ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC วิเคราะห์ก้าวต่อไปของโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้โลกที่ไม่แน่นอน

EIC วิเคราะห์ก้าวต่อไปของโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้โลกที่ไม่แน่นอน

26 เมษายน 2024


Leadership, business success, unique, difference, challenge, and motivation concepts. Wooden sphere rolling fastest, leading with rising arrow and following with wood cube blocks on blue background.

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ ชวนตั้งคำถามว่า เมื่อบริบทโลกกำลังเปลี่ยนไป การพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการพัฒนาเชิง “ปริมาณ” ที่วัดจาก GDP มาโดยตลอดนั้น ยังเป็นทิศทางที่ถูกหรือไม่ ? หรือที่ผ่านมาเราลืมเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควรพัฒนาเชิง “คุณภาพ” ในระยะยาวควบคู่ไปด้วย ?

GDP ไม่ใช่คำตอบเดียวของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามุ่งเป้าไปที่ตัวเลขการเติบโตของ GDP เป็นสำคัญ แต่เมื่อบริบทโลกกำลังเปลี่ยนไปทั้งจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงรอบด้านมากขึ้น ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นเชิง “ปริมาณ” ที่วัดจาก GDP มาตลอดยังคงเป็นคำตอบที่ถูกหรือไม่ ? ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ณ เมืองดาวอส ในเดือน ม.ค. 2024 ประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่า การเติบโตของ GDP อย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย WEF จึงเสนอกรอบแนวคิดการเติบโตของเศรษฐกิจสำหรับอนาคต ด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ประเมิน “คุณภาพ” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของแต่ละประเทศใน 4 เสาหลัก ได้แก่ นวัตกรรม (Innovativeness) ความทั่วถึง (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และการล้มยากลุกเร็ว (Resilience)

เศรษฐกิจไทยกับมิติใหม่ของการเติบโตเชิงคุณภาพ
ผลการประเมิน “คุณภาพของการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจไทย” จากกรอบแนวคิด WEF พบว่า ไทยมีปัญหาการเติบโตเชิงคุณภาพมากที่สุดใน 2 เสาหลัก คือ Inclusiveness (คะแนนต่างกับกลุ่มประเทศรายได้สูงมากสุด) และ Sustainability (คะแนนน้อยสุด) หากพิจารณาบริบทเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันด้วยแล้ว จะพบว่า (1) Inclusiveness สะท้อนจากรายได้ของคนไทยที่กระจุกตัวในกลุ่มคนมีฐานะ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยยังต้องเผชิญปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย และมีหนี้สูง ผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถกระจายประโยชน์ได้ทั่วถึง ขณะที่ (2) Sustainability ของไทย สะท้อนจากการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนด้านนี้

การเตรียมความพร้อมเชิงคุณภาพของไทย เพื่อรับมือโลกที่เปลี่ยนไป
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในเชิงปริมาณและคุณภาพในระยะข้างหน้า จะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากบริบทเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไป SCB EIC ประเมินว่า การยกระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับระบบนิเวศ (Ecosystem) สำคัญ ตามความเร่งด่วน ดังนี้

    1. การยกระดับระบบนิเวศทางการเงิน (Financial ecosystem) และระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) เป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำเสนอเครื่องมือและบริการทางเงินที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างรายได้และกระจายประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจให้ทั่วถึงขึ้น การให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประกอบกับการเพิ่มแรงจูงใจในการแข่งขันและลดกฎระเบียบภาครัฐที่ซ้ำซ้อนจะเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของภาคเอกชน
    2. การยกระดับระบบนิเวศทางทรัพยากรมนุษย์ (Talent ecosystem) เป็นลำดับต่อมา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและภาคการผลิตไทย รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการผลิตไทยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สอดรับกับกระแสความยั่งยืน และสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ได้ทันบริบทโลกที่เปลี่ยนไป

หากปัญหาเชิงคุณภาพของระบบเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขให้ถูกจุดแล้ว ย่อมส่งผลบวกกลับมาช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณที่วัดจาก “GDP” ของไทยสูงขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน

สำหรับภาคธุรกิจไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ จึงควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจโจทย์ว่า ธุรกิจจะอยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างไรภายใต้บริบทโลกใหม่ ผ่านการมองภาพใหญ่ว่าธุรกิจต้องการจะปรับตัวไปสู่อะไร ด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งจะครอบคลุมขั้นตอนการวางกรอบความคิด ขั้นตอนการดำเนินงาน และขั้นตอนการขับเคลื่อนแผนให้เกิด New business model ได้จริง ผ่านการสร้าง “ความพร้อม 4 ด้าน” คือ ความพร้อมของแหล่งเงินทุน ความพร้อมของโมเดลปฏิบัติการ ความพร้อมทางเทคโนโลยีและข้อมูล ความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรและพนักงาน

โลกโตต่ำไม่แน่นอนสูง GDP อาจยังไม่ใช่คำตอบเดียวของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบการเติบโตระยะยาว และสภาพแวดล้อมในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอาจนำไปสู่วิกฤตซ้อน (Polycrisis) ได้ ในปี 2024 SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ใกล้เคียงปีก่อน ซึ่งมีเทรนด์โตต่ำลงจากอดีต หากมองแนวโน้มระยะปานกลาง เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำลงจากค่าเฉลี่ย 3.8% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเหลือ 3.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2024 – 2028)1 (รูปที่ 1) การที่เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราช้าลงเช่นนี้มีสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ

(1) ปัญหาเชิงโครงสร้างของโลก อาทิ กำลังแรงงานขยายตัวชะลอลง ผลิตภาพแรงงานต่ำลง การลงทุนยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น และความร่วมมือระหว่างประเทศลดลงสวนทางโลกาภิวัตน์ในอดีต

(2) ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของโลกสูงขึ้นมากจนอาจทำให้เกิด Polycrisis ได้ ดัชนีความไม่แน่นอนของโลกมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาตลอด 30 ปีและมีความผันผวนมากขึ้น ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นทุกมิติ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ การรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การใช้จ่ายและการก่อหนี้ของภาครัฐ ความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน และความไม่แน่นอนของการค้าโลก (รูปที่ 2)

หากมองไปข้างหน้า โลกจะต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี ความเสี่ยงแต่ละด้านอาจมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันจนอาจนำไปสู่ Polycrisis ได้ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งกลายเป็นประเด็นความเสี่ยงก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ในปีนี้ ขณะที่ความเสี่ยงในระยะยาวส่วนใหญ่เป็นมิติสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงขั้นวิกฤตต่อระบบโลก (เช่น น้ำทะเลสูงขึ้น กระแสน้ำในมหาสมุทรหยุดชะงัก) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพหรือการล่มสลายของระบบนิเวศ และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกได้ในระยะข้างหน้า (รูปที่ 3)

ท่ามกลางบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเช่นนี้ SCB EIC ชวนตั้งคำถามว่า การพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการพัฒนาเชิง “ปริมาณ” ที่วัดจาก GDP มาโดยตลอดนั้น ยังเป็นทิศทางที่ถูกหรือไม่ ? หรือที่ผ่านมาเราลืมเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควรพัฒนาเชิง “คุณภาพ” ในระยะยาวควบคู่ไปด้วย ? เมื่อบริบทโลกกำลังเปลี่ยนไป เห็นได้จากทิศทางการเติบโตต่ำลง ความไม่แน่นอนสูงขึ้นและมีความเสี่ยงรอบด้านมากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่สนใจมุ่งแข่งขันวัดกันที่ตัวเลข GDP ซึ่งเป็นปัจจัยเชิง “ปริมาณ” ไม่สามารถสะท้อนปัจจัยแวดล้อมอื่นของสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนได้ครบถ้วน2 ส่งผลให้มีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมด้านอื่นอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาทุนมนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางและมาตรการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหาต้องใช้เวลา ประกอบกับความไม่แน่นอนของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ “สิ่งที่เห็น” และ “สิ่งที่ควรจะเป็น” ยังแตกต่างกันมาก ยิ่งทำให้คนเริ่มสูญเสีย “ความเชื่อมั่น (Trust)” ในภาครัฐแต่ละประเทศ ส่งผลให้ความร่วมมือที่จะช่วยผลักดันให้นโยบายภาครัฐสัมฤทธิ์ผลลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้านในโลกที่ต้องการให้แต่ละประเทศหันหน้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา

ความเสี่ยงใหญ่ในโลกที่สร้างความไม่แน่นอนและกัดกร่อนความเชื่อมั่น (Trust) ในภาครัฐ

3 มิติความเสี่ยงใหญ่ในโลกที่จะเน้นในบทความนี้ คือ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ความเสี่ยงจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ (AI adoption) และความเสี่ยงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) ยิ่งความท้าทายเหล่านี้รุนแรงขึ้น ยิ่งทำให้ช่องว่างของความคาดหวังการดำเนินการจากภาครัฐกว้างขึ้น และมีผลต่อเนื่องเป็นวงจร (Vicious cycle) นำไปสู่ Trust ในภาครัฐที่ลดลงและความร่วมมือช่วยกันผลักดันแก้ปัญหาที่น้อยลง นั่นคือ

1. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)
ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญเพราะประเทศที่ได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ไม่ทั่วถึงตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกของแต่ละประเทศในโลก พบว่าบางประเทศได้รับประโยชน์มาก เช่น จีนและเวียดนาม ขณะที่บางประเทศ เช่น กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ดูเหมือนจะได้ประโยชน์น้อยกว่า ส่งผลให้ในช่วงหลัง ๆ แนวคิดการค้าเสรี (Free trade) หรือโลกาภิวัตน์ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ความเต็มใจที่ประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเริ่มน้อยลง สะท้อนจาก Global Cooperation Index (รูป 4) ซึ่งดัชนีดูทรงตัวในระยะหลัง เป็นผลจากความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและความมั่นคง (Peace and security) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในโลกที่ลดลง และอาจจะมีผลต่อเนื่องไปยังความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ในระยะต่อไป

2. ความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยี AI (AI adoption)
ในการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้แพร่หลายทั่วโลกอาจนำมาซึ่งประโยชน์และโทษได้ จากข้อมูลสำรวจของ WEF Chief economists survey 2024 ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง 2 อย่าง คือ 1) AI มีประโยชน์แตกต่างกันตามระดับการพัฒนาของประเทศ โดยสามารถนำมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนและแรงงานได้มากในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อาจจะไม่ได้ช่วยมากนักในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ 2) แม้ AI จะมีประโยชน์ แต่ผลสำรวจนี้ก็ชี้ว่า คนก็มี Trust ในเทคโนโลยี AI ลดลง เช่น ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2023 ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้นด้วย AI บนเว็บไซต์เพิ่มขึ้นกว่า 1000% รวมถึงความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลจากการใช้งาน AI การประมวลผลโดย AI ที่อออกมาดูน่าเชื่อถือแต่อาจไม่ถูกต้อง หรือความเสี่ยงที่เกี่ยวกับภัยไซเบอร์

3. ความเสี่ยงสภาพอากาศแปรปรวน (Climate change)
ความเร่งด่วนของโลกในการจัดการปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันสูงมากและคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้โลกเผชิญภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา พบว่า มูลค่าความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2000 และทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 นอกจากนี้ หากเทียบขนาดความรุนแรงของปัญหานี้ในโลกกับความเร็วในการแก้ปัญหา พบว่า โลกเรายังห่างไกลจากเป้าหมายร่วมกันตามข้อตกลงปารีส (Paris agreement) ในปี 2015 ที่จะหาทางจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรม (Pre-industrial level) เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ‘Trust’ ที่มีต่อการผลักดันเรื่องนี้จึงลดลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อนโยบายภาครัฐ ต่อผู้ดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่ Trust ที่มีต่อภาพความสำเร็จ

โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจโลกแบบใหม่ เน้นคุณภาพการเติบโตในระยะยาวมากขึ้น

จากความเสี่ยงรอบด้านที่กล่าวไป ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ณ เมืองดาวอส ในเดือน ม.ค. 2024 ที่ประชุมจึงเห็นพ้องกันว่า การเติบโตของ GDP อย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าประสงค์ใหญ่ขึ้น ประเทศต่าง ๆ ควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของการได้มาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ “คุณภาพ” ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะสร้างให้เกิดขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจนั้น ๆ WEF จึงเสนอกรอบการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (Future of growth framework) ด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ประเมิน “คุณภาพ” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว (Long-term quality of growth) ที่จะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติของแต่ละประเทศ ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือเดิมในการประเมินเชิง “ปริมาณ” จากตัวเลข GDP (Short-term quantity of growth) โดยจะเป็นการประเมินคุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลมากขึ้นใน 4 เสาหลัก ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดความเสี่ยงในโลกรอบด้านที่กำลังสูงขึ้นด้วย ได้แก่

    1) นวัตกรรม (Innovativeness) ระบบเศรษฐกิจสามารถซึมซับและพัฒนาต่อยอดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่
    2) ความทั่วถึงเท่าเทียม (Inclusiveness) การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกคนมีส่วนร่วมในโอกาสและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา
    3) ความยั่งยืน (Sustainability) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเติบโตไปกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
    4) การล้มยากลุกเร็ว (Resilience) ระบบเศรษฐกิจสามารถรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดใหม่ ๆ และกลับสู่แนวโน้มเดิมได้ภายในเวลาไม่นาน

WEF (2024) รวบรวมข้อมูลคุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใน 4 เสาหลักข้างต้น พบว่า ภาพรวมของโลกมีคะแนนใน 4 เสาหลักอยู่ในช่วง 45 – 55 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 โดย Innovativeness มีคะแนนน้อยสุด (45.2 คะแนน) ขณะที่ Inclusiveness ได้คะแนนมากสุด (55.9 คะแนน) ประเทศรายได้สูงได้คะแนนในแต่ละเสาหลักสูงกว่าประเทศรายได้ปานกลาง ยกเว้น Sustainability (รูปที่ 5)

WEF ประเมินคุณภาพการเติบโตในระยะยาวของไทยใน 4 เสาหลัก พบว่า ไทยได้คะแนนน้อยสุดในเสาหลัก Sustainability (40.8 คะแนน) เช่นเดียวกับภาพรวมโลก ตามด้วยคะแนนด้าน Innovativeness (47.9 คะแนน) Resilience (51.5 คะแนน) โดยคะแนนของไทยโดยรวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ยกเว้นด้าน Sustainability ที่ไทยมีคะแนนต่ำกว่ากลุ่มอยู่มาก นอกจากนี้ คะแนนของไทยยังต่ำกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูงค่อนข้างมากในทุกเสาหลัก โดยเฉพาะ Inclusiveness ที่แตกต่างกันมากถึง 13.2 คะแนน ตามด้วยความแตกต่างในด้าน Innovativeness (11.5 คะแนน) Resilience (10.4 คะแนน) และ
Sustainability (5 คะแนน) สะท้อนว่าไทยมีปัญหาคุณภาพการเติบโตในระยะยาวมากที่สุดใน 2 เสาหลัก คือ Inclusiveness (คะแนนต่างกับกลุ่มประเทศรายได้สูงมากสุด) และ Sustainability (คะแนนน้อยสุด)

หากวิเคราะห์เสาหลักของคุณภาพการเติบโตของไทยที่ค่อนข้างต่ำ พบว่าด้าน (1) Inclusiveness สะท้อนรายได้ของคนไทยที่กระจุกตัวในกลุ่มคนมีฐานะ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยยังต้องเผชิญปัญหารายได้น้อยไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และมีปัญหาหนี้สูง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาไม่สามารถกระจายประโยชน์ได้ทั่วถึง ขณะที่ (2) Sustainability สะท้อนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) ของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุน

ถึงเวลาที่เศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวยกระดับการพัฒนาเชิงคุณภาพ ภายใต้บริบทโลกเปลี่ยนไป

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในเชิงปริมาณและคุณภาพในระยะข้างหน้าจะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากบริบทเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนไป การวางนโยบายภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อมุ่งให้ระบบนิเวศภายในประเทศเอื้อต่อการปรับตัวในด้านที่ไทยยังได้คะแนนไม่ดีนัก ดังนั้น การกำหนดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งสำคัญ (รูปที่ 6) SCB EIC ประเมินว่า การยกระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับโมเดล

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นเป้าหมายเชิงคุณภาพมากขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับปรุงระบบนิเวศสำคัญ ลำดับความสำคัญดังนี้

1. ยกระดับระบบนิเวศทางการเงิน (Financial ecosystem) และระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) เป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำเสนอเครื่องมือและบริการทางเงินที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างรายได้และกระจายประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจให้ทั่วถึงขึ้น การให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประกอบกับการเพิ่มแรงจูงใจในการแข่งขันและลดกฎระเบียบภาครัฐที่ซ้ำซ้อนจะเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของภาคเอกชน การปรับปรุงระบบนิเวศทางการเงินและทางเทคโนโลยี 2 ด้านนี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจไทยในเสาหลัก Inclusiveness แล้ว ในขณะเดียวกันยังจะช่วยยกระดับคะแนนเสาหลัก Sustainability ได้อีกด้วย

2. ยกระดับระบบนิเวศทางทรัพยากรมนุษย์ (Talent ecosystem) เป็นลำดับต่อมา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและภาคการผลิตไทย เพราะนอกจากการมุ่งเร่งพัฒนาเชิงคุณภาพในเสาหลัก Inclusiveness และ Innovativeness ก่อน ประเทศไทยยังมีปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงคุณภาพระยะยาวในเสาหลัก Resilience ด้วย สะท้อนจากคุณภาพและความสามารถในการปรับตัวของแรงงาน รวมถึงภาคการผลิตไทยที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของโลกได้ทัน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการผลิตไทยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สอดรับกับกระแสความยั่งยืน และสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ได้ทันบริบทโลกที่เปลี่ยนไป

นัยต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย

ภาคธุรกิจไทยควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจโจทย์ว่า ธุรกิจจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรภายใต้บริบทโลกใหม่นี้ เริ่มจากการตั้งคำถามประเมินตัวเองว่า ถึงเวลาต้องทำ Business transformation มุ่งสู่การดำเนินโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ (New business model) แล้วหรือไม่ ผ่านการมองภาพใหญ่ว่าธุรกิจต้องการจะปรับตัวไปเป็นอะไร และด้วยเหตุผลสำคัญอะไร การกลับมามองตัวเองเช่นนี้ต้องอาศัยขั้นตอนในการวางกรอบความคิด (Conceptual & Strategy roadmap) ขึ้นก่อน เพื่อไปสู่ขั้นตอนการวางแผนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้จริง ซึ่งจะครอบคลุมขั้นตอนการดำเนินงานและขั้นตอนในการขับเคลื่อนแผน (Implementation & Execution) เพื่อเปลี่ยนจากกรอบความคิดให้ New business model เกิดขึ้นจริง ผ่านการสร้าง “ความพร้อม 4 ด้าน” ของธุรกิจ คือ

    1)ความพร้อมของแหล่งเงินทุน (Secured financing) – เตรียมความพร้อมด้านแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางแหล่งเงินทุนต่างกันตามขนาดและประเภทของธุรกิจ มีการสื่อสารให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้าใจถึงความจำเป็นและแผน New business model เพื่อจะสร้างความยั่งยืนของการทำธุรกิจในระยะสั้นและระยาว ให้มีความเข้าใจถึงผลกำไรบางส่วนของธุรกิจที่จะต้องถูกปันออกมาลงทุนสำหรับอนาคต ซึ่งในช่วงแรกอาจต้องอดทนรอต่อผลสำเร็จที่ยังไม่เห็นในทันทีจากการทำ Business transformation และดูความคืบหน้าตาม Strategic roadmap
    ที่วางไว้
    2) ความพร้อมของโมเดลปฏิบัติการ (Established operating model) – สร้างโมเดลปฏิบัติการขององค์กรให้มีความชัดเจนในแผนการลงทุน ระบบการควบคุมภายใน (Compliance) และกรอบการกำกับดูแล (Governance) ขององค์กร

    3)ความพร้อมทางเทคโนโลยีและข้อมูล (Enhanced technology & Data capabilities) – ยกระดับขีดความสามารถขององค์กรด้าน Technology & Data capabilities ให้มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตอบโจทย์ธุรกิจที่คิดมาใหม่ โดยจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพต้นทุน (Cost efficiency) และเพื่อสร้าง Resiliency ในการทำงาน

    4) ความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรและพนักงาน (Transforming culture & Talent) – ปรับวัฒนธรรมองค์กรและเพิ่มศักยภาพพนักงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ ซึ่งนอกจากการสื่อสารภายนอกให้เข้าใจวิสัยทัศน์/พันธกิจ (Vision/Mission) ใหม่ขององค์กรแล้ว ผู้นำองค์กรจะต้องสื่อสารภายในให้พนักงานทุกระดับมีความเข้าใจถึงความสำคัญในบทบาทหน้าที่เพื่อจะมุ่งบรรลุเป้าหมายร่วมกัน พร้อมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คล่องตัวและพร้อมต่อการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

ความสำเร็จในการยกระดับประเทศไทยสู่โมเดลการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว (Long-term quality of growth) คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่จะต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน โดยต้องอาศัยภาครัฐเป็นเจ้าภาพหรือเป็นแกนกลางในการช่วยสร้างบรรยากาศและความพร้อมในการปรับตัวของประเทศ เช่น นโยบายเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตไทย (อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย) นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่อย่างมีกลยุทธ์ การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ การยกระดับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยล้มยากและลุกเร็วเพียงพอที่จะรับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ได้

ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการเติบโตเชิงคุณภาพควบคู่กับการเติบโตของตัวเลข GDP หากปัญหาเชิงคุณภาพของระบบเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขให้ถูกจุดแล้ว ย่อมส่งผลบวกกลับมาช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณที่วัดจาก “GDP” ของไทยสูงขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน

อ้างอิง
1. World Economic Outlook April 2024, https://www.imf.org/en/Publications/WEO/weo-database/2024/April
2. The Future of Growth Report 2024, https://www.weforum.org/publications/the-future-of-growth-report/. Gross Domestic Product: An Economy’s All, https://www.imf.org/en/Publications/fandd/issues/Series/Back-to-Basics/gross-domestic-product-GDP. Forget GDP: For the 21st century. We need a modern economic measure, https://www.weforum.org/agenda/2018/11/forget-gdp-for-the-21st-century-we-need-a-modern-economic-measure

บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/thai-economic-development-model-260424