ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯแจงตั้ง ‘วิษณุ’ กุนซือ กม.–ไม่กลัววางยา – มติ ครม.ให้ฟรีวีซ่า 93 ปท. ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 60 วัน

นายกฯแจงตั้ง ‘วิษณุ’ กุนซือ กม.–ไม่กลัววางยา – มติ ครม.ให้ฟรีวีซ่า 93 ปท. ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 60 วัน

28 พฤษภาคม 2024


เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯแจงตั้ง ‘วิษณุ’ กุนซือ กม. – ไม่กลัววางยา
  • ขออย่าโทษ ‘บิ๊กป้อม’ อยู่เบื้องหลัง 40 สว. – ไม่มีหลักฐาน
  • พอใจ ผู้ว่า ธปท.ให้คอมเมนต์ใน ครม.เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์
  • ยอมรับ ปชช.ยังไม่พอใจผลงานรัฐบาล
  • เร่งอัดฉีดงบฯค้างท่อ ดัน GDP ปี’67 โต 2.5%
  • มติ ครม.เพิ่มฟรีวีซ่า 93 ประเทศ ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 60 วัน เริ่ม มิ.ย.นี้
  • ปรับแผนการคลังหางบฯแจก ‘Digital Wallet’
  • จ่ายเงินประจำตำแหน่ง พ.ต.ท.ขึ้นไป
  • ไฟเขียว ‘Zero Dropout’ ปี’70 ดึงเด็กไทย 1 ล้านคน เข้าระบบการศึกษา
  • เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรม มอบหมายให้ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ไฟเขียวฟรีวีซ่าดึงต่างชาติเที่ยวไทย 60 วัน

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติเห็นชอบมาตรการ และแนวทางตรวจลงตรา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เช่น การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วัน , เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ (Desination Thailand Visa) , การปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังการศึกษา 1 ปี , การปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการตรวจลงตราประเภทอยู่ชั่วคราว พำนักระยะยาว หรือ long stay สำหรับกลุ่มผู้มีอายุมากที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’68 วงเงิน 3.75 ล้านล้าน

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท ตามที่สำนักงานงบประมาณเสนอ

    ส่ง ร่าง กม.จัดทำประชามติฯเข้าสภา

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามที่คณะกรรมการที่นายภูมิธรรมเสนอ และให้ส่งต่อคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

    เข็น ‘Zero Drop out’ แก้ปมเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Drop-out เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

    แจงตั้ง ‘วิษณุ’ กุนซือ กม. – ไม่กลัววางยา

    ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลการแต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “กำลังอยู่ในช่วงการร่างคำสั่ง ต้องดูเรื่องของความถูกต้องและเหมาะสม”

    ถามต่อว่า นายวิษณุก็พร้อมเข้ามาช่วยงานใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ใช่ครับ เรื่องนี้ผมได้ไปพูดคุยกับท่านมาแล้ว”

    ถามต่อว่า การแต่งตั้งนายวิษณุเป็นการสะท้อนว่ารัฐบาล หรือ พรรคเพื่อไทยขาดกุนซือมือกฎหมาย หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “จริงๆ แล้วการทำงานมีผู้ชำนาญงานแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย หรือ เศรษฐกิจ เราก็หาทางที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล เพื่อมาทำงานให้พี่น้องประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว”

    เมื่อถามว่า ใครแนะนำให้นายกฯ ไปพูดคุยกับนายวิษณุ นายเศรษฐา ไม่ตอบและบอกว่า “คำถามต่อไปครับ” จากนั้นพูดต่อว่า “รู้จักกันอยู่แล้วครับ รู้จักเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว”

    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวยังคงถามย้ำว่า ไม่มีใครแนะนำใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ครับ เราทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว ทีมผมที่ทำงานกันอยู่ในทำเนียบ ก็รู้จักอยู่แล้ว ท่านเลขาธิการนายกฯ (นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ก็รู้จักท่านวิษณุอยู่แล้ว”

