1721955
ดูเหมือนตอนนี้ช่องดิสนีย์พลัสฮอตสตาร์จะพยายามสร้างความแตกต่างด้วยการมุ่งเน้นซีรีส์ไปในฌ็องไซ-ไฟ และหนึ่งในนั้นเป็นซีรีส์เกาหลีที่ได้รับคำชมไปเต็มๆ อยู่ตอนนี้คือ Blood Free (2024) ที่มีประเด็นว่าด้วยอำนาจของอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และอนาคตของโลก ไปจนถึงการเล่นประเด็นไปใหญ่โตเมื่อนวัตกรรมที่ถูกนำเสนอในซีรีส์นี้ไม่จบลงแค่อาหาร แต่ลามไปถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะมีชีวิตยืนยาวเหนือความป่วยไข้และความตาย
แม้ผู้กำกับ พัคชุลฮวาน จะประเดิมกำกับซีรีส์เรื่องนี้เป็นครั้งแรก แต่มือเขียนบทของเรื่องนี้คืออีซูฮยอน ที่เขียนเรื่องไหนเรื่องนั้นสุดระทึกซับซ้อนและมีประเด็นคำถามล้ำๆ ให้ขบคิดมากมาย นับตั้งแต่ซีรีส์แจ้งเกิดของเธอ Stranger ที่มีถึงสองซีซันในปี 2017 และ 2020 ต่อมาในเรื่อง Life (2018) ที่ห้ำหั่นกันในแวดวงการแพทย์ จนมาถึง Grid (2022) ที่เป็นซีรีส์ไซ-ไฟเต็มตัว จนมาถึงเรื่องนี้ Blood Free ซึ่งมีกลิ่นอายไซ-ไฟที่ไม่ได้หมายถึงโลกอนาคตอันไกลโพ้น แต่คือความเป็นไปได้ทางวิทยาการอันใกล้นี้
Blood Free เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ยุนจายู (แสดงโดย ฮันฮโยจู ผู้ถนัดบทแนวไซ-ไฟแฟนตาซีจากซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร Moving, ซีรีส์ซอมบี้ระบาด Happiness และซีรีส์ข้ามไปมาระหว่างโลกในเว็บตูนและชีวิตจริง W: Two Worlds Apart) ซีอีโอสาวไฟแรงผู้คิดค้นเทคโนโลยีเพาะเนื้อเทียมภายใต้แบรนด์ BF ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะเข้ามาทดแทนเนื้อแท้ๆ เพื่อให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องผลาญชีวิตสัตว์เป็นจำนวนมาก หรือเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอีกต่อไป แต่นวัตกรรมนี้ส่งผลกระทบมหาศาลต่อเกษตรกรรมรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้เธอถูกขู่ฆ่า เธอจึงต้องมีบอดี้การ์ดมาคอยดูแลข้างกายซึ่งหนึ่งในนั้นคืออูแชอุน (แสดงโดย จูจีฮุน พระเอกดังจากซีรีส์ซอมบี้วังหลวง Kingdom ที่ออกมาแล้ว 2 ซีซัน ในปี 2019 และ 2020 ตามด้วยซีรีส์เรตติงสูงอย่าง Hyena ในปี 2020 และ Jirisan ในปี 2021) แต่บอดี้การ์ดคนนี้มีภารกิจลับแอบแฝงพ่วงมาด้วย
แต่บทความนี้จะไม่เล่าประเด็นการเมืองอื่นๆ แต่มุ่งจะเจาะลึกถึงสิ่งที่ในซีรีส์นี้ใช้เป็นตัวตั้งต้น นั่นก็คือ เนื้อเทียม หรือ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultured meat) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อ cultivated meat อันหมายถึงเนื้อสัตว์ที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นมาด้วยการเพาะเซลล์ของสัตว์ภายในห้องทดลอง ด้วยการใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเนื้อเยื่อ ที่บุกเบิกจากเวชศาสตร์ฟื้นฟู อันเป็นไอเดียของ เจสัน มาเทนี ผู้ที่ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายและเป็นไปได้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ซึ่งต่อมา มาเทนีได้สร้างองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร New Harvest ขึ้นมาเป็นแห่งแรกของโลกเพื่ออุทิศให้กับการวิจัยเนื้อสัตว์ในห้องทดลองให้มีศักยภาพในการต่อสู้กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้ม สวัสดิภาพสัตว์ ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพอนามัยของมนุษย์
อดีต
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ คุณอาจจะแปลกใจถ้ารู้ว่าแหล่งข้อมูลแรกๆ ที่เสนอแนวคิดทำนองนี้มาจากรัฐบุรุษชาวอังกฤษผู้ได้ชื่อว่าหัวอนุรักษนิยมสุดๆ อย่างวินสตัน เชอร์ชิลล์ ในปี 1931 เขาได้เขียนบทความชื่อ Thoughts and Adventures ที่ในนั้นมีท่อนหนึ่งเขียนว่า “เราจะหลีกหนีความไร้สาระของการเลี้ยงไก่ทั้งตัวเพียงเพื่อกินอกหรือปีก ด้วยการปลูกส่วนต่างๆ เหล่านี้แยกจากกันภายใต้วิธีการที่เหมาะสม”
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1950 นักวิจัยชาวดัตช์ วิลเลม ฟาน อีเลน เกิดแนวคิดเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ ในฐานะเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำให้เขาเคยต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะอดอาหารเป็นเวลานานๆ เขาเลยลุ่มหลงต่อการผลิตอาหารและแสวงหาความมั่นคงทางอาหาร เขาเข้าร่วมการบรรยายของมหาวิทยาลับเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มของสัตว์แปรรูป การค้นหาเส้นเซลล์ (cell lines) อันเป็นพื้นฐานที่ต่อมานำไปสู่แนวคิดของเขาในการเพาะเลี้ยง “เส้นใยกล้ามเนื้อ (muscle fibers)” ในหลอดทดลองซึ่งประสบผลสำเร็จครั้งแรกในปี 1971 เมื่อนักพยาธิวิทยา รัสเซล รอส ทำการเพาะเลี้ยงเส้นเลือดใหญ่เอออร์ตา (เส้นเลือดหลักและใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย) ของหนูตะเภาได้สำเร็จ
ต่อมาในปี 1991 จอน เอฟ. วีน ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรหมายเลข US6835390 สำหรับการผลิตเนื้อสัตว์ที่ออกแบบด้วยเนื้อเยื่อเพื่อการบริโภคของมนุษย์ โดยที่กล้ามเนื้อและไขมันจะถูกปลูกแบบผสมผสานเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
ในปี 2001 นักวิจัยชาวดัตช์คนเดิมที่เราเอ่ยถึงไปก่อนหน้านี้ วิลเลม ฟาน อีเลน และเพื่อนแพทย์ผิวหนังกับนักธุรกิจอีกสองคน ได้ประกาศว่าพวกเขาได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรทั่วโลกเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง กระบวนการนี้ใช้เนื้อเยื่อของคอลลาเจนที่มีเซลล์กล้ามเนื้อ อาบในสารละลายที่มีคุณค่าทางโภชนาการและกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัว ในปีเดียวกันนั้นเอง NASA เริ่มดำเนินการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักบินอวกาศปลูกเนื้อสัตว์บนยานอวกาศ แทนการขนส่งจากโลกขึ้นไปบนยาน พวกเขาร่วมมือกับมอร์ริส เบนจามินสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเนื้อเยื่อ จนในที่สุดก็สามารถเพาะพันธุ์ปลาทองและไก่งวงได้สำเร็จในปี 2003
ต่อมาในปี 2003 โอรอน คัตส์ และไอโอนัท ซูร์ สองศิลปินและนักวิจัยชาวออสเตรเลียได้จัดแสดงผลงานชื่อ “สเต็ก” เป็นชิ้นเนื้อขนาดไม่กี่เซนติเมตรที่ปลูกจากสเต็มเซลล์ของกบ ซึ่งพวกเขานำมาปรุงและรับประทาน โดยมีเป้าหมายคือเพื่อเริ่มการถกเถียงเกี่ยวกับจริยธรรมของการเลี้ยงเนื้อสัตว์ เช่น “มันยังมีชีวิตอยู่หรือไม่” “การทำสิ่งนี้จัดว่าเป็นการฆ่าหรือไม่” ฯลฯ
จนกระทั่งในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เจสัน มาเทนี ที่เราเอ่ยชื่อเขาไปช่วงต้นบทความ ผู้กำลังศึกษาด้านสาธารณสุขชาวอเมริกัน ได้เดินทางไปอินเดียและเยี่ยมชมโรงงานฟาร์มไก่แห่งหนึ่ง เขาตกใจกับผลกระทบของระบบการเลี้ยงไก่นี้ ต่อมา มาเทนีได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์สามคนที่เกี่ยวข้องกับความพยายามของ NASA ที่ทำให้ต่อมาในปี 2004 มาเทนีได้ก่อตั้งองค์กรนิวฮาร์เวสต์ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโดยให้ทุนสนับสนุนการวิจัย กระทั่งในปี 2005 องค์กรนี้ได้ตีพิมพ์งานเขียนที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ (peer-reviewed literature) เกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นครั้งแรก ส่งผลให้มีนักวิจัยอีกมากหลายให้ความสนใจลงมาเล่นในตลาดใหม่นี้
ในปี 2008 องค์กรด้านสิทธิสัตว์ PETA (ประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม) ได้เสนอเงินรางวัลหนึ่งล้านดอลลาร์ให้กับบริษัทแรกที่นำเสนอเนื้อไก่เพาะเลี้ยงมาสู่การบริโภคได้ภายในปี 2012 โดยมีโจทย์ว่า 1. ต้องเป็นเนื้อไก่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองที่เหมือนเนื้อไก่จริงๆ จนแยกไม่ออก และ 2. ต้องผลิตได้ในปริมาณที่มากพอจะบริโภคได้อย่างน้อย 10 รัฐ ต่อมาการประกวดยืดเยื้อไปถึงปี 2014 แต่ในที่สุดก็ไม่มีผู้ชนะ
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ลงทุนจำนวน 4 ล้านเหรียญสหรัฐในการทดลองเกี่ยวกับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ภายใต้สมาคมเนื้องสัตว์ทดลองอันเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยนานาชาติ ได้จัดการประชุมเป็นครั้งแรกโดยสถาบันวิจัยอาหารนอร์เวย์ในเดือนเมษายน 2008 ทำให้ในปีถัดมา 2009 นิตยสารไทม์ได้ประกาศให้การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์เป็นหนึ่งใน 50 แนวคิดที่ก้าวหน้าแห่งปี ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2009 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์ประกาศว่าพวกเขาสามารถปลูกเนื้อสัตว์สำเร็จแล้วโดยใช้เซลล์จากหมูที่มีชีวิต
สิ่งที่เราพยายามจะบอกว่าแนวคิดเรื่องการปลูกเพาะเนื้อสัตว์ในห้องทดลองอย่างในซีรีส์ไม่ใช่เพิ่งจะมีกัน แต่มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็นับตั้งแต่ปี 1991 และมีกลุ่มคนมากหลายลงมาเล่นเกมแข่งขันนี้ แต่ทั้งหมดเป็นการลงทุนอันมหาศาลและอาจไม่คุ้มค่า หรือผลผลิตอาจยังไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูคนทั้งโลกได้ เรามาดูกันต่อว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
ปัจจุบัน
นับตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 2011-2017 มีการเปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัปด้านเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจำนวนมาก ต่อจากนี้เราจะมาแจกแจงบางรายที่ยังคงผลิตสินค้าสู่ตลาดมาจนปัจจุบันนี้ หนึ่งในนั้นคือ Memphis Meats ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Upside Foods อันเป็นบริษัทในแคลิฟอร์เนียที่เปิดตัวในปี 2015 ก่อนจะเริ่มจัดแถลงข่าวผลงานแรกอย่างเป็นทางการในปี 2016 เป็นลูกชิ้นเนื้อวัวที่เพาะเลี้ยงขึ้นมา ต่อมาในปี 2017 ก็เปิดตัวเนื้อไก่นุ่มและเป็ดตุ๋น
Meatable สตาร์ทอัปชาวดัตช์ รายงานเมื่อเดือนกันยายน 2018 ว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการปลูกเนื้อสัตว์โดยใช้สเต็มเซลล์ pluripotent จากสายสะดือของสัตว์แม้ว่าเซลล์ดังกล่าวจะใช้งานได้ยาก แต่ Meatable ก็อ้างว่าสามารถสั่งให้เซลล์พวกนี้ทำงานเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหรือไขมันได้ตามต้องการ ข้อได้เปรียบที่สำคัญคือเทคนิคนี้ยังได้สิ่งที่ใช้แทนเซรัมจากรกสัตว์ได้
ในเดือนสิงหาคม 2019 บริษัทสตาร์ทอัปในอเมริกา 5 แห่งได้ประกาศจัดตั้งพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และอาหารทะเล (AMPS Innovation) ซึ่งเป็นแนวร่วมที่ต้องการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลเพื่อสร้างเส้นทางสู่ตลาดสำหรับเนื้อสัตว์เลี้ยงและอาหารทะเล สมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ Eat Just, Memphis Meats, Finless Foods, BlueNalu และ Fork & Goode ในทำนองเดียวกัน ในเดือนธันวาคม 2021 กลุ่มบริษัทในยุโรปและอิสราเอล 13 แห่ง (Aleph Farms, Bluu Biosciences, Cubiq Foods, Future Meat, Gourmey, Higher Steaks, Ivy Farm, Meatable, Mirai Foods, Mosa Meat, Peace of Meat, SuperMeat และ Vital Meat) ได้ก่อตั้ง Cellular Agriculture Europe ซึ่งเป็นสมาคมที่มีฐานอยู่ในเบลเยียม พยายามค้นหาจุดยืนร่วมกันและพูดคุยด้วยเสียงร่วมกันเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม ผู้บริโภค และหน่วยงานกำกับดูแล
ในเดือนตุลาคม 2019 บริษัท Aleph Farms ร่วมมือกับ 3D Bioprinting Solutions เพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์บนสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งทำด้วยการอัดเซลล์เนื้อลงบนโครงแม่พิมพ์ 3 มิติ ในเดือนมกราคม 2020 มีการสำรวจพบว่าสตาร์ทอัปด้านนี้มีมากถึง 30 แห่ง ในบรรดานี้มีอยู่ 3 บริษัท ได้แก่ Memphis Meats, Just Inc. และ Future Meat Technologies มีความก้าวหน้ามากที่สุดเนื่องจากพวกเขากำลังสร้างโรงงานนำร่อง กระทั่งในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นพบว่ามีบริษัทใหม่ๆ โดดเข้ามาร่วมสตาร์ทอัปรวมแล้วไม่น้อยกว่า 60 แห่ง
ในเดือนธันวาคม 2019 โครงการ Foieture (เป็นคำผสมระหว่าง ฟัวกราส์+ฟิวเจอร์ = ฟัวกราส์แห่งอนาคต) เปิดตัวในประเทศเบลเยียม มีเป้าหมายในการพัฒนาฟัวกราส์เพาะเลี้ยงโดยกลุ่มบริษัท 3 แห่ง การวิจัยได้รับเงินสนับสนุนเกือบ 3.6 ล้านยูโรจากหน่วยงานนวัตกรรมและวิสาหกิจของรัฐบาลเฟลมิช ต่อมา Piece of Meat สร้างห้องปฏิบัติการสองแห่งในท่าเรือแอนต์เวิร์ปในช่วงปลายปี 2020 MeaTech เข้าซื้อกิจการ Peace of Meat ในราคา 15 ล้านยูโร และประกาศในเดือนพฤษภาคม 2021 ปีถัดจากนั้นว่าจะสร้างโรงงานนำร่องขนาดใหญ่แห่งใหม่ในเมืองแอนต์เวิร์ปภายในปี 2022
ในเดือนพฤศจิกายน 2020 Clear Meat สตาร์ทอัปชาวอินเดียอ้างว่าสามารถเพาะเลี้ยงไก่สับได้ในราคาเพียง 800–850 รูปีอินเดีย (ราว 352-375 บาท) ในขณะที่ไก่แปรรูปตามท้องตลาดเวลานั้นมีราคาประมาณ 1,000 รูปี (ราว 440 บาท) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2022 คณะกรรมาธิการยุโรปอนุมัติคำขอให้รวบรวมลายเซ็นสำหรับโครงการริเริ่มของพลเมืองยุโรป ยุติยุคแห่งการฆ่าสัตว์เพื่อเปลี่ยนเงินอุดหนุนจากการเลี้ยงสัตว์ไปเป็นการเกษตรแบบการเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องแล็บ
ตามรายงานเดือนพฤศจิกายน 2023 โดย Oghma Partners แหล่งทุนด้านกสิกรรมในอังกฤษ ระบุว่า 46.9% ของกองทุนทั้งหมด หรือมากกว่า 2.6 พันล้านปอนด์อังกฤษ เป็นการระดมทุนสำหรับสตาร์ทอัปด้านเนื้อสัตว์ที่เพาะปลูกระหว่างปี 2016 ถึง 2023 อยู่ในห้าอันดับแรก ซึ่งประกอบด้วย Upside Foods (21.5% เดิมคือ Memphis Meats), Believer Meats (เดิมชื่อ Future Meat Technologies), Wildtype, Aleph Farms และ Mosa Meat
นำเข้าสู่ตลาด
ในสหภาพยุโรป อาหารรูปแบบใหม่ๆ อย่างผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะต้องผ่านระยะเวลาการทดสอบประมาณ 18 เดือน หรือราวปีครึ่ง ในระหว่างนั้นบริษัทจะต้องได้รับการพิสูจน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานนความปลอดภับด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ในเดือนมีนาคม 2022 มีผู้ผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงหลายรายพยายามที่จะยื่นขออนุมัติเพื่อขอวางจำหน่ายสินค้าในยุโรป ทว่าจนถึงเดือนกุภมภาพันธ์ 2023 ก็ยังไม่มีใครส่งเอกสารเพื่อขออนุมัติเนื่องจากกระบวนการอันยาวนานและซับซ้อน อันแตกต่างจากระบบของสหรัฐ อังกฤษ สิงคโปร์ และอิสราเอล อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะข้อกังวลภายในยุโรปที่มีประสบการณ์ไม่ดีต่อโรคระบาดในอาหารอย่างเช่นโรคแอนแทรกซ์ไปจนถึงโรควัวบ้า
อย่างไรก็ตามในปีนี้ 2024 Meatable สตาร์ทอัปชาวดัตช์เป็นธุรกิจแรกในสหภาพยุโรปที่ได้รับการอนุมัติตามกฎระเบียบจาก EFSA ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกคือไส้กรอกเพาะเลี้ยง ท่ามกลางความสนใจของสื่อทั้งในและนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ดาน ลุยนิง CTO หรือผู้บริหารด้านเทคโนโลยีของ Meatable ได้ให้ข้อมูลว่า “ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะขยายการผลิตเพื่อรองรับซูเปอร์มาเกตทั้งหมดในสหภาพยุโรปได้ และเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงเหล่านี้เป็นเพียงทางเลือกใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภคที่จะค่อยๆ มีจำหน่ายในวงกว้างมากขึ้น แต่อุตสหกรรมเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมยังจะไม่ถูกแทนที่ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน”
ในอิสราเอลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 บริษัท SuperMeat ของอิสราเอลเองที่มีบริษัทแม่อยู่ในกรุงเทลอาวีฟ ได้เปิดร้านอาหารป๊อปอัพขึ้นเพื่อทดสอบในเมืองเนสส์ ซิโอนา เป็นร้านที่มีด้านหลังเป็นห้องแล็บนำร่องผลิตเนื้อเพาะเลี้ยง แต่ร้านอาหารนี้ไม่ได้เปิดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไป โดยผู้สนใจไม่ว่าใครก็ตามที่อยากลองชิมอาหารแนวใหม่ หรือนักข่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ และนักชิมสามารถติดต่อนัดหมายล่วงหน้าได้ โดยยังไม่สามารถเปิดให้บุคคลทั่วไปอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากต้องรอครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2021 ตามระเบียบการอนุมัติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาภายในประเทศอิสราเอล รวมไปถึงปัญหาแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนั้นด้วย แต่กลายเป็นว่าล่าสุดในปีนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2024 กระทรวงสาธารณสุขในอิสราเอลได้อนุมัติการวางจำหน่ายสเต็กเนื้อวัวเพาะเลี้ยงให้กับบริษัทแรกอย่างเป็นทางการคือ Aleph Farms ที่เข้ามาตัดหน้า SuperMeat ไปซะงั้น
ข้อมูลเพิ่มเติมคือ Aleph Farms เป็นหนึ่งในสองบริษัทที่ในเดือนกันยายน 2021 นักแสดงยอดฝีมือชื่อดัง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ ประกาศว่าเขาได้บริจาคเงินจำนวนมากที่ไม่อาจเปิดเผยจำนวนได้ แก่บริษัทสตาร์ทอัปด้านอาหารแนวใหม่สองบริษัท อีกหนึ่งบริษัทคือ Mosa Meat โดยดิแคพรีโอให้ข่าวว่า “วิธีหนึ่งที่มีผลกระทบมากที่สุดในการต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ คือการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของเรา Mosa Meat และ Aleph Farms นำเสนอวิธีการใหม่ๆ ในการตอบสนองความต้องการแก่ผู้รักเนื้อวัวทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนที่สุดของการผลิตเนื้อวัวทางอุตสาหกรรมในปัจจุบัน”
ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2020 สำนักงานอาหารของสิงคโปร์ (SFA) ได้อนุมัติ “chicken bites” ที่ผลิตโดย Eat Just (ค่ายอาหารในแคลิฟอร์เนีย) เพื่อขายเชิงพาณิชย์ และนับเป็นครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัย (ซึ่งใช้เวลา 2 ปี) ของหน่วยงานควบคุมอาหาร และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับอุตสาหกรรม โดยมีกำหนดเปิดตัวในร้านอาหารสิงคโปร์ชื่อว่า 1880 อันกลายเป็นร้านแรกที่ให้บริการเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงแก่ลูกค้าเริ่มต้นในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2020
อันที่จริงนับตั้งแต่ปี 2020 ค่าย Eat Just ได้สร้างเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพสำหรับโรงงานแห่งใหม่ในสิงคโปร์ อันเป็นก้าวสำคัญในการทำให้การผลิตเนื้อสัตว์ที่เพาะปลูกที่มีศักยภาพในการปรับขนาดและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2023 SFA ยังได้รับการอนุมัติตามกฎระเบียบสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์เลี้ยงด้วยอาหารปลอดเซรัมให้กับ GOOD Meat ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Eat Just ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ไก่สะอาดในร้านอาหารสิงคโปร์รวมถึงศูนย์อาหารและบริการจัดส่งอาหารหลายแห่ง ล่าสุดปีนี้เองในเดือนเมษายน 2024 Vow สตาร์ทอัปของออสเตรเลียได้รับการอนุมัติจากสิงคโปร์สำหรับผลิตภัณฑ์นกกระทาเพาะเลี้ยง ในขณะที่ Meatable ของดัตช์มีแผนจะเปิดตัวไส้กรอกหมูเพาะเลี้ยงในร้านอาหารหลายแห่งช่วงปลายปีนี้
ส่วนในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้เสร็จสิ้นการให้คำปรึกษาก่อนการวางตลาดของ Upside Foods (หรือเดิมชื่อ Memphis Meats) โดยสรุปว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับบริษัทเนื้อสัตว์ที่เพาะปลูกในสหรัฐอเมริกา ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐรวมไปถึงกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ในเวลาต่อมาอีกบริษัทที่ผ่านการทดสอบคือ Good Meat ที่สามารถวางจำหน่ายไก่เพาะเลี้ยงได้นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023
แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่อันที่จริง สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับการอนุมัติคือมีความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงเข้ากับกรณีวัคซีนในช่วงโควิด-19 ที่คนสหรัฐฯ แบ่งออกเป็นสองฟากคือยอมรับวัคซีนกับไม่ยอมรับวัคซีน ไม่นานหลังจากนั้นเช่นกัน เริ่มจากภายในแคลิฟอร์เนียที่มีฐานผลิตแล็บปลูกเนื้อเพาะของตัวเอง กลับเปิดประเด็นว่าต้องการแบนเนื้อเหล่านี้ โดยเฉพาะเนื้อแดงทั้งหลายด้วยข้อหาต่างๆ เช่น 1. ยังไม่ผ่านการทดสอบในระยะยาว 2. ให้ข้อมูลผิดๆ ว่าเนื้อเหล่านี้ผลิตจากแมลงหรือหนอน 3. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำลายระบบอุตสาหกรรมทั้งเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่มีมาอย่างยาวนาน
ขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนเนื้อสัตว์เพาะปลูกให้ข้อมูลโต้กลับว่า…
“นี่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญในอนาคต ในระยะยาว คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม อันช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ และสามารถผลิตเนื้อสัตว์ได้ใกล้กับพื้นที่ที่ผู้บริโภคอาศัยอยู่ ซึ่งช่วยลดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง และที่มันสามารถผลิตในชุมชนได้เพราะไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษจากโรงงานเนื่องจากเนื้อเหล่านี้ผลิตในห้องแล็บ”
นายพอล ชาปิโร ผู้บริหารของ Better Meat ในแคลิฟอร์เนียร่วมโต้ด้วยว่า “ขณะนี้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์หวาดกลัวนวัตกรรมใหม่ในการเพาะเนื้อสัตว์ พวกเขาพยายามล็อบบี้สมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อสั่งห้ามนวัตกรรมนี้ มันก็เหมือนกับตอนที่ผู้ร่างกฎหมายของบล็อกบัสเตอร์พยายามจะล็อบบี้เพื่อแบนการเกิดแพลตฟอร์มสตรีมมิงนั่นแหละ” อธิบายคือ ชาปิโรกำลังแย้งว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่ผู้คนต้องเข้าไปเช่าหนังตามร้านเช่าวิดีโอของบล็อกบัสเตอร์ จนวันที่บล็อกบัสเตอร์เสื่อมความนิยม ผู้คนเวลาต่อมาหันไปดูเนื้อหาจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจำพวกเน็ตฟลิกซ์หรือดิสนีย์พลัสแทน แต่กลายเป็นว่ากลุ่มผู้เสียผลประโยชน์พยายามจะยื้อการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการใช้เล่ห์กลทางกฎหมายเพื่อจะแบนเนื้อเพาะปลูกในแล็บทดลอง
ทำไมเกาหลีจึงนำเสนอเนื้อหานี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบข้อมูลจากในซีรีส์เกาหลี Blood Free กับความเป็นจริงจะพบว่านอกจากบริษัทในสหรัฐฯ อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม แคนนาดา สเปน ตุรกี สาธารณะรัฐเช็กแล้ว อันที่จริงในแถบภูมิภาคเอเชียมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่กำลังเข้าสู่สนามรบทางอุตสาหกรรมอาหารใหม่นี้ คือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ไม่มีเกาหลีใต้ในสนามรบนี้
คำถามคือ เราเข้าใจว่าประเด็นอาหารแหล่งใหม่มันล้ำ มันน่าสนใจมาก แต่ทำไมเกาหลีใต้เลือกจะนำเสนอสิ่งนี้ ทั้งที่ภายในประเทศตัวเองไม่เคยมี
ถ้าจะให้เราตอบแบบกำปั้นทุบดินคงบอกได้ว่า “ไม่รู้” แต่หากวิเคราะห์ดีๆ จะพบว่าในมุมหนึ่งเกาหลีเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่มาได้จากการสร้างภาพลักษณ์ อย่างเช่นความเชื่อเรื่องผู้ชายเกาหลีแสนดีที่พบเห็นได้ตามซีรีส์เกาหลีแสนอบอุ่นละมุนยังกับหลุดมาจากเตาไมโครเวฟนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนทั่วโลกได้รับสิ่งนี้มาจากซีรีส์เกาหลีจนเชื่อกันไปหมดว่าหนุ่มเกาทุกคนจะหล่อละมุนอบอุ่นใจดี หรือความน่าเชื่อถือด้านการแพทย์โดยเฉพาะในแวดวงศัลยกรรมพลาสติก จนคนไทยแห่ไปทำศัลยกรรมอย่างเป็นระบบที่เกาหลี
ขณะที่ในกรณีการทดลองระดับเซลล์อันเป็นหัวใจหลักของ Blood Free ถ้าย้อนไปในอดีตเกาหลีเคยมีปมฮือฮากลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่ววงการแพทย์จากข่าวดังในปี 2006 หลังจากบทความของนายฮวางวูซุก ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ในช่วงปี 2004 และ 2005 ที่เขาประกาศกร้าวว่าประสบความสำเร็จในการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ด้วยการโคลน แต่ไม่นานหลังจากการตีพิมพ์บทความฉบับแรก ก็เกิดข้อโต้แย้งในวารสาร Nature กล่าวหาว่าฮวางได้กระทำการอันละเมิดจริยธรรมโดยใช้ไข่จากนักศึกษาและจากตลาดมืด แม้ว่าเขาจะปฏิเสธในเบื้องต้น แต่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2005 เขายอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นจริง จนไม่นานต่อมาหลังจากนั้นก็มีการระบุว่าการโคลนนิงมนุษย์เป็นข้อมูลเท็จ
อันที่จริง ฮวางเป็นสัตวแพทย์และนักวิจัย เป็นศาสตราจารย์เฉพาะด้าน Theriogenology คือเกี่ยวพันธุ์กับการสืบพันธุ์ของสัตว์ รวมไปถึงด้านสรีรวิทยาและพยาธิวิทยาในสัตว์ จากกรณีอื้อฉาวดังกล่าวทำให้เขาผู้เคยได้รับสมญานามว่า “ความภาคภูมิใจแห่งชาติเกาหลี” ถูกไล่ออกจากตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโซลในเดือนมีนาคม 2006 ทำให้ต่อมาในอีกสองเดือน คือเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2006 นายฮวางถูกตั้งข้อหายักยอกทรัพย์ และละเมิดกฎหมายจริยธรรมทางชีวภาพ หลังจากพบว่างานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ของเขาส่วนใหญ่เป็นของปลอม กล่าวคือ เนื่องจากเขาต้องการระดมทุนเป็นจำนวนมหาศาล จะเนื่องด้วยเพื่อยักยอกนำไปใช้ส่วนตัวหรือเพื่องานวิจัยก็แล้วแต่ ทำให้เขาต้องกุเรื่องโกหกระดับโลกขึ้นมาเพื่อได้เงินสนับสนุนมาต่อยอด ในที่สุดรัฐบาลเกาหลีใต้จึงยกเลิกเงินสนับสนุนงานวิจัยของเขาทั้งหมดนั่นเอง
แต่หลังจากนั้นอีกหลายปี ฮวางก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะอยู่รอดในแวดวงการโคลนนิง ข่าวล่าสุดที่เราได้พบเร็วๆ นี้คือเมื่อเดือนกันยายน 2020 เขาทำงานให้กับ Sooam Bioengineering Research Institute ในเมืองยงอินจังหวัดคยองกี โดยเป็นผู้นำการวิจัยในการสร้างตัวอ่อนสุกรโคลนและสายพันธุ์เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน
เรายังพบด้วยอีกว่าก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2011 ฮวางไปเยือนลิเบีย (หลังจากรัฐบาลเกาหลีตัดขาดการสนับสนุนฮวางในทุกทาง) ฮวางได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวน 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างศูนย์วิจัยด้านสเต็มเซลล์และถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในแอฟริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากสงครามกลางเมืองในลิเบียปีเดียวกันนั้น กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2015 Boyalife Group บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของจีนประกาศว่าจะร่วมมือกับห้องทดลองของฮวาง ซึ่งก็คือ Sooam Biotech นี่เองเพื่อเปิดโรงงานโคนนิ่งสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกในเทียนจิน โดยโรงงานแห่งนี้ตั้งเป้าที่จะโคลนนิ่งตัวอ่อนของวัวให้ได้มากถึงหนึ่งล้านตัวต่อปี เพื่อป้อนตลาดที่มีความต้องการเนื้อคุณภาพสูงในจีน
ไม่แค่นั้น เรายังได้พบข้อมูลน่าสนใจว่าในปี 2012 ฮวางเคยร่วมงานกับนักวิจัยชาวรัสเซียจากมหาวิทยาลัยในเมืองยาคุตสค์เพื่อโคลนนิงแมมมอธ ด้วยการใช้ตัวอย่างเซลล์ที่ดึงมาจากซากแมมมอธที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ซึ่งขุดพบได้ในภูมิภาคไซบีเรียทางตะวันออกของรัสเซีย โดยมีเป้าหมายในการจำลองเซลล์แมมมอธในห้องแล็บ โดยนักวิจัยจะทำหน้าที่แยกนิวเคลียสที่มีข้อมูลทางพันธุกรรมของแมมมอธออกมา แล้วฝังนิวเคลียสนั้นในไข่ของช้างตัวเมีย โครงการนี้ได้รับความสนใจอย่างมากแต่ก็ยังคงประสบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งในปี 2015 ฮวางได้รับความช่วยเหลือจาก พัค เซพิล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเชจู ซึ่งอ้างว่าสามารถช่วยเหลือฮวางในการปลูกฝังเซลล์แมมมอธสำหรับการปลูกถ่ายนิวเคลียสได้สำเร็จ โดยอาศัยตัวอย่างที่ฮวางจัดเตรียมไว้ให้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาทั้งฮวางและพัคทะเลาะกันเรื่องกรรมสิทธิ์ในเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์ เมื่อฮวางแย้งว่าผลงานของพัคถือเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของฮวาง ด้วยเหตุนี้ฮวางจึงมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวต่องานวิจัยนี้ทั้งหมด ส่วนพัคแย้งว่าตั้งแต่เริ่มฮวางไม่ได้ระบุเงื่อนไขเอาไว้ล่วงหน้า และการวิจัยนี้เป็นผลงานร่วมกันเนื่องจากพัคมีบทบาทสำคัญในกระบวนการที่ฮวางเคยทำล้มเหลวมาก่อน
ในที่สุดพัคปฏิเสธที่จะส่งมอบงานให้กับฮวางโดยไม่ลงนาม แต่ระบุว่าพัคต้องการจะกำจัดเซลล์แมมมอธเหล่านั้นทิ้ง ทำให้ต่อมาฮวางฟ้องพัคในข้อหายักยอกเงินและพยายามจะแบล็กเมล อย่างไรก็ตาม อัยการตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินคดีนี้ เพราะการสอบสวนได้เกิดข้อกล่าวหาใหม่ว่าฮวางพยายามลักลอบนำเข้าตัวอย่างดีเอ็นเอของแมมมอธมายังเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 ฮวางกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งเมื่อชาวไต้หวันรายหนึ่งผู้สูญเสียสุนัขอันเป็นที่รักและระดมทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งการโคลนนิงสุนัขตัวโปรดนั้นกลับคืนมา และฮวางทำสำเร็จ อย่างไรก็ตามราคาของการทำโคลนต่อครั้งสูงถึงกว่าหนึ่งแสนดอลลาร์ หรือราว 3.6 ล้านบาท ซึ่งชาวไต้หวันผู้นี้ได้รับการลดหย่อนราคาลงครึ่งนึงเหลือราว 1.8 ล้านบาท
หันกลับมาเรื่องเนื้อเทียมอีกหน แหล่งข่าวเก่าที่สุดเราพบในหนังสือพิมม์ เดอะ โคเรีย อีโคโนมิค เดลี เมื่อปี 2022 มีเนื้อหาข่าวว่าด้วยสตาร์ทอัปในเกาหลีที่ระดมทุนได้มากกว่า 3.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 139 ล้านบาท) เพื่อผลิตสิ่งที่เรียกว่า เนื้อสะอาด โดยมี 3 บริษัทหลักๆ คือ DaNAgreen, Space F, Innohas และรายย่อยๆ อีกนิดหน่อย
บทความต่อไปมาจากเว็บ Green Queen เอ่ยถึงงานวิจัยของ APAC Society for Cellular Agriculture (APAC-SCA) เปิดเผยว่า ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เต็มใจที่จะลองชิมเนื้อสัตว์เพาะปลูกสักครั้ง แม้ว่าราคายังจะสูงอยู่และรสชาติยังไม่เหมือนเนื้อจริงก็ตาม โดยรายงานต่อว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมอาหาร 28 รายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงของประเทศในขณะที่อีกหนึ่งเดือนต่อมา จังหวัดคย็องซังเหนือได้เปิดศูนย์สนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรแบบเพาะเลี้ยงเซลล์ บนพื้นที่ขนาด 2,309 ตารางเมตร
มีบริษัทอีกอย่างน้อยเก้าแห่งทั้งในและนอกประเทศที่ทำงานกับเนื้อสัตว์เพาะปลูกในเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงบริษัทต่างๆ เช่น CellMEAT อันเป็นการสร้างต้นแบบของกุ้ง ดอกโดและคาเวียร์เพาะเลี้ยง, TissenBioFarm, Simple Planet, CellQua, Space F และ SeaWith ในขณะเดียวกัน บริษัทบะหมี่ยักษ์ใหญ่ของเกาหลี Nongshim ยังได้ลงทุน 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 271 ล้านบาท) ในกองทุนร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยีอาหาร โดยมุ่งเน้นไปที่เนื้อสัตว์เพาะปลูก และ CJ CheilJedang ได้ร่วมมือกับ KCell Biosciences เพื่อสร้างศูนย์เพาะเลี้ยงเซลล์ในเมืองปูซาน
ผลสำรวจของ APAC-SCA เปิดเผยว่า 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,110 รายกล่าวว่าพวกเขายินดีลองเนื้อสัตว์เพาะปลูกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (แม้ว่าจะมีเพียง 5% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาจะกินเป็นประจำแน่นอน) ยิ่งไปกว่านั้น ชาวเกาหลี 39% สนับสนุนให้มีการขายเนื้อสัตว์ที่ทำจากเซลล์ในซูเปอร์มาร์เกตและร้านอาหาร (โดยมีคนอายุ 14 ถึง 29 ปีเป็นผู้หลัก) โดยมีเพียง 10% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
ในขณะเดียวกัน 55% ของผู้บริโภคมองว่าเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงมีความคล้ายคลึงกับทางเลือกที่เน้นพืชเป็นหลักอย่างพวกอาหารแพลนต์เบสที่สร้างมาจากโปรตีนในพืช ในขณะที่ 19% ต้องการโปรตีนที่เพาะเลี้ยงมากกว่าเนื้อสัตว์วีแกนแบบพวกแพลนต์เบส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 20-29 ปี และเมื่อพูดถึงแรงจูงใจ ราคาจะอยู่ในอันดับต้นๆ โดยชาวเกาหลีใต้ 65% ระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ตามมาด้วยรสชาติและเนื้อสัมผัส (62%) เหตุผลด้านสุขภาพ/โภชนาการ (48%) และเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม (47%) ก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่สวัสดิภาพสัตว์เป็นปัจจัยเพียงหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถาม สิ่งที่น่าสนใจคือในขณะที่ผู้บริโภค 84% ชื่นชอบอาหารพวกแพลนต์เบสจากพืชมากกว่าเนื้อเพาะจากเซลล์
อนาคต?
