ThaiPublica > Sustainability > Contributor > โลกร้อนขึ้นแบบ “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”

โลกร้อนขึ้นแบบ “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”

6 สิงหาคม 2021


ประสาท มีแต้ม

“อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ” คือประโยคหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในวงสนทนาเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งต่อสาธารณะทั่วไปหรือแม้แต่ในวงวิชาการก็ตาม หากเราพิจารณาประโยคดังกล่าวแต่เพียงผิวเผินเราก็จะรู้สึกว่าเป็นความจริงเพราะทุกคนสามารถสัมผัสได้ แต่หากเราพิจารณาอย่างลึกๆ แล้วจะพบว่า ประโยคดังกล่าวมีความผิดพลาดในสาระที่สำคัญและอันตรายต่อสังคมโลกเป็นอย่างมากมาก

ที่ผมว่าผิดพลาดก็ตรงคำว่า “สูงขึ้นเรื่อยๆ” นี่เอง เพราะทั้งโดยหลักการหรือทฤษฎีที่ทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้นและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์แล้ว โลกร้อนขึ้นแบบ “สูตรดอกเบี้ยทบต้น” แตกต่างจาก “สูงขึ้นเรื่อยๆ” ราวฟ้ากับดิน

ที่ว่าอันตรายต่อสังคมโลกเป็นอย่างมากก็เพราะว่า ถ้าเราเข้าใจความจริงตรงนี้ไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง เราก็จะประเมินสถานการณ์ในอนาคตต่ำกว่าความเป็นจริงนับร้อยนับพันเท่าตัว ผมจะค่อยๆ อธิบาย ดังต่อไปนี้ครับ

เคยมีผู้ตั้งคำถามกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (พ.ศ. 2422-2498) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกว่า “สิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างโลกมากที่สุด” ผู้ถามคงคิดว่าท่านจะตอบว่าคือระเบิดปรมาณูนั่นเอง แต่ไอน์สไตน์ตอบพลิกล็อกว่า คือ “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”

สมมุติว่า เริ่มต้นเรามีเงินจำนวน 100 บาท ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน แล้วนำเงินที่ได้ทั้งหมดในวันสิ้นเดือนไปปล่อยกู้ต่อด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ทำเช่นนี้ไปติดต่อกันจนครบ 60 เดือน เราจะมีเงินรวมเท่าใด

คำตอบซึ่งหลายคนแทบจะไม่เชื่อ คือ ประมาณ 5.6 ล้านบาท เพราะกติกาการปล่อยกู้ข้างต้นก็คือการคิดแบบดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง ถ้าเป็นการคิดแบบดอกเบี้ยไม่ทบต้น (คือเอาดอกเบี้ยออกมาเก็บไว้) เมื่อครบ 60 เดือนผู้ให้กู้จะมีเงินรวมเพียง 1,300 บาทเท่านั้น เห็นแล้วหรือยังครับว่ามันอันตรายมากแค่ไหน ไม่ว่าน้ำจะท่วม ฝนจะแล้งสักขนาดไหน “ดอกเบี้ย” ก็บานไปตลอด บานไม่มีวันหยุด

หัวใจสำคัญของการคิดดอกเบี้ยทบต้นก็คือ การอนุญาตให้ผลลัพธ์ (ซึ่งก็คือดอกเบี้ย) กลับเข้ามาเป็นสาเหตุ (ซึ่งก็คือเงินต้นครั้งใหม่) ของกระบวนการหมุนเงินทั้งหมดนั่นเอง

กระบวนการที่ผลลัพธ์กลับเข้ามาเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะในสูตรดอกเบี้ยทบต้นที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเท่านั้น แต่มักจะเกิดขึ้นในกระบวนการของธรรมชาติอื่นๆ ส่วนใหญ่ด้วย

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกอยู่ในขณะนี้ ก็มีกระบวนการเดียวกันกับสูตรดอกเบี้ยทบต้น นั่นคือ ผลลัพธ์ของการระบาดคือผู้ติดเชื้อรายใหม่สามารถกลับมาเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดต่อไปเป็นทอดๆ จำนวนผู้ติดเชื้อจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบเดียวกับเงินรวมในเรื่องดอกเบี้ยทบต้น ดังนั้น หัวใจของการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ก็คือการแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาไม่ให้สามารถเป็นสาเหตุของการระบาดต่อไปได้นั่นเอง

อนึ่ง บางคนอาจจะแย้งว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ฯลฯ ในสังคมไทยได้เพิ่มขึ้นตามเวลาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็จริง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากกระบวนการที่ “ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับมาเป็นสาเหตุอย่างเป็นทอดๆ ต่อไป” แม้ปัญหาดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอื่น แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับโรคระบาดที่ผลลัพธ์กลับกลายมาเป็นสาเหตุของปัญหา