    ถามต่อว่า บางฝ่ายกังวล เนื่องจากนายวิษณุเคยอยู่ในรัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ เกรงว่าจะมีการวางยา ทำให้ นายเศรษฐา ตอบว่า “ถ้ากลัวตรงนี้ ก็คงไม่ไปชวนท่านมาหรอกครับ”

    สุดท้าย เมื่อถามว่านายวิษณุพร้อมที่จะช่วยงานรัฐบาล ‘ทุกด้าน’ หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “อย่าใช้คำว่าทุกด้านดีกว่า แต่เป็นการช่วยงานตามที่ได้มีการพูดคุยกัน ตอนนี้ขอให้รอดูคำสั่งก่อน เพื่อความถูกต้อง”

    พอใจ ผู้ว่า ธปท.ให้คอมเมนต์ใน ครม.เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์

    นายเศรษฐา ตอบคำถามถึงการประชุม ครม. เศรษฐกิจที่ผ่านมา (27 พ.ค. 2567) โดยการประชุมดังกล่าวมีนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุมด้วย ว่า “ก็มีการพูดคุยกันในวงกว้าง ผู้ว่าการ ธปท. เอง ก็ตอบรับการถูกเชิญเข้ามาด้วยดี และมีการให้คอมเมนต์แบบสร้างสรรค์ตามที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และ รมช.คลัง ได้แถลงไปแล้ว”

    “ผมว่าทุกคนมีความหวังดีกับประเทศชาติ ส่วนวิธีการที่เราจะมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หรือ กอบกู้เศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาพูดคุยกัน” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามว่า หลังจากประชุม ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งมีการพูดคุยถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ว่า ธปท. มีปฏิกิริยาอ่อนลงหรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมว่าปฏิกิริยาว่าอ่อนหรือแข็ง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมว่าทุกท่านเองที่เข้าร่วมประชุมไม่ว่าจะเป็นผู้ว่า ธปท. สภาพัฒน์ หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้อง เรามาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน เราอยากทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้น”

    “เรื่องเงินดิจิทัลก็เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่มีการพูดคุยกัน ผมว่าทุกคนก็ตอบรับด้วยความมีเหตุมีผลซึ่งกันและกัน” นายเศรษฐา กล่าว

    ยอมรับ ปชช.ยังไม่พอใจผลงานรัฐบาล

    ผู้สื่อข่าวถามว่า จากผลโพลคะแนนนิยมทางการเมืองพบว่า พรรคก้าวไกลมีคะแนนนำ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมว่าผลงานอย่างเดียวที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าโพลออกมาอย่างไร แสดงว่าพี่น้องประชาชน ก็ยังไม่พอใจกับการทำงานของเรา เราก็ต้องทำงานกันต่อไป”

    ถามย้ำว่า ผ่านไป 10 เดือนแล้ว แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลไม่เพิ่มขึ้นเลย ทำให้ นายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องข้อคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเอามาคำนึง และประมวลว่าเรายังทำอะไรไม่ดีพอ ผมไม่อยากจะลงเชิงลึก เราเองก็มีโพลของเราเหมือนกัน บางเรื่องที่เรายังทำได้ไม่ดีพอ ที่เราเริ่มขบวนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พืชผลเกษตร ระบบสาธารณสุข ยาเสพติด เรื่องต่างๆ เราก็ทำงานกันอยู่ต่อเนื่อง”

    “แน่นอน ผลงานไม่เป็นที่พอใจ แต่ผมเชื่อว่า เรามีการทำงานอย่างมีความคืบหน้าที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้” นายเศรษฐา กล่าว

    เร่งอัดฉีดงบฯค้างท่อ ดัน GDP ปี’67 โต 2.5%

    เมื่อถามถึงเป้าหมายจีดีพีสิ้นปีนี้ จะต้องโตได้ 2.5% ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายเศรษฐา ตอบว่า “มีความเป็นไปได้ครับ”

