ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > UN Global Climate Report: ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

UN Global Climate Report: ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

23 เมษายน 2023


ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/our-mandate/climate/wmo-statement-state-of-global-climate

รายงาน State of the Global Climate report 2022 ของ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงปีระหว่างปี 2558-2565 เป็นช่วงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ธารน้ำแข็งของโลกละลายอย่างรวดเร็วในปีที่แล้ว และระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเท่าจากสองทศวรรษที่แล้ว

รายงาน State of the Global Climate report 2022 ที่เผยแพร่โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(World Meteorological Organization:WMO) ก่อนหน้าวันคุ้มครองโลกปีนี้ วัน Earth Day 2023 (ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเกิดขึ้นในปี 2565 ตั้งแต่ยอดเขาไปจนถึงใต้ท้องลึกของมหาสมุทร

ภัยแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อชุมชนในทุกทวีป และสร้างความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์ น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกลดลงถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการละลายของธารน้ำแข็งในยุโรปบางแห่งก็เกินกว่าที่ควรจะเป็น

รายงาน State of the Global Climate report 2022แสดงการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งบนบก ในมหาสมุทร และในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเกิดจากระดับก๊าซเรือนกระจกที่กักความร้อนไว้สูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับอุณหภูมิโลก ปี พ.ศ. 2558-2565 เป็นปีที่ร้อนที่สุด 8 ปีเป็นประวัติการณ์ แม้ได้รับความเย็นจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม การละลายของธารน้ำแข็งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในปี 2565 จะต่อเนื่องไปอีกหลายพันปี

“ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มสูงขึ้นและสภาพอากาศยังคงเปลี่ยนแปลง ประชากรทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์สภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ตัวอย่างเช่น ในปี 2565 ภัยแล้งที่ต่อเนื่องในแอฟริกาตะวันออก ฝนที่ตกทำลายสถิติในปากีสถาน และคลื่นความร้อนที่ทำลายสถิติในจีนและยุโรปส่งผลกระทบต่อคนหลายสิบล้านคน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร เกิดการอพยพจำนวนมาก และสร้างความสูญเสียและเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์” ศาตราจารย์เพตเทอริ ทาลาส (Petteri Taalas) เลขาธิการใหญ่ประจำองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าว

“อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีประสิทธิภาพอย่างมากในการจัดการกับผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะในการลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การเตือนภัยล่วงหน้าของสหประชาชาติด้วยความคิดริเริ่มทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความสามารถที่มีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนบนโลกได้รับการคุ้มครองจากบริการเตือนภัยล่วงหน้า ในขณะนี้ประมาณ 100 ประเทศไม่มีบริการสภาพอากาศที่เพียงพอ การบรรลุภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ต้องมีการปรับปรุงเครือข่ายการสังเกตการณ์ การลงทุนในการเตือนภัยล่วงหน้า ความสามารถในการให้บริการด้านอุทกวิทยาและสภาพภูมิอากาศ”

รายงาน WMO ฉบับใหม่มาพร้อมกับใช้แผนที่ในการเล่าเรื่อง(story map) ซึ่งให้ข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายว่าตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลอย่างไร และยังแสดงให้เห็นว่าการยกระดับเทคโนโลยีทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

นอกจากตัวชี้วัดสภาพอากาศแล้ว รายงานยังเน้นที่ผลกระทบอีกด้วย ภาวะขาดอาหารที่เพิ่มขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นจากผลกระทบของภัยทางอุทกวิทยาและโควิด-19 รวมถึงความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยืดเยื้อ

ตลอดทั้งปี สภาพภูมิอากาศที่อันตรายและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศทำให้เกิดการพลัดถิ่นของประชากรอีกครั้ง และทำให้ผู้คนจำนวน 95 ล้านคนที่พลัดถิ่นอยู่แล้วมีสภาพเลวร้ายลงในช่วงต้นปี

รายงานยังให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำในธรรมชาติอย่างไร เช่น เมื่อต้นไม้ผลิดอกหรือนกอพยพ
.
สิ่งที่แสดงในรายงาน State of the Global Climate ของ WMO สอดคล้องกับสารในวันคุ้มครองโลก ของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ

“เรามีเครื่องมือ ความรู้ และวิธีแก้ปัญหา แต่เราต้องเร่งดำเนินการ เราต้องการการดำเนินการด้านสภาพอากาศแบบเร่งด่วนด้วยการลดการปล่อยมลพิษที่ลึกขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ เรายังต้องการการลงทุนจำนวนมากในการปรับตัวและความยืดหยุ่น โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่เปราะบางที่สุดและชุมชนที่สร้างวิกฤติน้อยที่สุด” นายกูเตร์เรส กล่าว

รายงาน WMO เผยแพร่หลังจากการเปิดเผยรายงานสถานะสภาพภูมิอากาศในยุโรป(State of the Climate in Europe )ที่จัดทำโดย Copernicus Climate Change Service ของสหภาพยุโรป และเป็นรายงานเสริมจากรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change:IPCC) ซึ่งมีข้อมูลถึงปี 2563

ผู้เชี่ยวชาญหลายสิบคนมีส่วนร่วมในรายงานนี้ รวมถึง National Meteorological and Hydrological Services (NMHSs), Global Data and Analysis Centers, Regional Climate Centres, the World Climate Research Program (WCRP), Global Atmosphere Watch (GAW), Global Cryosphere Watch และ Copernicus Climate Change Service ที่บริหารโดย ECMWF

พันธมิตรของสหประชาชาติ ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลของ UNESCO หรือ Intergovernmental Oceanographic Commission of UNESCO (UNESCO-IOC) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration:IOM) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme:UNEP) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees:UNHCR), สำนักงานสหประชาชาติเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (UN Office for Disaster Risk Reduction :UNDRR) และโครงการอาหารโลก (World Food Programme:WFP)

ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-annual-report-highlights-continuous-advance-of-climate-change

ประเด็นสำคัญในรายงาน

ตัวชี้วัดสภาพอากาศ

อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ 1.15 [1.02 ถึง 1.28] องศาเซลเซียสสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2363-2443 ซึ่ง ปี 2558 ถึง 2565 เป็นปีที่ร้อนที่สุด 8 ปีในสถิติย้อนหลังไปถึงปี 2363 ปี 2565 เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 5 หรือ 6 แม้จะมีปรากฏการณ์ลานีญาที่อากาศเย็นลงติดต่อกัน 3 ปี แต่ลานีญาที่เย็นลง “สามครั้ง” แบบนี้เกิดขึ้นเพียง 3 ครั้งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหลัก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูลของค่ารวมทั่วโลก (2527-2564) ความเข้มข้นของมีเทนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลตามเวลาจริง(real-time)จากสถานที่เฉพาะแสดงระดับของก๊าซเรือนกระจกทั้ง 3 ชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565

ธารน้ำแข็งอ้างอิงที่ทำการสังเกตการณ์ระยะยาวมีการเปลี่ยนแปลงความหนาเฉลี่ยมากกว่า −1.3 เมตรระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงตุลาคม 2565 การสูญเสียนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยของทศวรรษที่ผ่านมามาก 6 ใน 10 ปีที่มีมวลติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (2493-2565) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 การสูญเสียความหนาสะสมตั้งแต่ปี 2513 มีจำนวนเกือบ 30 เมตร

เทือกเขาแอลป์แห่งยุโรปทำลายสถิติธารน้ำแข็งละลาย เป็นผลจากหิมะในฤดูหนาวมีน้อย ฝุ่นทะเลทรายซาฮาราที่พัดเข้ามาในเดือนมีนาคม 2565 และคลื่นความร้อนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกันยายน

ในสวิตเซอร์แลนด์ ปริมาณน้ำแข็งในธารน้ำแข็งหายไป 6% ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 และ 1 ใน 3 ระหว่างปี 2544 ถึง 2565 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีหิมะหลงเหลือในฤดูร้อน แม้ในบริเวณวัดที่สูงที่สุด ดังนั้นการสะสมตัวของน้ำแข็งใหม่จึงไม่เกิดขึ้น บอลลูนตรวจอากาศของสวิสบันทึกอุณหภูมิได้ 0 องศาเซลเซียส ที่ความสูง 5,184 เมตร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ซึ่งเป็นศูนย์องศาที่บันทึกได้ที่ระดับความสูงสูงสุดในสถิติรอบ 69 ปี และเป็นเพียงครั้งที่สองเท่านั้นที่บันทึกอุณหภูมิได้ 0 องศาได้ที่ความสูงเกิน 5,000 เมตร (16,404 ฟุต) นอกจากนี้ยังรายงานอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่จากยอดเขามงบล็อง

