ThaiPublica > Sustainability > Contributor > โอกาสประเทศไทย สู่สมดุลใหม่ที่ยั่งยืน

โอกาสประเทศไทย สู่สมดุลใหม่ที่ยั่งยืน

27 มีนาคม 2024


ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ
ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

ในโลกของตลาดทุน มีกฎธรรมชาติหนึ่งที่ว่า กระแสเงินทุนทั่วโลกจะไหลไปยังที่ ๆ ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด เป็นนิยามที่ไม่แปลกใจเมื่อพูดถึงยุคปัจจุบัน ที่เรียกได้ว่าเป็นยุคที่มีปัญหามากมายทั้งการสงคราม การฟื้นตัวจากโควิด วิกฤตการณ์ทางพลังงาน และปัญหาเงินเฟ้อ เป็นแรงกระตุ้นที่ทุกประเทศต้องเผชิญอย่างไม่แพ้กัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่รุนแรงทั่วโลก

อาทิ เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FED ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในการดึงทุนกลับมา ถือเป็นหลักการปกติที่ว่า ทุนย่อมไหลกลับไปหาจุดที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 5.5% ก็ดึงดูดทุนจากทั่วโลกกลับไป

ในช่วงที่หลายประเทศยังเศรษฐกิจไม่ดี มูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็จะลดลง จึงเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนที่จะได้ “ของดีราคาถูก” ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบริษัทที่มีโครงสร้างที่ดี ในราคาถูก ซึ่งประเทศไทยต้องวางแผนให้ดี

ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในระยะสั้นสามารถเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว แต่หากประเทศไทยสามารถมีมาตรการดึงดูดด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ดี ๆ คนที่มาท่องเที่ยวเมืองไทยจะไม่ใช่แค่มาเที่ยว แต่จะมาทำธุรกิจ หรือทำงานในประเทศไทยด้วย เพราะประเทศไทยนั้นติดอันดับเป็นประเทศที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในสายตาของกลุ่มสตาร์ทอัพและธุรกิจใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องคิดด้วยว่า ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่หลายประเทศอยากจะย้ายฐานการลงทุนมาลงทุน ทั้งนี้เพราะยุคโลกแบ่งขั้วเช่นปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งขั้วอเมริกา ขั้วจีน การหาประเทศที่เป็นกลางในการมาลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ และปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนสนใจ คือ ความพร้อมด้านบุคลากร คนเก่งของประเทศนั้นมีจำนวนมากพอหรือไม่ ระบบภาษีเป็นอย่างไร และการสนับสนุนจากรัฐบาลเอื้อการลงทุนอย่างไร สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่เป็นกลาง ทั้งจากจีนและอเมริกา

ในยุคที่เราพูดถึงเรื่อง AI หรือ CHAT GPT ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์กลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์เริ่มมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการลงทุนไปที่คลาวด์เซ็นเตอร์ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นขององค์ความรู้และการตัดสินใจที่อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมาก รวมถึงจีนที่กำลังมองหาประเทศที่เป็นกลาง เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการลงทุนในบริษัทรถยนต์อีวีส่งออกไปยังตลาดโลก

ในช่วงเวลานี้ที่ประเทศไทยมีโอกาสที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นจุดสำคัญของการลงทุน แต่สิ่งที่ต้องคิดคือเราไม่ได้เป็นประเทศที่น่าสนใจประเทศเดียว นักลงทุนก็มองว่ามาเลเซียก็น่าสนใจ เวียดนามก็น่าสนใจ แต่ประเทศไทยนั้นโชคดีที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ เราจะวางนโยบายดึงดูดการลงทุนได้ดีแค่ไหน เราจะปฏิรูปโครงสร้างที่สำคัญได้แค่ไหน ซึ่งประเทศไทยนั้นเริ่มทำได้ตั้งแต่การปฏิรูประบบขนส่ง หรือ Logistic Reform เพราะมีพื้นฐานที่ดีด้านการบิน หากวางการขนส่งเชื่อมต่อระบบรางให้ดี ประเทศไทยสามารถกลายเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ได้

