ปิติคุณ นิลถนอม
เคยไหมครับเวลาเห็นคนหกล้มแล้วคนแถวนั้นมองแบบงงๆ เหมือนลังเลว่าจะเข้าไปช่วยดีหรือเปล่า จนเวลาผ่านไปพักใหญ่ถึงจะมีคนเข้าไปช่วยพยุง หรือบางกรณีมีคนถูกทำร้าย แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปช่วยหรือโทรแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ บางครั้งกลับหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายคลิปวิดีโอด้วยซ้ำ เรื่องนี้ไม่แปลกเพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์อย่างเราๆ ซึ่งเรียกว่า bystander effect หรือสภาวะเพิกเฉยของคนมุง หรือหากเรียกแบบบริบทของบ้านเราก็อาจเรียกได้ว่า “ไทยมุง” หรือ “ไทยเฉย”
จุดเริ่มต้นของการศึกษา bystander effect เกิดขึ้นหลังกรณีฆาตกรรม Catherine Genovese เมื่อปี 1964 ในย่านควีนส์ นิวยอร์ก ที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักจิตวิทยา เพราะผู้คนจำนวนมากได้ยินเสียงร้องของเธอ แต่ไม่มีใครช่วยเหลือเป็นเหตุให้เธอถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย

เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อมนุษย์รวมกันเป็นหมู่คณะแล้วจะเกิดสภาวะการกระจายความรับผิดชอบ หรือ diffusion of responsibility กล่าวให้ง่ายคือ เมื่อมีคนจำนวนมากก็ทำให้ความรับผิดชอบมีความคลุมเครือ หรือ unclear responsibility ว่าใครต้องเป็นหลักที่จะต้องทำอะไรสักอย่างในเหตุการณ์นั้นๆ
เรื่องความรับผิดชอบที่คลุมเครืออาจยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในชั้นเรียนอาจารย์สั่งงานกลุ่ม แล้วในกลุ่มไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครทำอะไร สมาชิกในกลุ่มบางคนอาจ “ตีเนียน” เป็น free rider ไม่ทำอะไรรอรับคะแนนอย่างเดียวเรียกได้ว่าเป็นการอู้งานเชิงสังคม หรือ social lofting
ในทางกฎหมายแล้วความเพิกเฉยไม่ใช่ความผิดที่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีหน้าที่ตามกฎหมายแล้วงดเว้นไม่กระทำ แต่หากไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เช่นเป็นเจ้าพนักงานแล้ว หากเห็นคนกระทำผิด เช่น พบคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านเพื่อนบ้านแล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ หรือเห็นคนทุจริตแล้วไม่ทำอะไรก็ไม่เป็นความผิดทางอาญา เท่าที่คิดเร็วๆ มีเพียงกรณีที่พบเห็นคนที่มีภยันตรายถึงตายแล้วสามารถช่วยได้แต่ไม่ช่วยก็เป็นเพียงความผิดลหุโทษ ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่านั้น
เมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ bystander effect ในบริบทของสังคมไทยแล้ว น่าจะส่งผลต่อความเพิกเฉยที่จะแจ้งเบาะแสการทุจริตอยู่ไม่น้อย เพราะมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ส่งเสริมให้เกิด bystander effect หรือไทยมุงและไทยเฉยอยู่
วัฒนธรรมที่กล่าวถึงมีทั้ง power distance ที่มีสูงในสังคมไทย กล่าวคือมีลำดับอาวุโสในสังคม รวมถึงหากเป็นในองค์กรแล้วก็มีลำดับชั้นของการบังคับบัญชามากมาย (hierarchical society) แม้แต่วัฒนธรรมการรักษาหน้า (saving face) ก็ส่งผลเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีประจักษ์พยานที่เป็นคำสอนที่มีแต่เก่าก่อนอย่าง “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ถูกปลูกฝังส่งจากรุ่นสู่รุ่น ส่งผลให้เกิดแนวคิดที่ไม่อยากไปยุ่งหรือหาเรื่องใส่ตน ทำนอง “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ก็อย่าเอากระดูกมาแขวนคอ” หรือ “กินขี้หมาดีกว่าเป็นความ” ดำรงอยู่ในสังคม
จึงไม่แปลกที่คนมักจะเลือกอยู่เงียบๆ ไม่หาเรื่องใส่ตัว หรือบางคนอาจเห็นว่ามันเป็นสิ่งไม่ถูกต้องแต่ก็เชื่อว่ามีคนต้องไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแน่ๆ เข้าทำนอง bystander effect ไปโดยปริยาย
…คำถามคือ แล้วเราจะต่อสู้กับ bystander effect เพื่อให้คนในสังคมไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตได้อย่างไร…
Bibb Latané และ John Darley เคยทดลองเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1968 และมีงานวิจัยต่อๆ มา ที่สรุปได้ว่า หากเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้ามีความร้ายแรงมาก คนก็มีแนวโน้มที่จะช่วยในทันที นอกจากนี้ หากสถานที่เกิดเหตุนั้น บุคคลนั้นๆ คุ้นเคย ก็มีโอกาสสูงที่จะเข้าไปช่วยโดยไม่รอช้า หรือประเด็นสำคัญคือหากมีความสัมพันธ์กับคนที่ถูกทำร้าย ก็มักที่จะไม่ลังเลและเข้าไปช่วยโดยพลัน
ประเด็นสุดท้ายนี้น่าจะนำมาเป็นหลักคิดในการจูงใจให้คนไม่ลังเลในการแจ้งเบาะแสเมื่อพบกรณีการทุจริต กล่าวคือ หากคิดว่าเงินที่ถูกโกงไปเป็นเงินภาษีทั้งก้อนของเราหรือคนใกล้ตัว ก็น่าจะเป็นพลังที่ทำให้ไม่ยอมปล่อยเรื่องที่พบเจอให้ผ่านไปง่ายๆ
สอดคล้องกับงานวิจัยของ Alice Guerra และ Tatyana Zhuravleva ที่เผยแพร่ในวารสารเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและองค์กร (Journal of Economic Behavior & Organization) เมื่อปี ค.ศ. 2021 ที่ระบุว่าคนจะไม่เพิกเฉยต่อการคอร์รัปชันหากเห็นว่ากระทบต่อตัวเองมากเกินไป กล่าวให้ง่ายคือ ไม่ใช่โลกสวยว่าโกงเงินภาษีของประชาชนทุกคนในสังคมแล้วเราต้องปกป้องสังคม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นความคิดที่ว่าจะปล่อยให้เอาเงินที่เราเสียภาษีไปไม่ได้ จะเอาเปรียบตัวเรามากกว่านี้ไม่ได้แล้ว
ดังนั้น หากคิดว่าการทุจริตมันทำร้ายตัวเราเองในฐานะปัจเจกชนอยู่ และเงินภาษีที่เขาทุจริตคือเงินภาษีที่เราเพิ่งเสียไปเมื่อปีภาษีที่ผ่านมา ก็น่าจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย
แต่สิ่งสำคัญคือระบบต้องคุ้มครองและจูงใจ โดยลดต้นทุนให้กับผู้ที่ออกมาปกป้องเงินภาษีด้วย นอกจากจะต้องไม่เข้าเนื้อแล้วยังต้องส่งเสริมเขาทั้งระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส การจูงใจทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การให้รางวัล สิ่งที่กล่าวมานี้ในกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของบ้านเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ช่องทางในการร้องเรียนจะต้องหลากหลายครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งผู้ที่สามารถใช้ระบบดิจิทัลได้ หรือผู้ที่ไม่สะดวกหรือเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี แม้กระทั่งกลุ่มเปราะบางทั้งที่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่จะต้องมีช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้พวกเขา
พวกเราทุกคนได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียภาษีทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรงหรือทางอ้อม ทุกคนจึงมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการติดตามการใช้จ่ายเงินและการใช้ทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเราคือผู้ตรวจสอบภาครัฐกันทุกคน เพียงแต่ว่าบริบททางสังคมที่ผ่านมาทำให้เราต้องชั่งใจว่าจะยอมเหนื่อยหรือเข้าเนื้อดีหรือไม่ หากจะหยิบยกเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาร้องเรียนหรือเป็นประเด็นในสังคม
ระบบที่คุ้มครองมากขึ้น ต้นทุนของประชาชนที่ลดลง และความกล้าหาญที่จะปกป้องเงินภาษีของพวกเรา จะเป็นหลักประกันสำคัญที่จะปกป้องเงินงบประมาณแผ่นดินให้มีการใช้จ่ายอย่างถูกต้อง เกิดผลสัมฤทธิ์ และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
…เลิกเป็น “ไทยเฉย” เปิด “ต่อมเผือก” สู้โกงกันเถอะครับ…
เอกสารประกอบการเขียน
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0167268121001025
https://www.wbur.org/cognoscenti/2015/06/05/bystander-effect-cell-phones-judy-harris