การวัดบนธารน้ำแข็งในเอเชียแถบภูเขาสูง อเมริกาเหนือตะวันตก อเมริกาใต้ และบางส่วนของอาร์กติก ยังแสดงให้เห็นการสูญเสียมวลของธารน้ำแข็งจำนวนมาก แต่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ตอนเหนือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและฤดูร้อนที่ค่อนข้างเย็น

จากข้อมูลของ IPCC ธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียน้ำแข็งมากกว่า 6,000 Gt(gigatonnes) ในช่วงปี 2536-2562 ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำเทียบเท่ากับทะเลสาบ 75 แห่งที่มีขนาดเท่ากับทะเลสาบ Lac Leman (หรือที่รู้จักกันว่าทะเลสาบเจนีวา) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก

แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์มีมวลรวมติดลบเป็นปีที่ 26 ติดต่อกัน

ทะเลน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาลดลงเหลือ 1.92 ล้านตารางกิโลเมตร ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (2534-2563) เกือบ 1 ล้านตารางกิโลเมตร สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างต่อเนื่อง โดยต่ำเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม

น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกในเดือนกันยายนช่วงปลายฤดูร้อนละลายเท่ากับระดับน้ำแข็งขั้นต่ำรายเดือนที่ต่ำที่สุดลำดับที่ 11 จากข้อมูลที่ดาวเทียมบันทึกได้

ความร้อนในมหาสมุทรสูงเป็นประวัติการณ์ใหม่ในปี 2565 ประมาณ 90% ของพลังงานที่ถูกกักอยู่ในระบบภูมิอากาศโดยก๊าซเรือนกระจกจะไหลลงสู่มหาสมุทร ซึ่งช่วยบรรเทาได้แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้น แต่ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศทางทะเล อัตราภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรสูงเป็นพิเศษในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ปรากฏการณ์ลานีญาจะยังคงมีต่อเนื่อง แต่ 58% ของพื้นผิวมหาสมุทรมีคลื่นความร้อนในทะเลอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปี 2565

ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลก (Global mean sea level:GMSL) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 แตะระดับสูงสุดใหม่ จากการบันทึกด้วยเครื่องวัดความสูงของดาวเทียม (2536-2565) อัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าระหว่างทศวรรษแรกของการบันทึกดาวเทียม (2536-2545, 2.27 มิลิเมตรต่อปี(mm∙yr-) และครั้งล่าสุด (2556-2565, 4.62 mm∙yr)

ในช่วงปี 2548-2562 การสูญเสียน้ำแข็งบนพื้นดินทั้งหมดจากธารน้ำแข็ง กรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกามีส่วนทำให้ GMSL เพิ่มขึ้น 36% และมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น (ผ่านการขยายตัวทางความร้อน) มีส่วน 55% ส่วนการเปลี่ยนแปลงในการกักเก็บน้ำบนบกมีส่วนน้อยกว่า 10%

ด้านความเป็นกรดในมหาสมุทร(Ocean acidification) คาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยากับน้ำทะเล ส่งผลให้ค่า pH ลดลง ซึ่งเป็นภาวะ ‘เป็นกรดในมหาสมุทร’ ความเป็นกรดในมหาสมุทรคุกคามสิ่งมีชีวิตและบริการของระบบนิเวศ รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC สรุปว่า “มีความเชื่อมั่นสูงมากว่าค่า pH พื้นผิวมหาสมุทรในระบบนิเวศเปิดตอนนี้ต่ำที่สุดเป็นเวลาอย่างน้อย 26 [พันปี] และค่า pH ในปัจจุบันก็มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นประวัติการณ์อย่างน้อยตั้งแต่นั้น

ที่มาภาพ:https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-annual-report-highlights-continuous-advance-of-climate-change

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมและสิ่งแวดล้อม
ภัยแล้งเข้าปกคลุมแอฟริกาตะวันออก ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในฤดูฝนติดต่อกัน 5 ฤดู ซึ่งเป็นลำดับที่ยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี ณ เดือนมกราคม 2566 มีการประมาณว่าผู้คนกว่า 20 ล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างเฉียบพลันทั่วทั้งภูมิภาค ภายใต้ผลกระทบของภัยแล้งและภาวะวิกฤติ(shocks)อื่นๆ

