ThaiPublica > Sustainability > Contributor > แผนพลังงานชาติ : ต้องพึ่งตนเอง เป็นธรรม และลดโลกร้อน

แผนพลังงานชาติ : ต้องพึ่งตนเอง เป็นธรรม และลดโลกร้อน

13 มีนาคม 2024


ประสาท มีแต้ม

“ในปี 2565 คนไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวคิดเป็นเงินประมาณ 460,000 ล้านบาท (ใกล้เคียงกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) ผลิตไฟฟ้าได้ 113,113 ล้านหน่วย เฉลี่ยต้นทุนค่าก๊าซฯอย่างเดียว 4.07 บาทต่อหน่วย ในขณะที่คนญี่ปุ่นผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้จำนวน 102,400 ล้านหน่วย ด้วยค่าเชื้อเพลิงศูนย์บาท…รัฐบาลไทยจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร”

1.คำนำ

เป็นที่คาดกันว่ากระทรวงพลังงานจะนำร่าง “แผนพลังงานชาติ” มารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือนเมษายนนี้ แผนดังกล่าวเป็นชื่อใหม่ที่ได้ริเริ่มในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน แต่ล่าช้ากว่ากำหนด เป็นการรวมแผนเดิม 5 แผน เช่น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP) แผนการจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนจัดการก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ โดยแผนดังกล่าวจะเป็นกรอบสำหรับการบริหารจัดการกิจการพลังงานของประเทศซึ่งมีมูลค่าในปี 2566 กว่า 2.65 ล้านล้านบาท และจะถูกใช้ไปนานถึง 10-20 ปี

2. กระบวนการจัดทำแผนพลังงานชาติ

โดยปกติ การจัดทำแผนที่มีผลกระทบต่อประชาชน ก็ควรจะดำเนินการในทำนองเดียวกับที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 77 (วรรค 2) ความว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ถ้าตีความตามนี้ ผมเข้าใจว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการร่างแผนเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่ร่างเสร็จแล้วจึงนำมาเปิดรับฟัง นั่นคือ ต้องรับฟังตั้งแต่เรื่องว่า ประชาชนมีปัญหาอะไร ผู้รับฟังจะต้องนำไปวิเคราะห์แล้วจึงนำไปเขียนเป็นแผน พร้อมกับมีกระบวนการปรับปรุงแผนในภายหลังเป็นระยะๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

แต่เท่าที่ผมได้ติดตามสถานการณ์ ผมเข้าใจว่ากระบวนการในขั้นนี้น่าจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นแค่แผนไม่ใช่กฎหมายก็จริง แต่อย่าลืมว่าแผนพลังงานชาติที่มีมูลค่าถึง 2.65 ล้านล้านบาทต่อปี มันส่งผลกระทบมากกว่ากฎหมายอื่นๆจำนวนมาก

3.ปัญหาพลังงานไทย : ความสามารถพึ่งตนเองของไทยลดลงจาก 75% เหลือเพียง 32%

ก่อนจะจัดทำแผนพลังงานใหม่ก็ควรจะต้องรู้และเข้าใจปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยอาศัยข้อมูลดิบของกระทรวงพลังงาน ผมพบว่าในปี 2565 คนไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวเป็นเงินประมาณ 460,000 ล้านบาท (ใกล้เคียงกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) ผลิตไฟฟ้าได้ 113,113 ล้านหน่วย เฉลี่ยต้นทุนค่าก๊าซฯอย่างเดียว 4.07 บาทต่อหน่วย ในขณะที่คนญี่ปุ่นผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้จำนวน 102,400 ล้านหน่วย ด้วยค่าเชื้อเพลิงศูนย์บาท ในปีเดียวกันนี้เวียดนามและไทยผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 26,370 และ 5,020 ล้านหน่วย ตามลำดับ (ข้อมูลจาก Our World In Data) รัฐบาลไทยจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

ย้อนหลังไป 31 ปี คือปี 2536 คนไทยเราบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 11.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี) โดยมีการนำเข้าเพียงร้อยละ 2.7 ของจีดีพี แต่พอมาถึงปี 2566 การบริโภคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.8 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.0 ของจีดีพี

หากพิจารณาถึงความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงาน พบว่าคนไทยเคยพึ่งตนเองได้ถึง 75% (หรือเคยนำเข้าเพียง 25%) แต่ในปี 2565 และ 2566 ความสามารถพึ่งตนเองได้ลดลงเหลือ 16% และ 32% ตามลำดับ เท่านั้น (ดูข้อมูลในตารางประกอบ)

โดยที่ในปี 2565 เราคงจำกันได้ว่าเป็นปีที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน พ่อค้าพลังงานได้รวมหัวกันขึ้นราคาอย่างพรวดพราดโดยปราศจากการควบคุมของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค

สำหรับค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคบ่นกันมากว่าแพงๆ จนกระทบกับค่าครองชีพและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ข้อมูลในตารางนี้ระบุว่าในปี 2565 รายจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 8.2 แสนล้านบาท แต่ในปี 2566 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 9.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.9% ในขณะที่จีดีพีเพิ่มขึ้นเพียง 1.9% เท่านั้น

จากตารางข้างต้น เราสามารถคำนวณได้ว่า มูลค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าในปี 2566 เพียง 2 ชนิดรวมกันคิดเป็น 91% ของมูลค่าพลังงานทั้งหมด แม้ว่าประเทศไทยเรามีทรัพยากรปิโตรเลียมของตนเองไม่เพียงพอกับความต้องการก็จริง แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกลง เราสามารถเปลี่ยนแสงแดดและพลังงานลมมาเป็นไฟฟ้าเพื่อใช้แทนน้ำมันได้ นอกจากนี้จากรายงานของ IEA (Electricity 2024 Analysis and forecast to 2026) ระบุว่าไทยมีพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) มากกว่า 50% ของความต้องการ ดังนั้น การทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ 100% จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากรัฐบาลต้องการจะทำ

นี่คือสภาพของปัญหาที่เกิดจากแผนพลังงานฉบับต่างๆในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่กำลังจัดทำแผนพลังงานชาติจะต้องวิเคราะห์เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาและมรรควิธีที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนและความยั่งยืนของโลก ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

4. มายาคติเรื่องพลังงานหมุนเวียน : มีน้อย แพง และไม่เสถียร

ในวงวิชาการเขาจำแนกพลังงานออกเป็น 2 ประเภท คือพลังงานฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นพลังงานที่สามารถผูกขาดได้ง่ายและเมื่อใช้แล้วจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีส่วนถึง 75% ของสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนจนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นทั่วโลก พลังงานประเภทที่สองคือพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล พลังน้ำขนาดเล็ก และความร้อนใต้พิภพ พลังงานชนิดนี้กระจายตัวอยู่ทั่วไปและไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เราคงจำกันได้ว่า ในช่วงที่ค่าไฟฟ้าขึ้นราคาได้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา รวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เสนอโครงการ “Quick Win” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ออกมาพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า “พลังงานแสงอาทิตย์ มีน้อย แพงและไม่เสถียร” แล้วข้อเสนอของสภาปฏิรูปฯก็ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ

ข้อมูลต่อไปนี้ คือสิ่งที่ประเทศอื่นได้นำไปปฏิบัติหรืออย่างน้อยก็อยู่ในแผน ท่านผู้อ่านคงจะพิจารณาได้เองว่าพลังงานแสงอาทิตย์(และพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น) “มีน้อย แพงและไม่เสถียร” หรือไม่ ผมจะขอยกตัวอย่างมา 3 ประเทศ

ประเทศเวียดนาม

รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP8 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 สรุปที่สำคัญดังนี้

วัตถุประสงค์ของแผนข้อหนึ่งคือ “การพัฒนาไฟฟ้าต้องเป็นไปตามพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานในรูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องอยู่ในเส้นทางแนวโน้มของสากลและต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและความเป็นธรรม ความยุติธรรม”

ในปี 2022 แผนเดิม(PDP7) ใช้กำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 25-38% แต่ในแผน PDP8 จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 48% และ 66-71% ภายในปี 2030 และ 2050 ตามลำดับ นอกจากนี้จะพยายามอย่างหนักเพื่อให้ 50% ของอาคารสำนักงานและ 50% ของบ้านพักอาศัยติดตั้งโซลาร์เพื่อการบริโภคเองภายในปี 2030 (ไม่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งของประเทศ) และจะบรรลุ Net Zero Emission ภายในปี 2050 จะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดหรือเปลี่ยนไปใช้พลังงานชีวมวลหรือแอมโมเนียภายในปี 2050

ประเทศออสเตรเลีย

ออสเตรเลียมีประชากรประมาณ 25 ล้านคน แต่นับถึงสิ้นปี 2023 มีจำนวนโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแล้วประมาณ 3.6 ล้านหลัง บางรัฐติดตั้งไปแล้วถึง 50% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

ในปี 2022 ประเทศนี้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซฯรวมกัน 65% แต่บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานแห่งหนึ่ง (Rystad Energy) ได้พยากรณ์ว่าภายในปี 2026 สัดส่วนดังกล่าวจะลดลงจนน้อยกว่าที่ผลิตจากลมและโซลาร์เซลล์รวมกัน และในปี 2040 ไฟฟ้าที่ผลิตจากลมและโซลาร์เซลล์รวมกันจะประมาณ 75% ของไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ ดังแสดงในภาพ

ประเทศสหรัฐอเมริกา

Canary Media (โดยอ้างถึง U.S. Energy Information Administration, December 2023) ได้รายงานถึงกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของสหรัฐอเมริกาในปี 2024 รวม 62,800 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 96 เป็นพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ ลม และนิวเคลียร์ 58% , 23%, 13% และ 2% ตามลำดับ เป็นก๊าซธรรมชาติเพียง 4% ทั้ง ๆที่เป็นประเทศส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นอันดับหนึ่งของโลก

อ้อ แบตเตอรี่คือตัวเก็บไฟฟ้าเพื่อเอาไว้ใช้ตอนที่แดดไม่มี ลมไม่มา ความเสถียรจึงเกิดขึ้นครับ

5. ข้อปฏิบัติตาม “ข้อตกลงปารีส” ในภาคการผลิตไฟฟ้า

องค์การสหประชาชาติได้มีคำแนะนำว่า ถ้าจะทำให้อุณหภูมิของอากาศโลกสูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม จะต้องลดลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือไม่เกินเท่าใด ในปีใดอย่างมีแผนที่ชัดเจน

องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่ชื่อ “Climate Action Tracker” ได้ศึกษาเชื่อมโยงไปถึงภาคการผลิตไฟฟ้า ผลการศึกษาดังแสดงในรูปครับ

สรุปก็คือ ค่าเฉลี่ยของโลกปี 2022 ผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 436 กรัม (ไทยปล่อย 470 กรัม, ตามรายงาน IEA ที่อ้างแล้ว แต่กระทรวงพลังงานไทยรายงานว่าในปี 2564 ไทยปล่อย 422 กรัมต่อหน่วยไฟฟ้า) โดยที่คำแนะนำถ้าเป็นไปตาม “ข้อตกลงปารีส” ในปี 2030 ต้องปล่อยไม่เกิน 80 และ 5 กรัมต่อหน่วย ในปี 2030 และ 2040 ตามลำดับ

โปรดสังเกตนะครับ อีก 6 ปีข้างหน้าชาวโลกจะต้องลดการปล่อยลงกว่า 5 เท่าตัว หลังจากนั้นในปี 2040 และ 2050 จะต้องลดลงอีกมากจนแทบจะเรียกว่าไม่ปล่อยเลย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องจริงจังและตั้งใจจริง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ท่านนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวในเวทีสหประชาชาติเมื่อปลายเดือนกันยายน 2566 ความว่า “จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2040 จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065” ซึ่งเป็นมาตรการที่หย่อนกว่าคำแนะนำของสหประชาชาติค่อนข้างมาก

แม้กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เราอยากจะเห็นในแผนพลังงานชาติก็คือ การทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงาน มีความเป็นธรรมทั้งในเรื่องราคาและในการผลิตที่ให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองหรือเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เรียกว่า Prosumer (Producer + Consumer) ด้วย นอกจากนี้ต้องระบุถึงแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจนและปฏิบัติได้จริงด้วย มิฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะมากขึ้นและจะถูกประชาคมโลกกีดกันทางการค้าในอนาคต