ThaiPublica > เกาะกระแส > “หยุดวงจรความยากจนข้ามรุ่น” ติดกระดุมเม็ดแรกด้วย ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’

“หยุดวงจรความยากจนข้ามรุ่น” ติดกระดุมเม็ดแรกด้วย ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’

17 ตุลาคม 2022



‘หยุดวงจรความยากจนข้ามรุ่น’ ติดกระดุมเม็ดแรกด้วยการพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา สร้างโอกาสความเสมอภาค ปฐมวัย-อุดมศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อ

ที่มาภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ระบุว่าข้อมูลจากองค์การยูเนสโกระบุว่า ไทยมีเยาวชนจากครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศเพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งน้อยกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศถึง 6 เท่า!

ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะความสามารถและขาดศักยภาพการเรียนรู้ หากแต่เป็นเพราะการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากเศรษฐานะของครอบครัวและปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงโอกาส และทำให้เด็กไม่สามารถเรียนต่อ ทั้งนี้ มีผลวิจัยติดตามข้อมูลประชากรเยาวชนมากกว่า 1.5 แสนคนอย่างต่อเนื่อง 4 ปี พบว่าประเทศไทยมีเด็กช้างเผือก (Resilient Students) ซึ่งมาจากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศที่แม้จะยากจนแต่สามารถสอบผ่านเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จราวร้อยละ 14

จากการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2561-2565 ของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ได้รับทุนเสมอภาคจากของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ พบว่าในปีการศึกษา 2565 มีเยาวชนจากครัวเรือนที่รายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 20,018 คน สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS65 ได้สำเร็จ

“เมื่อปีการศึกษา 2561 กสศ. และ สพฐ. ได้ร่วมกันคัดกรองและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ม.3 ที่มีสถานะความยากจนในระดับยากจนและยากจนพิเศษจำนวน 106,137 และ 41,884 คนตามลำดับ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดย 4 ปีต่อมานักเรียนในกลุ่มนี้จำนวน 20,018 คนสามารถสอบติดมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS65 ได้สำเร็จ คิดเป็นราวร้อยละ 12-14 ตัวเลขนี้อาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่นับว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ TCAS64” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด

  • กระทรวง อว.-ทปอ. จับมือ กสศ. เดินหน้านโยบายทุนการศึกษาสร้างโอกาส ลดภาวะ ‘จนข้ามรุ่น’
  • ทำอย่างไรจึงจะสร้าง “โอกาสทางการศึกษา” ให้เสมอภาคได้จริง

    หนึ่งในกลุ่มเยาวชนที่ ดร.ไกรยส พูดถึง คือ “นักเรียนทุนเสมอภาค” จำนวน 41,884 คน ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นแรกของ กสศ. ที่ได้รับการคัดกรองมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เวลานั้น กสศ. ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเร่งให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษา ผ่านการพัฒนากลไก และมาตรการเชิงระบบเพื่อให้สามารถสร้างโอกาสที่จะนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดในภายใต้ทรัพยากรด้านงบประมาณของประเทศมีจำกัด เนื่องจาก กสศ. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศทั้งระบบ

    กสศ. ได้วิจัยพัฒนากระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษด้วยวิธีวัดรายได้โดยอ้อม (Proxy Means Test — PMT) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชี้เป้าหมายเด็กและเยาวชนที่มีชีวิตยากลำบากมากที่สุดร้อยละ 15-20 ของประเทศ ให้ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค จาก กสศ. ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าครองชีพทางการศึกษา โดยมีเงื่อนไขให้ต้องมีอัตราการมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 และมีพัฒนาการที่สมวัย

    กสศ. เชื่อว่าเป็นนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษาเพราะความยากจนระดับรุนแรง แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการเรียนฟรีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานะครัวเรือนของประชากรกลุ่มนี้ที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,044 บาท หรือน้อยกว่าวันละ 35 บาทเท่านั้น

    โดยจากการติดตามกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขช่วยให้นักเรียนมีอัตราการมาเรียนที่ดีขึ้น ลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา และมีพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น ทำให้จำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาน้อยลงตามลำดับ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับมากขึ้น

    “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการศึกษาและประเมินผลที่ กสศ. ทำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าการทำให้เรื่องโอกาสทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ยั่งยืนได้สำหรับนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ คือการปิดช่องว่างการส่งต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการเชื่อมต่อฐานข้อมูลและการทำงานในการส่งต่อนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

    “ทำอย่างไรให้การช่วยเหลือในระบบไร้รอยต่อจากอนุบาลถึงอุดมศึกษา เมื่อเราค้นพบเด็กจากการคัดกรองแล้ว ต้องหาทางคุ้มครองเขาไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา และส่งต่อให้เขาให้มีโอกาสเรียนให้ได้สูงสุดตามศักยภาพและความมุ่งมั่นของเขาและครอบครัว เด็กทุกคนไม่ว่าเกิดมายากดีมีจนควรมีสิทธิ์บรรลุเป้าหมายการศึกษาสูงสุดที่เขาใฝ่ฝัน สิ่งนี้คือเป้าหมายชีวิตของเขาและเป้าหมายของประเทศ ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน”

    การสนับสนุนเด็กช้างเผือกได้รับการศึกษาสูงสุดอย่างเต็มศักยภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจของ “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ที่ กสศ. ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ ที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ผ่านระบบ TCAS และส่งต่อข้อมูลไปยังมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้จัดหาทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนอื่นๆ ที่จำเป็นอย่างรอบด้าน เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาของตน และโอกาสที่เสมอภาคในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในช่วงชีวิตของเขา

    การพัฒนา “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” จะช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวนมากกว่า 1.9 ล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา และสามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา

    ดร.ไกรยส กล่าวว่า ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ กสศ. และหน่วยงานภาคีเริ่มภารกิจนี้เมื่อปลายปี 2564 ปัจจุบันเยาวชนทั้ง 20,018 คน กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา 75 แห่ง ประกอบด้วย กลุ่มมหาวิทยาลัยกำกับของรัฐมากที่สุด คือ 7,599 คน (ร้อยละ 38) รองลงมาคือสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5,891 คน (ร้อยละ 29) กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ 5,132 คน (ร้อยละ26) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 1,235 คน (ร้อยละ 6) กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนและสถาบันการศึกษาอื่นๆ 161 คน (ร้อยละ 1) ในจำนวนนี้มีนักเรียน 6 คน สอบผ่านการคัดเลือกเข้ากลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และเป็นนักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. 25 คน

    ที่มาภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

    เชื่อม BIG DATA 1.9 ล้านคน สร้างโอกาสจากปฐมวัย-อุดมศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อ

    ดร.ไกรยส ชี้ว่า ในอนาคตระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานด้านนโยบาย สามารถกำหนดเป้าหมาย และติดตามความก้าวหน้าในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา ของประชาชนคนไทยจากครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน เช่น หากกระทรวง อว. ต้องการกำหนดเป้าหมายด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ให้นักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน มีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าใกล้เคียงกับนักเรียนจากครัวเรือนที่มีฐานะดีในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศรายได้สูงภายใน 10 ปี ระบบหลักประกันฯ นี้ก็จะสามารถช่วยเป็นเครื่องมือในการจัดทำนโยบาย และเป็นเครื่องมือติดตามนโยบาย ในการลดความเหลื่อมล้ำจาก 6 เท่าเหลือ 1.4 เท่า ซึ่งเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้

    “…การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ให้นักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมีโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคสามารถสำเร็จในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่ากับนักเรียนจากครัวเรือนที่มีฐานะดีเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว การปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 6 เท่านี้คือกุญแจดอกสำคัญในการพาประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ไม่ช้าไปกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืน”

    ฐานข้อมูลจากระบบหลักประกันฯ ยังสามารถใช้สนับสนุนการวิจัยพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสนับสนุนมาตรการระยะยาวในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษาในอนาคต (Basic and Higher Education Systems Integration) เพื่อให้เด็กเยาวชนและครอบครัวทุกระดับรายได้และทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีความมั่นใจว่าระบบการศึกษาไทยมี “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ให้แก่นักเรียนทุกคน ให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้ตามขีดความสามารถและความมุ่งมั่นของพวกเขาอย่างแท้จริง มิใช่เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ มิใช่เพราะความห่างไกล หรือปัจจัยอื่นๆ

    การพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าเพียงความร่วมมือและทรัพยากรจากภาครัฐเท่านั้น ด้วยพลังของข้อมูล การระดมทุน และทรัพยากรจากภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจอยากร่วมสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่ยังขาดโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาอย่างเต็มที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบนี้ เช่น โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และโครงการก้าวเพื่อน้อง โดยมูลนิธิก้าวคนละก้าว ที่ช่วยเหลือนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อที่หลุดจากระบบให้กลับมาเรียน หรือการที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับบริษัทแสนสิริ และ SCB ในการออกหุ้นกู้ระดมทุนมูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อทำงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเวลา 3 ปี ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบในจังหวัดให้เหลือ ‘ศูนย์’

    ที่มาภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

    ‘ติดกระดุมเม็ดแรก’ ของการยุติวงจรความยากจนข้ามชั่วคน

    ดร.ไกรยส ชี้ว่า โอกาสทางการศึกษาคือการลงทุนที่สร้างผลกระทบและให้มูลค่าตอบแทนที่สูงที่สุดต่อประเทศ โดยเฉพาะการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ให้เด็กเยาวชนสามารถก้าวข้ามรอยต่อในระบบการศึกษา อันเกิดจากปัญหาความยากจนด้อยโอกาสต่างๆ และพัฒนาตนเองไปสู่ระดับการศึกษาสูงที่สุดเท่าที่ศักยภาพจะพาไปถึง ซึ่งจะส่งผลถึงรายได้จากการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา โดยประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่จบการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ ที่เดิมมีค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นประถมศึกษาหรือเทียบเท่า มากกว่า 10 ปี แล้วเมื่อวันที่คนรุ่นนี้มีรายได้สูงขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ย่อมหมายถึงการเปิดประตูสู่โอกาสในชีวิตที่มากกว่า และแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และหยุดวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ให้สิ้นสุดลงในรุ่นของพวกเขา

    จากการประมาณการรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน (อายุ 22-60 ปี) และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่นักศึกษา 20,018 คนจากครัวเรือนรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะได้รับ เมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษา ซึ่งคำนวณจากมูลค่าทางเศรษฐกิจปัจจุบัน (Present Value) จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ปี 2562 โดยใช้สมมติฐานอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ 3% จะเท่ากับว่าคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย จะมีรายได้สูงกว่าคนที่เรียนจบแค่ชั้น ม.3 แล้วหลุดไปจากระบบการศึกษา เพิ่มขึ้นถึงคนละ 3.6 ล้านบาท จำนวนนี้ถ้าคูณ 20,018 คนเข้าไป เท่ากับว่าถ้าเราคุ้มครองดูแลให้ทุกคนจบการศึกษาและเข้าไปประกอบอาชีพได้ ประเทศไทยจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 72,000 ล้านบาท ในระยะเวลาราว 20-30 ปีข้างหน้านี้ ยังไม่รวมผลตอบแทนทางสังคมด้านอื่นๆ อีกมากมาย

    “จะเห็นว่ามูลค่าที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้เป็นเพียงผลตอบแทนส่วนบุคคลของเด็กกลุ่มนี้ แต่เป็นการลงทุนต่อประเทศที่สำคัญ ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องการจะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ตั้งไว้ เพราะเมื่อตัวเลขของเยาวชนกลุ่มนี้ขยับขึ้นไปจาก 14% ในอนาคต เราอาจจะหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ไม่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคนี้” ดร.ไกรยส กล่าว