ก่อนที่จะอธิบายว่าอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นแบบสูตรดอกเบี้ยทบต้นอย่างไรนั้น ผมขอกล่าวถึงศัพท์ทางวิทยาศาสตร์คำหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในวิชาคณิตศาสตร์ คือ “non-linear (มีผู้แปลว่า ไม่เชิงเส้น หรือไม่อยู่บนเส้นตรงเดียวกัน)” ซึ่งผมเชื่อว่าความหมายที่สามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือ ระบบที่ผลลัพธ์ของกระบวนการถูกป้อนกลับเข้ามาเป็นสาเหตุอีก (feedback)

นิทานอีสปเรื่อง “น้ำผึ้งหยดเดียว” ซึ่งโด่งดังมานานกว่าสองพันปีก็เป็นระบบที่ไม่เชิงเส้น เพราะผลลัพธ์กลับมาเป็นสาเหตุจนทำให้ผู้คนยกพวกตีกันทั้งหมู่บ้าน

คราวนี้มาทำความเข้าใจเรื่อง “โลกร้อนขึ้นแบบสูตรดอกเบี้ยทบต้น” กันครับ

ภาพข้างล่างนี้เป็นข้อมูลที่แสดงเป็นเส้นกราฟ 2 รูป โดยที่กราฟซ้ายมือเป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (เส้นสีแดง) และพลังงานที่ดวงอาทิตย์แผ่รังสีส่งมาถึงผิวโลก (เส้นสีเหลือง) เราจะเห็นว่า พลังงานจากดวงอาทิตย์แกว่งขึ้นลงอยู่ในช่วงแคบๆ ประมาณ 1,361 วัตต์ต่อตารางเมตรตลอดเวลา ในขณะที่เส้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็แกว่งขึ้น-ลงในช่วงในช่วงปี 1880 จนถึงประมาณปี 1970 แต่หลังจากนั้น เส้นสีแดงก็เพิ่มขึ้นอย่างเกือบต่อเนื่อง (เมื่อดูด้วยตาเปล่า)

นี่คือความผิดปกติที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตได้ อาจารย์ของผมท่านหนึ่งสอนผมว่า นักวิทยาศาสตร์ดูกราฟก็เหมือนกับหมออ่านฟิล์มเอกซเรย์ คือจะตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ผิดปกติ จากนั้นก็พยายามค้นหาคำอธิบาย

สำหรับกราฟทางขวามือเป็นการแสดงอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมและปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศในช่วงปี 1880 ถึง 2019 จากกราฟดังกล่าว เราจะเห็นว่าทั้งสองเส้นเพิ่มขึ้นไปด้วยกัน เส้นอุณหภูมิมีการแกว่งขึ้นลงในช่วงสั้นๆ บ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยอื่น เช่น คลื่นความร้อน ปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา รวมทั้งผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น

เพื่อขยายความให้ชัดเจนขึ้น ผมขอนำเสนอข้อมูลอีกชิ้นหนึ่ง คือพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกใน 7 ปีสุดท้ายติด 7 อันดับสูงสุดทั้งหมดตั้งแต่มีการบันทึกกันมา

คราวนี้มาค้นหาคำอธิบายว่าทำไมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจึงเพิ่มขึ้นแบบสูตรดอกเบี้ยทบต้น

เรื่องนี้มี 2 ขั้นตอนครับ ตอนแรกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยออกไปและเหลือจากที่ธรรมชาตินำไปใช้แล้ว ก็จะลอยไปอยู่ในชั้นบรรยากาศและทำหน้าที่คล้าย “ผ้าห่มโลก” ยิ่งปล่อยมากผ้าห่มก็ยิ่งหนา จึงสามารถเก็บความร้อนไว้ได้มาก เรื่องนี้เป็นเรื่องของความร้อน เราเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับแสง

ตอนที่สอง เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์เป็นคลื่นสั้น จึงสามารถทะลุทะลวง “ผ้าห่ม” ลงมาได้ง่าย เมื่อแสงมากระทบผิวโลกก็จะสูญเสียพลังงานไปส่วนหนึ่ง เมื่อสูญเสียพลังงานจึงกลายเป็นแสงคลื่นยาว (ตามสูตรในภาพ) เมื่อกลายเป็นแสงคลื่นยาวก็จะทะลุทะลวงออกจากผ้าห่มได้ยาก เมื่อทะลุได้ยากความร้อนจึงสะสมได้มาก (หมายเหตุ รังสีเอกซเรย์ที่ใช้ในวงการแพทย์เป็นแสงคลื่นสั้นจึงสามารถทะลุทะลวงอวัยวะของร่างกายได้)

เรื่องนี้ สาเหตุคือการปล่อยก๊าซฯ ผลลัพธ์ทำให้ผ้าห่มหนาขึ้น ทำให้โลกร้อนขึ้น แต่เมื่อมีเหตุอื่นมาเสริมอีกเหตุหนึ่งคือเกิดแสงคลื่นยาวซึ่งจะทะลุทะลวงผ้าห่มจนหลุดออกไปได้ยาก เมื่อผ้าห่มยิ่งหนาขึ้นอีก คลื่นยาวก็ยิ่งออกได้ยากมากขึ้นอีก ความร้อนจึงเพิ่มขึ้นอีก

เรื่องนี้อาจจะไม่เหมือนกับสูตรดอกเบี้ยทบต้นเสียทีเดียวนัก เพราะมี 2 สาเหตุ แต่ละสาเหตุไม่ขึ้นต่อกัน แต่ผลลัพธ์จากการที่ผ้าห่มหนาขึ้นได้กลายเป็นเหตุให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เช่นเดียวกับสูตรดอกเบี้ยทบต้น

ประเด็นเรื่องที่ผลลัพธ์กลับเข้ามาเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนความยาวของคลื่นแสงและความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงอย่างเดียว ผมขอยกตัวอย่างอีกสักตัวอย่าง สั้นๆ นะครับ

เมื่อโลกร้อนขึ้นเป็นเหตุให้ก้อนน้ำแข็งขั้วโลกรวมทั้งดินที่ถูกแช่แข็ง (permafrost) มานานละลาย (ซึ่งในที่นี้คือเป็นผลลัพธ์) แต่ในก้อนน้ำแข็งและดินที่ถูกแช่แข็งเหล่านั้นมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกเก็บไว้ในนั้นก็จะเป็นผลให้ความหนาแน่นของก๊าซฯเพิ่มมากขึ้น

จากเว็บไซต์ National Snow & Ice Data Center (ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) ได้ประเมินว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในดินที่ถูกแช่แข็งมีจำนวน (1.4 ล้านล้านตัน) มากกว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในบรรายากาศ (0.85 ล้านล้านตัน) เกือบ 2 เท่า (โดย Dr. Kevin Schaefer) ดังนั้น ถ้าก๊าซฯ นี้หลุดออกมาแล้วความหนาของผ้าห่มจะเป็นอย่างไร

โปรดคิดถึงเรื่องดอกเบี้ยทบต้นไว้นะครับ ว่ามันทำลายโลกได้รุนแรงและรวดเร็วขนาดไหน ถ้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น 21% แทนที่จะเป็น 20% ต่อเดือน ในช่วงเวลา 60 เดือนเท่ากัน จากเงินต้น 100 บาท เงินรวมจะเพิ่มเป็น 9.3 ล้านบาท แทนที่จะเป็น 5.6 ล้านบาท

ผมอยากจะสรุปบทความนี้ด้วยการทบทวนสาระสำคัญของข้อตกลงปารีสเมื่อปลายปี 2015 คือได้ขอร้อง (โดยไม่มีการบังคับ) ให้แต่ละประเทศให้สัญญาต่อประชาคมโลกว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งรวมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ด้วย) ลงจำนวนเท่าใด เมื่อไหร่ เพื่อให้อุณหภูมิของโลกในปี 2643 ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (1850-1900)

แต่พอถึงปี 2020 หรือเพียง 5 ปีหลังข้อตกลงดังกล่าว องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ศึกษาใหม่ (8 ก.ค. 2020) พบว่ามีโอกาสถึง 1 ใน 5 ที่อย่างน้อยหนึ่งปีในช่วงปี 2020 ถึง 2024 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส มาเร็วกว่าที่เคยพยากรณ์ไว้ถึงเกือบ 80 ปี

ล่าสุด ข่าวจาก BBC News ที่ชื่อว่า “Climate: World at risk of hitting temperature limit soon” (เผยแพร่ 27 พ.ค. 2021) บอกว่า สถาบันชั้นนำหลายสำนักได้พยากรณ์ว่า “ภายในปี 2025 มีโอกาส 40% ที่อย่างน้อย 1 ปี ที่อุณหภูมิจะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส” โอกาสเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 40%

ผมไม่ทราบว่า ผู้ศึกษาได้นำปัจจัย “ผลลัพธ์กลับเข้ามาเป็นสาเหตุ” เหมือนดอกเบี้ยทบต้นที่กล่าวแล้วมาพิจารณาด้วยหรือไม่ แต่ข้อมูลจริงที่จัดทำโดย Dr. James Hansen พบว่า ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกนั้น มี 2 เดือน คือ กุมภาพันธ์และมีนาคม ที่อุณหภูมิเฉลี่ยเกิน 1.6 องศาเซลเซียสไปเรียบร้อยแล้วจริงๆ ครับ

เห็นไหมครับว่ามันบานเร็วกว่าที่เราเคยคิดกัน