    นายเศรษฐา ให้ความมั่นใจที่จีดีพีจะโต 2.5% ว่า “งบประมาณที่ยังไม่ได้ออก ก็เอาไปใช้เลย และตอนนี้จะมีการเร่งจ่าย โดยวาระแรกที่เรามีการพูดคุยกันใน ครม.เศรษฐกิจ เป็นเรื่องการเร่งจ่ายเงินงบประมาณปี 2567 ออกไป”

    ขออย่าโทษ ‘บิ๊กป้อม’ อยู่เบื้องหลัง 40 สว. – ไม่มีหลักฐาน

    ผู้สื่อข่าวถามว่า จากที่ สว. 40 คน เสนอชื่อถอดถอนนายกฯ และมีกระแสข่าวว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวดังกล่าว นายกฯ ได้ทราบข่าว ตรวจสอบ หรือ พูดคุยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.สิ่งแวดล้อม หรือยัง

    นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมก็ได้อ่านข่าวมาว่ามีการพาดพิง แต่ผมว่าเรื่องนี้อย่าไปพาดพิงถึงท่านดีกว่า พรรคพลังประชารัฐเองก็ร่วมกับรัฐบาลเราอยู่แล้ว ผมเองก็ทำงานร่วมกับท่านพัชรวาทได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ผมว่าอย่าไปกล่าวโทษท่านโดยไม่มีหลักฐานดีกว่า”

    “เพราะตอนนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว เรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ผมก็มีหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมข้อมูลและชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ตรงนี้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมดีกว่า ไม่อยากจะไปกระทบกระทั่งอะไร เรื่องเข้าสู่กระบวนการแล้ว ต่างคนก็มีหน้าที่ทำงานกันไป” นายเศรษฐา กล่าว

    บูรณาการทุกหน่วยกวาดล้าง ‘พนันออนไลน์’

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามการพนันออนไลน์ที่ยังพบผ่าน social platform ต่างๆ เพื่อให้การปราบปราบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

      1. ให้รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งกำหนดแนวทางและมอบอำนาจในการจับกุม ดำเนินคดีเกี่ยวกับพนันออนไลน์ เพื่อให้ทุกกองบัญชาการช่วยกันกวาดล้างเว็บพนันออนไลน์ ไม่ใช่เฉพาะกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพียงหน่วยเดียว

      2. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม กำหนดกลไกการประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบและสามารถดำเนินการปิดเว็บบนสื่อโซเชียลต่างๆ ทุกรูปแบบได้ทันทีที่ได้รับแจ้ง

      3. ให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กำหนดมาตรการในการตรวจสอบการเปิดบัญชีของคนต่างด้าวที่รัดกุม รวมทั้งสามารถดำเนินการอายัดบัญชีธนาคารสื่อโซเชียลที่กระทำผิดได้อย่างทันท่วงที

    “จากนี้ไปเราจะเห็นการทำงานที่เป็นเชิงรุกมากขึ้นมีการบูรณาการกันมากขึ้น และทันท่วงทีมากขึ้น” นางรัดเกล้า กล่าว

    มอบ สสปน.ดันไทยเป็นเจ้าภาพจัด ‘Formula E’

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า จากที่นายกฯ ได้เคยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และการกีฬาแห่งประเทศไทยไปศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขันรถ Formula One โดยวันนี้ นายกฯ ได้ขอให้ สสปน.ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขันรถ Formula E เพิ่มเติมด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกมากขึ้น โดยรองโฆษกฯ รัดเกล้าเสริมว่า Formula E คือการแข่งขันรถล้อเปิด ที่นั่งเดี่ยว ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ฉะนั้น การส่งเสริมจัดการแข่งขันรถ Formula E ยังสอดคล้องและส่งเสริมนโยบายผลักดันรถ EV ของรัฐบาลอีกด้วย

    ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 10 โครงการ

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการหลักและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จำนวน 10 โครงการ ประชาสัมพันธ์ถึงที่มา รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อประชาชน โดยเน้นย้ำว่า โครงการหลัก และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จำนวน 10 โครงการนั้นเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก ทุกหน่วยงานต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด และจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากที่สุด

    นอกจากนี้ นายกฯ ได้กล่าวเชิญคณะรัฐมนตรีร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ณ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บนพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 (แนวขนานคลองเปรมประชากร) อย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 10.00 น.

    เผยภารกิจ ครม.ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินี

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า ในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2567 จะมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี โดย ครม.จะมีภารกิจ ดังนี้

    • 07.30 น. นายกฯ และภรรยาเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตร ณ ท้องสนามหลวง
    • 08.00 น. ครม.ร่วมลงนามถวายพระพร เนื่องในพระราชพิธิเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ณ ห้องแดง หน่วยงานราชการในพระองค์ 904 ในพระบรมมหาราชวัง
    • 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี สวดนพเคราะห์เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ณ พระอุโบสถ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    • หลังจาก 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เจริญพระพุทธมนต์เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ณ ที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
    • 19.19 น. นายกฯ และภรรยา เป็นประธานในพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องสนามหลวง

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เพิ่มฟรีวีซ่าเป็น 93 ประเทศ ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 60 วัน เริ่ม มิ.ย.นี้

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการในการดำเนินมาตรการและแนวทางการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตรา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้ง 3 ระยะ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมิได้มีการปรับปรุงมาตรการและแนวทางการตรวจลงตรามาเป็นระยะเวลา 22 ปีแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์โลกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวนมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบและการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ส่วนมากได้เริ่มดำเนินการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราที่ กต. เสนอทั้งหมด 3 ระยะ สรุปได้ดังนี้

    1.) มาตรการระยะสั้น (ประกอบด้วย 5 มาตรการ เริ่มใช้เดือนมิถุนายน 2567) ได้แก่

      1.1 การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน (ผ.60) เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย และหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิ ผ.60 จะคำนึงถึงหลักปฎิบัติต่างตอบแทน มิติด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านการท่องเที่ยว มิติด้านเศรษฐกิจ และพันธกรณีที่ไทยได้ทำความตกลงทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี จำนวน 93 ประเทศ/ดินแดน ประกอบด้วย (1) ประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 เดิม 57 ประเทศ/ดินแดน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และ (2) เพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 ใหม่ 36 ประเทศ/ดินแดน

      1.2 การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย และหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิ VOA จะคำนึงถึงหลักประติบัติต่างตอบแทนมิติการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านการท่องเที่ยว มิติด้านเศรษฐกิจ และการไม่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น

      1.3 เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับคนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (remote worker หรือ digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยมีนายจ้างและลูกค้าอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนต่างด้าวที่ต้องการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและใช้บริการทางการแพทย์ แต่โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการตรวจลงตราที่รองรับคนต่างด้าวกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

      1.4 การปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพและทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ

      1.5 ควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตรา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย

    2.) มาตรการระยะกลาง (ประกอบด้วย 3 มาตรการ เริ่มใช้เดือนกันยายน – เดือนธันวาคม 2567) ได้แก่

      1. จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567

      2. ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567

      3. ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ปัจจุบัน กต. ให้บริการระบบ e-Visa ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ 47 แห่ง จากทั้งหมด 94 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยจะขยายระบบ e-Visa ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม ปี 2567

    3.) มาตรการระยะยาว (เริ่มใช้เต็มรูปแบบเดือนมิถุนายน 2568) เป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการและแนวทางที่เสนอในครั้งนี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศที่นำรูปแบบการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรามาเป็นมาตรการในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนี้

    1. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา การตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองการตรวจลงตราประเภทใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอ่าวไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวของรัฐบาล

    2. กลุ่มต่างชาติที่มีศักยภาพ อาทิ digital nomad และกลุ่มอื่น ๆ สนใจเข้ามาพำนักในประเทศไทยทั้งเพื่อท่องเที่ยว และใช้เป็นสถานที่ทำงานทางไกล ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กลุ่มที่มีศักยภาพเหล่านี้อาจพิจารณาประกอบธุรกิจในไทยในระยะยาว ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์รวมกลุ่มคนที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ มาใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจในไทย ช่วยสร้างและกระจายรายได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น

    3. สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ โดยสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน จึงส่งผลให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติมีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ในช่วงก่อนเริ่มปีการศึกษา 2567 โดย กต. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และ 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สรุปได้ดังนี้

    • การกำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวทำงานหรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 60 วันเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 93 สัญชาติ จะสูญเสียรายได้เเผ่นดินประมาณ 12,300 ล้านบาทต่อปี (เทียบเคียงจากจำนวนนักท่องเที่ยว 93 สัญชาติ ปี 2566) แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราแบบ Visa on Arrival (VOA) จำนวน 4.5 ล้านคน (4,000 ล้านบาท) ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (TR) จำนวน 3,300 ล้านบาท
    • ในกรณีของการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษา หรือ กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ด้วยการยกเลิกการขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit) ที่นักศึกษาต้องไปยื่นเรื่องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกครั้ง ก่อนเดินทางออกนอกประเทศไทย คาดการณ์ว่ารัฐจะสูญเสียรายได้แผ่นดินประมาณ 152 ล้านบาท จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยในปี 2566 ประมาณ 40,000 คน

    ปรับแผนการคลังหางบฯแจก ‘Digital Wallet’

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2531) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 0.8 สำหรับในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.2 สำหรับในปี 2569 และ 2570 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) และในปี 2571 และ 2572 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 และ 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 -1.9 และช่วงร้อยละ 1.1 – 2.1 ตามลำดับ ส่วนในปี 2571 – 2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 – 2.3

    2. สถานะและประมาณการการคลัง

      2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 เท่ากับ 2,797,000 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ

      2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 เท่ากับ 3,602,000 3,752,700 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ

      2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 805,000 865,700 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 4.5 3.5 3.3 และ 3.1 ต่อ GDP ตามลำดับ

      2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.4 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 เท่ากับร้อยละ 65.7 67.9 68.8 68.9 และ 68.6 ตามลำดับ

    3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง (Fiscal Discipline) อย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลด และยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น (Policy Space) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

    สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ ยังคงยึดเป้าหมายตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน กล่าวคือ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

    การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางฯ จะเป็นแผนแม่บทหลักให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการคลังของประเทศในด้านต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

  • ‘Digital Wallet’ ยังไม่จบ “รัฐบาลเศรษฐา” ปรับแผนการคลังหลายตลบ
  • เห็นชอบไทยเป็นสมาชิก ‘BRICS’

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

    โดยในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเอกสารการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS หลักการชี้แนะ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และกระบวนการขยายสมาชิก ซึ่งกำหนดกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จำนวน 6 ขั้นตอน และมีหลักการแนวทางสำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS ในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ 3 เสา (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจและการเงิน (3) ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนเพิ่มขึ้นในคณะมนตรีฯ

    มาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐสมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้งหมด ยอมรับถ้อยแถลงและปฏิญญาต่างๆ ของกลุ่ม BRICS เป็นต้น

    โดย กต. ได้ดำเนินการยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ฯ โดยระบุวิสัยทัศน์ของไทยที่ให้ความสำคัญต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกลุ่ม BRICS

    การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

    จ่ายเงินประจำตำแหน่ง พ.ต.ท.ขึ้นไป

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอและให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ยกเลิก พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจใหม่ เพื่อทดแทนพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจจะได้รับเงินประจำตำแหน่งท้าย พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในอัตราใดให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนด รวมทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหาร และสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    ร่างพระราชกฤษฎีกาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เป็นการกำหนดประเภทตำแหน่งและการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ เพิ่มเติมจากพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2558 ที่จะถูกยกเลิก เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และกำหนดสิทธิและหลักเกณฑ์ของข้าราชการตำรวจให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตำรวจท้าย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 สรุปดังนี้

