ThaiPublica > Data Visualization > Infographic > “เรียนฟรี 15 ปี” …เรียนฟรีจริงไหม

“เรียนฟรี 15 ปี” …เรียนฟรีจริงไหม

21 พฤษภาคม 2024


“เรียนฟรี” หนึ่งในรัฐสวัสดิการของระบบการศึกษาไทยที่รัฐต้องทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยคาดหวังว่า ‘เรียนฟรี’ จะถ้วนหน้าไม่มีใครหลุดออกนอกระบบ

รูปแบบของนโยบายเรียนฟรีคือ รัฐให้เงินอุดหนุนกับสถานศึกษาใน “รูปแบบนับรายหัว” โดยคำนวณจากจำนวนนักเรียนในสถานศึกษา จากนั้นสถานศึกษาก็จะนำเงินที่ได้ไปจัดการเรียนการสอน หรือการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง

คำว่า “นโยบายเรียนฟรี” เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 43 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิ์เสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” เป็นผลให้เกิดกฎหมายลูกอย่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 เรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเริ่มผลักดันคำว่า “เรียนฟรี 12 ปี” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

จากคำว่า “เรียนฟรี 12 ปี” เปลี่ยนเป็น “เรียนฟรี 15 ปี” ในสมัยรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 โดยให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) หรือเทียบเท่า โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2559

แม้นโยบายเรียนฟรีจะอยู่มาเกือบ 30 ปี แต่ยังคงมีคำถามอยู่เนืองๆ ว่า นโยบายเรียนฟรีไม่มีจริง เพราะเงินที่รัฐจัดสรรให้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่ครอบคลุมทุกรายจ่ายของการศึกษา สุดท้ายนักเรียน-ผู้ปกครอง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้ ต่อให้รัฐบาลจะมีมติ ครม. เพิ่มเงินอุดหนุนต่างๆ ก็ตาม ก็ยังมีเด็กที่ต้องออกนอกระบบมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นแม้หลายรัฐบาล มีนโยบายจัดการศึกษาฟรี โดยเฉพาะภาคบังคับหรือการศึกษาพื้นฐาน 15 ปี โดยจัดให้ เช่น หนังสือเรียน เสื้อผ้า อาหารกลางวัน แต่เอาเข้าจริง เวลาพูดถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา มันมีมากกว่าเรียนฟรี อาหารกลางวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่ไปลดทอนโอกาส ที่เห็นได้ชัดคือ ค่าเดินทางไปโรงเรียน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 2,802 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าครองชีพ ค่าลงทะเบียน ค่ารักษาสิทธิ ในการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน ฯลฯปัจจัยข้างต้นทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงรอยต่อตั้งแต่ ช่วง ป.6-ม.1-ม.3-ม.4-อาชีวะ และรอยต่อช่วงก่อนอุดมศึกษา

ดังนั้นวิธีการที่รัฐใช้ ‘head count’ หรือนับรายหัว ยิ่งโรงเรียนที่มีนักเรียนสูงก็จะได้รับสูง นั่นทำให้โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ส่งผลไปถึงงบดูแลนักเรียน งบจ้างบุคลากรครูและค่าใช้จ่ายอื่นๆ สุดท้ายนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำไม่รู้จบ

(อ่านเพิ่มเติม)

  • “เรียนฟรี 15 ปี” โรงเรียน-นักเรียน-ผู้ปกครอง ได้เท่าไร…แจกถ้วนหน้าหรือมุ่งเป้า แบบไหนเรียนฟรีจริงๆ
  • เรียนฟรีได้อะไรบ้าง…