ฝนที่ตกเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบ 33 ล้านคน ขณะที่เกือบ 8 ล้านคนต้องพลัดถิ่น ความเสียหายและความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมประเมินไว้ที่ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคมต่างมีฝนตกชุกเป็นประวัติการณ์ทั่วประเทศ โดยเดือนกรกฎาคม สูงกว่าค่าปกติ 181%) และเดือนสิงหาคมสูงกว่าค่าปกติ 243%

คลื่นความร้อนที่ทำลายสถิติส่งผลกระทบต่อยุโรปในช่วงฤดูร้อน ในบางพื้นที่มีความร้อนจัดผสมกับสภาพอากาศที่แห้งเป็นพิเศษ ยอดผู้เสียชีวิตจากความร้อนสูงในยุโรปเกิน 15,000 รายในสเปน เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และโปรตุเกส

ประเทศจีนมีคลื่นความร้อนที่แผ่ขยายวงกว้างและยาวนานที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติระดับประเทศ โดยเริ่มขยายตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และส่งผลให้ฤดูร้อนร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์โดยมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 0.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังเป็นฤดูร้อนที่แห้งแล้งที่สุดเป็นครั้งที่สอง

ความไม่มั่นคงทางอาหาร: ในปี 2564 ผู้คน 2.3 พันล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร โดย 924 ล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารขั้นรุนแรง มีการคาดการณ์ว่าประมาณ 767.9 ล้านคนเผชิญกับภาวะขาดสารอาหารในปี 2564 หรือ 9.8% ของประชากรโลก ครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชียและหนึ่งในสามอยู่ในแอฟริกา

คลื่นความร้อนในฤดูก่อนมรสุมปี 2565 ในอินเดียและปากีสถานทำให้ผลผลิตพืชลดลง เมื่อรวมกับการห้ามส่งออกข้าวสาลีและข้อจำกัดในการส่งออกข้าวในอินเดียหลังจากความขัดแย้งในยูเครนเริ่มต้นขึ้น คุกคามความพร้อม การเข้าถึง และเสถียรภาพของอาหารหลักในตลาดอาหารระหว่างประเทศ และก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารหลัก

การพลัดถิ่น: ในโซมาเลีย ผู้คนเกือบ 1.2 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เนื่องจากผลกระทบร้ายแรงของภัยแล้งต่อการดำรงชีวิตในชนบทและเกษตรกรรม และความอดอยากในระหว่างปี ซึ่งมากกว่า 60,000 คนข้ามไปยังเอธิโอเปียและเคนยาในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกัน โซมาเลียก็รับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยเกือบ 35,000 คนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในเอธิโอเปียมีการบันทึกการโยกย้ายภายในที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้งอีก 512,000 ครั้ง

น้ำท่วมในปากีสถานส่งผลกระทบต่อประชาชนราว 33 ล้านคน รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานประมาณ 800,000 คนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ได้รับผลกระทบ ภายในเดือนตุลาคม ประชาชนประมาณ 8 ล้านคนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศจากอุทกภัย โดยมีผู้คนประมาณ 585,000 คนพักอาศัยในพื้นที่บรรเทาทุกข์

สิ่งแวดล้อม: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบที่สำคัญต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การประเมินเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งมุ่งเน้นไปที่พื้นที่สูงพิเศษรอบที่ราบสูงทิเบต ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บหิมะและน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดนอกอาร์กติกและแอนตาร์กติก พบว่าภาวะโลกร้อนทำให้พื้นที่ที่อบอุ่นขยายตัว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในธรรมชาติ เช่น เมื่อต้นไม้ผลิดอกหรือนกอพยพ ตัวอย่างเช่น การบานของดอกซากุระในญี่ปุ่นได้รับการบันทึกตั้งแต่ปี ค.ศ. 801 และเลื่อนขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมือง ในปี 2564 วันที่บานเต็มที่คือวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเร็วที่สุดในรอบกว่า 1,200 ปี ในปี 2565 วันที่ออกดอกคือ 1 เมษายน

ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ในระบบนิเวศที่ตอบสนองต่ออิทธิพลของสภาพอากาศแบบเดียวกันหรือในอัตราที่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น เวลาถึงฤดูใบไม้ผลิของนกอพยพในยุโรป 117 สายพันธุ์ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงระดับความไม่สอดคล้องกันที่เพิ่มขึ้นกับเหตุการณ์ในฤดูใบไม้ผลิอื่นๆ เช่น การผลิใบและการบินของแมลง ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของนก ความไม่ตรงกันดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้จำนวนประชากรลดลงในสัตว์อพยพบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่หลบหนาวในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา