ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ไทยยูเนี่ยน” ต้นแบบนวัตกรรม “Zero Wastewater Discharge” ฝีมือคนไทย

“ไทยยูเนี่ยน” ต้นแบบนวัตกรรม “Zero Wastewater Discharge” ฝีมือคนไทย

1 เมษายน 2024


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชูโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ของบริษัทไทยยูเนี่ยน เป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ หลังพัฒนา “นวัตกรรมบำบัดน้ำทิ้ง” เป็นศูนย์ฝีมือคนไทย ลดต้นทุนใช้น้ำได้ปีละ 27.8 ล้านบาท นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 100%

อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นหนึ่งในอีกหลายๆอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังพยายามหาแนวทางประหยัดทรัพยากรน้ำ โดยการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งประหยัดต้นทุน ไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ แถมยังช่วยสร้างความยั่งยืนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย

แนวคิดเรื่องการนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ จึงเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลง ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากเป็นอันดับต้นๆ ที่ใช้เวลานานกว่า 6 ปี ในการพัฒนาระบบน้ำ จนเป็นนวัตกรรมบำบัดน้ำทิ้ง ฝีมือคนไทยที่ประสบความสำเร็จแห่งแรกจนเป็นต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ หรือโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge)

นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ว่า บริษัทสนใจพัฒนาระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่และได้ทดลองทำมาหลายปี แต่ก็ล้มเหลวมาตลอดจนประสบความสำเร็จเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาจากความร่วมมือด้านทุนวิจัย ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge)

โครงการการพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการออกแบบ วิจัยและพัฒนา โดยใช้งบประมาณ รวม 12 ล้านบาท แบ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณ ผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จำนวน 3.6 ล้านบาท และบริษัท ไทยยูเนี่ยนลงทุนจำนวน 8.4 ล้านบาท

“หัวใจสำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากการให้ความสำคัญกับการประหยัดน้ำตั้งแต่ต้นทางในทุกกระบวนการผลิต รวมถึงการสร้างความตระหนักให้กับพนักงานทุกคนในการประหยัดน้ำก่อนที่จะเป็นน้ำทิ้งเข้าสู่ระบบการบำบัดจนสามารถนำน้ำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง”

สิ่งสำคัญที่ถือเป็นแนวทางของความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมบำบัดน้ำเสียของบริษัทไทยยูเนี่ยน คือการเริ่มต้นประหยัดน้ำตั้งแต่ต้นทาง โดยการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทาง ทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตให้ใช้น้ำน้อยที่สุดในทุกกระบวนการ พร้อมดูแลตรวจสอบการใช้น้ำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนส่งน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตไปสู่บ่อบำบัดน้ำเสีย

“ผมคิดว่าประหยัดตั้งแต่ต้นทาง และทำให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าไม่เพียงแค่ในโรงงาน และทำให้เขามีพฤติกรรมประหยัดน้ำที่บ้านด้วย”

สำหรับวิธีการทำงานของ “นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์” เริ่มจากน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตทั้งหมดถูกรวบรวมเข้าสู่ท่อน้ำเสียส่งตรงไปยังบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานที่จะบำบัดน้ำเพื่อให้ได้คุณภาพน้ำตามกฎหมายกำหนด

จากเดิมน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียและมีคุณภาพน้ำตามมาตรฐานของกฎหมายจะถูกทิ้งลงไปในลำคลองสาธารณะ แต่ระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ จะพัฒนาท่อรวบรวมน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียเข้าสู่กระบวนแยกน้ำเลือดปลาและไขมันปลา จากนั้นน้ำจะเข้าสู่ระบบ Ultra Filtration (UF) จนได้คุณภาพน้ำที่มีมาตรฐานสูงขึ้นจากเดิม

สำหรับน้ำที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบ UF จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกลำเลียงด้วยท่อไปเพื่อการซักล้าง ล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก รวมไปถึงการใช้น้ำในโถสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำ

ส่วนที่เหลือของน้ำที่ผ่านระบบ UF จะถูกนำไปบำบัดต่อผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาด มีคุณภาพที่สามารถดื่มได้ เพื่อนำไปใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป จากนั้นน้ำทิ้งจากกระบวนการทั้งหมดจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอกเลย

โครงการ Zero Wastewater Discharge ตั้งอยู่ ณ โรงงานไทยยูเนี่ยน จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 155,000 ตารางเมตร โดยเริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2566 และประสบความสำเร็จจนสามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ 7 ล้านลิตร ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนใช้น้ำเพียงวันละ 4 ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 27.8 ล้านบาท

แม้ว่าปัจจุบันบริษัทไทยยูเนี่ยนยังต้องใช้น้ำจากการประปาเพื่อใช้ในการผลิตที่เป็นกระบวนการผลิตอาหารกระป๋อง แต่ก็ลดจำนวนการใช้ลงไปจำนวนมาก เนื่องจากการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่มีต้นทุนสูงเพียง 14 บาทต่อ ลบ.ม ขณะที่ต้องจ่ายค่าน้ำประปา 23-24 บาท ต่อ ลบ.ม.

“เรายังจำเป็นต้องใช้น้ำประปา เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร แต่ลดปริมาณการใช้ลงจำนวนมาก จากเดิมที่เคยได้รับรางวัลบริษัทผู้ใช้น้ำมากเป็นอันดับหนึ่งจากการประปา ตอนนี้ลดลงมาเป็นอันดับ 6 แล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของเรา”

นายสุทธิเดชกล่าวถึงหัวใจของความสำเร็จว่า การทำงานเป็นทีมของพนักงานตามหลัก Total Productive Maintenance หรือ TPM คือ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและการลดต้นทุน และการเรียนรู้ร่วมกันของพนักงานในสายการผลิต เพราะจะสามารถแก้ปัญหาการทำงานได้ดีที่สุด

“ต้นทุนของเราไม่สูงมาก เป็นเพียงค่าอุปกรณ์ที่สั่งเข้ามา ออกแบบพัฒนาระบบกันเอง ไม่จ้างบริษัทที่ปรึกษามาติดตั้ง ทำให้ราคาไม่สูง และพนักงานก็ได้เรียนรู้ระบบไปด้วย หนึ่งในหัวใจของความสำเร็จ คือความทุ่มเทของทีมงานในการออกแบบระบบ และปรับปรุงจนทำให้ลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด”

นายสุทธิเดชยังบอกด้วยว่า การทำงานร่วมกับภาครัฐ จากการการสนับสนุน บพข. ทำให้โครงการมีนักวิชาการเข้าช่วยวิจัยทำให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบได้ จนทำให้ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียน และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ทุ่ม 200 ดอลลาร์ลงทุนการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030

สำหรับโครงการ Zero Wastewater Discharge ถือเป็นส่วนหนึ่งส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ในพันธกิจหลักคือการมุ่งสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ด้วยการปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ณ โรงงานหลักของไทยยูเนี่ยน 5 แห่ง ให้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการ Zero Wastewater Discharge ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนด้วยระบบปฏิบัติการของเราเอง แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยได้ โดยโครงการนี้นับเป็นความสำเร็จของไทยยูเนี่ยนที่นำเอานวัตกรรม พันธกิจ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาสร้างสิ่งที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลผู้คน ดูแลโลก และมหาสมุทร”

นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ภูมิภาคเอเชีย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

ขณะที่นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ภูมิภาคเอเชีย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า SeaChange® 2030 คือกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG โดยขณะนี้เราเน้นไปที่มิติสังคม (People) และมิติสิ่งแวดล้อม (Planet) แต่ภายในปี 2030 เราจะเดินหน้าทำตามพันธกิจของ SDG ใน 11 ด้านให้เป็นจริง โดยตั้งงบประมาณในการลงทุน 200 ดอลลาร์สหรัฐไปจนถึง 2030

“บริษัทได้ลงทุนตั้งแต่ปี 2016 ทั้งในเรื่องการปล่อยน้ำเสีย ลดขยะ และเราตั้งใจว่าใช้เงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนเรื่องนี้ไปจนถึงปี 2030 ซึ่งเงินลงทุนเท่ากับกำไรของบริษัททั้งเครือในปี 2022”

ทั้งนี้ภายในในปี 2050 บริษัทไทยยูเนี่ยนตั้งเป้าเป็น Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และภายในปี 2030 เราจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 12% โดยขณะนี้เริ่มเปลี่ยนพลังงานในกระบวนการผลิตมาสู่พลังงานสะอาด

“สินค้าของเรา 80% ส่งออกยังต่างประเทศ ยุโรปและสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ประเทศปลายทางเริ่มมีความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดเราพึ่งประกาศตัวผลิตภัณฑ์กุ้งคาร์บอนต่ำที่เราลงไปแนะนำเกษตรผลิตลดคาร์บอนตั้งแต่ในฟาร์ม ซึ่งกุ้งคาร์บอนต่ำเป็นสินค้าที่ลูกค้าปลายทางต้องการ ทำให้เราใส่ใจกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของแรงงาน เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะมีความต้องการมากขึ้นด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป”

โมเดลต้นแบบบำบัดน้ำทิ้งตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพ

ความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียจนเป็นศูนย์ได้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงยกให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้ “การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์” หรือ Zero Wastewater Discharge เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบ

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่าไทยยูเนี่ยนเป็นโรงงานต้นแบบในการติดตั้งและดำเนินการโดยวิศวกรคนไทยที่สร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการน้ำทิ้งในระบบได้สำเร็จเป็นรูปธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ จึงถือเป็นโมเดลต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ และศูนย์การเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์การทิ้งน้ำเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมอาหาร และถือเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ และตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) ในปี 2573

ด้าน รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. บอกว่าที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน และภาครัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและโครงการนี้ถือเป็นการให้ทุนผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศ ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ”

สำหรับศูนย์เรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ การทิ้งน้ำเป็นศูนย์ ของบริษัทไทยยูเนี่ยนฯ จะเปิดให้บริการ และจะช่วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยภาคเอกชน รวมทั้ง SME ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมลดการใช้น้ำ หรือนำน้ำกลับมาใช้ใหม่สามารถมาเรียนรู้ได้

อย่างไรก็ตามสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถ รศ. ดร.ธงชัย กล่าวว่าในปีงบประมาณ 2567 บพข. ได้มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยเรามุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนําขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนํามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น

รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรามีเป้าหมายในการลดการปล่อย GHG 30 MtCO2e, เพิ่ม 3% ของ GDP และลดการใช้ทรัพยากร 1 ใน 3 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทยภายในปี 2593 ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภายในประเทศ