ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกเริ่มตอบโต้จีน เมื่อทุ่มส่งออกสินค้าราคาถูกแทนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในที่ซบเซา

โลกเริ่มตอบโต้จีน เมื่อทุ่มส่งออกสินค้าราคาถูกแทนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในที่ซบเซา

10 เมษายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวลดลง จีนหันมาอาศัยการส่งออกสินค้าราคาถูกออกไปทั่วโลก เหมือนกับที่เคยทำมาในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ที่แตกต่างจากอดีต ในครั้งนี้ชาติตะวันตกและหลายประเทศใช้วิธีการตอบโต้จีน ต่อนโยบายของจีนที่ถูกมองว่า สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศนำเข้า เหมือนกับที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ให้ความเห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้า EV ของจีน คือ “ตัวทำลายการจ้างงาน” (job killer)

สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) ได้ขู่ที่จะใช้มาตรการกีดกันการค้ากับรถยนต์ EV และอุปกรณ์พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนของจีน ส่วนประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโต เช่น บราซิล อินเดีย เม็กซิโก และอินโดนีเซีย ก็เข้าร่วมกระแสต่อต้านจีนในเรื่องนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่สินค้านำเข้าจากจีน เช่น เหล็ก เซรามิกส์ และเคมีภัณฑ์ ที่มีการระแวงสงสัยว่า จีนจะทุ่มสินค้าเข้ามา ในราคาที่ต่ำกว่าปกติทั่วไป

ใหญ่พอที่ไม่ต้องอาศัยการส่งออก

รายงานข่าวของ Wall Street Journal เรื่อง Chinese Exports Fuel Global Ire กล่าวว่า ในการเดินทางมาเยือนจีนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจกับนายเหอ ลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีของจีน นางเจเน็ต เยลเลน กล่าวเตือนจีนเรื่อง การอาศัยการผลิตสินค้าจำนวนมหาศาลในราคาถูก มากระตุ้นเศรษฐกิจของจีน จีนเป็นประเทศที่ใหญ่เกินกว่า จะอาศัยการส่งออกมาทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบรวดเร็ว

เจเน็ต เยลเลนกล่าวอีกว่า หากจีนมีนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งแต่การสร้างอุปทาน (supply) แต่ไม่ได้สร้างอุปสงค์ (demand) สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายในของประเทศหนึ่ง แต่กลับส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆทั่วโลก ที่เจเน็ต เยลเลนเรียกว่า global spillover

หลายประเทศกำลังดำเนินมาตรการ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตของตัวเอง อินเดียกำลังสอบสวนการทุ่มตลาดสินค้าจากจีนหลายอย่าง อาร์เจนติน่าสอบสวนลิฟต์ที่นำเข้าจากจีน และอังกฤษเรื่องจักรยานไฟฟ้าจากจีน

การต่อต้านสินค้าจากจีนที่มีมากขึ้นในหลายประเทศ แสดงให้เห็นว่า การคุมคามจากจีนอย่างไม่คาดฝันครั้งใหม่ หรือที่เรียกว่า New China Shock เหมือนกับเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับระบบการค้าโลก ที่กำลังเกิดความตรึงเครียด จากแรงกดดันของสงครามรัสเซียบุกยูเครน จากความพยายามของชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายในขึ้นมาใหม่ และการพยายามลดความเกี่ยวพันบางส่วนกับเศรษฐกิจจีน

ปัจจัยต่างๆที่สร้างแรงกดดันต่อระบบการค้าโลกดังกล่าว กลายเป็นตัวเร่งทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกแตกเป็นส่วนๆ คือประเทศที่ต้องการหลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานของจีน กับประเทศที่ยังติดอยู่กับอิทธิพลระบบการผลิตของจีน นักวิเคราะห์จาก BCA Research ของแคนาดากล่าวว่า เมื่อสหรัฐฯปิดพรมแดน จีนจะนำสินค้าราคาถูกของตัวเอง ออกมาทุ่มตลาดโลกมากขึ้น เราเพียงแค่กำลังเห็นจุดเริ่มต้นของสิ่งนี้

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐ เยือนประเทศจีนเพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจกับนายเหอ ลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีของจีน ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2024/04/04/business/yellen-us-china-economic-relations-hnk-intl/index.html

การผลิตที่ล้นเกินความต้องการภายใน

บทรายงานของ Wall Street Journal กล่าวว่า เพื่อชดเชยกับฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่แตกออกมา ผู้นำจีนหันเหการลงทุนมาที่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตแทน เงินกู้ยืมต้นทุนต่ำจากรัฐ ทำให้บริษัทจีนเร่งหาลูกค้าในต่างประเทศ เพื่อมารองรับการผลิตที่ล้นเกินความต้องการตลาดภายใน หรือไม่สามารถขายได้ในจีนเอง แนวโน้มในขณะนี้คล้ายกับการส่งออก ที่พุ่งขึ้นสูงของจีนในต้นทศวรรษ 2000 ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า China Shock ทำให้สหรัฐฯเองสูญเสียการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิต 2 ล้านงาน

แต่สำหรับผู้บริโภคทั่วโลก สินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน เปรียบเหมือนสิ่งของที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น หลังจากต้องประสบปัญหาราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น อำนาจการส่งออกของจีนช่วยเสริมฐานะจีนของการเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายอย่าง ในราคาที่ถูก ให้กับประเทศกำลังพัฒนา เช่น รถยนต์ สมาร์ทโฟน และเครื่องจักรกล ความชำนาญของจีนในเทคโนโลยีสีเขียว ยังทำให้หลายประเทศมีช่องทางการลดคาร์บอนแบบต้นทุนต่ำ

โลกดูดซับการส่งออกจีนได้น้อยลง

แต่นักวิเคราะห์มองว่า ในโลกเศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นมิตรต่อจีนมากขึ้นนั้น การอาศัยความต้องการของต่างประเทศ มาสร้างการเติบโตเศรษฐกิจของจีน เป็นเรื่องที่เสี่ยง จีนควรจะหันมากระตุ้นความต้องการหรืออุปสงค์ภายในประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มีความสมดุลมากขึ้น Aaditya Mattoo หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำเอเชีย-แปซิฟิก ธนาคารโลก กล่าวว่า “ความสามารถของโลกมีน้อยลง ที่จะดูดซับ China Shock ครั้งใหม่นี้ เมื่อเทียบกับในอดีต”

การท่วมบ่าของการส่งออกสินค้าจีนราคาถูก ไปทำลายการแข่งขันในบางอุตสาหกรรม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Compania de Acero del Pacifico บริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของชิลี ประกาศปิดโรงงานถลุงเหล็ก เพราะไม่สามารถแข่งกับสินค้านำเข้าจากจีน ที่มีราคาถูกว่า 40% เทียบกับเหล็กกล้าของชิลีเอง ผู้นำแรงงานที่โรงงานเหล็กกล้าชิลีกล่าวว่า บริษัทจีนทุ่มตลาด และทำลายการแข่งขัน ส่วนหน่วยงานรัฐบาลชิลีเสนอให้เก็บภาษี 15% กับเหล็กนำเข้าจากจีน

องค์กร Global Trade Alert ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่ติดตามการค้าโลก เปิดเผยว่า นับจากปี 2023 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆทั่วโลกประกาศมาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าต่อสินค้าจีนมากถึง 70 มาตรการด้วยกัน เช่น การสอบสวนการทุ่มตลาด การเก็บภาษีนำเข้า และการจำกัดโควตา โฆษกบริษัทสิ่งทออินโดนีเซีย Asia Pacific Fibers กล่าวว่า สินค้าที่ตั้งราคาตามปกติจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากจีน

ส่วนจีนตอบแย้งว่า การที่ประเทศทั่วโลกมีปฏิกิริยาโต้กลับต่อสินค้าจีน เพราะกระแสการกีดกันการค้าที่พุ่งสูงขึ้น และวิจารณ์ข้อกล่าวหาตะวันตกเรื่อง “กำลังการผลิตล้นเกิน” ของจีนว่า ประเด็นนี้จะสร้างปัญหาต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี จีนก็ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรการค้าโลก (WTO) กรณีสหรัฐฯให้การอุดหนุนทางการเงินกับรถยนต์ EV และกีดกันชิ้นส่วนจากจีนว่า มีความไม่เป็นธรรม

รายงานของ Wall Street Journal กล่าวว่า จีนมีช่องทางมากมายที่ จะตอบโต้การกีดกันการค้าต่อการส่งออกของจีน จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้านชิ้นส่วนที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของสินค้าสำคัญๆ ที่ประเทศต่างๆนำมาประกอบการผลิตของตัวเอง

เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2001 จีนยังผลิตสินค้าระดับล่าง มีสัดส่วน 2% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของโลก แต่ทุกวันนี้ การส่งออกสินค้าของจีนมีสัดส่วนถึง 15% ของการส่งออกของโลก Simon Evenett จากมหาวิทยาลัย St. Gallen สวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า
“สิ่งที่สร้างความกังวลต่อคนทั้งหลาย ในเรื่องเส้นทางการพัฒนาที่เป็นอยู่ปัจจุบันของจีนก็คือ เป็นเส้นทางทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งต่อประเทศรายได้ปานกลาง และประเทศรายได้สูง”

ใช้ประเทศอื่นมาผลักดันการเติบโต

บทความของ nytimes.com เรื่อง Can China Export Its Way Out of Its Economic Slump? ตั้งคำถามว่า นับจากปีที่แล้ว ผู้นำจีนได้ชั่งน้ำหนักว่า จากฐานะผู้นำตลาด สินค้า ตั้งแต่แผงโซล่าเซลล์ การส่งออกรถยนต์ที่มากกว่าญี่ปุ่น รวมทั้งการผลิตรองเท้า ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ และการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคอ่อนตัวลง จีนจะอาศัยการส่งออก มาทำให้เศรษฐกิจตัวเอง หลุดออกจากภาวะถดถอยได้หรือไม่

เจ้าหน้าที่ระดับสูงจีนกล่าวว่า จีนมีแผนการลงทุนยกระดับอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดการค้าในประเทศมากขึ้น และรวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต เช่น รถยนต์ EV

แต่นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า จากประสบการณ์ของประเทศที่เคยมีปัญหาการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค ช่วยชี้ให้เห็นว่า การอาศัยคลื่นการส่งออกคงเป็นนโยบายและมาตรการที่เป็นไปได้มากที่สุดของจีน แต่ Eswar Prasad นักเศรษฐศาสตร์ จากคอร์เนลล์ กล่าวว่า “การที่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก จะอาศัยประเทศที่เหลืออยู่ในโลก มาช่วยเพิ่มการเติบโตของตัวเองนั้น ไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ที่ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก”

ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งจากธนาคารโลกเคยเสนอว่า จีนควรจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบประกันสุขภาพ ระบบบำนาญ และการประกันสังคมในด้านอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ครอบครัวชาวจีนรู้สึกว่ามีความมั่นคงมากขึ้น ในการที่จะใช้จ่ายเงิน

แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา ในทุกวันนี้ จีนยังคงใช้เงินไปกับการลงทุน Zhan Yubo จากสถาบันสังคมศาสตร์ของเซี่ยงไฮ้ ที่ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลจีน กล่าวกับ nytimes.com ว่า “การลงทุนจะสร้างงาน งานสร้างรายได้และเงินเดือน รายได้และเงินเดือนสร้างการบริโภค”

เอกสารประกอบ

China’s Surge of Cheap Goods Spurs Ire, 6 April 2024, The Wall Street Journal.
Can China Export Its Way Out of its Economic Slump? June 28, 2023, nytimes.com