ThaiPublica > เกาะกระแส > สิ้นสุดยุคบูรณาการ ครั้งหนึ่ง “เสือไต้หวัน” เคยเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “มังกรจีน”

สิ้นสุดยุคบูรณาการ ครั้งหนึ่ง “เสือไต้หวัน” เคยเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “มังกรจีน”

24 พฤษภาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://taiwaninsight.org/2024/01/26/the-2024-taiwanese-general-elections-fierce-moderate-lai-prevails-while-fluid-kingmaker-ko-rises/

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ของไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) นับเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ในความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน ไล่ ชิงเต๋อ เรียกร้องให้จีนยอมรับการดำรงอยู่ของประชาธิปไตยไต้หวัน ส่วนจีนถือว่าเกาะไต้หวันเป็นจังหวัดหนึ่งของจีน การเป็นอิสระปกครองตัวเอง คือจังหวัดที่แยกตัวออกไป ที่ฝ่ายจีนถือว่าเป็นการก้าวข้าม “เส้นแดง” ที่จีนจะไม่มีประณีประนอมใดๆ

ที่ผ่านมา แม้ไต้หวันจะยังรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ และไม่กล่าวถึงการมีอธิปไตยของไต้หวัน แต่ความคลุมเครือในเรื่องนี้ ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างไต้หวันและจีน เมื่อไล่ ชิงเต๋อ ชนะการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2024 สื่อต่างๆรายงานว่า การลงคะแนนเลือกตั้งของคนไต้หวันในครั้งนี้ ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนตกต่ำลงไปอีก เพราะตำแหน่งประธานาธิบดียังคงเป็นของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party – DPP) ที่มีแนวคิดให้ไต้หวันปกครองตัวเอง

ที่มาภาพ : thediplomat.com

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจจีน

เว็บไซต์ asia.nikkei.com รายงานว่า ในปี 2023 การลงทุนต่างประเทศของไต้หวันในจีน ลดลงถึง 34% เหลือ 2.9 พันล้านดอลลาร์ หรือ 12% ของยอดการลงทุนต่างประเทศทั้งหมดของไต้หวัน ที่มีมูลค่า 25.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2010 สัดส่วนเคยสูงถึง 80% ของทั้งหมด สาเหตุเพราะพรรค DPP ใช้ท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน ความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างไต้หวันกับจีน และความขัดแย้งสหรัฐฯกับจีน ทำให้การทำธุรกิจของนักลงทุนไต้หวันในจีนยากลำบากมากขึ้น

หนังสือ The Tiger Leading the Dragon กล่าวถึงการสิ้นสุดของบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันกับจีนไว้ว่า ปี 1987 เป็นปีแรกในเวลาเกือบ 40 ปี ที่คนไต้หวันได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเยือนจีน ในเวลานั้น จีนเพิ่งเปิดประเทศ หลังจากปิดประเทศมาหลายสิบปี จีนมีสินค้าส่งออกไม่กี่อย่าง และตลาดในประเทศกำลังต้องการสินค้าผู้บริโภค

แต่คนไต้หวันมองเห็นศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจของจีน ภายในเวลา 5 ปี นักลงทุนไต้หวันเปลี่ยนพื้นที่ทางใต้และชายฝั่งทะเลของจีน ให้กลายเป็นโรงงานประกอบการผลิตสินค้า ที่ส่งออกไปตลาดโลก เช่น รองเท้า เสื้อผ้า และของเด็กเล่น ภายในเวลา 10 ปี นักลงทุนไต้หวันทำให้จีนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตของโลกด้าน IT และกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ

แต่ทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปแล้ว หลังจากเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของบริษัทไต้หวันไม่ได้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนอีกต่อไปเหมือนกับในอดีต

จุดสำคัญคือ การลงทุนจากไต้หวันไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจจีนอีกแล้ว นัยยะการลงทุนของไต้หวันที่เปลี่ยนไปนี้ มีความหมายต่อบริษัทไต้หวัน ต่อเศรษฐกิจจีน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน และต่อโลก

ที่มาภาพ : amazon.com

ไม่มีไต้หวัน จีนไม่พุ่งทะยานเร็วเท่านี้

The Tiger Leading the Dragon เปรียบเทียบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ พุ่งทะยานขึ้นเหมือนเครื่องบินจัมโบ้ 747 คือเคลื่อนตัวบนรันเวย์ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเร่งเครื่องเพื่อบินขึ้นสู่อากาศ แต่ช่วงระยะ “การบินพุ่งขึ้นสู่อากาศ” (take-off) ของเศรษฐกิจจีน เป็นแบบเครื่องบินรบ ที่บินขึ้นจากเครื่องบรรทุกเครื่องบิน เพราะเหตุนี้ ช่วงทะยานขึ้นที่รวดเร็ว จึงสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อเศรษฐกิจจีน เช่น ความไม่สมดุล เพราะให้ความสำคัญระหว่างการลงทุนมากกว่าการบริโภค การเน้นการผลิตเพื่อส่งออกยิ่งทำให้เกิดแรงกดดันมากขึ้นในช่วง “การพุ่งทะยานขึ้นด้วยความเร็วสูง”

เมื่อหลุดพ้นออกจากการปิดประเทศในสมัยเหมา เจ๋อตุง จีนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างมหาศาล การที่คนจีนมีความมานะพยายาม ทำงานหนัก และเป็นคนที่มุ่งความสำเร็จ คือคุณสมบัติที่ทำให้จีนสมควรได้รับความสำเร็จ รวมทั้งปัจจัยที่จีนมีผู้นำในรุ่นที่มีความคิดสร้างสรรค์ และหวังผลจากการลงมือปฏิบัติมากกว่าจากอุดมการณ์

แต่ในเวลานั้น อุตสาหกรรมที่ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการผลิตของโลก กลับไม่ใช่อุตสาหกรรม ที่ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอุ้มชู การส่งออกเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจจีน หากไม่มีการส่งออก เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนเอง จะไม่มีทางที่จะมีความเร็วพอ ที่จะทำให้เศรษฐกิจพุ่งทะยานขึ้นเหมือนเครื่องจัมโบ้ 747

สินค้าส่งออกสำคัญของจีน เช่น เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับไฮเทค สินค้าผู้บริโภคที่ใช้แรงงานเข้มข้น และแผงวงจรไฟฟ้า คืออุตสาหกรรมการผลิตที่นักลงทุนต่างประเทศมีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้จีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก ในบรรดานักลงทุนต่างประเทศดังกล่าว นักลงทุนไต้หวันมีบทบาทนำในเรื่องนี้

หากไม่มีนักลงทันไต้หวันที่นำเอาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อออกมาเข้ามายังจีน การพุ่งขึ้นมาทางเศรษฐกิจของจีนจะช้ากว่านี้มาก การส่งออกทำให้จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างเงินตราต่างประเทศแก่จีน ที่สามารถนำมาค้ำจุนเงินตราของจีน และการยกระดับพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น สร้างความมั่งคั่งแก่จีน เพิ่มศักยภาพทางทหาร ขยายความสัมพันธ์ทางการทูต และอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทำให้คนจีนหลายคนเป็นมหาเศรษฐี สร้างงานขึ้นมาหลายร้อยล้านงานแก่คนจีน และดึงคนจีนเหล่านี้ออกจากความยากจน

ระบบนิเวศเศรษฐกิจจีนเริ่มเปลี่ยน

The Tiger Leading the Dragon กล่าวว่า หนึ่งในจุดแข็ง “โมเดลการพัฒนา” ของจีนคือ การที่ผู้นำจีนตัดสินใจอนุญาตให้มีรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เติบโตเคียงข้างกับรูปแบบเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วของจีน หากเปรียบเศรษฐกิจจีนเป็นป่าไม้ ในทศวรรษ 1970 ป่าไม้เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ คือรัฐวิสาหกิจ ที่จำนวนมากใหญ่โตเกินไปและอ่อนแอ

เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นมามีอำนาจ ตัดสินใจที่จะไม่โค่นล้มต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ แต่ปลูกต้นไม้ใหม่ขึ้นมา ทำให้ป่าไม้จีนประกอบด้วยต้นไม้หลายอย่างเช่น วิสาหกิจเมืองและชนบท ธุรกิจเอกชน รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจต่างชาติ ทั้งหมดนี้กลายเป็น “ระบบนิเวศเศรษฐกิจจีน”

ในป่าไม้เศรษฐกิจของจีนดังกล่าว บริษัทที่ลงทุนโดยไต้หวันคือบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุด หลายบริษัทกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ เช่น Foxconn และบริษัทผลิตรองเท้า Feng Tay ที่ปัจจุบันมีโรงงานผลิตรองเท้ากีฬาในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย

ในปี 2008 ระบบนิเวศป่าเศรษฐกิจจีน เริ่มเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง บริษัทไต้หวันยังคงรุ่งเรืองในป่าเศรษฐกิจจีน แต่ไม่โดดเด่นเหมือนอดีต และมีความสำคัญน้อยลงต่อความสมบูรณ์ของป่าเศรษฐกิจจีนโดยรวม และเริ่มเกิดความไม่แน่นอนเรื่องการเป็น “โรงงานโลก” ของจีน

รัฐบาลจีนต้องการยกระดับเศรษฐกิจ ให้เป็นผู้นำเทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีและบริษัทของจีนเอง ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของจีนลดลง เดือนสิงหาคม 2020 Young Liu ประธาน Foxconn ประกาศว่า

“ช่วงเวลาของจีนที่เป็นโรงงานโลกได้ผ่านไปแล้ว”

การลงทุนในจีน เทียบการลงทุนต่างประเทศทั้งหมดของไต้หวัน ที่มาภาพ : asia.nikkei.com

นับจากปี 2001 บริษัทเอกชนของจีนและของรัฐบาล มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทของไต้หวันกลายเป็นต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ เพราะปลูกโดยอาศัยการนำต้นไม้มาจากไต้หวันเข้ามา ปี 2008 เป็นจุดหักเห วิกฤติเศรษฐกิจโลกกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งสินค้าผู้บริโภค และต่อบริษัทไต้หวันในจีน ความสำคัญของบริษัทไต้หวันต่อเศรษฐกิจจีนโดยลดลงอย่างมาก สาเหตุสำคัญเพราะช่วงปี 1987-2000 นักลงทุนไต้หวันได้เก็บเกี่ยวการลงทุนอุตสาหกรรมในจีน ที่เรียกว่า “สะดวก เร็วและง่าย” (low-hanging fruit) จนหมดแล้ว

บริษัทไต้หวันจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนมากขึ้นได้ อยู่ที่การยกระดับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันบริษัท Haier ก็พิสูจน์ว่า บริษัทจีนสามารถแข่งขันได้ในสินค้าผู้บริโภคที่อาศัยแบรนด์เนม ความสำเร็จของไต้หวันในการลงทุนในจีนที่ผ่านมา เพราะเวลานั้นธุรกิจไต้หวันล้ำหน้ากว่าบริษัทของจีน ไต้หวันยังใช้จีนเป็นแหล่งผลิต จากเดิมแบบ OEM คือการรับจ้างผลิตให้บริษัทชั้นนำต่างๆ มาเป็นเป็น ODM คือมีการพัฒนาและออกแบบสินค้า นอกเหนือจากทำการผลิต ทำให้ได้ส่วนต่างกำไรมากขึ้น

กระจายการผลิตออกจากจีน

เมื่อโอกาสทางธุรกิจที่จะเติบโตสูงลดลง บริษัทไต้หวันจึงทบทวนการพึ่งพิงจีนเป็นฐานการผลิตใหญ่ และมองหาโอกาสที่จะกระจายการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ไปประเทศอื่นในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2010-2020 การลงทุนไต้หวันในจีนลดลงกว่าครึ่ง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ผลกำไรของบริษัทไต้หวันในจีนลดลง รัฐบาลไต้หวันเองหันมาใช้นโยบายกระจายหุ้นส่วนเศรษฐกิจ และดึงการผลิตกลับมาไต้หวัน

หลังจากความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจ ที่มีมานานกว่า 35 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน ก็ค่อยๆแยกทางออกจากกัน จีนได้เรียนรู้จากอุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวัน ส่วนบริษัทไต้หวันก็ไม่ได้มุ่งมั่น ที่จะขยายการผลิตในจีนอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่ตัดขาดออกจากกัน (decouple) เหมือนความสัมพันธ์สหรัฐฯกับจีน เพียงแต่ยุคบูรณาการและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ได้สิ้นสุดลงแล้ว

เอกสารประกอบ
Taiwan investment in China plummets as its soars in US and Germany, December 29, 2023, asia.nikeei.com
The Tiger Leading the Dragon, Shelley Rigger, Rowman & Littlefield, 2021.