ThaiPublica > คอลัมน์ > โทษเหยื่อ = ทำร้ายตัวเราเอง?

โทษเหยื่อ = ทำร้ายตัวเราเอง?

21 พฤษภาคม 2024


ปิติคุณ นิลถนอม

“…ทำไมไปขี่จักรยานบนถนน ถนนเมืองไทยน่ากลัวจะตาย…”
“…ฝรั่งปั่นจักรยานมาแล้วทั่วโลกยังมาตายที่บ้านเราเลย ทำไมยังกล้าขี่อีก…”
“…คิดผิดแล้วที่ปั่นจักรยานออกถนนใหญ่ เป็นผมผมไม่กล้าหรอก…”

ข้อความเหล่านี้ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์หลังข่าวการเสียชีวิตของนักปั่นจักรยานที่จังหวัดสุรินทร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพ cctv ว่าช่วงเช้าของวันเกิดเหตุ ซึ่งพระอาทิตย์ขึ้นแล้วและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน นักปั่นทุกคนใช้เลนซ้ายสุด สวมหมวกนิรภัยป้องกันเป็นอย่างดี กลับกันเป็นรถยนต์ที่ขับมาเลนขวาสุดด้วยความเร็วและพุ่งตัดมาเลนซ้ายอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งจากการสอบสวนพบว่ารถคันดังกล่าวพึ่งออกมาจากสถานบันเทิงที่เปิด “ยันหว่าง” และปริมาณแอลกอฮอล์ที่วัดได้สูงถึง 169 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 3 เท่า!!!

ที่มาภาพ : https://tna.mcot.net/region-1333274

ผมเองรู้สึกประหลาดใจไม่น้อยที่มีคอมเม้นท์ทำนองนี้หลายข้อความ ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะไปพุ่งเป้าที่คนขับรถและสถานบันเทิงที่แม้ตามข่าวจะเป็นสถานบันเทิงในโรงแรมที่เปิดได้ถึงตี 4 จากอานิสงส์ของกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ที่มีผลใช้บังคับเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ก็คงยังมีประเด็นว่าการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางลบมากกว่าผลดีทางเศรษฐกิจหรือไม่

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังออกจากสถานบันเทิงตอนตี 4 มีการไปนั่งที่ร้านลูกชิ้นริมทางซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ต่ออีกหรือไม่

เรื่องเมาแล้วขับจนไปชนผู้อื่นเสียชีวิตเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ในการดำเนินคดีก็จะตั้งข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุผู้อื่นถึงแก่ความตายและขับรถโดย “ประมาท” เป็นเหตุผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งอันที่จริงแล้วการดื่มไม่บันยะบันยังจนวิญญูชนพึงคาดหมายได้ว่าจะขับรถไปชนคนอื่นควรจะต้องถือเป็นการ “เล็งเห็นผล” ที่มีโทษหนักเพราะถือว่าเป็นการกระทำโดย “เจตนา” ซึ่งในทางกฎหมายแล้วเมาแล้วขับแม้จะไม่ได้ไปชนใครตายแต่ก็ควรจะเป็นความผิดทั้งที่เรียกว่าผิดในตัวมันเอง (Mala in se) และผิดเพราะกฎหมายบัญญัติ (Mala prohibita)

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนั่งๆนึกดูแล้วโดยสามัญสำนึกก็น่าจะเห็นตรงกันว่า ปกติหากมีอาชญากรรมเกิดขึ้น สังคมควรจะมุ่งเป้าไปที่ตัวผู้ทำผิด ว่าทำไมดื่มเหล้าแล้วยังต้องไปขับรถ แม้กฎหมายจะกำหนดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะตัดสินก็เถอะ!
เพราะอย่างน้อยการจับตาดูผู้ทำผิดย่อมทำให้เป็นต้นทุนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ใช้บังคับกฎหมายและอำนวยความยุติธรรม ให้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง ไม่บิดเบี้ยว รวมถึงเป็นต้นทุนสำคัญของผู้กระทำผิดที่จะต้องรีบเยียวยาผู้เสียหายให้เร็วที่สุด

แต่การมุ่งประเด็นไปที่เหยื่อผู้ถูกกระทำ เช่นแต่งตัวโป๊ทำให้เกิดความเสี่ยง การออกจากบ้านตอนกลางคืนแล้วถูกชิงทรัพย์ ถือเป็นการซ้ำเติมเหยื่อและครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้น

นอกจากนี้พฤติกรรมโทษเหยื่อหรือ victim blaming ทำให้อาชญากรมีต้นทุนที่ลดลงเพราะมิได้เป็นเป้าสายตาของคนในสังคมอย่างที่ควรจะเป็น และส่งผลอีรุงตุงนังที่เรียกว่า ripple effect ขยายวงกว้างออกไปอีกหลายเรื่อง

ลองนึกภาพดูนะครับว่าหากเราถูกโจรชิงทรัพย์ แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าว สังคมกลับกระหน่ำซ้ำเติมเรา เป็นต้นว่า ออกไปทำไมกลางค่ำกลางคืน ประมาทจริงๆ สมควรแล้วที่โดน สิ่งนี้ทำให้ความรู้สึกแย่ก่อเกิดในใจของเราที่เป็นเหยื่อ เป็นการถ่ายโอนความกดดันทางสังคมที่อาชญากรควรได้รับมาให้เรา เรียกว่าจากที่ทุกข์อยู่แล้วกลับต้องทุกข์เพิ่มอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งนอกจากจะเป็นการย่ำยีจิตใจผู้ถูกกระทำแล้ว ยังเป็นการลดทอนความกล้าของเหยื่อผู้เสียหายและคนในสังคมที่จะแจ้งความหรือร้องเรียนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายด้วย

…เพราะหากเป็นข่าวอาจจะโดน “ทัวร์ลง” แค่ชั่วข้ามคืนก็ได้…

อาจกล่าวได้ว่า “เมฆหมอกแห่งความกลัว” โดยเฉพาะความกลัวที่จะถูกตำหนิติเตียนจากคนในสังคมเป็นสิ่งขัดขวางธรรมาภิบาล เนื่องจากทำให้คนเลือกที่จะ “ปิดปาก” ตัวเองเสีย โดยเฉพาะเหยื่อที่ถูกกระทำทางเพศ ที่มักจะลังเลว่าจะแจ้งความหรือไม่ เพราะสังคมที่มีพฤติกรรมโทษเหยื่อนั้นเป็นการส่งสัญญาณกลายๆว่าสังคมนั้นเลือกที่จะไม่ยืนเคียงข้างเหยื่อและไม่สนับสนุนพวกเขาเหล่านั้น ทำให้เหยื่อเลือกที่จะเก็บเงียบเอาไว้ ส่งผลให้คนในสังคมและเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าใจผิดว่าอัตราอาชญากรรมไม่ได้สูงเท่าไร ทั้งที่ความเป็นจริงอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย แต่เพียงเพราะผู้เสียหายหรือเหยื่อไม่กล้าที่จะเอาเรื่องเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ เมื่อผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกลงโทษและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบสบายๆ ย่อมเป็นการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเมื่อสังคมมุ่งตำหนิติเตียนเหยื่อ ย่อมทำให้อาชญกรได้ใจ โดยเฉพาะคดีทางเพศที่เหยื่อผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ ทำให้เป็นการจูงใจอาชญากรให้ทำผิดต่อไปเรื่อยๆ เพราะโอกาสที่จะถูกดำเนินคดีต่ำ เมื่อคนร้ายมีความคิดอย่างนี้ พวกเราก็ได้แต่นั่งตาปริบๆ ว่ามันจะเกิดเหตุร้ายกับตัวเราหรือคนที่เรารักเมื่อไหร่กัน

ในเรื่องนี้ มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์ก ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความเท่าเทียมและประชากรมีความสุข

