล้านบาท

thaipublica-20 ปี งบกลาง

Thaipublica-ประเภทงบกลาง

อนึ่งก่อนหน้านี้ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวการใช้งบกลางของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าได้ตั้งวงเงินงบกลางในสัดส่วนที่สูง (เปรียบเทียบกับงบฯ รวม) เป็นอันดับที่ 6 โดยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 เป็นช่วงที่เกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2558 และการเบิกจ่ายเงินเกิดความล่าช้ากว่าปกติ ปีนี้จึงมีการตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3.65 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.525 ล้านล้านบาท พอถึงปีงบประมาณ 2559 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ตัดสินใจปรับเพิ่มวงเงินงบกลางขึ้นไปอีก 9 หมื่นบ้านบาท ทำให้งบกลางปีนี้มีวงเงิน 4.55 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของวงเงินงบประมาณ 2.78 ล้านล้านบาท ปีนี้ถือเป็นปีที่มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายโดยรวมและงบกลางมากที่สุดในประวัติการณ์ เนื่องจากปีนี้มีการเบ่งทั้งจีดีพีและประมาณการรายได้ขึ้นไปสูงกว่าปกติ เพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายให้ได้มากที่สุด ผลที่ตามมาคือปีนี้กระทรวงการคลังเก็บภาษีหลุดเป้า 1.25 แสนล้านบาท

รวมกว่า 2 ปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ (3 ปีงบประมาณ) อนุมัติวงเงินงบกลางไปทั้งสิ้น 1.22 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.1% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 8.1 ล้านล้านบาท มีการใช้จ่ายเงินจากงบกลางเฉลี่ยปีละ 4.07 แสนล้านบาท (อ่านข่าวที่นี่)

ดังนั้นถ้ารวมเม็ดเงินการจัดงบกลางปีเพิ่มด้วยแล้ว เป็น 1.466 ล้านบาท นี่คือการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา