ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ ‘สำคัญน้อยกว่า’ ฐานะคนชั้นกลางจีนจะไล่ทันคนตะวันตกหรือไม่

เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ ‘สำคัญน้อยกว่า’ ฐานะคนชั้นกลางจีนจะไล่ทันคนตะวันตกหรือไม่

23 ธันวาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.pwccn.com/en/retail-and-consumer/publications/2022-global-consumer-insights-survey-china-report-aug2022.pdf

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่น หรือ JCER ได้เปิดเผยการพยากรณ์เศรษฐกิจล่าสุดประจำปี 2022 ว่า ภายในเวลา 2 ทศวรรษข้างหน้า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของจีน จะยังไม่มีมูลค่ามากกว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เมื่อปี 2021 JCER เคยได้คาดการณ์ว่า ในปี 2033 จีนกับสหรัฐฯจะสลับตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลก
JCER ให้เหตุผลว่า นโยบาย Zero COVID ที่เข้มงวดมากของจีน และนโยบายสหรัฐฯในการจำกัดการส่งออกของจีน จะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง นอกจากนี้ในระยะยาวการขาดแคลนแรงงานของจีนเพราะจำนวนประชากรลดลง จะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

ในการคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจจีนของ JCER ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า มาตรการคอบคุมโควิด-19 เช่น การล็อคดาวน์ รวมทั้งการห้ามเดินทางต่างประเทศ จะถูกยกเลิกในปี 2025 หรือหลังจากนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนลดลง และระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน ส่วนมาตรการสหรัฐฯ คือกำหนดให้บริษัทอเมริกันผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์แบบทันสมัย และสินค้าไฮเทค แก่บริษัทจีน ต้องได้ใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

คนจีนไล่ตามคนชั้นกลางสหรัฐฯหรือไม่

บทความในหนังสือ The China Questions 2 (2022) บอกว่า การถกเถียงส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่ว่า เศรษฐกิจจีนจะไล่ตามหรือล้ำหน้าสหรัฐฯหรือไม่ โดยให้ความสำคัญเรื่องขนาดของเศรษฐกิจ แต่ขนาดเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยอธิบายอะไรมาก ดังนั้น ควรหันมามองในอีกมุมหนึ่งที่ว่า ฐานะเศรษฐกิจครัวเรือนและคนจีนไล่ตามคนชั้นกลางของอเมริกาหรือไม่

คำตอบก็คือ ความเร็วและขอบเขตในการไล่ตามด้านรายได้บุคคลของจีน เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก สัดส่วนประชากรจีน ที่รายได้เทียบเท่าคนชั้นกลางของอเมริกา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้คนกลุ่มนี้จะยังเป็นคนกลุ่มน้อยของประชากรจีนทั้งหมด 1.4 พันล้านคน แต่คนชั้นกลางจีนก็มีจำนวนมากกว่าประชากรสหรัฐฯทั้งหมด

The China Questions 2 บอกว่า รายได้ครัวเรือนจีนที่สูงขึ้น กำลังเปลี่ยนแปลงคนชั้นกลางของโลก และมีนัยยะต่อโลกในวงกว้าง การปรากฏตัวของ “ชนชั้นกลางของโลก” ในจีน มีความหมายต่อจีนเองด้วย และกำลังเป็นหัวใจสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจจีน ที่เน้นหนักความมั่งคั่งร่วมกัน และการขยายอุปสงค์ในประเทศ เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

ที่มาภาพ : https://www.hup.harvard.edu/catalog.php?isbn=9780674270336

คนชั้นกลางของโลกในจีน

The China Questions 2 อธิบายคำว่า “คนชั้นกลางของโลก” (global middle class) หมายถึงรายได้ครัวเรือนต่อคนในประเทศรายได้สูง ที่มีฐานะไม่ร่ำรวยหรือไม่ยากจน ที่ใช้ประเทศรายได้สูงเป็นตัวกำหนด เพราะต้องการดูว่า ครัวเรือนของจีนไล่ตามครัวเรือนในสหรัฐฯและยุโรปหรือไม่

ดังนั้น ครอบครัวที่ถูกจัดว่าเป็น “คนชั้นกลางของโลก” เมื่อมีรายได้ต่อปีระหว่าง 30,000-100,000 ดอลลาร์ หากคิดเป็นเงินสกุลท้องถิ่น โดยวัดจากอำนาจกำลังซื้อคือ 120,000-400,000 หยวนต่อปี ในปี 2002 ประชากรจีนน้อยกว่า 1% ที่อยู่ในกลุ่มคนชั้นกลางของโลก มาถึงปี 2018 เพิ่มเป็น 25% หรือคนชั้นกลางจีนเพิ่มขึ้น 27% ในเวลาแค่ 16 ปี ในช่วงเดียวกันนี้ คนชั้นกลางในสหรัฐฯและยุโรปเพิ่มช้าหรือติดลบ

ในปี 2018 ประชากรที่เป็นคนชั้นกลางของจีน มีจำนวน 344 ล้านคน มากกว่าจำนวนประชากรสหรัฐฯ ที่มีทั้งหมด 330 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับ 2 ใน 3 ของประชากรสหภาพยุโรป เพราะเหตุนี้ จีนจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญของการเป็นคนชั้นกลางของโลก

ลักษณะจุดเด่นคนชั้นกลางจีน

คนชั้นกลางของโลกในจีนอาศัยอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่แทบทั้งหมด ปี 2007 มีเพียง 5% ของคนอาศัยในเมืองที่เป็นคนชั้นกลางของโลก ปี 2018 เพิ่มเป็นเกือบ 40% หากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังดำเนินไปเช่นเดิม คนชั้นกลางในเมืองส่วนใหญ่ของจีน จะมีรายได้ใกล้เคียงกับครัวเรือนชั้นกลางในสหรัฐฯกับยุโรป

The China Questions 2 ระบุลักษณะโดดเด่นของคนชั้นกลางจีนว่า ประการแรก ค่อนข้างมีฐานะดี เมื่อเทียบกับประชากรที่เหลือของจีน และเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูง ครอบครัวคนชั้นกลางของจีนเป็นเจ้าของ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในบ้าน เหมือนในสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินด้านการบันเทิง ท่องเที่ยว และกิจกรรมสนุกสนานอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่พักอาศัย มีการศึกษาดี และลงทุนในการศึกษาของลูกหลานตัวเอง

ประการที่ 2 รายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าจ้างและเงินเดือน ที่น่าแปลกใจ คนชั้นกลางจีนจำนวนมากที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ในรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษา จำนวนไม่มากที่เป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจ ธุรกิจ SME ของจีนมีความสำคัญ แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประชาชนในชนบท และคนรายได้ต่ำ มากกว่าคนชั้นกลางของจีน

ประการที่ 3 แม้จะมีรายได้เทียบเท่ากับคนชั้นกลางในสหรัฐฯ แต่ทรัพย์สินในรูปคนชั้นกลางของโลก ที่เป็นของคนชั้นกลางจีน ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่พักอาศัย การลงทุน และสินทรัพย์อื่นๆ คนชั้นกลางจีนแทบไม่มีความมั่งคั่งที่ได้จากกองมรดก จุดนี้สะท้อนอดีตสมัยคอมมิวนิสต์ของจีน ที่ห้ามการถือครองทรัพย์สินเอกชน

ที่มาภาพ : https://www.reuters.com/markets/asia/china-plans-expand-domestic-demand-spur-economy-state-media-2022-12-14/

ความสำคัญของชนชั้นกลางจีน

The China Questions 2 กล่าวถึงความสำคัญของคนชั้นกลางในจีนว่า จากการศึกษาชนชั้นกลางในประเทศต่างๆ ชนชั้นกลางจะมีผลกระทบสำคัญทางเศรษฐกิจการเมือง ในแง่มุมเศรษฐกิจ ครอบครัวชนชั้นกลางจะมีรายได้สูงพอ ที่จะมีเงินเหลือไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและการบริการที่คุณภาพสูง ชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น หมายถึงการมีนวัตกรรมและการเติบโต ที่มีอุปสงค์เป็นตัวนำ คนชั้นกลางมีรายได้พอที่จะลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกุญแจสำคัญของการสร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจากชนชั้นกลางยังเป็นชนวนการเติบโตของเศรษฐกิจ
ทางด้านการเมือง การขยายตัวของคนชั้นกลางช่วยลดการแบ่งขั้วทางสังคม ส่งเสริมความเห็นพ้องทางสังคม และเสถียรภาพการเมือง คนบางส่วนเห็นว่า คนชั้นกลางเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบประชาธิปไตย เป็นคนกลุ่มที่มีการศึกษา เป็นอิสระ และมีความสำนึกการเมือง ประวัติศาสตร์ยุโรปพิสูจน์บทบาทคนชั้นกล่างดังกล่าว แต่ในประเทศกำลังพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกลางกับประชาธิปไตย มีทั้งด้านบวกและลบ

ผู้นำจีนเองก็เข้าใจดีถึงบทบาทของคนชั้นกลาง จึงส่งเสริมการสร้าง “สังคมที่มีฐานะ” และ “ความมั่งคั่งร่วมกัน” รัฐบาลจีนยังหาทางปรับความสมดุลของเศรษฐกิจ จากการเติบโตที่อาศัยการลงทุนและการส่งออก มาเป็นการขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ภายในประเทศ แต่เนื่องจากคนชั้นกลางของจีนมีการออมสูง ผลกระทบจากการบริโภคของคนกลุ่มนี้ จึงมีน้อยกว่าที่คาดหมายกัน

คนชั้นกลางจีนออมเงินสูง เพราะอุปสรรคที่เกิดจากระบบการเงิน ครอบครัวคนจีนไม่สามารถกู้เงินได้ง่าย ทำให้ต้องออมเงินเพื่อชำระรายจ่ายสำคัญของครัวเรือน เช่น ที่พักอาศัย และการศึกษา ออมเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ และการไม่มีงานทำ ระบบบำนาญที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องออมเงินเพื่อเกษียณ ในทางหลักการ การออมที่สูงของคนชั้นกลาง จะต้องมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน ที่จะนำเงินออมนี้ไปลงทุนในภาคเศรษฐกิจ ที่มีผลิตภาพมากที่สุด ซึ่งจีนยังขาดทางเลือกนี้

The China Questions 2 สรุปว่า โลกเราต้องสนใจคนชั้นกลางของจีน เพราะว่าที่ผ่านมา ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือและยุโรป คือแหล่งที่มาสำคัญในเรื่องการสร้างอุปสงค์ของโลก การบริโภคของคนชั้นกลางในประเทศตะวันตก มีอำนาจอิทธิพลกำหนดเศรษฐกิจโลก และสร้างโอกาสให้แก่การส่งออกของประเทศรายได้ต่ำ

การที่คนชั้นกลางของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพการณ์ดังกล่าว ทุกวันนี้ ผลกระทบของคนชั้นกลางจีน ที่มีต่อการบริโภค การลงทุน และการผลิตของโลก อาจยังไม่ชัดเจน แต่ในอนาคต ชนชั้นกลางของโลกในจีน มีศักยภาพที่จะกำหนดเศรษฐกิจโลก เมื่อเวลานั้นมาถึง ย่อมหมายถึงโอกาสของประเทศต่างๆในโลกอย่างแน่นอน

เอกสารประกอบ
Is China catching up with the west? Or why should we care about China’s middle class, Terry Sicular, China Questions 2: Critical Insights into US-China Relations, edited by Maria Adele Carrai and others, Harvard University Press, 2022.