ใช่ครับ ในเดนมาร์กมีมุมมืดที่เราอาจนึกไม่ถึง กล่าวคือ มีสถิติที่สุภาพสตรีถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้วไม่กล้าที่จะแจ้งความเอาเรื่องกับผู้ทำผิด สาเหตุเป็นเพราะผู้หญิงที่ถูกกระทำต่างก็มีประสบการณ์ที่ไม่ดีแทบทั้งนั้น เช่น การตั้งคำถามโดยตำรวจหรือบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในลักษณะกดดันเหยื่อว่าเป็นเรื่องโกหกหรือไม่ จนผู้ให้สัมภาษณ์บางรายถึงกับกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมทำให้เธอทั้งกลัวและอาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการแจ้งความและดำเนินคดีความผิดทางเพศต่ำกว่าความเป็นจริง

จากสถิติพบว่าแม้มีผู้ที่กล้าหาญไปแจ้งตำรวจ แต่โอกาสที่คนร้ายจะถูกดำเนินคดีหรือถูกพิพากษาลงโทษก็มีน้อยมาก ในปี ค.ศ. 2017 มีการแจ้งความเพียง 890 ครั้ง ในจำนวนนี้ 535 รายถูกดำเนินคดี แต่มีเพียง 94 คดีเท่านั้นที่ศาลพิพากษาลงโทษ

นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2017 รัฐบาลเก็บข้อมูลว่ามีผู้หญิง 5,100 คนถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่รายงานการศึกษาอีกฉบับหนึ่งกลับพบว่าตัวเลขนี้สูงถึง 24,000 คน

กรณีศึกษาข้างต้นเป็นการเน้นย้ำว่า ผลพวงของการโทษเหยื่อ ทำให้ให้ผู้กระทำผิดยังลอยนวลอยู่ในสังคม แล้วยังสามารถไปก่อเหตุทำนองเดียวกันกับเหยื่อรายอื่น ซึ่งอาจเป็นเราหรือคนที่เรารัก อีกทั้งเป็นการบ่มเพาะวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอันเป็นการทำร้ายสังคมให้ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งปฐมเหตุก็เชื่อมโยงมาจากการคะนองปากไปโทษเหยื่อนั่นเอง

…หนทางที่ดีที่สุดคือต้องไม่ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมจนเกิดเป็นความเคยชิน…

และต้องรีบทำลายวงจรเหล่านี้ให้สิ้นซาก โดยสร้างวัฒนธรรมปกป้องเหยื่อ และไปพุ่งเป้าโฟกัสที่ตัวผู้กระทำผิดให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและได้รับผลของการกระทำตามโทษานุโทษ นอกจากนี้ยังต้องมีขันติธรรมโดยไม่ปากไวหรือมือไวเป็น “นักเลงคีย์บอร์ด” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เหยื่อมีความสบายใจว่าได้รับการปกป้องและกล้าออกมาแจ้งความ โดยไม่ต้องพะวงว่าจะถูกตำหนิติเตียน หรือตัดสินจากคนในสังคม

…ความ “เข้าอกเข้าใจ” ถือเป็นหัวใจสำคัญมาก เพราะอย่างน้อยที่สุดหากปรับมุมมองว่าเขาคือญาติหรือคนที่เรารัก ก็คงทำให้ยับยั้งชั่งใจไม่วิพากษ์วิจารณ์ในทางไม่ดีได้ไม่ยาก…

การสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้นอกจากจะปกป้องเหยื่อแล้วยังปกป้องพวกเราทุกคนในสังคมอีกด้วย เพราะจะเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีใครทำผิดก็ย่อมถูกลงโทษตามกฎหมาย ไม่ได้เดินอยู่ในสังคมแบบลอยนวลพ้นผิด เพราะหากยังปล่อยให้วัฒนธรรมโทษเหยื่อฝังอยู่ในสังคมของเราแบบนี้ บางทีคนที่นั่งข้างผมตอนเขียนบทความนี้อาจจะเป็นคนร้ายคดีใดคดีหนึ่งก็เป็นได้ นึกแล้วก็พลันหายใจไม่ค่อยทั่วท้องจริงๆ

เอกสารประกอบการเขียน

https://tna.mcot.net/region-1333274
https://www.amnesty.org.uk/press-releases/denmark-women-failed-dangerous-victim-blaming-culture-and-impunity-rapists-new