นอกจากนี้ เราจะต้องมีคนเก่งให้มากพอ ปัจจุบันไทยมีคนต่างด้าวที่แรงงานเข้ามาทำงานในบ้านเราจำนวน 7 ล้านคน แต่ในระดับที่เป็นวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ เรายังมีไม่พอ ทำให้บริษัทชั้นนำจากอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย เป็นกังวลเรื่องบุคลากรของเราที่ไม่เพียงพอ ศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับ AI ทางด้าน Digital ทางด้านของ Security เพื่อจะไปให้ถึง Smart City, Smart Industry, Smart School, Smart Home คือทักษะที่เป็นที่ต้องการทั้งสิ้น การดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพมาทำงานหรือลงทุนในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างงานและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต

ดังนั้นเราต้องปฏิรูปการศึกษา ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ต้องเป็นวิชาหลัก ให้เด็กนักเรียนเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการนวัตกรรมต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับต้น ๆ ของการศึกษา

นอกจากนี้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Digital Transformation ทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น เรื่องของ Automation, Robotics และ ชีววิทยา เพราะเกี่ยวกับเรื่องอาหาร เกษตรและสุขภาพ รวมไปถึง Bio Technology และทักษะที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับ Nano Technology หรือ Space Technology เป็นองค์ความรู้ที่บุคลากรไทยในปัจจุบันไม่เพียงพอ เราต้องดึงดูดบุคลากรคุณภาพจากทั่วโลก มาอยู่เมืองไทย

การดึงดูดบุคลากรคุณภาพจากทั่วโลก ให้เข้ามาทำงานหรือลงทุนในประเทศไทยเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้อย่างมีเหตุผล เพราะประเทศไทยมีความสวยงามทางธรรมชาติ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีแรงบันดาลใจ นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการลงทุนที่ดี

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะตั้งเป้าหมายดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกจำนวน 5 ล้านคนมาทำธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่มีประโยชน์ต่อการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนมายังประเทศ เพราะเมื่อคนเก่งเข้ามา ทุนก็จะไหลตามเข้ามา ทำให้เกิดการต่อยอดทางด้านอื่น ๆ สร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ท่องเที่ยวสุขภาพและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ จนถึงการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของระดับภูมิภาคได้ในที่สุด ซึ่งช่วยเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคตให้กับประเทศไทย ในยุคที่เราก้าวเข้าสู่สมดุลใหม่ของโลก

เมื่อโลกกลับสู่สมดุลใหม่อีกครั้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสที่จะเป็นฮับในระดับภูมิภาคอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น และไทยมีความได้เปรียบในฐานะประเทศที่เป็นศูนย์กลาง เราจึงต้องกล้าที่จะกำหนดนโยบายที่ต่อเนื่องและสนับสนุนการลงทุนอย่างเหมาะสม ประเทศไทยต้องมีนโยบายที่ดีกว่า สิงคโปร์ ดูไบ และมาเลเซีย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอย่างแท้จริง

การเติบโตหลังจากนี้ต้องมีความยั่งยืนที่ควบคู่กับการทำธุรกิจ ต้องมองไปในทิศทางที่ไม่เพียงแต่เป็นความสามารถในการทำกำไรและผลตอบแทน แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและการสร้างความสมดุลที่เป็นประโยชน์ทั้งสำหรับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะทุก ๆ การกระทำของเรา สามารถที่จะทำให้เกิดความสมดุลคู่ขนานกันไปได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องใช้นวัตกรรม

วันนี้ การลงทุนทั่วโลกมุ่งให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และการใช้พลังงานที่สะอาด เราต้องใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดและแก้ไขปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น เราสามารถที่จะหยิบยื่นหรือสร้างนวัตกรรม เพื่อปรับตัวในการที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และให้ผลกระทบเชิงลบต่ำลง และต้องคิดไปถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและสังคมรอบตัว เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต