จิตติศักดิ์ นันทพานิช
สัปดาห์ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวเล็กๆเกี่ยวกับ การลงนามบันทึกความร่วมมือเบื้องต้น หรือเอ็มโอยู ระหว่างเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ กับ พาน กงซิ่ง ประธานธนาคารประชาชาชนจีน (พีบีโอซี) ว่าด้วยกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ที่ปักกิ่ง
ในขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานข่าวเดียวกันนี้ แต่ขยายมิติข่าวที่ต่างออกไป ด้วยการโยงเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ากับกระแสการเคลื่อนไหวลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯในการทำธุรกรรมและเป็นทุนสำรอง หรือ De-dollarization โดยมีรัสเซียและจีนเจ้าของขนาดเศรษฐกิจอันดับสองเป็นหัวขบวนร่วม
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรง ของสหรัฐฯและพันธมิตร เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของมอสโกเมื่อต้นปี 2565 คือจุดเริ่มต้นของปลุกกระแสลดพึ่งพา หรือปลดแอกเศรษฐกิจจากดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินของโลก โดยรัสเซียเริ่มต้นความท้าทายนี้ด้วยการประกาศขายก๊าซธรรมชาติที่ชาติตะวันตกต้องการมากๆในช่วงฤดูหนาวด้วยรูเบิล เพื่อสวนกลับมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและพันธมิตรที่มีต่อรัสเซีย
ตามด้วยการเพิ่มสัดส่วนการค้าด้วยรูเบิลกับหยวน คู่ขนานไปกับผลักดันให้สมาชิก BRICs หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ 4 ประเทศ(ขณะนั้น) คือ รัสเซีย จีน อินเดีย และ บราซิล ใช้สกุลเงินแต่ละประเทศในการซื้อๆขายๆระหว่างกัน
ขณะเดียวกัน จีน พยายามผลักดันให้หยวนเป็นสกุลเงินที่เป็นสากลมากขึ้น ในการประชุมสุดยอดผู้นำชาติอาหรับเมื่อปลายปี 2565 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เรียกร้องในที่ประชุมว่า จีนต้องการซื้อก๊าซและน้ำมันด้วยหยวน
ในปี 2566 มีข่าวการเคลื่อนไหวจากประเทศต่างๆ เริ่มขยับลดความสำคัญในการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ที่เป็นความสนใจมากเป็นพิเศษคือ ข่าวจีนเริ่มลดสัดส่วน เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโรในดัชนีตะกร้าเงินหยวน ตีคู่ไปกับข่าวจีนลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สวนทางกับการไล่ซื้อทองเข้าคลังต่อเนื่องเพื่อปูทางให้ “หยวน” เป็นสากลมากขึ้น
ข่าวที่รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า จีนในฐานะผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น เทขายพันธบัตรฯและตราสารหนี้ออกโดยองค์กรของรัฐ คิดเป็นมูลค่า 53,300 ล้านดอลาร์สหรัฐฯในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 และในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีน ได้เข้าซื้อทองคำติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 (ณ ก.พ.67) เพิ่มอีก 390,000 ออนซ์ รวมแล้วธนาคารกลางจีนมีทองคำในคลัง 2,257 ตัน หรือ 72.57 ล้านออนซ์ ตามรายงานของสื่อที่อ้างข้อมูลจากสภาทองคำโลก เช่นเดียวกับธนาคารกลางอีกหลายแห่งทั่วโลกที่หันมา ตุนทองคำเพื่อหนุนเสถีนรภาพเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับจีน
ปัจจุบันกระแส ลดพึ่งพาดอลาร์สหรัฐฯ กระจายไปทั่วโลก ทั้งในประเทศสมาชิกกลุ่ม บริกส์ แอฟริกา อเมริกาใต้ เอชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศเหล่านั้น มองบทเรียนจาก รัสเซีย ที่ถูกสหรัฐฯและพันธมิตรคว่ำบาตร ผนวกกับความ ขยาดกับความผันผวนของค่าเงินในประเทศจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่สวิงไปตามนโยบายการเงิน
ประเทศไทยเข้าร่วมกระแสลดพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกัน ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ผู้ว่าการธนาคารอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM ) ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 29 -31 มีนาคม 2566 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้สกุลเงินท้องถิ่นและลดการพึ่งพาสกุลเงินใหญ่ (ภาษาในแถลงการณ์ไม่ระบุว่าเป็นดอลลาร์สหรัฐฯตรงๆ )ของต่างประเทศ สำหรับการค้า และการลงทุนข้ามพรมแดน
อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย ได้เสนอให้จัดตั้ง กองทุนการเงินเอเซีย (Monetary fund) เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯอีกด้วย
แบงก์ชาติชี้ว่า ข้อดีของการค้าขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่นคือ ผู้ค้าสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสกุลเงินท้องถิ่น หยวน ริงกิต รูเปียะห์ จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อเทียบกับการใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินกำหนดราคาค่าสินค้าที่มีความผันผวนมากกว่า
แม้สถานการณ์ที่ไล่เรียงตามลำดับมาข้างต้นชี้ให้เห็นถึงแนวโน้ม สถานะของดอลลาร์สหรัฐฯกำลังเปลี่ยนไป แต่ผู้เชี่ยวชาญบางสำนักกลับมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่หยวนจะผงาดขึ้นมาเป็นสกุลเงินของโลกแทน หรือเทียบชั้นกับดอลลาร์สหรัฐฯ ได้
เหตุผลหลักที่ถูกยกขึ้นมายืนยันข้อสรุปดังกล่าว อาทิ ดอลลาร์สหรัฐฯครองสัดส่วนราว 88 % ของธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งหมด ขณะที่หยวนอยู่ที่ 7 % โดยประมาณ เท่านั้นและมีสภาพคล่องเหลือเฟือ ขณะเดียวกันจีนคงไม่สามารถเปิดตลาดการเงินให้กว้าง และลึกได้เช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น สัดส่วนการใช้ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทุนสำรองลดลงจาก 70 % เหลือเกือบ 60 % ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี
ข้อมูลข้างต้นบอกเราว่า กระแสลดพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯที่ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี ยังดำเนินอยู่ และกำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจโลกอย่างช้า ๆ