      1. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและได้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการอีกประเภทหนึ่งอยู่ด้วยแล้ว นั้น ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร โดยไม่ตัดสิทธิการได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการที่ตนครองอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับการได้รับเงินประจำตำแหน่งของผู้บริหารที่ครองตำแหน่งประเภทวิชาการด้วยของข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหารตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2539 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการทหาร พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

      2. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจ ซึ่งมียศตั้งแต่ พ.ต.ท. ขึ้นไป และดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ (วช.) โดยเพิ่มสายงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะที่ไม่อาจมอบหมายให้ผู้มีคุณวุฒิอย่างอื่นปฏิบัติงานแทนได้ และเป็นงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ จำนวน 5 สายงาน (ได้แก่ วิชาชีพเฉพาะกายอุปกรณ์ วิชาชีพเฉพาะกิจกรรมบำบัด วิชาชีพเฉพาะเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก วิชาชีพเฉพาะแพทย์แผนไทย และวิชาชีพเฉพาะเวชศาสตร์การสื่อความหมาย) จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 28 สายงาน เพื่อเป็นการรองรับการปรับปรุงภารกิจที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเฉพาะดังกล่าวในอนาคต

      3. กำหนดให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่ต้องปฏิบัติงานที่เป็นงานหลักของหน่วยงาน และต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ (ชช.) โดยเพิ่มลักษณะงานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 2 ด้าน ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ จากเดิมที่เคยมีอยู่ 46 ด้าน ได้แก่ ด้านการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้สอดคล้องกับสายงานสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่าการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของระบบค่าตอบแทนการปฏิบัติงานระหว่างข้าราชการตำรวจกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร รวมทั้งเป็นการจัดทำระบบค่าตอบแทนของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเหมาะสมสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ โดยสำนักงาน ก.พ. เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางแผนบริหารจัดการและกำหนดกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสมกับความจำเป็นตามภารกิจ รวมทั้งกำหนดลักษณะงาน และคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งที่จะมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ให้สอดคล้องกับตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งอยู่เดิม และเป็นมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการประเภทอื่นด้วย และ สำนักงบประมาณเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรใช้จ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน หรือเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

    รับทราบแผนขับเคลื่อนโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พน. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ และสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

    ข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่

    สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง โดยได้มีแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตอบสนองด้านโหลด (Demaznd Response: DR) และระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) รวมทั้งจะมีการพิจารณานำระบบดิจิทัลมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบริหารจัดการในกิจการไฟฟ้า

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ขณะนี้อยู่ระหว่าง ดำเนินการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code TPA Code: TPA Code)

    การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เสร็จแล้ว และมีการพัฒนาระบบการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้มีแนวคิดที่จะขยายการดำเนินการพยากรณ์ไปยังกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (VSPP) ตั้งแต่ปี 2565

    การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาการเชื่อต่อข้อมูลจากโครงการ Smart Metro Grid กับ Application เพื่อใช้ในการบริการข้อมูลต่าง ๆ เช่น การให้บริการข้อมูลการใช้ไฟฟ้า 15 นาที ผ่าน Application Smart Life ทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้ลดลง แจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้องพร้อมระยะเวลาแก้ไขผ่าน Application Smart Life

    การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีมีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพลังงาน ในประเด็นของการนำข้อมูลสมาร์ทมิเตอร์มาใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า และเป็นทิศทางที่ กฟภ. อยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากการดำเนินการของ กฟภ. จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้ทั้งการลดการไฟฟ้าสูงสุดและลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

    นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่

      ด้านเศรษฐศาสตร์ การศึกษารูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด โดย สนพ. อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะได้มีการพิจารณารูปแบบของตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสมภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

      ด้านความมั่นคงของระบบ ควรมีการประกาศเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ กฟภ. สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ควรมีการศึกษาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม โดย สนพ. ได้พัฒนาสมาร์ทกริดภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลางโดยจะมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความชาญฉลาดและมีความยืดหยุ่นให้สามารถรองรับการเข้ามา ของพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ ต่าง ๆ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะได้เพิ่มมากขึ้น

      ด้านเทคโนโลยี ควรมีนโยบายดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ที่ปรึกษา ด้านสมาร์ทเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานสนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง กับสมาร์ทกริดในประเทศ โดย ดศ. ได้พัฒนาต่อยอดด้าน Big Data และ AI จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการพัฒนา Big Data และ AI โดย สวข. สามารถช่วยให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และการทำ Prototype เกี่ยวกับ Big Data และ AI ที่จะนำมาใช้ในระบบสมาร์ทกริดได้สำหรับในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์ม

      ด้านกฎหมาย กำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตต่าง ๆ ให้เกิดความรวดเร็วต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดย สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาในการจัดทำใบอนุญาต 1 ใบที่สามารถเปิดให้ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตดังกล่าวได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในเรื่องของใบอนุญาต สำหรับการดำเนินธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ในอนาคต

      ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลักดันโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เข้าไปใช้ในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคง โดย สนพ.จะมีการดำเนินการในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

    มอบ มท.สรุปปัญหาโรงงานผลิตพลุระเบิดใน 30 วัน

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบญัตติมาตรการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โรงงานผลิตพลุและดอกไม้เพลิงระเบิด

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฏร ได้พิจารณาญัตติเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน สร้างความปลอดภัย และแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากกรณีโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง และข้อเสนอแนะแนวทางป้องกัน กอบกู้ ฟื้นฟูเยียวยาอุบัติการณ์โรงงาน-โกดังเก็บพลุระเบิด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า กฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมยังไม่รัดกุมเพียงพอ ประกอบกับมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากลักลอบจำหน่ายดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

      1. การปรับปรุงกฎหมาย – ควรแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิง่เทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งนิยามให้สถานประกอบการหมายความร่วมถึง โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลมลพิษอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเข้มแข็งของหน่วยงานรัฐในการประเมินสถานการณ์ปัญหามลพิษได้

      2. บทบาทของกรมโรงงานอุตสาหกรรม – ควรเพิ่มบทบาทในการกำกับดูแลโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง เช่น ควบคุมการผลิตในปริมาณที่เหมาะสมตามมาตรฐานโรงงาน

      3. การเยียวยา – ดำเนินการเยียวยาและชดเชยความสูญเสียของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด

      4. มาตรการในการตรวจสอบ – กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการตรวจสอบสถานประกอบการภายหลังจากได้รับใบอนุญาตว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่จะดำเนินการ

    ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับญัตติ และข้อสังเกตพร้อมทั้งข้อเสนอแนะไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้ว ส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

    ไฟเขียว ‘Thailand Zero Dropout’ ปี’70 ดึงเด็ก 1 ล้านคน เข้าระบบการศึกษา

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็ก และเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้

    1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการ และเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดังนี้

      1) บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของเด็กและเยาวชนระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะข้อมูลของ ศธ. ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของ มท. รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานอื่น มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กต. พม. มท. ศธ. สธ. และ

      2) พัฒนาระบบสารสนเทศกลางในระยะยาวเพื่อรองรับการบูรณาการข้อมูลและการค้นหาให้มีประสิทธิภาพและแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติต่อไป โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ มอบหมายให้คณะกรรมการระดับชาติ

    2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม ดังนี้

      1) จัดการศึกษาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มอบหมายให้คณะกรรมการระดับจังหวัด และ

      2) ช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยระบบการช่วยเหลือและส่งต่อสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี และการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานระดับพื้นที่อาจจะดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการแบบเบ็ดเสร็จระดับตำบล “ศูนย์ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับตำบล” โดยให้อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลหรือเทศบาล มอบหมายให้ มท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. ศธ. สธ. และ กสศ.

    3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง ดังนี้

      1) จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยให้การรับรองคุณวุฒิหรือเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษา/ใบประกอบอาชีพหรือวิชาชีพระหว่างการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

      2) ยกระดับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรระดับพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน องค์กรทางศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพสังคม และ

      3) ส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ วิชาชีพของเด็กและเยาวชนในการทำงานจริงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาหรือเรียนรู้ในสังกัด ศธ. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ดศ. มท. รง. หน่วยจัดการเรียนรู้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรทางศาสนา หรือหน่วยงานอื่น ๆ

    4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15-18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา ดังนี้

      1) ส่งเสริมหรือจูงใจผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการศึกษา หรือ การเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษี มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการต่อไป และ

      2) สนับสนุนให้สถานประกอบการเข้าร่วมจัดการศึกษา หรือ การเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน มอบหมายให้ รง.พิจารณากำหนดกมาตรการที่เหมาะสม

    “ประโยชน์ที่จะได้รับจาการดำเนินมาตรการ เกิดพื้นที่จังหวัดขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout รวม 25 จังหวัด เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ จำนวน 20,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และจะคลอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นต้นไป สามารถดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ จำนวน 100,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 50,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และจำนวน 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2570 ซึ่งจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้” นายคารม กล่าว

    ตั้ง ‘ดนัย เรืองสอน’ คุมกรมท่าอากาศยาน

    นายคารม กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1.แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

      1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (13 กันยายน 2566) เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

      2. อนุมัติเป็นหลักการในการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง (นายพิชัย ชุณหวชิร) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก (นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      2. นายดนัย เรืองสอน วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านอำนวยความปลอดภัย) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี จำนวน 9 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ดังนี้

      1. นายเศกสันต์ คำตั๋น ด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ
      2. พลเรือเอก สุรีพงศ์ แก้วทับ ด้านการขนส่งทางน้ำ
      3. เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ ด้านกิจการท่าเรือ
      4. พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน ด้านกิจการการเดินเรือไทย
      5. พลเรือตรี สุบิน บรรยง ด้านกิจการอู่เรือ
      6. นายทรงศักดิ์ ผิวเกลี้ยง ด้านกฎหมายพาณิชยนาวี
      7. นางสาวจารุภา วัฒน์ประกายรัตน์ ด้านการประกันภัยทางทะเล
      8. นายณัฐพงษ์ รัตนสุวรรณทวี ด้านการค้าระหว่างประเทศ
      9. นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา ด้านสิ่งแวดล้อม

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในครั้งต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)

    4.เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย จำนวน 3 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์
      2. นายนพ ธรรมวานิช
      3. นางพรรณวิลาส แพพ่วง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

    5. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร และนายรัศม์ ชาลีจันทร์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว

    6.เรื่อง การแต่งตั้งประธานผู้แทนการค้าไทย

    คณะรัฐมนตรีรับทราบการแต่งตั้งให้หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย เป็นประธานผู้แทนการค้าไทย ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอ

    สาระสำคัญ

    สลน. รายงานว่า เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (12 ธันวาคม 2566) รับทราบการแต่งตั้งหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 358/2566 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ตามที่ สลน. เสนอ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 99/2567 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2567 (เรื่อง แต่งตั้งประธานผู้แทนการค้าไทย) แต่งตั้งหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นประธานผู้แทนการค้าไทย ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

    7. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้

      1.แต่งตั้ง นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามประกาศแต่งตั้ง

      2.แต่งตั้งนายสุรชาติ เทียนทอง ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์)

      3.แต่งตั้งนายธันว์ วุฒิธรรม ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์)

      4.แต่งตั้งนายณณัฎฐ์ หงษ์ชูเวช ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

      5.นายชวรัชต์ อุรัสยะนันทน์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจักรพงษ์ แสงมณี)

      6.นายพลนชชา จักรเพ็ชร ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร)

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เพิ่มเติม