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนวัตกรรมที่เกาหลีผลิตออกมาได้นั้นสร้างความฮือฮาเป็นอย่างยิ่ง เป็นข่าวดังไปทั่วโลกคือเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 ปีนี้ เกาหลีรายงานว่าสามารถเพาะ “ข้าวเนื้อ” ออกมาได้ มันคืออาหารเพาะปลูกที่แหวกแนวอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นข้าวที่เพาะมาจากเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันของวัว
ข้าวสีชมพูที่มีโปรตีนและไขมันมากกว่าข้าวทั่วๆ ไป มีการปล่อยกาซคาร์บอนต่ำมากอันทำให้มองว่านี่จะเป็นทางเลือกสำหรับเนื้อสัตว์ที่มีศักยภาพมากในอนาคต ไอเดียนี้มาจากการพบว่าข้าวมีรูพรุนและมีโครงสร้างภายในที่เหมาะสมในการเพาะเซลล์สัตว์ลงไป หลังจากเคลือบข้าวด้วยเจลาตินจากปลาเพื่อให้เซลล์ของเนื้อยึดติดกับเมล็ดข้าวได้มากขึ้น แม้ว่ามันฟังดูเหมือนการดัดแปลงทางพันธุกรรม แต่ผลิตภัณฑ์นี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง DNA ไม่ว่าจะของข้าวหรือของเนื้อ นักวิจัยจากมหาวิทยลัยยอนเซอธิบายว่า “ผลิตภัณฑ์นี้มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่วางขายในสิงคโปร์ คือเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่ปลูกในโปรตีนจากถั่วเหลือง แต่ถั่วมีสารก่อภูมิแพ้และไม่มีศักยภาพในการกักเซลล์สัตว์มากเท่ากับข้าว”
ข้าวลูกผสมประกอบด้วยโปรตีน 3,890 มิลลิกรัม และไขมัน 150 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม มีโปรตีนมากกว่าเพียง 310 มิลลิกรัม และไขมันมากกว่าข้าวมาตรฐาน 10 มิลลิกรัม คุณค่าทางโภชนาการของข้าวเนื้อยังมีอยู่เพียงเล็กน้อย แต่นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเคมีและชีวโมเลกุล มหาวิทยาลัยยอนเซ กล่าวว่า หากปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ เซลล์ก็จะเพิ่มมากขึ้น และด้วยเหตุนี้จึงสามารถบรรจุโปรตีนได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อด้วยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในราคาไม่แพง และใช้กรอบเวลาอันสั้นในการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการผ่านการเพาะเลี้ยง ในขณะที่การผลิตเนื้อวัวมักใช้เวลาหนึ่งถึงสามปีและข้าวใช้เวลา 95 ถึง 250 วัน พวกเขากล่าวว่ากระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ใช้เวลาน้อยกว่า 10 วันเท่านั้นเอง
นักวิจัยพัคโซฮยอนกล่าวว่า “ลองจินตนาการถึงการได้รับสารอาหารทั้งหมดที่เราต้องการจากการข้าวที่มีโปรตีนเพาะเลี้ยงเซลล์ดูสิ นี่คือโลกแห่งความเป็นไปได้สำหรับอาหารลูกผสม วันหนึ่งมันอาจเป็นทางรอดสำหรับบรรเทาความอดอยาก หรือแม้แต่อาหารสำหรับนักบินอวกาศก็เป็นได้”
แต่อุปสรรคสำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องรสชาติ กระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์จะเปลี่ยนเนื้อสัมผัสและกลิ่นของข้าวเล็กน้อย ทำให้ข้าวมีความแน่นและเปราะมากขึ้น ทำให้เกิดกลิ่นที่คล้ายกับเนื้อวัว หรืออัลมอนด์ ครีม เนย และน้ำมันมะพร้าว อย่างไรก็ตามหัวหน้านักวิจัย ฮงจินคีระบุกับสื่อว่า “รสชาติของมันน่ารับประทานและแปลกใหม่” ขณะที่มีรายงานด้วยว่าไอเดียลูกผสมนี้เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น พฤศจิกายน 2023 ในเนเธอร์แลนด์ หลี่ลี่หยู สตาร์ทอัปชาวเอเชียนในลอนดอนนำเสนอผลงานของเธอในงานดัตช์ดีไซน์วีก เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อผสมพืชสามอย่างคือ บล็อกโคพอร์ก เป็นบล็อกโคลีปลูกเซลล์เนื้อหมู, พีป เป็นถั่วลันเตาปลูกเซลล์เนื้อวัว และมัชชิกเกน เป็นเห็ดปลูกเซลล์ไก่ อันเป็นไอเดียตั้งต้นเท่านั้นยังไม่มีใครนำไปต่อยอด
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง แม้ว่าเนื้อเพาะปลูกเหล่านี้พยายามจะโปรโมตว่ามันช่วยลดละเลิกฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารก็จริง แต่สำหรับวีแกนเคร่งๆ ยังคงโต้แย้งว่า มันไม่ใช่ผลิตภัณ์ฑ์จากพืชที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบพิษภัยต่างๆ อันอาจมาจากเนื้อ นี่ยังไม่นับปัจจัยด้านศาสนาอื่นๆ ที่บางศาสนาไม่กินเนื้อหรือหมู